ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยปลายปี พ.ศ. 2484 ‘นายปรีดี พนมยงค์’ หรือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่หลายกระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง
โดยเฉพาะช่วงต้นทศวรรษ 2480 ขณะนายปรีดีครองบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2484) นับเป็นห้วงยามที่สถานการณ์โลกกำลังตึงเครียดคับขันด้วยสภาวะสงคราม แม้จะยังไม่แพร่ลามมาสู่เมืองไทย แต่รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม และคณะรัฐมนตรีก็หมั่นประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องกิจการบ้านเมือง เพื่อตระเตรียมรองรับผลกระทบจากสงครามอันอาจส่งทอดมาถึง มิหนำซ้ำ แต่ละวาระการประชุมใช้เวลายืดเยื้อยาวนานแทบจะมิได้หยุดพัก
‘นายปรีดี พนมยงค์’ หรือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’
ทุกคราวเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี นายปรีดีจึงมักพกพาบางสิ่งติดตัว ดังที่ ‘วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร’ ได้เปิดเผย
“คุณอาพูนศุข” เล่าให้ฟังเมื่อ 50-60 ปีภายหลังว่า ระหว่างที่ "คุณอาหลวงประดิษฐ์" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2484 ว่า เวลาไปประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านต้องมี “ฮอลลิคส์” ใส่กระเป๋าเสื้อนอกไปด้วยขวดหนึ่ง เอาไว้ “แก้หิว”
หากการประชุมคณะรัฐมนตรียืดยาวเลยเที่ยงวันไป ท่านนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ท่านรับประทานอาหารเช้าแบบไทย จึงสามารถดำเนินการประชุมโดยไม่รู้สึกหิว, ขณะที่ “คุณอาหลวงประดิษฐ์” ท่านรับประทานอาหารเช้าแบบ “คอนติเนลตัล เบรคฟาสทฺ” ซึ่งเบามาก ทำให้รู้สึกหิวเมื่อถึงเที่ยงวัน”
ภาพ: “คอนติเนลตัล เบรคฟาสทฺ” (Continental Breakfast)
ที่มา: https://goterrestrial.com/2017/11/09/continental-breakfast/
การรับประทานอาหารเช้าแบบ “คอนติเนลตัล เบรคฟาสทฺ” (Continental Breakfast) หรือ แบบภาคพื้นทวีปยุโรปของนายปรีดี ย่อมทำให้ไม่หนักท้อง เพราะไม่เน้นเนื้อสัตว์ อาจรับประทานพวกขนมปัง ครัวซองต์ ผัก ผลไม้ และดื่มชากาแฟ หรือ นมสด คงจะไม่อิ่มแปล้เหมือนอาหารเช้าแบบไทยของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม หากร่วมประชุมนานๆ เกินเวลาอาหารมื้อเที่ยงก็มิแคล้วรู้สึกหิวแน่ๆ จำเป็นต้องมี “ของกิน” เติมพลังงานไปพลางๆ
“คณะรัฐบาล”
สมัยหลวงพิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี
ช่วงต้นทศวรรษ 2480
ครอบครัวปรีดี-พูนศุขดูเหมือนจะนิยมชมชอบ “ฮอลลิคส์” ไม่น้อย เพราะไม่เพียงมีไว้รับประทานเสียเอง ยังจัดหามาเป็น ‘ของเยี่ยม’ มอบให้คนอื่นในโอกาสต่างๆ เฉกเช่นหลานชายอย่างวิชิตวงศ์ที่เคยได้รับเมื่อเขายังเด็กและนอนซมป่วยไข้
“ผมยังจำได้เมื่อผมนอนป่วยอยู่ที่บ้านริมคลองเปรม สี่แยกราชวัตร, ดูเหมือนจะออกหัด หรืออะไรทำนองนั้น เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2, “คุณอาพูนศุข” ก็กรุณามาเยี่ยม โดยมีของเยี่ยม คือบิสกิตแจ๊กคอปของอังกฤษหีบหนึ่ง และ “ฮอลลิคส์” ชนิดเม็ดขวดใหญ่ขวดหนึ่ง, ซึ่งเป็นขนมที่โอชะมากในสมัยนั้น”
“ฮอลลิกส์” ตามปากคำของวิชิตวงศ์ หรือ อันที่จริงเรียกว่า “ฮอร์ลิคส์” (Horlicks) นั้น เป็นอาหารเสริมชนิดนมผงมอลต์ (malt) สกัดจากเมล็ดข้าวบาร์เลย์ ซึ่งมีสารให้พลังงานแก่ร่างกาย พร้อมทั้งให้วิตามินและแร่ธาตุช่วยบำรุงสุขภาพ ผลิตภัณฑ์นี้ก่อเกิดขึ้นในทศวรรษ 1870 ที่เมืองชิคาโก (Chicago) ริเริ่มโดยสองพี่น้องตระกูลฮอร์ลิคส์ คือเจมส์และวิลเลียม (James and William Horlick) ชาวอังกฤษผู้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1869
ตอนอยู่อังกฤษ เจมส์เคยเป็นเภสัชกร และเคยร่วมทำงานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มนมผงสำหรับเด็กทารกที่สกัดมาจากมอลต์ ครั้นย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริการาวสี่ปี ใน ค.ศ. 1873 จึงร่วมมือกับวิลเลียมเปิดบริษัท J & W Horlicks
เขากับน้องชายเริ่มจากผลิตเครื่องดื่มนมผงมอลต์สำหรับเด็กทารกอีกหน แล้วค่อยๆปรับให้เป็นเครื่องดื่มของผู้สูงอายุ และกลายเป็นอาหารเสริมของนักเดินทาง เพราะลักษณะเป็นผงแห้งๆ สามารถพกพาไปไหนมาไหนสะดวก เพียงชงกับน้ำร้อนก็รับประทานได้เลย
นับจากปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา เจมส์และวิลเลียมพยายามพัฒนา “ฮอร์ลิคส์” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใช้รับประทานทดแทนอาหารได้ มิใช่แค่ผงเครื่องดื่มสำหรับชงธรรมดา ก็เพื่อวางแผนขยับขยายการตลาดให้กว้างขวางขึ้น พร้อมผลักดันให้เป็นสินค้ายอดนิยม จึงมีการผลิต “ฮอร์ลิคส์” ออกมาในรูปแบบนมผงอัดเม็ด
กระทั่งช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ทหารอังกฤษนำ “ฮอร์ลิคส์” มาเผยแพร่ในอินเดีย และกระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงยังดินแดนอื่นๆ ที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ได้ปรากฏประกาศโฆษณา “ฮอร์ลิคส์” ดาษดื่นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายฉบับของโลก
โฆษณานมผงมอลต์ “ฮอร์ลิกส์” เมื่อปี ค.ศ. 1903
โฆษณานมผงมอลต์ “ฮอร์ลิคส์” แบบอัดเม็ด เมื่อปี ค.ศ. 1916
โฆษณานมผงมอลต์ “ฮอร์ลิคส์” แบบอัดเม็ดบรรจุขวด
ในเมืองไทย ผมคิดว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเยี่ยง “ฮอร์ลิคส์” น่าจะเริ่มมีจำหน่ายตามห้างร้านขายสินค้าฝรั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นช่วงที่สินค้าจากชาติตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก และเป็นไปเช่นนั้นเรื่อยมาจวบจนต้นทศวรรษ 2480 แต่สังเกตบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอาจจะไม่ค่อยปรากฏประกาศโฆษณาสักเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับเครื่องดื่มชนิดผงอย่าง “โอวัลติน” (Ovaltine) ที่ได้รับความนิยมและดาษดื่นการโฆษณายิ่งกว่า
“ฮอร์ลิคส์” คงจัดเป็น “ของกิน” ที่ค่อนข้างพิเศษพอสมควร สมดังที่วิชิตวงศ์เอ่ยว่า “....เป็นขนมที่โอชะมากในสมัยนั้น”
แม้เรื่องราวการพกพา “ฮอร์ลิคส์” ของนายปรีดีอาจดูเป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เหมือนไม่สลักสำคัญอะไรในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ แต่ถ้าลองพิจารณาดีๆ ก็มิอาจปฏิเสธเช่นกันว่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างนายปรีดีกับหลวงพิบูลสงครามในด้านรูปแบบและรสนิยมการรับประทานอาหารเช้า ซึ่งพอจะสื่อนัยยะของแนวความคิดทางสังคมการเมืองได้
ที่สำคัญ การเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรียืดเยื้อยาวนาน จนล่วงเลยเวลาหยุดพักรับประทานอาหารเที่ยง ต้องมี “ของกิน” แก้หิว ก็สะท้อนความรับผิดชอบต่อกิจการบ้านเมืองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนามปรีดี พนมยงค์
“ฮอร์ลิคส์” ในปัจจุบัน เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศอังกฤษ
สันนิษฐานว่าอาจจะยังไม่มีวางจำหน่ายตามร้านทั่วไป แต่สามารถสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์
ที่มา: https://www.horlicks.co.uk
เอกสารอ้างอิง
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ใน บุคคลในความทรงจำ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2560. หน้า 25-63
- "That's meat and drink to me : Wisconsin's Malted Milk Story". Wisconsin Historical Society. www.wisconsinhistory.org
- "The History of Malted Milk Powder.” Kitchen Lore. www.kitchenlore.com
- www.horlicks.co.uk
หมายเหตุ: ปรับปรุงและแก้ไขโดยบรรณาธิการ
- ปรีดี พนมยงค์
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- การอภิวัฒน์สยาม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
- จอมพล ป.พิบูลสงคราม
- สี่แยกราชวัตร
- ฮอร์ลิคส์
- James and William Horlick
- J & W Horlicks
- สงครามโลกครั้งที่ 1
- Ovaltine
- โอวัลติน
- ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์