ความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดีนั้นมีลักษณะล้ำสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผู้คนในยุคของท่าน
ความคิดของท่านหลายประการจึงได้รับปฏิบัติในภายหลัง และความคิดบางประการ ได้รับการต่อต้านในการนําเสนอในช่วงแรก
สิ่งที่สะท้อนความคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโสได้อย่างเป็นระบบมากที่สุด คือ เค้าโครงเศรษฐกิจ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม สมุดปกเหลืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นั่นเอง
ผลของการนําเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ สมุดปกเหลือง ก่อให้เกิดวาทกรรมระหว่างกลุ่ม ที่มีแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ความเห็นที่แตกต่างกัน เกิดขึ้นทั้งในหมู่คณะราษฎรเอง และระหว่างคณะราษฎรกับตัวแทนของระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ขั้วหนึ่ง เป็นตัวแทนของความคิดอนุรักษ์นิยมศักดินา และมีทัศนะทางเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยมเต็มตัว กลุ่มประกอบไปด้วยตัวแทนของระบอบเก่า กลุ่มเจ้า และกลุ่มศักดินา อนุรักษ์เก่า กลุ่มขุนนางเก่า และบางส่วนของคณะราษฎรที่มีความคิดอนุรักษ์ นําโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
อีกขั้วหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ นําโดยท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร.ปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มีแนวความคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าผสมผสานกับเสรีนิยม ที่มีส่วนผสมของแนวคิดสังคมนิยมแบบอ่อน ๆ
หากสํารวจดูความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดี ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองก็ต้องจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยมเสรี หรือบางคนอาจโต้แย้งว่าแนวความคิดของท่านน่าจะเป็นเสรีนิยมแบบรัฐสวัสดิการมากกว่า จะเป็นแนวไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่ชัดเจนมาก คือ จุดยืนเพื่อประเทศและประชาชน
หลังจากท่านได้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว และผ่านประสบการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การจัดตั้งขบวนการเสรีไทย และการเจรจาต่อรองในเรื่องอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมือง และความเป็นธรรมในด้านต่าง ๆ ผมเข้าใจว่าท่านเป็นเสรีนิยมมากขึ้น แต่ก็มิได้ละทิ้งจุดยืนบางด้านของสังคมนิยมที่เป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร
เวลาเราพูดถึงลัทธิเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ ลัทธินี้มีข้อสมมติพื้นฐานว่า ระบบ เสรีนิยมมีข้อบกพร่อง รัฐจําเป็นต้องมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น และต้องแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นักคิดที่อยู่ในสํานักความคิดนี้มีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ จอห์น เอ ฮอบสัน ศาสตราจารย์อาเธอร์ ซี พิก เจ้าของหนังสือ The Economic of Welfare หรือที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลทางความคิดทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ หลังสงครามครั้งที่ 2 คือ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ กลุ่มนี้เสนอความคิดทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสํานักเสรีนิยมคลาสสิกหลายประการ
ผมขอยกตัวอย่างนักคิดเพียง 2 กลุ่มในสํานักสังคมนิยมประชาธิปไตย
กลุ่มแรก คือ กลุ่มเบิร์นสไตน์ ที่ยึดถือแนวทางการปฏิรูป (Reform) มากกว่าการ ปฏิวัติ (Revolution) และให้ความสําคัญกับประเด็นเรื่องจริยธรรมและความคิดของมนุษย์เท่ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวกําหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เบิร์นสไตน์ไม่เชื่อในทฤษฎีวิกฤตการณ์และการล่มสลายของสังคมทุนนิยมด้วยการปฏิวัติ เขากลับเชื่อว่าวิกฤตการณ์จะเกิดน้อยครั้งลงเรื่อย ๆ ชนชั้นกลางสามารถผนึกกําลังกับชนชั้นแรงงานทั้งสองชนชั้นจะผลักดันให้เกิดระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภา ซึ่งจะเป็นระบบสังคมนิยมเพื่อพลเมืองทุกคนจะมีการโอนปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐในกิจการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ส่วนกิจการอย่างอื่นก็ให้ใช้ระบบสหกรณ์หรือให้เอกชนทําได้
กลุ่มที่สอง คือ สังคมนิยมเฟเบี้ยน กลุ่มนี้เน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างค่อยเป็นค่อย ไปยิ่งกว่าลัทธิเบิร์นสไตน์ พื้นฐานคําอธิบายทางเศรษฐกิจของลัทธิเฟเบี้ยนมาจากทฤษฎีค่าเช่าของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เดวิด ริคาร์โด
แกนความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดี ในทัศนะของผม สามารถแบ่งออกได้เป็นองค์ประกอบดังต่อไปนี้ เอกราชและอิสระทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความทันสมัย คุณภาพชีวิตและความสมบูรณ์พูนสุขของราษฎร ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ จริยธรรมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
ความพยายามในการผลักดันเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) จากมันสมอง ของท่าน เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
เค้าโครงเศรษฐกิจ สมุดปกเหลือง ผมถือได้ว่าเป็นร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของไทยจริง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 สมัยเผด็จการสฤกษดิ์ ผมไม่ถือว่าเป็นแผนพัฒนาฉบับแรกของไทย เนื่องจากได้มีการวางรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่แล้วตั้งแต่สมัยท่านปรีดีบริหารประเทศ
ที่สําคัญ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยเผด็จการสฤษดิ์นั้น การก่อกําเนิดอยู่ภายใต้การบงการของสหรัฐฯ และองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกค่อนข้างมาก
หลัก 6 ประการของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักข้อ 3 นั้นเกี่ยวข้องกับระบบ เศรษฐกิจมีใจความว่า “จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดย รัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”
หลักเอกราชทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสําคัญที่ท่านยึดถือ มีการกอบกู้เอกราชในทาง เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าได้เป็นผลสําเร็จในปี พ.ศ. 2482 โดยการเปิดเจรจาแก้ไขสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศตะวันตก 15 ประเทศ ซึ่งไทยเคยเสียเปรียบในทางการศาลและเศรษฐกิจมาตั้งแต่ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เค้าโครงเศรษฐกิจ สมุดปกเหลืองนั้น ท่านปรีดีได้มีคําชี้แจงชัดเจนว่า ได้มีการหยิบเอาส่วนดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศมานำเสนอในเค้าโครง และชี้อย่างชัดเจนว่า การจะร่างนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีนั้นต้องขจัดเอาประโยชน์ส่วนตนและที่ฐิมานะออกและต้องมีใจเป็นกลาง
เจตนารมณ์ของสมุดปกเหลือง เค้าโครงทางเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี คือ ต้องการเปิดโอกาสและปูทางให้ประชาชนสามัญทั้งหลายเข้ามามีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ และที่สําคัญ ต้องทําให้ประเทศมีเอกราชทางเศรษฐกิจ
เค้าโครงเศรษฐกิจ สมุดปกเหลือง ไม่สามารถผลักดันผ่านรัฐบาลและสภาได้ในช่วงแรก
ท่านปรีดีจึงลาออกจากตําแหน่งรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย และท่านวางแผนนําเอาเค้าโครงเศรษฐกิจเสนอต่อราษฎร ซึ่งท่านปรีดีตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเอง
ด้วยชั้นเชิงทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงชิงปิดสภาผู้แทน งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและผ่านพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476 และประณามผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ท่านปรีดีมีความเชื่อมั่นว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มี ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น แนวความคิดของท่านในเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จึงถูกผลักดันในนโยบายและกฎหมายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เค้าโครงเศรษฐกิจให้ความสําคัญกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จึงได้สร้างกลไกให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น
ท่านปรีดีได้ขยายความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจว่า หมายถึงราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจํานวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอํานาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันท์พี่น้องออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภคและบริโภคให้สมบูรณ์ ครั้นแล้ว แต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรมตามส่วนแรงงานทางกายหรือสมองที่ตนได้กระทํา ผู้ใดออกแรงงานมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงงานน้อยก็ได้น้อย
ความเชื่อและคําพูดของท่านปรีดีได้ถูกทําให้เห็นประจักษ์ด้วยการกระทํา
แม้จะถูกโจมตีป้ายสี ความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดีก็ได้ถูกนํามาใช้ในปัจจุบันหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าความคิดทางเศรษฐกิจหลายประการอาจจะล้ําสมัย จึงมีผู้คนจํานวนไม่น้อยในระยะนั้นไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจ เนื่องจากไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสหกรณ์ทางเศรษฐกิจของชุมชน ระบบประกันสังคมระบบภาษีที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้สาระสําคัญหลายประการใน “สมุดปกเหลือง” ได้รับการนํามาปฏิบัติในช่วงระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2475-2490) ที่ท่านดํารงตําแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีมหาดไทย และรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้มีการปฏิรูประบบภาษีใหม่ จัดตั้งธนาคารชาติ จัดตั้งระบบเทศบาลกระจายอํานาจการคลังและการเมือง
การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เงินทุน ความรู้ความสามารถในการประกอบการ เหล่านี้ คือ พื้นฐานสําคัญในการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้หลักการประกันสังคมยังเป็นเนื้อหาสําคัญในนโยบายเศรษฐกิจของท่านปรีดี พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรที่เป็นกลไกสําคัญ ในการเข้าไปช่วยเหลือและจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีพก็ได้รับผลักดันในสมัยที่ท่านปรีดีบริหารประเทศ ความจริงแล้ว หลักการการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้นก็เหมือนหลักการของระบบประกันสังคมในยุคนี้ และเหมือนกับแนวคิดการสร้างระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมของธนาคารโลก จะเห็นว่าแนวความคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นมีทิศทางเดียวกับความคิดแบบรัฐสวัสดิการ
หากไปศึกษาดูร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจในสมัยที่ท่านปรีดีมีส่วนในการกําหนดนโยบายเศรษฐกิจ ก็มีอยู่หลายหมวดในกฎหมายดังกล่าวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นหมวดที่ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินมาตรา 4 ถึงมาตรา 6 ได้ให้อํานาจรัฐบาลในการเข้าไปจัดการที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินซึ่งรกร้างว่างเปล่า
หมวดที่ 2 ว่าด้วยการจัดหาเงินทุนและเครดิต มีการวางกฎเกณฑ์และอํานาจไว้หลาย เรื่อง ตั้งแต่ระบบภาษี ภาษีมรดก ภาษีรายได้ ของเอกชน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาการจัดเก็บภาษีอากรระบบใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้นที่เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร” และมีการจัดเก็บภาษีเงินได้
หมวดที่ 3 ว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 จึงมีการก่อตั้งสํานัก งานธนาคารชาติไทยขึ้น ซึ่งก็เป็นจุดกําเนิดของธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ท่านยังให้ความสําคัญกับการสหกรณ์อย่างมาก ทั้งสหกรณ์อุตสาหกรรม และสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์มีการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การจําหน่าย มีระบบการอุปโภคบริโภคที่สมบูรณ์ และมีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยอยู่กันเป็นชุมชน ความคิดบางอย่างดูค่อนข้างอุดมคติ ไม่สามารถทําให้เกิดขึ้นได้ หากไม่มีอํานาจการเมืองที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้นย่อมต้องอาศัยความเสียสละและทุ่มเทและที่สําคัญต้องมีความต่อเนื่อง
ท่านปรีดีได้ให้สัมภาษณ์กับคลอเดีย รอสส์ ณ บ้านพักชานกรุงปารีสว่า การอภิวัฒน์ทุกอย่างย่อมมาจากการขูดรีดทางเศรษฐกิจเป็นเบื้องต้น การเอารัดเอาเปรียบยังคงดํารงอยู่ในสังคมไทย ฉะนั้น การอภิวัฒน์จะต้องเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและมีพลวัตโดยตลอด จึงทําให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต
การที่สังคมไทยมีสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ ก็ถือว่าเป็นบุญของแผ่นดิน แต่เป็นเรื่องที่น่าละอายใจและน่าเสียใจ ที่ผู้มีอํานาจในบ้านเมืองในหลายยุคสมัย มิได้เหลียวแลบุคคลที่มีคุณูปการให้กับชาติบ้านเมืองอย่างที่ควรจะเป็น
เราควรจะภาคภูมิใจกับคุณงามความดีของท่านปรีดี และทำให้เกิดแรงบันดาลใจในคนรุ่นใหม่ที่จะมีความกล้าหาญ เสียสละ และทำความดีเพื่อชาติบ้านเมืองต่อไป
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างเศรษฐกิจและสภาวะเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ความคิดหลายอย่างทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัย
แต่ที่สิ่งสำคัญมากที่สุดของปรัชญาพื้นฐานของกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ คือ ต้องมุ่งสู่ผลประโยชน์ของมวลชนส่วนใหญ่ อันเป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในความคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ที่มา: ปรับปรุงจาก อนุสรณ์ ธรรมใจ, “ความคิดทางเศรษฐกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโส,” ใน ปรีดีสาร, ธันวาคม 2546 - มกราคม 2547, น. 46-52.