ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ก่อนถึงวันชัยชนะ: ญี่ปุ่นยอมจำนน

15
สิงหาคม
2564

ก่อนจะถึงวันชัย

แม้ไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่จะชี้ชัดไปว่า ญี่ปุ่นรู้หรือไม่ว่ามีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้น และถ้ารู้ รู้เมื่อไหร่ และรู้อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงปลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการต่อต้านญี่ปุ่นโดยการพยายามติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่จุงกิง ประเทศจีน หรือ การย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลที่ให้ในภายหลังว่า เพื่อใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์เตรียมรบกับญี่ปุ่นในขั้นสุดท้าย แต่แผนการที่จะยึดประเทศไทยได้ถูกวางไว้แล้วว่าเป็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2487 ทว่า แผนดังกล่าวถูกระงับไว้เสียก่อน

ประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็คือ การที่ทหารญี่ปุ่นซึ่งประจำอยู่ที่วิตอเรียพอยต์ เขตประเทศพม่า ซึ่งไม่ได้รับคำสั่งปฏิบัติการยืดประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนการเดิมด้วยการเข้าจังหวัดระนอง เกิดการปะทะกัน ส่งผลให้ ‘จ.ส.อ. สวัสดิ์ ดิษยบุตร’ เสียชีวิตด้วยคมดาบซามูไรก่อนที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้จะได้รับคำสั่งยกเลิกปฏิบัติการ แต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็จับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี ‘นายควง อภัยวงศ์’ เป็นนายกรัฐมนตรีทุกฝีก้าว จนทำให้นายควงต้องยื่นคำขาดกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นให้เลิกทำตัวเป็นสายลับ โดยขู่ว่าจะลาออกหรือการที่ครั้งหนึ่ง เสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองพม่าได้บินมาพบ ‘พล.ท. นากามูระ’ เพื่อขอให้กวาดล้างขบวนการเสรีไทย ถ้าไม่ทำ กองทัพญี่ปุ่นในพม่าจะเข้ามาทำเสียเอง แต่ พล.ท. นากามูระ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

‘ปรีดา ด่านตระกูล’ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง นายควงกับแม่ทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญหลังสงครามสงบใหม่ๆ เล่าว่า

การประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่คราวหนึ่งเอ่ยถึงแผนการที่จะจัดการกับประเทศไทยในกรณีที่ไทยเตรียมการจะหักหลังญี่ปุ่น ดังนี้

แผนที่ 1 ญี่ปุ่นจะแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า ญี่ปุ่นทราบแผนการลับของเสรีไทยและขอให้ระงับแผนการดังกล่าวเสีย รัฐบาลนอกจากจะปฏิเสธข้อกล่าวหาของญี่ปุ่นแล้ว ยังได้เสนอร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิธีปฏิบัติกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าว อันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงครามออกมาอีกด้วย

‘นายควง’ เล่าบรรยากาศในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 12 กรกฎาคม 2487 ว่า

“เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน มีเสียงลือกันไปจนเข้าหูญี่ปุ่นว่าทางไทยจะลุกฮือขับไล่ญี่ปุ่น และฝ่ายไทยก็ได้รับข่าวว่าญี่ปุ่นจะลุกฮือยึดกรุงเทพฯ วันที่ 29 จึงเป็นวันที่อลเวงมาก แผนสุดท้ายก็คือ การเชิญนายกรัฐมนตรีไปเยือนญี่ปุ่น ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ไป ก็หมายความว่ามีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะปลดอาวุธกองทัพไทยได้ แต่นายควงก็ตอบตกลงทันที ต่างจากเมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ปฎิเสธการไปประชุมนานาชาติมหาเอเชียบูรพา ณ กรุงโตเกียว ในเดือนพฤศจิกายน 2486 โดยส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์วรรณไวทยากร เป็นตัวแทนประเทศไทย

แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นสภาวะที่ตึงเครียดเป็นที่สุด เมื่อถึงเวลานั้น กองทหารไทยทั่วราชอาณาจักร ได้รับคำสั่งให้สร้างป้อม และรังปืนกลภายในเมือง และรอบบริเวณหน่วยที่ตั้งของทุกหน่วย ‘พล.อ. เนตร เขมะโยธิน’ เล่าบรรยากาศช่วงนั้นผ่าน งานใต้ดินของพันเอกโยธี ไว้ว่า

“เฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพพระมหานคร ตามสี่แยกต่างๆ มีป้อมค่ายของทหารไทยตั้งอยู่ทั่วไป โดยฝ่ายเราให้เหตุผลว่า เราเกรงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรส่งพลร่มลงมาปฏิบัติการยึดพระนคร จุดที่ค่ายทหารไทยกับญี่ปุ่นอยู่ใกล้กัน ทำให้ต้องมีการตั้งป้อมเผชิญหน้ากันเลยทีเดียว”

‘นายทวี บุณยเกตุ’ ได้บันทึกถึงการเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นไว้ใน ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่า

“เพื่อวางแผนประสานงานระหว่างหน่วยงานเสรีไทยกับทหารเสรีไทย ได้มีการกำหนดเครื่องหมายเพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ได้ทำปลอกแขนสีขาวมีแถบสีน้ำเงินพาดกลางไว้ เพื่อแจกเมื่อถึงเวลาจะได้สวมแขนไว้ให้ทราบว่าเป็นพวกเดียวกัน กำหนดจุดต่างๆ ที่พลพรรคเสรีไทยจะต้องทำลายเพื่อไม่ให้ทหารญี่ปุ่นให้การได้

การเตรียมพร้อมและภาวะคับขันเช่นนี้ กองบัญชาการที่แคนดีทราบเป็นอย่างดี เขาจึงได้วิทยุห้ามมาอย่างเด็ดขาดว่าให้หลีกเลี่ยงการปะทะกับญี่ปุ่นจนกว่าจะถึงวันดีเดย์ ซึ่งเขาจะกำหนดขึ้นและแจ้งให้ทราบ ข้าพเจ้าเองต้องสั่งกำชับไปยังหน่วยต่างๆ ขอให้ยับยั้งการกระทำใดๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดการรบขึ้นได้ แต่กระนั้นก็ดีก็ยังมีหน่วยพลพรรคบางหน่วยที่ต้องทำลายญี่ปุ่นที่ได้เข้าไปในเขตหวงห้ามอันเป็นที่ตั้งของเสรีไทย และก็ทำการฝังเพื่อทำลายหลักฐานเสีย เช่น ที่จังหวัดกาญจบุรี และที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ในเดือนพฤษภาคม 2488 ที่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้แจ้งต่อฝ่ายสัมพันธมิตรว่า จะนำพลพรรคเสรีไทยเข้าต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม 2488 นั้น ได้ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยับยั้งไว้ก่อน โดยผู้ที่เป็นตัวแทนเข้ามาเจรจาคือ ‘นายนิคอล สมิท’ ซึ่งในการเจรจาในครั้งนี้เองถึงทำให้ทราบว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรมีแผนการที่จะเข้ามาปฏิบัติการปลดปล่อยประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน โดยทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้เตรียมแผนการไว้ว่า

ทางฝ่ายอเมริกาจะส่งเรือรบหน่วยหนึ่งหน่วยใดจากกองทัพเรือประจำมหาสมุทรแปซิฟิค ภาคฟิลิปฟินส์ เข้ามาสู่อ่าวไทย กองเรือรบจะประกอบด้วยเรือพิฆาต, เรือลาดตระเวน, เรือบรรทุกเครื่องบิน, และเรือประจัญบานอีก 1 ลำ เพื่อทำหน้าที่คอยสกัดกั้นการลำเลียงกองหนุนทางทะเลจากอินโดจีนและแหลมมาลายู ตลอดจนยกพลนาวิกโยธินขึ้นตามชายฝั่งภาคตะวันออกและตะวันตกของอ่าวไทยที่จังหวัดตราด, จันทบุรี, ระยอง และชลบุรี สายหนึ่ง

ขณะอีกสายหนึ่งจะขึ้นทางชายทะเล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี และกองกำลังเสรีไทยได้รับคำสั่งให้ดำเนินการต่อจากการรุกใหญ่ของฝ่ายอเมริกา คือ

1. ให้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็น 2 รัฐบาลทันทีที่วัน D-Day มาถึง รัฐบาลชุดเดิมยังคงอยู่ในเขตพระนครในฐานะเป็นกันชนและพรางตาข้าศึก ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ และนายทวี บุณยเกตุ จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ขึ้นประจำที่จังหวัดอยุธยา ถ้าเหตุการณ์ถึงขั้นวิกฤต ก็ย้ายต่อไปยังกระทุ่มแบน

2. ในกรณีที่จะรักษาสถานการณ์อยู่ต่อไปไม่ได้ก็ให้รัฐบาลใหม่ลงเรือออกจากสมุทรสงครามไปชลบุรี หรือที่จุดหนึ่งจุดใด ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทยสุดแล้วแต่จะตกลงกัน เพื่อขึ้นเครื่องบินหรือลงเรือใต้น้ำอเมริกันออกไปจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการต่อสู้ต่อไป

3. ให้กองทัพเรือไทยในความบังคับบัญชาของหลวงสังวรยุทธกิจร่วมมือกับฝ่ายทัพเรือของอเมริกัน ซึ่งจะเข้ามาปฏิบัติการ อาทิ ยกพลขึ้นบกที่ชลบุรี และเคลื่อนสู่พระนคร

4. ให้ยึดสัตหีบเป็นฐานทัพใหญ่ในการปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่แผนปฏิบัติการของอังกฤษนั้น ได้วางแผนให้กองทัพของฝ่ายสหประชาชาติเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ประเทศไทยทางฝั่งตะวันตกและยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศปฏิบัติการ ดังต่อไปนี้

1. ยึดกรุงเทพฯ กาญจนบุรี เขตหนึ่ง และลพบุรีกับสระบุรี อีกเขต

2. คอยทำการเป็นกองระวังปีกให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะดีโอบเข้ามาทางด้านกาญจนบุรี

3. ทำหน้าที่เป็นกองกระหนาบหลังช่วยกองทัพสัมพันธมิตรที่จะดีเข้าทางตะวันตกขณะที่ญี่ปุ่นถอยออกมาทางตะวันออก

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สั่งสมมาและกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น ระเบิดปรมาณูลูกแรกก็ถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา อีกสามวันต่อมาระเบิดปรมาญลูกที่ 2 ถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ มีผู้เสียชีวิตทันทีรวมกันมากกว่า 250,000 คน ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรอิโต ต้องมีพระบรมราชโองการยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 14 สิงหาคม 2488

วันเดียวกันนั้น ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบดแทน ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้ส่งสารมาถึง ปรีดี พนมยงค์ แนะนำให้ออกประกาศปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา ที่ไทยได้ประกาศในวันที่ 25 มกราคม 2485 รวมทั้งยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงทั้งปวงกับญี่ปุ่น

16 สิงหาคม 2488 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศว่า การประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็น “การกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง” และคนไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ร่วมมือกันทุกวิถีทางในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้น จึงขอประกาศว่า “การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย” และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติใน การสถาปนาสันติภาพในโลกนี้

 

 

ภายหลังจากสามารถจัดการกับกองทัพนาซีในยุโรปสำเร็จแล้ว แผนขั้นต่อมาของฝ่ายสัมพันธมิตรคือ การจัดการกับกองทัพญี่ปุ่นในทวีปเอเชีย

 

ภาพ: ใบปลิวแจ้งข้าวความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของสงคราม ที่มา: หนังสือ เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย
ภาพ: ใบปลิวแจ้งข้าวความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของสงคราม
ที่มา: หนังสือ เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย

 

ภาพ: ใบปลิวแจ้งข้าวความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของสงคราม ที่มา: หนังสือ เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย
ภาพ: ใบปลิวแจ้งข้าวความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของสงคราม
ที่มา: หนังสือ เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย

 

ที่มา: วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ).“ก่อนจะถึงวันชัย”, ใน, เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ 2546), น.195-200

 

 

โลกเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษที่เต็มไปด้วยความรุนแรง จนกลายเป็นสงครามยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติในเวลานั้น คือ "สงครามโลกครั้งที่ 1" แต่นั่นก็เป็นเพียงปฐมบทของความรุนแรง เพราะที่ทวีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิมก็คือ "สงครามโลกครั้งที่ 2"

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในดินแดนยุโรป จากการยึดถือความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของสยามประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มหันเข้าไปหาความร่วมมือกับญี่ปุ่นมากขึ้น จนเป็นการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485

จากจุดเริ่มต้นของคนแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายทางความคิด หรือแม้กระทั่งเคยขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้น แต่เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีหมุดหมายเฉพาะหน้าเดียวกันก็คือ "การรักษาเอกราชอธิปไตย" และขับไล่ผู้รุกราน ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานร่วมกันจนกลายเป็น "ขบวนการเสรีไทย" ในที่สุด

ปฏิบัติการของ "ขบวนการเสรีไทย" ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสำคัญจึงมิใช่อยู่ที่ว่าแต่ละคน แต่ละฝ่ายทำอะไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ทุกคนตระหนักถึงภารกิจเดียวกัน และทำหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การที่ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้

หนังสือเล่มนี้ จะพาคุณย้อนเวลากลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีกหน้าที่สำคัญยิ่งของชาติไทย ปฏิบัติการลับทั้งในประเทศและนอกประเทศของเหล่าวีรชนผู้กล้า ผู้พิทักษ์ผืนแผ่นดินที่ยอมพลีแม้กระทั่งชีวิตของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอธิปไตย

หนังสือ “เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย” บทบันทึกความเป็นมาและบทเรียนขบวนการเสรีไทยต่อสังคมไทย ราคา 100 บาท (จากปกติ 200 บาท) เป็นหนังสือปกแข็ง พิมพ์สีทั้งเล่ม เหมาะแก่การสะสมของนักท่องประวัติศาสตร์

? แถมฟรี! ที่คั่นหนังสือลาย “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” และลาย “ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”

? ค่าจัดส่ง 30 บาท หรือ จัดส่งฟรี!!! เมื่อมียอดซื้อหนังสืออื่นๆ ตั้งแต่ 200 บาท ขึ้นไป

ระยะเวลาโปรโมชั่น: วันนี้ - 31 สิงหาคม 2564

? สั่งซื้อได้ที่ https://m.me/pridibanomyonginstitute

? โปรโมชั่นหนังสือประจำเดือนสิงหาคม: https://www.facebook.com/418729291509368/posts/4264421883606737/

#PRIDIBooks #ปรีดีชวนอ่าน #วันสันติภาพไทย