ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาระสุดท้าย…ศุขปรีดา พนมยงค์

29
ตุลาคม
2566

Focus

  • นายศุขปรีดา พนมยงค์ ได้รับการตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2553 โดยทำการรักษาครั้งแรกที่ ร.พ. มงกุฎวัฒนะ และต่อมาย้ายไปรักษาที่ ร.พ. ธรรมศาสตร์ฯ แม้ว่าการรักษาเป็นไปตามที่แทพย์กำหนด และอาการกลับมาดีขึ้นระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดได้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2553 เนื่องจากการติดเชื้อในปอดเข้ามาแทรกซ้อน
  • ร่างกายของนายศุขปรีดา พนมยงค์ ได้อุทิศให้แก่ ร.พ. ธรรมศาสตร์ฯ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ตามเจตนารมณ์ที่ท่านได้แสดงไว้พร้อมภรรยา คือ นางจีรวรรณ พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ. 2551 นับเป็นคุณความดีอันสูงค่า ประกอบผลแห่งกรรมดีอื่นๆ รวมถึงจากความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้มีพระคุณทั้งหลาย
  • ความรัก ความห่วงใย และความพยายามเอาใจใส่ดูแลบุคคลในครอบครัว รวมถึงเมื่อยามเจ็บป่วยดังกรณีนายศุขปรีดา พนมยงค์ ของนางจีรวรรณ พนมยงค์ บุตร และหลาน อย่างจริงใจ ก็ย่อมเป็นแบบอย่างให้กับสมาชิกในครอบครัวไทยทั้งมวลตลอดไป

 

ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกสุดท้ายถึงคุณศุขปรีดา แม้ว่าเธอจะไม่มีโอกาส อ่านหรือรับรู้ก็ตามที

17 ส.ค. 53 หลังทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งขั้นแรกที่ต่อมน้ำเหลืองจากคุณหมอ ร.พ. มงกุฎวัฒนะ จึงได้ย้ายมารับการรักษาที่ ร.พ. ธรรมศาสตร์ฯ ด้วยความช่วยเหลือของท่าน ผอ.รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล และ ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ ได้เข้ารักษาอยู่ที่หอผู้ป่วยพิเศษยูงทอง โดยมี รศ.พญ.นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ พร้อมคณะแพทย์และพยาบาลดูแล

ได้รับยาเคมีบำบัดครั้งที่ 1 วันที่ 8 ก.ย. มีอาการข้างเคียงเล็กน้อยได้กลับบ้าน แต่ต้องไปฉีดยาเพิ่มเกล็ดเลือดทุกวันที่สถานพยาบาลใกล้ๆ บ้านเป็นเวลา 5 วัน ดูสดชื่น ได้เริ่มทำงานเขียนหนังสือต่างๆ ที่บ้าน ระหว่างนี้ลูกสาว (เดือน) ได้พาครอบครัวจากอเมริกามาเยี่ยมและพักที่บ้าน จึงมีหลานตาสามคนมาช่วยดูแลและเล่นด้วยสามารถออกไปทานอาหารกับญาติพี่น้องนอกบ้านได้

ได้รับยาเคมีบำบัดครั้งที่ 2 วันที่ 30 ก.ย. เป็นปกติไม่มีอาการข้างเคียง ได้พักที่ ร.พ. 2 วัน

วันที่ 1 ต.ค. ลูกสาวพาครอบครัวมาลากลับอเมริกา เธอปลอบลูกไม่ให้ร้องไห้และบอกว่า “พ่อไม่เป็นอะไรหรอก” คิดว่าการรักษามาถูกทางแล้ว แต่แล้วในวันอังคารที่ 5 ต.ค. ได้ออกไปทำธุระนอกบ้านตั้งแต่เช้า ไปที่บริษัทเจริญสินกรุ๊ปที่ปากน้ำ, ไปสถาบันปรีดีฯ และ อื่นๆ กลับมาจนเย็น ดูอ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้เลย คืนนั้นมีอาการท้องเสียและไข้สูง ได้รีบพาส่ง ร.พ. เช้าตรู่วันที่ 6 ต.ค. ปรากฏว่ามีโรคแทรกซ้อน ติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรง และรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เกล็ดเลือดต่ำ ความดันต่ำ ฯลฯ คุณหมอห้ามเยี่ยม เวลาเข้าห้องต้องใช้เสื้อคลุม ใส่ถุงมือ เปลี่ยนรองเท้า อาการทรุดลงเรื่อยๆ

ในวันที่ 11 ต.ค. คุณหมอสั่งให้เข้า I.C.U. ระหว่างรอรถเปลมารับ เธอถามบ่อยๆ ว่า “มารับหรือยัง ไม่อยากไป I.C.U.” ได้ปลอบว่า ไป 2-3 วัน อะไรๆ ดีขึ้นก็จะกลับมาที่นี่อีก

ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว ราว 5 โมงเย็น รถเปลก็มารับรีบตรงไปห้อง I.C.U ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของตึกกิตติวัฒนา ฉันได้เซ็นหนังสือยินยอมให้ทำการรักษา ต้องรอข้างนอก คุณหมอให้ดูฟิล์ม X-RAY ติดเชื้อในปอด ครู่ใหญ่ นางพยาบาลบอกว่า เสร็จแล้วเข้าไปเยี่ยมได้

พอเห็นรู้สึกตกใจมาก ตัวชาไปหมด เกิดความกลัวที่สุดในชีวิต เครื่องช่วยชีวิตต่างๆ รอบหัวนอนเตียง มีสายระโยงระยาง กราฟวิ่งอยู่บนจอ อีกเครื่องหนึ่งมีเลขบอกความดัน ที่ปากมีท่อออกซิเจนคาอยู่ มือเธอก็ถูกพันผ้าไว้ พยายามเข้าไปใกล้แต่เขาฉีดยานอนหลับและยากระตุ้นหัวใจไว้ เธอไม่รู้สึกตัวเลย ได้แต่ขอโทษที่ช่วยอะไรเธอไม่ได้ รู้สึกร้อนรุ่มไม่สบายไปกับเธอด้วยเพราะเราตกลงกันไว้ว่า ถ้าเจ็บหนักก็ขอให้ไปอย่างสงบ ไม่ต้องมีเครื่องช่วยระโยงระยางอะไร แต่เพราะฉันไม่รู้ว่าเธอได้มาถึงขั้นวิกฤติเป็นการช่วยชีวิตแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่กับเธอตลอด รู้ว่าป่วยหนัก แต่คิดว่าคงทุเลาได้ จึงต้องให้เป็นไปตามคำสั่งหมอ ความปริวิตกต่างๆ ทำให้อยู่เฝ้าเธอตลอดคืนจนถึงตี 3 เธอก็ยังสงบเช่นเดิม รุ่งขึ้นได้ไปเยี่ยมอีก เธอพยักหน้ารับรู้ แขนขวาพยายามโบกปัดท่อออกซิเจน วันต่อๆ มาตลอด 18 วัน ก็มีแต่ทรงกับทรุด หลานปู่ “โดม” และแม่ของเขาได้มาสวดมนต์ข้างเตียงตอนเย็นๆ แทบทุกวัน ฉันไม่อาจดูเธอได้เพราะน่าสงสารเป็นที่สุด จนวันที่ 28 ต.ค. ลูกชาย (ดร.รุธิร์) ได้รีบเดินทางกลับจากเวียดนามมาเฝ้าไข้ดูแลพ่อ

เธอก็จากไปอย่างสงบ ด้วยโรค “ติดเชื้อในกระแสเลือด” เมื่อ 02.00 น. ของวันศุกร์ที่ 29 ต.ค. เราทำการรดน้ำที่ ร.พ. ธรรมศาสตร์ ขลิบผมใส่ผอบและนิมนต์พระนำผอบผมไปสวดพระอภิธรรมแทนร่างเธอเป็นเวลา 7 วันที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อนฝูงมิตรสหายมาเป็นเพื่อนสวด พระอภิธรรมเธอแน่นเต็มศาลาทักษินานุประดิษฐ์ทุกคืน บางคืนหลามลงไปที่สนามหญ้าข้างศาลา

 

ศุขปรีดา พนมยงค์

 

เธอคงพอใจที่บ้านสุดท้ายของเธอคือ ร.พ. ธรรมศาสตร์ฯ ตอนสายของวันที่ 29 ต.ค. นี้ ได้เคลื่อนร่างมายังห้อง “กายวิทยาทาน” อาจารย์ประภัสสร เลียวไพโรจน์ มาส่งยังหน้าประตูห้องพร้อมด้วยพี่สุดา ฉันและลูกๆ ให้เธอมาเป็น “อาจารย์ใหญ่” นักศึกษาแพทย์จะได้ศึกษาหาความรู้ ความชำนาญจากร่างที่เธออุทิศนี้ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยต่อไป

 

ประตูทางเข้าที่อยู่สุดท้ายของศุขปรีดา พนมยงค์
ประตูทางเข้าที่อยู่สุดท้ายของศุขปรีดา พนมยงค์

 

ทุกครั้งที่ฉันไปหาหมอที่ ร.พ. ธรรมศาสตร์ฯ ฉันจะนำดอกไม้ - พวงมาลัยไปกราบคารวะอนุสาวรีย์ย์คุณพ่อปรีดี และมายืนใต้ร่มเงาตึกตรงข้ามกับประตูห้อง “กายวิทยาทาน” ส่งใจไปเยี่ยมเธอ คิดถึง ขอให้เธอเป็น “อาจารย์ใหญ่” ไปก่อนนะ คนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข รู้ร้อนรู้หนาวกับเธอถึง 45 ปี จะตามไปอยู่เป็นเพื่อน อาจอยู่เตียงใดเตียงหนึ่งในห้องกายวิทยาทานนี้ เพราะเราได้อุทิศร่างเพื่อการศึกษาพร้อมกันในวันที่ 12 พ.ย. 2551

ลาก่อน ขอให้ผลแห่งกรรมดีที่เธอประพฤติปฏิบัติ ผลแห่งความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้มีพระคุณทั้งหลาย จงดลบันดาลให้วิญญาณของเธอสู่สุคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ.

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับศุขปรีดา พนมยงค์ :

 

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเพื่อนำมาเผยแพร่แล้ว
  • ปรับชื่อใหม่โดยกองบรรณาธิการ

 

ที่มา : จีรวรรณ พนมยงค์. จากใจจีรวรรณ พนมยงค์, ใน มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์. กรุงเทพฯ: บริษัทชนนิยม (2554), น. 51-54.