‘คุณภักดี ธนะปุระ’ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายงานระหว่างประเทศ สมาคมคลองไทย ผู้เชี่ยวชาญหนึ่งในคณะทำงานที่สนับสนุนแนวคิดให้มีการขุดคอคอดกระ หรือ คลองไทย แผนการก่อสร้างคลองขนาดใหญ่ซึ่งตัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยโครงการที่ถูกขนานนามมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัชสมัยแต่ก็ยังคงไม่สัมฤทธิ์ผลถึงปัจจุบัน
คุณภักดี เล่าถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ “การขุดคอคอดกระ” ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และที่เห็นถึงความเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2478 ที่ ‘ท่านปรีดี พนมยงค์’ ได้มีการนำเสนอในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่แล้วโครงการเป็นอันถูกล้มเลิกไป
นอกจากนั้น คุณภักดียังเล่าถึงความเป็นมาที่ตัวเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา นำเสนอแผนทำงานร่วมกับคณะรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยังเล่าถึงความเป็นไป และปัญหาต่างๆ ว่าเพราะเหตุใด “คอคอดกระ” จึงยังเป็นแค่โครงการที่กล่าวขาน ยังไม่สามารถเป็นจริงเสียที
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคลองไทย
ตามประวัติศาสตร์เขาว่าราว 300 ปี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มอซิเออร์ เดอ ลามาร์ (M. de la Mare) ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอให้ขุดทะเลสาบสงขลาเพื่อใช้ในการยกทัพ แต่เรื่องก็เงียบไป
และมาภายหลังสมัย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นอุปราช ท่านได้เสนอให้ขุดทะเลสาบสงขลาอีก เพราะการยกทัพไปตีพม่าทางบกเป็นทางที่ลำบากมาก ในฐานะนักการทหารถือว่าเป็นความคิดที่หลักแหลมมาก แต่ก็ไม่ได้ขุด เพราะท่านสวรรคตเสียก่อน
หลังจากนั้นก็มาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงมีดำริว่าจะขุด และให้ทางอังกฤษไปทำการศึกษา แต่เนื่องจากความยากลำบากจึงขุดไม่ได้ มีอันต้องเลิกล้มไป
จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) วิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้ที่วางแผนและกำกับการก่อสร้างคลองสุเอซ เป็นผู้เสนอให้ขุดอีกครั้ง แต่ท่านทรงไม่เห็นด้วย เพราะเนื่องจากอยู่ในสมัยที่มีการล่าอาณานิคม
หลังจากนั้นมีการเสนอให้ขุดคลองมาเรื่อย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จจนมาถึงสมัยที่ ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่านเสนอให้ใช้ทองสำรองของประเทศไทยในการลงทุนขุดคลอง ในเวลานั้นฝ่ายเจ้าเกิดการต่อต้านเป็นอย่างมาก เพราะกลัวการแบ่งแยกประเทศ และประกอบกับการที่ประเทศไทยเซ็นสัญญาสันติภาพกับประเทศอังกฤษ ซึ่งอังกฤษได้ระบุเลยว่า “ห้ามขุดคลองกระ” ส่วนเรื่องความกลัวของพวกอนุรักษนิยมในการแบ่งแยกดินแดน จะไปแบ่งอะไรตรงไหน คุณดูสิว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีเกาะอยู่ 7,000 เกาะ เขายังไม่กลัวการแบ่งแยกประเทศเลย
สิ่งที่ท่านปรีดีเคยคิด ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นนักกฎหมายแต่ในเรื่องเศรษฐศาสตร์ ท่านก็ศึกษามาไม่น้อย ท่านเสนอให้ขุดคลองเพื่อสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับประเทศชาติ ถ้าโครงการขุดคลองสำเร็จตั้งแต่สมัยท่านปรีดี ผมว่าป่านนี้ประเทศบ้านเมืองเราเจริญก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
ต่อมาในสมัย จอมพล ประภาส จารุเสถียร กับ จอมพล ถนอม กิตติขจร สหรัฐอเมริกาก็จะมาขุด โดยมีบริษัท Tippetts-Abbett-McCarthy-Stratton หรือ TAMS เข้ามาศึกษามากพอสมควร ต่อมาก็เกิดนักศึกษาเดินขบวน โครงการนี้ก็ตกไป
เริ่มเข้ามาสู่การพัฒนาคลองกระ หรือ คลองไทยได้อย่างไร
สมัยนั้นผมยังเรียนอยู่ที่ปารีส ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร จนมา 30-40 ปีให้หลังที่กลับมาอยู่ที่ประเทศไทยจึงเข้ามามีบทบาทและศึกษาต่อเนื่องเพื่อเสนอให้การขุดคลองสำเร็จลุล่วง
ผมและทีมงานเคยทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านแถบภาคใต้มากมาย พร้อมทั้งกับให้ความรู้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งข้อดี หรือข้อเสียของการขุดคลอง ซึ่งในเวลานั้น ชาวบ้านจำนวนมากเห็นด้วยกับโครงการขุดคลองนี้
จากผลสำรวจกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการขุดคลองกระ เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าอยากกรีดยางหรือปลูกปาล์มไปชั่วชีวิต เขาอยากเห็นสภาพแวดล้อมมีความเจริญก้าวหน้า เขาอยากเห็นครอบครัวของเขา ลูกหลานของเขาอยู่ในโลกแห่งโลกาภิวัตน์
ในเวลานั้น ญี่ปุ่นมีมูลนิธิ Global Infrastructure Fund หรือ GIF เสนอขุดคลองเหมือนกันเพราะว่าตอนนั้นมูลนิธิ GIF ใหญ่มากรวมนักอุตสาหกรรมทั่วญี่ปุ่น ทั้งโตชิบา นิปปอนสตีล เขารวมตัวตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อเสนอทั่วโลกให้นำเงินจำนวนหนึ่งจากการทหารมาทำโครงการและคลองกระก็เป็นโครงการหนึ่งของเขา
ผมรื้อฟื้นโครงการคลองกระขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสมัยกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ โดยมี พลตำรวจตรี อำรุง สกุลรัตนะ เป็นผู้ที่สนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างมาก มีการนำข้อมูลเข้าไปเสนอที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. แต่ไม่เวิร์คเลยเอาไปที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยกันทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
หลังจากนั้นสมัย รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ชาติชายก็สนับสนุนคลองกระ แต่หลังจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่เอาเลย เราก็ไม่ทราบว่าเจอปัญหาอะไร ที่ทำให้ท่านไม่เอา นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมออกจากโปรเจกต์นี้ แล้วหันไปทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงพิมพ์
การกลับมาอีกครั้งของโครงการขุดคลอง
หลังจากนั้น พอมาในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ท่านให้คนมาตามผมไปนั่งคุย บอกว่าให้มาช่วยเรื่องคลองกระกันอีกสักที ผมก็ตอบตกลง แล้วก็ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้แห่งชาติเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลอง มีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้น เป็นการทำงานระหว่างรัฐบาลกับสมาชิกวุฒิสภา ผมก็อยู่ฝ่ายรัฐบาลและเป็นกรรมการใน ส.ว. ด้วย
ตอนนั้นคิดว่าน่าจะทำได้แล้ว ท่านพลเอก ชวลิต ท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งคลองกระนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงจึงอยากให้ทหารทำ แต่ปัญหาในเวลานั้นเกิดความไม่เห็นด้วยอย่างมากกับฝั่งอนุรักษนิยม ซึ่งผมเองไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร
ในเวลานั้น โครงการนี้ทางฝั่งประเทศจีนให้ความสนใจมาก มีอยู่ปีหนึ่งผมเองก็จำไม่ได้ว่าปีไหน ผมต้องเดินทางไปประเทศจีนถึง 5 ครั้ง เพื่อไปบรรยายและจัดสัมมนาเรื่องคลองกระ ในแต่ละครั้งที่มีการเดินทางและจัดสัมมนา จะมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะเรื่องคลองกระ เป็นเรื่องที่ประเทศเขาสนใจเป็นอย่างมากจริงๆ
ความแตกต่างระหว่างคลองกระกับคลองไทย
คลองกระจะอยู่เส้นทาง 5A ที่ต้องผ่านระหว่างสงขลากับสตูล ในสมัยจอมพล ถนอม กับ จอมพล ประภาส อเมริกาเสนอให้ใช้ Peaceful Nuclear Explosions หรือ PNE ใช้ระเบิดไฮโดรเจนเล็กๆ ขุด ซึ่ง เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาของระเบิดไฮโดรเจนที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันแทนปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันในระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิม เขาบอกเลยว่า วิธีการนี้ไม่อันตราย การันตีเลยนะว่า ผมจะย้ายครอบครัวมาอยู่ที่คลองกระเลย และการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ไฮโดรเจนเล็กๆ ในการขุดจะช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์
โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Lawrence Livermore National Laboratory เขาจะไม่ใช้ไดนาไมท์แต่ใช้นิวเคลียร์ เขารับประกันและรับรองว่าจะไม่มีกัมมันตภาพรังสีตกค้าง ผมเคยคำนวณแล้วว่าแรงระเบิดจะทำให้ดินระเบิดกระจายขึ้นมาอยู่ 2 ข้างของคลอง ซึ่งมันดี แต่ตอนหลังคนกลัวเรื่องนิวเคลียร์มาก
คนทั่วไปมักกลัวนิวเคลียร์ แต่ตอนที่ผมอยู่ฝรั่งเศส ผมใช้นิวเคลียร์ทำไฟฟ้า 70 เปอร์เซ็นต์ มีเตาปฏิกรณ์ 50 เตา เรามัวแต่พูดถึงผลเสียแต่ไม่เคยมองถึงประโยชน์ ตอนอยู่ฝรั่งเศสผมเคยศึกษาเรื่องนิวเคลียร์ฟิวชั่น ตั้งแต่นั้นมาก็พูดเหมือนวิศวกรก็เลยมีความรู้ในเรื่องนี้บ้าง
ตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศสมา ผมเป็นสมาชิกของสมาคมนิวเคลียร์ฟิวชั่น และสมาคมนิวเคลียร์ฝรั่งเศส โดยสมาคมนิวเคลียร์ฟิวชั่น เป็นอเมริกันเพราะอเมริกันเขาจะเก่งระเบิดไฮโดรเจน ตอนนี้กำลังสงสัยว่า เราจะได้นิวเคลียร์ฟิวชั่นในอีก 20 ปี พลังงานฟิวชั่นนี่มาจากไฮโดรเจน มาจากน้ำทะเลแบบไม่มีข้อจำกัดสามารถใช้ได้ตลอดกาลถ้าเราทำได้ในอีก 20 ปี ข้างหน้า เราจะมีพลังงานใช้อย่างไม่จำกัด
ส่วนเมืองไทย เวลาพูดถึงนิวเคลียร์นี่ทุกคนกลัวหมดทั้งที่มันสะอาดและมีประโยชน์มาก ผมเคยอยู่อนุกรรมาธิการนิวเคลียร์ที่เมืองไทย สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอดีกำลังจะจัดสัมมนาฯ ก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน แล้วทหารไทยไม่รู้เรื่อง มีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้นที่พอจะรู้ และมีกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ก็พอจะมีคนรู้บ้าง แล้วก็มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย Electricity Generating Authority of Thailand หรือ EGAT ที่เคยเสนอพลังงานนิวเคลียร์ แต่เราก็เกิดต่อต้าน น่าเสียดาย เพราะไฮโดรเจน พลังงานยูเรเนียม 1 กิโลกรัม ให้พลังงานเท่ากับถ่านหิน 27,000 ตัน คิดดูว่าอันไหนมีมลพิษมากกว่ากัน ผมก็กลายเป็นคนที่มีความรู้เรื่องพลังงาน
สมัยที่มาทำสัมมนาฯ ที่กรุงเทพฯ ได้นำนักวิทยาศาสตร์มาด้วย ตอนนั้น สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สาเหตุที่เรามองว่าคลองกระดี เพราะจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่สั้นที่สุด ที่เชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย แล้วถ้าขุดคลองกระจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ประหยัดระยะทางได้ประมาณ 1,200 กิโลเมตร
แต่ตอนนี้ เรือมักจะไปใช้ช่องแคบซุนดา ลอมบอก ที่อินโดนีเซีย เขาจึงไม่อยากให้เราขุด เพราะถ้าเราขุด เรือน้ำมันก็ผ่านลอมบอกและทางมาเลเซีย สิงคโปร์ก็ไม่พอใจเพราะเป็นอาเซียนทางใต้ แต่ว่าคนที่จะได้ประโยชน์คือ เวียดนาม ไทย พม่า กัมพูชา และลาว อาเซียนทางเหนือจะได้ประโยชน์ แล้วก็สมัยนี้ประเทศจีนให้ความสนับสนุนเต็มที่ เพราะอยู่ในเส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นนโยบายของสีจิ้นผิง
ถ้าหากมีการขุดคลองกระเกิดขึ้น ในแง่ของความคุ้มค่าของประเทศ ประเทศเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง
“มหาศาล” ถ้าเราเป็นศูนย์กลางระหว่างมุมไบกับเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลากี่เที่ยว รถไฟความเร็วสูงเป็นการเชื่อมต่อที่ดีมาก ประเทศเราจะได้ผลประโยชน์มหาศาล
แผนการแรกที่จะขุดคลองไประนองของปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถทำได้เพราะอะไร ?
ที่จริงในทางเทคนิค ถ้าศึกษาเราก็ทำได้ แต่เราไปเซ็นสัญญากับอังกฤษ ว่าจะไม่ขุดคลองกระ
ปัญหาก่อนหน้านี้คือ เรามองว่า น้ำทะเลมันต่างกันเกินไปใช่ไหมครับ
เราไม่ทราบ คือ ถ้ามีการศึกษาเราก็ทำได้ บริษัทจีนเขาศึกษา GDP ของไทยกับ GDP ของสิงคโปร์ ศึกษาให้เห็นชัดเลย ที่จะสร้าง ที่เรียกว่า ศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนตอนใต้ พม่า เขมร ไทย และลาว
ลาวก็คือรถไฟความเร็วสูง ผมคิดว่าเมืองไทยหลังจากพวกนี้ ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลไทย ขณะนี้โง่แต่ขยัน ทำแต่ละอย่างก็ทำแต่สิ่งโง่ๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่ได้เพราะว่ามีถนนดิน อ้าว! แล้วทำไมลาวถึงสร้างได้ ตอนนี้ลาวเจริญกว่าไทย ที่จีนศึกษาว่า ถ้ามีคลองกระ GDP ของไทย จะสูงกว่าสิงคโปร์เพราะทำแบบจำลองออกมา อันนี้เราให้รายละเอียดว่า ผมเคยเขียนว่า เมืองไทยชอบใช้เกวียนไปล่าควาย เมืองไทยชอบจริงๆ อะไรที่มันทำไม่สำเร็จเอาไว้ก่อน ล่าควาย ล่าได้หรือเปล่า
ทั้งนี้ โครงการของจริงไม่ทำ ทำแต่ของเล่น ที่เขาเรียกว่า ชอบทำมิกกี้เมาส์โปรเจค โปรเจคเล็กๆ แล้วบอกว่ามันจะเจริญ แล้วคุณลองสังเกตสิว่าญี่ปุ่น เกิดสงครามเจอระเบิดนิวเคลียร์แล้วเจริญกว่าไทยเท่าไหร่ เกาหลีหลังเกิดสงครามเวียดนาม มาเลเซีย เวียดนาม เขาไปเกินหน้าประเทศไทยหมด
ผมเห็นประโยชน์ของคลองกระ คือ คลองกระ คลองไทย นี้ผมจะเปรียบท่านปรีดี เป็นช่างซ่อมนาฬิกา ท่านพยายามจะซ่อมนาฬิกาโดยที่นาฬิกาไม่หยุดเดิน นี่ผมมาเจอทีหลังประเทศไทยเป็นแบบนี้ สังคมไทยคือเราเหมือนช่างซ่อมนาฬิกา ทำอย่างไรที่เราจะซ่อมนาฬิกาโดยที่นาฬิกาไม่หยุดเดิน ถ้าคุณทำให้สังคมหยุดเดินมันก็พังพินาศ เราก็พ่ายแพ้ไปด้วยกัน แต่ช่างซ่อมนาฬิกาทางสังคมที่ดีคือ ซ่อมอย่างไรไม่ให้นาฬิกาหยุดเดิน
โครงการฯ นี้ก็เหมือนกัน เราก็ซ่อมเพราะมันจะมีเมืองต่างๆ รอบคลองกระ ถ้าเราวางแผนให้ดีมันเหมือนกับที่ผมคุยกับ ดร.สุรศักดิ์ นานานุกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ท่านเสียชีวิตไปเลย ท่านบอกว่าให้สร้างเมืองขึ้นมา ทำใหม่หมด กฎหมายก็ใหม่ ผังเมืองใหม่หมดทุกอย่าง ที่อยู่รอบคลองกระ ใช้ One Country, Two Systems เหมือนของจีน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ความรู้จากที่เราได้จากเมืองใหม่ หรืออะไร อีกหน่อยเราก็ใช้นำไปปฏิรูปประเทศ อาจจะไปใช้กับเชียงใหม่กับชลบุรี แต่จะเป็นการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและจะทำให้เมืองไทยเจริญอย่างมาก
คนจีนเขายังพูดเยาะเย้ยผมเวลาคุยกับเขา เขาบอกว่า เมืองจีน 30 เมืองใหญ่ ที่สร้างใหม่ เจริญกว่ากรุงเทพฯ ทุกเมือง แล้วเราทำอะไรกัน 30 ปี ที่ผ่านมา คลองกระนี่จะช่วยปฏิรูปประเทศไทย และระบบใหม่หมด เมื่อเราใช้ปฏิรูปประเทศไทย เราก็ใช้ไปยังเมืองต่างๆ เช่น โคราช เชียงใหม่
เมืองใหญ่ นี่เป็นความคิดของ ดร.สุรศักดิ์ นานานุกูล ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย นี่คือนักคิดแบบช่างซ่อมนาฬิกาที่เราซ่อมนาฬิกาแบบไม่ให้เวลามันหยุดเดิน นาฬิกามันต้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ดี ส่วนที่ผมพูดนี่ ไม่ใช่ความคิดของตัวเอง แต่เป็นความคิดของนักปราชญ์ชาวเยอรมัน ชื่อ ฟรีดริช ฟ็อน ชิลเลอร์ (Johann Christoph Friedrich von Schiller) เป็นกวี ก็เป็นสิ่งที่คิดว่า เมืองไทยควรจะเป็น แต่ที่ผมเห็นในปัจจุบันมันห่างไกลความคิดเพราะมีพวกหนึ่งที่ต้องการให้มันหยุดและมีอีกพวกหนึ่งที่ย่ำเท้าอยู่กับที่ พวกที่โง่แล้วอวดฉลาด
โครงสร้างของคลอง ความแตกต่างของแต่ละเส้นทาง 2A 5A 9A เป็นอย่างไร
คลองของเราลึก 24-26 เมตร เพราะฉะนั้นเราจะรับเรือที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ เรือ 300,000 ตันที่มีเยอะที่สุด เรารับได้โดยไม่ต้องกังวล สามารถบรรจุได้ 21 เมตรครึ่ง ความลึก 22 เมตร เราขุดลึก 26 เมตร
5A นี่อยู่ใต้เกินไป 9A พอดีๆ แต่ต้องขุดเส้นทางมากหน่อย ในแง่ความลึกก็จะมีความแตกต่างกันมากครับ เพราะปัจจุบัน ช่องแคบมะละกาลึกแค่ 21 เมตร ร่องน้ำมันลึก 21 เมตร เรือ 300,000 ตันบรรทุกได้ 22 เมตรครึ่ง แต่ถ้าผ่านช่องแคบมะละกาต้องเลย 21 เมตร
อย่างในปี 2532 ที่เขาเสนอ น่าสนใจมาก เพราะสมัยนั้น เมืองไทยเป็นศูนย์กลาง จีนกับอินเดีย ถ้าเรามีคลองกระ เราจะรับความเจริญในด้านการขนส่ง ระหว่างจีนกับอินเดีย สองมหาสมุทร
อดีตผู้จัดการใหญ่ของแบงก์แห่งหนึ่ง เคยพูดไว้ว่า คนไทยนี่เหมือนไก่ได้พลอย มีของดีอยู่ในตัวแล้วไม่รู้จักใช้ ไปพูดให้ฟังแล้วเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไก่ได้พลอย ไม่เห็นคุณค่า
ผมถึงบอกว่า Strategic Heritage of Thailand เป็นสมบัติทาง strategy เราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ มัวแต่แย้งๆ อยู่เรื่อย
อยากให้พูดถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการขุดคลอง
ถ้าย้อนกลับไปในสมัยท่านปรีดี ข้อมูล ณ เวลานั้นอยู่ที่ 18 ล้านบาท คุณคิดดูว่า 18 ล้านบาททำอะไรได้ตั้งมากมายขนาดไหน ที่สำคัญคือเป็นงบประมาณของชาติ ที่สำคัญคือไม่ต้องไปกู้ใครให้เสียดุลยภาพแห่งอำนาจ ไม่ต้องเสียเปรียบต่างชาติ นี่คือหลักเอกราชอธิปไตยที่ท่านปรีดียึด
แต่ ณ วันนี้ ประเมินกันมาอยู่ที่ล้านล้านบาท ถ้าถามถึงในเวลานี้ ผมคิดว่าการสรรหางบเป็นเรื่องรองไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะขณะนี้มีทุกประเทศให้การสนับสนุน อย่าง European Union หรือ EU ก็สนับสนุน สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุน จีนก็สนับสนุนเต็มที่แต่เราต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจ ก็ให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ ชวนเขามาลงทุน อันนี้ลงทุนได้เต็มที่ เราอาจจะชวนมหาเศรษฐีมาช่วยลงทุนอย่าง อีรอน มัสก์
อีกวิธีหนึ่งคือ คริปโต เคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ขณะนี้คริปโตมาแรงมาก เราอาจจะออกเหรียญ “คริปโตกระคาแนล” นี่เป็นไอเดียของผม ทำไมจะไม่มีคนซื้อ ซื้อหุ้นคลองกระ คริปโตหุ้นหนึ่งนี่ไม่มีอะไรรองรับเลย แต่คริปโตกระคาแนลมีโครงการที่ดีรองรับ ใครจะไม่ลงทุน เราสามารถหาทุนได้ อย่างสมมติว่าเราใช้ทุนในการขุดคลองกระ ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ไม่ใช้เงินก้อนใหญ่ทันที ขุด 10 ปี ปีละ 2,000 ล้านเหรียญ เท่ากับ 20,000 ล้าน เราไม่ต้องใช้เงินมากทีเดียว แต่ที่ดีที่สุดเราควรพิมพ์เงินคริปโตเงินบาท เราจะได้ไม่ต้องใช้เงินสำรองต่างประเทศมากเกินไป ให้เขามาร่วมลงทุน นี่เป็นความคิดใหม่ ที่เราควรออกคริปโต กระคาแนล และชวนนักลงทุนใหญ่ๆ อย่างอีรอน มัสก์มาลงทุน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมพูด เสนอแบบใหม่ โดยช่วยลงทุนไม่มาก
ในแง่เรื่องความมั่นคง คุณภักดีมีความคิดเห็นอย่างไร
เอาอย่างนี้ดีกว่า มีประเทศไหนบ้างถูกแบ่งแยกด้วยคลอง เกาหลีก็ไม่แบ่งแยก เวียดนามเหนือหรือใต้ก็ไม่แบ่งแยกด้วยคลอง หรือตัวอย่างเยอะแยะในยุโรปก็มี แล้วคลองนี่ตัดประเทศเยอรมนีทางเหนือตอนที่เขาแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็มายึดคลองไป เป็นคลองเยอรมันแต่ก็ไม่มีการแบ่งแยกดินแดนด้วยการขุดคลอง
อะไรที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่จะทำให้คลองไทยไม่เกิดขึ้น
ความเป็นอนุรักษนิยมของคนไทย ความที่ไม่เข้าใจ และอิกนอเรนท์เยอะมาก เมืองไทยมีด๊อกเตอร์เยอะเหลือเกิน แต่ถามว่าจะแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ไม่มีใครรู้ บางคนบอกว่าทำความสะอาดห้องน้ำให้นักท่องเที่ยว คิดดูสิเราจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวไม่ได้เลย ไม่มีทาง มีคนจัดสัมมนาบอกว่า มีนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยตั้ง 40 ล้านคน จาก Thailand 4.0 วางโปรเจ็คขึ้นมาเพื่อจะรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ไม่มีทางเป็นไปได้ คุณสร้างรถไฟฟ้ายังไงก็ไม่มีคนมาใช้ คือ 4.0 มันพังแล้ว หรือ CP ไม่มีเงินสร้างทางรถไฟ เราจะหวังพึ่งนักท่องเที่ยว 40 ล้านได้อย่างไร เวลานี้ไม่เหลือแล้ว จะเอาแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมันไม่ใช่แล้ว เราต้องทำโครงการอื่น นอกเหนือการท่องเที่ยว นอกเหนือเกษตรกรรม เกษตรกรรมก็ยังมีอยู่
“คลองกระ” เป็นอุตสาหกรรมโปรดักชั่น เมนูแฟคเจอริ่งเท่านั้น เขาแซงเราหมดทุกประเทศแล้ว ญี่ปุ่นแซงแล้ว เกาหลีแซงแล้ว ตอนนี้เวียดนามจะแซง เพราะเขาใช้เมนูแฟคเจอริ่ง การผลิต เขาได้รับผลกระทบทางโอมิครอนน้อยกว่าเรา นี่การท่องเที่ยวบอกมีนักท่องเที่ยว 40 ล้าน โอ้โห! เงินเยอะ ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว
ผมถึงบอกว่าโง่แต่ขยัน ท่องเที่ยว เมื่อไหร่มันจะฟื้น ท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว ฟื้นยากมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมี เมกะโปรเจ็ค ยกระดับประเทศไทย อย่าคิดเหมือนคนอื่น คุณจะคิดเรื่องท่องเที่ยวก็เรื่องของคุณ แต่เราต้องคิดเรื่องอื่นเพื่อยกระดับประเทศไทยให้ทันประเทศอื่น ไม่อย่างนั้นเราก็จะล้าหลังอยู่กับที่
ตอนนี้ลาวตั้งแต่มีรถไฟมานี่คึกคักมาก เราต้องส่งผลไม้ไปลาว ขึ้นรถไฟไปเมืองจีน ลาวมีถนนดินเยอะแยะแต่มีรถไฟความเร็วสูง อเมริกา และจีนก็มีถนนดินเยอะแยะแต่ก็สร้างรถไฟความเร็วสูงได้ แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าด๊อกเตอร์ในเมืองไทยกระทบไหล่กันเยอะแยะ ทำไมไม่มีการคิดในเรื่องที่มันควรจะเป็น ที่ยกระดับประเทศไทยออกจากวังวนของความยากจน เพราะผมเสนอได้เท่านี้แล้ว ที่เสนอครั้งล่าสุดคือ คริปโตเคอร์เรนซี ต้องเอามาใช้กับคลองกระ คุณไปหาทางกันเอาเองเพราะผมอายุมากแล้วตอนนี้ ไปนั่งคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
ปัจจุบันกับความเป็นไปได้เรื่องการขุดคลอง
วิธีที่ดีที่ผมเสนอคือใช้คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ต้องไปกู้มาก ไม่ต้องไปสนใจ World Bank หรือ IMF ไม่ต้องไปสนใจ ผมเจอมาเยอะแล้ว เขาไม่เอา พวก Bank เขาไม่อยากให้เมืองไทยเจริญ เรื่องนี้รัฐบาลต้องเอาด้วย สร้างเงินตราขึ้นมา กระคาแนลคอยส์ หรือ กระคอยส์ แล้วเงินมันไหลมาเอง เราไม่ต้องไปยุ่ง
ผมเคยคิดว่า เสนอให้จีน จีนเขาไปศึกษาแล้วพบว่า ใช้ได้ อันนี้น่าทำได้ แล้วขี้คร้าน ขณะนี้ที่ดอลลาร์มันพิมพ์เยอะ ว่อนไปทั่วโลก เขาก็มาลงทุน พวกมหาเศรษฐีใหญ่ๆ ในจีน ในอเมริกา ในยุโรป ยกตัวอย่าง ผู้จัดการธนาคารคนหนึ่ง เดินทางมากับคนเอเชีย พูดภาษาฝรั่งเศสก็มาคุยกับผม เขาเสนอเงินให้ 20,000 ล้านยูโร มาลงทุนกระคาแนล แต่เราก็เหมือนท่านปรีดี อย่าเอาอธิปไตยไปใส่มือคนอื่น จีนเราก็ไม่เอา อเมริกาเราก็ไม่ต้อง แต่เราสามารถบาลานซ์ พาวเวอร์พวกนี้ได้ทั้งหมด เราห้ามเรือรบผ่านคลองกระ ดังนั้นเราไม่ต้องกลัวอธิปไตยของไทย และเราไม่ให้เรือบรรทุกเครื่องบินในยามสงครามผ่าน โดยคุณเอาเงินมาลงทุน แล้วคุณจะให้เรือรบของคุณผ่านไม่ได้
ถ้าให้พูดถึงส่วนเสียมันก็คงต้องมี ที่เคยเป็นประเด็นกันในเรื่องของระบบนิเวศ แต่อย่างที่ผมบอก เรามักมัวแต่มองในส่วนที่ต้องเสีย แต่กลับไม่มองในเรื่องของประโยชน์และส่วนที่จะได้มา ระบบนิเวศเราก็ต้องสูญเสียบ้าง แต่เราก็จะได้ประโยชน์ ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ ซึ่งข้อสำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านได้ประโยชน์
สัมภาษณ์ ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
สถานที่ VINIFERA
- SPECIAL GUEST…………คุณภักดี ธนะปุระ
- สัมภาษณ์ .......................เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ ..................ณภัทร ปัญกาญจน์
- ถ่ายทำ ตัดต่อ ...............................กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- ถอดบทสัมภาษณ์ ……………………..รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- พิสูจน์อักษร ..................................ศิริพร รอดเลิศ
- ภักดี ธนะปุระ
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- M. de la Mare
- กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
- Ferdinand de Lesseps
- ปรีดี พนมยงค์
- รุธิร์ พนมยงค์
- ประภาส จารุเสถียร
- ถนอม กิตติขจร
- เปรม ติณสูลานนท์
- ชวลิต ยงใจยุทธ
- ชาติชาย ชุณหะวัณ
- ทักษิณ ชินวัตร
- Edward Teller
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- สมัคร สุนทรเวช
- Johann Christoph Friedrich von Schiller
- สุรศักดิ์ นานานุกูล
- รัชกาลที่ 4
- รัชการที่ 5
- รัชกาลที่ 6