ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

คุณตาปรีดีในความทรงจำ

2
พฤษภาคม
2564

คุณยายของผมเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงพูนศุข ใช้นามสกุลเดียวกันคือ ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งผมจะเรียกท่านผู้หญิงพูนศุขว่า “คุณยายพูนศุข” บ้านเราอยู่ติดกัน ผมเติบโตมากับครอบครัวที่เป็นการเมืองล้วนๆ เพราะคุณพ่อของผมเองก็เป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ผมฉีกแนวออกมาหน่อย เพราะหัวไม่ไปด้านสังคมศาสตร์ แต่ชอบมากทางด้านวิทยาศาสตร์

ช่วงที่ผมเติบโตมาก็จะรับรู้ว่า เรามีคุณตาปรีดี กับ คุณยายพูนศุขอยู่ที่ต่างประเทศ คุณยายของผมติดต่อกับคุณยายพูนศุขมาเรื่อยๆ และผมเองก็เติบโตมาจากการช่วยเลี้ยงดูจากคุณป้าลลิตา (ลลิตา พนมยงค์)

ตอนผมอายุ 16 ปี คุณยายพูนศุขกลับมาที่เมืองไทย พอขากลับผมขอติดตามท่านกลับไปด้วย เลยมีโอกาสไปอยู่ที่บ้านอองโตนี ที่ปารีสเป็นเวลา 3 เดือน และ 3 เดือนตรงนั้นจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับคุณตาปรีดี

 

 

ประเทศฝรั่งเศสเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก ขนาดผมอายุแค่ 16 ที่ไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างเมือง ทำได้แค่วิ่งเล่นไปมาแถวๆ บ้านในตอนนั้น ชีวิตประจำวันผมที่นั่นไม่ค่อยมีอะไรมาก เราอยู่ห้องข้างล่างของบ้านอองโตนี เราจะเห็นคุณตาปรีดีตื่นแต่เช้า พอรับประทานอาหารมื้อเช้าเสร็จเรียบร้อย ท่านก็จะไปนั่งที่โต๊ะหนังสือของท่าน อ่านหนังสือบ้าง เขียนหนังสือบ้าง และในทุกๆ วันก็จะมีลูกศิษย์ลูกหามาหาท่านตลอดเวลา

ในบางวันคุณตาก็จะพาผมไปจ่ายตลาด แล้วก็ซื้อไอติมให้ พอกลับมาจากตลาด ลูกๆ ของท่านก็จะมารับกับข้าวไปทำในครัว พอถึงเวลาพวกเราทุกคนก็จะร่วมกันทานอาหารเย็นพร้อมหน้าพร้อมตากันที่โต๊ะ วันไหนที่พิเศษหน่อย คุณตาก็จะพาไปเที่ยวที่นอกเมือง

เวลาสามเดือนที่ได้ใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส เป็นช่วงเวลาที่ประทับใจของผมมาก ในเรื่องของความเป็นอยู่ และอีกสิ่งที่ผมประทับใจมากๆ ก็คือการเรียนรู้คุณตาปรีดี ผ่านคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ แขกเหรื่อของท่านที่เทียวไปเทียวมาเยี่ยมเยียน ผมทึ่งในความสามารถของท่านว่าท่านทำอะไรต่างๆ มากมายมาได้อย่างไร

หลังจากผมกลับมาในครั้งนั้น ผมมีโอกาสได้กลับไปที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งตอนอายุราวๆ 20 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ไม่แน่ใจว่าปี 3 หรือ ปี 4 ตอนนั้นเดินทางไปกับเพื่อน และน้องสาว เหมือนไปทัวร์ยุโรป ไปอิตาลี แล้วพอมาถึงฝรั่งเศสก็แวะมาพักที่บ้านอองโตนี

ผมเดินทางไปถึงเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม บรรยากาศในบ้านค่อนข้างจะพิเศษหน่อย เพราะใกล้จะถึงวันเกิดของคุณตาปรีดี ลูกๆ ของคุณตาต่างก็พากันช่วยเตรียมงาน

ที่บ้านอองโตนีเป็นบ้าน 3 ชั้น คือชั้นล่างจะติดอยู่กับพื้นดิน มีหลายห้อง ชั้นบนถัดมาจะเป็นห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องคุณตาคุณยาย ชั้นบนขึ้นไปอีกก็จะเป็นห้องพักของน้าๆ

เช้าวันนั้น (2 พ.ค. 2526) ผมตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงคุณยายพูนศุขร้องว่า

“คุณเป็นอะไรน่ะ”

ผมรีบวิ่งไปดู เห็นว่าคุณตานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ท่านอนฟุบลงไปกับโต๊ะ ผมก็เข้าไปช่วยท่าน พาคุณตาเข้าไปที่ห้องนอน ซึ่งขณะนั้นท่านหมดสติไปแล้ว ป้าแป๋ว (สุดา พนมยงค์) โทรตามรถพยาบาล น้าณี (วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์) กับผมช่วยกันปั๊มหัวใจ แต่ท่านนิ่งไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานรถพยาบาลก็มาถึงพร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือมากมายในการช่วยชีวิต แต่ไม่สำเร็จ ท่านจากไปอย่างสงบ จากไปอย่างเฉยๆ ไม่มีวี่แววอะไรเลย ก่อนหน้านั้นทุกอย่างยังปกติ ท่านใช้ชีวิตตามกิจวัตร ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคอะไร

หลังจากที่คุณตาเสียชีวิต และ ขายบ้านอองโตนี ผมได้ไปขอเก้าอี้ของคุณตามาเก็บไว้ ตอนแรกเก็บไว้ที่บ้านผมที่ปารีส ตอนนี้ส่งกลับไปเก็บที่บ้านที่เมืองไทย ผมรู้สึกว่าเก้าอี้ตัวนี้คือประวัติศาสตร์ ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับคุณตาปรีดีอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้ ท่านนั่งที่เก้าอี้ตัวนี้เป็นประจำทุกๆ วัน นั่งวางแผนพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง นั่งเขียนหนังสือ นั่งอ่านหนังสือ ถ้าเกิดต้องเอาเก้าอี้ตัวนี้ไปไว้ที่โกดังไหน ผมรู้สึกว่าเสียดาย

ภายหลังที่ผมเรียนจบมีคนชวนผมมาทำงานที่สถาบันปาสเตอร์ (Institut Pasteur)ผมตอบตกลงทันที เพราะเป็นประเทศที่ผมประทับใจตั้งแต่แรกที่มีโอกาสได้เดินทางไปอยู่แล้ว และผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ใช้ “รัฐสวัสดิการ” ของประเทศฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ และพบว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ระบบสาธารณสุข การเบิกจ่ายยา เวลาป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลทุกอย่างดีหมด ระบบขนส่งต่างๆ ของประเทศบ้านเมืองนี้ แต่ก็ดังคำที่คุณตาเคยกล่าวเอาไว้ว่าเรื่องๆ หนึ่ง ไม่มีดีไปทั้งหมด มันยังมีส่วนต้องแก้ไข ที่นี่ก็ยังเป็นอย่างนั้น

 

 

คุณตาปรีดี ในมุมมองของผม อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ผมมองท่านเป็นคนเก่งรอบด้าน ทึ่งในบทบาทและผลงานมากมายของท่าน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนการที่เราจะติดต่อใครแต่ละคน ไม่ง่าย ไม่เหมือนในยุคนี้ที่เปิดคอม เปิดมือถือ เราสามารถติดต่อกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกเพียงเสี้ยววินาทีเดียว แต่สมัยที่คุณตายังมีชีวิต จะคุยกับใครผ่านจดหมายบ้าง โทรเลขบ้าง กว่าทางนั้นจะตอบกลับมาต้องใช้เวลาหลายวัน แต่ท่านก็บริหารจัดการทุกอย่างได้เป็นอย่างดี 

 

สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 26/04/2564
เรียบเรียงและทำการสัมภาษณ์โดยบรรณาธิการ

 

สั่งซื้อหนังสือ “ชีวประวัติโดยย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ได้ที่
https://shop.pridi.or.th/th/product/644904/product-644904

หรือ Inbox ได้ที่แฟนเพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ https://m.me/pridibanomyonginstitute