ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"ขุนชำนาญ" ช่างแต่งหน้านักแสดงประจำกองถ่ายภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก

5
เมษายน
2564

พระเจ้าช้างเผือก ผลงานภาพยนตร์อันลือเลื่องของนายปรีดี พนมยงค์ มักได้รับการเล่าแจ้งแถลงขานผ่านหลากหลายแง่มุมเสมอๆ ผมเองก็เคยเขียนถึงมาแล้วบ่อยหน ทว่า ในครานี้จะลองนำเสนอเนื้อหาที่ดูเหมือนยังมิค่อยปรากฏใครเอ่ยอ้างเท่าไหร่ นั่นคือแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จัก "ช่างแต่งหน้านักแสดงประจำกองถ่ายภาพยนตร์" เรื่องดังกล่าว

ต้นทศวรรษ 2480 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวทางทวีปยุโรปและเริ่มขยายขอบเขตแพร่ลามสู่ฝั่งเอเชีย แม้จะยังไม่เยี่ยมกรายมาถึงเมืองไทย ห้วงยามนั้นกระแสชาตินิยมและการสร้างชาติกำลังพรั่งพรูพร้อมๆ กลิ่นอายแนวคิดสันติภาพค่อยๆ อวลกรุ่น ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร อาศัยศิลปวัฒนธรรมส่งเสริมเชิดชูลัทธิชาตินิยม เห็นได้จากสื่อบันเทิงที่ผลิตออกมาในรูปแบบบทละครและภาพยนตร์หลายเรื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2482

ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยี่ยงนายปรีดีได้พยายามถ่ายทอดประเด็นสันติภาพผ่าน พระเจ้าช้างเผือก ปรารถนาให้เป็นเครื่องมือนำเสนอภาพลักษณ์สังคมไทยต่อสายตานานาชาติ เริ่มจากลงมือเขียนบทภาษาอังกฤษขึ้นเองชื่อว่า The King of the White Elephant แล้วนำมาจัดสร้างภาพยนตร์เสียงขาว-ดำ ฟิล์ม 35 มม. โดยบริษัทปรีดีภาพยนตร์ นายปรีดีเป็นผู้อำนายการสร้าง สัณห์ วสุธารเป็นผู้กำกับ ถ่ายภาพโดยประสาท สุขุม  ลำดับภาพโดยบำรุง แนวพานิช กำกับศิลป์โดยหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์  บันทึกเสียงโดยชาญ บุนนาค  และพระเจนดุริยางค์ทำดนตรีประกอบโดยนำทำนองเพลง ‘สายสมร’ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่พบในงานเขียนของลาลูแบร์ 2 ท่อนมาต่อเติม 

นักแสดงคัดเลือกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ (ต.ม.ธ.ก.) นักเรียนกรุงเทพคริสเตียน มีนักแสดงกิตติมศักดิ์ทั้งข้าราชการกระทรวง กรมกองต่างๆ และอาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญ นักแสดงนำหลักๆ ได้แก่ เรณู กฤตยากร สวมบทบาทพระเจ้าจักรา, ไพลิน นิลเสน หรือไอรีน สาวสวยลูกครึ่งเชื้อสายเดนมาร์ก สวมบทบาทนางเอกชื่อเรณู และประดับ ระบิลวงศ์ สวมบทบาทพระเจ้าหงสา

ภาพยนตร์ถ่ายทำกันตอนกลางคืนและวันอาทิตย์ เพราะเป็นช่วงเวลาว่างของผู้ร่วมแสดง ฉากไหนที่จะถ่ายทำในโรงถ่ายกองทัพอากาศทุ่งมหาเมฆก็ถ่ายตอนกลางคืน ฉากไหนที่จะถ่ายกลางแจ้งก็ถ่ายวันอาทิตย์ บางฉากถ่ายทำที่ปราสาทเทพบิดรในวังหลวงและวัดพระแก้ว พระยาเทวาธิราช เจ้ากรมพระราชพิธี สำนักพระราชวังมาช่วยคอยดูแล ส่วนฉากฝูงช้างหลายเชือกตระการตา เดินทางไปถ่ายทำที่จังหวัดแพร่ เนื่องจากเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนิทสนมกับนายปรีดี 

การถ่ายทำกินเวลานานหลายเดือน หากในที่สุดสามารถนำ พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ณ ศาลาเฉลิมกรุง มิหนำซ้ำ ในวันเดียวกันยังจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ในสิงคโปร์ และนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

อย่างที่เกริ่นตอนแรก อีกข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครหยิบยกมาขยายความ คงมิพ้นเรื่องการแต่งหน้านักแสดงในกองถ่ายภาพยนตร์ ทั้งๆที่น่าสนใจไม่เบาทีเดียว

สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน ผู้ศึกษาประเด็นแนวคิดสันติวิธีของนายปรีดีผ่านภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เคยสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยานายปรีดี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540 เวลา 09.00 น.-11.00 น. ณ บ้านซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร ตอนหนึ่งสุรัยยาถามเกี่ยวกับการที่ท่านผู้หญิงช่วยแต่งหน้านักแสดง ซึ่งได้รับคำตอบ “โอย! แต่งหน้าตัวประกอบนะคะ” และเปิดเผยต่อว่า “...คนแต่งหน้าชั้นหนึ่งนี่ ท่านขุนชำนาญ อินทุโสภณ พ่อของอาจารย์จันทร์แจ่ม ที่ใช้นามปากกา ‘ตุลจันทร์’ นะคะ คุณพ่อเขาเป็นคนช่วยแต่งหน้าตัวสำคัญๆก็ท่านขุนชำนาญนี่แหละ...”

นั่นชวนให้ผมนึกสงสัย ท่านขุนชำนาญคือใคร?

ชีวิตของขุนชำนาญ หรือนายชำนาญ อินทุโศภน คล้ายคลึงกับชีวิตนายปรีดีอยู่หลายประการ เป็นคนกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยาเฉกเช่นเดียวกัน เกิดปี พ.ศ. 2443 เหมือนกัน แต่วันที่ 16 สิงหาคม ณ เรือนแพจอดริมแม่น้ำแควป่าสักย่านตลาดท้องน้ำตรงข้ามวังจันทร์เกษม ทั้งนายฉายและนางยิ้มผู้บิดามารดามีเชื้อสายจีน นายชำนาญตอนเด็กๆ จึงชื่อจีนว่า “เทียนหลุย”

นายฉายประกอบอาชีพใช้เรือกลไฟรับจ้างโยงเรือบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปกรุงเก่า และโยงเรือกลับจากกรุงเก่าลงมากรุงเทพฯ ส่วนนางยิ้มขายของจิปาถะจำพวกหนังสือ ใบลาน ดินสอพอง ใบตองแห้ง และใบจากมวนบุหรี่

"เทียนหลุย" หัดอ่านและเขียนหนังสือที่บ้าน ก่อนจะเข้าศึกษาโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 5 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนใน พ.ศ. 2454 จึงออกมาช่วยมารดาค้าขาย เนื่องจากบิดาเสียชีวิตไปตั้งแต่ พ.ศ. 2450 พร้อมหัดพูดภาษาแต้จิ๋วกับพ่อค้าจีนจอดเรือขายมะพร้าวข้างเรือนแพ

สามปีต่อมามีโอกาสได้ไปศึกษาต่อโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก พระนคร เพราะภรรยาผู้พิพากษาศาลมณฑลอยุธยาร้องขอนางยิ้มให้ช่วยส่งตัวไปเรียนเป็นเพื่อนลูกชายของตน  เทียนหลุยเป็นนักเรียนแผนกภาษาอังกฤษและเป็นนักเรียนประจำกินนอนที่นั่น ครั้นสอบไล่ได้ชั้น Standard II แล้ว พอปี พ.ศ. 2459 นางยิ้มได้ส่งให้เข้าศึกษาโรงเรียนราชวิทยาลัย ตำบลบางขวาง นนทบุรี ด้วยการสนับสนุนจากข้าราชการกระทรวงยุติธรรมผู้หนึ่ง  

ระหว่างเรียน เขาเล่นกีฬาต่างๆ ทั้งฟุตบอล  แบดมินตัน สคว๊อชแร็กเกต ตะกร้อ หมากรุกไทย หมากรุกฝรั่ง และเพาะกล้าม รวมถึงร่วมกิจกรรมบันเทิงทั้งดนตรี ละครพูด ลิเก และการแสดงอื่นๆ ดังในปี พ.ศ. 2460 ทางโรงเรียนจัดให้นักเรียนแสดงละครพูดภาษาอังกฤษและภาษาไทยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในโอกาสเสด็จพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล

เทียนหลุยได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดสร้างฉากละครและตัวแสดงละครทั้งสองเรื่อง รวมถึงได้รับอบรมการแต่งหน้าละครเจ้าหน้าที่ซึ่งราชสำนักส่งมาด้วย

ล่วง พ.ศ. 2461 เทียนหลุยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ชำนาญ” และเริ่มใช้นามสกุล “อินทุโศภน” ซึ่งรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ญาติฝ่ายบิดาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

นายชำนาญสอบไล่ได้ชั้น 8 ชั้นสูงสุดของโรงเรียนในปี พ.ศ. 2462 ก็เข้ารับราชการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กและเป็นพลเสือป่าราชนาวี สมัครเข้าศึกษาวิชากฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2463-2465 ทว่าระหว่างเรียนสอบตกหลายครั้ง จึงรับราชการประจำกองบัญชาการกลางมหาดเล็กและย้ายไปกรมปลัดบัญชีมหาดเล็ก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนชำนาญวรกิจ” ในปี พ.ศ. 2466

ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่แพร่มาถึงเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงใช้นโยบายดุลข้าราชการออก และ ลดเงินเดือนข้าราชการ นายชำนาญเป็นคนหนึ่งที่พ้นจากราชการราชสำนักในปี พ.ศ. 2469 อย่างไรก็ดี เขาสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีกองบัญชี กรมรถไฟแผ่นดิน เพราะขณะนั้นทางกรมฯ กำลังต้องการคนไปช่วยสะสางบัญชีที่โรงไฟฟ้าสามเสน

พ.ศ. 2470 ขุนชำนาญโอนย้ายไปรับราชการเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี กรมไปรษณีย์โทรเลขเรื่อยมากระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หัวหน้าแผนกธนาณัติ กองบัญชีกรมไปรษณีย์โทรเลขเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีเวลาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าแผนกได้ ทางราชการจึงสั่งให้นายชำนาญรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกธนาณัติอยู่เกือบสองปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกธนาณัติในปี พ.ศ. 2477 และมาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการกรม กรมไปรษณีย์โทรเลขในปี พ.ศ. 2484 

แสดงว่าตอนขุนชำนาญไปช่วยเป็นช่างแต่งหน้านักแสดงประจำกองถ่ายภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เขาน่าจะยังเป็นหัวหน้าแผนกธนาณัติ กองบัญชี กรมไปรษณีย์โทรเลข

ขุนชำนาญเคยเดินทางไปดูงานบัญชีไปรษณีย์โทรเลข ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2471 และอีกราวสิบปีต่อมา ก็ไปประชุมสากลไปรษณีย์ครั้งที่ 11 ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 มีการประกาศตั้งกระทรวงคมนาคม ขุนชำนาญได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่หัวหน้ากองกลาง กระทรวงคมนาคม และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปนับแต่เดือนพฤศจิกายนปีนั้น

ปี พ.ศ. 2485 ทางราชการประกาศให้ข้าราชการลาออกจากบรรดาศักดิ์ได้ ขุนชำนาญใคร่ครวญว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงลาออกจากบรรดาศักดิ์ จึงลาออกด้วย แล้วมาใช้นามว่า "นายชำนาญ อินทุโศภน"

 

นายชำนาญ อินทุโศภน ขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย พ.ศ. 2462
นายชำนาญ อินทุโศภน ขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย พ.ศ. 2462

 

ขุนชำนาญ ก่อนปลดเกษียณ พ.ศ. 2503
ขุนชำนาญ ก่อนปลดเกษียณ พ.ศ. 2503

 

การแต่งหน้าในสังคมไทยยุคแรกๆ โดยเฉพาะการแต่งหน้าของผู้หญิง เพิ่งเกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของ “พวกน้ำเค็ม” หรือ “สาวน้ำเค็ม” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เคยเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว เพราะได้นำเครื่องสำอางติดมือกลับมาจากเมืองนอก และจะแต่งหน้าก็ต่อเมื่อต้องไปงานราตรีสโมสรในวงสังคมชาวต่างชาติตอนเวลากลางคืนเท่านั้น โดย “ถอนคิ้วนิด ทาปากหน่อย และทาแก้มน้อยๆ...” ลักษณะค่านิยมเช่นนี้น่าจะแพร่หลายนับแต่ช่วงทศวรรษ 2450-2460  ซึ่งตรงกับห้วงเวลาที่นายชำนาญ อินทุโศภน เป็นนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย และผ่านการอบรมแต่งหน้าละครจากเจ้าหน้าที่ราชสำนัก ทำให้มีฝีมือในด้านนี้จนมาช่วยแต่งหน้านักแสดงในกองถ่ายภาพยนตร์ช่วงต้นทศวรรษ 2480 ได้

ภายหลัง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายไปได้ 8 เดือน เงื้อมเงาสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่เข้ามาครอบคลุมเมืองไทยเนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้ายึดครองหลายพื้นที่ มิเว้นกระทั่งเมืองหลวงเยี่ยงกรุงเทพมหานคร  กระนั้น แนวคิดที่ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ใช่จะเสื่อมคลายสูญสลายไปหมดสิ้น ถึงแม้ตกอยู่ในสภาวะสงคราม แต่คนไทยยังใฝ่ฝันและพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพและสันติภาพอย่างภาคภูมิ ดังเคลื่อนไหวออกมาในรูปโฉม "ขบวนการเสรีไทย"

ช่างแต่งหน้าและการแต่งหน้านักแสดงประจำกองถ่าย มองผาดเผินอาจดูเป็นเพียงบทบาทเล็กๆ น้อยๆ ที่ประกอบเสริมและเอื้ออำนวยความยิ่งใหญ่อลังการให้กับภาพยนตร์ แต่ก็สะท้อนถึงความร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันคนละนิดคนละหน่อยที่จะมุ่งนำเสนอภาพลักษณ์ ‘สันติภาพ’ ของเมืองไทยไปสู่สายตาชาวโลก

หนังไทยดีๆ ควรค่าแก่การเก็บไว้เป็นที่ระลึก

? สั่งซื้อ DVD พระเจ้าช้างเผือก The King Of The White Elephant ได้ที่

https://shop.pridi.or.th/th/product/652716/product-652716

#มีจำนวนจำกัด

 

เอกสารอ้างอิง

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริและวาณี สำราญเวทย์, “ภาพยนตร์ไทยกับการ “สร้างชาติ”: เลือดทหารไทย, พระเจ้าช้างเผือก, บ้านไร่นาเรา,” วารสารธรรมศาสตร์ 19, ฉ. 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2536), 96-100
  • ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557
  • นายชำนาญ อินทุโศภน กับตำนานของเฮโรโดตัส. ม.ป.ท.: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2534
  • ปรีดี พนมยงค์. พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : สมาคมธรรมศาสตร์ นครลอสแองเจอลิส สหรัฐอเมริกา, 2533
  • ลาวัณย์ โชตามระ. เล่าเรื่องของไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2509
  • สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน. กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์? กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544
  • Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular culture in Thailand. Chiang Mai: Silkworm, 2002.