สถานการณ์ตลาดแรงงานและแนวทางปฏิรูปแรงงาน
นอกจากปัญหาวิกฤติเลิกจ้างจากผลกระทบ Covid-19 แล้ว ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานและการจ้างงาน จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และพฤติกรรมของผู้บริโภค งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อหลายปีก่อน เคยคาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้า อาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70 - 80%
ขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพใหม่ๆ และการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้น ชดเชยตำแหน่งงานที่หายไปบางส่วน หากระบบเศรษฐกิจใดเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้การจ้างงานลดลงอย่างมากแต่ผลิตภาพและผลกำไรของธุรกิจไม่ได้ลดลง รัฐอาจจะจัดให้มีระบบประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับกำลังแรงงานทุกคนโดยให้เอกชนร่วมรับผิดชอบ พิจารณากรณีของประเทศไทยก็เข้าข่ายสภาพดังกล่าวแถมเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เราจึงควรพัฒนาระบบประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งมีบางส่วนเหมือนกับข้อเสนอระบบการประกันความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจของราษฎรที่เคยเสนอไว้โดย รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ หรือ สมุดปกเหลือง” เมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว
กิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้รับ” เทคโนโลยีมากกว่าเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ต่อไป แรงงานไทยทั้งหมดประมาณ 39 ล้านคน ร้อยละ 45 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 55 เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ร้อยละ 67 จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ฉะนั้น ต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานรับจ้างแรงงาน แรงงานในระบบเหมาช่วง คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆ เป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูเหมือนกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาสแรกปีนี้ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม กำลังทำให้เศรษฐกิจของประชาชนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบรุนแรง คาดว่าจะมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง และ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ lockdown บางส่วน
แม้นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ภาคส่งออกได้รับผลบวกขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังไม่สามารถชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมได้ สถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มลูกจ้างรายวัน ประกอบอาชีพอิสระ และ กลุ่มกิจการขนาดย่อมยังอยู่ในสภาพวิกฤติ จึงขอเสนอนโยบายแรงงานและข้อเสนอเพื่อการดำเนินการ 5 ข้อ ต่อรัฐบาลภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกสาม ดังต่อไปนี้
นโยบายข้อที่ 1 ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2565 เพิ่มเติมให้กับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดให้มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อ Upskill และ Reskill อย่างขนานใหญ่ทั้งระบบทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อนำผู้ว่างงานมาทำหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขและผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ แรงงานไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 49 อยู่ในภาคการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ จึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างสูงได้ การส่งเสริมผลิตภาพภาคแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กับการคุ้มครองแรงงาน จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยและคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้นไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ แรงงานทักษะต่ำจำนวนมากต้องออกจากงานในระบบตอนอายุ 45 ปี สัดส่วนการจ้างงานนอกระบบของแรงงานในวัย 45-59 ปีจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61-69% จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด และแรงงานในวัย 45-60 ปีจะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าและต้องออกมาทำงานนอกระบบโดยไม่สมัครใจจำนวนไม่น้อยเนื่องจากไม่มีเงินออมมากพอที่จะดำรงชีพได้จึงต้องทำงานเพื่อหารายได้ต่อไป
ขณะที่นักศึกษาจบใหม่จะว่างงานมากขึ้น หรือ ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน อันเป็นผลจากความอ่อนแอของการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิตกับภาคการศึกษา นโยบายแรงงานจึงต้องไม่มองขบวนการแรงงาน หรือ สหภาพแรงงาน หรือ การเจรจาต่อรองในเรื่องแรงงานเป็นความวุ่นวาย แต่ต้องมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Fundamental Rights at Work) ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ห้ามการบังคับใช้แรงงาน คุ้มครองแรงงานเด็ก การห้ามเลือกปฏิบัติ และสิทธิรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ (Productive Employment) ได้แก่ การมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การเข้าถึงตลาด และสินเชื่อ ฯลฯ
ต้องมีการขยายความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ได้แก่ หลักประกันสังคม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน การศึกษา ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นจากการเพิ่มการมีส่วนร่วมของตัวแทนลูกจ้างและองค์กรแรงงาน
ฉะนั้น การมีผู้แทนและมีส่วนร่วม (Social Dialogue) เพื่อเป็นหลักประกันในการกำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับระบบแรงงานที่เป็นธรรม และมีผลิตภาพจึงมีความสำคัญ
นโยบายข้อที่ 2 ขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณและการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมบางส่วนมาจัดสร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตน ที่เป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างน้อย 8 แห่งทั่วประเทศ
นโยบายข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือธนาคารผู้ประกันตน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการออมเงินให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และควรจัดตั้งธนาคารแรงงานให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2566 แนวคิดการจัดตั้งธนาคารแรงงานในประเทศไทย เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ซึ่งเกิดจากข้อเสนอและข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมของรัฐสภา ขบวนการแรงงาน และ นักวิชาการด้านแรงงาน
ต่อมาใน พ.ศ. 2549 สํานักงานประกันสังคม ได้ทําการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาและผลการสํารวจข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยสรุปได้ว่าการจัดตั้งธนาคารแรงงานเป็นนโยบายระดับชาติ รัฐบาลควรจัดงบประมาณดําเนินการ และไม่ควรใช้เงินกองทุนประกันสังคม
ต่อมาใน พ.ศ.2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า “รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคมและนําเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงาน เพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงานซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง และจำกัดเพดานวงเงินกู้เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว และยังสามารถส่งเสริมการออมในรูปแบบต่างๆ ได้ด้วย ตนจึงเห็นว่า ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณารูปแบบการจัดตั้ง โครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรที่เหมาะสม รวมทั้งควรกำหนดให้สามารถจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2566”
นโยบายข้อที่ 4 ขอให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 แม้นรัฐบาล คสช. และ รัฐบาลประยุทธ์สองจะประสบความสำเร็จตามสมควรในการลดปัญหาการใช้แรงงานทาสจนประเทศไทยหลุดพ้นจากถูกกีดกันทางการค้าแต่การไม่รับรองอนุสัญญาแรงงานบางฉบับ เช่น ฉบับ 87 และ 98 จะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าครั้งใหม่ และส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกได้ การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่าน ได้จุดประเด็นให้ไทยต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 สหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นเพราะถือเป็นสิทธิแรงงานและเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สำคัญ
อนุสัญญา ILO ฉบับ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และ ILO ฉบับ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกัน และการเจรจาต่อรอง จะช่วยทำให้ระบบการจ้างงานมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น และ ยังทำให้เกิด “ประชาธิปไตย” ในสถานประกอบการอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับชาติอีกด้วย ILO ทั้งสองฉบับ 87, 98 นั้นมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญามาร่วม 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีรัฐบาลใดตอบสนอง หากทางการไทยยังไม่พร้อมที่จะให้ “แรงงานต่างด้าว” ในไทยรวมตัวกันได้ ประเทศไทยอาจมีข้อสงวนในเรื่องดังกล่าวได้ แต่ควรให้สิทธินี้ต่อแรงงงานไทย
ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงานในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ไม่ก้าวหน้านัก การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างยังไม่ได้มาตรฐาน มีการแก้ไขในสมัยรัฐบาลรัฐประหารหลายยุคในการลดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการลิดรอนสิทธิแรงงานในการรวมกลุ่มในปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2534
มาตรฐานแรงงานและสิทธิแรงงานที่เป็นสากลนั้น มีเนื้อหาครอบคลุม 22 หัวข้อ เช่น เสรีภาพในการสมาคม การร่วมเจรจาต่อรอง และแรงงานสัมพันธ์ (Freedom of association, collective bargaining and industrial relations) การขจัดการใช้แรงงานเด็ก และการคุ้มครองเด็กและผู้เยาว์ ห้ามใช้ระบบแรงงานทาสและแรงงานบังคับ โอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การร่วมปรึกษาหารือไตรภาคี การส่งเสริมและนโยบายการจ้างงาน การฝึกอบรมและการแนะแนวอาชีพ การคุ้มครองความเป็นมารดา ความมั่นคงในการจ้างงานและทางสังคม ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน เป็นต้น หลายเรื่องนั้นไทยได้ก้าวหน้าไปไกลและดีขึ้นตามลำดับ แต่บางเรื่องต้องมีการปฏิรูปต่อไป
นโยบายข้อที่ 5 รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร “สำนักงานประกันสังคม” โดยเปลี่ยนสำนักงานที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ “องค์กรลูกจ้าง” และ “องค์กรนายจ้าง” บริหารร่วมกับผู้บริหารจากภาคราชการและผู้บริหารมืออาชีพที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมจ้างมาบริหารสำนักงานและกองทุนอย่างมืออาชีพ โดยมีระบบและกลไกให้เกิดการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาลและป้องกันการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของผู้ประกันตน
นโยบายและมาตรการต่างๆ ของหลายรัฐบาลมุ่งไปที่การดูแลคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบาย “เอื้อคนจน” (Pro-poor policy) และ นโยบายเอื้อผู้ใช้แรงงาน (Pro-Labour Policy) เป็นเรื่องที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการ Lockdown และ การแพร่ระบาดของ Covid-19 นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังมีความอ่อนแออยู่ การเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองและการเพิ่มสิทธิในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงได้
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ “มนุษย์” ทำงานร่วมกับ “หุ่นยนต์” และ “สมองกลอัจฉริยะ” ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่
มาตรฐานแรงงานไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานโลก กระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยเมื่อ 27 มิ.ย. 2546 เพื่อให้สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด นำไปปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้วยความสมัครใจ การดำเนินธุรกิจและดำเนินการผลิตต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน (รวมถึงสิทธิแรงงานด้วย) สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องทบทวนข้อกำหนดแห่งมาตรฐานแรงงานในช่วงนี้ เนื่องจากมีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างและทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มาตรฐานนี้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมาช่วงและการจ้างงานแบบไม่เป็นมาตรฐานด้วย นายจ้างต้องจัดสรรเงินทุนสำรองให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยต่อแรงงานตามกฎหมาย กรณีที่สถานประกอบการเลิกกิจการ แต่การเลิกกิจการบางส่วนไม่ใช่การเลิกกิจการจริง แต่เป็นการย้ายพื้นที่และย้ายฐานการผลิต กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองต้องทำการสอบสวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย
ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นเสมอในสถานประกอบการเกือบทุกประเภทไม่เว้นแม้นในรัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษา ซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น ขณะนี้หลายกิจการ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมลดมาตรฐานแรงงานลงมาเพื่อลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มการกีดกันทางการค้า อันนำมาสู่ผลกระทบต่อกิจการและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด การยกระดับมาตรฐานแรงงานและการพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเป็นเรื่องที่มีมีความสำคัญ เป็นบทบาทความร่วมมือกันของลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางด้านแรงงานและระบบสถาบันแรงงาน รวมทั้งกฎระเบียบเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ดั่งที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เคยได้กล่าวเอาไว้ “แรงงานเป็นบ่อเกิดให้ความไพบูลย์”
15.30 น. วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ที่ บ้านพิทักษ์ธรรม เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
หมายเหตุ:
- บทความนี้ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่จากเจ้าของบทความแล้ว
- เรียบเรียง และ ปรับปรุง โดย บรรณาธิการ