จะขอเชิญชวนคุณผู้อ่านย้อนเวลาถอยหลังไปลองฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ซึ่งถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 แล้ว ยุคนั้นการประชุมสภาจะจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หรือนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รวมถึงคนทั่วไปพากันเรียกขานว่า “สภาหินอ่อน”
ในคราวนี้ ผมใคร่มุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงเรื่องการแพทย์ในชนบทและแพทย์ประจำตำบล
วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ปีดังกล่าวข้างต้น มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 เริ่มประชุมเวลา 15.45 น. ดำเนินการประชุมโดยรองประธานสภาคนที่ 1 คือ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาคือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 107 ราย
ภายหลังพักการประชุมและเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 17.30 น. โดยรองประธานสภาคนที่ 2 คือพระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก) มาดำเนินการประชุมแทน เนื่องจากรองประธานสภาคนที่ 1มีกิจธุระ ช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ (นารถ อินทุสมิต) สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย ลุกขึ้นถามรัฐบาล
“เมื่อประชุมสมัยสามัญศกก่อน รัฐบาลรับรองกับข้าพเจ้าว่า จะขยายการแพทย์ในชนบทเท่าที่การเงินจะอำนวยให้ โดยจะอบรมแพทย์ทหารส่งไปจัดการในศกนี้ แต่นั้นมาจนบัดนี้ยังไม่มีแพทย์คนใดไปเพิ่มเติมที่จังหวัดหนองคาย จึงขอถามรัฐบาลว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วอย่างไร เพียงใด หรือยังเลย”
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยุคนั้น เป็นกระทรวงที่ยังต้องรับหน้าที่ดูแลเรื่องกิจการแพทย์ จึงอธิบายว่า
“เรื่องการขยายแพทย์ในชนบท โดยจะอบรมแพทย์ทหารส่งออกได้ดำเนินการในศกนี้นั้น ในขั้นแรกรัฐบาลได้ให้นายสิบและพลเสนารักษ์ซึ่งปลดกองหนุนแล้วกลับไปอยู่ภูมิลำเนาของตนในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ช่วยทำการปลูกฝี และรับยาตำราหลวงไปจำหน่ายแก่ราษฎร โดยรัฐบาลให้บำเหน็จตามสมควร ในบรรดานายสิบและพลเสนารักษ์ ซึ่งปลดกองหนุนรุ่นนี้ ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในบางจังหวัดเท่านั้น จึงมีหลายจังหวัดที่มิได้รับช่วยเหลือจากการนี้ เป็นต้นจังหวัดหนองคาย เพื่อขยายการแพทย์ต่อไป รัฐบาลจึงได้ให้มีการอบรมผู้ช่วยแพทย์ขึ้นในภาคอิสาณ รัฐบาลได้ทำการอบรมที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเรียกคนจากจังหวัดต่างๆในภาคนี้มาอบรม เพื่อส่งกลับไปทำการที่จังหวัดส่งมานั้นต่อไป ในคราวนี้จังหวัดหนองคายได้ส่งคนมาอบรมด้วย การอบรมจะเสร็จในราวเดือนเมษายนศกหน้านี้ จึงในต้นปีหน้าจังหวัดหนองคายก็จะได้จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้น อนึ่ง รัฐบาลจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดหนองคาย โดยลงมือก่อสร้างในปีนี้ และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเพิ่มแพทย์และผู้ช่วยดำเนินการในโรงพยาบาลต่อไป”
ท่านขุนวรสิษฐ์ฯ สดับฟัง ก็ไม่ติดใจสงสัยอะไรอีก
ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดหนองคาย เดิมที ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เคยรับราชการตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร เมื่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งได้ถูกประกาศใช้ นำไปสู่จุดเริ่มต้นเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 อาศัยวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อม รัฐบาลจะรับสมัครผู้แทนตำบลและประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกหน ขุนวรสิษฐ์ฯ คือผู้ได้รับเลือก ชีวิตเลยก้าวเข้าไปโลดแล่นในสภาหินอ่อน ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ราษฎร ซึ่งท่านขุนสวมบทบาทผู้อภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลคณะราษฎรอยู่เนืองๆ
ถัดมาในวันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 ซึ่งเริ่มประชุมเวลา 15.40 น. ดำเนินการประชุมโดยรองประธานสภาคนที่ 1 คือ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 113 ราย
ช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม นายทองม้วน อัตถากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เรื่องการอบรมแพทย์ตำบล
“ข้าพเจ้าขอตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า แพทย์ที่จะรักษาและบําบัดการเจ็บป่วยของราษฎรนั้น มีจำนวนไม่เพียงพอแก่การรักษาพยาบาล ดังที่รัฐบาลทราบอยู่แล้ว ตามที่ทางราชการได้แต่งตั้งแพทย์ตำบลไว้ประจำตำบลเพื่อรักษาพยาบาลนั้น แพทย์ตำบลส่วนมากปราศจากไหวพริบเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และไม่มีความสามารถในหน้าที่พอควร เป็นต้นว่ามีโรคติดต่อเกิดขึ้นก็มิได้รายงานต่อแพทย์หลวง เพื่อจะได้ทำการปราบปรามรักษาโดยเร็ว บางทีโรคติดต่อได้ลุกลามมากขึ้น เป็นการยากที่จะเยียวยา เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่ต้องด้วยความประสงค์ของรัฐบาลโดยแท้ ฉะนั้นจึงขอให้รัฐบาลได้ดำริให้สาธารณสุขจังหวัดเรียกแพทย์ตำบลมาอบรมศึกษาในหน้าที่แพทย์ให้ได้รับความรู้เบื้องต้น และหน้าที่อันเกี่ยวกับสาธารณสุข จะขัดข้องอย่างไรหรือไม่”
หลวงประดิษฐ์ฯ หรือนายปรีดี อธิบายรายละเอียดว่า
“การอบรมแพทย์ประจำตำบลนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ถือเป็นข้อปฏิบัติอยู่แล้วโดยกำหนดให้อยู่ในหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัด วิธีการสั่งสอนแพทย์ประจำตำบลเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ของตนเป็นประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้นนั้น ได้ปฏิบัติเป็น ๒ วิธี คือ ๑.ในกรณีที่สมควรจะจัดทำได้ สาธารณสุขจังหวัดก็เชื้อเชิญแพทย์ประจำตำบลมาทำการอบรม การอบรมเช่นนี้ได้จัดทำแล้วหลายจังหวัด เช่น จังหวัดราชบุรี สมุทรปราการ พัทลุง สงขลา กะบี่ ภูเก็ต พังงา สกลนคร ขุขันธ์ นครพนม เลย และอุดรธานี เป็นต้น ๒. โดยทั่วๆไปในเมื่อสาธารณสุขจังหวัดไปตรวจท้องที่ ให้ถือโอกาสแนะนำแพทย์ประจำตำบลในท้องที่ที่ไปตรวจนั้นด้วย ฉะนั้นถ้าจังหวัดใดยังไม่มีโอกาสที่จะเชิญแพทย์ประจำตำบลมาทำการอบรม ก็ได้ใช้วิธีที่ ๒ นี้ไปพลางก่อน หัวข้อในการอบรมแนะนำนั้น ทางกรมสาธารณสุขได้กำหนดไว้ เกี่ยวด้วยวิชาการและกิจการที่เป็นกิจการปกติของแพทย์ที่ต้องใช้และกระทำ เช่น การปลูกฝี วิธีใช้ยาตำราหลวง อาการของโรคสำคัญบางชะนิด การปัจจุบันพยาบาล และหน้าที่ของแพทย์ประจำตำบลตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ เป็นต้น”
นายทองม้วนยังมิคลายสงสัย
“ข้าพเจ้าขอซักถามรัฐบาลอีกว่า ตามที่รัฐบาลได้ตอบว่าบางจังหวัดก็ได้ทำการอบรมอยู่แล้ว ส่วนบางจังหวัดที่ยังไม่ได้มีการอบรมนั้น รัฐบาลจะดำริขึ้นให้มีการอบรมดังบางจังหวัดที่มีอยู่แล้วนั้นบ้างหรือเปล่า”
ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯยืนยันหนักแน่น
“ข้าพเจ้าได้ตอบแล้วว่า ถ้าจังหวัดใดที่ยังไม่ได้อบรม ก็จะให้สาธารณสุขจังหวัดในเวลาที่ไปตรวจท้องที่นั้นให้โอกาสแนะนำด้วย แล้วนอกจากนั้นอาจจะกระทำได้ด้วยการเงินอำนวย ก็จะขยายการอบรมนั้นไปตามจังหวัดที่ยังไม่มีด้วยตามวิธีที่ ๑”
ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม ส่งเสียงสำทับ
“เรื่องเช่นขอได้กรุณาจัดการอย่างวิธีที่ ๑ นั้นได้เร็วที่สุดจะเป็นการดีมาก เพราะความเจ็บป่วยของราษฎรก็ปรากฏอย่างดกดื่นเหลือเกิน”
พลันรองประธานสภาคนที่ 1 ผู้ทำการแทนประธานสภาเอ่ย “ซักถามได้ แต่ขออย่าอภิปราย จะมีคำถามก็ถาม”
นายทองม้วนว่า “เป็นคำร้องขอ”
นายทองม้วน อัตถากร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดมหาสารคามเช่นกัน ต่อมาจึงได้เป็นสมาชิก “พฤฒิสภา” หรือปัจจุบันคือ “วุฒิสภา” รุ่นแรกสุดในปี พ.ศ. 2489 และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 เคยตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคหนุ่มไทย” พร้อมเป็นหัวหน้าพรรค
นายทองม้วนเป็นบุตรชายของนายทองดีและอัญญาแม่แก้วประภา ตระกูลฝ่ายมารดาของเขาสืบเชื้อสายมาจากพระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) เจ้าเมืองมหาสารคาม และพระเจริญราชเดช (อุ่น) ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล “ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม” เขามีน้องชายผู้โลดแล่นในแวดวงราชการและการเมืองหลายคน ได้แก่ นายบุญช่วย อัตถากร (นายกเทศมนตรีคนแรกของจังหวัดมหาสารคาม,ผู้แต่งหนังสือ ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ จังหวัดมหาสารคาม โดยพิศดาร), นายบุญชนะ อัตถากร (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ, อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา,อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA คนแรก) และนายบุญถิ่น อัตถากร (อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู)
ก่อนจะมาลงรับสมัครเลือกตั้ง นายทองม้วนศึกษาเบื้องต้นที่มหาสารคามและเคยเดินทางไปเรียนภาษาจีนและการพาณิชย์ที่เมืองจีนอยู่ช่วงระยะหนึ่ง แล้วกลับมาเปิดกิจการขนส่งและงานก่อสร้าง หลังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. สมัยแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เขาก้าวเข้าไปมีบทบาทอย่างแข็งขัน ณ สภาหินอ่อน มักลุกขึ้นตั้งกระทู้ถาม อภิปรายและออกความเห็นเสมอๆในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงเท่านั้น เขาปาฐกถาผ่านทางวิทยุกระจายเสียง ทั้งถ้อยบรรยายถึงสภาพจังหวัดมหาสารคามและการศึกษากับรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำ ยังเรียบเรียงหนังสือว่าด้วยความรู้ต่างๆ เช่น คู่มือนักเทศบาล ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2477 และหนังสือแจกแจงผลงานของตนเองที่ได้มานะกระทำตอนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชื่อ กิจจานุกิจของนายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ปี พ.ศ. 2479 โปรยคำบนหน้าปกว่า “จงรักษาเกียรติแห่งมหาสารคามใว้ เหมือนเกลือรักษาความเค็มของเกลือ” และ “ใช้ปากเสียงแทนราษฎร”
ขณะเป็น ส.ส. นายทองม้วนยังอุตสาหะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จเป็น “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” (ธ.บ.) ซึ่งเขาเองเป็นบุคคลหนึ่งที่ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้
คุณผู้อ่านอาจนึกแปลกใจ เหตุไฉนกระทรวงมหาดไทยดูแลด้านการแพทย์ มิใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรอกหรือ?
ต้องบอกเล่าว่า เดิมทีปลายปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้ง ‘กรมการพยาบาล’ ขึ้น มีหน้าที่ควบคุมดูแลโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆ รวมถึงจัดการศึกษาวิชาแพทย์ ล่วงสู่ปลายปี พ.ศ. 2432 กรมพยาบาลได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยจัดให้มีกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมืองต่างๆ พอปี พ.ศ. 2448 ได้ให้ยุบกรมพยาบาล และโอนย้ายโรงพยาบาลอื่นๆไปขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงพยาบาลศิริราชที่อยู่กับโรงเรียนราชแพทยาลัย ส่วนกองอื่นๆยังสังกัดกระทรวงธรรมการ เพิ่งจะย้ายทุกๆกองมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2450 ตอนแรกให้อยู่กับกรมพลำภังค์ (ปัจจุบันคือกรมการปกครอง) ในปี พ.ศ. 2455 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการตั้งกรมพยาบาลขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมกรมประชาภิบาล ครั้นปี พ.ศ. 2461 ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นกรมสาธารณสุข สังกัดกระทรวงมหาดไทยและใช้ชื่อนี้เรื่อยมา จวบจนเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485 ได้สถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้คนแรกสุดคือ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด)
นั่นหมายความว่า ตอนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วง พ.ศ. 2477-2478 กรมสาธารณสุขและกิจการงานด้านการแพทย์ย่อมอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้ากระทรวงนี้ ซึ่งนายปรีดีพยายามอย่างเปี่ยมล้นประสิทธิภาพที่จะพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาสารพันทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์ในชนบทและแพทย์ประจำตำบล อันถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งต่อการสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของราษฎรให้แผ่ขยายออกไปกว้างขวาง กระจายทั่วถึงทุกแห่งหนของประเทศ มิได้กระจุกอยู่เพียงในพื้นที่กรุงเทพพระมหานคร ดังสะท้อนชัดเจนผ่านถ้อยคำแถลงและการตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งตอนนายปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2489 ก็กำหนดนโยบายให้จัดสร้างโรงพยาบาลบำบัดโรคให้ครบทุกจังหวัด
ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าไหร่นักว่า นายปรีดี พนมยงค์ได้แสดงบทบาทด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้หลากหลายประการ คงเพราะคนส่วนใหญ่มี ‘ภาพจำ’ ของบุคคลผู้นี้ในฐานะรัฐบุรุษทางการเมืองการปกครองเสียมากกว่า ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว นายปรีดีเองเคยอาศัยบทบาทและภาพลักษณ์ความเป็นนักปกครองแห่งกระทรวงมหาดไทยมาเอื้ออำนวยการส่งเสริมให้พลานามัยของราษฎรในประเทศสมบูรณ์แข็งแรงเนื่องจากสามารถเข้าถึงการแพทย์และการสาธารณสุขกันถ้วนหน้า
เอกสารอ้างอิง
- กระทรวงสาธารณสุข. กระทรวงสาธารณสุข 2540 10 มีนาคม 2540 ครบรอบ 55 ปี การสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2540.
- โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. ปกิณกคดี ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย. นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2561
- ทองม้วน อัตถากร. กิจจานุกิจของนายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม. ม.ป.ท., 2479
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ สามัญ พ.ศ. ๒๔๗๗. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2477
- สุเทพ อัตถากร. บทความบางเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง. อนุสรณ์การฌาปนกิจศพ นายทองม้วน อัตถากร ธ.บ. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ, 2518
- อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๐. พระนคร : กระทรวงสาธารณสุข, 2500