ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เหตุใดประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญกับภาคธุรกิจ? The role of businesses in a democracy

29
ธันวาคม
2564

ประชาธิปไตยกับภาคธุรกิจ

ไม่บ่อยครั้งนักที่คำว่า “ธุรกิจ” และ “ประชาธิปไตย” จะถูกนำมาใช้ร่วมกันในประโยคเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีความเชื่อมโยงที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองคำนี้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มักจะมีธุรกิจของภาคเอกชนที่ดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่ามักจะประสบปัญหาจากภาคเอกชนที่อ่อนแอและการผูกขาดจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จึงได้เกิดมีงานวิจัยที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและกำลังทำการศึกษาอยู่โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ที่ได้พิจารณาถึงความสัมพันธ์หว่างภาคธุรกิจและแนวคิดระบอบประชาธิปไตย โดยมีข้อสังเกตว่าในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า ระบอบประชาธิปไตยจะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีตัวอย่างจากทางประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน โดยตัวอย่างของประเทศจีนที่มักจะถูกนำมาอ้างอิงบ่อยครั้ง แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้ว จะพบว่ายังมีข้อสงสัยอยู่ว่าการเติบโตของประเทศจีนเช่นนี้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงการรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีผู้ใดจะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

ประชาธิปไตยนั้นสามารถปกป้องเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของพลเมืองอื่นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความโปร่งใส เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง และเกิดการอภิปรายอย่างเปิดเผย ทำให้ง่ายต่อการระบุนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม จึงเป็นที่มีของคำถามที่ว่า “แล้วภาคธุรกิจไทยสามารถช่วยพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศได้หรือไม่?” ซึ่งหลายท่านอาจมองว่าคำถามนี้ตอบได้ยาก แต่หากมองให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าภาคธุรกิจของไทยนั้นมีบทบาทในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเป็นอย่างมาก 

ดังนั้น บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์ร่วมกัน (Symbiotic relationship) ระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความสัมพันธ์นี้มีความลึกซึ้งมากกว่าการที่จะเข้าใจเพียงแค่ว่า ภาคธุรกิจเอกชนและระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันมากนัก

ความสำคัญของตลาด “เสรี”

เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น สิ่งสำคัญคือตลาดในประเทศต้องมีความ เป็น “เสรี” ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยจะต้องมีการสร้างความมั่นใจและมีการสร้างหลักประกันในสี่เสาหลักที่สำคัญเพื่อให้เกิดตลาดเสรีและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยเสาหลักสี่ประการนี้ประกอบด้วย (1) การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม (2) ระบบยุติธรรมที่เป็นกลาง (3) ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และ (4) เสรีภาพทางโอกาส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยระบบการเมืองที่เหมาะสมเท่านั้น คือ ระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีประชาธิปไตย เสาหลักสำคัญสี่ประการเหล่านี้ก็อาจอยู่ภายใต้อิทธิพลและถูกครอบงำจากภายนอกได้

เสาหลักที่ 1 การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

สืบเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันการแข่งขัน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยเองก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (Trade Competition Commission; TCC) ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าของไทย 

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ายังมีการตัดสินใจของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าบ่อยครั้งที่ส่งผลให้สาธารณชนเกิดความสงสัยว่าคณะกรรมการนี้สามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวอาจเป็นปัญหาในส่วนของการตีความหรือการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ในกรณีที่หากไม่มีกฎระเบียบเพื่อป้องกันการแข่งขัน การพัฒนาด้านนวัตกรรมก็จะไม่มีความก้าวหน้า ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงและราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในตลาดก็ควรที่จะต้องได้รับการปกป้องจากการสมรู้ร่วมคิดและควรที่จะต้องมีการประเมินบทบาทของรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เนื่องจากรัฐวิสาหกิจอาจบิดเบือนตลาดเสรีและเป็นธรรมจากการได้รับเอกสิทธิ์ในการผูกขาด การมีตลาดเสรีและยุติธรรมจะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางการแข่งขันและจะสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ต้องคิดค้นและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งบริษัทที่ไม่สามารถพัฒนาและแข่งขันได้ก็จะต้องออกไปจากตลาดและไม่ควรดำเนินกิจการต่อไปเนื่องจากจะกลายเป็นภาระให้แก่สังคมโดยรวม

ดังนั้น บทบาทที่สำคัญของรัฐบาลไทยคือ การทำให้แน่ใจว่ามีการแข่งขันกันอย่างแท้จริงเมื่อมีกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่มีความลำเอียงในการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาด เนื่องจากขนาดธุรกิจของธุรกิจเหล่านั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่แล้ว

เสาหลักที่ 2 ระบบยุติธรรมที่เป็นกลาง

หลักนิติธรรมเป็นหลักการที่บุคคล สถาบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องทำตามกฎหมายที่มีการประกาศใช้ต่อสาธารณะ มีการบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน มีการวินิจฉัยโดยอิสระ และมีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดเสรีและตลาดที่มีการแข่งขันที่ยุติธรรมก็จำเป็นที่จะต้องมีสิทธิ์ในทรัพย์สินและสัญญาที่จะสามารถปกป้องทุกอย่างได้ตั้งแต่ที่ดินไปจนถึงความคิดและข้อมูล 

นอกจากนี้ หลักนิติธรรมยังรวมถึง การที่ธุรกิจในตลาดจะต้องรักษาสัญญาในขณะที่รัฐวิสาหกิจจะต้องไม่อยู่เหนือกฎหมายเช่นกัน การไม่มีหลักนิติธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะทำให้การทุจริตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการสังเกตก็พบได้ว่า ประเทศที่รัฐบาลมีความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตยและสามารถถูกตรวจสอบได้มักจะมีระบบตุลาการที่เข้มแข็งกว่าและมีการทุจริตน้อยกว่ามาก ขณะที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีรัฐบาลที่ไม่มีความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตยและไม่สามารถตรวจสอบได้ การใช้หลักนิติธรรมดูเหมือนจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญเท่านั้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อมที่มั่นคงสำหรับภาคธุรกิจได้

สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนต้องการ แต่ธุรกิจเหล่านั้นต้องการให้ระบบยุติธรรมโดยรวมมีความเป็นกลางเพื่อสร้างความรู้สึกถึงความยุติธรรมและการได้รับการปกป้อง ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถเติบโตได้ ธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าผลประโยชน์ของตนจะได้รับการคุ้มครองและจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งหมด ดังที่มีการกล่าวกันว่า ความยุติธรรมจะต้องตาบอดหรือปราศจากอคติเพื่อที่จะสามารถปกป้องทุกคน

เสาหลักที่ 3 ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

การกำหนดราคาสินค้าและบริการจะต้องไม่มีการสมรู้ร่วมคิดกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้นเมื่อตลาดมีเสรีและมีความยุติธรรม ราคาจะต้องสะท้อนจุดตัดระหว่างต้นทุนที่แท้จริงของผู้ขายในขณะที่ผู้ซื้อก็มีความเต็มใจที่จะจ่าย อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของรัฐบาลเพื่อครอบงำระบบโซ่อุปทานสามารถก่อให้เกิดการบิดเบือนของกลไกตลาดและเกิดการสร้างข้อได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมแก่ธุรกิจหนึ่ง ๆ  ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในประเทศไทยมักถูกมองว่ามีความเคลือบแคลงสงสัย ทำให้ประชาชนที่เสียภาษีมักจะมีข้อสงสัยอยู่เสมอว่าการใช้เงินภาษีมีความคุ้มค้าหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่มีประเด็นเรื่องของความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน

เสาหลักที่ 4 เสรีภาพทางโอกาส

เสรีภาพในโอกาสจะไม่มีทางเกิดขึ้นหากระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยภาครัฐหรือชนชั้นสูงทางการเมือง ดังนั้น ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้องจะต้องถูกกำจัดให้หมดไปเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางโอกาสและการหางาน ซึ่งการเข้าถึงโอกาสไม่ควรเป็นเฉพาะสำหรับคนที่ใกล้ชิดกับคนรวยหรือคนมีอำนาจเท่านั้น ในตลาดที่เสรีและยุติธรรมจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ เพศ สถานะทางสังคม หรือภูมิหลังทางการศึกษา ซึ่งความสัมพันธ์ทางสังคม (“คุณรู้จักใคร”) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

รัฐบาลควรจะต้องจัดหาบริการสาธารณะที่จะรับประกันเสรีภาพทางโอกาส อาทิ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยที่อำนาจของตลาดเสรีและยุติธรรมนั้นมีความสมดุลด้วยอำนาจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะสามารถถูกตรวจสอบได้ถ้าหากมีระบอบประชาธิปไตยที่เติบโตก้าวหน้าเท่านั้น

หากสังคมไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการทำธุรกิจ และยิ่งในสภาวะโลกร้อนในตอนนี้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนก็จะทำได้ยากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศทั่วโลกที่มีการกระจายความมั่งคั่งมีความไม่เท่าเทียมกัน 

ท้ายที่สุดแล้ว ภาคธุรกิจสามารถทำอะไรได้บ้าง?

มีความจริงที่ทราบกันดีว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้นิยมในรัฐบาลเท่าไรนัก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนรัฐบาลจะต้องแลกมาด้วยการให้เสรีภาพแก่สื่อและให้โอกาสภาคเอกชนได้เติบโตอย่างเสรี

ภาคธุรกิจของไทยควรจะต้องเริ่มพิจารณาแล้วว่า นโยบายการบริจาคเงินทุนให้แก่พรรคการเมืองเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งจากการที่มีเงินทุนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและสร้างความประทับใจว่า ระบบการเมืองมีการเอื้ออำนวยให้แก่คนรวยและมีอำนาจ ในขณะที่เสียงของประชาชนทั่วไปกลับไม่มีผลอะไรเลย

แม้ว่าการสนับสนุนทางการเงินจะไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายก็ตาม และยังสามารถทำให้ฐานะของผู้บริจาคเหล่านั้นแข็งแกร่งในระยะสั้น แต่หากมองกันในระยะยาว อาจมีผลในทางลบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ดังนั้น ความโปร่งใสจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากและควรจะต้องมีการติดตามและตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทั้งหมดที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้เช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างไป ก็คือ ภาคธุรกิจไทยจำเป็นที่จะต้องสามารถแยกแยะให้ได้ระหว่างความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองกับวาระทางการเมือง

ความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง หมายถึง การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพื้นที่สาธารณะและชุมชนในลักษณะของการได้รับข้อมูล ความมุ่งมั่น และความสร้างสรรค์ โดยที่มุ่งเน้นไปที่การทำความดี และการมีส่วนรวม ขณะที่ วาระทางการเมือง จะหมายถึง หัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกจะให้ความสนใจ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

ดังนั้น แทนที่ภาคธุรกิจจะสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมหรือใช้จ่ายเงินให้แก่พรรคการเมืองหรือนโยบายทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจง ภาคธุรกิจไทยควรมุ่งเน้นไปที่กระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ รวมถึงการให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายเชิงรุกเกี่ยวกับนโยบายรัฐเหล่านั้นว่าควรเป็นอย่างไร

กรณีศึกษาหนึ่งที่ชัดเจน คือ การดำเนินงานร่วมกันของภาคธุรกิจซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการดำเนินการร่วมกันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากสมาคมการค้าต่างๆ ที่ได้มีการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม เช่นเดียวกันกับ หอการค้าไทยที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นหัวหอกในการต่อต้านการทุจริต  ดังนั้น สมาคมธุรกิจต่างๆ จึงอยู่ในสถานะที่สามารถที่จะสร้างความแตกต่างอย่างมากมาย สมาคมเหล่านี้เองก็สามารถตัดสินใจที่จะให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทางการเมืองได้อีกด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะมีสมาคมขนาดใหญ่แค่ไหนก็จะสามารถสร้างแรงผลักดันได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีตัวแบบที่มีความครอบคลุมมากกว่าโดยที่จะต้องสามารถไปยึดโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในประเทศไทยได้ทั้งหมด การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้มามีส่วนร่วมจะทำให้ประเทศเริ่มพิจารณาถึงความต้องการและความปรารถนาของทุกคนที่มีส่วนได้เสียกับประเทศ และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยง ความไว้วางใจ ความมั่นใจ และการริเริ่มที่สำคัญของประเทศต่อไป

สุดท้ายนี้ ถ้าหากต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าและรุ่งเรือง ภาคธุรกิจของไทยไม่ควรที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องพิจารณาวิธีดำเนินการหรือรูปแบบการดำเนินงานใหม่ๆ  เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับนโยบายของรัฐบาลอย่างโปร่งใสสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


หมายเหตุ: 

  • บทความนี้เผยแพร่ที่ สยามธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564
  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว