ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แลไปข้างหน้า : เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

19
พฤศจิกายน
2564

 

“ศรีบูรพา” เขียน แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ขณะถูกจำคุกเนื่องจากกบฏสันติภาพ ส่วน ภาคมัชฌิมวัย เขียนในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยเขียนลงในนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ แต่ตอนสองของภาคมัชฌิมวัย เขียนไว้เพียงสามบท

อย่างไรก็ตามจากชื่อ แลไปข้างหน้า และข้อความบางตอนในมัชฉิมวัย ก็พอจะเห็นว่า จุดมุ่งหมายในการเขียนเรื่อง แลไปข้างหน้า ดูเหมือนเป็นการกล่าวประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องค้างอยู่เพียงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในระหว่างสงคราม “ศรีบูรพา” แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์ในยุคเริ่มแรกของคณะราษฎรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับการปกครองอย่างไม่เป็นธรรม แต่เหตุการณ์ได้คลี่คลายไปในทางที่น่าสงสัยว่า ระบอบใหม่เป็นเพียงการเปลี่ยนชุดของผู้มีอำนาจมาเป็นชนชั้นกลางผสมชนชั้นสูงแต่ในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยังถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่คือพี่น้องชาวนาของเรานั้นมองไปข้างหน้าก็พบแต่ความทุกข์ยากอย่างเดียวกัน “เขาไม่อยากเหลียวกลับไปดูมันหรอก...เขาอยากรู้แต่ว่าข้างหน้า มันจะมีอะไรดีขึ้นบ้างสำหรับเขา เมื่อได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตขึ้นเช่นนี้แล้ว”[1]

ดังนั้นการหวังว่าประชาชนจะหันไปสู่ระบอบเดิมจึงเป็นเพียงความเพ้อฝันของคนบางกลุ่ม แม้ว่า “คนพวกหนึ่งอาจจะทำให้ประชาธิปไตยของเราล่มจมลง แต่ก็จะต้องมีอีกพวกหนึ่งมากู้มันขึ้นและทำให้กลไกของมันเดินคล่องขึ้นและดีขึ้นเป็นแน่”[2] ความหวังของประชาชนจึงมีแต่แลไปยังอนาคตข้างหน้าไม่ใช่ถอยไปข้างหลัง

“...เราหลุดออกมาจากหนองน้ำของพวกจระเข้ และเมื่อต้องเผชิญกับเสือ เราจะกลับถอยเข้าไปในปากจระเข้อีกหรือ มันเป็นไปไม่ได้...ทางเลือกของราษฎรมีอยู่แต่ทางเดียว คือเราจะต้องฝ่าฟันอันตรายในดงเสือ และค้นหาทางออกไปข้างหน้าเท่านั้น ถ้าพวกคนชั้นสูงเขาคิดว่าราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขามาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาได้ฝันไปอย่างสงสาร…”[3]

“แลไปข้างหน้า” จึงเปรียบเสมือนการหยุดทบทวนผลของการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมองเห็นปัจจุบันอันผิดพลาดจากความคาดหมาย แต่ก็ยังมีความหวังที่จะฟันฝ่าต่อไปโดยไม่ท้อแท้

หากพิจารณา แลไปข้างหน้า ทั้งสองตอน อาจกล่าวได้ว่า ภาคปฐมวัย มีเอกภาพและโดดเด่นในรูปแบบนวนิยายมากกว่าภาคมัชฌิมวัย ซึ่งนอกจากจะไม่จบสมบูรณ์แล้วหลายตอนยังดำเนินเรื่องคล้ายบทความที่กล่าวถึงความเป็นมาและเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนการดำเนินเรื่องและพฤติกรรมของตัวละครกลายเป็นส่วนด้อยไป

แลไปข้างหน้า แสดงให้เห็นพัฒนาการของนวนิยายเพื่อชีวิตอีกก้าวหนึ่งที่เสนอภาพของสังคมไทยโดยผ่านทางตัวละคร ฉาก และเหตุการณ์ต่างๆ อย่างแนบเนียนกลมกลืนใน ภาคปฐมวัย ซึ่งเป็นสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในด้านความเป็นอยู่โดยสร้าง จันทา โนนดินแดง เด็กชาวนาภาคอีสานที่มีโอกาสมาอยู่ในบ้านของชนชั้นขุนนางคนหนึ่งและได้เข้าเรียนในโรงเรียนระดับ “สูง” ที่ส่วนใหญ่มักมีนักเรียนเป็น “เจ้านาย”

“ศรีบูรพา” สร้างจันทาให้เป็นเด็กที่ได้รับการอบรมให้ยึดมั่นในคำนิยมดั้งเดิมว่าเขาเป็นเด็ก “บ้านนอก” ที่ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตน การที่เขามีโอกาสเช่นนี้ก็เพราะโชคและเขารู้สึกพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในสภาพบ่าวของ “ลูกท่านหลานเธอ” ประสบการณ์ของจันทาทำให้เขาเรียนรู้ขึ้นทีละน้อย ในบ้าน “ปราสาท” ที่เขาพำนักอยู่ เขาพบการแบ่งแยกผู้คนเป็นชั้น “เจ้านาย” กับบ่าว และยังจัดลำดับชั้นของพวกเจ้านายและบ่าวอีกด้วย

ส่วนที่โรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ จันทาได้พบเด็กจากระดับชนชั้นสูงที่สุดและต่ำที่สุดคือเขาเอง แม้เขาจะพบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในใจที่เห็นความอัปลักษณ์โสโครกในแบบแผนการครองชีวิตและสภาพแวดล้อมของชาวนาครผู้เจริญด้วยอารยธรรม แต่ค่านิยมที่ได้รับการสั่งสอนให้ “เจียมกะลาหัว” ก็ทำให้เขาเพียงแต่งุนงงสงสัย ประสบการณ์ที่โรงเรียนจากความเป็นประชาธิปไตยของครูบางคน และความมีเหตุมีผลของนิทัศน์เด็กชนชั้นกลาง ทำให้จันทาได้เรียนรู้ถึงคำว่า “สิทธิ” ความเป็นจริงของชีวิตเหล่านี้ชี้แนะจันทาว่า เมื่อปล่อยให้เด็กลงสู่สนามการแข่งขันโดยได้รับโอกาสเท่าเทียมกันแล้ว ปัญญาและความดีงามก็อาจปรากฏออกมาจากเด็กทุกคนโดยไม่จำกัดว่าเขาจะต้องมาจากที่ใด แต่โอกาสเหล่านั้นก็ไม่ได้เปิดไว้สำหรับเด็กทุกคน

หากนำภาพสะท้อนแนวคิดซึ่งได้จากเหตุการณ์และพฤติกรรมตัวละครใน แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย มาปะติดปะต่อกันแล้ว จะได้ภาพสังคมไทยในวงกว้างสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งยังคงมีความเหลื่อมล้ำของความเป็นอยู่ของคนในสังคม ค่านิยมที่เชื่อในพรหมลิขิต การกำหนดความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้ความประพฤติอย่างเดียวกันจะถูกตีความหมายไปคนละอย่าง เมื่อผู้ประพฤติต่างชั้นกัน “ประเพณีอันดีงาม” หลายประการที่ตรงกับวิทยาศาสตร์สังคมอธิบายว่า การที่คนจำพวกหนึ่งมีแต่พันธะหน้าที่โดยไม่มีสิทธิ์ ความคิดเห็นเหล่านี้เป็นการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ของจันทาเอง ทำให้ไม่เป็นการเสนอความคิดเห็นในทำนอง “ยัดเยียด”

แม้บ่อยครั้ง “ศรีบูรพา” จะละบทบาทการเล่าผ่านสายตาบุรุษที่ ๓ มาเป็นการแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนโดยตรง แต่ละตอนได้บรรยายพฤติกรรมธรรมดาด้วยหลักวิทยาศาสตร์สังคมอย่างถึงแก่น อย่างตอนที่จันทาเป็นเด็กวัดไปเที่ยวงานภูเขาทอง ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของอาหารและกลิ่นหอม เขาต้องหิวโหยเพราะไม่มีเงินและต้องกลับมากินข้าวคลุกน้ำปลาที่กุฏิพระ เด็กชายแตนลูกศิษย์วัดอีกคนหนึ่ง “หยิบ” ขาเป็ดมาจากงานภูเขาทอง โดยให้เหตุผลว่า

“ก็มันหิวนี่วะ...มึงไม่เห็นหรือของกินออกเยอะแยะจนลานตาไปหมดหมามันยังได้กิน ทำไมกูเป็นคนจะขอกินกันบ้างไม่ได้ พ่อแม่กูไม่มี”[4]

แต่เด็กวัดขโมยขาเป็ดเช่นแตนก็เผื่อแผ่ขาเป็ดข้างหนึ่งให้จันทา เหตุการณ์เพียงเล็กน้อยนี้สะท้อนให้เห็นความหิวโหยท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของเมืองหลวงที่ซึ่งเงินเท่านั้นเป็นตัวบันดาลชีวิต เหตุผลในการขโมยของแตนก็เป็นเหตุผลที่ไม่อาจประณามว่าเลวร้าย และด้วยความมีน้ำใจกับผู้หิวโหยด้วยกัน ภาพของเด็กวัดทั้งสองจึงเป็นภาพประทับใจอีกตอนหนึ่งที่เสริมให้ แลไปข้างหน้า มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

ใน ภาคมัชฌิมวัย “ศรีบูรพา” แสดงให้เห็นความหวังของคณะราษฎรที่มุ่งหมายแก้ไขความเดือดร้อนที่ราษฎรได้รับจากการปกครองของชนชั้นสูง โดยกล่าวถึงสาเหตุว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวเป็นกระแสจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ราชบัลลังก์หลายแห่งในยุโรปล่มสลาย รัสเซียเริ่มระบอบการปกครองโดยชนชั้นคนงาน จีนเริ่มการปกครองแบบรีพับลิก และกระแสดังกล่าวก็แผ่ซ่านเข้ามาในไทย

การไหวตัวในวงแคบๆ มีมาก่อนแล้วในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมีบทความกล่าวถึงสิทธิของราษฎรในการปกครองประเทศ หนังสือพิมพ์เป็นปากเสียงแทนคนยากจนมากยิ่งขึ้น วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทำให้คนที่ไม่เคยคิดไม่เคยบ่น เริ่มคิด และบังเกิดความสงสัยในสมรรถภาพของรัฐบาล “เจ้าขุนมูลนาย” แต่สภาพความเป็นไปของสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่ง “ศรีบูรพา” ไม่ได้กล่าวไว้ในตอนนี้ แต่เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนใน ภาคปฐมวัย คือสภาพของสังคมแวดวงการศึกษาในโรงเรียนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย เด็กจากชนชั้นต่างๆ เข้ามาเรียนด้วยกันแม้ว่าสภาพทางบ้านจะยังคงยึดถือค่านิยมแบ่งชั้นวรรณะ สภาพที่ขัดแย้งกันในโรงเรียนบ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษามีบทบาทสำคัญในการปูพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มมองเห็นความไม่เหมาะสมของการปกครองและค่านิยมแบบ “เจ้าขุนมูลนาย”

แม้ว่าภาพของความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ออกจะเป็นภาพที่เคลือบไปด้วยอุดมคติของ “ศรีบูรพา” อยู่บ้าง เช่นตอนที่เจ้าคุณอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนขอให้เซ้งลูกชาวจีน เด็กนักเรียนคนหนึ่งยกโทษให้อาจารย์ หรือการสารภาพของท่านขุน ครูของจันทาที่ลงโทษโดยการวินิจฉัยผิด หรือแม้แต่ความคิดของนิทัศน์ที่ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนางท่านก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ทั้งนั้น ท่านอาจารย์ ‘เจ้าคุณ’ เองแต่เดิมท่านก็ชื่อ ‘แป้ง’”[5]

แต่ในโรงเรียนที่ติดภาพของสงครามวอเตอร์ลู และบรรยายภาพว่า “เวลลิงตันชนะศึกวอเตอร์ลู” ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีอิทธิพลต่อเยาวชนรุ่นใหม่ทำให้เขาเหล่านั้นเชื่อมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและไม่เชื่อในสิ่งไร้เหตุผล

เมื่อจันทาและเพื่อนจบจากโรงเรียนพร้อมกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองพวกเขาจึงมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยุคสมัยของสามัญชนที่เริ่มขึ้นทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะเสียใจ แม้ว่าจันทาจะได้รับผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว เพราะผู้อุปการะของเขาเป็นขุนนางที่ถูกปลด แต่ในที่สุดเขาก็มองเห็นความคิดที่ถูกต้องซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนส่วนมาก ความผันแปรของการปกครองที่มุ่งไปสู่ทิศทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นภาพที่ “ศรีบูรพา” ค่อยๆ เผยทีละน้อยอย่างเป็นธรรม แม้ว่าครูอุทัย นิทัศน์ จันทา ต่างก็เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาก่อน แต่ในที่สุดก็เห็นว่าสะพานที่ทอดไปสู่ประชาธิปไตยได้ถูกรัฐบาลชักขึ้นเสียแล้วเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ด้วยการผูกขาดการปกครองไปอีก ๑๐ ปี หลังจากยังลังเลเมื่อศาลพิเศษสั่งประหารชีวิตผู้มีความเห็นขัดแย้งทางการเมืองไปแล้วถึง ๑๘ คน

อย่างไรก็ตาม “ศรีบูรพา” ก็ฉายให้เห็นความหวังในประชาธิปไตย ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงมติของรัฐบาลได้ด้วยมติมหาชน อย่างชัยชนะในการคัดค้านของนักหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกเรื่องการฟื้นฟูระบบบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลสมัยนั้น และความหวังของคนเช่นแตนซึ่งเปลี่ยนจากเด็กวัด “ขี้ขโมย” เป็นกรรมกรผู้ถือว่ากรรมกรทั้งหมดก็คือพี่น้องของเขา

“เราทั้งหมดเป็นครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเรา…”

“...เมื่อรวมกันเข้าแล้วก็จะเป็นกำลังอันสำคัญของประเทศและประชาธิปไตย...เพราะคนคนหนึ่งไม่มีความหมาย ในเวลาที่อยู่โดดเดี่ยวแต่ลำพัง แต่เมื่อเขานำกำลังของเขาเข้ารวมกับกำลังของคนอื่นๆ แล้ว ชีวิตของเขาก็มีความหมายขึ้นมาเพราะเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกำลังทั้งหมดที่แข็งแกร่ง…”[6]

กล่าวโดยสรุปแล้ว แลไปข้างหน้า เป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของนวนิยายเพื่อชีวิตซึ่งมีความละเมียดละไมด้านกลวิธีนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมการเมือง ฉากเริ่มต้นซึ่งเป็นความคิดคำนึงของครูวัย ๖๐ ปีคนหนึ่งรำพึงถึงความเปลี่ยนแปลงและความยิ่งใหญ่ของกาลเวลาซึ่งได้กวาดล้างระบบสังคม และสถาบัน ตลอดจนขนบประเพณีที่อวดอ้างว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้มามากต่อมาก ทำให้ได้เห็น

“ดวงหน้าบางดวงที่โผล่ออกมาจากกลุ่มเมฆ ในห้วงนภากาศได้เคลื่อนลงสู่พื้นดินและดวงหน้าจากพื้นที่ได้ลอยขึ้นไป คุณภาพบางอย่างได้คลี่คลายออกมาจากความเป็นธรรมดาสามัญและความต่ำต้อย”[7]

นับว่าเป็นการเปิดฉากนวนิยายที่ให้อารมณ์อันละเอียดอ่อนลึกซึ่งของชายชราผู้เป็นครูที่ยังคงมีความขัดแย้งอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ว่าควรจะเกาะอยู่กับสมัยของเขา หรือควรจะกางแขนออกโอบกอดสมัยที่กำลังเผชิญอยู่ และติดตามความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ไปพร้อมด้วยความหวังว่า ชีวิตที่ดีกว่า งามกว่า และเปล่งกว่าจะโผล่ออกจากอนาคตอันใกล้

แต่น่าเสียดายที่ “ศรีบูรพา” มิได้จบ แลไปข้างหน้า อย่างสมบูรณ์พอที่จะให้ผู้อ่านทราบว่าครูชราผู้นี้คือใครและรำพึงถึงใครในวันที่ฝนตกพรำและบรรยากาศที่ศาลเยือกเย็นเสียดแทงใจ กล่าวได้ว่า แลไปข้างหน้า โดยเฉพาะภาคปฐมวัย เป็นนวนิยายที่มีเนื้อหาทางการเมืองซึ่งมีวิธีสื่อสารกลมกลืนราบรื่นเข้าขั้นศิลปะ เป็นนวนิยายเพื่อชีวิตที่พัฒนามาสู่คุณภาพที่ดีระดับหนึ่งทั้งด้านเนื้อหาและกลวิธีนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องของ แลไปข้างหน้า  ก็ยังคงมี เช่นการสร้างจันทาเด็กชาวนาจากอีสานที่ติดอยู่กับค่านิยม “เจียมกะลาหัว” อย่างแน่นแฟ้น เมื่อเปรียบเทียบกับนิทัศน์ จันทาด้อยกว่าทางปัญญา และได้นิทัศน์เป็นผู้ชี้แนะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวัยเด็กก็ดูสมจริงที่เด็กชนบทจะ “เจียมตัว” แต่หลังจากจันทาเป็นเนติบัณฑิตพร้อมนิทัศน์ จันทาก็ยังคงมีลักษณะเช่นเดิม มิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และยิ่งได้พบปราง ก็ดูเหมือนจันทาบัณฑิตหนุ่มก็ไม่ผิดไปจาก “ไอ้จัน” เมื่อครั้งอาศัยบ้านเจ้าคุณอภิบาลราชธานี แม้บางครั้งจันทาจะมองสภาพที่พบเห็นอย่างเข้าใจถึงแก่นแท้ แต่ความเป็นคนช้าและอาจตั้งคำถามที่ไม่น่าถาม ทำให้บุคลิกของจันทากลายเป็นหุ่นไปบ้าง หรือบทสนทนาของเด็กมัธยมระหว่างจันทากับเซ้งตอนหนึ่งก็ดูจะเป็นคำพูดของผู้ใหญ่มากกว่าเด็กมัธยม

“...เธอโทมนัสไหมเมื่อถูกเหยียดหยามในฐานที่เธอเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน”

“ฉันไม่โทมนัสเลยเพราะว่า พวกพ้องของฉันเคยชินกับความยากจนมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เราเป็นมาเช่นนี้หลายชั่วคนแล้ว และใครๆ ก็ว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้…”[8]

แม้ “ศรีบูรพา” จะพยายามให้จันทาตอบอย่างผู้ที่ยึดมั่นในคำสั่งสอนเดิมว่าชีวิตเป็นเรื่องที่ฟ้าดินกำหนด มนุมย์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้อยคำสำนวนที่โต้ตอบกันนี้ก็ดูไม่เป็นธรรมชาตินักที่เด็กมัธยมจะพูดกัน หรือตอนที่แตนซึ่งกลายเป็นกรรมกรคนหนึ่งผู้สำนึกในความสำคัญของหน่วยเล็กๆ ว่าจะเป็นพลังสำคัญอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลง พูดกับจันทาว่า

“ชีวิตนี่ก็แปลก มันช่างเหนียวแน่นทนทานต่อทุกข์ทรมานเสียจริงๆ มันตายยากครับ ความทุกข์ทรมานบางอย่างเมื่อคนเราได้ยินและคิดว่าเขาไม่อาจที่จะเผชิญกับมันได้นั้น...เขาก็ทนมันได้มากและนานเกินกว่าที่เขาคาดหมาย ข้อสำคัญอย่าเสียใจ เมื่อเคยชินกับมัน เขาก็จะรับมันไว้เป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของเขา มันเป็นประโยชน์ในส่วนที่มันสร้างความอดทน และสะสมความจัดเจนในชีวิตให้แก่เรา แต่มันเป็นโทษในเมื่อมันเป็นส่วนที่แสดงความเลวร้ายของชีวิตและเรารับเอาไว้ด้วยความรู้สึกเฉยเมยและไม่ดิ้นรนที่จะปลดเปลื้องมันเสีย”[9]

แน่นอน กรรมกรเช่นแตนอาจกล่าวเนื้อความเช่นนี้ได้ เพราะการเรียนรู้จากชีวิตจริง เป็นบทเรียนที่มีคุณค่า แต่ด้วยถ้อยคำราวกับภาษาเขียนจึงออกจะเป็นเรื่องที่ไม่สมจริงนัก อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องเหล่านี้เป็นเพียงจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับความเด่นด้านการเสนอภาพสังคมด้วยการให้ฉากตัวละครและเหตุการณ์ที่กลมกลืนกัน และหลายตอน

“ศรีบูรพา” สามารถหยิบยกเหตุการณ์ธรรมดาที่สร้างความประทับใจมาบรรยายได้ดี ไม่ว่าจะเป็นความเอื้ออาทรของแม่ครัวผู้เป็นบ่าวต่อบ่าวด้วยกันในขณะที่ “เจ้านาย” ยอมให้บ่าวตายดีกว่าจะให้ผิดธรรมเนียมที่บ่าวใช้นายแพทย์ร่วมกับนาย หรือเรื่องราวของเซ้งลูกจีนผู้ยากไร้ ที่จิตใจเปี่ยมด้วยความรักแม้แต่ศัตรู ที่แม้ผู้ใหญ่ เช่น ท่านอาจารย์ “เจ้าคุณ” ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความกว้างขวางของจิตใจ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า แลไปข้างหน้า เป็นความพยายามที่จะบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ผ่านทัศนะของผู้รักประชาธิปไตยคนหนึ่งโดยใช้กลวิธีนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พร้อมกันนั้นก็เสนอโลกทัศน์ที่ไม่ท้อแท้และมีความหวังในท่ามกลางเมฆหมอกแห่งอุปสรรคบนเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นลักษณะที่สมบูรณ์ของนวนิยายเพื่อชีวิต

 

ที่มา: ตรีศิลป์ บุญขจร. แลไปข้างหน้า : เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน, ใน, คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก ๑๐๐ ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), ๒๕๔๘)

 

หมายเหตุ: 

  • งานเขียนชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ

[1]“ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์), แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย (พระนคร : ชมรมหนังสืออุดมธรรม.๒๕๑๘), หน้า ๖๗.

[2]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๔๕.

[3]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๔๖.

[4]แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (พระนคร : สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอิสานแห่งประเทศไทย.๒๕๑๗), หน้า ๑๔๗.

[5]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๔๗-๘

[6] .แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย, หน้า ๒๗๒.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๓๗.

[8]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๓๗.

[9]แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย, หน้า ๒๖๗.