Focus
- บทความชิ้นนี้ของไสว สุทธิพิทักษ์ เสนอในช่วงเวลาก่อนการเกิดขึ้นของกบฏบวรเดชโดยแสดงให้เห็นการเมืองในระบบรัฐสภาหลังรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับจากปารีสในวันที่ 29 กันยายน 2476 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2476 โดยบทความของไสวชี้ให้เห็นว่า การเมืองในระบบรัฐสภา ทัศนะ และนโยบายของนายปรีดีการนำเสนอแผนงาน และการตราพระราชบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชนหลายฉบับ ที่สำคัญคือ นายปรีดีได้วางนโยบายฯ ดังกล่าวอยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้ออ้างหลักของฝ่ายกบฏบวรเดชข้อ 1 และข้อ 2 ที่ระบุว่าตนก่อการขึ้นเพื่อ "1. ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน 2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง ฉะเพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งแลถอดถอนคณรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำด้วยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย" เพราะในข้อเท็จจริงในบริบทประวัติศาสตร์จากบทความนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ทำงานอยู่ในภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการแถลงนโยบายของนายปรีดี พนมยงค์
ในตําแหน่งรัฐมนตรีลอย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2476 เป็นต้นมา รัฐมนตรี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นแต่เพียงรัฐมนตรีลอยเท่านั้น มิได้ว่าการกระทรวงใด ๆ โดยฉะเพาะ แต่ได้เป็นผู้ทํางานอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าคุณนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาหารือ ให้ความคิดความเห็นและช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ
ส่วนตําแหน่งสมาชิกสภาฯ ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาครั้งหนึ่งเป็นครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 นั้นก็สิ้นสุดลง เมื่อมีเหตุให้ต้องออก ไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ภายหลังที่กลับเข้ามาแล้ว จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2476 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงได้มีโอกาสทํางานในสภานี้บ้าง อาจจะเป็นการที่แปลกอยู่ เพราะงานในด้านสภาที่ว่านี้ เป็นแต่ซักถามรัฐบาลถึงเรื่องต่าง ๆ ที่สมาชิกอื่น ๆ จะไม่เข้าใจหรือสงสัยเท่านั้น และต่อมาเมื่อหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้เสนอให้รัฐบาลแสวงหาทางที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ โดยรัฐบาลเพื่อดําเนินการในเรื่องนี้
แต่งานในด้านที่เป็นรัฐมนตรีลอยนี้เอง เป็นงานเริ่มต้นของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นงานที่เกิดขึ้นด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถของท่านในด้านวิชาการ การปกครองอย่างที่ต้องจารึกไว้ ในประวัติศาสตร์ที่เดียว เพราะเป็นงานที่นักปกครองทั้งหลายต้องยกให้ท่าน ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและสามารถอย่างแท้จริง ผลก็คือ เป็นงานอันเกิดจากสมองของนักปฏิวัติ การที่นำงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในตําแหน่งรัฐมนตรีลอยมากล่าวในที่นี้ ก็โดยที่จะแสดงให้เห็นว่า คํากล่าวที่ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย และในทางรัฐประศาสน์นับว่าเป็นอย่างดียิ่งอย่างที่พระยามโนฯ ได้แถลงต่อประชาราษฎรนั้นเป็นความจริงเพียงไร คํากล่าวของเจ้าคุณนายกฯ พระยาพหลฯ มีความถูกต้องเพียงไร
ณ ที่นี้จะขอกล่าวโดยฉะเพาะงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เพียงสองสามประการเท่านั้น
งานอันหนึ่งที่สําคัญยิ่งสําหรับชาติไทยในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การตระเตรียมวางรูประเบียบราชการบริหาร และได้ยกร่างขึ้นเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2476 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้ว และอันดับต่อมาก็คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
เมื่อร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน้าที่ให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้แถลงในนามของรัฐบาลแทนท่าน และแทนพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยด้วย
การนําคําแถลงของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ มาแสดงไว้ด้วย ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย
เมื่อสภาเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2476 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ลุกขึ้นแถลงต่อสภาฯ ว่า
“ร่างพระราชบัญญัตินี้ เดิมทีเดียว ได้ทำกันมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเรียกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้ออกเมื่อสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ภายหลังเมื่อข้าพเจ้ากลับจากประเทศฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีจึงได้ตั้งคณะกรรมการในคณะหนึ่งคณะกรรมาธิการคณะนี้
ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่าง ๆ มาเป็นผู้ชี้แจงแสดงความเห็นเพื่อประกอบพิจารณายกร่างพระราชบัญญัตินี้
ข้อความทั่วไปคือว่า การต่อไปเราจะจัดรูปราชการให้เข้าตามลักษณะการปกครองดังที่เขา นิยมใช้กันในประเทศต่าง ๆ คือ เราจัดเป็นส่วนกลางเป็นภูมิภาค และเป็นท้องถิ่น สําหรับส่วนกลางนั้นคือ รัฐมนตรีรับมอบหมาย เช่นมีกระทรวงทะบวงและกรม ส่วนภูมิภาค หมายถึงจะส่งข้าราชการไปประจํา แต่เดิมมีมณฑล จังหวัด อําเภอ การมีมณฑลนั้นทําให้การงานช้าเรื่องด่วนที่ควรจะไปถึงได้ก็หาไปไม่ เช่นมีเรื่องจะสั่งไปที่จังหวัดชุมพร ก็ต้องส่งไปยังสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑลก่อนแล้ว มณฑลจึงจะส่งไปยังจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นการล่าช้า เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นว่าถ้าเลิกมณฑลเสีย คงมีราชการรวมเป็นภาค จังหวัด และอําเภอ ซึ่งอาจจะตั้งข้าหลวงใหญ่ประจําได้ หรือเป็นครั้งคราวก็ได้ ให้ถือเป็นส่วนกลางซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบหมาย ปัญหาตะขิดตะขวงอาจเป็นได้ในเรื่องบุคคล
เพราะอาจถูกยุบไปตามมณฑล แต่เรื่องนี้กรรมาธิการได้ปรึกษากันว่า ที่ ท่านทําเพื่อหลักการ ไม่ได้ถือโอกาสทําเพื่อจะได้บุคคลออก บรรดาผู้ที่ประจําการในมณฑลต่าง ๆ ที่ไม่มีความสามารถ ก็ต้องออก เพราะออกโดยยุบไม่ใช่ปลด เราต้องเอามาเลือกเฟ้นส่วนผู้ที่ใช้ไม่ได้หรือหย่อนความสามารถก็พิจารณา ตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนพิจารณาให้เลิกนึกถึงตัวบุคคลเสีย สําหรับเรื่องราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น หมายความถึงเรื่องเทศบาล รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายไว้แล้ว จึงควรยกอํานาจบางอย่างให้ท้องถิ่นเขาทํา เพราะฉะนั้น จึงแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
- ราชการบริหารส่วนกลาง
- ราชการบริหารส่วนภูมิภาค
- ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น”
ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวเน้นต่อที่ประชุมของสภาอีกครั้งหนึ่งต่อไปว่า
“การทำพระราชบัญญัติขึ้น ก็เพื่อต้องการจัดรูปงานให้เข้าลักษณะการปกครองอย่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อจะให้การบริหารราชการแผ่นดินรวบรัดและเร็วยิ่งขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงโครงงานใหม่นี้มิใช่ว่าข้าราชการที่ประจําตําแหน่งที่ถูกยุบเปลี่ยนแปลงคราวนี้ จะต้องถูกปลดตามตําแหน่งที่ถูกยุบเนื่องจากการปรับปรุงการงานก็หาไม่ คือผู้ที่ครองตําแหน่งที่ถูกยุบ จะได้ให้เข้าสังกัดในกองกลางไว้ก่อน
แล้วรัฐบาลจะได้พิจารณาดูว่า จะควรบรรจุเข้าในโครงงานใหม่ตามคุณวุฒิความสามารถ ผู้ต้องกรณีที่จะต้องถูกออกจากราชการตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ฉะนั้นไม่ควรที่จะมีความวิตก เว้นไว้แต่ขอให้นึกว่าเราทําสําหรับหลักการที่จําเป็นจะต้องทํา และมิได้มุ่งหมายจะทําให้ใครเดือดร้อนโดยไม่เป็นธรรม”
สมาชิกสภาฯ พระยาปรีดานฤเบศร์ ผู้เดียวที่ได้ซักถามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องศาล อันจะต้องเลิกตําแหน่งอธิบดีศาลมณฑล ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ตอบให้ทราบว่า อำนาจของศาลมณฑลก็เปลี่ยนมาเป็นอำนาจของศาลจังหวัด ส่วนตําแหน่งอธิบดีนั้นก็ต้องเลิกไป
และเมื่อพระยาปรีดานฤเบศร์สงสัยในคําว่า “ทะบวง” หมายความว่ากระไร ดร. ปรีดี พนมยงค์ได้ชี้แจงตอบว่า
“ทะบวง นั้นมีฐานะต่ำกว่ากระทรวงแต่สูงกว่ากรม ซึ่งจะนับว่าเป็นกระทรวงน้อย ๆ ก็ได้ ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ซูส์เซเกรดาริอาต์ (Sous Secrétaire)”
และได้ตอบข้อสงสัยสมาชิกอีกผู้หนึ่ง ในความหมายของคํา “ทะบวง” กับ “ทะบวงการเมือง” ซึ่งปรากฏในร่างพระราชบัญญัตินั้นว่า
“คำว่า “ทะบวงการเมือง” เป็นคำใช้ในกฎหมาย ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า ปับลิคบอดี้ (Public Body) ซึ่งเท่ากับเป็นบุคคล ส่วนคําว่า “ทะบวง”กระทรวงน้อย ๆ ของฝรั่งเศส คือในฝรั่งเศสนอกจากเป็นกระทรวงใหญ่แล้ว เขายังแยกออกเป็นกระทรวงน้อยอีก แต่คําว่า “ทะบวง” ซึ่งเราได้เคยใช้เรียกขานโดยทั่ว ๆ ไปนั้น หมายถึงส่วนราชการอย่างหนึ่ง ส่วนคําว่า “ทะบวง” นั้น หมายถึงส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล คือเป็นคำรวมของกระทรวง ทบวง กรม เพราะฉะนั้น “ทะบวง” จึงเป็นทะบวงการเมืองเสมอไป
แต่ “ทะบวงการเมือง” ไม่เป็น “ทะบวง” เสมอไป”
เมื่อสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทะบวงกรม ต่อไป ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้แจงตอบสมาชิก โดยละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้แถลงในเริ่มต้นว่า
“...ความจริงกระทรวงทะบวงกรมที่ได้ตั้งขึ้นก็เนื่องจากความจําเป็นที่รัฐบาลจะได้บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปโดยเรียบร้อยตามกาลสมัย ฉะนั้นบางครั้งรัฐบาลอาจจะมีความประสงค์ที่จะให้มีจํานวนกระทรวงน้อยหรือมากก็ได้ตามพฤติการณ์ แต่ฉะเพาะคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันนี้ มีความเห็นพ้องกันว่า ควรมีกระทรวงเพียง 4 กระทรวง และมีทะบวงการอีก 1 คือ สํานักนายกรัฐมนตรี...”
ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้มีกระทรวงทะบวงกรมเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ที่สําคัญ ๆ ก็คือ กระทรวงการคลังมหาสมบัติเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า กระทรวงการคลัง ทําหน้าที่เกี่ยวกับการคลังทั่วไปและการเก็บรักษาเงิน ณ ศาลาว่าการพระราชวัง ซึ่งพระยามโนฯ แยกออกจากกระทรวงทะบวงการเมืองก็กลับมาเป็นกระทรวงวัง
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ตอบสมาชิกว่า
การตั้งกระทรวงเศรษฐการ ตั้งกรมพลศึกษา กรมโยธาเทศบาล ซึ่งเกิดขึ้นแทนกรมนคราทร และมีหน้าที่กว้างขวางให้สอดคล้องกับระบอบเทศบาลที่จะเกิดขึ้นต่อไป รายละเอียดของพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทะบวงกรมในสมัยอ่อนอายุของประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยนี้ มีปรากฏชัดอยู่ในพระราชบัญญัติ แล้วแต่ปัญหาที่เกี่ยวกับกระทรวงวังนั้นได้พาดพิงไปถึงความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาของพระมหากษัตริย์
เรื่องเดิมได้เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 เดือนก่อน โดยนายถวัติ ฤทธิเดช ได้ยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลหาว่าหมิ่นประมาทตนโดยโฆษณาข้อความตามสมุดปกขาว หรือพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ ของดร.ปรีดี พนมยงค์ ศาลไม่รับฟ้องแต่นายถวัติกลับถูกอัยการฟ้อง นายถวัติจึงยื่นฟ้องต่อประธานสภาฯ ดังกล่าวมาแล้วในตอนก่อน
รัฐบาลจึงเสนอญัติต่อสภาให้ตีความมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยเสนอว่า
“สภาผู้แทนราษฎรมีอํานาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอํานาจชําระคดีอาญา หรือคดีแพ่งที่เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ ในกรณีแห่งการฟ้องร้องไปยังโรงศาลให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ส่วนในกรณีอาญา ซึ่งถ้าหากจะบังเกิดขึ้นก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภาฯ มีอํานาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเป็นไปโดย ยุตติธรรมได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์”
และพระองค์ทรงพอพระทัย ตามที่กล่าวข้างต้นนี้แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แถลงว่า
“...เรื่องความบาดหมางและความมัวหมองต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรื่องกบฏที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเร้าใจให้ข้าพเจ้าอยากแถลงความจริงต่อที่ประชุม นี้พวกเราเองต้องการจะสมานสามัคคีปรองดองให้มีขึ้นในระหว่างราษฎร และถึงแม้ในพระมหากษัตริย์ เราพยายามป้องกันจนสุดความสามารถ และให้เกียรติยศอันสูง เพื่อมิให้พระองค์ได้ทรงรับความมัวหมองไปด้วย เรายกเอาความในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญมาตีความว่าฟ้องไม่ได้ซึ่งคงจะไม่ทําให้เสื่อมพระเกียรติยศ
ข้อความเรื่องที่ความในมาตรา 3 นั้นได้กราบบังคมทูลไปแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อตกลงในเรื่องนี้แล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็คงจะเรียบร้อยได้”
งานปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรมที่สําคัญอื่น ๆ อันเป็นการให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเพื่อให้บังเกิดความเจริญแก่ประเทศชาตินั้นก็คือเรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ยกขึ้นเป็นร่างกฎหมายพิเศษพร้อม ๆ กับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงต่อสภาว่า
“เรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ เป็นเรื่องค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้น ภายหลังพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ว่าเราจะยกฐานะของกรมร่างกฎหมายให้มีสภาพ เป็นศาลปกครองอย่างที่เขาได้กระทํากันมาแล้วหลายประเทศ ความคิดอันนั้นมาภายหลังนี้ เราก็ได้กลับนําเอามาใช้อีกในเวลา คือเรามีความประสงค์อยากให้มีคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่จัดร่างกฎหมายสําหรับหน้าที่อื่น ๆ ทั่วไป จะให้มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง เวลานี้ เรายังไม่มีกฎหมายวางไว้ ว่าอะไรคือคดีปกครอง เราเพียงแต่ทําเช่นนี้ให้เป็นรูปขึ้นว่า ถ้ามีกฎหมายบัญญัติ ไว้ว่าเป็นคดีปกครองที่จะให้ว่ากล่าวทางคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีหน้าที่ต่อไป
เมื่อยังไม่มีกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ทําหน้าที่ในทางกฎหมาย หน้าที่ปกครองจะทําเมื่อมีกฎหมายอีกอันหนึ่ง ตลอดจนวิธีการพิจารณาที่ศาลปกครอง ที่เราใช้ว่าคณะกรรมการศาลปกครองนี้ ก็เพราะสัญญาทางพระราชไมตรี วางอํานาจศาล ถ้าเราเรียกว่าศาลปกครองแล้ว อาจเปิดช่องให้เขามีหนทางเกี่ยวข้องได้ แต่ความจริงถึงแม้ว่า จะเรียนตรง ๆ ก็เกี่ยวข้องไม่ได้ แต่ก็เพื่อป้องกัน เราจึงให้นามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา วิธีนี้เราประสงค์อยากให้ราษฎร ได้รับความยุตติธรรมจริง ๆ ถ้าคําสั่งการปกครองเป็นคำสั่งผิดแล้ว มีหนทางร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน เขาทำกัน คือเขาไม่เกรงขามอันใด ทําผิดแล้วยอมรับผิด นอกจากนั้นมีรายละเอียดที่ว่าควรมีกรรมการชะนิดใดบ้าง และผู้ที่จะตั้งเป็นกรรมการนั้นจะมีคุณสมบัติอย่างไร…”
ในสภาฯ ไม่มีสมาชิกผู้ใดอภิปรายหรือคัดค้าน ทุกคนเห็นชอบด้วยแต่ความหวังของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องศาลปกครองนี้ ยังเป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังไม่มี แม้จะระบุหน้าที่คณะกรรมการกฤษ ฎีกา ว่าทําหน้าที่เป็นศาลปกครองไว้ก็ตาม สถานะของประเทศของท่านเอง และโอกาสไม่อํานวยให้ท่านนําประเทศและราษฎรไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้ เรื่องศาลปกครองจึงยังคงเป็นเรื่องแฟ้มใหญ่ของคณะกรรมการกฤษฎีกามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และราษฎรก็ได้รับผลของการกระทําอันไม่สุจริตของข้าราชการฝ่ายปกครองตลอดมาและมากขึ้นในสมัยหลังมหาสงครามครั้งนี้ โดยราษฎรไม่อาจจะร้องหาความยุตติธรรมได้
เมื่อสภาฯ เริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีได้เสนอฯ ต่อสภาฯ ขอให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แถลงแทน ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้แถลงให้ทราบว่า พระราชบัญญัตินี้เกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหาร และแถลงต่อไปว่า
“ความประสงค์ที่ให้มีคณะกรรมการตรวจเงินนี้ ก็เพราะเดิมเรามีกรมตรวจเงินแผ่นดิน แต่เราจัดไปในทํานอง ทะบวงการเมือง หาใช่เป็นกรรมการที่ควรจะเป็นไม่ ถ้าหากว่าขึ้นเป็นกรมอยู่เช่นนี้แล้ว แม้ที่สุดจะให้กรมไปตรวจเงินกระทรวง ฐานะก็ไม่สมกันคือ กรมไปตรวจกระทรวงฯ ไม่ควรทํา เพราะกระทรวงมีฐานะใหญ่กว่ามาก แต่อย่างไร ก็ตาม เมื่อเราอยากให้มีกรมตรวจเงินแผ่นดินตามทํานองบางประเทศเขาให้มีคณะกรรมการบ้าง เช่นทางอังกฤษ ให้คณะกรรมการมีฐานะและหน้าที่ตรวจบัญชี เราควรเป็นวิธีให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนี้ขึ้น ขั้นแรกเราจะปล่อยให้คณะกรรมการนี้มีอํานาจเหมือนคนตรวจบัญชี ชั้นนี้เรายังขาดคนชํานาญอีกมาก เรายังเตรียมไม่พร้อม เพราะฉะนั้นเราจะเดินเป็นขั้น ๆ ไปก่อน ต่อไปภายหน้าถ้าเราเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนี้เมื่อเรามีผู้คนพอแล้ว จะยกฐานะ ให้เป็นอิสสระเหมือนทุก ๆ ประเทศ”
ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้แถลงต่อไปว่า
“เท่าที่แล้วมา การตรวจบัญชีนั้น เราตรวจว่า เช่นปีที่แล้วมาได้ใช้จ่ายไปอย่างไร ต่อไปนี้ เราจะไม่เอาอย่างนั้น คืองบประมาณที่เราลงมติให้ใช้เป็นพระราชบัญญัติแล้ว ได้มีการใช้จ่ายจริง ๆ ไปตามพระราชบัญญัตินั้นหรือไม่ คณะกรรมการต้องตรวจแล้วรายงานให้สภาฯ ทราบ”
ตามพระราชบัญญัตินี้มีที่สําคัญอยู่มาตราหนึ่งว่า “เมื่อทําการตรวจสอบบัญชีและเอกสารใด ๆ ปรากฏว่า บัญชีไม่ถูกต้องและเป็นการทุจริตก็มอบคดีให้เจ้าหน้าที่ฟ้องผู้ที่กระทําผิดต่อศาลตามกฎหมาย” แต่โดยเหตุที่ตั้งแต่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนี้มา คณะกรรมการนี้ก็ขึ้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้นในกรณีที่นายกรัฐมนตรีทําผิดกฎหมายนี้ ถ้ามีก็เป็นการยากที่จะมีการฟ้องร้องอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีความเห็นต่าง ๆ กันว่าบัดนี้สมควรที่จะยกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนี้เป็นอิสสระไม่ขึ้น กับราชการบริหารใด ๆ ตามที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เคยแถลงไว้หรือให้ขึ้นอยู่กับสภาฯ ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการนี้ทําหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์และรักษาประโยชน์ของราษฎรผู้เสียภาษีได้อย่างแท้จริง
นี่เป็นงานส่วนหนึ่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทําไว้ในตําแหน่งรัฐมนตรีลอย ยังมีงานอื่น ๆ อีกมากที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่จะไม่กล่าวในที่นี้
หมายเหตุ :
- คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
เอกสารอ้างอิง :
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ละเมิดรัฐธรรมนูญ-ปิดสภา, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ, (ม.ป.พ.: สิริธรรมนคร, 2493), หน้า 329-343.