ตามประกาศเรื่อง คณะกรรมการตัดสินประกวดบทความชิงรางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ได้พิจารณาบทความที่ส่งเข้าประกวด ปรากฏว่ามีผู้สมควรได้รับรางวัลดังนี้
บัดนี้ คณะกรรมการตัดสินประกวดบทความชิงรางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ได้พิจารณาบทความที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 19 ราย แล้ว มีผู้สมควรได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ เป็นเงิน 15,000 บาท
- นายนิคม สิงห์ทอง คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รางวัลรองชนะเลิศ เป็นเงิน 10,000 บาท
- นายกษิดิศ กุศลวงษ์ คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 เป็นเงิน 5,000 บาท
- นายอดิศร บีซัน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลชมเชยเป็นเงิน 3,000 บาท
- นางสาวอภิญญา บ่อวารี คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธีรภพ เต็งประวัติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม”
บทนำ
นับจากการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยาวนานถึง 92 ปี แต่ประชาธิปไตยของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สามารถเรียกว่าประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ หากแต่เป็นระบอบการปกครองที่ถูกผู้มีอำนาจหรือคนบางกลุ่ม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาช่วงชิงและแสวงหาผลประโยชน์ บนเวทีของการปกครองในระบบหรือระบอบดังกล่าว อย่างที่เห็นกันดาษดื่นในสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยการหว่านล้อมประชาชน เพื่อหวังได้รับการไว้วางใจและได้มาซึ่งคะแนนเสียง ผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางอ้อม (Indirect Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) บนหลักการของอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนซึ่งถือเป็นอำนาจสูงสุด ในการเลือกผู้แทนเข้าสู่สภาใช้อำนาจที่มีแทนตนเอง โดยที่วิธีการให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงอันล้นหลามนี้ ล้วนมาจากการประกาศนโยบายขายฝัน อ้างผลประโยชน์ ว่ากล่าวให้ร้าย ชวนปลุกระดม และสร้างวาทกรรมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย นับเป็นชนวนสำคัญที่จุดไฟแห่งความขัดแข้งให้ลุกลาม ตลอดระยะเวลาที่ประชาธิปไตยได้วางรากฐานแต่ยังมิอาจหยั่งรากให้ลงลึกและมั่นคงได้ในสังคมไทย เพราะผลสุดท้ายก็จะถูกถอนรากและสร้างขึ้นใหม่ จากวาทกรรมรูปแบบเดิมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ซ้ำ ๆ
แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนผ่าน ความรุนแรงในทางการเมืองอาจเหมือนลดน้อยลง การก่อสงครามอาจถูกประณามจากนานาประเทศ ทว่าความรุนแรงที่กล่าวมานี้ยังมิได้หดหายไป และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในสงครามเท่านั้น เพราะมันก็ถูกแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของสังคมที่ถูกเปิดกว้าง ผ่านการเข้าถึงของสื่อและเทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย ดังนั้นความรุนแรงจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบและถูกทำให้แนบเนียน ด้วยการสร้างความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ ผลสุดท้ายก็เกิดวิวัฒนาการเป็นความรุนแรงในรูปแบบใหม่ ที่ถูกทำให้มองไม่เห็น ต่างจากความรุนแรงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการรัฐประหาร ซึ่ง “ความรุนแรงซ่อนเร้น” ที่ว่านี้ ไม่ควรมองข้ามและต้องรีบแก้ไขเพื่อหยุดวงจรความขัดแย้งเช่นเดียวกับเหตุการณ์นองเลือดที่เคยผ่านมา (กัลยกร สมศรี, 2024, ออนไลน์)
ประชาธิปไตยของไทยในแบบที่เป็นอยู่
หากพิจารณาความหมายของประชาธิปไตยด้วยภาษาไทย คำว่า ประชาธิปไตย ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึง “ปวงชน” และ “อธิปไตย” หมายถึง “ความเป็นใหญ่” เมื่อรวมกันจะหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน” ส่วนพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” บางครั้งมีการให้คำนิยามง่าย ๆ ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนหรือมาจากประชาชน ซึ่งก็หมายความว่า ประชาธิปไตยถ้าไม่อยู่ในอำนาจของประชาชนก็ถือว่ามิใช่ประชาธิปไตย
และหลักการของประชาธิปไตย ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในความสำคัญและศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล ความเชื่อในความเสมอภาคของมนุษย์ และความเชื่อในความจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นอิสรเสรี ประชาธิปไตยจึงประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ได้แก่ เสรีภาพ (Liberty), ความเสมอภาค (Equality), อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) และหลักการเสียงข้างมากที่คุ้มครองเสียงข้างน้อย (The Rule of Majority) อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของเสียงข้างน้อย หลักประชาธิปไตยจึงต้องประกอบด้วยหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อย (minority right) ด้วย ทั้งนี้ การตัดสินใจโดยล่วงละเมิดสิทธิพื้นฐานของเสียงข้างน้อย จะถือว่าเป็นการปกครองโดยระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก (Dictatorship of the Majority) (รณชัย โตสมภาค, 2560)
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ยกให้ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มุ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของ ปัจเจกบุคคคล เสรีภาพ ความเสมอภาค อำนาจอธิปไตย และหลักการเสียงข้างมากที่คุ้มครองเสียงข้างน้อยร่วมด้วยควบคู่กับการคุ้มครองและสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้กลับยังไม่ถูกกระจายอย่างเท่าเทียม คนยากจนมักไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เท่าเทียมกับคนมีอำนาจ ซึ่งมีอภิสิทธิ์จากระบบอุปถัมภ์ และระบบเจ้าขุนมูลนายที่ฝังรากลึกในสังคมไทย รวมถึงปัญหาทางการเมืองที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าบนพื้นฐานและหลักการของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สังคมยังยึดติดกับระบบอำนาจนิยม ซึ่งมองว่าใครมีอำนาจก็สามารถกระทำการใด ๆ ได้โดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ ในบางครั้งประชาชนถูกกระทำและล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้กรอบของกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้น
วาทกรรมที่ชักนำความขัดแย้ง
ประเทศไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เกิดรัฐประหารทั้งสิ้น 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญถูกเขียนทั้งสิ้น 20 ฉบับ และวิกฤตการณ์ทางการเมืองอีกหลายหน โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขยายเป็นการชุมนุม และจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามในที่สุด สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการเป็นประชาธิปไตยที่ไร้ซึ่งสันติภาพและชักนำความรุนแรงมาสู่ประชาชน การใช้กำลังของรัฐถูกอ้างด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่หนทางของการสร้างสันติภาพอย่างสันติวิธี ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ ในยุคสงครามเย็นโลกได้ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทว่าต่างฝ่ายต่างอ้างถึงหลักการของประชาธิปไตยที่กล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันในรูปแบบของตนเอง มีการออกโฆษณาชวนเชื่อเชิดชูระบอบของตนและให้ร้ายระบอบตรงข้าม เพื่อหวังจะชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมกับฝ่ายตนเอง ในบางครั้งความขัดแย้งทางอุดมการณ์เหล่านี้ มีการลุกลามขยายวงกว้างจนเกิดเป็นสงคราม สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล โดยเฉพาะประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากที่สุด
เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทย ก็มีประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองตลอดมา ด้วยการหยิบยกคำว่าประชาธิปไตยมาใช้เป็นอุดมการณ์ เพื่อปลุกระดมและชักจูงประชาชน ผ่านการอ้างถึงหลักการสำคัญของอำนาจอธิปไตย ที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ยกตัวอย่างวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 มีคู่ขัดแย้งหลัก คือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส). และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตยของกลุ่มตนเอง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยถูกหว่านเมล็ดพันธ์ของการเป็นประชาธิปไตย จะถูกฉุดรั้งจนมิอาจหยั่งรากลึกให้มั่นคงได้ในสังคม และประชาชนก็ถูกปลุกระดมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ แม้ว่าจะถูกเรียกต่างกันตามแต่ละยุคสมัยก็ตาม
เมื่อเราลองพิจารณาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น จะพบว่า การมืองของไทยยังวนเวียนอยู่ในรูปแบบของ “อำนาจนิยม, ราชานิยม และเสรีนิยม ตลอดระยะเวลา 92 ปีที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะไม่มีทางสิ้นสุดลงโดยง่าย มีแต่จะเพิ่มความแนบเนียนในการใช้ความรุนแรงของผู้มีอำนาจที่ซ่อนอยู่อย่างไร้ตัวตัน โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและผู้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือแม้กระทั่งวาทกรรมและข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ใช้เรื่อง “จิตวิทยา” โดยทางการทหารเรียกว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” เพื่อเป็นเครื่องมือชักจูงความคิดของคนในสังคมให้มีความเชื่อตามที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นต้องการให้เชื่อ (กัลยกร สมศรี, 2024, ออนไลน์)
อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสซิสต์ดูเหมือนว่าจะหายสาปสูญไป แต่ในความเป็นจริงยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยเพราะแนวคิดเรื่องชาตินิยม (Nationalism) และเหยียดผิว (Racism) ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรณีกล่าวอ้างหรือแบ่งแยกภาคเหนือ ภาคอีสาน การหยิบยกประเด็นของเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี เสื้อสีฟ้า แม้กระทั่งเรื่องความจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถูกยกขึ้นมากล่าวหา กล่าวอ้างให้พวกตนเองได้ประโยชน์ ฝ่ายตรงข้ามเสียประโยชน์ ก็ยังคงมีพลังอยู่จวบจนปัจจุบัน (พชรวัฒน์ เส้นทอง, 2562, น. 247)
นอกจากนี้ ในรูปแบบการปกครองของประเทศไทย คือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในหลายกรณีมักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตอกย้ำประชาธิปไตยแบบไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของแนวคิด ระบอบการปกครองที่แตกต่างนี้จึงไม่ยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลาย และการแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้านต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบดังกล่าว (เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, 2566, ออนไลน์)
สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นรูปแบบหรืออุดมการณ์สำคัญ ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นโดยผู้มีอำนาจ สร้างเป็นวาทกรรม แบ่งแยกขั้วอำนาจทางการเมือง กำเนิดฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา หรือแม้กระทั่งการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีการชักจูงปลุกระดมผู้คน เกิดเป็นการชุมนุมในการต่อต้านขั้วตรงข้าม สร้างความตรึงเครียดในสังคม เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น โดยแต่ละครั้งที่เกิดการสลายการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม รัฐจะต้องสร้างวาทกรรมขึ้นมาให้ความชอบธรรมกับการกระทำอันโหดร้ายเสมอ (ศศิพร คุ้มเมือง, 2566, ออนไลน์) และเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความสูญเสียและบาดแผลลงลึกในสังคมไทย
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าประเทศไทยกำลังวนลูปอยู่กับการสร้างวาทกรรมทางการเมืองเดิม ๆ คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างตัวตนของคนดีและคนเลว เพื่อชักนำประชาชนและสร้างอำนาจโดยชอบธรรมให้แก่ตนเอง บนหลักการของอำนาจอธิปไตย สิ่งเหล่าได้นำมาซึ่งความขัดแย้ง ในบางครั้งก็นำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่ผ่านมาบนหน้าประวัติศาสตร์ของไทย และความรุนแรงที่กล่าวมานี้ก็ได้ริเริ่มวิวัฒนาการตัวเองและแฝงอยู่ในสังคมอย่างแนบเนียน บ้างก็ถูกเรียกว่าความรุนแรงซ่อนเร้น เหนี่ยวรั้งการเกิดสันติภาพของคนในสังคม ท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ “ประชาชนผู้ถูกชักนำและลากเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีวันจบสิ้น” เปรียบเสมือนเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ถูกใช้โดยไม่ได้แลเห็นถึงความสำคัญ และแท้จริงแล้วประชาธิปไตยเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ด้วยหลักการของประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร หรือนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างอคติให้ร้ายกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งฉุดรั้งเพื่อหวังจะหวนคืนสู่อำนาจการปกครองเดิมในอดีต
สู่ความรุนแรงที่ไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม
ในทางวิชาการได้จำแนกความรุนแรงทางการเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือความรุนแรงระหว่างรัฐกับรัฐ ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งความรุนแรงที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน (ศศิพร คุ้มเมือง, 2566, ออนไลน์) ในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมองความรุนแรงไม่เพียงแค่จากมุมมองของสงครามหรือการรัฐประหารเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจรูปแบบต่าง ๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ มองว่า รัฐจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนเมื่อรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจและความชอบธรรมในการควบคุม โดยกลัวว่าการต่อต้านจะขยายตัวและลุกลามบานปลาย จึงเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้มีแนวโน้มที่จะต่อต้านอำนาจของรัฐ และรัฐที่ใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งสะท้อนถึงการเสื่อมถอยของอำนาจ เพราะประชาชนเริ่มตั้งคำถามและเกิดความไม่น่าไว้วางใจ รัฐจึงตอบโต้ด้วยวิธีการเดิมคือการใช้ความรุนแรง (Nattaya, 2564, ออนไลน์)
ความขัดแย้งมักรุนแรงขึ้นเมื่อผู้คนไม่เข้าใจหรือยึดถือประชาธิปไตยอย่างไม่ครบถ้วน โดยเลือกเน้นเฉพาะสิทธิที่ตนพอใจ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก แต่ละเลยหลักการที่ต้องใช้ความพยายามปฏิบัติ เช่น การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการไม่ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตย เช่น การใช้ Hate Speech (คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง) หรือการประท้วงที่รุนแรง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเข้าใจประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2563, ออนไลน์)
เมื่อมองเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกหลายๆ ครั้ง จะพบว่าทุกเหตุการณ์มีจุดร่วมที่คล้ายกัน คือมี “การลดทอนความเป็นมนุษย์” (Dehumanization) คือการใช้คำพูดที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เรียกว่าแมลงสาบ ควาย เชื้อโรค หรือวัชพืช ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สมควรมีอยู่บนโลก หรือวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่มีผู้กล่าวไว้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และ “การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ” (Demonization) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างภาพให้อีกฝ่ายดูเป็นภูตผีปีศาจ เป็นสัตว์ประหลาด เป็นคนเลว หรือเป็นทรราช ซึ่งสามารถส่งผลต่อความคิดของคนในสังคม นำไปสู่ความเกลียดชัง และบานปลายเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ (Nattaya, 2564, ออนไลน์)
จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงทางการเมืองที่พบได้มากที่สุด คือ 1) ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน เกิดจากการที่รัฐรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจและความชอบธรรมในการควบคุมประชาชน และกลัวว่าการต่อต้านจะขยายตัวจนส่งผลกระทบต่ออำนาจที่ตนมี จึงเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างและต่อต้านอำนาจรัฐ และ 2) ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งความขัดแย้งมักรุนแรงขึ้นเมื่อผู้คนไม่เข้าใจในประชาธิปไตยหรือยึดถือเพียงแค่กลักการบางส่วน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตย เช่น การใช้คำพูดหรือวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง ผลสุดท้ายก็บานปลายเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ และเกิดความสูญเสียมากมาย
ความรุนแรงที่ซ่อนเร้นและสันติภาพที่เลือนราง
ในบริบทของสังคมไทยและของโลกในปัจจุบัน แม้การใช้ความรุนแรงโดยตรงจะถูกต่อต้านมากขึ้น แต่ “ความรุนแรงที่ซ่อนเร้น” ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้มีอำนาจในการรักษาสถานะเดิมและควบคุมประชาชน ขณะเดียวกัน “สันติภาพ” ที่ควรเป็นเป้าหมายกลับค่อยๆ เลือนรางลงไป เนื่องจากกลไกของรัฐและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน
ในอดีตความรุนแรงมักถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น การใช้กำลังจากรัฐในการปราบปรามผู้ชุมนุม การใช้กำลังทหารในการรัฐประหาร หรือการกระทำที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการต่อสู้ทางการเมือง แต่ในปัจจุบัน ความรุนแรงกลับมาในรูปแบบที่ซ่อนเร้นและยากจะมองเห็น เช่น การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดเห็นต่างๆ หรือ การควบคุมสื่อ ที่บิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างภาพลวงตาให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การปกป้องผู้กระทำความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิด วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจในรัฐไทย กล่าวคือ ผู้ที่กระทำการรุนแรงต่อประชาชนมักไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย และการกระทำเหล่านี้มักถูกลืมหรือทำให้ดูเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตและไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ (ภาสกร ญี่นาง, 2563, น. 110)
คงไม่ใช่เพียงความต่างของอุดมการณ์ที่คอยผูกรัดปมความขัดแย้งนี้ไว้จนยากที่จะหาทางแก้ หากปมนั้นไม่ได้ถูกมัดแน่นด้วยความต้องการเอาชนะจากคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดถือสิ่งเดิมไว้ โดยไม่ปล่อยให้อำนาจที่มีอยู่ไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย เสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ในขณะที่ยังมีคนเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงและต้องการให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะส่วนสำคัญในประโยคท้ายสุดอย่าง “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้ “มาตรา 112” กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในทางการเมืองที่จะเพิ่มความขัดแย้งและความรุนแรงจากอุดมการณ์มากยิ่งขึ้น (กัลยกร สมศรี, 2024, ออนไลน์)
หากแต่การไร้ตัวตนของผู้มีอำนาจที่ครอบงำกฎหมายและการแฝงความคิด-ความเชื่อผ่านข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะนี้ โคทม มองว่า เป็นความรุนแรงที่หลายคนมองไม่เห็น ต่างจากความรุนแรงที่เราเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการรัฐประหาร ซึ่ง “ความรุนแรงซ่อนเร้น” ที่ว่านี้ ไม่ควรมองข้ามและต้องรีบแก้ไขเพื่อหยุดวงจรความขัดแย้งเช่นเดียวกับเหตุการณ์นองเลือดที่เคยผ่านมา (เพิ่งอ้าง)
ในขณะที่ความรุนแรงซ่อนเร้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบคุมรัฐ สันติภาพก็เริ่มเลือนรางไปตามกาลเวลา ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมได้กลายเป็นช่องว่างที่ยากจะหาทางออก แม้การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและความเสมอภาคจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การตีความของแต่ละฝ่ายกลับทำให้เกิดความขัดแย้งที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการใช้ “มาตรา 112” ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เพิ่มความตึงเครียดและความรุนแรงจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน
“ความรุนแรงที่ซ่อนเร้น” ในสังคมไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการใช้กำลังโดยตรง แต่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติผ่าน กลไกทางกฎหมาย การควบคุมข้อมูลข่าวสาร และการลอยนวลพ้นผิด ฝ่ายที่ต้องการรักษาสถานะเดิมพยายาม ปกป้องอำนาจและคงระบบที่เคยมีอยู่ ขณะที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมุ่งมั่นให้เกิด เสรีภาพ เสมอภาค และการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดที่ยากจะเชื่อมโยง ขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนเห็นว่าการเรียกร้องโดยสันติวิธีไม่ได้ผล อาจทำให้เกิดความสิ้นหวังและหันไปใช้วิธีที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ “สันติภาพ” ค่อยๆ เลือนรางลงจากสังคม เนื่องจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์และการพูดให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความแตกแยก
หนทางสู่การเป็นประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน
บทหนึ่งของผู้สื่อข่าวเอเชียวีคประจำกรุงปารีสในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับลักษณะปรัชญาการเมืองท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2522 ท่านกล่าวว่า “ปรัชญาการเมืองของข้าพเจ้า คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์” นอกจากกนี้ท่านยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ภายใต้ปรัชญาและระบอบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ สันติสุข ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ และประชาธิปไตยของประชาชน” (มุนินทร์ พงศาปาน, 2565, ออนไลน์)
จะเห็นว่าแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวกับสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เน้นว่าประชาธิปไตยต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการพัฒนานโยบายและระบบการปกครองที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล ความรู้ และการวิเคราะห์ทางวิชาการ มากกว่าการใช้อารมณ์หรืออุดมการณ์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แนวคิดนี้มุ่งหมายให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่นำไปสู่ เอกราชของชาติ ความเป็นกลาง สันติสุข และความมั่งคั่งของประชาชน ในบริบทของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนควรดำเนินควบคู่ไปกับหลักคุณธรรมและความรับผิดชอบ หากประชาชนให้ความสำคัญเพียงบางส่วนของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพในการแสดงออก แต่ละเลยหลักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น
การจะทำให้เกิดสันติภาพที่มีมั่นคงจำเป็นต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบและระดับของความรุนแรง (ไพศาล วิสาโล, 2550, น. 24) เพื่อสร้างความตระหนักจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อประชาชนและระบบการปกครองประเทศ เนื่องจากความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรูปแบบของการปะทะทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคม เช่น การกีดกันทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา หรือการสร้างความเกลียดชังผ่านวาทกรรมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้มีแต่จะฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของการเป็นประชาธิปไตย และเกิดเป็นวัฏจักรของความขัดแย้งในที่สุด และแนวทางสู่สันติภาพต้องเริ่มจาก การลดความหวาดระแวง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และเสริมสร้างวัฒนธรรมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่แค่หลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ต้องเข้าใจว่าความรุนแรงมีผลกระทบระยะยาวและส่งผลต่อโครงสร้างสังคม
ในอีกทางหนึ่ง การรายงานข่าวความขัดแย้ง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยและสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ หากสื่อมวลชนเน้นการรายงานที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Solution-oriented reporting) มากกว่าการเน้นว่าใครเป็นฝ่ายชนะ (Victory-oriented reporting) ก็จะช่วยลดการสร้างความเกลียดชังในสังคม (กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 2566) สื่อที่มุ่งเน้นแต่เหตุการณ์ความรุนแรงหรือความวุ่นวายในการชุมนุม โดยไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าการใช้แนวทางสันติวิธีไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และอาจกระตุ้นให้บางฝ่ายใช้ความรุนแรงแทน และเพื่อให้ประชาธิปไตยดำเนินไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สื่อควรมีบทบาทในการกระตุ้น ให้เกิดการตระหนักในสังคมเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา
ท้ายที่สุด เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีสันติภาพ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองที่เน้นการเจรจา การประนีประนอม และการเคารพสิทธิของทุกฝ่าย หากประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ภายใต้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ สังคมจะไม่สามารถบรรลุสันติภาพที่แท้จริงได้ ดังนั้น การเข้าใจและแก้ไขความรุนแรงในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมองความรุนแรงไม่เพียงแค่จากมุมของสงครามหรือการรัฐประหารเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจรูปแบบต่าง ๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อที่จะสามารถหาทางแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธี และเราต้องทำให้ประชาชนทุกคนเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งในแง่ของสิทธิ หน้าที่ และความสำคัญของการเป็นประชาธิปไตย เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อผู้ใดก็ตามและนำไปสู่สันติภาพในสังคมได้อย่างยั่งยืน
นิคม สิงห์ทอง
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาสังคมศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บรรณานุกรม
- กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล. (2566). ‘สื่อและความรุนแรงทางการเมือง’ (2) มุ่งรายงาน 'กรอบสันติภาพ-ขัดแย้ง' หรือ 'กรอบการสู้รบ-รุนแรง'. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2023/12/107238
- กัลยกร สมศรี. (2567). ความรุนแรง(ซ่อนเร้น)ทางการเมือง : อาจถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่เรารู้จัก ‘สันติภาพ’. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://theactive.thaipbs.or.th/read/peace-politic
- เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2563). ยึดมั่นสาระพื้นฐานของประชาธิปไตย: แนวทางสร้างสันติภาพในโลกแห่งความขัดแย้ง. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://drdancando.com/
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (2566). ประชาธิปไตย: ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนจบ). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2023/10/1700#_ftn9
- ไทยโพสต์. (2563). เสรีภาพการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.thaipost.net
- ภาสกร ญี่นาง. (2563). ความรุนแรงที่ซ่อนเร้นในระบบกฎหมายไทย: ศึกษากรณีการลอยนวลพ้นผิดจากการปราบปรามประชาชนโดยรัฐ. ใน ประมวลบทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ หัวข้อ “จินตนาการใหม่ ภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย” (หน้า 100-112). เชียงใหม่: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- พระไพศาล วิสาโล. (2550). สร้างสันติด้วยมือเรา: คู่มือสันติวิธีสำหรับนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (พิมพ์ครั้งที่ 2). นครปฐม: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.
- พชรวัฒน์ เส้นทอง. (2562). อุดมการณ์ทางการเมือง : อุดมการณ์ทางการเมืองไทย. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. 13(3), หน้า 230-248.
- มุนินทร์ พงศาปาน. (2565). ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1155
- รณชัย โตสมภาค. (2560). ประชาธิปไตย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/e1b7K
- ศศิพร คุ้มเมือง. (2566). เมื่อรัฐสถาปนาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ตอบโต้การประท้วงขนานใหญ่ของมวลชน ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://waymagazine.org/decoding-violence-rightness-incounteraction/
- Nattaya L. (2564). “ความรุนแรงทางการเมือง” ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.sanook.com/news/7842402/