ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

เสวนา “หลากชีวิต หลากบทบาท” ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

19
มกราคม
2565

 

เคท ครั้งพิบูลย์: หลังจากปาฐกถาของพระปัญญานันทมุนี เราจะได้เห็นว่าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นั้น เป็นยอดหญิงที่ยิ่งใหญ่ ยึดหลักในการให้อภัยอย่างจริงใจ โดยเฉพาะการประพฤติธรรมที่สมควรแก่ธรรมซึ่งท่านผู้หญิงได้พิสูจน์ให้เราเห็น แล้วนะคะว่า ตลอด 95 ปี ในการใช้ชีวิต แม้จะต้องเเผชิญกับคลื่นชีวิตที่มากมาย แต่คลื่นธรรมที่ใช้ในการปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงสิ่งที่ท่านอยากจะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า การให้อภัยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการสะท้อนวิธีคิดในหัวข้อที่เราได้ร่วมพูดคุยกัน ว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมเป็นสุข สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ย่อมทำให้เราเห็นถึงแนวทางปฏิบัติของท่านผู้หญิงเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของการกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี บูชาบุคคลที่ควรบูชา และอายุที่ยืดยาวของเราทุกคนคือการยึดถืออายุแห่งอิทธิบาท 4 ซึ่งในวันนี้ ในหัวข้อของเราที่จะร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันคือ หลากชีวิต หลากบทบาท ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

เคท ครั้งพิบูลย์: ขออนุญาตถามคำถามแรกจากครูดุษนะคะ จากเพลงช่วงแรกที่เรารับฟังกันตั้งแต่เปิดงานในวันนี้ ได้แก่เพลงแม่จ๋า เพลงบุพเพสันนิวาส และเพลงแม่จ๋า ซึ่งในวันนี้เราได้รับเกียรติและมีโอกาสได้พบกับ ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร  ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์เพลงในที่นี้ด้วยนะคะ ต้องขอสวัสดีท่านด้วยนะคะ ขอเสียงปรบมือให้ท่านด้วยนะคะ 

อยากถามคุณดุษฎี พนมยงค์ ถึงความหมายในเพลงที่เลือกมาคือ แม่จ๋า บุพเพสันนิว่า และคนดีมีค่า มีความหมายของเพลงที่นำมาร้องอย่างไรบ้างคะ 

 

 

ดุษฎี พนมยงค์: นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ เพลงที่เลือกมานี่นะคะ เป็นเพลงที่เขียนถึงคุณแม่คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข โดยตรง เพลงแรกก็คือ แม่จ๋า นั่นก็คือตัวตนของท่านผู้หญิงพูนศุข เพลงที่สองก็คือ บุพเพสันนิวาส คือ พูนศุขกับปรีดี มาเจอกันแล้วก็ได้แต่งงาน และได้ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เพลงสุดท้าย คือ เพลงคนดีมีค่า เพลงนี้มีความหมาย ไม่ใช่แค่กับคุณแม่ แต่มีความหมายกับคนทุกคน 

ทั้ง เพลงแม่จ๋า และ เพลงคนดีมีค่า นั้น ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ก็ไม่ได้เอ่ยถึงใครทั้งนั้นเพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นแม่ที่มีคุณสมบัติ  เป็นแม่ที่ประพฤติธรรม เช่นในเนื้อร้อง คนนั้นก็คือ แม่จ๋าของเรา ส่วนใครที่เป็นคนดีไม่ต้องเอ่ยชื่อ แต่เขาประพฤติดีอย่างในบทร้องของเพลงคนดีมีค่า เขาก็เป็นคนดี คือเราสามารถที่จะใช้ได้ในทุกๆ โอกาสนะคะ 

เคท ครั้งพิบูลย์: สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นจากความหมายที่ครูดุษ ได้เล่าให้เราฟังนะคะ ว่าทั้งความเป็นแม่ ทั้งห้วงเวลาที่พ่อแม่ได้เจอกัน ทั้งเพลงบุพเพสันนิวาส และเพลงคนดีมีค่า นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้ระบุเฉพาะถึงใครคนใดคนหนึ่ง แต่ความดีนั้นๆ ทุกคนสามารถประพฤติได้เอง และสามารถที่จะให้ความหมายตามที่ได้กล่าวมา อย่างข้างต้นด้วยนะคะ 

 

 

ทำให้หนูนึกถึงเรื่องนึงก่อนที่จะมางานในวันนี้ ว่าก่อนที่จะตัดชุดนี้มาในงานได้มีโอกาสถามกับท่านอาจารย์ ท่านนึงที่ศึกษาประวัตินะคะ ในปี 2475 ถามว่า เสื้อที่ท่านผู้หญิงพูนศุข ใส่สีอะไร อาจารย์ท่านนั้นตอบเคทมานะคะว่า ท่านผู้หญิงเป็นคนที่ใจกว้าง ท่านไม่ได้เลือกหรอกว่า สีเสื้อที่ท่านใส่นั้นเป็นสีอะไร ท่านใจกว้างให้เราได้เลือกสี สามารถที่จะอยากจะใส่เสื้อในแบบที่เราอยากจะใส่เอง ตรงนี้ทำให้นึกถึงคำตอบของครูดุษ พูดถึงเพลงคนดีมีค่า ที่เปิดกว้างและให้ทุกคนมีความประพฤติดีและประพฤติชอบ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของเพลง และใช้ความหมายจากเพลงได้นะคะ

เคท ครั้งพิบูลย์: คำถามที่ 2 ค่ะครูดุษ อยากจะให้ครูดุษ ช่วยเล่าย้อนไปถึงนะคะว่าทำไม อ.ปรีดีถึงมาสู่ขอท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นภรรยาคะ

ดุษฎี พนมยงค์: : นายปรีดีซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าคุณพ่อนะคะ เป็นญาติห่างๆ ของคุณแม่ แล้วมาเรียนหนังสือก็มาเรียนที่กรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งก็อยู่วัด แล้วก็มาอยู่บ้านของคุณตาคือพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ไปเรียนต่างประเทศจบกลับมาอายุ 27 มาอยู่ที่บ้าน เพราะว่าเป็นคนจังหวัดอยุธยา แล้วก็ไม่มีบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเท่าที่คุณแม่เล่าให้ฟังนะคะ เป็นนิยายรักโรแมนติกที่น่ารักก็คือ คุณตาคุณยาย มีลูก 12 คน ทีนี้คุณพ่อก็สังเกตว่าลูกสาวคนหนึ่ง ชอบป้วนเปี้ยนอยู่กับผู้ใหญ่ เวลาผู้ใหญ่คุยกัน ลูกสาวคนนี้ชอบมานั่งอยู่ด้วยใกล้ๆ เหมือนเป็นเด็กสาวที่แสวงหาความรู้ คุณพ่อก็รู้สึกถูกใจแล้วเด็กคนนี้ เด็กสาวคนนี้ก็คงผิดกับเด็กสาวทั่วไป ที่สนใจเรื่องที่อยู่รอบตัว คุณพ่อก็ชอบ

คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่า ปู่ของคุณดุษฎี พนมยงค์ ชื่อนายเสียง พนมยงค์ ฐานะไม่เหมือนคุณตา คุณแม่ในสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า คุณหนูนะคะ ส่วนคุณพ่อนี่ก็คือคนธรรมดา ทีนี้ ตอนที่คุณพ่อไปบอกคุณปู่ว่า ให้ไปสู่ขอลูกพระยานี้ คุณพ่อบอกว่า คุณพ่อเอง ก็ใจประหวั่นเหมือนกัน เกรงว่าจะมีปัญหาแต่ในที่สุดก็ผ่านไปด้วยดี และแต่งงานกันวันที่ 16 พฤศจิกายน แล้วก็อยู่กันเรื่อยมาจนตายจากกันนะคะ 

เคท ครั้งพิบูลย์: การได้เลือกคู่ชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะคะ จากคำตอบที่ครูดุษ เล่าให้ฟัง นอกจากความเป็นคุณหนูของท่านผู้หญิงพูนศุข ที่จริงต้องบอกว่า ท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นคนที่มีของนะคะ เพราะว่าท่านจบการศึกษา ในระดับปริญญาเอกในยุคนั้น ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในทางด้านกฎหมาย มากๆ จึงทำให้ท่านทั้งสองได้รู้จักกันแล้วก็นำไปสู่ในเรื่องของการเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตไปด้วยกัน

มีช่วงหนึ่ง ถ้าหากใครได้ฟังติดตามบทสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นของท่านผู้หญิงเอง รวมไปถึงคุณดุษฎี พนมยงค์ นะคะจะมี เหตุการณ์ที่น่าสนใจอยู่ช่วงนึงนะคะ ในช่วงปี 2495 ที่ท่านผู้หญิงถูกจับไปแล้วยังต้องไปอยู่ที่กักกันของสันติบาล อยากให้ครูดุษเล่าความทรงจำตรงนั้นให้พวกเราฟังค่ะ

ดุษฎี พนมยงค์: คุณแม่ถูกจับด้วยข้อหาขบถสันติภาพ คือ คนที่ต้องการสันติภาพ กลับกลายเป็นว่าคิดร้ายต่อแผ่นดิน ก็เหมือนกับสมัยนี้ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ คุณแม่ถูกจับในงานหมั้นของคุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ กับ คุณเครือพันธ์ ปทุมรส ลูกสาวของคุณเฉลียว ปทุมรส คุณแม่ถูกจับที่บ้านนั้น แล้วตำรวจจะเอาตัวไปสันติบาล คุณแม่ก็บอกว่า ไม่ได้ต้องแวะรับลูกสาวสองคน ตอนนั้นดิฉันก็อายุ 12 ขวบ ก็ไปด้วย ก็เลยได้ไปอยู่ที่สันติบาล ซึ่งเขาเปลี่ยนห้องทำงานเป็นห้องขัง ก็ใส่ลูกกรงที่หน้าต่าง แล้วที่ประตูออกไปไหนไม่ได้ 

เดิมทีคุณแม่ก็มีชีวิตที่มีความสบายพอดีอยู่ ทีนี้พอเข้าไปอยู่อย่างนั้น ก่อนอื่นเรื่องการกินอยู่ก่อนคือนอนพื้นเป็นพื้นไม้ แล้วก็ปูเสื่อผืนนึง  แล้วก็กางมุ้งแล้วก็นอนซึ่งแล้วก็กางมุ้งแล้วก็นอนคิดว่าคุณแม่คงไม่เคยชิน มันต้องอดทน 

สองคือไม่ได้เจอใครเลย ถ้าญาติมาเยี่ยมนี่ได้เจอแต่ชั้นล่าง มีลูกกรงกั้นไว้ ญาติมาก็ไม่สามารถที่จะเจอหน้ากันได้ แน่นอนว่าเราเป็นเด็ก เรานอนเฉพาะวันเสาร์ แล้วก็กลับไปอยู่โรงเรียนประจำ เขาก็จะตรวจที่ตัวว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ครั้งหนึ่งคุณแม่เคยเขียนจดหมายถึงเป็นกรอวยพรวันเกิด แล้วก็อยู่ที่ตัวครูแล้วเจ้าหน้าที่ก็เอาไป คือชีวิตที่คุณแม่ต้องอยู่ในห้องขัง มันไม่ใช่คุกนะคะ ของสันติบาล 84 วัน สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ได้ออกมา 

เคท ครั้งพิบูลย์: ช่วงเวลาที่ท่านผู้หญิงพูนศุขไปหา อ.ปรีดี แล้วก็พาลูกๆ ไปด้วย เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องขังทั้งครูดุษและคุณวาณีที่ห้องพักในโรงแรม อยากให้ครูดุษเล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังค่ะ 

ดุษฎี พนมยงค์: คุณแม่ก็พาเราสองคน คือ ดุษฎี กับวาณี อายุ 12 กับ 14 เดินทางเพื่อจะไปพบคุณพ่อที่ประเทศจีน ต้องเดินทางผ่านหลายประเทศมาก จากปารีส ฝรั่งเศส ก็ไปสต็อคโฮม จากสต็อคโฮมสต็อคโฮมไปฟินแลนด์ เฮลซิงกิ จากเฮลซิงกิ ไปเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก สมัยนั้นเรียกเลนินกราด มอสโคว์ จากมอสโคว์ แล้วก็มาทรานส์ไซบีเรีย แล้วก็มาถึงปักกิ่ง แล้วจุดหมายแรกที่มาถึงเพื่อจจะไปติดต่อกับตัวแทนฝ่ายจีนที่สต็อคโฮม คุณแม่ก็ต้องออกไปคนเดียว อยู่โรงแรมก็ต้องออกไปคนเดียว โดยที่ภาษาก็ไม่รู้นะคะ คนสวีดิชก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษ เรียกแท็กซี่ไป แต่ก่อน จะไปคุณแม่ก็เป็นห่วง ลูกเล็กๆ สองคน จะอยู่อย่างไร ก็เลยล็อคกุญแจ เราสองคนว่า แล้วก็บอก แม่ไปไม่นานนะ เดี๋ยวก็มา แต่ปรากฏว่ากลับมาเกือบบ่ายโมง จำได้ว่า เราก็หิว 

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ถนนลื่นแล้วก็หกล้ม คุยกับใครก็พูดไม่รู้เรื่อง กับแท็กซี่ กว่าจะไปถึงเป้าหมายเนี่ย ก็ใช้เวลาพอสมควร แล้วคุณแม่ก็บอกว่า ถ้าเกิดไฟไหม้ โรงแรม เราสองคนก็ต้องถูกไฟครอกตาย  แต่ไม่รู้จะทำยังไงถ้าไม่ปิดประตูเดี๋ยว ก็มีคนมาลักพาตัว ในเวลานั้นเป็นความรู้สึกที่กลัวกันมาก ทั้งสองพี่น้อง

 

 

เคท ครั้งพิบูลย์: คำถามสุดท้ายที่อยากเรียนถามคุณดุษฎี พนมยงค์ ก็คือ ทุกอย่างที่ท่านผู้หญิงเป็น เห็นว่ามีครูใหญ่อยู่สองคน คนแรกก็คือ พระยาชัยวิชิตฯ ผู้ซึ่งเป็นพ่อของท่านผู้หญิงฯ และครูท่านที่สองคือ อาจารย์ปรีดี ผู้เป็นสามี อยากให้คุณดุษฎี พนมยงค์  ขยายความเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าท่านผู้หญิงเข้าใจเรื่องความเป็นครู ของทั้งผู้เป็นพ่อและเป็นสามีอย่างไรบ้างคะ

ดุษฎี พนมยงค์: จริงๆ ท่านว่ามีครูอยู่ 3 คน คือคุณตา คุณยาย ซึ่งคุณยายก็เป็นคนดูแลทุกอย่างในบ้าน คนสุดท้ายคือ คุณพ่อ 

คุณตาคุณยายอบรมสั่งสอนให้ลูกทุกคน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ก็มีเรื่องเล่าที่เขียนหนังสือลงหนังสือแล้วที่ว่า พาเดินจากถนนสีลม สมัยนี้เขาเรียกว่า ซอยสุสาน ผ่านสุสานคาทอลิก สุสานซาเวียร์ สุสานกวางตุ้ง และสุสานจีน ไปออกถนนสาทร ซึ่งสมัยนั้น คิดสิว่าร้อยกว่าปีก่อน ถนนนี้ค่อนข้างมืดและสองข้างทางเป็นป่าช้า ลูกก็สิบกว่าคน เดินกันเป็นแถวคุณตาก็เดินนำ คุณแม่ก็สมัครใจที่จะรั้งท้าย ซึ่งน่ากลัวมาก สมัยนั้นคุณตาก็จะสอนลูกๆ ทุกคนเลยว่า ต้องเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ เราอย่าเพิ่งเชื่อ ที่จริงมันก็ตรงกับหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า แล้วก็สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้คุณแม่ก็ได้บ่มเพาะความกล้าหาญ และได้ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งคงจะไม่เล่าแล้วเพราะหลายคนได้ทราบแล้ว

มีอีกเรื่องนึงค่ะ คุณตา คุณยาย อันนี้ต้องมาสองคน จริงๆ ก็ไม่ได้เรียนหนังสือมากต้องเรียกว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คุณตาใช้ชีวิตอยู่กับความพอดี เป็นเศรษฐกิจที่พอดี คุณตาสอนลูกๆ  บอกว่า ถ้าไม่รวยอยู่อย่างรวยจะไม่รวย ถ้าไม่จนอยู่อย่างจนจะไม่จน นี่เป็นคติพจน์ของคุณตาคุณยาย มอบให้ไว้กับลูกๆ แล้วคุณแม่ก็มาเล่าให้ฟัง และปลูกฝังให้พวกเราดำเนินชีวิตตามคำสอน 

ส่วนที่บอกว่า คุณพ่อเป็นครูก็คือ เมื่อตอนอายุ 17 คุณแม่แต่งงาน ในเวลานั้นยังเป็นแค่เด็กสาว ก็ยังไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย คุณพ่อได้แนะนำ และสอนทุกอย่างโดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ครู คิดว่าสอนว่าอะไรคือประชาธิปไตย เพราะว่าในวันที่เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ทหารบุกเข้ามาในทำเนียบแล้วมีทหาร คุณแม่ก็ถามทหารว่าจะมาทำอะไร ทหารตอบว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล คุณแม่พูดประโยคเด็ด ซึ่งผู้หญิงทั่วไปในสมัยนั้น ยิ่งเป็นแม่บ้านก็คงจะพูดไม่เป็นว่า “เปลี่ยนรัฐบาล ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาฯ ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่” เดี๋ยวนี้เราเปลี่ยนรัฐบาลเราก็ไปเปลี่ยนตามบ้านคน ตอนนั้นก็ไปเปลี่ยนตามบ้านคนเช่นกัน ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาฯ นี่ก็เป็นความคิดที่คุณพ่อ สั่งสมให้กับคุณแม่ เกี่ยวกับความคิดประชาธิปไตย 

เคท ครั้งพิบูลย์: สิ่งที่ได้ฟังคุณดุษฎี พนมยงค์ บอกเล่านะคะ เราก็จะเห็นภาพจำของท่านผู้หญิงนะคะ ที่มีความกล้าหาญ สมถะ และสง่างาม ในการใช้ชีวิตมาโดยตลอดนะคะ ขออนุญาตขยับไปที่วิทยากรท่านที่สอง ขอบพระคุณคุณดุษฎี พนมยงค์ มากในรอบแรกค่ะ 

เคท ครั้งพิบูลย์: วิทยากรท่านที่สองของเรา รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์คะ การศึกษาเรียนรู้การทำความเข้าใจ คนคนหนึ่งมีประวัติอย่างยาวนาน มีความสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของชีวิตและตัวตนของท่านผู้หญิง เนี่ยค่ะ อาจารย์มีมุมมองอย่างไรบ้างคะจากงานที่อาจารย์ได้ศึกษามา เรียนเชิญอาจารย์ค่ะ

 

 

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ: นมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีทุกท่านนะคะ จริงๆ แล้วการศึกษาการเรียนรู้ชีวประวัติของคนคนหนึ่งค่ะ มันมีความน่าสนใจอย่างยิ่งในตัวของมันเองอยู่แล้ว ในทางการศึกษาการเมือง ในทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราสนใจประวัติศาสตร์ ความคิดทางการเมือง ความคิดทางการเมืองแบบนี้ ไม่ใช่เราคิดแต่ว่าเขาคิดอะไรขึ้นมา หรือนำเสนอแนวทางอะไรขึ้นมาแต่เพียงอย่างเดียว

แต่เราศึกษาและได้เห็นบริบททางการเมืองในห้วงยุคเวลานั้น และการหล่อหลอมให้คนคนนั้นคิดอ่านออกมาแบบนั้นคิดอ่านออกมาด้วย ที่จริงการศึกษาชีวประวัติแบบนี้มีคุณูปการอย่างมาก กับการศึกษาของยุคสมัยแบบนี้ด้วย เช่นเดียวกันนะคะ แล้วก็มันจะทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศหรือสังคมนั้น มันไปได้ไกลมากน้อยขนาดไหนเราตระหนักได้จากการศึกษาชีวประวัติของคนคนนึงแบบนี้นะคะ การศึกษาชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข เองก็เช่นเดียวกัน 

ดิฉันก็โชคดีมากที่ได้มาร่วมเสวนาฯ ในวันนี้ แล้วก็ได้กลับไปทบทวนอ่านหนังสือหลายเล่ม และบทสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงเองนะคะ จริงๆ แล้วการศึกษาชีวประวัติของท่านผู้หญิง หรือการเข้าใจเรียนรู้ หรือการดำเนินชีวิตของท่านผู้หญิง เอง ถือเป็นเสี้ยวหนึ่งในตำนานทางประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญอย่างมาก เป็นเหมือนภาพต่อจิ๊กซอว์ ที่ทำให้เราเห็นภาพประวัติศาสตร์ทางการเมือง จริง ชัด เด่น ยิ่งขึ้นกว่าที่โรงเรียนปกติจะสอนเราได้ 

หมายความว่า ในการเรียน ในโครงสร้างการศึกษาแบบปกติ อาจจะบอกเราไม่ได้หมดแต่การศึกษาชีวประวัติแบบนี้ ทำให้คนอ่าน คนศึกษาเห็นภาพนั้นในความเป็นจริงยิ่งกว่าที่ชนชั้นนำจะอธิบายหรือทำตำราให้คนในสังคมคิด อ่าน แบบเดียวกันเท่านั้น จริงๆ แล้วเป็นโชคดีของเด็กรุ่นใหม่ หรือนักศึกษารุ่นใหม่อย่างมากที่มีทายาทที่มีโอกาสได้มีทายาทที่ผลิตงานดีๆ หนังสือหลายๆ เล่ม หรือมีคำสัมภาษณ์ที่ยังเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ แล้วก็ทำให้คนที่สนใจประวัติศาสตร์อย่างที่เป็นจริง แล้วก็มีปะติดปะต่อภาพเหตุการณ์ทางการเมือง ได้ประโยชน์จากการศึกษางานทางการเมืองแบบนี้ ด้วยเช่นเดียวกัน ดิฉันว่าโชคดีอย่างมาก

เคท ครั้งพิบูลย์:  จึงเป็นความสำคัญและความจำเป็นนะคะ ที่จะต้องทำการศึกษาทำความเข้าใจ โดยเฉพาะประวัติของท่านผู้หญิงฯ ที่เราจะเห็นในเรื่องของบทบาท บริบททางการเมือง อัตชีวประวัติของท่านเองช่วยทำให้ตำนานหรือเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีความจริง มีความชัด และมีความเด่นมากยิ่งขึ้น 

อยากเรียนถามอาจารย์ด้วยค่ะ ว่าจากการศึกษาชีวประวัติของท่านผู้หญิงฯ ที่ผ่านมารวบรวมข้อมูลต่างๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้เล่าไปเมื่อสักครู่ว่า ได้อ่านหนังสือหลายเล่ม ฟังบทสัมภาษณ์หลากหลายชิ้นของท่านผู้หญิงฯ

ในมุมมองรัฐศาสตร์ ผู้หญิงในฐานะภรรยานักการเมืองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองไทยนี่เป็นอย่างไร แล้วบทบาทของท่านผู้หญิงในสถานะภรรยาของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เราจะสามารถนำเรื่องนี้มาเป็นตัวอย่างให้แก่ภรรยานักการเมืองปัจจุบันได้เรียนรู้ในเรื่องใดบ้าง 

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ: จากการที่มีโอกาสศึกษาชีวประวัติของท่านผู้หญิง ดิฉันคิดว่า เราได้เห็นชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์ ที่สำคัญของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ความหลากหลายบทบาทของท่านผู้หญิงเองไม่ว่าจะเป็นความเป็นภรรยาคู่ชีวิต ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้อภิวัฒน์สยาม ซึ่งถ้าเราอยู่ในต่างประเทศนี่มันยิ่งใหญ่มาก และรวมถึงการเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่ครอบครัวถูกกดขี่จากความอยุติธรรมต่างๆ แต่ยังยืนหยัดได้ ดิฉันจะขอทดลองนำเสนอว่า ดิฉันได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากชีวประวัติของท่านผู้หญิงฯ

สิ่งแรก คือ ดิฉันเห็นบทบาทที่ผู้หญิงคนหนึ่งยืนเคียงข้างสามี ต่างคนต่างทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งดีงามร่วมกัน ดิฉันคิดว่า เราต้องมองด้วยความเป็นธรรม แล้วมองย้อนกลับไปว่า ยุคสมัยนั้นเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ การที่ผู้หญิงคนนึงได้รับโอกาสให้เข้าไปช่วยงานสามี แล้วได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ดิฉันคิดว่านี่เป็นโอกาสอย่างมาก รวมถึงเราได้เห็นถึงคุณูปการบางอย่างที่อาจารย์ปรีดี ปฏิบัติต่อผู้หญิงหรือภรรยาของท่านเองด้วยความเท่าเทียม คือการเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ ให้โอกาส ให้เกียรติ ช่วยเหลือการปฏิบัติงานและรวมถึงทำหน้าที่ในหลายๆ เรื่องด้วยเช่นเดียวกัน

ดิฉันได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่อาจารย์ปรีดี เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ช่วงที่ลี้ภัยทางการเมือง และช่วงที่้ลี้ภัยไปที่จีน หน้าปกที่เขียนคำขอบคุณท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นคำที่ไพเราะมาก ไม่รู้ว่า แปลเป็นไทยจะแปลว่าอย่างไร เดี๋ยวครูดุษ อาจจะช่วยด้วยได้นะคะ  อ. ปรีดี เขียนว่า

“A Phoonsuk ma femme, ma meilleur amie qui a partagé les moments les plus pénibles de ma vie. Et à tous ms fidèles compagnons”

ไม่แน่ใจว่า แปลเป็นภาษาไทยมันจะไพเราะเท่าฟังเป็นภาษาฝรั่งเศสหรือเปล่า แต่นี่คือความหมายของการเป็นเพื่อนคู่ชีวิตที่ฟันฝ่าอุปสรรคของช่วงเวลาที่เลวร้ายไปด้วยกัน โดยที่ไม่ได้มองว่า ฉันเป็นช้างเท้าหน้า แล้วภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง 

ดิฉันคิดว่า สิ่งที่เขียนมีความน่าสนใจอย่างมาก ดิฉันมองว่าอาจารย์ปรีดี มีแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของชายและหญิงแล้ว และสนับสนุนให้บทบาทของผู้หญิงเด่นชัดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงสิทธิการเลือกตั้ง และการลงสมัครรับเลือกตั้งของผู้หญิงด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวท่านผู้หญิงฯ เองก็คิดว่า บทบาทของผู้หญิงก็มีความสำคัญในทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน ลองดูได้จากคำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงฯ ที่พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการรับผิดชอบงานในทางการเมืองด้วย แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ เป็นประตูขวางกั้น ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ทุจริต ในตำแหน่งทางหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่างๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร 

สิ่งนี้ที่ดิฉันคิดว่าสำคัญมาก ที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง ดิฉันคิดว่าในมุมมองแบบนี้ ท่านผู้หญิงเองก็คิดว่า แม้กระทั่งเป็นหลังบ้านของนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดใดก็ตาม แต่บทบาทของผู้หญิงต้องมีบทบาทตามตำแหน่งแห่งที่ที่ตัวเองเป็น อาจจะไม่ได้ออกมายืนแถวหน้า ไม่ได้ออกมาปะทะกับผู้คน แต่สิ่งที่ต้องทำคือ เป็นผู้หญิงที่เป็นคู่ชีวิตของนักการเมืองคนหนึ่งที่จะทำได้ 

เรื่องที่สอง นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่เราอ่านชีวประวัติของท่านผู้หญิง ถ้าเป็นในยุคสมัยนี้ เราต้องบอกว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้มแข็งมากหมายความว่าเป็นผู้หญิงที่เลี้ยงลูกโดยลำพัง ในขณะที่สามีระหกระเหิน บางช่วงเวลาก็พลัดพรากจากลูก แล้วก็กลับไปอยู่กับสามี คือถ้าเป็นยุคในสมัยเรา มันต้องมีความเข้มแข็งมากพอสมควรที่จะฟันฝ่า ความอุปสรรคความแบบนี้ไปได้ 

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันคิดถึงประวัติของท่านผู้หญิงฯ ก็คือ การที่ท่านผู้หญิงฯ ต่อสู้แบบ “ขันติธรรม” ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจความหมายของขันติธรรรมในทางพุทธศาสนามากนัก แต่ว่าเวลาที่อ่านจากชีวประวัติของท่านแล้ว  หรือว่าอ่านเรื่องราวของท่านแล้ว 

 

 

ดิฉันมีคำที่เรียกว่า “ขันติธรรม” ขึ้นมาในหัว ดิฉันคิดว่า ขันติธรรมแบบนี้ มันคือความอดทนอดกลั้น ที่พระพุทธเจ้าอาจจะสอนถึงความอดทนอดกลั้นด้วยความเต็มใจและก็พอใจ อดทนในกาละที่จะหลีกเลี่ยงจากความชั่ว อดทนในการทำความดีต่อไปในทุกสถานการณ์ อดทนรักษาใจให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง 

ดิฉันคิดว่า ท่านผู้หญิงฯ มีความขันติธรรมในแง่แบบนี้ นอกจากนี้คือการที่เราเห็นภาพในการต่อสู้ ยืนหยัดบนความจริง บางครั้งเราถูกใส่ร้าย บางครั้งเราถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจ แต่การอ่านชีวประวัติแบบนี้ทำให้คนยุคเราแบบนี้ ได้มองเห็นว่าความจริงแล้ว ระบบยุติธรรมกฎหมายรวมถึงผู้มีอำนาจ  ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คนเหล่านั้นใช้กฎหมาย ใช้อำนาจกับคนที่เห็นต่าง หรือกับศัตรูทางการเมือง เพื่อที่มาจำกัดอำนาจเขาแล้วก็กำจัดคนเหล่านั้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องที่สาม ช่วงชีวิตบั้นปลายของท่านผู้หญิง  ดิฉันเห็นว่าท่านผู้หญิงเป็นคนมองความจริง สัจธรรม อนิจจตา ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตา ไม่ยึดมั่นถือมั่นในลาภยศ สรรเสริญ และมีความเข้าใจชีวิตอย่างมาก อาจจะด้วยอายุเท่านี้ ว่าคนคนหนึ่งที่เข้าใจความหมายของชีวิตแล้ว เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่หลายท่านพูดไปแล้ว คือ การไม่อาฆาตพยาบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดิฉันคิดว่า ท่านเก่งมาก หมายความว่า ไม่อาฆาตพยาบาทกับคนที่ทำไม่ดีกับท่าน ท่านจำเฉพาะกับคนที่มีพระคุณกับท่าน แล้วท่านก็กล่าวไว้ตลอดเวลาว่า เราสองคนมีความเชื่อเหมือนกันว่า ชีวิตของเราย่อมมีขึ้นมีลง เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ เมื่อมีความราบรื่นย่อมมีอุปสรรค คือ ท่านกับท่านอาจารย์ปรีดีเห็นพ้องต้องกันแบบนี้ หมายถึงเห็นชีวิตเป็นเรื่องสัจธรรม มีความทุกข์ มีความสุขเข้ามาเป็นเรื่องปกติของชีวิตและรวมถึงหลักธรรมที่ท่านยึดถือเรื่องผลของการที่ก่อสร้างมาดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ท่านพูดบ่อยมาก และเป็นคำที่ไพเราะที่ท่านสามารถตีความอธิบายความหมายได้ตามแต่ที่จิตใจของเราจะรู้สึกกับมันอย่างไร 

รศ. ดร. วรรณภา ติระสังขะ: นอกจากนี้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หวานได้อ่านแล้วมีโมเมนต์ที่น่ารักๆ เพิ่งทราบเหมือนกันว่า เพลงโปรดของอาจารย์ปรีดีที่ท่านผู้หญิงฯ เล่าให้ฟังในหนังสือว่า ชื่อเพลง J’ai deux amours  เป็นเพลงเก่าของฝรั่งเศสในเนื้อความว่า ท้ายที่สุดแล้วอาจารย์ปรีดี ก็ยังนึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ตลอดเวลา แล้วเป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าชีวิตบั้นปลายของอาจารย์ปรีดี แล้วก็ไม่ได้กลับมา จำได้ว่า ตอนที่มีโอกาสไปเรียนฝรั่งเศสในปีแรกมีพี่ที่เราสนิทด้วยคนหนึ่งพาเราไปที่สุสานแปร์ ลาแชส

เมื่อไปถึงเราก็นึกถึงคุณงามความดีที่อาจารย์ปรีดีทำไว้ให้กับคนไทยของเรา แล้วก็นั่งอยู่สักพักหนึ่งพี่คนนั้น เขาก็เล่าให้ฟังว่า มันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็เป็น Moment ที่ประทับใจมากนะคะ แล้วดิฉันก็ได้มีโอกาสได้ตามรอยท่านผู้หญิงฯ และอาจารย์ปรีดีในฝรั่งเศสด้วยเช่นเดียวกัน

ดิฉันคิดว่าชีวิตบั้นปลายของท่านผู้หญิงฯ นี่กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ในแง่ของการสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้เป็นสามี ผู้อภิวัฒน์สยาม แล้วก็มีความเชื่อแบบนั้นด้วยเช่นเดียวกัน ท่านทำในต่างกรรมต่างวาระ ไม่ว่าจะเป็นการปาฐกถา การสัมภาษณ์ การพูดคุย หรืออะไรก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การให้เกียรติและรู้จักให้อภัยคนอื่น ไม่เคียดแค้น ไม่จองเวร ดิฉันคิดว่า สิ่งนี้มีความสำคัญมาก เท่ากับว่า ท่านทั้งสองเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราไม่จำ ใครทำร้ายเรา เราไม่จำ อโหสิกรรมให้หมด ระลึกถึงแต่คนที่ดีกับเรา ช่วยเหลือเรา” ดิฉันคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่ประทับใจมากด้วยเช่นเดียวกัน อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันนับถือมาก จำได้ว่าตอนอ่านงานท่านครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนักว่าคืออะไร แต่พออายุมากขึ้น เราก็เริ่มมองเห็นความตายของตัวเราเองมากขึ้นก็เลยเข้าใจ หมายความว่า ตอนที่ท่านจัดการวาระสุดท้ายของชีวิต ดิฉันคิดว่ายากนะคะ เหมือนที่ท่านพระอาจารย์ถามว่า ในห้องนี้มีใครเดินไปที่โรงพยาบาล แล้วเดินไปที่สภากาชาดว่า เราจะบริจาคร่างกาย ดวงตาให้กับคนอื่น ดิฉันว่ามันเป็นโมเมนต์ที่ต้องเข้าใจความตายในอีกรูปแบบหนึ่ง คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วก็นับถือครอบครัวหลายๆ คนของพนมยงค์มากๆ ที่ไม่ใช่แต่ท่านผู้หญิงด้วยใช่ไหมคะ พี่น้องหลายคนทำแบบนี้หมดใช่ไหมคะ ก็น่าสนใจมากทีเดียว

เคท ครั้งพิบูลย์: สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในชีวิตทั้งในฐานะที่เป็นทั้งภรรยานายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น และผ่านมุมมองรัฐศาสตร์อย่างที่อาจารย์วรรณภากล่าว เราก็จะเห็นการต่อสู้แบบขันติธรรม การมองความจริงในเรื่องความเข้าใจของความไม่เที่ยง และสิ่งสำคัญที่สุดที่คิดว่าเราได้มาจากข้อมูลที่อาจารย์วรรณภา เล่าให้ฟังก็คือการเป็นเพื่อนคู่คิดที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงเวลาที่ท้าทายไปด้วยกัน

อาจารย์คะ มีคำถามสุดท้ายที่อยากจะถามอาจารย์ค่ะ จากที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมด มีเรื่องใดบ้างคะที่คนรุ่นใหม่สามารถที่จะน้อมนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านผู้หญิงฯ มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ: ดิฉันคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ถ้ามองจากจุดยืนหรือว่าเหตุการณ์ปัจจุบันแบบนี้ หนึ่งสิ่งที่เรานำมาปรับใช้ได้ ทุกคนต่างมีบทบาทมีหน้าที่แล้วเราทุกคนไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปยืนอยู่แถวหน้าสุด แต่เราอยู่ด้านหลังแล้วทำหน้าที่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า อยากให้คนรุ่นใหม่มองความจริงในแง่ของการเปิดกว้างแล้วก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา ในโครงสร้างการศึกษามันจะแคบ อาจจะไม่ค่อยให้ข้อมูล หรือไม่ค่อยให้ความรู้กับเรา อยากให้มีการตั้งคำถาม เรียนรู้หลากหลายด้าน แล้วต่อยอดจากประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์ในบริบทสังคมนั้นๆ ได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่า ที่สำคัญคือ การเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ผ่านการจดจำในสิ่งที่ไม่ดีแต่ให้อภัย จำได้ว่าใครทำอะไรไม่ดีกับเราไว้ แต่เราให้อภัยเขาได้ ถ้าผ่านมันไปได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด 

ดิฉันอยากเห็นสังคมไทยในอนาคต หรือการทำงานทางการเมืองต่างๆ ที่มีขันติธรรมต่อกัน การมีขันติธรรมต่อกันแบบนี้ ไม่ใช่ว่าใครมาทำอะไรกับเรา เราก็ไม่สนใจ ยอม เพิกเฉยต่อกันแบบนี้

ดิฉันคิดว่า “ขันติธรรม” ในแง่นี้ น่าจะเกิดขึ้นจากที่ให้สังคมอยู่ร่วมกันกับความคิดที่แตกต่างหลากหลายได้ หมายความว่า ความหลากหลายทางความคิด ความแตกต่างกันทางความคิดต่างๆ  ดำรงอยู่ร่วมกันได้ เราแม้ว่าจะไม่ชอบเขาในทางความคิด แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกับเขาได้ ดังนั้น สังคมถึงจะเป็นประชาธิปไตยต่อไปได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเหมือนกัน แล้วก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นเรื่องปกติ ดิฉันคิดว่า “ขันติธรรม” จะทำให้การอยู่ร่วมกัน แล้วก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยดีที่สุดได้ค่ะ 

เคท ครั้งพิบูลย์: สิ่งที่อาจารย์เล่าให้ฟัง คนรุ่นใหม่น่าจะนำวิธีคิด วิธีปฏฺับัติมามองสังคมปัจจุบัน คือ การสร้างความเข้มแข็งจากข้างใน ซึ่งการใช้ในเรื่องขันติธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราทุกคนก็จะสามารถก้าวข้ามและอยู่ได้บนความหลากหลาย และความเข้มแข็งจากข้างในของท่านผู้หญิงฯ เป็นการทำให้เราฟื้นตัว ทำให้เรามีจุดยืนในสังคมในช่วงเวลาที่ถูกกดขี่ได้ในสังคม 

เคท ครั้งพิบูลย์: วิทยากรท่านต่อมาคือ อาจารย์ประดิษฐ ประสาททอง เคทเคยรับชมแบบออนไลน์ ละครเพลงรัก 2475 ซึ่งเป็นละครร้อง และทราบว่าอาจารย์มีแรงบันดาลใจมากที่อยากเล่าเรื่องผ่านเพลงรัก จากหลากหลายคนมาก และท่านหนึ่งที่ อาจารย์ประดิษฐ์ เลือกมาก็คือการพูดถึงชีวิตของท่านผู้หญิงฯ อยากให้อาจารย์ประดิษฐ เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่ศึกษาข้อมูลตอนที่ทำละครเวทีเพลงรัก 2475 ค่ะ 

 

 

ประดิษฐ ประสาททอง: กราบนมัสการและกราบสวัสดีทุกท่านนะครับ ที่จริงอาจารย์วรรณภา กล่าวไปได้ละเอียดลออมาก ถ้าเกิดผมได้ฟังอาจารย์ก่อนจะทำให้ผมทำบทละครได้ง่ายขึ้นมาก ละครแบบนี้ต้องออกตัวว่าทำยากมากครับ เพราะว่าทายาทก็ดี คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคคลที่มีชีวิตจริงอยู่ในบทละครยังมีชีวิตอยู่ สามารถลุกขึ้นมาเถียง มาชื่นชมหรือแม้แต่มาด่าทอ 

ผมมีประสบการณ์อันไม่ค่อยสวยงามในอดีตมาก่อนที่ตอนนั้นได้รับโอกาสอย่างดีมากจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่กรุณาให้ความไว้วางใจกับทั้งทายาทและก็ครอบครัว ให้ผมได้ทำเรื่องราวของ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผมจำได้ว่า ในปี 2543 ตอนที่ครบ 100 ปี ชาตกาล ตอนนั้นผมทำเป็นลิเกนที่วังสวนผักกาด เรื่องเปลี่ยนฟ้าแปรดิน

ตอนนั้นด้วยความที่เรายังเด็ก ยังหนุ่มอยู่ มีความคะนอง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ประกอบกับการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ มันไม่ได้เยอะแบบทุกวันนี้ โอ้โห! มันยุ่งยากมากกว่าจะไปหอสมุดแห่งชาติ แล้วเรื่องราวของอาจารย์ปรีดี ก็เหมือนจะเป็นเรื่องลี้ลับซับซ้อนในยุคนั้น แม้แต่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้มีข้อมูลเยอะอย่างทุกวันนี้ก็เลยมโนมเนเขียนขึ้นมาแล้วก็เล่นไป แล้วก็พบว่า เมื่อมองย้อนกลับไป เราไม่พอใจงานชิ้นนั้นเเอาเสียเลย เราน่าจะทำการบ้านได้ดีกว่านี้ คือเรามองไม่เห็นตัวตน และความเป็นบุคคลของอาจารย์ปรีดีที่เพียงพอ เราไม่เห็นความเป็นมนุษย์ เราไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวท่านผู้หญิงพูนศุขที่เพียงพอ เราเล่าแต่เหตุการณ์ฺที่มันเกิดขึ้น 1 2 3 4 แต่เราไม่เห็นเลยว่า ความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้คน สิ่งที่หล่อหลอมให้ท่านกล้าแกร่งขึ้นมาขนาดนี้้คืออะไร 

ต่อจากนั้น ผมก็เหมือนเป็นแผลเหวอะ พยายามไม่ทำละครแบบนี้อีกเลยจนกระทั่งปี 2548 อาจารย์สุลักษณ์ ก็ไม่เข็ดครับ ให้โอกาสผมมาอีก ทำเรื่องของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ผมก็รวบรวมความกล้าอีกครั้งหนึ่ง กลับไปค้นคว้าข้อมูล ตอนนั้นเตรียมอยู่ประมาณ 2 ปี อ่านข้อมูล ถามสั้นๆ เล็กๆ แล้วทดลองเล่นดูในงานต่างๆ ดูฟีดแบค ดูอะไรไปเรื่อยๆ ก็เออ ไปรอด ระหว่างทางที่ค้นคว้าเราก็ต้องไปข้องแวะกับบุคคลที่เกี่่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ร่วมกับเหตุการณ์ ร่วมสมัยกับคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีเหตุการณ์หนึ่งก็คือ กบฏสันติภาพ แล้วบุคคลที่โดนรวบไปด้วยในเหตุการณ์นั้นก็มีคุณปาล แล้วก็มีท่านผู้หญิงฯ ต่างกรรมต่างวาะ อยู่ในเหตุการณ์ปีเดียวกันแล้วก็กวาดไปเลย ในรอบเดียวกัน ทำให้ผมมาสนใจ เรื่องของท่านผู้หญิงฯ มากขึ้น ก็หันมามองว่า ท่านผู้หญิงฯ สตรอง ก็เลยสนใจเป็นการส่วนตัวมาเรื่อยๆ 

กระทั่งราวปี 2552-2553 ผมก็คิดว่าจะต้องทำละครร้อง ผู้หญิงสักสองสามคน เป็นผู้หญิงที่อยู่ในชะตากรรมการเมือง การเมืองในสังคมไทยที่โดนวิบากกรรม กระทำต่างๆ นานาไม่ว่าจะโดนจากฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ แล้วผู้หญิงเหล่านี้ เขามีวิธีการจัดการกับมรสุมเหล่านั้นอย่างไร  ในวิธีของเขา ผมก็เลือกมาหลายท่าน และหนึ่งในนั้นคือ “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

 

ผมก็เลยอ่าน อ่าน อ่าน และโชคดีที่ อาจารย์ชมัยพร แสงกระจ่าง ท่านเขียน สันติ-ปรีดี ถ้าผมจำชื่อไม่ผิด แล้วดีมากเลย ท่านก็รวบรวมเอาไว้หมดเลยย เหตุการณ์ ซีเควนท์ ต่างๆ ตั้งแต่เกิดยันตาย เป็นอย่างไรบ้าง คู่ชีวิตเป็นอย่างไร ไล่ๆ ไป แล้วมันเหมือนนิยาย มันเหมือนกึ่งๆ นิยาย เพราะผมไม่สามารถอ่านบทความที่อาจารย์วรรรณภา อ่านได้เกิน 3 หน้า แล้วก็หลับแล้วก็เอาใหม่ๆ เพราะว่าที่หลับไปตื่นมา มันก็ลืมหมดแล้ว ถ้าผมอ่านวิชาการผมจะใช้เวลายาวนานมากเลยครับ ยกเว้นเป็นเรื่องที่เราสนใจจริงๆ จังๆ 

ส่วนใหญ่ก็จะตรงกับที่อาจารย์วรรณภา พูดเมื่อสักครู่ และครูดุษฎี พนมยงค์ พูดก็คือจะเป็นข้อมูล ด้วยความที่มันเป็นบทละคร ถ้าเราจะสร้างบทละครขึ้นมา เขาไม่น่าจะสมบูรณ์แบบตั้งแต่ฉากแรกจนฉากสุดท้าย เขาต้องมีข้อบกพร่อง เขาต้องมีจุดที่จะพัฒนาต่อ จุดที่ยังมืดอยู่ ยังไม่สว่างไสว หายากจังเลย เอ๊ะ! จะทำอย่างไร เราจะหาอย่างไร เราจะหาข้อบกพร่องของจุดที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไรดีนะ เพราะจากประวัติข้อมูล ท่านค่อนข้างที่จะเข้มแข็งมีความมั่นคงในจิตใจ ยึดมั่นในหลักธรรมที่ไม่ใช่แค่สวดมนต์เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์และคนรอบๆ ตัว 

ด้วยความเป็นนักละคร  ผมเลยหยิบจุดที่เปราะบางของผู้หญิงออกมา ประกอบกับช่วงนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองก็แบ่งออกเป็นกีฬาสี แล้วก็เกลียดชังกันมากเพราะ Hate Speech เต็มไปหมดเลย ยุคนั้นสื่อออนไลน์มันยังไม่แรงเท่าไหร่ ทวิตเตอร์ยังไม่มี คลับเฮ้าส์ยังไม่เกิด แล้วก็มีการสาดความเกลียดชังใส่กัน แล้วผมก็มีการตั้งคำถาม แล้วผมเป็นคนเจเนอร์เรชั่น ที่เติบโตมากับคนทั้งสองสี ผมมีชีวิตอยู่ในแวดล้อมของคนที่หลากหลาย ทุกวันนี้ ก็ยังอยู่ในแวดล้อมของคนที่หลากหลาย ซึ่งมีรสนิยมทางการเมือง มีความรักใคร่ชอบพอกับสายนู้นสายนี้ที่หลากหลายอยู่ 

ผมก็อึดอัดว่าจะพูดอย่างไรไม่ให้กระทบคนโน้นกระทบคนนี้ รู้สึกว่าทุกคนขัดใจแต่ว่าก็ยังฟังกันอยู่ ผมก็คิดว่าในท่ามกลางความเกลียดชัง ผมตั้งคำถามว่า เอ แล้วคนเรามันยังรู้จักความรักอยู่ไหมนะ ให้เราพูดเรื่องผู้หญิงมันน่าจะมีเรื่องความรัก ไม่ว่าจะดูมุ๊งมิ๊งฟรุ้งฟริ้งจะซอฟท์ลง

ผมก็เลยจับเรื่องเพลงรัก โดยจุดเริ่มต้นก็คือ เหตุการณ์จาก 2475 ก็ตั้งชื่อว่า เพลงรัก 2475 เป็นเรื่องที่มโน เป็น Fiction แต่ base on ข้อมูลต่างๆ เติมแต้มสี ตีไข่เข้าไปทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ความเป็นมนุษย์ปุถุชน ความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ผันผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาแล้วดำรงตนอยู่ได้ โดยไม่เสียตัวตน ไม่เสียความงดงามที่มีอยู่ในจิตใจ ผมตั้งคำถามว่า ถ้าคนเรารู้จักรักกัน ผมไม่ได้หมายความว่า รักศัตรู หรือรักคู่ตรงข้ามที่ ที่เห็นแก่ตัว ที่ทะเลาะฟาดกันมาตลอด แล้ววันหนึ่งจะมาบอกว่า ฉันรักเธอแล้วล่ะ ฉันลืมทุกอย่าง ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเพราะว่า โลกมันซับซ้อนกว่านั้น แต่ผมคิดว่า ถ้าเรารักคนของเรา รักอาหารของเรา รักเสื้อผ้าของเรา เรายังรักเป็น แล้วคนคนนั้นที่เขาคิดไม่เหมือนเรา เขาก็ต้องรักคนของเขาเหมือนกัน เขารักเสื้อผ้าของเขา เขารักอาหารของเขาเหมือนกัน เขาอาจจะรักคนละอย่าง อาหารคนละจานกับเรา รักผู้ชายคนละคนกับเรา แต่มันก็คือความรักนี่นา 

ถ้าอย่างนั้น ถ้าเกิดว่า เราปล่อยให้ความรักมันเสาะหากัน ให้มันคุยกันว่าอะไรทำให้คุณรักผู้ชายคนนั้น อะไรที่ทำให้คุณรักเหตุผลอันนั้น อะไรที่ทำให้คุณกินอาหารจานนั้น อะไรทำให้คุณยอมรับเงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมอันนั้นกับเพื่อนมนุษย์ได้ขนาดนั้น อะไรทำให้คุณรักสิ่งเหล่านั้นได้ขนาดนี้ ตั้งคำถามกับมันให้มากๆ แล้วหาคำตอบให้กับการฟังอีกฝ่ายหนึ่งว่า เหตุผลในความรักของเขาคืออะไร มันก็อาจจะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น  ทีนี้ผมเล่าคนเดียวก็ไม่สนุกนะครับ ผมเลยเชิญน้องที่เป็นนักแสดงคนหนึ่ง อยากจะมานำเสนอบทเพลงที่จะแสดงด้านที่ยังบกพร่องของท่านผู้หญิง ในตัวละคนสมมติในเรื่องนี้คือคุณเพลินนะครับ  จะเล่าเหตุการณ์ตอนที่ตัวคุณเพลิน สามีก็ถูกการเมืองเล่นงานต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศซึ่งในเรื่องคุณเพลินก็ไม่รู้ว่า สามีไปอยู่ที่ไหน แล้วก็พลัดพราก เพราะสมัยก่อนไม่มีอีเมล ไม่มีโซเชียลมีเดียสื่อสารกัน คือถ้านั่งเรือข้ามหายกันไปแล้ว เรือจะล่มเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ การพลัดพรากสมัยก่อน หรือการลาจากมันยิ่งใหญ่ และโดยเฉพาะคู่นี้ไม่ได้จากกันดีๆ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หนีจจากไป ในขณะที่ตัวเองก็ประสบวิบากกรรม ถูกจับในข้อหากบฏสันติภาพ ลูกชายก็ถูกขังไว้ในคุก ตัวเองก็ถูกขังไว้ในอีกที่นึง

ในเหตุการณ์ตอนนี้ เป็นตอนที่ฝ่ายตรงข้ามเอาผิดตัวเองไม่ได้ ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะยื่นฟ้องได้ ก็ต้องยกฟ้อง เมื่อยกฟ้องก็เป็นโอกาสที่ฟ้าเปิด ตัวเองก็เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปสืบหาสามีที่พลัดพรากเพราะคู้นี้ไม่ได้แยกกันเลย ประคองคู่อยู่ด้วยกัน จะตามหาส่วนที่หายไป แล้วเสริมกำลังใจกันเพื่อต่อสู้ หรือจะอยู่ตรงนี้เพื่อช่วยให้ลูกชายที่อยู่ในคุก ออกมาก่อนแต่ถ้าอยู่รอต่อสู้กับลูกชายก็ไม่รู้ว่า เกมจะพลิก ยังไงไม่รู้ว่าฟ้าจะปิดหรือเปล่า โอกาสที่ประตูจะปิดและจะเปิดออกเมื่อไหร่ อาจจะไม่มีโอกาสนั้นอีกเลย 

โมเมนต์ในการตัดสินใจของผู้หญิงคนหนึ่งว่า ตัดสินใจว่าจะอยู่ช่วยลูกชาย หรือจะไปตามหาสามีที่พลักพรากจะทำอย่างไร จะตัดสินใจว่าอะไร ใช้หัวใจของผู้หญิงในการเลือก ไม่ได้ใช้เหตุผลอะไรมากๆ มายๆ แต่ใช้เหตุผลในการเลือก

เคท ครั้งพิบูลย์: เพลงนี้มีชื่อว่าเพลงอะไรคะ 

ประดิษฐ ประสาททอง: ชื่อเพลงว่าทางแยก 

เคท ครั้งพิบูลย์: มีคำถามหนึ่งที่อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า เรื่องผู้หญิงต่อการพัฒนาการเมืองจากที่อาจารย์ได้เล่าและทำมาเป็นละครเพลงซึ่งพยายามปะติดปะต่อ ซึ่งรวมถึงการพยายาม ในการเลือกฟังเสียงหัวใจของผู้หญิงในการเลือกต่างๆ นี้ มาเป็นละครเพลงรัก อาจารย์มองว่าจากข้อมูลและนำเสนอละครเวทีเรื่องนี้ไป ว่าผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมืองอย่างไรบ้าง อาจารย์มองเห็นตรงนี้อย่างไรบ้างคะ 

ประดิษฐ ประสาททอง: ไม่ใช่อยู่ๆ ท่านผู้หญิงฯ จะทำได้เลยแต่สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในยุคนั้นไม่ได้อนุญาตให้ผู้หญิงทำได้ทุกคน แต่โชคดีว่า ท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นคนหัวก้าวหน้า และนำความคิดในการเคารพทุกคนเข้ามาในบ้านด้วย แต่ก็มีการตกลงกันในบ้าน เช่น หลังจากที่ออกเรือนด้วยกันแล้วจะเปลี่ยนสรรพนาม เป็นเธอ ฉัน เพื่อให้มันเท่าเทียมกัน 

ดุษฎี พนมยงค์: ตอนแรกคุณพ่อเรียกคุณแม่ว่า คุณ เพราะว่าเป็นลูกพระยาแต่ตกลงกันว่า พอแต่งงานกันแล้วก็เป็นฉันกับเธอ 

 

 

คุณประดิษฐ ประสาททอง: มันเป็นมุมที่น่ารักเห็นถึงการเคารพและการให้เกียรติกัน ในบ้านซึ่งมันทำให้ท่านผู้หญิงฯ มีความมั่นใจว่า ผู้หญิงก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เท้าที่อยู่ด้านหลังเสมอไปแต่เป็นเท้าซ้ายเท้าขวาที่ก้าวไปด้วยกันได้ ในเรื่องนี้ล่ะครับ ถ้าในบทละคร ฉากแรกๆ ท่านผู้หญิงฯ ก็เหมือนเด็กสาวคนหนึ่งที่ใสๆ มีฝันถึงชีวิตที่งดงาม พระเอกก็เป็นหนุ่มนักเรียนนอก เนื้อหอมฟุ้งมีความคิดก้าวหน้า เป็นสัญลักษณ์ของโลกใบใหม่ ที่น่าจะมีความมั่นคงที่น่าจะจูงมือเขา ก้าวไปสู่โลกใบใหม่ที่งดงามข้างหน้า 

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองมาอีกข้างหนึ่ง สิ่งที่ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้ก็คือ ครอบครัว ชาติตระกูล โครงสร้างสังคมเดิม ที่ยังไม่ได้คลี่คลาย 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีฝันที่จะทะยานไปข้างหน้า แต่ก็มีอีกซีกหนึ่งที่เหนี่ยวรั้งไว้ด้วย พันธนาการเดิม แต่อาจจะไม่ใช่พันธนาการเดิม แต่อาจจะเป็นโครงสร้างเดิมที่หล่อหลอม ขึ้นมาซึ่งเป็นบวกก็ได้ แต่เป็นความงดงามอีกแบบ เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีชีวิตตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จะดำรงตนอย่างไรในกระแสที่ผันผวนอย่างนี้ ผมเห็นว่าฉากแรกๆ ก็ไม่มั่นคง ยังงุนงงสับสน เหมือนเพลงแรกที่เขาร้อง ก่อนเพลงทางแยก จะมีเพลงที่เขาร้องว่า 

เหมือนคว้างอยู่กลางทางแยก 

ทางสายแรกงดงามสดใส 

อีกทางเวิ้งว้างยังยาวไกล

แต่มีเธอก้าวไปกับฉัน 

ผู้หญิงจะเลือกอะไรล่ะ แต่ที่สุดก็ต้องเลือกจะลำบาก แต่มันมีเธอก้าวไปกับฉัน มีความกล้าหาญในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาคิดว่าเขาก้าวมาแล้ว ก็คงจะไม่ใช่แค่ลมใต้ปีกเฉยๆ แต่พร้อมจะเป็นปีกอีกข้างที่จะขยับไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นในยามที่อาจารย์ปรีดี ถูกชะตากรรมเล่นงาน ท่านผู้หญิงก็ไม่ละเลย ไม่ลังเลที่จะแบกรับการต่อสู้ต่างๆ แม้แต่เมื่ออาจารย์ปรีดี ถูกทำร้าย ถูกใส่ร้ายต่างๆ นานา ท่านผู้หญิงฯ กับลูกชาย กับลูกที่อยู่ก็ช่วยกันต่อสู้ทางคดีความ ต่างๆ นานา จนสำเร็จ ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง

เคท ครั้งพิบูลย์:  คำถามสุดท้ายที่อยากจะถามครูดุษฎี พนมยงค์ ว่าจากที่ทั้งได้เล่าและได้ฟังจริงๆ มีเรื่องเล่าหลายอย่างที่น่าสนใจ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยคือ ท่านผู้หญิงฯเป็นคนที่ชอบดื่มกาแฟ  การดื่มกาแฟของคนในยุคนั้น ดิฉันมองว่าเป็นความมั่นใจของผู้หญิงทในยุคนั้น คือเป็นความเก๋ ที่จะเลือกใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ อยากจะถามคุณดุษฎี พนมยงค์ ว่าแบบอย่างที่คุณดุษฎีที่ท่านผู้หญิงได้ส่งต่อมาถึงลูกนี่มีในเรื่องใดบ้างคะ

ดุษฎี พนมยงค์: “เรื่องซื่อสัตย์” ที่ท่านเน้นอยู่เรื่อยๆ คือเรื่องนี้ และอีกเรื่องคือ อย่าใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นลูกทุกคน ต้องเน้นเลยว่าทุกคนก็ทำงานเพื่อรับใช้ส่วนรวมรับใช้สังคม แต่ละคนงานก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีใครที่อยู่เฉยๆ โดยไร้สาระ 

เคท ครั้งพิบูลย์: น่าจะเป็นสองสิ่งที่ท่านผู้หญิงได้ส่งต่อมาให้ลูกๆ ทั้งสองคนนั่นก็คือความซื่อสัตย์ และอย่าใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์ ต่อไปที่ รศ.ดร.วรรณภาค่ะ ถ้าให้ท่านเลือกมรดกความคิดที่ได้จากการศึกษาประวัติชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  สักหนึ่งข้อที่ท่านอาจารย์มองว่า มรดกชิ้นนี้ที่ตรงใจอาจารย์มากที่สุด อาจารย์เลือกมรดกชิ้นไหนคะ 

 

 

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ: เลือกยากนะคะ จากการที่ได้อ่านและศึกษาชีวประวัติของท่านผู้เป็นแบบอย่างและผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ ไม่ใช่แค่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตของคนคนนั้นแต่ทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง จิตใจของตัวเอง และบทบาทชีวิตของตัวเอง และดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นมรดกที่สำคัญมาก วันหนึ่งเราได้อ่านชีวประวัติของคนคนหนึ่งแล้วเห็นว่า เขามีขันติธรรม ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง แล้วได้กลับมาถามตัวเองแล้วว่าตัวเราเองได้มีความเป็นขันติธรรมต่อเจตนารมณ์นั้นอย่างไร 

เราทำหน้าที่ของเราดีแล้วหรือยัง ยังมีโอกาสทบทวนค่ะว่า มันไม่เป็นไร ถ้าวันนี้ เรายังไม่ได้ทำอะไรมากมายแต่ว่า แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่ว่าอย่างน้อยมันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น ดิฉันว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าเข้าใจชีวิตคนอื่นแต่ได้อ่านจิตใจ และเข้าใจชีวิตของเรามากขึ้นว่า วันนี้เราได้ทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อประโยชน์ของคนอื่นมากน้อยขนาดไหน แบบนี้คือ ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นมรดกได้หรือเปล่าโอกาสแบบนี้มันทำให้ทุกคน และผู้ที่อ่านชีวประวัติของคนอื่น  ได้คิดถึงตัวเอง คิดถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่า เราเกิดมาทำไม เรามีหน้าที่ต่อสังคมนี้อย่างไรบ้าง 

เคท ครั้งพิบูลย์: คำถามถึงท่านอาจารย์ประดิษฐ ว่าเคยชมละครเพลงรัก 2475 จึงขอถามว่า เมื่อไหร่จะได้ชมละครหรือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวในยุคนั้นบ้างไหมคะ  

ประดิษฐ ประสาททอง: เมื่อมีผู้สนับสนุนครับ อยากจะนำเรื่องเพลงรัก 2475 มาแสดงใหม่มากๆ เพราะคิดว่าตัวบทละครก็ดี ตัวโปรดักชั่นก็ดี มันมีความสมบูรณ์ของมันอยู่ นักแสดงทุกคนก็มีพลังใจแกล้วกล้าโดยเฉพาะในเหตุการณ์ปัจจุบัน จากสิ่งแวดล้อมปัจจุบันนักแสดงทุกคนอยากเล่น  อยากวอยซ์ออกมาแต่ผมก็บอกทุกๆ คนว่า รอก่อน รอให้มีเงินแล้วค่อยทำ 

เคท ครั้งพิบูลย์: มีคำถามถึงครูดุษฎี พนมยงค์ เรื่องการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เมื่อตัวอาจารย์ปรีดี ลี้ภัยแล้วตัวท่านผู้หญิงและลูกๆ อยู่อย่างไรคะ 

ดุษฎี พนมยงค์: หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พวกเราก็ย้ายไปอยู่บ้านคุณยายๆ เป็นผู้ใหญ่ที่ดูแล เราก็ 6 พี่น้องซึ่งตอนนี้เหลือแค่สองคนแล้ว ตอนนั้นอยู่พร้อมหน้ากันทั้งหมดเลยค่ะ ก็อยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม คุณยายก็ดูแลทุกอย่างเลยค่ะ  

เคท ครั้งพิบูลย์: ยังมีประโยคเด็ดประโยคอื่นที่เป็นคำของท่านผู้หญิงอีกไหมคะ 

คุณดุษฎี พนมยงค์: ก็ในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เวลาตีสาม ทหารก็ใช้รถถังบุกเข้ามา แล้วก็ยิงด้วย คุณแม่บอก “อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก” นี่เป็นคำคมที่เราจำได้ตั้งแต่ตอนนั้น พอตอนรุ่งเช้าก็เพิ่มอีกประโยคหนึ่งถามว่า มาทำอะไร เขาบอกว่ามาเปลี่ยนรัฐบาล คุณแม่ก็บอกว่า  ทำไมไม่ไปที่สภาฯ ทำไมมาเปลี่ยนที่บ้านนี้ ก็สองโควตนี้่ 

เคท ครั้งพิบูลย์: ผู้หญิงในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีความแตกต่างกันอย่างไร 

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ: ในปีที่แล้วมีการเสวนารำลึกถึงท่านผู้หญิงเช่นเดียวกันในประเด็นนี้ คือมีความแตกต่างกันในแต่ละยุคอยู่แล้ว อย่างน้อยเราเห็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่สำคัญ ให้เห็นว่าหญิงไทยในสมัยก่อน และหญิงไทยในสมัยนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ท่านที่อยู่  ณ วันนี้คงมีความเข้าใจ และทราบดี ดิฉันคิดว่าอันหนึ่ง ที่มันยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมไทย หรือมันอาจจะเปลี่ยนไปบ้างแต่มันเป็นไปได้อย่างช้าอย่างที่มันควรจะเป็น คือ การที่เห็นคนเท่ากัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น แต่เห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์ มีความรักต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย เพศอะไรก็ตาม คุณมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน เราก็ยังไปไม่พ้น 100 เปอร์เซ็นต์จากการที่เราเห็นเพื่อนมนุษย์เท่าเทียมกันสักที อันนี้ต้องใช้เวลาค่ะ ไม่มีการอภิวัฒน์ใด ทำได้โดยฉับพลัน 

สิ่งหนึ่งที่ท่านผู้หญิงฯ พูดอยู่เสมอก็คือความหวัง ท่านหวังกับเด็กๆ ท่านพูดถึงเยาวชนการที่สังคมเรามีความอยุติธรรม คนในสังคมถูกกดขี่จากระบบโครงสร้าง ถูกชนชั้นนำ หรือ ระบบการศึกษาก็ตาม กลับทำให้คนมีความหวังเพื่อมากขึ้น ความกดขี่ การใช้อำนาจ หรือความอยุติธรรม ที่เกิดขึ้นทั้งหลายมันทำให้เด็กๆ และเยาวชน คนที่ตระหนักรู้ถึงความจริงกลับมีความหวังกับสังคมมากขึ้น นี่คือมรดกที่มันหล่อเลี้ยงความเป็นประชาธิปไตยได้อยู่ ตลอดไป 

เคท ครั้งพิบูลย์: ถามคุณประดิษฐ ประสาททอง ถ้าให้ทำละครต่ออยากเสนอมุมมองไหนเพิ่มเติมบ้างคะ 

ประดิษฐ ประสาททอง: มุมมองคู่ตรงข้ามของท่านปรีดี คือจอมพล ป. ที่เมื่อก่อนเรามองเป็นเหมือนขาวกับดำ แต่เมื่อข้อมูลใหม่ๆ มา มันไม่ใช่แล้วครับผมสนใจตรงนั้น ที่ผมสนใจมากกว่านั้น ถ้าผมมีโอกาสได้ทำบทละคร คือคำว่า แล้วทุกวันนี้ล่ะสิ่งที่ท่านเหล่านั้นได้สร้างไปมันอยู่ตรงไหนแล้ว มันยัง on going อยู่ 

เคท ครั้งพิบูลย์: คำถามสุดท้าย ในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่อาจารย์ปรีดี บอกว่าจะไปบวชที่พระนครศรีอยุธยา แต่ที่จริงคือไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง อยากทราบว่าท่านผู้หญิงเตรียมตัวอย่างไร 

ดุษฎี พนมยงค์: เกิดไม่ทันแต่คุณแม่เล่าให้ฟังว่า คุณแม่เพิ่งคลอดปาล พนมยงค์ วันที่ 24 มิถุนา ก็แค่หนึ่งเดือน และในคืนวันนั้นไม่รู้ทำไมว่า ลูกชายร้องไห้ทั้งคืนเลย แล้วคุณพ่อก็ลาไปบวช และคุณแม่ยังไปส่งที่หัวลำโพงเลย ไปส่งแล้วลงรถไฟไปไม่รู้ว่าไปลงสถานีสามเสนหรือบางซื่อแล้วคุณแม่ก็กลับบ้าน ไม่รู้เลย แล้วต่อมาก็ถึงเขียนจดหมาย 11 วันให้หลังว่าที่ทำไปนี่เพื่อคนส่วนใหญ่และเสมือนการบวชที่ทำบุญให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ดีขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณพ่อเขียน และคุณแม่อ่านแล้วก็คิดว่าเข้าใจ 

เคท ครั้งพิบูลย์: ในความหมายของ “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ได้บอกอะไรกับผู้ชมที่ได้ชมเพลงรัก 2475 บ้างคะ 

ประดิษฐ์ ประสาททอง: ก็อยากจะตอบเป็นเพลง เพลงสุดท้ายที่เตรียมมา เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ท่านผู้หญิง ตอนที่ท่านต้องเดินทางแล้ว  ปล่อยลูกๆ ไว้แล้วท่านก็สอนลูกว่า ในท่ามกลางหมู่มิตรที่คิดร้ายกับเราทั้งหลาย เราจงฟาดฟันกลับด้วยหลักธรรม เราไม่จำเป็นต้องเกลียดชังเขา เขาเกลียดเราได้แต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดเขาตอบ 

 

 



ที่มา: งานกิจกรรม PRIDI Talks #14 : 110 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี