‘น๊อต นุติ เขมะโยธิน’ หากเอ่ยถึงชื่อนี้ในวงการบันเทิงจะรู้ทันทีว่า เขาคืออดีตศิลปิน หนึ่งในสมาชิกวง System Four พระเอกละครจอแก้วมากมายหลายเรื่อง สมรสกับนางเอกชื่อดัง กวาง กมลชนก โกมลฐิติ
คุณกวาง กมลชนก โกมลฐิติ ภรรยา
กลับมาที่สายประวัติศาสตร์ การเมืองไทย ‘นุติ เขมะโยธิน’ เป็นหลานปู่ของ ‘พลเอก เนตร เขมะโยธิน’ นายทหารผู้มีใจรักชาติ รักประชาธิปไตย สมาชิกขบวนการเสรีไทย หัวหน้าผู้ก่อการกบฏเสนาธิการทหาร
ครอบครัวเขมะโยธิน
ครอบครัว เขมะโยธิน
คุณปู่เป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ผมได้สิ่งนี้มาจากคุณปู่ ถึงแม้จะไม่ชอบรับราชการ มาทำงานในวงการบันเทิงก็ตาม ชอบศึกษาประวัติศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์นะครับ และเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต อะไรที่ไม่ถูก ไม่ตรง ทำใจไม่ได้ มันทำใจที่จะยอมรับตามน้ำไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่คุณปู่เคยบอกลูกหลานทุกคนเลยว่า เรื่องของความซื่อสัตย์สำคัญมากที่สุด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็ต้องยึดถือความซื่อสัตย์ไว้เป็นที่สุดเลย
คุณปู่มีลูกหลานค่อนข้างเยอะ ท่านมีลูก 9 คน ผมเป็นหลานที่เรียกว่าเกือบจะโตที่สุด คุณพ่อ (ณรงค์ เขมะโยธิน) ของผมรับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นอดีตเอกอัคราชทูต จึงเดินทางบ่อย ตอนที่ผมเกิดได้ 2 เดือน ก็ไปอยู่เวียดนาม อยู่ที่นั่นได้ 5 ปีก็กลับมาเมืองไทย กลับมาได้ 2-3 ปี ก็ต้องเดินทางต่ออีก คราวนี้ไปอยู่ฝรั่งเศส เรียกว่าเดินทางบ่อยมาก ส่วนใหญ่จึงใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับคุณปู่เท่าไหร่นัก แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนเด็กๆ ที่คุณปู่มาบอกคุณพ่อว่าจะขอผมไปเลี้ยง แต่คุณพ่อไม่ยอมให้ไป
ตอนเด็กๆ ที่เราไปบ้านคุณปู่ที่ซอยอารีย์ จะได้เจอคนเยอะมาก แต่ละคนใส่เครื่องแบบทหาร ในความคิดของเราสมัยนั้นจะคิดว่าคนสมัยก่อนหน้าตาจะค่อนข้างดุ บางคนก็หน้าตาคุ้นๆ เราก็เอ๊ะ...คนๆ นี้หน้าตาเหมือนคนในหนังสือพิมพ์ ด้วยตอนนั้นยังเด็ก ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ ผมเพิ่งจะมารู้เรื่องราวและบทบาทต่างๆ ของคุณปู่ก็ในช่วงวัยรุ่น และศึกษาหาอ่านเรื่องราวในเชิงลึกจริงๆ ก็หลังจากที่คุณปู่เสียชีวิตไปแล้ว
บันทึกของคุณปู่
"...ผมมีโอกาสได้มาอ่านบันทึกเรื่องราวของคุณปู่อย่างเข้มข้นก็จากบันทึกที่คุณปู่เขียน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวตั้งแต่สมัยเรียน รับราชการ จนถึงเรื่องราวของขบวนการเสรีไทย...”
คุณปู่เป็นนายทหารที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตยค่อนข้างมาก และมีแนวความคิดไปทางเดียวกันกับอาจารย์ปรีดี และเชื่อว่าทหารไม่ควรจะมีตำแหน่งทางการเมือง ทหารควรจะเป็นทหารอาชีพ ไม่ควรจะไปอะไรทางการเมือง สังคมในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ทหารวันนี้ก็ไม่เหมือนทหารเมื่อก่อน ทหารเมื่อก่อนคือทหารจริงๆ ความคิดการกระทำก็เป็นทหาร
ก่อนที่คุณปู่จะเสียชีวิต เราก็พอจะรู้มาบ้างว่าคุณปู่เคยมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ มีตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร แต่ด้วยความเป็นเด็ก ความสนใจเรื่องราวพวกนี้อาจจะยังมีน้อย แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากการอ่านหนังสือ จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ซึ่งหลายท่านก็เคยทำงานกับคุณปู่ จึงทำให้เราเริ่มหาเรื่องราวของคุณปู่อ่านมากขึ้น
ผมมีโอกาสได้มาอ่านบันทึกเรื่องราวของคุณปู่อย่างเข้มข้นก็จากบันทึกที่คุณปู่เขียน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวตั้งแต่สมัยเรียน รับราชการ จนถึงเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยในหนังสือที่ชื่อว่า “งานใต้ดินของพันเอกโยธี” แล้วก็มีบางเรื่องที่คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังบ้าง
คุณปู่เป็นคนสุภาพ เสียงเบา ไม่พูดเยอะ เป็นทหาร แต่เป็นทหารที่ไม่เสียงดัง ไม่โผงผาง แถมยังชอบเก็บตัวเงียบๆ แล้วเรียนหนังสือเก่งรับราชการทหารด้วย เป็นอาจารย์สอนหนังสือด้วย
งานใต้ดินลับๆ ของพันเอกโยธี
“...การทำงานตรงนี้เป็นเรื่องที่เงียบและเป็นความลับมากๆ บอกใครก็ไม่ได้ คนในครอบครัว ลูกเมีย ไม่มีใครรู้สักคนว่าคุณปู่ทำอะไร คือรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้วลงมือลุยกันเลย…”
“พันเอกโยธี” เป็นชื่อเรียกรหัสลับของคุณปู่ในขบวนการเสรีไทย คุณปู่ปฏิบัติราชการลับๆ ให้กับกองทัพมาหลายงาน เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา จนมาเกิดขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำงานตรงนี้เป็นเรื่องที่เงียบและเป็นความลับมากๆ บอกใครก็ไม่ได้ คนในครอบครัว ลูกเมีย ไม่มีใครรู้สักคนว่าคุณปู่ทำอะไร คือรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้วลงมือลุยกันเลย คนสมัยนั้นยอมแลกชีวิตเพื่อประเทศชาติของจริง ไม่กลัวตาย ไม่กลัวลำบาก เดินทางไปเมืองจีนเพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยความยากลำบาก ลำบากด้วยระยะทาง เส้นทางแล้ว ยังต้องระวังตัว ระวังชีวิตอีกด้วย แต่ละภารกิจไม่มีอะไรง่ายเลย
พบ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ครั้งแรกที่ทำเนียบท่าช้าง
คุณปู่มีโอกาสพบกับท่านอาจารย์ปรีดีครั้งแรกที่ทำเนียบท่าช้าง หลังจาก ‘พล.ท. หลวงสินาดฯ’ (พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์) บอกกับคุณปู่ว่าได้รับคำสั่งจากท่านอาจารย์ปรีดี ให้ช่วยหานายทหารที่ไว้ใจทำหน้าที่เดินทางไปแคนดีที่เกาะลังกาเพื่อติดต่อกับกองบัญชาการกองทัพสัมพันธมิตร
ในบันทึกตอนหนึ่งของคุณปู่เขียนไว้ประมาณว่า วันที่ได้พบกับท่านอาจารย์ปรีดี เป็นวันที่ตื่นเต้นที่สุดและเป็นวันที่สำคัญที่สุดของคุณปู่เลยก็ว่าได้ เป็นช่วงเดือนมีนาคม ปี 2487 ท่านรองแม่ทัพใหญ่ หรือ หลวงสินาดฯ โทรนัดคุณปู่บอกว่า บ่ายๆ จะพาคุณปู่ไปหาท่านปรีดี ผมอ่านประโยคนี้ในหนังสือคุณปู่แล้วตื่นเต้นตามไปด้วย
“...เราทั้งสองเดินไปที่ห้องรับแขก เมื่อรองแม่ทัพใหญ่ได้แจ้งแก่ผู้รับใช้ถึงความประสงค์ว่าจะขอพบท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว เราก็นั่งคอยอยู่ในห้องนั้น สักครู่หนึ่งบุรุษผู้ซึ่งตัดผมเกรียน ผิวเนื้อสองสีค่อนข้างขาว วัยสี่สิบเศษ รูปร่างสันทัดในเครื่องแต่งกายอยู่กับบ้าน และมีแพรพันคอสีขาวก็เดินเข้ามา เมื่อเห็นหน้าข้าพเจ้าก็จำได้ทันที ผู้ที่เดินเข้ามาต้อนรับเราคือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้น
ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการส่วนตัวมาก่อนเลย นอกจากได้ทราบอย่างที่บุคคลทั่วไปทราบกันว่า ท่านเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในคณะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และได้มีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญยิ่ง…”
“ผมยินดีมากที่ได้พบกับคุณเนตร” เป็นประโยคแรกที่อาจารย์ปรีดีกล่าวกับคุณปู่ผม ก่อนจะกล่าวต่อว่า “ผมยินดีที่ทราบว่า คุณสมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติงานกับพวกเรา ผมได้ทราบมาเหมือนกันว่าคุณเคยร่วมงานใต้ดินมาตั้งแต่สมัยท่านจอมพลเป็นรัฐบาล และได้ยินชื่อเสียงของคุณมานานแล้ว...”
ผมอยากแนะนำให้ทุกคนถ้ามีโอกาสไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านครับ “งานใต้ดินของพันเอกโยธี” เป็นหนังสือที่บันทึกอีกหน้าสำคัญๆ ของประวัติศาสตร์ไทย และหลายๆ เรื่องในนั้น ไม่เคยมีตีพิมพ์ไว้ที่ไหน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นที่น่าเสียดายที่เรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญหลายๆ อย่าง ของบุคคลสำคัญหลายๆ ท่านถูกบันทึกไว้อย่างเงียบๆ
ความผูกพันของ 2 ครอบครัว
ระหว่างพนมยงค์กับเขมะโยธิน
“คุณยายพูนศุขใจดีใบหน้าของท่านจะยิ้มตลอด คุณตาปรีดีก็เช่นกัน ท่านรักและเอ็นดูผมมาก”
หลังจากที่ได้ร่วมงานกันในครั้งนั้น ระหว่างคุณปู่กับท่านอาจารย์ปรีดีก็เริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น จนเมื่อประมาณปี 2518 คุณพ่อของผมไปประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แล้ว ณ เวลานั้น ท่านอาจารย์ปรีดีก็ลี้ภัยอยู่ที่นั่นแล้วด้วย
คุณพ่อเล่าให้ผมฟังว่า คุณปู่มักจะบอกอยู่เสมอว่าให้ไปดูแลท่านปรีดี ให้ไปเยี่ยมท่านปรีดีบ่อยๆ พอถึงวันหยุด คุณพ่อก็จะพาผมไปที่บ้านอองโตนีไปหา “คุณตาปรีดี” กับ คุณยายพูนศุข
คุณยายพูนศุขใจดีใบหน้าของท่านจะยิ้มตลอด คุณตาปรีดีก็เช่นกัน ท่านรักและเอ็นดูผมมาก เพราะคุณยายพูนศุขก็เป็นเพื่อนกับคุณยายของผมด้วย คือเรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่ 4 ขวบ ท่านทั้งสองสนิทกันมาก คุณแม่ของผมและบรรดาพี่ๆน้องๆของคุณแม่กับป้าแป๋ว น้าดุษ และน้าวาณีก็สนิทกัน เพราะเรียนอยู่ประจำด้วยกันที่เซนต์โยฯ ช่วงที่ผมกำลังจะแต่งงานก็ได้พาคุณกวาง (กมลชนก) นำการ์ดเชิญไปเรียนเชิญคุณยายพูนศุขถึงที่บ้านสาทร จนถึงทุกวันนี้ผมเองก็ยังคงติดต่อกับป้าแป๋ว (สุดา พนมยงค์) กับ น้าดุษ (ดุษฎี พนมยงค์) อยู่เรื่อยๆ
มองประชาธิปไตยผ่าน “คณะราษฎร” และ “ขบวนการเสรีไทย”
“คณะราษฎร 2475 เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ส่วนขบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องของสงคราม”
เรื่อง “คณะราษฎร” เรียกว่าบรรยากาศไม่ได้เหมือนสมัยนี้ บริบทของสังคมและเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นตกต่ำเอามากๆ ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนกันทั่ว ในความคิดของผม คณะราษฎรเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสมัยใหม่ ที่เรียกได้ว่าก้าวหน้ามากๆ ในสมัยนั้น คุณลองคิดดูบริบทของโลก ของบ้านเมืองสมัยนั้น แตกต่างจากสมัยนี้ในทุกๆ ด้าน แล้วอยู่ๆ คนกลุ่มหนึ่งก็นำความเป็นประชาธิปไตยที่ได้ไปเรียนรู้ และได้เห็นของจริงจากต่างประเทศ เอาเข้ามาปรับเปลี่ยนในสังคมไทย คือมันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ไม่ธรรมดาเลยครับ
สิ่งที่กลุ่มของคณะราษฎรได้เห็นคือ ถ้ามีประชาธิปไตยเนี่ย ความเจริญอะไรต่างๆ มันสามารถกระจายไปสู่ประชากรได้ คือการเปลี่ยนระบบริหารจากระบบ centralised (รวมศูนย์อำนาจ) ไปเป็น decentralised หรือการกระจายอำนาจอย่างที่เราพูดกันในวันนี้ รวมถึงการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะฉนั้นผมเชื่อว่าถ้าไม่มีวันนั้น เราก็ไม่มีวันนี้
สำหรับผมการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำมาซึ่งประชาธิปไตยให้ประชาชนมีตัวตนมากขึ้น ก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนา
เรื่องของ “ขบวนการเสรีไทย” ถ้าเราไม่มีเสรีไทย ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นเป็นอาชญากรสงครามก็ได้เนื่องจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ลองดูสัญญา 21 ข้อที่อังกฤษให้ไทยเซ็นที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาดู ไม่ต่างอะไรกับการตกเป็นทาสเลย เช่น การให้ยุบองค์การทหาร เป็นต้น (หากใครอยากรู้เพิ่มเติมเรื่องสัญญา 21 ข้อของอังกฤษลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ)
ซึ่งคณะที่เข้าไปเจรจาและได้รับร่างสัญญา 21 ข้อจากอังกฤษหลังจากสงครามสิ้นสุดลงนั้นก็คือสมาชิกขบวนการเสรีไทยซึ่งประกอบไปด้วย พล. ร.ต. แชน ปัจจุสานนท์ พ.อ. สุรจิตร จารุเศรณี น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ ทวี ตะเวทิกุล และคุณปู่ของผม ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรไทยในขณะนั้นต้องยอมอนุมัติให้รัฐบาลลงนามข้อตกลงนี้ด้วยความจำยอม แต่คณะเสรีไทยที่คุณปู่ผมอยู่ด้วยไม่ยอม จึงได้มอบหมายให้ น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเคยเป็นนายทหารติดต่อระหว่างขบวนการเสรีไทยกับหน่วย O.S.S. (หน่วยสืบราชการของสหรัฐที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) และนายทวี ตะเวทิกุล รีบแยกไปพบกับหน่วย O.S.S. ทันที
ความจริงจึงเปิดเผยออกมาว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรู้เรื่องนี้เลย จนในที่สุดสหรัฐอเมริกาจึงเข้ามาแทรกแซง ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นี่เป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
ย้อนกลับไปช่วงสงคราม ถ้าไม่มีขบวนการเสรีไทยในวันนั้น ที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่รู้เหมือนกันว่าประเทศไทยจะเป็นยังไง คิดว่ามันจะต้องพังหมดทุกสิ่งทุกอย่าง คนไทยก็คงจะตายกันเยอะ อันนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นความชาญฉลาดของดร.รูธ หรือว่า ท่านปรีดีที่สามารถตัดสินใจได้เฉียบพลันทันด่วน ออกจากรัฐบาลแล้วมาตั้งขบวนการเสรีไทยโดยเป็นการรวบรวมทั้งทหาร พลเรือนผู้รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ เข้าร่วมขบวนการนี้ โดยคุณปู่ผมเองก็ไม่รู้ตัวสักนิดว่าจะต้องมารวมตัวกับขบวนการนี้ด้วย
ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลป. ได้เคยพูดกับคุณปู่ของผมประโยคหนึ่งว่า “คุณเนตร คุณคิดว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ในการสงครามคราวนี้? ฝ่ายนั้นแหละคือศัตรูของเรา” คุณปู่ผมครุ่นคิดอยู่นานจนได้คำตอบว่า ญี่ปุ่นจะต้องแพ้สงครามในที่สุด! จากนั้นมางานใต้ดินก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ในสมัยนั้นผมคาดเดาว่าทางรัฐบาลไม่จะเป็นทหารหรือพลเรือนทุกคนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่พูดไม่ได้เพราะกลัวญี่ปุ่นรู้แล้วความลับจะแตก ภายนอกจึงต้องดูขัดแย้งกัน โดยที่จะรู้กันแค่ระดับบน แต่ระดับล่างจะไม่รู้ ผู้ปฏิบัติระดับล่างจะคิดว่ารัฐบาลร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น พอจับสายลับมาได้ก็จะส่งให้รัฐบาลเพื่อส่งต่อให้ทางญี่ปุ่น แต่ก็ยังดีที่ว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงบอกว่าถ้าจับสายลับมาได้ให้ส่งตรงไปที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น ผู้บังคับบัญชาท่านนั้นๆก็จะรู้ว่านี่เป็นสายลับเป็นพวกเดียวกันจะต้องส่งไปที่ไหนต่อ ซึ่งทำให้หลายคนรอดชีวิตมาได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องเสียชีวิตลง ก็เลยยิ่งคิดว่าถ้าไม่มีเสรีไทยเนี่ย ประเทศไทยก็คงไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้
ในประวัติศาสตร์ต่างประเทศก็มีขบวนการใต้ดินเหมือนกัน เช่น ในเยอรมัน ถ้าเคยอ่านเรื่อง The White Rose ก็จะพบว่าเป็นเด็ก 18-19 นี่แหละ เป็นขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซีแต่สุดท้ายโดนฆ่าหมด รอดชีวิตอยู่ได้แค่ไม่กี่คนที่มาเล่าเรื่องราว ก็คิดว่าต้องนับถือนะครับ ต้องยกย่องบุคคลเหล่านั้นที่เสียสละ การกระทำเหล่านั้นมันส่งผลมาถึงลูกหลานถึงทุกคนในวันนี้ด้วย
ประชาธิปไตยในปัจจุบันกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ และการก้าวไปข้างหน้าของโลกใบนี้
หลายๆ คนมักจะเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกับคณะราษฎรในอดีต ผมมองว่าเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ วันนี้ มีทั้งความคล้ายและความต่างกับตอนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความคล้ายคือมีความคิดที่ต้องการจะทำให้อำนาจกลับมาเป็นของประชาชนอย่างสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ เหมือน ณ เวลานั้นที่เกิดจากแนวความคิดระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดหัวก้าวหน้าที่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจการปกครองเป็นของประชาชน แต่ความต่างคือ บริบทของเศรษฐกิจ สังคม ความรู้สึกนึกคิดของคนสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันทุกมิติ
ปัญหาทุกวันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของ Generation Gap คนรุ่นเก่าหลายคนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นตามบริบทของสังคม บางคนยังคิดว่าเด็กต้องเชื่อฟังต้องเดินตามผู้ใหญ่ โดยไม่เอามุมมองอีกมุมที่ว่าผู้ใหญ่คนนั้นๆ สมควรเป็บแบบอย่างหรือเปล่า ซึ่งเด็กสมัยนี้เขามองเห็นว่าใครที่ควรจะเดินตามหรือไม่ คนรุ่นใหม่เองหลายคนก็ร้อนวิชา รอไม่เป็น อยากจะเปลี่ยนอะไรต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ โดยไม่คิดถึงการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ
ถ้ามองย้อนกลับไปที่คณะราษฎร ความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แต่เป็นความคิดที่บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัย ร.5 ยุค ร.ศ.103 ที่มีทั้งเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งเข้าชื่อเสนอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จนมาถึงสมัยกบฏ ร.ศ.130 เป็นกระบวนการความคิดที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ในที่สุด ผมคิดว่าทุกคนต้องยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อโลกเดินไปข้างหน้า สังคมที่จะอยู่ต่อก็จะเป็นยุคของเด็กๆ รุ่นลูก รุ่นหลานของเราที่จะเติบโตขึ้นมา ผมมองว่าเขาเองก็มีสิทธิมีเสรีภาพที่จะเลือกสังคมให้กับตัวของเขาเอง
เอาเข้าจริงๆผมคิดว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของเด็กที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยซ้ำ มองง่ายๆ เลย Facebook ที่เราใช้กันอยู่สร้างโดย Mark Zuckerberg ตอนอายุ 19 Steve Jobs ก่อตั้ง บริษัท Apple (บริษัทผู้ผลิต Iphone ในปัจจุบัน) ตอนอายุ 20-21 หรือ แพลตฟอร์มมากมายที่คนรุ่นเราใช้กันอยู่ เกิดจากการสร้างของเด็กๆทั้งนั้นจากจินตนาการของเขาในโลกที่เขามีอิสระเสรีภาพที่จะคิดที่จะจินตนาการ แทบจะทุกอย่าง จึงพูดได้ว่า “เด็กกำลังจะปฏิวัติโลก”
ลองมองไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายของโลกสิครับ ผู้บริหารอายุน้อยลงทุกวัน ผู้ก่อตั้งเองก็อายุน้อย
พวกเขากำลังนำโลกในทุกสิ่งทุกอย่างให้มาอยู่ใน Platform ซึ่งมันเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี เขากำลัง Disrupt โลกเก่าที่เราคุ้นเคย เขาสามารถเก็บ Data ทุกอย่างได้ ใครที่ไม่ยอมรับการพัฒนาการของเทคโนโลยีต่อไปจะอยู่ในสังคมลำบากครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สมัยก่อนไม่มีครับ ผมชอบใช้คำว่าสมัยก่อนสังคมมีมิติเดียว แต่เดี๋ยวนี้ต้องมองหลายมุมหลายมิติไปพร้อมๆกัน
รวมทั้งสมัยนี้หลายๆ คนเป็นผู้นำความคิดของโลก ไม่ว่าจะเป็น Mark Zuckerberg แห่ง Facebook ไม่ว่าจะเป็น Elon Musk ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอเมซอนอย่าง Jeff Bezos หรือ Bill Gates จาก Microsoft พวกนี้เขาสามารถชี้นำความคิดของคนได้ ยิ่งกว่านายกหรือประธานาธิบดี สมัยนี้มันไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้ปกครองประเทศแล้วที่จะนำความคิดคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีตัวอย่างมาแล้วว่าคนรุ่นเก่าที่มองเห็นและยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้เอาไปใช้และได้ประโยชน์อย่างมหาศาล
แต่ยังมีคนรุ่นเก่าอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ ยังมองไม่เห็น แต่เด็กรู้แล้วว่าอนาคตเขาต้องการอะไร เขาเห็นอนาคตเขาแล้ว และเขาเห็นอุปสรรคแล้ว มันไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่มันเป็นโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ระบบเศรษฐกิจก็ต้องเป็นเสรี จะมาปิดเหมือนสมัยก่อนและอ้างเรื่องความมั่นคงไม่ได้ จีนเขามองเห็น จีนเขายังยึดถือระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์อยู่แต่เขาใช้ระบบเศรษฐกิจกึ่งเสรี เขาถึงได้เจริญมาก คนจีนถึงได้รวยมาก ยิ่งขยันทำมาหากินก็ยิ่งรวย เพราะว่าเขายอมรับในระบบเศรษฐกิจเสรีให้เป็นไปตามกลไกตลาด สิงคโปร์ก็เช่นเดียวกัน สิงคโปร์เขาบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยในแบบของเขา แต่ที่สำคัญคือมีระบบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งเขาให้โอกาสกับทุกคนได้ ทำให้ประชาชนเขาอยู่ดีกินดี ผมเชื่อว่าเด็กมองเห็นตรงนี้ แต่เขาอาจจะถ่ายทอดออกมาได้ไม่ชัด ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเห็นเป็นภาพเดียวกันได้
ผมเชื่อว่าในเวลาอันใกล้นี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ ถ้าคนต่างๆที่อยู่ในแต่ละ Generation หันหน้ามาคุยกันโลกคงน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ ส่วนใครที่ไม่ยอมปรับตัวก็จะอยู่ในสังคมนี้ต่อไปได้ลำบาก ผมเชื่ออย่างนั้นครับ ไม่มีอะไรที่จะอยู่ชั่วนิรันดร์ ทุกสิ่งทุกอย่างจะคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อะไรที่เราคาดไม่ถึง เหมือนอย่าง Covid-19 ที่ยู่ดีๆ ก็มาอย่างที่คาดไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท Expect the Unexpected!
SPECIAL THANK ........ นุติ เขมะโยธิน
บรรณาธิการ ................... ณภัทร ปัญกาญจน์
ตัดต่อ ............................ กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ถอดความ ...................... ปวิตรา ผลสุวรรณชัย
สัมภาษณ์ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564