ประกาศผลการตัดสินบทความ 'ทุนปาล พนมยงค์' ประจำปี 2564
ตามประกาศเรื่อง ประกวดบทความชิงรางวัล “ทุนปาล พนมยงค์” ประจำปี 2564 ในหัวข้อ ‘Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’
บัดนี้ คณะกรรมการตัดสินประกวดบทความชิงรางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ได้พิจารณาบทความที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 13 ราย แล้วปรากฎว่ามีผู้สมควรได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ เป็นเงิน 15,000 บาท

Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
บทนำ
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา Soft Power ได้ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในแวดวงสื่อมวลชนและการเมือง ในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการโน้มน้าวชักจูงผู้คนให้มีความคิดและพฤติกรรมเป็นไปในแนวทางตามที่ต้องการ โดยปราศจากการใช้กำลังประทุษร้ายหรือการบังคับขู่เข็ญ ซึ่งตรงข้ามกับการใช้อำนาจแบบ Hard Power อย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างของ Soft Power ที่เข้าใจง่ายและเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุด คงต้องกล่าวถึงกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการส่งออกวัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองแบบอเมริกันให้ชาวโลกได้สัมผัสและปฏิบัติตาม หรือกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่มีการใช้อุตสาหกรรมเพลงและสื่อบันเทิงมาดึงดูดผู้คนให้รู้จักกับประเทศเกาหลีใต้มากยิ่งขึ้น (ปณัยกร วรศิลป์มนตรี, 2562) และกรณีล่าสุดของประเทศจีน ที่มีการแจกจ่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นการใช้ Soft Power ที่มิได้มุ่งเผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมือง หากมุ่งไปที่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ (ลงทุนแมน, 2563)
Joseph Nye นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายว่า Soft Power นั้นจะก่อตัวขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออาศัยปัจจัยทั้งหมดสามประการ (Nye, 2004) ประการแรก คือ วัฒนธรรม ถ้าหากวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งได้ถูกเผยแพร่และปฏิบัติตามในประเทศอื่น ๆ เช่นนั้นแล้วย่อมส่งผลให้ประเทศเจ้าของวัฒนธรรมนั้นมี Soft Power ไปด้วย ประการต่อมา ได้แก่ คุณค่าทางการเมือง กล่าวคือ ประเทศที่เป็นผู้นำหรือเป็นต้นแบบของคุณค่าทางการเมืองซึ่งมีอีกหลายประเทศได้ยึดถือคุณค่าเช่นเดียวกัน ประเทศนั้นย่อมมี Soft Power ด้วย และประการสุดท้าย คือ นโยบายด้านการต่างประเทศ โดยประเทศใดที่มีนโยบายด้านการต่างประเทศที่มุ่งสนับสนุนสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ประเทศนั้นจะมีโอกาสในการสร้าง Soft Power ต่อประเทศอื่น (สิทธิพล เครือรัฐติกาล, 2551)
จากที่ได้กล่าวไปนั้น จะเห็นว่า Soft Power มีความเกี่ยวข้องกับประเทศหรือรัฐค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีความสามารถและศักยภาพมากที่สุดในการกำกับดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศ และเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศตนให้เป็นที่รับรู้ของประเทศอื่นทั่วโลก จากตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน ภาคเอกชนของทั้งสามประเทศล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านนโยบายและด้านงบประมาณจากภาครัฐทั้งสิ้น
จากรัฐสู่ประชาชน
กระแสโลกาภิวัตน์ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ได้ส่งผลให้วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองของแต่ละประเทศถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่ของโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี ส่งผลให้ผู้คนจากคนละซีกโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐและสื่อมวลชนอย่างเช่นในอดีต โซเชียลเน็ตเวิร์กและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้กลายเป็นสถานที่หนึ่งซึ่งได้สร้างสังคมเสมือนจริงที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเข้ามามีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน สถานการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ประชาชนในฐานะปัจเจกชนได้ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองของตนให้แก่ผู้คนจากประเทศและวัฒนธรรมอื่น เพียงแค่การสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตประจำวันก็เพียงพอแล้วสำหรับการเผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับอาหารประจำชาติ ที่คนไทยสามารถโน้มน้าวเชื้อเชิญให้ชาวต่างชาติเข้ามาลิ้มรสชาติของต้มยำกุ้ง การพูดคุยเกี่ยวกับการ์ตูนซึ่งดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งการโต้เถียงในประเด็นทางการเมืองที่สามารถเรียกร้องให้ผู้คนจากประเทศอื่นรับรู้และตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ ได้
ในปัจจุบัน ภาคเอกชนและประชาชนพลเมืองได้มีบทบาทอย่างมากในการเสริมสร้าง Soft Power ให้แก่ประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองผ่านทางสื่อบันเทิงและโซเชียลเน็ตเวิร์ก แตกต่างจากในอดีตที่ภาครัฐจะเป็นตัวแสดงหลักในการกำหนดแนวทางและนโยบายในการเสริมสร้าง Soft Power ให้แก่ประเทศ อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่ง ประชาชนเองก็สามารถที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองของตนเองอันแตกต่างออกไปแนวทางของประเทศหรือรัฐที่ตนสังกัดอยู่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนนั้นสามารถสร้าง Soft Power ให้แก่ตนเองและกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง
จากการสนับสนุนสู่การต่อสู้
การมีความคิดที่แตกต่างกันนั้นย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ผู้คนซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และคุณค่าทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกคนยังคงปรารถนาให้ผู้อื่นมีความคิดและปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองต้องการอยู่เสมอ มนุษย์แต่ละคนย่อมมีวิธีการในการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติในสิ่งที่ตนต้องการแตกต่างกันออกไป บางคนมักจะใช้กำลังในการบีบบังคับหรือขู่เข็ญผู้อื่น บางคนชื่นชอบการให้ผลตอบแทนในการจูงใจ หรือบางคนนั้นโน้มน้าวชักจูงผู้อื่นทางความคิด ซึ่งนั่นหมายถึงการใช้ Soft Power ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นให้เป็นไปในแนวทางที่ตนต้องการ
สำหรับผู้ที่มีอำนาจและทรัพย์สิน ย่อมมิใช่เรื่องยากถ้าหากต้องการควบคุมผู้อื่นด้วยการบีบบังคับและการให้ผลตอบแทน เช่น ภาครัฐสามารถควบคุมพฤติกรรมประชาชนด้วยกฎหมาย ภาคเอกชนสามารถควบคุมผู้คนด้วยค่าตอบแทน แต่สำหรับผู้ที่ปราศจากทั้งอำนาจและเงินตรา จำเป็นจะต้องใช้ Soft Power ในการโน้มน้าวชักจูงผู้อื่นให้มีความคิดเห็นคล้อยตามตน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อื่นในท้ายที่สุด
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอันไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้คนที่เรียกร้องให้มีการปกครองในระบอบที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง กับผู้นำเผด็จการที่ตั้งตนเป็นคู่ตรงข้ามของเสียงส่วนใหญ่อย่างชัดเจน เช่นนั้นแล้ว ประชาชนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองนั้นจำเป็นต้องมีการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ผ่านการใช้ Soft Power ในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของผู้คนในสังคมให้มาเข้าร่วมกับพวกตนให้ได้มากเพียงพอที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ เนื่องจากประชาชนเหล่านั้นไม่มี Hard Power อันได้แก่อำนาจในการบังคับขู่เข็ญและการให้ผลตอบแทนอย่างที่รัฐมี การเลือกใช้ Soft Power จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดและเป็นหนทางเดียวสำหรับการใช้ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่ถือครอง Hard Power อย่างเหนียวแน่น
ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองของตนเพื่อเสริมสร้าง Soft Power ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองให้แก่ผู้อื่น การจัดทำภาพยนตร์และดนตรีเพื่อจุดประกายให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาทางการเมืองและสังคมที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งการใช้อารมณ์ขัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมาก เนื่องจากเสียงหัวเราะของผู้ต่อต้านนั้นส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ Hard Power ของรัฐบาลเผด็จการนั้นดูอ่อนแอและไม่น่าหวาดกลัว (กรุณพร เชษฐพยัคฆ์, 2560)
มรดกของระบบศักดินา
ในปัจจุบัน การใช้ Soft Power ผ่านทางสื่อบันเทิงและโลกออนไลน์เพื่อต่อต้านเผด็จการนั้นได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนผู้ฝักใฝ่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้าหากพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่าประชาชนเหล่านี้มิได้เพียงแค่ต่อสู้กับอำนาจเชิง Hard Power ของรัฐบาลเผด็จการแต่เพียงอย่างเดียว หากยังต่อสู้กับอำนาจเชิง Soft Power ของระบบศักดินาเดิม อันหลงเหลือมาจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 นั่นเอง
ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวปาฐกถาในงานชุมนุมฤดูร้อนของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ในเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 โดยปาฐกถาดังกล่าวมีตอนหนึ่งได้กล่าวถึงซากทัศนะของศักดินา อันหมายถึงความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และคุณค่าทางการเมืองของระบบศักดินาที่ตกทอดหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ตาม ปรีดีมองว่าซากทัศนะดังกล่าวนี้เองที่เป็นสิ่งฉุดรั้งสังคมไทยไม่ให้ก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากผู้คนจากโลกศักดินามักจะต่อต้านความคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค แม้ว่าจะเป็นชนชั้นไพร่ พวกเขาเหล่านั้นก็ยอมรับความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นอย่างเต็มใจ อีกทั้งยังต่อต้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขันอีกด้วย (ปรีดี พนมยงค์, 2552)
ซากทัศนะของศักดินา ในอีกนัยหนึ่งนั้นหมายถึง Soft Power ของระบบศักดินาที่ได้ก่อร่างและฝังรากลึกในสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งทำสำเร็จเพียงไม่กี่สิบปีนั้นไม่เพียงพอต่อการขุดรากถอนโคนวัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองที่ได้ถูกสั่งสมมาหลายชั่วอายุคน ดังนั้น การพบเห็นซากทัศนะของศักดินาได้ทั่วไปในปัจจุบันนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการหมอบคลานกราบไหว้ การใช้อำนาจและความรุนแรงข่มเหงผู้อื่น รวมไปถึงการจัดลำดับชนชั้นทางสังคมที่ปราศจากความเสมอภาค
Soft Power เพื่อประชาธิปไตย
ซากทัศนะของระบบศักดินา เป็นรากฐานความคิดที่หล่อเลี้ยงให้ระบอบเผด็จการสามารถดำรงอยู่และได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนหนึ่ง ผู้คนเหล่านั้นยังคงคุ้นชินกับวัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองแบบเก่า ซึ่งเป็นผลมาจาก Soft Power ของระบบศักดินาที่คอยชักใยความคิดอยู่เบื้องหลัง ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมืองไทย เราจึงสามารถพบเห็นผู้คนที่มิได้เป็นขุนนางหรือชนชั้นสูง แต่ให้การสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ซึ่งมิได้ให้ประโยชน์แก่พวกเขาโดยตรง
เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตย ซากทัศนะของระบบศักดินาจำเป็นต้องถูกระงับยับยั้งมิให้เติบโตและเผยแพร่สู่ความคิดของผู้คน ซึ่งหมายถึงการใช้ Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยเข้ามาโน้มน้าวผู้คนให้หลีกห่างจากจิตใจฝักใฝ่เผด็จการ โดยการสร้าง Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยนั้นมีได้หลากหลายระดับ ทั้งนี้ ต้องมีทั้งวิธีการในระดับปัจเจกและวิธีการในระดับสังคมดำเนินการควบคู่กันไป
สำหรับวิธีการในระดับปัจเจก ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเสริมสร้าง Soft Power ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตนเองให้สอดคล้องไปกับวัฒนธรรมและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย หักห้ามใจมิให้ตนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของซากทัศนะของระบบศักดินา ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในสิทธิเสรีภาพ การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นโดยปราศจากอคติ การพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการปรึกษาหารือและลงคะแนนเสียงมากกว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ การไม่ใช้อิทธิพลเข้าไปแทรกแซงความคิดหรือพฤติกรรมของผู้อื่น ฯลฯ ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนั้นพวกเราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ที่ตนเองและคนใกล้ตัว เมื่อพฤติกรรมของผู้คนได้แปรเปลี่ยนไป ย่อมส่งผลให้วัฒนธรรมและคุณค่าของสังคมโดยรวมนั้นเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การเสริมสร้าง Soft Power ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยในระดับปัจเจกนั้นก่อให้เกิดความคิดเรื่องประชาธิปไตยเพียงแค่ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น นั่นคือเฉพาะตัวเราและคนรอบข้างเท่านั้นที่สามารถถูกปลูกฝังและหล่อเลี้ยงประชาธิปไตยไว้ในหัวใจ แต่ภายในสังคมยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังคงยึดติดอยู่กับซากทัศนะของระบบศักดินา การเข้าไปจัดการวัฒนธรรมและความคิดของผู้คนเหล่านี้มิใช่เรื่องที่สามารถกระทำได้โดยง่าย เนื่องจากอิทธิพลของระบบศักดินานั้นฝังแน่นอยู่ในทุกอณูชีวิตของสังคมไทย อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการบังคับขู่เข็ญและใช้ความรุนแรงอีกด้วย
เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าไปช่วงชิงการใช้อำนาจรัฐมาจากฝ่ายเผด็จการ เพราะรัฐเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดนโยบาย วัฒนธรรมและความคิดของประชาชนพลเมืองในประเทศ แต่ก็มิใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากธรรมชาติของระบอบเผด็จการมักจะหวงแหนและพยายามรักษาอำนาจเอาไว้ในมือตนให้ได้นานที่สุด ดังนั้นแล้ว การใช้ Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการกำจัดยับยั้งซากทัศนะของระบบศักดินาและระบอบเผด็จการ ซึ่งจะนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจรัฐจากมือเผด็จการได้ในท้ายที่สุด
การใช้ Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยในระดับสังคม มิได้หมายถึงการรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการแต่อย่างใด หากหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและคุณค่าทางการเมืองของผู้คนในสังคมไปอย่างช้า ๆ ผ่านการใช้ความคิดและข้อเขียนในเชิงวิชาการ ควบคู่ไปกับการใช้สื่อบันเทิง ภาพยนตร์ และดนตรีเข้ากล่อมเกลาผู้คนในสังคมให้คล้อยตามวิถีแห่งประชาธิปไตย วิธีการดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้คนในสังคมละทิ้งซากทัศนะของระบบศักดินาและจิตใจฝักใฝ่เผด็จการโดยไม่รู้ตัว
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ด้วยตนเอง การเผยแพร่ความคิดและข้อเขียนในเชิงวิชาการนี้ย่อมไปกระตุ้นให้ผู้คนซึ่งยึดติดอยู่กับซากทัศนะของระบบศักดินาได้ตั้งคำถามถึงชุดความคิดความเชื่อของตนเอง เมื่อพวกเขาได้พิจารณาไตร่ตรองโดยใช้เหตุผลของตนเองโดยปราศจากอคตินั้น ในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาย่อมโอนเอียงออกจากระบอบเผด็จการที่มิได้ให้ประโยชน์แก่ตัวพวกเขาเลย หันมายึดมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่เห็นความสำคัญของประชาชนแทน วิธีการดังกล่าวนี้เป็นผลดีต่อทั้งผู้ที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยและผู้ที่ฝักใฝ่เผด็จการ เนื่องจากเป็นวิธีการที่มิได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถทำให้ผู้ที่ฝักใฝ่เผด็จการเปลี่ยนแปลงความคิดได้อย่างมั่นคงและถาวรมากกว่าวิธีการอื่น ๆ อีกด้วย
นอกจากการเผยแพร่ความคิดและข้อเขียนในเชิงวิชาการแล้ว การใช้ Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยผ่านทางสื่อบันเทิงนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากภาพยนตร์และดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่สามารถซึมซับความคิดได้ง่ายและไม่เป็นการบังคับยัดเยียดเกินไป ในปัจจุบันนี้เราสามารถพบเห็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น “The Hunger Games” ที่การชูสามนิ้วในภาพยนตร์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงรัฐบาลเผด็จการในปัจจุบัน (โพสต์ทูเดย์, 2563) หรือเพลง “ประเทศกูมี” ที่มีเนื้อหาชักชวนให้ผู้คนตั้งคำถามถึงสังคมและการเมืองไทยภายใต้ระบอบเผด็จการ (ประชาไท, 2561) สื่อบันเทิงดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ Soft Power ของระบอบประชาธิปไตยให้เข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้คนในสังคม
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า Soft Power นั้นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการต่อสู้กับซากทัศนะของศักดินาเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นอำนาจที่มิได้มีความแข็งกร้าวจนส่งผลให้ผู้คนหวาดกลัวและต่อต้าน หากเป็นอำนาจที่มีความอ่อนละมุนแต่มิได้อ่อนแอ เป็นอำนาจที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และคุณค่าทางการเมืองของผู้คนให้หันเหออกจากระบบศักดินาและเผด็จการมาฝักใฝ่ประชาธิปไตยแทน เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย เมื่อนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยย่อมมิใช่เรื่องที่ยากเกินความเป็นจริงแต่อย่างใด
กษิดิศ พรมรัตน์
อ้างอิง
- กรุณพร เชษฐพยัคฆ์ (2560). ‘เผด็จการไม่ชอบถูกล้อ’ คุยกับผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/social/humour-as-resistance-interview/30100. เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- ปณัยกร วรศิลป์มนตรี. (2562). ‘Soft Power’ เกมรุกที่บุกความคิดคนแบบซอฟท์ ๆ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://urbancreature.co/soft-power เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- ประชาไท. (2561). ‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2018/10/79297 เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- ปรีดี พนมยงค์. (2552). แนวความคิดประชาธิปไตย ของ ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
- โพสต์ทูเดย์. (2563). ชูสามนิ้วเพื่ออะไร ความนัยจากหนังที่สั่นสะเทือนประเทศไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.posttoday.com/world/630992 เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- ลงทุนแมน. (2563). กรณีศึกษา การใช้ SOFT POWER ของจีนในยุค COVID-19. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.longtunman.com/23013 เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2551). แนวคิดเรื่อง soft power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://kositthiphon.blogspot.com/2008/12/soft-power-public-diplomacy.html เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2564.
- Nye, Joseph. (2004). Soft Power: The Means To Success In World Politics. Public Affairs.

Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
บทนำ
หากอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 คือการนำหน่อประชาธิปไตยปลูกลงในสังคมไทย 88 ปีให้หลังจากนั้นก็คือการดูแลและปกป้องประชาธิปไตยให้เติบโตขึ้นอย่างแกร่งกล้า แม้หลายยุคสมัยต้นประชาธิปไตยเช่นว่าจะถูกเงื้อมมือของรัฐเผด็จการลิดกิ่งก้านใบจนเติบโตแช่มช้าอยู่บ้าง กระนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ได้อับเฉาโรยร่วงไปเสียทีเดียว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือแม้วันที่ Hard Power จะทำงานไม่ได้ผลหรืออาจไม่ใช่ทางเลือกหลัก แต่คนในสังคมก็ยังใช้ Soft Power ยืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาประชาธิปไตย สายธารแห่งการเรียนรู้และศรัทธาจึงไหลส่งจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย การต่อรองอำนาจกับรัฐเผด็จการประจักษ์ให้เห็นอยู่เสมอ สร้างแรงกระเพื่อมอันสั่นสะท้านต่อผู้นำและสะเทือนต่ออำนาจนำที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยไม่น้อย
บทความนี้มุ่งพิจารณาการใช้ Soft Power สำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสำคัญ โดยตั้งต้นทำความเข้าใจกับคำว่า “Soft Power” และ “ประชาธิปไตย” ก่อนขยับไปนำเสนอการใช้ Soft Power โดยแบ่งพิจารณาตามช่วงเวลาที่ชัดเจนพร้อมกับให้ภาพที่ครอบคลุมผ่านกรณีตัวอย่างทั้ง Soft Power ด้านศิลปกรรม วรรณกรรม วัฒนธรรมสมัยนิยม และอื่น ๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ในขบวนชุมนุมตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ส่วนที่สามเป็นการนำกรณีศึกษาการใช้ Soft Power ในต่างประเทศมาฉายให้เห็นซึ่งมีทั้งจุดร่วมและจุดต่างกับไทย ก่อนจบท้ายด้วยบทสรุปที่จะนำผู้อ่านไปสู่ปริมณฑลของความเข้าใจว่าด้วยผลของ Soft Power
ว่าด้วยคำว่า “Soft Power” เพื่อ “ประชาธิปไตย”
Joseph Nye นิยามพลังอำนาจว่าคือความสามารถที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามต้องการ (สิทธิพล เครือรัติกาล, 2551, ออนไลน์) และให้คำจำกัดความ Soft Power ว่าคือความสามารถที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ต้องการด้วยการโน้มน้าวมากกว่าการบังคับขู่เข็ญ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ไปจนถึงอุดมการณ์หากถูกหยิบนำมาโน้มน้าวเพื่อส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์สู่ผลลัพธ์ตามต้องการแล้วก็ล้วนแต่เป็น Soft Power ด้วยกันทั้งสิ้น
อีกหนึ่งคำที่ถึงแม้จะได้ยินจนคุ้นหูแต่ก็มิควรละเลยที่จะทำความเข้าใจให้แจ่มชัดอีกครั้งนั่นคือ “ประชาธิปไตย” คำนี้แปลมาจากคำว่า democracy ซึ่งมีฐานศัพท์จากภาษากรีกคือ Demokratia จากการรวมกันของคำว่า Demos ที่หมายถึงประชาชน กับคำว่า Kratien หรือ Kratos ที่หมายถึงการปกครอง เช่นนั้นคำว่าประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองโดยประชาชน (Raymond, 1983, p. 93) กระนั้นเพื่อให้เข้าใจมากกว่าแค่ความหมายตรงตัวควรกล่าวต่อไปด้วยว่าแก่นของประชาธิปไตยประกอบด้วย 5 ประการ ได้แก่ 1) อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 2) หลักเสรีภาพ 3) หลักความเสมอภาค 4) หลักปกครองโดยเสียงข้างมากที่เคารพเสียงข้างน้อย 5) หลักนิติธรรม (จักษ์ พันธ์ชูเพชร, 2557, น. 136 - 149) ดังนั้นการต่อสู้หรือเรียกร้องเพื่อหลักทั้ง 5 ข้างต้นจึงเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปในตัว
Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย
สำหรับสังคมไทย กล่าวได้ว่า Soft Power เข้ามามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475 เสียอีก โดยถ้าย้อนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่ามีงานเขียนที่ถูกผลิตออกมาเป็นจุดตั้งต้นเพื่อแสวงหาการปกครองแบบ “ปาเลียเมนต์” หนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญที่สร้างสรรค์งานเขียนดังกล่าวคือ เทียนวรรณ เขาใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองและเปลี่ยนแปลงสังคม ที่เห็นได้ชัดคือการออกหนังสือพิมพ์ตุลวิภาควินิจ หนังสือศิริพจนภาค หนังสือบำรุงนารี รวมทั้งหนังสือแผ่นปลิวที่ใช้ชื่อว่า “แมกกาซิน” (สุมาลี แก่นการ, 2548, น. 13) ซึ่งงานวรรณกรรมข้างต้นเผยโลกทัศน์ในการมุ่งวิจารณ์สังคม เรียกร้องการเลิกทาส เสนอการแก้หมาย ให้มีโรงเรียนสำหรับสตรีรวมถึงเสนอว่าควรมีการตั้งรัฐสภา ดังตัวอย่างที่ปรากฏในตุลวิภาคพจกิจคำกลอน ตอนหนึ่งว่า
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้านาน
รักษาเมืองเราช่วยเจ้านาย
ภายหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 การต่อสู้ด้วย Soft Power ยังคงดำเนินต่อมาจวบจนปัจจุบัน นั่นเพราะเกือบทุกยุคกลุ่มคนที่พยายามนำประเทศออกนอกลู่ทางประชาธิปไตยปรากฏอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพแจ่มชัดขึ้น ผู้เขียนจึงแบ่งการต่อสู้ออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง พ.ศ. 2475 – 2499 เป็นช่วงของการวางหลักปักฐานประชาธิปไตยโดยกลุ่มคณะราษฎรมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจถึงประชาธิปไตยที่ถูกต้องแก่ประชาชนดังจะเห็นได้จากการจัดงานฉลองวันรัฐธรรมนูญที่ถึงแม้จะดูเป็นงานรื่นรมย์แต่ก็แฝงการประชาสัมพันธ์ระบอบประชาธิปไตยไว้ พร้อมกันคณะราษฎรก็ต้องกำบังลมฝนจากฟากฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งก่อตัวหวนกลับมาโถมซัดใส่หน่อประชาธิปไตยอยู่หลายครั้ง สำหรับ Soft Power ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ แม้ระยะแรก ๆ คือระหว่าง พ.ศ. 2475 – 2490 จะยังคงมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากนัก กระนั้นก็มีความพยายามช่วงชิงพื้นที่ทางศิลปะเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยร่วมด้วย ดังตัวอย่างการจัดประกวดประณีตศิลปกรรมที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 ซึ่งกำหนดให้ผลงานที่เข้าร่วมประกวดต้องแสดงถึงความหมายของรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ ขณะที่ปี พ.ศ. 2496 เขียน ยิ้มสิริ ได้สร้างประติมากรรมชื่อว่า “นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก” ซึ่งจิกกัดบริบทสังคมไทยขณะนั้นที่รัฐบาลไล่กวาดล้างนักโทษการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ
ส่วนด้านงานวรรณกรรมก็มีนักเขียนหลายคนที่ใช้น้ำหมึกประพันธ์งานออกมารับใช้ประชาชน กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา คือตัวอย่างของนักคิดนักเขียนที่หยัดยืนเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผลงานของเขาจำนวนมากสะท้อนถึงศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกชนชั้น โดยเฉพาะผลงาน “มนุษยภาพ” ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับความเสมอภาคของมนุษย์และแง่มุมที่ควรเป็นของผู้ปกครองสร้างแรงสั่นสะเทือนแก่รัฐบาลจนส่งผลให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิดและแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ นอกจากนี้ยังมี อัศนี พลจันทร หรือนายผี ที่เขียนบทกวีวิจารณ์สังคมและนโยบายรัฐอย่างเข้มข้น ในคอลัมน์ “อักษราวลี” เขาใช้เป็นพื้นที่โจมตีกลุ่มผู้กุมอำนาจนำจนถึงกับมีคำสั่งให้คุกคามเสรีภาพตามมา
ช่วงที่สอง พ.ศ. 2500 – 2519 เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยถูกลิดใบ เติบใหญ่ และกลับมาถูกลิดใบอีกครั้ง โดยภายใต้การครองอำนาจนำอย่างยาวนานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร นับเป็นยุคแห่งการลิดใบประชาธิปไตยจนแทบไม่อาจแตกยอดแผ่ก้านได้ กระนั้นแม้ถูกอำนาจเผด็จการปิดกั้นเสรีภาพเพียงใดก็ยังมีศิลปินจำนวนหนึ่งที่พยายามสร้างสรรค์งานออกมาเสียดสีและท้าทายอำนาจเผด็จการ อาทิ ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ชื่อ “ใต้ระบอบเผด็จการ” โดยประพันธ์ ศรีสุตา เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดือนตุลาคม 2514 ปรากฏ ศิลปะเพื่อประชาธิปไตยก็เด่นชัดและแพร่หลายมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์สังคมทางการเมือง อาทิ ผลงานชื่อ “จ่าง แซ่ตั้ง ในปี 1973” ซึ่งจ่าง แซ่ตั้ง นำเสนอภาพตนเองถูกตัดมือและถูกควักดวงตาออกเพื่อสะท้อนสภาวะของศิลปินและประชาชนที่ไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (ลลินธร เพ็ญเจริญ, 2554, น. 57) ในห้วงเวลานี้เช่นกันที่งานเขียนเพื่อประชาธิปไตยก็เฟื่องฟูขึ้นมาก บนเวทีชุมนุม บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน” ถูกนำมาขับขานเพื่อปลุกอารมณ์ร่วมของมวลชนหลายครั้ง ขณะที่หนังสืออย่าง “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปิดโปงและขับไล่รัฐบาล กล่าวกันว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก 5,000 เล่ม ขายหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
บรรยากาศการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหวนทวีความเข้มข้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2519 ศิลปะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทัดทานกับฝ่ายรัฐตามเคย แต่ที่โดดเด่นมาก ๆ คือภาพคัทเอาท์การเมือง ดังจะเห็นจากการแสดงภาพคัทเอาท์ฉลองครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในปี 2518 ซึ่งใช้วิธีติดตั้งภาพคัทเอาท์ระหว่างเสาไฟฟ้าบนเกาะกลางถนนราชดำเนิน 48 ภาพ และกำหนดให้อนุสาวรีย์เป็นจุดศูนย์กลาง (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2546, น. 25) และแม้ว่าบางภาพจะถูกผู้ไม่หวังดีลอบขว้างระเบิดใส่ในยามวิกาลแต่เมื่อสิ้นสุดการแสดงแล้วกลับมีผู้สนใจขอซื้อภาพคัทเอาท์เหล่านั้นไม่น้อย (ลลินธร เพ็ญเจริญ, 2554, น.69) อย่างไรก็ดีเมื่อปลายทางการต่อสู้นิสิตนักศึกษาและประชาชนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ศิลปะเพื่อประชาธิปไตยจึงถูกจับใส่แอกด้วยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจนไม่สามารถแสดงเนื้อหาตามที่ตั้งใจได้อย่างเปิดเผย
ช่วงที่สาม พ.ศ. 2520 – 2539 เป็นช่วงเวลาประชาธิปไตยครึ่งใบและประชาธิปไตยผลัดใบ การเคลื่อนไหวของมวลชนมุ่งไปที่สิทธิชุมชนเป็นสำคัญ และกลุ่มหัวขบวนก็ขยับจากนักศึกษามาเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ร่วมมือกับชาวบ้านในต่างจังหวัด Soft Power ที่มีให้เห็นอยู่บ้างในช่วงนี้ก็คือวรรณกรรมซีไรต์ที่หยิบเอาเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลาคม มาทบทวนและปลุกเร้าความรู้สึก อาทิ รวมบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รวมเรื่องสั้น “ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของอัศริ ธรรมชาติ เป็นต้น ขณะที่การ อดอาหารของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ปี พ.ศ. 2535 ก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มุ่งต่อรองอำนาจกับรัฐบาล ซึ่งสามารถโน้มน้าวมวลชนมาร่วมขบวนเพิ่มขึ้น และกลุ่มศิลปินบางส่วนยังแสดงสัญลักษณ์เคียงข้างผ่านการโกนหัวเพื่อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกด้วย
ช่วงที่สี่ พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีเสถียรภาพและมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กระนั้นในปี พ.ศ. 2549 ความขัดแย้งทางการเมืองก็หวนกลับมาอีกครั้ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อ้างว่าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนคนดีปกครองบ้านเมืองและขับไล่นักการเมืองคอรัปชั่นได้หยิบเอาเสื้อสีเหลืองมาเป็นสัญลักษณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อมาปี พ.ศ.2553 กลุ่มศิลปินไทยเสรีชนสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 อาทิการเขียนคำว่า “SCRAP CONSTITUTIONS 50” ลงบนผืนผ้าสีขาวพันรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการเขียนข้อความและเดินเหยียบสีที่ยังไม่แห้ง (เพิ่งอ้างถึง, น.79) ครั้นเมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2557 กลุ่มก้อนทางการเมืองไม่อาจเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่เพราะเสรีภาพถูกลิดรอนด้วยกฎหมาย มาตรา 44 ของรัฐบาลทหาร กระนั้นการใช้ Soft Power เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ยังมีให้เห็น ดังเช่นที่กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตยเชิญชวนผู้คนร่วมกันกินแซนวิชจนรัฐบาลมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน (กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, 2561, น.167)
ล่วงสู่ยุคสมัยปัจจุบันคนในสังคมสร้างสรรค์ Soft Power ใหม่ ๆ มาใช้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากขึ้นและไปไกลกว่าแค่การหยิบใช้วัฒนธรรมภายในประเทศ แต่ยังอ้าแขนโอบเอาวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือป๊อปคัลเจอร์ที่แพร่หลายในระดับสากลมาปรับแปลงให้ขบวนต่อสู้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสนุกสนานและก่อผลในเชิงหยิกล้อได้ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมในห้วงปี 2563 – 2564 ที่มีการหยิบเอาตัวการ์ตูนแฮมทาโร่มาเป็นสัญลักษณ์การจัดแฟลชม็อบพร้อมกับนำเนื้อเพลงประกอบมาดัดแปลงร้องในขบวนประท้วงที่ว่า “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือภาษีประชาชน” หรือจะเป็นการชูสามนิ้วที่บันดาลใจมาจากหนัง The Hunger Game และอื่น ๆ อีกมากมายที่รัฐเผด็จการชิงชังและต้องตามเซ็นเซอร์ (ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์, 2563, ออนไลน์) นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้ด้วยอารมณ์ขันผ่านมีม (Meme) ที่เป็นภาพและข้อความสั้น ๆ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยกระจายความคิดเรื่องประชาธิปไตยและลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้นำเผด็จการได้ไม่น้อย
ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่ายุคปัจจุบันสื่อออนไลน์คือพื้นที่สำคัญซึ่ง Soft Power จำพวกอุดมการณ์หรือวิธีคิดได้เข้ามาจับจองตำแหน่งแห่งที่เพื่อปลูกฝั่งและปลุกตื่นพลเมืองไทยโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจและศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ดังเช่นช่องยูทูบชื่อ SpokeDarke TV ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างกระชับและเข้าใจง่าย หรือบรรดาสื่อกระแสรองอย่าง THE STANDARD และ The Reporter ก็ล้วนเป็นปากเสียงเผยเปิดความจริงทางการเมืองแม้เรื่องดังกล่าวจะไม่ถูกพูดถึงในสื่อกระแสหลักก็ตาม อย่างไรก็ดีน่าเสียดายว่ายุคสมัยนี้หนังสือหรือวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ กลับถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมจารีตประเพณี จนมองไม่เห็นทิศทางของสังคมที่จะต้องก้าวสู่ประชาธิปไตย (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2558, ออนไลน์) นักเขียนฝีมือดีจำนวนไม่น้อยมุ่งมาดแต่จะคว้ารางวัลมาประดับตู้โดยไม่สนใจว่าน้ำหมึกที่ใช้ก่อร่างตัวอักษรมีปลายทางของการรับใช้ประชาชนและขบถต่ออำนาจเผด็จการหรือไม่
กรณีศึกษา Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศอื่น
สังคมไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ใช้ Soft Power ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หากทอดสายตามองไปให้พ้นพรมแดนจะพบว่าตั้งแต่ประเทศเพื่อนบ้านที่รั้วชิดติดกับเราอย่างเมียนมา หรือไกลออกไปอีกหน่อยเช่นฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ชิลี และอีกหลาย ๆ ประเทศก็ล้วนแต่ใช้ Soft Power ต่อสู้ทั้งนั้น กรณีประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าพวกเขาใช้ Soft Power แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง อาทิการตีหม้อเคาะกระทะต่อต้านการรัฐประหารในช่วงแรก ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประท้วงที่ส่งทอดกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การตีหม้อเรียกร้องเอกราชในไนจีเรีย พ.ศ. 2504 ตีหม้อประท้วงรัฐบาลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาร์เจนติน่า พ.ศ. 2544 มาจนถึงตีหม้อประท้วงการขึ้นราคาตั๋วรถไฟฟ้าในชิลี พ.ศ. 2562 อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการประท้วงด้วยการแต่งหน้าตัวละครโจ๊กเกอร์ซึ่งพบได้ทั้งในฮ่องกง เลบานอน และอิรัก ทั้งนี้โจ๊กเกอร์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของคนที่ถูกสังคมละเลยและเป็นเหยื่อของอำนาจบาตรใหญ่ ขณะที่รอยยิ้มของมันก็ชวนให้รู้สึกแปลก ขนลุกและสร้างความกลัวแก่ผู้มีอำนาจได้
“ปลูกฝั่ง ปลุกตื่น และต่อรอง” บทสรุปของการใช้ Soft Power เพื่อประชาธิปไตย
หากพิจารณาการใช้ Soft Power สำหรับต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ว่าในสังคมไทยหรือประเทศอื่นที่กล่าวถึงไปในเบื้องต้น ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ Soft Power ทั้งที่ตั้งใจและหยิบฉวยมาใช้ล้วนแต่มุ่งไปสู่ผลกระทบหลัก ๆ สามประการ ได้แก่ 1) ปลูกฝั่ง คือ Soft Power โดยเฉพาะอุดมการณ์ เรื่องเล่า และวิธีคิดมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมความเข้าใจและสร้างศรัทธาที่ถูกต้องต่อระบอบประชาธิปไตยแก่ผู้คน ตัวอย่างเช่นช่อง SporkeDark TV บนยูทูบที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 1.22 ล้านคน และวิดีโอส่วนใหญ่ของช่องนี้ก็ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี 2) ปลุกตื่น คือ Soft Power โดยเฉพาะศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ล้วนเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกได้เป็นอย่างดี จึงสามารถปลุกคนที่เฉยชาให้รู้สึกร่วมถึงความเจ็บปวดและการกดขี่จนมองเห็นภัยเผด็จการที่จากเดิมเป็นเรื่องไกลตัวให้เป็นเรื่องใกล้ตัวได้ ดังเช่นบทกวีชื่อ “สิบสี่ตุลา” ของวิสา คัญทัพ ที่ถูกนำมาปลุกเร้ามวลชนให้ยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่และมีหวังต่อประชาธิปไตยที่แท้จริง 3) ต่อรอง คือ Soft Power ทำหน้าที่ในการหยิบยื่นข้อเสนอต่อการลดทอนอำนาจและเพรียกร้องให้ยุติการกดขี่
อาจกล่าวได้ว่า Soft Power คือเครื่องมือสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี ช่วยให้สังคมเลี่ยงการเผชิญความรุนแรงที่นำมาซึ่งเหตุการณ์เลือดตกยางออกได้ ขณะเดียวกันมันก็ก่อผลกระทบที่กระแทกอำนาจเผด็จการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป กระนั้นควรกล่าวด้วยว่าบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชิปไตย แม้จะใช้ Soft Power เป็นอาวุธออกไปย่ำยืนในแนวรบ แต่ก็ใช่ว่าความเสี่ยงที่จะถูกจับขัง ตั้งข้อหา หรือข่มขู่จากฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยจะไม่มีเลย หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคงเห็นกันบ้างแล้วว่าตั้งแต่อดีตตราบปัจจุบันนักคิด นักเขียน ศิลปิน หรือแม้แต่นักวิชาการที่ควรมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ก็ถูกจัดการด้วยสารพัดวิธี ความพยายามจับผู้ใช้ Soft Power ใส่แอกเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อการเติบโตของประชาธิปไตย เช่นนั้นในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเราจึงควรเดินหน้าปลดแอกทั้งมวลให้หลุดไป ด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์จวบจนอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยพังครืนไป
นายอติรุจ ดือเระ
บรรณานุกรม
- กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2561). การเติบโต ความถดถอย และการฟื้นตัวขบวนการนักศึกษาไทย. วารสารพัฒนศาสตร์, 1(1), 167.
- จักษ์ พันธ์ชูเพชร. (2557). รัฐศาสตร์. นนทบุรี : บริษัทมายพับบลิชชิ่ง จำกัด.
- ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์. เป็ดยาง: จากสัญลักษณ์แห่งวัยเยาว์สู่งานศิลปะและการเมือง. (19 พฤศจิกายน 2563). The Momentum. สืบค้นจาก https://themomentum.co/big-yellow-duck/
- ลลินธร เพ็งเจริญ. (2554). วสันต์ สิทธิเขตต์ : ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร, ภาควิชาทฤษฎีศิลป์, สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2546). ภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลา. กรุงเทพมหานคร.
- สิทธิพล เครือรัติกาล. แนวคิดเรื่อง soft power และการทูตสาธารณะ. (11 ธันวาคม 2551). Chinese – Asian Studies. สืบค้นจาก shorturl.asia/P3ATJ
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ความอับจนของวรรณกรรมไทย. (9 พฤษภาคม 2558). ประชาไท สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2015/04/58777
- สุมาลี แก่นการ. (2548). โลกทัศน์ของเทียนวรรณ. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สาขาวิชาภาษาไทย.
- Raymond Williams. (1983). Keyword. London: Fontana Book.