ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ผศ.ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์: ชีวิตกับบทบาทในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทย

17
ตุลาคม
2564

‘ผศ.ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์’ เป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญกับวงการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2528 – 2535 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาวงการตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

 

ชีวิตวัยเด็กกับการโยกย้ายไปมา

ดร.มารวย เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2472 (ช่วงเวลา 3 ปี ก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่ตำบลห้วยสัก อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเป็นบุตรของนายมา และนางถนอม ผดุงสิทธิ์ ในช่วงวัยเด็กของ ดร.มารวย นั้นมีการโยกย้ายที่อยู่หลายครั้งตามบิดาซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ในกรมรถไฟ (การรถไฟแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น) โดยเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และได้มีการย้ายโรงเรียนตามบิดาอีกหลายครั้งจนกระทั่งได้เข้ามาศึกษาที่กรุงเทพมหานครภายหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

ในขณะกำลังเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ได้หยุดเรียน และเดินทางกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดอุตรดิตถ์จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ซึ่ง ดร.มารวย ได้เคยมีโอกาสบอกเล่าถึงเรื่องราวในช่วงหลังสงครามจบลงให้แก่ ‘คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล’ รวมถึงช่วงเวลาในวัยเด็กและความดีใจของคนไทยในเวลานั้นเรื่องสงครามสิ้นสุดลงและคุณูปการของเสรีไทยและ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ที่ขับเคลื่อนและดำเนินขบวนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ท่านมีความสนใจเรื่องราวของ 'นายปรีดี พนมยงค์' นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

การเริ่มต้นทำงานในรับราชการและนิสัยการเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน

ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ดร.มารวย เริ่มต้นทำงานในกรมรถไฟ ในเวลาต่อมาจึงได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่กรมชลประทาน และกรมบัญชีกลางตามลำดับ ซึ่งในขณะนั้นก็ได้สอบมีโอกาสสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และสมัครเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี 2504 และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักบัญชี สังกัดกองระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งในเวลานั้นได้กระทรวงการคัลงได้มีทุนการศึกษาให้ข้าราชการไทยไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ดร.มารวย ในเวลานั้นจึงได้สมัครสอบชิงทุนของกระทรวง และได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยซีราคิว (Syracuse University) มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาก็ได้กลับมาปฏิบัติงานต่อ ณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

ดร.มารวย เป็นผู้หนึ่งที่มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนและรักในการศึกษา เมื่อปฏิบัติงานอยู่ ณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อมีโอกาสก็จะเขียนบทความด้านวิชาการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความคิดเป็นประโยชน์ลงในวารสารวิชาต่างๆ เป็นจำนวนมาก เวลาที่ ดร.มารวย ต้องการหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการค้นคว้าก็จะได้เดินทางไปค้นคว้าข้อมูลประกอบที่ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่เสมอ

การไปค้นข้อมูลเพื่อนำมาเขียนบทความด้านวิชาการนั้นทำให้มีโอกาสได้พบกับอาจารย์ชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทราบว่าจะมีโครงการเตรียมจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อเปิดสอนด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาโท ซึ่ง ดร.มารวย ได้ให้ความสนใจ และได้สอบชิงทุนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านการบริหารธุรกิจ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี 2515 และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.มารวย เป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่เรียกว่าเป็น “ยุคเริ่มวางรากฐานและพัฒนา” โดยเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 5 (2528 - 2535) เวลานั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังตั้งอยู่ ณ อาคารสินธร ถนนวิทยุ

เมื่อเริ่มรับตำแหน่งในปี 2558 ดร.มารวย ได้อธิบายสถานการณ์ในเวลานั้นว่าเป็นช่วงที่ฐานะการเงินของประเทศกำลังประสบปัญหา ซึ่งในเวลานั้นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้จัดสัมมนาเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทย การสัมมนาในครั้งนั้นทุกคนค่อนข้างมองอนาคตของประเทศไทยไปในทิศทางที่ถดถอยหรือเศร้าหมอง ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในช่วงปี 2529 ประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 5 ครั้ง และรัฐบาลให้ความสนใจที่จะพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง ซึ่งนำมาสู่การปรับลดอัตราภาษีที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง และแก้ไขระเบียบการปริวรรตเงินตราเพื่อส่งเสริมผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2529 เพิ่มขึ้นเป็น 29,848.22 ล้านบาท และดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิด ณ สิ้นปีระดับ 207.20

ในแง่บรรยากาศการทำงานในช่วงเวลาที่ ดร.มารวย ทำงานเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นได้พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกับการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตน

“ปรัชญาการทำงานของผมกับพนักงานก็คือ เราจะทำงานกันเป็นทีม การตัดสินใจนั้นทุกคนมีส่วนร่วม โดยผมจะเป็นผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ และให้มีการกระจายความรับผิดชอบให้มากที่สุด”

นอกจากการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ดร.มารวย มีบทบาทสำคัญในงานพัฒนาเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งการซื้อขายที่ยุติธรรม โดยการพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ให้ระบบมีความยุติธรรม และมีประสิทธิภาพโดยนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2534 และเริ่มพัฒนาระบบการให้บริการหลังการซื้อขายให้มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มเปิดรับฝากหุ้นจากบริษัทสมาชิกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531

ภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ ดร.มารวย ในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์คือ การเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์และพัฒนาตราสารใหม่ๆ เช่น รณรงค์ให้กิจการต่างๆ เข้าใจและสนใจที่จะจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีส่วนร่วมกับหอการค้าจังหวัดและสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้รับหุ้นกู้แปลสภาพและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrants) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ

นอกจากงานพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยตรงแล้ว ดร.มารวย ยังมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในมุมอื่น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งสนับสนุนการระดมทุนระยะยาว เช่น การสนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในปี 2533 และสนับสนุนสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา

แม้การขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเวลานั้นหลายอย่างเมื่อมองย้อนไปจากเวลาในปัจจุบันนั้นอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในเวลานั้นต้องถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่พึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2517 ให้มีความมั่นคงและเป็นแหล่งสนับสนุนการระดมทุนในระยะยาวของประเทศอย่างมีคุณภาพ การบริหารตลาดหลักทรัพย์ในเวลานั้นยังเป็นความท้าทายค่อนข้างมาก และในเวลานั้นยังไม่มีองค์กรกำกับกิจการหลักทรัพย์แบบสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ ดร.มารวย ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นมีความคึกคักมากโดยเฉพาะในช่วงปี 2530 มีการเข้ามาเก็งกำไรมาก ทำให้เกิดการซื้อขายในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม และยังขาดมาตรการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการบริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลอดช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั้น ดร.มารวย ได้ผ่านสถานการณ์สำคัญหลายประการที่ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2528 เหตุการณ์  “Black Monday” ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดต่างประเทศยาวนานกว่า 2 เดือนโดยเริ่มต้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2530 เหตุการณ์ “Mini Black Monday” ที่เกิดจากตลาดต่างประเทศในวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และส่งผลต่อราคาหุ้นไทยวันทำการวันแรก (วันจันทร์) หลังจากวิกฤตการณ์คือ 16 ตุลาคม 2532 เหตุการณ์วิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย ในวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน ตลาดเงิน และตลาดหุ้นทั่วโลก บทบาทของ ดร.มารวย ในฐานะของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ในเวลานั้นมีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤตการณ์  อย่างไรก็ตาม ข้อคิดสำคัญที่ ดร.มารวย ให้ไว้ในการบริหารตลาดหลักทรัพย์ในช่วงวิกฤตก็คือ การประสบความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์เป็นผลงานจากการทำงานของคนทุกฝ่ายและการทำงานร่วมกันเป็นทีม มิใช่ผลงานของบุคคลหนึ่งบุคคลใด

“ตลาดหลักทรัพย์ของเราประสบความสำเร็จได้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายและการทำงานเป็นทีม มิใช่ทำงานด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผู้จัดการคนใหม่ก็จะทำงานในระบบตามแนวที่วางไว้ ผู้จัดการมาแล้วก็ไป แต่พนักงานประจำนั้นต้องอยู่ตลอดไป ขอให้ทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่า ตราบใดที่มีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน อุทิศกำลังกายกำลังใจในการทำงาน มองไกลไปข้างหน้าตลาดหลักทรัพย์ของเราก็พัฒนาตลอดไป”

บทบาทความสำคัญของ ดร.มารวย ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นมีความสำคัญอย่างมาก และเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ดร.มารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “ห้องสมุดมารวย” เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ดร.มารวย กับ ดร.ปรีดี

นอกจากงานด้านวิชาการและงานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ดร.มารวย ก็ให้ความสำคัญกับงานทางสังคมต่างๆ และงานด้านหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญก็คือ การเชิดชูเกียรติของ ‘ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์’ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทย โดยการรับอาสาเป็นประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ในช่วงปี 2554 – 2557 โดยท่านมีผลงานสำคัญในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานครบรอบชาตกาล 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ อีกทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ ดร.มารวย ได้ให้ความเคารพและได้รู้จักในวัยเด็ก ความกรุณาของ ดร.มารวย ต่อมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มีอยู่อย่างมาก แม้จะล่วงเลยในวัยชรา 90 ปีแล้ว แต่การได้สนับสนุนเรื่องราวของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก

บทบาทของ ‘ผศ.ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์’ในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อีกมากมายหลายด้าน และเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาสามัญคนอื่นๆ นั้นเมื่อจากโลกนี้ไปก็มีเพียงแต่คุณงามความดีเท่านั้นที่จะให้คนรุ่นถัดไปได้ระลึกถึง ซึ่ง ดร.มารวย นั้นก็เป็นต้นแบบหนึ่งของบุคคลที่มีคุณงามความดีให้บุคคลได้ระลึกถึง ทั้งในความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และความพยายามในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

อ้างอิงจาก

 

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 6 ปี ของ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ กับงานพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2535).
  • บุญลาภ ภูสุวรรณ, “การเดินทางแห่งชีวิต” ร้อยเรียงเรื่องเล่า 30 ปี (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) (บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2548).
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ‘รู้จัก ก.ล.ต.’ (ก.ล.ต.) https://www.sec.or.th/TH/Pages/AboutUs/TheFoundationoftheSEC.aspx สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2564.
  • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ‘บุคคลสำคัญของท้องถิ่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์’ http://webhost.m-culture.go.th/province/prachuapkhirikhan/PDF/770600.pdf
  • ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ‘เกี่ยวกับห้องสมุดมารวย’ (ห้องสมุดมารวย) https://www.maruey.com/about สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2564.