คําว่า วิสัยทัศน์ หรือ VISION เป็นคําพูดที่ใช้กันแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่นักการเมือง ทั้งนี้เพราะความเชื่อว่า ผู้นําหรือนักการเมือง ผู้รับผิดชอบการบริหารบ้านเมืองจะต้องมองการณ์ไกล ไม่ใช่มองวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้าจะทําอะไร แต่เท่าที่ผมติดตามการเมืองของเรามากว่า 50 ปี ผมคิดว่าเกือบจะหานักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ตามความหมายที่แท้จริงในบ้านเราไม่ได้เลย เพราะเกือบทุกท่านจะคิดและกระทําการใดก็เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเสียเวลาจากการโต้ตอบกันไปกันมาเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ผมยังภูมิใจว่า ถ้ามองย้อนหลังไประหว่าง 50-60 ปีเศษ ๆ เมืองไทยได้เคยมีนักการเมืองผู้มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง ท่านผู้นั้นคือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ที่ผมกล้ากล่าวเช่นนี้ เพราะผมได้ติดตามแนวความคิดและผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีมาโดยตลอด ผมเห็นว่า แนวความคิดและการปฏิบัติงานของท่านในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการเป็นรัฐบุรุษและผู้นําที่มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง ผมจะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่สําคัญและเห็นได้ชัดเพื่อประกอบคํากล่าวข้างต้น ดังต่อไปนี้
1. วิสัยทัศน์ในการสร้างประชาธิปไตย
ท่านได้ให้ความสําคัญแก่การสร้างความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรเป็นอย่างมาก เพราะหากราษฎรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวิถีทางปกครองตนเอง ซึ่งเป็นของใหม่ของคนไทย ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสร้างรากฐานความเข้าใจเริ่มจากชุนชน โดยได้เสนอกฎหมายให้มีเทศบาลทุกตําบล ในการปกครองระบบเทศบาลก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตําบลและคณะมนตรีตําบล จําลองแบบมาจากระดับชาติ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ราษฎรได้ศึกษาด้วยการปฏิบัติจริง ๆ และเข้าใจพื้นฐานในการปกครองตนเอง และรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อราษฎรได้ค่อย ๆ เข้าใจและชินในการดูแลตัวเองในสังคมใกล้ตัวแล้ว ต่อไปเมื่อไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติ เขาก็จะซึมซาบโดยอัตโนมัติ น่าเสียดายที่ผู้รับผิดชอบรุ่นต่อ ๆ มาไม่ได้สานต่อแนวความคิดนี้ เพราะหากได้ทําต่อเนื่องมากว่า 50 ปี ป่านนี้เราคงไม่ต้องห่วงใยและหาทางขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของคนไทย และเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการเดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย
2. วิสัยทัศน์ในทางเศรษฐกิจ
ท่านอาจารย์ได้ให้ความสําคัญแก่เรื่องเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าเรื่องการเมือง ท่านจึงมีนโยบายแน่วแน่ที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของราษฎร และยกฐานะให้ราษฎรกินดีอยู่ดี แต่เศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งต้องทําต่อเนื่อง ท่านจึงเริ่มให้มีแผนงานทางเศรษฐกิจ โดยได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานไปข้างหน้าอีก 20-30 ปี แต่น่าเสียดายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นตามความคิดท่านไม่ทัน เป็นผลให้ท่านถูกกล่าวหาและต้องเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว
อย่างไรก็ดี เมื่อท่านกลับจากต่างประเทศและพ้นข้อกล่าวหา และกลับเข้ามารับหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็เริ่มอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจหลายเรื่องที่สำคัญ ก็คือ ยกเลิกภาษีรัชชูปการ และให้ใช้ประมวลรัษฎากร ซึ่งให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร คือ ใครมีรายได้มากก็เสียมาก ใครมีรายได้น้อยก็เสียน้อย นอกจากนี้ท่านยังได้จัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อเป็นสถาบันที่รักษาเสถียรภาพของการเงิน เสนอให้ออก พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อให้มีการควบคุมการใช้ภาษีอากรที่เก็บจากราษฎรอย่างรัดกุมและสมประโยชน์ กล่าวได้ว่า ในสมัยที่ท่านอาจารย์เป็นรัฐมนตรีคลัง เสถียรภาพทางการเงินของประเทศมีความมั่นคงมาก
จากวิสัยทัศน์ของท่าน เมื่อระยะใกล้สงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้นําเงินทุนสํารองเงินตราจํานวนหนึ่งไปซื้อทองคําน้ําหนัก 1 ล้านเอานซ์ เป็นทุนสํารองแทนเงินตรา และนําทองคํานั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รักษาไว้เป็นทุนสํารองเงินตราจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีทองคําอีกจํานวนหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนํามาแลกกับเงินบาทเพื่อใช้ระหว่างสงคราม โดยธนาคารชาติได้ผูกหูกันไว้เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย วิสัยทัศน์ในเรื่องนี้เป็นผลให้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้มอบทองคํานี้คืนให้รัฐบาลไทยเพราะถือว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของชาติศัตรู
ในด้านเกษตร ท่านอาจารย์มีความห่วงใยในฐานะและความยากลําบากของเกษตรกรเป็นพิเศษ ตัวท่านก็เคยช่วยบิดาทํานาด้วยตัวเอง นอกจากจะเสนอตั้งสหกรณ์อเนกประสงค์เพื่อตัดปัญหาคนกลาง (ดำเนินไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเค้าโครงเศรษฐกิจ) ท่านอาจารย์ยังได้ยกเลิกอากรค่านา และมีแผนการที่จะให้ชาวนามีที่ดินทำกินเป็นของตนเองด้วย
ในวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้ 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือ เรื่องการส่งออกข้าว หลังจากท่านกลับจากเยือนสหรัฐอเมริกา [พ.ศ. 2490] ท่านได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่า จากการสังเกตการณ์ ท่านคิดว่าในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ จะเป็นคู่แข่งการค้าข้าวกับไทย เพราะในสหรัฐฯ มีพื้นที่จำนวนมากที่อากาศอำนวยให้ปลูกข้าวได้ และถ้าเขาเริ่มปลูก เขาจะมีข้าวที่มีคุณภาพดีเท่าเราหรือดีกว่าเรา ข้อคิดของท่านไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีประเทศใดผลิตข้าวดีเท่ากับของเรา และมาแข่งขันกับเราได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ท่านอาจารย์ได้เล็งเห็นภยันตรายจากการลักลอบ ตัดไม้ทําลายป่า ท่านอาจารย์จึงเสนอว่า หากไม่หามาตรการป้องกันอย่างจริงจัง ต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศเราจะเปลี่ยนจากการส่งออกไม้สักมาเป็นการสั่งไม้เข้าประเทศแทน ปรากฏว่าในคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีใครสนใจต่อข้อสังเกตของท่าน มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งยังกล่าวว่า ถึงตอนนั้นพวกเราก็ตายกันหมดแล้ว และข้อเสนอของท่านทั้งสองเรื่องก็เป็นจริงทุกประการ
3. วิสัยทัศน์ในด้านการศึกษา
ท่านอาจารย์ได้ให้ความสําคัญแก่การศึกษามากเป็นพิเศษ เพราะการศึกษาเป็นฐานสําคัญในการพัฒนาประเทศและประชาธิปไตย ท่านจึงได้กําหนดเรื่องการศึกษาไว้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ท่านได้เริ่มปฏิบัติจริงจังในสองระดับ ในระดับอุดมศึกษา ในขณะนั้นมีมหาวิทยาลัย เพียงแห่งเดียว ไม่เพียงพอที่จะผลิตคนที่มีความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศได้ทันการณ์ ท่านจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเป็นครั้งแรก สอนเน้นหนักไปในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถึงแม้ ม.ธ.ก.จะมีเพียง 2 คณะ คือ คณะธรรมศาสตร์ และคณะการบัญชี แต่ในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต แม้จะเน้นการสอนกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็ได้สอนวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูตด้วย ทั้งนี้เพื่อจะผลิตบัณฑิตมารับใช้ประเทศ ในแขนงสําคัญ ๆ ได้ครบถ้วน ซึ่งก็ได้ผลตามที่ท่านมุ่งหมายไว้ เพราะธรรมศาสตร์บัณฑิต และผู้จบประกาศนียบัตรทางบัญชีได้ออกมารับใช้ประเทศ และเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาเป็นจํานวนมากมาย
นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2481 ท่านยังได้ตั้ง โรงเรียนเตรียมปริญญา เพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาใน ม.ธ.ก. โดยเฉพาะ เรียกชื่อย่อว่า ต.ม.ธ.ก. มี อยู่ 8 รุ่น หลักสูตร ต.ม.ธ.ก. น่าสนใจมาก วิชาที่เรียนในขณะนั้น เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี วรรณคดี ประวัติศาสตร์ สากล พุทธประวัติ ปรัชญา เทคโนโลยี ความรู้ เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและบัญชี ชวเลข พิมพ์ดีด และดนตรี เป็นต้น วิชาบางวิชาสอน และสอบเป็นภาษาต่างประเทศ ครูของโรงเรียนจํานวนมากจบจากต่างระเทศ (หลายคนจบ ปริญญาเอก) และทางธรรมะก็ได้ครูที่จบเปรียญ 9 ประโยคหลายท่านมาสอน จากหลักสูตรนี้สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของท่านที่จะตระเตรียมบุคคลให้พร้อมที่จะศึกษาระดับสูง ทั้งด้านในฐานะความรู้ทางวิชาการและจริยธรรม
ในระดับประถมศึกษา ท่านได้เสนอให้จัดตั้งโรงเรียนเทศบาลและประชาบาลทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยจะอยู่ที่ไหนก็ตาม มีโอกาสเรียนหนังสืออย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี การศึกษาจะมีผลตามเป้าหมาย จะต้องใช้เวลานานและการกระทำอย่างต่อเนื่อง และต้องไปในทิศทางที่ถูกต้อง ฉะนั้น ผู้รับลูกต่อจากท่าน ก็ต้องสานแนวความคิดของท่านอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
4. วิสัยทัศน์ในด้านธรรมะ
ถึงแม้ท่านอาจารย์จะไม่มีโอกาสบวชพระ เนื่องจากท่านต้องรับผิดชอบบ้านเมืองตั้งแต่หนุ่ม ๆ แต่ท่านได้ให้ความสนใจและศึกษาธรรมะ และนํามาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะท่านเห็นว่า ธรรมะเป็นสิ่งสําคัญและจําเป็นสําหรับทุกคน ยิ่งเป็นนักการเมืองหรือผู้บริหารก็ต้องรู้และปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง จึงจะสร้างเมตตาธรรมในการปกครองคนได้ ท่านได้เคยนิมนต์ท่านพุทธทาส ซึ่งท่านทราบว่าเป็นพระที่มีปฏิปทาที่ถูกต้อง มาสนทนากันถึง 2 วัน กับ 1 คืน ประกอบกับท่านชอบอ่านหนังสือธรรมะ จึงทําให้ท่านเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง โดยท่านเริ่มเข้าใจเรื่องหลักไตรลักษณ์ก่อน คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ผู้ศึกษาพุทธศาสนาถ้าไม่เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์แล้ว ก็เรียกได้ว่าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา
จากหลักไตรลักษณ์ ท่านได้ปรับเข้ากับชีวิตจริง ท่านได้เขียนหนังสือที่แพร่หลายมากเล่ม หนึ่งชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม ท่านกล่าวเรื่องหลักอนิจจังตอนหนึ่งว่า “สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดนิ่งอยู่กับที่ ทุกสิ่งมีอาการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่หยุดยั้ง” ส่วนเรื่องอนัตตา ซึ่งสอนในเบื้องต้นให้เราละความเห็นแก่ตัว ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิต ท่านผู้อ่านลองคิดดู คนที่เป็นอัจฉริยะและมีโอกาสอยู่ตำแหน่งหน้าที่อย่างท่าน ถ้าหากจะแสวงหาความร่ำรวยหรือประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นของง่าย แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าในการรับใช้ประเทศชาติ ท่านอาจารย์กลับจนลงทุกที
ในเรื่องการใช้ปัญญา ท่านได้กล่าวให้โอวาทแก่ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 ว่า “ขอให้ใช้สติประกอบปัญญานําความรู้ที่เป็นสัจจะ ซึ่งศึกษาเล่าเรียนมานั้นเป็นหลักนําการปฏิบัติเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น”
นอกจากตัวท่านอาจารย์เองจะเข้าถึงธรรมะโดยถูกทางแล้ว ท่านยังห่วงใยเยาวชนรุ่นหลัง น่าจะได้เข้าใจและปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัย ฉะนั้น ในหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. จึงได้บรรจุเรื่องธรรมะไว้ในหลายวิชา เช่น พุทธประวัติ และในวิชาเรียงความภาษาไทยก็ให้แต่งเรียงความเป็นกระทู้ธรรม ทําให้นักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยรุ่นได้ซึมซาบธรรมะจนเป็นนิสัยติดตัว และจากการที่ท่านแนะให้ใช้สติและปัญญา ผมภูมิใจที่จะกล่าวว่าเกือบไม่มีศิษย์เก่า ต.ม.ธ.ก.ที่ถูกหลอกลวงโดยพวกอลัชชีเลย นับเป็นโชคมหาศาลที่ได้ผู้ชี้แนะธรรมะที่ถูกต้องให้ติดตัวเรามา
ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ ท่านได้มองการณ์ไกลว่า การปกครองคณะสงฆ์ไม่น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น ท่านจึงได้เสนอ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 กำหนดให้มีสังฆมนตรี ซึ่งเลือกจากพระสงฆ์ทั่วประเทศ และมีพระวินัยธร ทำหน้าที่คล้ายตุลาการทางด้านสังฆมนตรี และสังฆสภาก็ให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน ส่วนการจัดให้มีพระวินัยธรเป็นประจำ ก็สะดวกเมื่อมีการทำผิดพระธรรมวินัย จะได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพิจารณาโดยรวดเร็วน่าเสียดายที่ พ.ร.บ.นี้มาใช้เพียง 10 ปีเศษ ผู้มีอำนาจต่อมาก็ยกเลิกและกลับไปนำแบบเดิม
5. วิสัยทัศน์ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองพลเมือง
ท่านได้เล็งเห็นความยากลำบากของราษฎรเมื่อมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ผู้ปกครอง ท่านจึงริเริ่มระบบศาลปกครองขึ้น โดยในขั้นแรกให้ขึ้นกับคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ต่อไปจึงค่อยแยกออกเป็นศาลอิสระต่อไป เราคงเห็นแล้วว่า กว่าคนรุ่นหลังจะตามแนวความคิดท่านได้ทัน ก็ล่วงมาหลายสิบปีแล้ว
อีกเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ ท่านได้เสนอให้มีกฎหมายประกันสังคมให้แก่ราษฎร ปรากฏว่าไม่ได้รับการสนองตอบในขณะนั้น จนอีก 2 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกันสังคม แสดงว่าท่านอาจารย์มีแนวความคิดนี้ก่อนสหรัฐฯ เสียอีก หรือจะพูดว่าสหรัฐฯ นําเอาแนวความคิดของท่านอาจารย์ไปใช้ก็คงไม่ผิด
6. วิสัยทัศน์ในด้านการต่างประเทศและสันติภาพ
ในระยะสั้น ๆ ที่ท่านอาจารย์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ท่านได้ใช้ความกล้าหาญในการเข้าไปแก้ไขสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปรวม 12 ประเทศ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนภาษีร้อยชัก 3 และทําสนธิสัญญาใหม่บนรากฐานแห่งความเสมอภาคและถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ เป็นผลให้ประเทศไทยมีเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์ ผลงานนี้ต้องนับว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของกระทรวงต่างประเทศ
วิสัยทัศน์ที่โดดเด่นของท่านอาจารย์และได้ให้คุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติและประชาชนคนไทย ก็คือ การเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยเมื่อใกล้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้มองเห็นการณ์ไกลว่าหากเกิดสงครามคราวนี้ ประเทศเราคงถูกกระทบแน่ ท่านจึงผลักดันให้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482 ขึ้น และเมื่อต่อมาญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ท่านก็ได้แสดงจุดยืนให้ปรากฏว่าไม่เห็นด้วย จึงได้รวบรวมจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในการวิเคราะห์การสงคราม ท่านแน่ใจว่าด้วยทรัพยากรอันมหาศาลของฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องเป็นฝ่ายชนะ มีผู้เล่าให้ฟังว่า ในขบวนการเสรีไทย ท่านได้ใช้อาจารย์ และศิษย์เก่า ม.ธ.ก. และจุฬาลงกรณ์หลายท่านมาร่วม มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ ซึ่งท่านตั้งใจจะให้มาร่วมด้วย ท่านจึงเรียกมาคุยและถามความเห็นว่า “ในสงครามคราวนี้ คุณคิดว่าใครจะชนะ” อาจารย์ผู้นั้นตอบว่า “ฝ่ายอักษะ” โดยให้เหตุผลว่า กองทัพเยอรมันและญี่ปุ่นมีสมรรถนะสูง ท่านก็ติงว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรมีทรัพยากรมากมาย ในระยะยาวน่าจะได้เปรียบ อาจารย์ผู้นั้นก็ยังยืนยันว่า ฝ่ายอักษะต้องชนะ ปรากฏว่า ท่านไม่ยอมใช้อาจารย์ผู้นั้นให้เข้าร่วมในเสรีไทย
วิสัยทัศน์อีกเรื่องหนึ่งของท่าน ก็คือ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเห็นว่าเป็นความชอบธรรมของประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคจะร่วมมือกัน เพื่อมีอํานาจต่อรองกับมหาอํานาจและประเทศภายนอก จึงได้เสนอจัดตั้ง “สหภาพแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ปรากฏว่าฝรั่งเศสขัดขวางข้อเสนอนี้ แต่ท่านก็ไม่ล้มเลิกแนวความคิด และได้ดําเนินการก่อตั้ง “สันนิบาตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อกันยายน 2490 แต่โชคไม่ดี อีก 2 เดือนเศษ ท่านก็ถูกพิษรัฐประหารต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ดีปรากฏว่าอีกหลายสิบปีต่อมา องค์การอาสาก็ดี อาเซียนก็ดี ก็พัฒนาการมาจากแนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดี
ที่ผมยกตัวอย่างแนวความคิดและการปฏิบัติงานของท่านอาจารย์ปรีดีมาเพียงบาง ส่วนก็ย่อมเพียงพอที่จะตอบหัวเรื่องของผม ได้ว่า ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คือ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง
ในฐานะคนไทย ผมมีความภาคภูมิใจที่ประเทศเราเคยมีนักการเมืองที่เสียสละ และมีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง และผมคิดว่าน่าที่จะนำเอาเป็นแบบอย่างต่อไป
ที่มา: “คือผู้มีวิสัยทัศน์,” ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2545, น. 5-10.
- ปรีดี พนมยงค์
- ประชาธิปไตย
- เศรษฐกิจ
- ประมวลรัษฎากร
- ธนาคารชาติ
- งบประมาณแผ่นดิน
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ขบวนการเสรีไทย
- ชาวนา
- ที่ดิน
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- ต.ม.ธ.ก.
- ความเป็นอนิจจังของสังคม
- ศาสนาพุทธ
- พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484
- ประกันสังคม
- การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
- สิทธิสภาพนอกอาณาเขต
- สุโข สุวรรณศิริ
- วิสัยทัศน์