ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วันที่ต้องจดจำชั่วชีวิตของลูก

4
พฤษภาคม
2564

วันที่ 2 พฤษภาคม 2526  ดิฉันกลับจากต่างจังหวัด ได้แวะส่งพี่ลิตา (ลลิตา พนมยงค์) ที่บ้านซอยสวนพลู พอกลับถึงบ้านนั่งพักยังไม่ทันหายเหนื่อย จู่ๆ บ้านก็สั่น พัดลมเพดานแกว่ง ประตูหน้าต่างสั่น ก็รู้ทันทีว่าแผ่นดินไหว เหลือบดูนาฬิกาเป็นเวลาใกล้บ่ายห้าโมง แผ่นดินไหวไม่กี่วินาทีก็หยุด มีพายุหมุนตามมาอีก ใบไม้ที่ร่วงอยู่ในสนามปลิวว่อน ดิฉันหยิบไม้กวาดมากวาดขี้ฝุ่นที่เข้ามาในบ้าน

เสี้ยววินาทีจากนั้น โทรศัพท์ดังขึ้น เป็นเสียงของน้องวาณี แจ้งข่าวร้ายว่า “คุณพ่อสิ้นใจอย่างสงบที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส”

น้อย (วิชินี จตุรพฤกษ์) เล่าเหตุการณ์ทางปารีสให้ฟังว่า เช้าวันนั้นที่บ้านอองโตนี ซึ่งอยู่ชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงปารีส ท้องฟ้าโปร่ง อากาศแจ่มใส ไม่ร้อน ไม่หนาว เป็นฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่น คุณแม่ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) และ ครูฉลบ (ฉลบชลัยย์ พลางกูร) นั่งรถเมล์ไปตลาดนัด กลับมาถึงบ้านเวลาประมาณสิบเอ็ดโมง

ส่วนพี่สาว (สุดา พนมยงค์) ไม่อยู่ ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฯ เธอเล่าว่า เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยฯ เจอญาติผู้น้องยืนรออยู่แล้ว และรีบบอกเธอเมื่อเจอหน้ากันว่า “คุณลุงไม่สบายมาก ให้รีบกลับบ้าน” พี่สาวรีบนั่งแท็กซี่เดินทางไปที่คลินิกที่คุณพ่อใช้บริการอยู่ประจำ  ถามใคร ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง จึงรีบเดินทางกลับบ้าน พอมาถึงหน้าบ้าน มีสิ่งผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้น มีรถดับเพลิง รถพยาบาล ฯลฯ จอดอยู่หลายคัน มีคนยืนอยู่หน้าบ้านหลายคน ประตูรั้วบ้านเปิดกว้าง ประตูทุกบานในตัวอาคารก็เปิดหมด จึงเข้าใจว่าต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่แล้ว

ย้อนกลับมาเล่าถึงเรื่องคุณแม่นะคะ พอคุณแม่กลับมาถึงบ้าน ได้เข้าไปคุยกับคุณพ่อในห้องสมุด 2-3 ประโยค ไม่ทราบว่าคุยอะไรกัน อาจจะเป็นเรื่องการเขียนจดหมายถึงธนาคาร ซึ่งคุณพ่อเพิ่งเขียนเสร็จตอนนั้นพอดี

เช้าวันนั้น แอ๊ะ หลานชายที่รับใช้ใกล้ชิดคุณพ่อ (ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์) เดินทางไปธุระนอกบ้าน, ส่วนวาณีอยู่แฟลตข้างๆ บ้าน, ศุขปรีดา ทำงานอยู่ที่ฮ่องกง, ดุษฎี และ ลลิตาอยู่ที่กรุงเทพฯ

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า กำลังยืนคุยกับคุณพ่อใกล้ๆ โต๊ะทำงาน คุณพ่อวางปากกาจากจดหมายที่เขียนถึงธนาคารเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วพูดอะไรกับคุณแม่สองสามคำ ซึ่งคุณแม่จำไม่ได้ จากนั้นก็นั่งก้มหน้าแน่นิ่งไป

“เธอคะ เธอเป็นอะไร” คุณแม่พูดเสียงดังจนได้ยินมาถึงชั้นล่างของบ้าน น้อยรีบวิ่งขึ้นไปดู เห็นคุณพ่ออยู่ในสภาพนั่งเก้าอี้ทำงาน ก้มหน้าอยู่กับโต๊ะ น้อยจึงรีบวิ่งไปตามวาณีที่แฟลตข้างบ้าน พอวาณีมาถึง ก็ช่วยกันกับน้อยรีบโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงของเมืองฯ (หน่วยดับเพลงของที่นี่มีหน้าที่กู้ชีพด้วย)

ส่วนกอล์ฟ หลานชาย (อนวัช ศกุนตาภัย) ซึ่งกำลังเรียนหมอปี 4 ที่จุฬาฯ เพิ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวพักผ่อนที่บ้านอองโตนี ช่วยกันกับวาณี พยุงร่างคุณพ่อให้เข้าไปนอนที่เตียงในห้องนอน และพยายามช่วยกันทำ CPR ปั๊มหัวใจ 

หน่วยดับเพลิงกู้ชีพมาถึงพอดี พวกเขาพยายามใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณหน้าอกคุณพ่อ แต่ก็ไม่ได้ผล ระหว่างนั้น พี่สาว (สุดา พนมยงค์) กลับมาถึงบ้าน และได้พยายามติดต่อทั้งแพทย์ และรถฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุ แต่ทุกอย่างก็สายเสียแล้ว

 

จดหมายฉบับสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์เขียนถึงธนาคาร ซึ่งเขียนก่อนหมดลมหายใจไม่กี่นาที
จดหมายฉบับสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์เขียนถึงธนาคารด้วยภาษาฝรั่งเศส
ซึ่งเขียนก่อนหมดลมหายใจไม่กี่นาที ที่มา: ดุษฎี พนมยงค์

 

คุณพ่อละสังขารอย่างสงบ หลังจากวางปากกาลงบนโต๊ะ เมื่อเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงกว่าๆ ของกรุงปารีส ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาก่อนห้าโมงเย็นที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ทราบภายหลังว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนั้น อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีใกล้ชายแดนพม่า)

พี่สาวได้โทรฯ ตามแพทย์ประจำตัว เมื่อมาถึงและทราบเรื่อง คุณหมอยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย และบอกกับสุดาเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า  C'est une  belle mort !  (เป็นการตายที่งดงาม)

และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครานั้น จึงเป็นที่มาของบทกลอน “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” โดย วิสา คัญทัพ 

มีก็เหมือนไม่มีประวัติศาสตร์
พลิกหน้าไหนก็ผิดพลาดเสียทั้งนั้น
เฉพาะตอนต้องกำหนดบทสำคัญ
ดำเป็นขาว ขาวพลัน เป็นดำไป

ไม่รู้ใครต่อสู้กอบกู้ชาติ
ไม่รู้ใครขายเอกราชอันยิ่งใหญ่
ไม่รู้ใครรักประชาธิปไตย
ใครทำลายถวายให้เผด็จการ

มากอนุสาวรีย์ มีให้เห็น
ก็ชื่นชมเช้าเย็นเวลาผ่าน
แต่พิเคราะห์เงื่อนงำแห่งตำนาน
กลับต้องถอนใจสะท้านทุกทีไป

ประเทศไทยในรอบหนึ่งร้อยปี
นานครั้งบังเกิดมีแผ่นดินไหว
ชะรอยแตกขยับรับศพใคร
รับศพรัฐบุรุษไทยผู้เที่ยงธรรม

วิสา คัญทัพ

ถึงแม้วันนี้คุณพ่อจะจากไปแล้ว

แต่มรดกที่คุณพ่อทิ้งไว้ให้ลูกๆ

ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง

หากแต่เป็นอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย 

 

 

หมายเหตุ: 

  • บทความจาก FB: ‘ดุษฎี พนมยงค์’ เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 20.03 น. กองบรรณาธิการฯ ได้ทำการขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย
  • บทกลอน “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” โดย วิสา คัญทัพ จากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ ประดับไว้ในใจชน” หน้า 38 สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ
  • ภาพประกอบ จาก ดุษฎี พนมยงค์
  • ปรับปรุง เรียบเรียง โดย บรรณาธิการ