ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชีวิตที่โคจรมาพบกันของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ พระยาพหลพลพยุหเสนา

31
มีนาคม
2564

 

 

29 มีนาคม เป็นวันเกิด “พระยาพหลพลพยุหเสนา” (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำคณะราษฎรสายทหารที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ส่วน 31 มีนาคม เป็นวันเกิด “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักคิด นักเขียน และ นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกาลือลั่น “ศรีบูรพา”

 

 

ในปี พ.ศ. 2564 นี้ ถือว่าครบรอบ 133 ปี ชาตกาลของพระยาพหลฯ และครบรอบ 116 ปี ชาตกาลของกุหลาบ บุคคลทั้งสองไม่เพียงมีวันเกิดใกล้ๆ กันเท่านั้น หากมีบทบาทและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ด้วย

บ่ายคล้อยวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564 ผมสบโอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา หรือ ‘ลุงแมว’ บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลฯ พร้อมกับคณะจากทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระหว่างการสนทนาตอนหนึ่ง พันตรีพุทธินาถเอ่ยถึงบิดาของตนว่า

“นี่ได้รับการบอกเล่ามาจากคุณสุพจน์ ด่านตระกูล เพราะตอนนั้นผมยังเล็กมาก ว่าเจ้าคุณพหลฯ ไม่ชอบพูดเรื่องบ้านเมือง ไม่ชอบพูดเรื่องงาน ไม่เคยพูดโอ้อวดอะไรเลย และไม่แม้กระทั่งบันทึกอะไรให้ชนรุ่นหลังได้อ่านกัน มีแต่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่าน 2 ครั้งที่บ้านบางซื่อ”

ถ้อยคำของลุงแมวยังเปิดเผยเรื่องราวการเข้าร่วมเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาพหลฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่กุหลาบเคยสอบถามและได้รับฟังคำตอบ

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์เคยถามคุณพ่อว่า “ท่านเจ้าคุณฯ ทำใจอย่างไรครับ ถึงกล้าตัดสินใจ”

คุณพ่อตอบว่า “ผมนั่งสมาธิอยู่ 3 เดือนเต็ม”

หลังทานข้าวเย็นเสร็จคุณพ่อจะเข้าไปนั่งในดงกล้วย ที่บ้านบางซื่อปลูกกล้วยไว้เต็มสวน และตั้งคำถามถามตัวเองและตอบตัวเอง จากที่ไม่รู้จะตอบว่าอะไร ถามตัวเองทุกวันไปเรื่อยๆ 3 เดือน จนมีคำตอบว่า ‘ต้องเอาด้วย’ ถึงแม้ว่าลูกจะยังเล็กอยู่ ตอนนั้นคุณพ่อสั่งคุณแม่ว่า ‘พี่จะไปทำงานสำคัญอาจจะถูกประหาร ถ้าเผื่อเป็นอย่างไร ให้น้องเลี้ยงดูลูกให้โตให้ได้’

หรือบุคลิกท่าทางของนายทหารทั้งสองเยี่ยงพระยาพหลฯ และ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ซึ่ง “ศรีบูรพา” เคยประสบมาช่วงต้นทศวรรษ 2470 ก่อนหน้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  หลายปี พันตรีพุทธินาถก็ส่งเสียงเล่าสอดคล้องกับที่กุหลาบเขียนบันทึกไว้ในชิ้นงานชุด เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ทยอยลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 และต่อมานำมาจัดพิมพ์รวมเล่มเมื่อปี พ.ศ. 2490 ดังเนื้อหาจากตอน ‘อ่อนโยนเหมือนแกะ กล้าหาญเหมือนสิงห์’ ว่า

“ในวันหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ บนถนนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ข้าพเจ้าได้เดินสวนทางกับนายทหารปืนใหญ่ผู้หนึ่ง ร่างใหญ่ เดินก้มหน้า กิริยาเสงี่ยม ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังว่า ท่านผู้นั้นคือ นายพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก กิริยาอาการของท่านผู้นี้ ต่างกับอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารอีกคนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเคยพบบนถนนในบริเวณโรงเรียนนายร้อยทหารบกเช่นเดียวกัน 

ท่านอาจารย์ใหญ่อีกคนหนึ่งมักจะเดินเคียงคู่ไปกับนายพลตรี พระยารามรณรงค์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันที่สโมสร ท่านผู้นี้เดินตัวตั้งตรง ใส่หมวกเอียงน้อยๆ หน้าเชิดนิดหน่อย และชอบเดินคุยมาในระหว่างทางดูเป็นคนพากภูมิ

ท่านอาจารย์ใหญ่คนหลังนี้  คือ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้เป็นเสนาธิการของคณะก่อการปฏิวัติ ท่านอาจารย์ใหญ่คนแรก นายพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ ผู้มีกิริยาเสงี่ยมคนนั้นเอง ได้กลายมาเป็นนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะก่อการปฏิวัติอันมีนามว่า ‘คณะราษฎร’”

จริงอยู่ที่รายละเอียดส่วนมากในบทบันทึก เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กุหลาบได้มาจากการสัมภาษณ์พระยาพหลฯ หากถ้อยความข้างต้นถือเป็นความทรงจำจากประสบการณ์ที่กุหลาบประจักษ์ชัดเจนด้วยสายตาของตน เขาเคยเจอพระยาพหลฯ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระสรายุทธสรสิทธิ์

น่าสนใจว่า แล้วกุหลาบไปทำอะไรที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี พ.ศ. 2470?

ถ้าศึกษาชีวประวัติของ “ศรีบูรพา” ย่อมจะรู้ดีว่าช่วงเวลานั้นเขาเคยเข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาทหารบก โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ซึ่งบรรณาธิการคือพระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) บิดาของนักประพันธ์นาม ป. อินทรปาลิต จึงไม่แปลกเลยที่จะเคยพบเจอพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ บ้าง

กุหลาบยังอธิบายเสริมต่อว่า

“ถึงแม้จะได้เคยพบเคยเห็น ท่านหัวหน้าคณะราษฎร มาแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้วก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้วิสาสะกับท่านผู้นี้เลย จนกระทั่งในราวกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ท่านได้ลาออกจากคณะรัฐบาลพระยามโนฯ วันหนึ่งหรือ ๒ วัน ในครั้งนั้น

ข่าวที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” จั่วหัวว่า “สี่ทหารเสือลาออก” นั้น เป็นข่าวตื่นเต้นและกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างแรง เพราะว่าในต้นเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องออกจากคณะรัฐบาลไปหนหนึ่งแล้ว อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกสั่งปิด และยังมีข่าว สี่ทหารเสือลาออกอีกเล่า...”

น่าจะห้วงยามดังกล่าวที่กุหลาบในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ได้เข้าสัมภาษณ์พระยาพหลฯ เป็นครั้งแรก

 

 

อีกคำถามที่คณะจากทางสถาบันปรีดี พนมยงค์เอ่ยถามพันตรีพุทธินาถ ได้แก่ พระยาพหลฯ ชอบทำอะไรหรือมีงานอดิเรกอะไร ? ลุงแมวตอบว่า “คุณพ่อชอบไปป่า และชอบดูสัตว์...”

นั่นชวนให้ผมครุ่นคำนึงถึงกรณีหนึ่งที่อาจสะท้อนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระยาพหลพลพยุหเสนา กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์

ย้อนเวลาไปในวันวาน ช่วงปลายทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 พระยาพหลฯ ได้มีภาพลักษณ์นักล่าสัตว์จนเป็นที่จดจำของประชาชน ผมหวนระลึกหลักฐานเอกสารเก่าๆ ที่เคยอ่านพบเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายชิ้น เฉกเช่นหนังสือพิมพ์ ประชามิตร (THE PRAJAMITRA DAILY NEWS) ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ นางวรกิจบรรหาร (ชลอ รังควร) เป็นเจ้าของผู้พิมพ์โฆษณา และ สนิท เจริญรัฐ เป็นบรรณาธิการ ทว่าแน่นอนคนที่มีบทบาทสำคัญประจำสื่อสิ่งพิมพ์หัวชื่อนี้คงมิแคล้วกุหลาบ

ประชามิตร ฉบับแรกสุดออกวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 ให้ความสนใจประเด็นความเป็นนักล่าสัตว์ของพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี คณะกองบรรณาธิการ (อาจจะนำโดยกุหลาบ) ได้เข้าสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณพร้อมนำมาเสนอข่าว โปรยพาดหัว “พระยาพหลยังไม่ยอมให้บิณฑบาตการล่าสัตว์ ไปนอนยิงสัตว์กรำฝนกับพระประศาสน์ ว่าการล่าสัตว์เปนเกมฝึกกำลังน้ำใจ กรากกรำอยู่ในออฟฟิศต้องผจญให้ใจแข็ง” และรายงานว่า

“ผมยังไม่ได้พรหมจรรย์  ยังไม่ลุโสดา ท่านอาจารย์เคยขอบิณฑบาตว่าอย่าริฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย แต่ผมขอทุเลาเอาไว้ก่อน”

เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา รัฐบุรุษผู้นำสยามใหม่ ได้กล่าวข้อความข้างต้นแก่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นี้ เมื่อไปเยี่ยมท่านที่วังปารุสกวัน วานนี้เวลา ๑๐.๕๕ น. ในโอกาสที่ท่านกลับจากการพักผ่อนระหว่างฤดูร้อน ท่านนายกรัฐมนตรีเสร็จจากการเซ็นหนังสือ ย่างเข้ามาในห้องรับแขกด้วยกิริยากะปรี้กะเปร่า แม้สีหน้าจะแสดงความอิดโรย และผิวคล้ำแดด

ได้ความจากปากคำของท่านเองว่าขากลับจากเมืองกาญจนบุรีทางรถยนต์ไม่ค่อยสะดวก ได้รับความกระเทือน โรคเกี่ยวกับ...ที่เกิดเคยเปนมาแล้ว จึงหวนมา...อีก รู้สึกอ่อนเพลียไปบ้าง และมีอาการปวดกระดูกสันหลัง ท่านกลับถึงกรุงเทพฯวันที่ ๒๙ เดือนก่อน พอมาถึงก็เข้านั่งทำงานในวันรุ่งขึ้นทีเดียว.

มุขบุรุษแห่งคณะราษฎรได้เล่าถึงการพักผ่อนที่ท่านหลบความร้อนในพระนครไปจังหวัดกาญจนบุรีคราวนี้ด้วยกิริยาร่าเริง ในจำนวนวันลาพักผ่อนทั้งสิ้น ๒๕ วัน ได้ไปนอนอยู่ตามป่านอกที่พักเสีย ๑๕ คืน และจำนวนมากใน ๑๕ คืนนั้น ท่านรัฐบุรุษของเราได้ขึ้นไปนอนอยู่บนห้างที่คาคบไม้กลางป่าพร้อมด้วยเพื่อนวีระบุรุษแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายนอีกคนหนึ่งคือพระประสาสน์พิทยยุทธ ด้วยเครื่องแต่งกายล่าสัตว์ 

สองสหายได้รับความทรมานไม่น้อยจากการที่ฝนตกลงมาอย่างหนักในขณะนั่งพักคอยยิงสัตว์เวลากลางคืน เพราะต้องนอนอยู่ที่นั่น ทั้งๆ ที่เปียกโชกไปหมด ได้พบฝนเช่นนี้ถึง ๔ ครั้ง แต่ไม่เจ็บป่วยเลยตลอดเวลาไปล่าสัตว์

นอกจากสัตว์อื่นๆ เช่น กะทิง กวาง เจ้าคุณพหลกับคณะล่าสัตว์ยังได้พบเสือในระยะที่น่ายิงอย่างยิ่ง หากแต่ผู้ที่ร่วมคณะไปด้วยคนหนึ่งสำคัญว่าเปนคน  จึงมิได้ยิงในระยะประชิด เที่ยวนี้คณะของท่านได้ยิงสัตว์อย่างเปน ที่จุใจ.

“ผมไปล่าสัตว์เสมอ  ไม่ใช่เพราะมีใจนิยมการเข่นฆ่าเพื่อนร่วมโลกเลย”  ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวพร้อมโบกมือขวาในว่าปฏิเสธ

“สัตว์ทุกตัวย่อมรักชีวิตของมัน  คนทุกคนย่อมรักชีวิตของตน  เอาใจเขามาใส่ใจเรา  ผมรู้ดีว่าการล่าสัตว์เปนสิ่งที่บาป ท่านอาจารย์ของผมเคยขอบิณฑบาตว่าอย่าริฆ่าสัตว์ตัดชีวิตต่อไปเลย แต่ผมขอทุเลาไว้ก่อน เหตุผลของผมคือ ผมถือว่าการล่าสัตว์เปนการฝึกซ้อมกำลังใจ ในการไปล่าสัตว์  เราย่อมได้ผจญความลำบากต่างๆ นับแต่การบุกป่าฝ่าหนาม ปีนป่ายต้นไม้  ตลอดไปจนถึงการหลงทางและการระดมกำลังใจต่อสู้กับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น พบสัตว์ร้ายในระยะประชิด เปนต้น

สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยบูรณะกำลังใจของเราให้เข้มแข็ง ผมทำงานกรากกรำอยู่แต่ในที่ทำการในพระนคร เมื่อร่างกายซุดโทรม  กำลังและใจก็อ่อนลงไปด้วย  แต่ผมเห็นว่า เรื่องยอมให้กำลังใจอ่อนนี้ ยอมไม่ได้ ถ้าไม่พ้นวิสัยจริงๆเปนต้องหาทางปรับปรุงบูรณะให้เข้มแข็งอยู่เสมอ  คนเราถ้าใจว็อกแว็กแล้ว  ย่อมทำงานให้ลุล่วงไปด้วยดีได้ยาก ภาระที่ผมแบกเข้าไว้เวลานี้บังคับให้ต้องใช้ชีวิตส่วนตัวไปตามทางซึ่งบางทีผู้อื่นก็เข้าใจยากอยู่สักหน่อย”

เมื่อได้ทราบจากบรรณาธิการของเราว่า  คนภายนอกพากันพิศวงอยู่เปนอันมาก ในเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรีชอบล่าสัตว์  เพราะใครๆ ก็ทราบว่า เจ้าคุณพหลฯ เปนคนที่เลื่อมใสหนักไปทางวัดวาและการพระศาสนา  ท่านยิ้มและชี้แจงเหตุผลในทำนองที่กล่าวแล้วกับเหตุผลอื่นอีกหลายประการ  ท่านเน้นว่า “ผมยังไม่เปนพรหมจรรย์  ผมยังไม่ลุโสดา งานทางโลกยังพัวพันอยู่ ในแง่ของทางโลกก็ต้องคำนึงเพื่อให้เหมาะสมกับงานในหน้าที่ที่ทำอยู่นี้ด้วย”

ภายหลังที่ได้สนทนากับท่านถึงธัญญาหารการเมืองบางข้อแล้ว บรรณาธิการของเราจึงได้อำลาท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลา ๑๑.๔๐ น. เราจะได้ลงพิมพ์ปัญหาทางการเมืองที่สนทนากับท่านนายกรัฐมนตรีในฉะบับต่อไป”

ข้อควรคำนึงของการศึกษาประวัติศาสตร์คือการไม่เอาความรู้สึกนึกคิดในปัจจุบันไปตัดสินเหตุการณ์ในอดีต เพราะบริบทสังคมแต่ละยุคสมัยมิได้เหมือนกันทีเดียว สำหรับกรณีที่พระยาพหลฯ ชอบล่าสัตว์ มองด้วยสายตาปัจจุบันอาจเป็นสิ่งที่ขัดต่อจิตสำนึกพึงอนุรักษ์สัตว์ป่า นับว่าไม่พึงกระทำเด็ดขาด แต่ในยุคสมัยนั้น การล่าสัตว์ยังเป็นที่ยอมรับจากสังคมไทยตามค่านิยมความเป็นชายชาตรี

อย่างไรก็ดี พอผมถามย้ำเรื่องนี้อย่างใคร่กระจ่างกับลุงแมว บุตรชายพระยาพหลฯชี้แจงว่า “...ชอบแต่งชุดพรานแต่ไปดูสัตว์ ไม่ใช่ไปล่าสัตว์ เก้งกวางลงมากินน้ำ ก็นั่งดูอย่างเดียว คุณพ่อชอบป่า ชอบเข้าไปนั่งสมาธิอยู่ในถ้ำ สมัยก่อนชาวบ้านเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำพหลฯ อยู่ที่เทือกเขากีบหมู ไม่ใหญ่มากจะมีถ้ำอยู่ด้านบนกับด้านใต้ลงไป คุณพ่อชอบไปนั่งสมาธิที่นั่น เพื่อคิดเรื่องบ้านเรื่องเมืองอะไรต่างๆ นานา”

ทั้งอ้างคำบอกเล่าของพันเอก หลวงแพทยาดุลศิษฎ์ (นัด ปิณฑะแพทย์) คนสนิทของพระยาพหลฯ ที่ว่าเวลาไปเที่ยวป่า นั่งห้างกับท่านเจ้าคุณพหลฯ ไม่ได้ยิงสัตว์เลย นั่งมองสัตว์อย่างเดียว

ช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของของพระยาพหลฯ ภายหลังเส้นเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพาตในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ล่วงมา เดือนธันวาคม พ.ศ. 2489 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เข้าเยี่ยมอาการของท่านเจ้าคุณอดีตนายกรัฐมนตรี แลเห็นสภาพ “ซูบผอมเห็นชายโครง มือซ้ายงอพับใช้การไม่ได้ตลอดลำแขน พูดไม่ค่อยถนัด” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงกับรู้สึกสลดใจ แต่พระยาพหลฯ ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส บอกกุหลาบว่า “...อาการค่อนดีขึ้นมาก ออกเดินเล่นได้บ้างในระยะทางสั้นๆ ความทรงจำไม่สู้ดี และการใช้ความคิดก็เป็นของแสลง…”  มิหนำซ้ำ ยังสนทนาเรื่องที่ตนไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะความเจ็บป่วยโรครุมเร้า

“พวกที่มาติดต่อ เขาอาจจะไม่เข้าใจและอาจคิดไปว่าผมเล่นตัวหรือไม่เข้าช่วยกันรับแบกภาระประเทศ แต่ความจริงผมป่วยและหย่อนกำลังวังชาจริงๆ แต่อาศัยโรคของผมมันก็ไม่ถึงแก่ล้มหมอนนอนเสื่อเสียด้วย มันยังไปไหนมาไหนได้ ข้อนั้นแหละที่อาจทำให้พวกที่มาติดต่อเข้าใจผิดไปได้ แต่ความจริงนั้น ผมทำงานตรากตรำไม่ได้ เพียงเดินมากก็เหนื่อยหอบ อายจะเข้ารับตำแหน่งโดยตัวเองทำการไม่ได้เต็มที่นั้น ผมก็ไม่เต็มใจรับ เมื่อรับแล้วก็อยากทำให้เต็มกำลังของตน”

และตัดพ้อว่า “ผมก็เจ็บใจตัวเองเหมือนกัน ที่ต้องมาเจ็บออดแอดร่วมปี เมื่อมีการสำคัญของประเทศมาถึงตัว ก็รับทำให้เขาไม่ได้ มันช่างเป็นกรรมจริงเทียวคุณ”

พระยาพหลฯ อาการเพียบหนัก ร่างกายทรุดในคืนวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 และได้ถึงแก่อสัญกรรมเวลาประมาณ 03.05 น. ของวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไว้อาลัยทำนองว่าหลักใหญ่ของประเทศหลักหนึ่งได้ล้มลง

ชะตาของบุคคลที่เกิดวันที่ใกล้ๆ กันในเดือนเดียวกัน คือ 29 มีนาคม และ 31 มีนาคม ได้โคจรมาพบพานและมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น นายทหารผู้กลายมาเป็นผู้นำคณะราษฎร และ นายกรัฐมนตรีเยี่ยงพระยาพหลพลพยุหเสนา กับ คนหนุ่มที่เคยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือของทหารบกจนกลายมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่เยี่ยง กุหลาบ สายประดิษฐ์ นอกจากในที่สุดจะมาเจอกันตามบทบาทหน้าที่การงานของตนแล้ว ทั้งสองยังมีอุดมการณ์ร่วมกันที่มุ่งจะเสริมสร้างประเทศไทยให้เจริญวัฒนาและมีประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

เอกสารอ้างอิง

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพานิช, 2490 คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาลกุหลาบ สายประดิษฐ์. บรรณาธิการ ตรีศิลป์ บุญขจร. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2548
  • “พระยาพหลยังไม่ยอมให้บิณฑบาตการล่าสัตว์ไปนอนยิงสัตว์กรำฝนกับพระประศาสน์  ว่าการล่าสัตว์เปนเกมฝึกกำลังน้ำใจ กรากกรำอยู่ในออฟฟิศต้องผจญให้ใจแข็ง.” ประชามิตร. ปีที่ 1 ฉะบับที่ 1 (1 พฤษภาคม 2481). หน้า 1-2
  • ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, พลเอก. ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552
  • ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555 
  • สัมภาษณ์ พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา. หมู่บ้านฟ้ารังสิต คลองสี่,  25 มีนาคม 2564.

หมายเหตุ: คงไว้ซึ่งภาษาและคำสะกดตามต้นฉบับ