ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

บ่ายวันสิ้นปี พ.ศ. 2488 หนังสือพิมพ์ มติราษฎร์ สัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์

19
ธันวาคม
2564

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 มิอาจปฏิเสธว่า นายปรีดี พนมยงค์ คือบุคคลที่ครองบทบาทโดดเด่นอย่างสูงในสังคมและการเมืองไทยห้วงยามนั้น สืบเนื่องจากเขาเป็นทั้งผู้นำขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ประเทศรอดพ้นการตกเป็นฝ่ายผู้แพ้สงคราม และยังสามารถเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้

จึงไม่แปลกที่หนังสือพิมพ์หลากหลายฉบับย่อมปรารถนาจะติดต่อเข้าพบปะนายปรีดีเพื่อขอสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง แล้วนำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกตน

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488  หนังสือพิมพ์ มติราษฎร์ เพิ่งจะก่อตัวขึ้นและตั้งใจจะออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 เจ้าของคือ นายเพ็ญ สิมะเสถียร (บิดาของพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) บรรณาธิการคือ นายอำพัน ทองวานิช คณะบรรณาธิการ ได้แก่ นายสุรีย์ ทองวานิช, น.ประภาสถิต, นายเกียรติศักดิ์ บุณยเสนา และ นายสวัสดิ์ ตัณฑสุทธิ์ ส่วนผู้พิมพ์โฆษณาและผู้จัดการคือ นายวุฒิ วงส์ประพันธ์  สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 110 ตรอกพระยานาวา สี่กั๊กเสาชิงช้า พระนคร

ด้วยความที่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ จึงทำให้ มติราษฎร์ มิได้ร่วมกับคณะหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆเข้าสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ภายหลังพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ทั้งยังได้รับประกาศพระบรมราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ซึ่งเขาได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้าพบปะซักถามข้อราชการบ้านเมืองที่ยังข้องใจค้างคาใจเมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม

อย่างไรก็ดี ในวันสิ้นปี พ.ศ. 2488 ตรงกับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม ผู้แทนหนังสือพิมพ์ มติราษฎร์ ได้ติดต่อขอเข้าพบสัมภาษณ์นายปรีดี เพื่อจะนำมารายงานผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เลยทีเดียว

ประเด็นหนึ่งที่ทาง มติราษฎร์ ให้ความสนใจและสอบถามคือ เรื่องฐานะการเงินของประเทศไทยนั้น จะต้องอิงกับมาตรฐานใดของระบบการเงินโลก ซึ่งได้รับคำตอบว่า

“ต่อไปเราอาจต้องเปนภาคีในสัญญาระหว่างสหประชาชาติซึ่งทำขึ้น ณ เบรตตันวูด ตามความเห็นของผม เราน่าจะอิงกับทองคำ  แต่จะอิงโดยอัตราเท่าใดนั้น ก็ต้องให้ผู้ชำนาญการคลังวินิจฉัย แต่ถึงแม้ว่าเราจะอิงกับทองคำ ทองคำนี้เปนมาตรฐานกลาง เราก็ควรต้องกำหนดความสะดวกในการแลกเปลี่ยนปอนด์สเตอร์ลิงและเหรียญดอลลาร์”

อีกทั้งในวาระดิถีกำลังจะขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2489 ท่ามกลางเสียงลือเล่าขานถึงปัญหาต่างๆนานาที่สร้างความกังวลในหมู่ราษฎร คณะหนังสือพิมพ์จึงต้องการให้นายปรีดีช่วยสื่อสารและปลอบขวัญประชาชน ดังคำถามทำนอง “หมู่นี้มีเสียงลือไม่เปนมงคลมากมาย ราษฎรส่วนมากอยู่ข้างจะหวั่นวิตกวิจารณ์กันไปต่างๆ ขอประทานคำปลอบขวัญให้แก่ราษฎรในวันขึ้นปีใหม่นี้บ้าง”

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกล่าว

“ก็ตามที่ได้เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ว่าทางที่เราจะแก้ไขฟื้นฟูฐานะการเงินนั้น ยังมีทางที่เราจะทำได้อีกหลายอย่าง ไม่ควรที่จะตระหนกตกใจ ขออย่าได้ถือเอาเสียงเหล่านั้นเปนสาระสำคัญอะไรเลย ราษฎรไทยเปนคนดี พวกที่ดิบๆสุกๆ พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่อิจฉาริษยา อย่างที่เคยได้บอกแก่หนังสือพิมพ์เมื่อคราวอินเตอร์วิวมาครั้งหนึ่งแล้ว ว่าเราต้องเลิกการอิจฉาริษยา”

ตอนท้ายการสัมภาษณ์ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้เอ่ยถาม “ท่านมีภาษิตอะไรที่จะให้ได้สักข้อหนึ่ง” ปรีดีก็สนองตอบ

“ภาษิตนั้นมีมาก แต่ที่ปรากฏในระหว่างที่ผมทำงานก็มีอยู่ไม่น้อย ถ้าคุณต้องการสักข้อหนึ่งเพื่อเปนเครื่องเตือนใจบ้างแล้ว ผมสมัคร์จะเตือนว่า อย่าทึกทักว่าความกรุณาเปนจุดอ่อนแอของผู้กรุณา ให้ทุกคนพึงแสวงในความสมานสามัคคีกัน เลิกการจองเวร เพราะการจองเวรทำให้เกิดการต่อสู้โดยไม่สิ้นสุด”

หนังสือพิมพ์ มติราษฎร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำวันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 หน้าแรกสุด วางกรอบซ้ายสุด โปรยพาดหัว “คำปลอบขวัญท่านปรีดีฯ ให้คลายวิตกและเว้นการจองเวร”

ครับ นั่นคือเรื่องราวหนึ่งของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่เริ่มปรากฏเป็นข่าวคราวตั้งแต่วันแรกสุดของปี ก่อนที่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี !

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.
  • มติราษฎร์. 1(1) (1 มกราคม 2489).