ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติธรรมประชาธิปไตยตามแนวคิดของรัฐบุรุษ

13
พฤษภาคม
2568

 

ประชาธิปไตยไร้สันติภาพสะท้อนว่า ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกเพียงรูปแบบไม่ใช่เนื้อหาสาระ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมมีสันติภาพและสันติธรรม สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง  

ประชาธิปไตย จะเปิดพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วม ลดความเกลียดชัง ลดอคติที่ต่อกัน สามารถแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆเรื่องโดยไม่มีการยัดข้อกล่าวหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน

ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคมครั้งใหญ่ ต้องหยุดโครงสร้างที่กดทับ “คนส่วนใหญ่” ไม่ให้เข้าถึงโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม โครงสร้างอันไม่เป็นธรรมเหล่านี้จะทำให้ ประชาธิปไตยแบบไทยไทยไม่มีสันติสุข เกิดความรุนแรงทางการเมือง ความขัดแย้งทางสังคมเป็นระยะๆ มี “รัฐประหาร” เฉลี่ย 4-5 ปีต่อครั้ง ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตยแม้นจะมีการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน มาแล้วเกือบ 93 ปี

หากพิจารณาหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และ “แนวคิดภราดรภาพนิยม” ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์แล้ว จะเห็นภาพอันแจ่มชัดว่า นี่คือรากฐานสำคัญแห่งสันติธรรมประชาธิปไตย ปรีดี พนมยงค์ได้เสนอ “สันติภาพ” บน ฐานของ “พุทธธรรม” สังคมที่มีเมตตา

ภราดรภาพและความเสมอภาคจะเป็นรากฐานของยุคใหม่ ส่วนสังคมที่กดขี่ เบียดเบียน ไม่ยึดธรรมะ จะเสื่อมและล่มสลายในที่สุด เราหวังเช่นนั้น ถ้าประชาธิปไตยสมบูรณ์ถูกสถาปนาขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมไทย 

ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นเพียงสัญญลักษณ์ของประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เป็นเพียงสัญญลักษณ์ของ เอกราชและความรักชาติเท่านั้น แต่เป็น เนื้อหาสาระ เป็น จิตวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ อย่างล่าสุด ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกที่ท่านอำนวยการสร้างได้รับการยกย่องโดย ยูเนสโก ให้เป็น มรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเป็นความตั้งใจในการเผยแพร่ แนวคิดสันติภาพสู่ประชาคมโลกช่วงก่อนสงครามครั้งที่สอง ของ คณะผู้จัดสร้างภาพยนตร์  

ทางออกของความรุนแรงระลอกล่าสุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การที่รัฐ ต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้ พร้อมกับ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ ระมัดระวังไม่สร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายก่อความไม่สงบสร้างความรุนแรงเพิ่ม ทำอย่างไรให้หยุดยิง หยุดความรุนแรง แล้วเริ่มกระบวนการเจรจา

สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ เมื่อ รัฐบาล และ กองทัพ มีความเป็นเอกภาพ และ มีจุดยืนและแนวทางในการแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ยึด “รัฐธรรมนูญ” ประเทศเป็น ราชอาณาจักร ที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่ เอกภาพแห่งชาติไทยต้องอยู่บนฐานของประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิมีเสียงร่วมกัน มีความเป็นธรรม ไม่ละเลยความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ ไม่กดทับอัตลักษณ์ ทำให้ความรักในท้องถิ่นเป็นพลังของรัฐประชาชาติที่เข้มแข็งมั่นคง  

ขณะนี้ ผู้ก่อความไม่สงบ ได้มีการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง การใช้วิธีการเยี่ยงนี้ การเจรจาย่อมไม่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาหารือ คือ หนทางสำคัญในการสร้างสันติภาพอย่างถาวร และ ยุติวังวนของความเกลียดชัง

ความเกลียดชังเหล่านี้บางส่วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์เชิงอำนาจ เพื่อแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ ชาวบ้านในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกันได้แม้นมีความแตกต่างทางด้านลัทธิความเชื่อทางศาสนา  

การยืนยันในแนวทาง “สันติวิธี” ต้องไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ” การเสนอให้ “เจรจาและหยุดยิง” มาแทน “การใช้กำลังอาวุธ” ทำร้ายกัน ย่อมเป็น สิ่งที่ดีกับมนุษย์ทุกคน ส่วนใครก็ตาม ใช้การทำลายชีวิตผู้อื่น โดยเฉพาะโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ เขาเหล่านี้หรือองค์กรแบบนี้ต้องถูกดำเนินการลงโทษโดยกฎหมายอย่างเด็ดขาด ความรุนแรงต่อพลเรือนไม่เพียงละเมิดหลักศาสนธรรมและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธลงอย่างสิ้นเชิง

อีกด้านหนึ่ง ผู้รักสันติทั้งหลาย ต้องช่วยกันติดตามขบวนการ IO ปั่นกระแสความขัดแย้ง ความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ ขบวนการเหล่านี้ สร้างความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะทำให้กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพหยุดชะงัก

เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษนักสู้เพื่อความเสมอภาคและต่อต้านการเหยียดผิว เป็นผู้สถาปนา แอฟริกาใต้ ให้เป็นประเทศที่คนทุกสีผิวได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ สถานการณ์สงครามและความรุนแรงจากการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้นั้น แก้ยากกว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาก แต่ เนลสัน แมนเดลา และ ผู้รักสันติธรรมประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้ทั้งหลาย ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ผมขอยกคำกล่าวของ เนลสัน แมนเดลา ที่ให้ข้อคิดที่ดีมาก “ไม่มีใครเกลียดคนอื่นเพราะมีสีผิว พื้นเพ และศาสนาที่แตกต่างมาตั้งแต่เกิด คนทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดผู้อื่น และเมื่อเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้แล้ว ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความรักเกิดขึ้นในหัวใจของคนเราได้ง่ายกว่าความเกลียดเสียอีก” 

สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้วหลายทศวรรษ สงครามโลกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 84 ปีที่แล้ว พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่ปลอดจากสงครามโลก มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าช่วงเวลาใดๆของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

แต่โลกก็ไม่เคยสิ้นสงครามและความขัดแย้งรุนแรง สงครามยังปะทุขึ้นเป็นระยะๆทั่วโลก สงครามเย็นรอบใหม่กำลังกลับมา สงครามการค้าสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอาจเป็นสัญญาณแรกแห่งความขัดแย้งรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ สงครามระหว่างระบอบปูตินรัสเซีย กับ ยูเครน ยังคงไม่มีท่าทีจะจบสิ้นเมื่อไหร่อย่างไร สงครามและความขัดแย้งรุนแรงยังคงปะทุขึ้นตลอดเวลาในตะวันออกกลาง การเติบโตขึ้นของกระแสขวาจัดชาตินิยมสุดขั้วและระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศ อาจนำมาสู่สงครามและความขัดแย้งในอนาคตได้ 

ภารกิจของนักต่อสู้เพื่อสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และ ประชาธิปไตยต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพและเสรีภาพการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า สันติสุขของมนุษยชาติยังต้องดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน แนวทางอหิงสาก็ดี แนวทางความสมานฉันท์ผ่านการให้อภัยดี ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าขึ้น ดีขึ้น อย่างสันติทั้งสิ้น

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราเห็นผู้นำมากมายอุทิศตัวให้กับการต่อสู้เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเป็นธรรม  ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็น ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เนลสัน แมนเดลา อองซาน ซูจี มหาตมะ คานธี จิมมี่ คาร์เตอร์  โคฟี อันนัน โรซาร์ ปาร์ค อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และ  ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม

“ไม่มีรัฐบุรุษคนใด สามารถสร้างสันติธรรมประชาธิปไตยได้ หากมวลชนไม่ตระหนัก ไม่สนับสนุนและไม่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังให้เกิดขึ้น” 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://web.facebook.com/share/v/156TMJMnZT/

 

หมายเหตุ :

  • คงรูปแบบการสะกดและการเว้นวรรคไว้ตามต้นฉบับ

 

ที่มา : PRIDI Talks #PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม”วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.