เมื่อข้าพเจ้าไปนั่งฟังการประชุมสภาผู้แทนในเช้าวันที่ ๖ และได้ฟังคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในคำแถลงนั้นช่างอุดมไปด้วยคำจำพวก “ดียิ่งขึ้น” “มากขึ้น” “เพิ่มขึ้น” “มากที่สุด” และ “เหมาะสมแก่กาลสมัย” อันล้วนแต่เปนถ้อยคำชวนให้ตื่นเต้นจน เมื่อได้กลับมาถึงบ้านจึงเปิดสมุดคำแถลงนโยบายทบทวนข้อความดู อีกครั้งหนึ่ง ก็เห็นว่า คำจำพวกที่กล่าวข้างตันนั้นช่างอุดมสมบูรณ์จริง ๆ เพียงแต่จะพลิกดูนโยบายการศึกษาเท่านั้น
“จะส่งเสริมปรับปรุงและบำรุงการพลศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น”
“จะส่งเสริมปรับปรุงการศึกษาผู้ใหญ่ให้กว้างขวางดียิ่งขึ้น”
“จะตั้งโรงเรียนรัฐบาลและประชาบาลเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน”
“จะเพิ่มจำนวนครูอาจารย์ตลอดจนปรับปรุงสมรรถภาพของครูอาจารย์ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย”
“จะขยายการสนับสนุนและบำรุงโรงเรียนราษฎร์ให้มากขึ้น”
“จะได้ปรับปรุงและขยายเพิ่มเติมการศึกษาชั้นมหาวิทยาลัยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น”
“จะพยายามจัดให้มีห้องสมุดสำหรับประชาชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ”
คำมั่นของรัฐบาลในนโยบายการศึกษายังมีมากกว่านั้นที่คัดมาข้างต้นฉะเพาะข้อนโยบายที่มีคำว่า “ขึ้น” ๆ เท่านั้น นโยบายบางข้อที่ไม่มีคำว่า “ขึ้น” แต่ก็กำหนดภาระไว้หนักหนาทีเดียว เปนต้น รัฐบาลจะยึดหลักเปนทางปฏิบัติว่า “รัฐมีหน้าที่ให้การศึกษาอบรมแก่ประชาชนพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน”
นอกจากการศึกษา รัฐบาลยังได้แถลงนโยบายที่กำหนดภาระหนักหนาให้แก่ตัวเองในเรื่องอื่นอีกเปนอันมาก เปนต้นว่า
“จะเร่งสำรวจแหล่งแร่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
“จะเร่งให้ได้มาซึ่งพลังจากไฟฟ้าน้ำตก”
“จะเร่งส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขา”
“จะได้เร่งรัดในการขุดลอกสันดอนกับจะพิจารณาสร้างท่าเรืออื่นต่อไป”
“จะได้ขยายการไฟฟ้าประปาให้แพร่หลายตามท้องที่ทั่วราชอาณาจักรโดยด่วน”
“จะได้ขยายการสร้างอาคารให้เช่าและให้เช่าซื้อมากยิ่งขึ้น จะได้ช่วยอาชีพให้ประชาชน จะขยายการช่วยสงเคราะห์คนชรา คนทุพพลภาพ ผู้มีบุตรมาก ให้เปนผลจริงจังต่อไป”
“จะพยายามให้ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน”
การแถลงนโยบายต่าง ๆ ดังยกมากล่าวข้างดันนั้น รัฐบาลจะได้คำนึงหรือไม่ว่ารัฐบาลได้กำหนดภาระให้แก่ตนไว้อย่างหนักหนาเพียงไรและรัฐบาลได้คำนึงหรือไม่ว่า รัฐบาลจะปฏิบัติคำมั่นเหล่านั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้
อันที่จริงรัฐบาลก็คงจะตอบว่า รัฐบาลไม่ได้ศึกษาว่า รัฐบาลจะปฏิบัติคำมั่นเหล่านั้นได้ครบถ้วน (และก็คงจะปฏิบัติเปนส่วนมากไม่ได้เสียซ้ำ) ถ้ารัฐบาลไม่รับรองหรือยืนยันว่าจะปฏิบัติได้ครบถ้วนหรือปฏิบัติได้เพียงไรแล้ว คำมั่นนั้นจะมีค่าที่ตรงไหน รัฐบาลอาจจะตอบว่า รัฐบาลจะพยายามปฏิบัติไปตามสติปัญญาที่จะทำได้ ถ้าตอบดังนั้นแล้วก็จะมีผลเท่ากับไม่มีคำมั่นอะไรเลย ดังนี้การแถลงนโยบายจะมีประโยชน์อะไร? เราก็ยากที่จะกล่าวว่า การแถลงนโยบายในรูปที่ปราศจากค่าแห่งคำมั่นเช่นนี้จะมีประโยชน์จริงจังอะไรบ้าง
การแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้นย่อมเปนที่เข้าใจกันว่า รัฐบาลจะแถลงถึงกิจการที่รัฐบาลจะสามารถกระทำให้สำเร็จไปได้ในกำหนดเวลาอย่างยาวก็ไม่เกินอายุของสภาสมัยหนึ่ง คือไม่เกินกำหนดเวลา ๔ ปี ในกรณีของรัฐบาลปัจจุบัน อายุของสภาจะมีอยู่ต่อไปอีก ๒ ปีกว่า การแถลงนโยบายก็พึงแถลงถึงกิจการที่รัฐบาลจะกระทำให้ลุล่วงไปภายในเวลา ๒ ปีกว่านี้ ถ้าจำเปนจะต้องแถลงถึงกิจการในระยะเวลายาวนานก็จะต้องกำหนดลงไว้ว่า รัฐบาลจะปฏิบัติให้ลุล่วงไปได้เพียงใด ในชั่วระยะเวลา ๒ ปีกว่าที่คาดหมายว่าจะได้เปนรัฐบาลอยู่ตลอดไป
แต่เมื่อตรวจดูนโยบายของรัฐบาลแล้ว ก็แทบจะไม่พบนโยบายข้อใดที่ได้แถลงไว้ โดยมีแผนการในทางปฏิบัติพร้อมทั้งกำหนดเวลาลงไว้ เราจะเห็นว่า คำแถลงนั้นส่วนมากเปนคำแถลงอย่างเลื่อนลอย อย่างปราศจากความจงใจจริงจังและอย่างปราศจากความสำนึกรับผิดชอบ ดังนั้นจึงยากที่จะกล่าวได้ว่าเปนคำแถลงที่มาจากน้ำใสใจจริง
รัฐบาลแถลงว่า “จะขยายการช่วยสงเคราะห์คนชรา คนทุพพลภาพ ผู้มีบุตรมากให้เปนผลจริงจังต่อไป” และ “จะพยายามให้ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน” การประชาสงเคราะห์หรือบริการสังคม ดังกล่าวนี้จะปฏิบัติให้สําเร็จผลจริงจังดังรับรองไว้ จะต้องอาศัยเงิน อุดหนุนเป็นจํานวนมากมาย ซึ่งรัฐบาลจะมีทางได้เงินมาก็แต่โดยเก็บจากประชาชนตามส่วนที่จะเห็นว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะเปนในรูปภาษีหรือเงินช่วยบริการสังคมก็ตาม แต่เมื่อตรวจดูนโยบายการคลังแล้ว ก็มิได้พบว่ารัฐบาลได้แสดงวิธีการเก็บเงินหรือหาเงินมาใช้จ่ายในบริการสังคมแต่อย่างใดเลย เมื่อเปนดังนี้ก็ดูเปนการแน่นอนว่าไม่มีทางจะทําให้ได้ผลจริงจังดังสัญญาไว้ แต่ถ้ารัฐบาลมีทางจะทําให้ได้ผลจริงจังแล้ว ประชาชนก็คงใคร่จะฟังวิธีการของรัฐบาลต่อไป
เมื่อรัฐบาลแถลงว่า “จะได้ขยายการสร้างอาคารให้เช่าและให้เช่าซื้อมากยิ่งขึ้น” ประชาชนก็ควรจะหวังว่า รัฐบาลได้มีแผนการก่อสร้างไว้พร้อมแล้ว คือมีกําหนดการว่าจะก่อสร้างณะที่ใดจะดําเนินการก่อสร้างโดยรัฐและโดยบริษัทเอกชนพร้อมกันไปหรืออย่างไร จะออกกฎหมายควบคุมวัตถุที่จะใช้ในการก่อสร้างเพื่อสงวนวัตถุก่อสร้างโดยวิธีใด จะสร้างได้จํานวนเท่าใด ในระยะเวลาใด
ในต่างประเทศเมื่อรัฐบาลแถลงว่าจะทําอะไร รัฐบาลก็ต้องมีแผนการที่จะแถลงได้ต่อไปว่า รัฐบาลมีกำหนดการจะปฏิบัติเปนคั่น ๆ อย่างไร และจะปฏิบัติให้ได้ผลเพียงใดในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นคํามั่น และดังนี้จึงจะเรียกว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ประชาชนจะพิจารณาให้ความสนับสนุนได้ เกี่ยวกับกรณีนี้มีรายงานในหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า ประธานาธิบดีทรูแมนได้ลงนามในรัฐบัญญัติอาคารสงเคราะห์ ซึ่งกําหนดให้สร้างสถานที่อยู่ให้ราษฎร ๘๑๐,๐๐๐ หน่วย ในเวลา ๖ ปี รัฐบาลออกเงินให้ปีละไม่เกิน ๓๐๘,๐๐๐,๐๐๐ ดอลล่า เพื่อช่วยชำระค่าเช่าของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ตัวอย่างการปฏิบัติของรัฐบาลนานาประเทศที่จะต้องแสดงแผนการปฏิบัติอย่างเปนกิจจะลักษณะดังนี้มีอยู่เปนอันมาก
มีนโยบายอันหนึ่ง (ในจำนวนหลายอัน) ที่สะดุดความรู้สึกของข้าพเจ้า คือนโยบายของมหาดไทยข้อที่ว่า “จะดำเนินการราชทัณฑ์ไปตามแผนอารยนิยม โดยจะได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักการราชทัณฑ์” (ซึ่งคงจะวิเศษเปนนักหนา) นโยบายราชทัณฑ์เช่นที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาแต่สมัยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเปนนายก รัฐมนตรีสมัยก่อนสงคราม แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการจับกุมนางสาวธันยา อนัปะพิตร บรรณาธิการ เสียงไทย หลังจากที่เข้าไปอยู่ในห้องขังสองสามวัน และได้ประกันตัวออกมา นางสาวธันยาตอบนักข่าวหนังสือพิมพ์ว่า “ทนกลิ่นซ่วมไม่ไหวค่ะ” นี่หรือที่เรียกว่า การราชทัณฑ์ตามแผนอารยนิยม ?
ผู้อ่านอาจจะไม่ทราบว่า บรรดาผู้ต้องหา (ข้างที่ยังมิได้พิศูจน์ว่าเปนผู้กระทำผิด) เมื่อถูกจับไปคุมขังตามโรงพักนั้น ต้องถูกขังอยู่ในห้องเล็ก ๆ รวมกับถังซ่วมซึ่งอยู่ห่างจากหัวนอนและจานข้าวไม่กี่ฟุต และต้องอยู่ดังนั้นตลอดวันคืน ตลอดสัปดาห์ ตลอดเดือน สุดแต่รูปคดี โดยอยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรจะทำ แม้แต่หนังสือก็อ่านไม่ได้ ท่านลองวาดภาพดูว่า เปนชีวิตในเส้นทางราชทัณฑ์ตามแผนอารยนิยมอย่างไร
นายกรัฐมนตรีปัจจุบันเคยไปชิมรสห้องขังของการราชทัณฑ์ตามแผนอารยนิยมมาครั้งหนึ่ง ภายหลังสงครามยุตติ ภาวะในห้องขังเช่นนั้น แทบจะทำให้ประสาทของท่านพินาศไปหมด ในเวลาทุกข์ยากนั้นดูเหมือนท่านได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามีอำนาจในราชการอีกเมื่อใดจะได้ปรับปรุงภาวะในห้องขังเปนการใหญ่ แต่นางสาวธันยาก็ยังต้องกล่าว เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า เธอทนกลิ่นซ่วมไม่ไหว
เราจะคอยดูว่า การราชทัณฑ์ตามแผนอารยนิยมในสมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลสงครามปัจจุบัน จะได้รับการปรับปรุงประการใดบ้าง นอกจากที่อาจจะได้คิดอ่านยกถังซ่วมออกไปให้พ้นจากหัวนอนและจานข้าวของผู้ต้องหา
ข้าพเจ้าเรียกคำแถลงนโยบายของรัฐบาลก็เรียกไปตามรัฐบาลเท่านั้นเอง แต่ข้าพเจ้าออกจะเห็นว่า สิ่งนั้นมีลักษะเปนคำอธิษฐานมากกว่าจะเปนนโยบาย เพราะดูไม่มีแผนการและความแน่นอนอันใดที่จะให้เกิดความอุ่นอกอุ่นใจแก่ราษฎร
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
*ตัวเน้นโดยผู้เขียน -บก.
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “การแถลงคำอธิษฐานในสภา”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 263-264.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “การแถลงคำอธิษฐานในสภา”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 265-270.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย