ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

Stakeholder Capitalism: เมื่อทุนนิยมไม่ได้เห็นแค่กำไรสูงสุด แต่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย

13
กันยายน
2564

ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียคืออะไร

ในภาพและความเข้าใจของเราเมื่อพูดถึงทุนนิยมแล้ว ภาพที่จะเกิดขึ้นในใจของผู้คนส่วนใหญ่อาจจะเป็นภาพของบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่คอยเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กหรือผูกขาดการประกอบกิจการ หรือ หากเป็นผู้ที่มีมุมมองทางเศรษฐกิจแบบมาร์กซิสม์ก็อาจจะเห็นภาพพีระมิดระบบทุนนิยม (Pyramid of Capitalist System)

ภาพดังกล่าวอาจจะดูเป็นอคติต่อระบบทุนนิยมและทำให้ระบบทุนนิยมกลายเป็นตัวร้าย (ซึ่งอาจมีบางกรณีที่ความคิดเช่นนั้นอาจถูกต้อง) ทุนนิยมที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายก็ต่อเมื่อทุนนิยมนั้นปราศจากการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบทบาทของการแข่งขันได้ลดน้อยลงไป เนื่องมาจากบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากได้ใช้กลยุทธ์ในการควบรวมกิจการและดึงเอาบริษัทคู่แข่งมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทตนเอง ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง ฉะนั้น โดยสภาพแล้วทุนนิยมจึงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เลวร้ายไปทุกกรณี การแข่งขันที่ลดลงต่างหากคือสิ่งที่ทำให้ทุนนิยมกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย และจำเป็นต้องระงับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ลดลง

“ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสีย” เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยมซึ่งบริษัทต่างๆ ยังคงแสวงหากำไรอยู่ แต่นอกเหนือไปจากกำไรแล้วก็คือการสร้างมูลค่าในระยะยาวโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดและสังคมโดยรวมทั้งหมด วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสีย คือ การสร้างมูลค่าของธุรกิจในระยะยาว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ลูกค้า ซัพพลายเออร์ พนักงาน ผู้ถือหุ้น และชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

การประกอบธุรกิจแบบทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (เจ้าของกิจการ) กับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ โดยการปรับผลกำไรระยะสั้นให้เหมาะสมกับผู้ถือหุ้น

 

พัฒนาการของทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสีย

 

‘มิลตัน ฟรีดแมน’ (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1976 เจ้าของประโยคที่โด่งดัง “โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ” (There's no such thing as a free lunch.)
‘มิลตัน ฟรีดแมน’ (Milton Friedman)
นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1976
เจ้าของประโยคที่โด่งดัง “โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ”
(There's no such thing as a free lunch.)

 

แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับทุนนิยมนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีผู้อ้างถึงแนวคิดของ ‘มิลตัน ฟรีดแมน’ (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดัง ซึ่งอธิบายว่า บริษัทมีหน้าที่สำคัญคือการสร้างกำไรเพื่อตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากการบริหารงานของบริษัทนั้นก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1950 และ 1960 จากการที่ประเทศตะวันตกเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย (ชุมชน) โดยเฉพาะในบริบทที่บริษัทมีความสัมพันธ์กันกับชุมชนที่บริษัทนั้นดำเนินกิจการอยู่

แนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับและขยายไปสู่ประเทศยุโรปเหนือและประเทศยุโรปตะวันตก เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมนี เป็นต้น แนวคิดเช่นนี้เองทำให้เกิดระบบไตรภาคีของการร่วมกันระหว่างบริษัท ลูกจ้าง และรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดรัฐสวัสดิการที่บริษัทและลูกจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง

 

‘โจเซฟ สติกลิตส์’ (Joseph E. Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2001
‘โจเซฟ สติกลิตส์’ (Joseph E. Stiglitz)
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2001

 

ในทางตรงกันข้ามการที่บริษัทเน้นผลการสร้างผลกำไรตอบแทนผู้ถือหุ้นมากเท่าไรและคลายความสัมพันธ์กับชุมชนและรัฐบาลลง เพื่อสร้างมูลค่าในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายของบริษัทนั้นก็อาจจะได้รับผลกระทบในทางอ้อม ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เอง ‘โจเซฟ สติกลิตส์’ (Joseph E. Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกคนจึงเสนอให้แทนที่ความสำคัญของการตอบแทนผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นด้วยการเน้นสร้างมูลค่าระยะยาวแทน ในขณะที่บริษัทยังคงสร้างผลกำไรตอบแทนการลงทุนของผู้ถือหุ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็บริษัทก็ควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเสรีโดยไม่มีการหลอกลวงหรือการฉ้อโกง

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเห็นได้ว่าทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียนั้นมีไอเดียที่แตกต่างไปจากการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจพอสมควร แม้ในบางบริบทเรื่องทั้งสองจะมีความคล้ายคลึงกัน เพราะทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียนั้นมิได้มีความตระหนักเพียงแค่การปรับภาพลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น แต่ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียเป็นเรื่องของการพัฒนาวิธีคิดและนโยบายขององค์กรที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่บริษัท/ธุรกิจนั้นตั้งอยู่ ซึ่งหากสิ่งแวดล้อมโดยรอบของบริษัท/ธุรกิจนั้นดีขึ้นผลพลอยได้ก็คือบริษัท/ธุรกิจนั้นย่อมได้รับผลดีขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้มาจากรูปแบบของผลกำไร

 

ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียกับแนวทางการทำให้เกิดขึ้นจริง

การจะรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์โดยรวมของสังคมที่ดีขึ้นได้นั้น การอาศัยแต่แนวคิดแบบทุนนิยมดั้งเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ผู้บริหารของบริษัท/ธุรกิจสมัยเองก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นของสังคมเหล่านี้ และในการเริ่มต้นเพื่อให้เกิดสังคมที่ดีขึ้นได้นั้นโดยการนำแนวคิดแบบทุนนิยมแบบผู้มีส่วนได้เสียมาใช้แบบรูปธรรมนั้นอาจดำเนินการโดยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • การจ่ายค่าจ้างที่ยุติธรรม
  • ลดอัตราค่าจ้างพนักงานระดับสูงหรือผู้บริหารลงเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนหรือสวัสดิการให้พนักงานระดับล่าง
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน
  • ดำเนินการทางภาษีอย่างตรงไปตรงมาและหลีกเลี่ยงการเลี่ยงภาษี
  • การให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการต่อผู้บริโภค
  • การมีความซื่อสัตย์และปฏิบัติต่อนโยบายบริษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด
  • การส่งเสริมและร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนา
  • การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียสำเร็จได้นั้นประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก การโน้มน้าวผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทให้ยอมรับในเรื่องนี้ ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่มีความท้าทายที่สุด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ถือหุ้นทุกคนต้องการก็คือผลกำไรจากการประกอบกิจการ หากการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านเช่นนี้จะทำให้ผลกำไรของบริษัทลดลง ผู้ถือหุ้นเองอาจจะไม่พอใจกับการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ถือหุ้นในปัจจุบันก็อาจะมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจหากธุรกิจดังกล่าวยังพอสร้างกำไรให้กับการลงทุนได้บ้าง ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมด้วย

ประการที่สอง กฎระเบียบของรัฐบาล ซึ่งหากบริษัท/ธุรกิจดำเนินกิจการโดยให้ความสำคัญและใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านแล้ว แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะที่บริษัท/ธุรกิจที่ไม่สนใจต่อผู้มีส่วนได้เสียกลับสร้างกำไรให้กับการลงทุนและประหยัดต้นทุนจากการทำเพื่อสังคมได้ ในบริบทเช่นนี้ย่อไม่มีใครอยากดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างแน่นอน ดังนั้น ในแง่นี้รัฐบาลอาจจะมีการให้แรงจูงใจหรือการสนับสนุนโดยใช้มาตรการทางภาษีเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ

อาจจะกล่าวได้ว่า ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียนั้น มองสังคมโดยรวมตามหลักภราดรภาพนิยม คือ มองสังคมทั้งหมดเป็นเสมือนพี่น้องที่ร่วมทุกข์รวมสุขกัน ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการสามารถส่งต่อไปสู่คนทุกคนในสังคมได้ผ่านการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สังคมจะเป็นสังคมที่ดีได้นั้นไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบทบาทของบริษัท/ธุรกิจก็มีความสำคัญ

ในขณะที่บริษัท/ธุรกิจแบบเดิมที่เน้นสร้างประโยชน์ หรือ ผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่ใช่กระแสนิยมของยุคนี้สักเท่าไรแล้ว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ทุนนิยมผู้มีส่วนได้เสียจะเกิดขึ้นและให้ผลดีกับสังคมได้นั้นในบริบทของประเทศไทยก็อาจจะยังไม่พร้อมขนาดนั้น

 

อ้างอิง

  • Klaus Schwab and Peter Vanham, “What is stakeholder capitalism?” (World Economic Forum, 22 January 2021) < https://www.weforum.org/agenda/2021/01/klaus-schwab-on-what-is-stakeholder-capitalism-history-relevance/> accessed 25 August 2021.
  • Deborah D'Souza, “Stakeholder Capitalism” (Investopedia, 12 July 2021) accessed 25 August 2021.
  • วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, “ทุนนิยมไทยไปทางไหนดี” (the101.world, 17 ธันวาคม 2561) < https://www.the101.world/capitalism-way-to-go/> สืบค้นเมื่อวันที่ 25 August 2021.