ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประสบการณ์ที่ไม่เคยเล่า: แรงงานไทยในต่างแดน

20
พฤษภาคม
2564

 

ผมมีโอกาสได้เห็นบ้านเมืองที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 16 เพราะตามคุณยายพูนศุข (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) กลับมาที่บ้านอองโตนี จึงทำให้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตกับคุณตาปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) ร่วม 3 เดือน ทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับสภาพบ้านเมืองและชีวิต ความเป็นอยู่ที่นี่มาก

จนเมื่อภายหลังราวอายุ 20 ปี เมื่อตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นโอกาสอีกครั้งที่ได้กลับไปที่บ้านอองโตนี เพราะมีทริปเดินทางไปทัวร์ยุโรปกับเพื่อนและน้องสาว ซึ่งครั้งนั้นประจวบเหมาะพอดีกับเหตุการณ์สูญเสียอันยิ่งใหญ่ในชีวิต คือ ‘การมรณกรรมของคุณตาปรีดี’

กว่า 10 ปี ที่ผมเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่ประเทศไทย จนได้ไปต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ 3 ปี ทันทีที่จบก็มีนักวิชาการชวนไปทำงานที่สถาบันปาสเตอร์ (The Institut Pasteur) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความที่มีความผูกพันกับประเทศนี้ และ ด้วยความที่อยากทำงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งในเวลานั้นการสนับสนุนจากภาครัฐก็ดี จากมหาวิทยาลัยก็ดี ยังไม่เพียงพอให้เราได้ใช้ความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่ ในเมื่อโอกาสมาถึง ผมจึงตอบตกลงทันที 

หลังใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสกว่า 20 ปี ผมอยากแลกเปลี่ยน มุมมองของคนๆ หนึ่ง ที่มี สองสถานะที่ต่างกัน ภายใต้ “รัฐสวัสดิการ” สถานะแรก เมื่อครั้งที่ผมประจำอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศไทย ส่วนอีกสถานะหนึ่ง คือ ผู้ใช้บริการรัฐสวัสดิการของประเทศฝรั่งเศส 

ตอนได้มาใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว ผมมองภาพออกเลยว่า “ทำไมท่านถึงอยากให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง” ตอนที่คุณตาปรีดี ได้มีโอกาสมาเรียนหนังสือที่นี่ พอจบการศึกษากลับประเทศไทยไปเมื่อปี พ.ศ. 2469 ทำไมจึงได้มีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จนในที่สุดสามารถทำสำเร็จในปี พ.ศ. 2475 

 

ในความเป็นรัฐสวัสดิการของประเทศฝรั่งเศส รัฐได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการ 3 กลุ่มด้วยกัน

 

หนึ่ง: หลักประกันด้านการศึกษา 

“ทุกคนต้องได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน" และ ฟรีในระดับเบื้องต้น ในระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ทุกคนจะได้เรียนฟรี โดยจ่ายเพียงค่าอาหาร ทั้งนี้ ระบบที่นี่จะคำนวณจากรายได้ของผู้ปกครองเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะได้รับประทานอาหารเหมือนกันทุกอย่าง แต่จ่ายในราคาที่ต่างกัน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง และเมื่อถึงในระดับอุดมศึกษา เราก็จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนที่แสนถูก ค่าตั๋วโดยสารรถขนส่งสาธารณะ และ เรื่องที่พักอาศัย 

โดยรัฐมองว่าการให้โอกาสในการศึกษาสำคัญต่อโอกาสในการทำงานในภายภาคหน้า สิ่งที่มาคู่กับสิทธิก็คือหน้าที่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องศึกษาหาความรู้จนสามารถเรียนจนจบ มีหลายคนที่สามารถเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ได้ แต่หลังปี 1 ไปแล้ว ระบบจะคัดกรองบุคคลให้ได้เรียนต่อจนจบ 

 

สอง: หลักประกันสาธารณสุข 

“ในฝรั่งเศสทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้โดยการเข้าแจ้งลงทะเบียนประกันสุขภาพกับเขตที่อาศัยอยู่” 

ทั้งนี้ครอบคลุมถึงผู้อพยพ ผู้ที่ลักลอบเข้ามาอยู่ในประเทศ เพราะฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อหลักการของมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้เองกลับสร้างปัญหาภายในประเทศ เพราะเป็นระบบที่เปิดช่องทางให้มีการละเมิดและตักตวงประโยชน์เข้าส่วนตัว จึงสร้างความไม่พอใจแก่คนที่ทำงานและเสียภาษี และทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งเริ่มมีพื้นที่ในการเลือกตั้ง 

เมื่อลงทะเบียนเสร็จก็กลับบ้านไปรอบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งทางหน่วยงานจะแจ้งมาที่ที่อยู่ของเราเมื่อบัตรเสร็จเรียบร้อย ส่วนที่ดีและสะดวกของบัตรใบนี้ก็คือ เราสามารถไปรักษากับหมอที่โรงพยาบาล หรือ คลีนิกไหนก็ได้ โดยค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ และเราจะจ่ายส่วนต่างจากประกันที่ทำไว้ คนไข้จะเป็นผู้ซื้อยาที่ร้านขายยาได้ตามที่หมอสั่ง จึงหมดปัญหาในการนั่งรอยานานๆ ที่สถานพยาบาล

 

สาม: หลักความมั่นคงทางสังคม และ การจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน 

“ประเทศฝรั่งเศสมีสหภาพแรงงานที่แข็งแรง” ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างพนักงานชั่วคราวได้เกิน 5 ปี หลังจาก 5 ปีต้องปรับสถานะเป็นพนักงานประจำ การเลิกจ้างทำได้ยากมาก เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยที่สูงมาก 

เมื่อว่างงาน รัฐจะมีเงินชดเชยและช่วยหางานใหม่ มีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานใหม่ เงินชดเชยนี้ได้ยาวนานถึง 2 ปี วันหยุดประจำปีมีเยอะมากและ สนับสนุนให้ใช้ นายจ้างไม่สามารถนำจำนวนวันหยุดมาใช้ในการประเมินการทำงานได้ แต่จะเห็นว่าระบบนี้เอง ก็เปิดช่องให้มีการละเมิดได้ง่ายเหมือนกัน

“รัฐสวัสดิการ” จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ต่อเมื่อประชากรของประเทศ ต้องเห็นประโยชน์ร่วมกัน ผู้ที่มีอำนาจในปกครองต้องจัดสรร แบ่งปันภาษี เพื่อผลประโยชน์ของประเทศด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม และเท่าเทียม หากประชากรส่วนหนึ่ง หรือ ผู้ที่มีอำนาจยังคงหาช่องทางเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะกลับมาสู่ปัจเจกบุคคลนั้น ระบบนี้ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้เลย

 

อ่าน: คุณตาปรีดีในความทรงจำ คลิกที่นี่ 

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงและเรียบเรียงบางส่วนโดยบรรณาธิการ