ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

16
กุมภาพันธ์
2565

นโม พุทฺธาย 

ดูกรท่านสาธุชนทั้งหลาย 

วันนี้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2479 เป็นศุภดิถีมงคลสมัย วันมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต สมาชิกพุทธธรรมสมาคมได้มาชุมนุมพร้อมกันเพื่อบำเพ็ญกุศลตามคตินิยม

ณ โอกาสนี้ กรรมการพุทธธรรมสมาคมได้ขอให้ข้าพเจ้ามาเล่าเรื่อง การพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะสนองศรัทธาตามสติกำลัง แต่ทว่าเรื่องพุทธศาสนาในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ยืดยาวพิสดาร ยากที่จะร้อยกรองตบแต่งมาแสดงให้ถี่ถ้วนในชั่วเวลาอันน้อยเช่นนี้ เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงจำต้องขอแบ่งปาฐกถาเรื่องนี้ออกเป็นตอนๆ ในวันนี้ข้าพเจ้าจะขอแสดงแต่เพียงตอนแรก อันว่าด้วยคำปรารภทั่วไป และเมื่อโอกาสอำนวยให้ในภายภาคหน้า ข้าพเจ้าก็จะมีความยินดีแสดงในตอนอื่นๆ อีกต่อไป 

บัดนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านพิจารณาแผนที่แห่งพุทธจักรซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาแสดง ท่านจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาได้แผ่ไพศาลไปเกือบทั่วเอเชียทวีป แผ่เข้าไปในยุโรปและอาฟริกา พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งโรจน์ในศตวรรษที่ 3 แห่งพุทธศักราช คือ สมัยพระเจ้าอโศกราช ซึ่งทรงปรมาภิไธยภายหลังราชาภิเษกว่า “DEVANAM PRIYA” 

อธิราชพระองค์นี้ ภายหลังที่ได้ตีแคว้นกลิงคราษฎร์มาได้แล้ว ก็ทรงนึกสังเวชถึงไพร่พลทั้งสองฝ่ายที่ล้มตายไป ทรงปรารภว่า ชัยชนะอันแท้จริงนั้น คือ ชัยชนะในทางธรรม และธรรมอันใดเล่าจะประเสริฐยิ่งไปกว่าธรรมแห่งพุทธศาสนาที่มีหลักการนำความสงบมาสู่ตนและสู่โลก พระองค์เล็งเห็นมั่นเช่นนั้น จึงได้เผยแพร่พุทธศาสนาทั่วอาณาจักรของพระองค์และแผ่ไปในแคว้นอื่นๆ ในอินเดียจนถึงสุวรรณภูมิแผ่ไปในเปอร์เซีย แล้วเลยไปถึงยุโรปและอาฟริกา 

ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คงทราบแล้วว่า ในสมัยนั้น กรีกกับอินเดียได้มีการติดต่อระหว่างกัน อเล็กซานเดอร์มหาราช ได้ยกกองทัพข้ามมาถึงภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียแล้วแต่ต้องถอยทัพกลับ  ซีลิอูโกส นายทหารแห่งมาเซโดเนีย ซึ่งภายหลังเป็นกษัตริย์แห่งไซเรีย ยกกองทัพข้ามมาที่อินเดีย แต่ต้องพ่ายแพ้ พระเจ้าจันทราคุปต์ กษัตริย์แห่งมคธรัฐ ผู้ทรงเป็นพระไอยิกาของพระเจ้าอโศกมหาราช  เมื่อสงบศึกแล้วก็ได้มีเอกอัครราชทูตของซีลิอูโกสมาประจําราชสํานักมคธรัฐ การติดต่อระหว่างอินเดียกับกรีกเป็นมาโดยราบรื่นตลอดถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช 

ในสมัยนั้น ทางฝ่ายยุโรปได้มีการรบพุ่งกันระหว่างกษัตริย์กรีก และคงจะเป็นด้วยพระเจ้าอโศกราชทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันเหมาะแล้วที่จะชักนำให้กษัตริย์ต่างๆ ดังกล่าวสงบศึกสงครามกัน พระองค์จึงได้ส่งทูตเชิญพระธรรมไปแสดง ซึ่งปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกราชกฤษฎีการที่ 13 เป็นในความว่า ชัยชนะโดยทางธรรมนี้พระองค์ได้มาแล้วในอาณาจักรของพระองค์ ในแคว้นใกล้เคียงและในแคว้นแห่งกษัตริย์โยนะ ทรงพระนามเรียกตามภาษาปรากฤตว่า “แอนติโยกา” (ตรงกับแอนติโอกุสที่ 2 แห่งไซเรีย 260-247 ก่อนคริสต์) และ อีก 4 กษัตริย์ทรงพระนามว่า “ตุลามายา” (ตรงกับปโตเลมีย์ที่ 2 แห่งอียิปต์ 285 - 247 ก่อนคริสต์) “แอนติกินา” (ตรงกับแอนติโกนุส โกนาตัสแห่งมาเซโดเนีย 276-230 ก่อนคริสต์) “มากา” (ตรงกับมากาสแห่งซีรีน หรือ ตริโปลีทุกวันนี้ 300 250 ก่อนคริสต์) “อาลิกียาษุดาลา” (ตรงกับอเล็กซานเดอณ์แห่งเอบีรัส 272-255 ก่อนคริสต์) หรือ อเล็กซานเดอร์แห่งโครินทร์ 252-244 ก่อนคริสต์) ภายหลังสมัยที่พระเจ้าอโศกราชได้แผ่พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ราว 3 ศตวรรษ ก็ได้มีพระเยซูคริสต์เกิดขึ้นในเยรูซาเล็ม แคว้นซีเรียซึ่ง ณ แคว้นนี้พระเจ้าอโศกราชได้เคยส่งสาส์นทูตไปเผยแพร่แล้ว 

ต่อมาเมื่อ พระเจ้ากนิษกะ ได้ทรงมีอำนาจในอินเดีย คือ ในราวศตวรรษที่ 7 แห่งพุทธศักราช พุทธศาสนาได้เฟื่องฟูขึ้นอีก โดยอธิราชพระองค์นี้ได้ทรงเผยแพร่พระธรรมไปในจีน ญี่ปุ่น ซึ่งยังปรากฏว่า จีนและญี่ปุ่นยังคงถือพุทธศาสนาอยู่จนทุกวันนี้ 

หลังจากการเผยแพร่ของพระเจ้าอโศกราชและพระเจ้ากนิษกะแล้ว พุทธศาสนาก็หยุดชะงักลงเพียงนั้น มิได้รับการเผยแพร่ให้กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้นอีกต่อมาเป็นเวลาช้านาน แต่ในระหว่างนั้นบางประเทศที่พุทธศาสนาได้แผ่ไปถึง เช่น สยาม พม่า เขมร ลังกา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น ได้มีการฟื้นฟูและการติดต่อซึ่งกันและกันอยู่บ้าง ในอันที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคงเพียงในขอบเขตของตนเท่านั้น 

ส่วนในอินเดียซึ่งเป็นแหล่งเดิมแห่งพุทธศาสนานั้น พุทธศาสนาได้เสื่อมลงโดยมิอาจต่อต้านอำนาจแห่งศาสนาอื่น เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้สงบไม่ใช้การรุนแรง ผู้ใดเลื่อมใสก็นับถือ ไม่เลื่อมใสก็ไม่นับถือ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ แต่ผู้ใดถือธรรมที่ดี กรรมที่ดีก็ย่อมตามสนอง ข้อนี้ได้เห็นชัดอยู่แล้ว 

ในขณะที่พระพุทธศาสนาหยุดชะงักอยู่นั้น นานาประเทศกําลังแสวงหาธรรมะอันจะเป็นเครื่องชักจูงให้ต่างประเทศ จําต้องประพฤติในทางที่ดีที่ชอบต่อกัน จึงได้มีธรรมะระหว่างประเทศขึ้น แต่ธรรมะระหว่างประเทศไม่มีผลบังคับจริงจังในทางโลก เหตุฉะนั้น บางประเทศก็อาจไม่ประพฤติตาม แต่ถ้าหากธรรมะระหว่างประเทศจะอาศัยศาสนาเข้าช่วยเพาะในจิตใจของมนุษย์ด้วยแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลักความเกี่ยวพันระหว่างประเทศจะดีกว่าไม่มีผลบังคับจริงจังเสียเลย ดั่งเช่นทุกวันนี้ ธรรมะซึ่งนานาประเทศพึงประสงค์นั้นมีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนานี้เอง 

เหตุฉะนั้น เมื่อปราชญ์ชาวตะวันตกได้เข้าไปศึกษาและค้นคว้าอารยธรรมโบราณของอินเดีย ในบรรดาสิ่งที่ขุดค้นมาได้นั้น มีศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกราชที่ทําให้สะดุดใจชาวตะวันตก ซึ่งเมื่อได้มีผู้แปลคำจารึกออกเป็นภาษาต่างประเทศแล้วคงได้แก่นธรรมของพุทธศาสนา เป็นต้นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาสอนความจริงซึ่งอาจพิสูจน์ได้ (เอหิปัสสิโก) พุทธศาสนาสอนให้รู้ว่าความดีความชั่วที่บุคคลได้มีได้เป็นขึ้นก็เพราะอาศัยการกระทำของตน ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอก พุทธศาสนาไม่มีการใช้อำนาจ ไม่มีการถือพวกถือเหล่า แต่เป็นหลักความจริงซึ่งตั้งไว้เป็นอย่างกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งใช้ได้ทุกกาลทุกสมัย (อกาลิโก) พุทธศาสนาสอนให้แผ่เมตตาจิตทั่วๆ ไป ตั้งต้นแต่ตนตลอดจนบุคคลอื่น ไม่เลือกชาติและศาสนากับรวมทั้งสัตว์เดียรฉานด้วย พุทธศาสนามีวิธีการซักฟอกดวงจิตให้สะอาดผ่องใส อันเป็นวิธีที่อบรมความสงบอย่างสูง ทั้งในส่วนบุคคลและส่วนประเทศ 

ดั่งนี้แล้ว พุทธศาสนาก็เริ่มจะฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังขาดการเผยแพร่อยู่นั่นเอง 

ใน พ.ศ. 2434 นายพันเอก ห.ส. ออลคอต (Colnel H.S. Olcott) ชาวอเมริกันผู้ถือพุทธศาสนาที่ลังกา ได้เชิญเถระทั้งฝ่ายมหายานและหินยานแห่งญี่ปุ่น พม่า ลังกา และมองโกเลีย ไปประชุมปรึกษาหารือที่เมืองมะคราส อินเดีย เพื่อสรุปความเชื่ออันร่วมกันของนิกายต่างๆ ในพุทธศาสนารวม 16 ข้อ ซึ่งนายกคนก่อนของพุทธธรรมสมาคมได้พิมพ์แจกในวันเปิดพุทธธรรมสมาคม ณ วันมาฆบูชา พ.ศ. 2476 นั้นแล้ว 

พ.ศ. 2435 ท่านอานาคาริก ธรรมบาล ชาวสิงหาฬ ผู้ร่วมงานกับนายพันเอกออลคอต ได้ตั้งมหาโพธิสมาคม (The MAHA Bodhi Society) ขึ้นด้วยวัตถุที่ประสงค์ในอันที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาด้วยวิธีออกหนังสือพิมพ์รายคาบชื่อ มหาโพธิ เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงแห่งพุทธวัจนะและชักชวนให้เลื่อมใสในพุทธศาสนา หนังสือพิมพ์รายคาบนี้ได้แพร่หลายไปยังยุโรปและอเมริกาโดยเร็ว 

พ.ศ. 2436 ได้มีการประชุมสันนิบาตศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่เมืองชิคาโกในสหรัฐอเมริกา ท่านอานาคาริก ธรรมบาล ได้เข้าประชุมเป็นผู้แทนพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกาที่ใคร่เชื่อศาสนาตามแนวเหตุผลหันมาเชื่อพุทธศาสนากันบ้างแล้ว 

ตอนกลับจากการประชุม ท่านอานาคาริก ธรรมบาล ได้แวะที่เกาะฮอนโนลูลู และได้พบปะกับ นางมารี อี. ฟอสเตอร์ (Mrs. Mary E. Foster) ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาและได้บริจาคเงินส่วนใหญ่ช่วยในการสร้างวิทยาลัยที่สารนาถที่อินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ฮอนโนลูลูมีคนเลื่อมใสในพุทธศาสนามากเป็นลําดับมานับตั้งแต่ครั้งนั้น นับว่าพุทธศาสนาได้กลับฟื้นขึ้นอีกในแหล่งเดิม ดั่งนี้ ถ้าหากพุทธศาสนาได้มีวิธีการเผยแพร่ธรรมะให้แพร่ไปในนานาประเทศแล้ว โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ก็จะมีสันติสุขหาน้อยไม่ 

นอกจากท่านที่เอาใจใส่ในการเผยแพร่ซึ่งข้าพเจ้าอ้างมาแล้วในตอนต้น ข้าพเจ้าขอชมเชยผู้ที่ถือนิกายมหายานว่า ได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้มากเหมือนกัน และใช้วิธีเผยแพร่เหมาะแก่กาลเทศะ ความแข็งกระด้างแห่งนิสัยสันดานย่อมจะต้องทำให้ลดละด้วยความอ่อนหวาน ผู้ถือนิกายมหายานบางพวกสวดมนต์ประกอบด้วยเสียงดนตรีดังจะเห็นได้ที่เกาะฮาวาย ซึ่งพุทธศาสนาได้เผยแพร่ได้ผลมาก 

ในอรรถกถาธรรมบทเรื่องนางรูปนนทเถรีก็ได้กล่าวถึงบุคคลที่เลื่อมใสใน พระพุทธเจ้าด้วยเหตุ 4 ประการ 

1. รูปปมาณิก เห็นว่า พระพุทธเจ้ามีพระรูปลักษณะงดงามสะสวย

2. โฆสปมาณิก เห็นว่า พระพุทธเจ้าอุโฆษด้วยเกียรติคุณ และการแสดงธรรม

3. ลูขปมาฝึก เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเครื่องแต่งกายอย่างเรียบๆ

4. ธัมมปมาณิก เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงศีลสมาธิปัญญาเป็นอย่างดีไม่มีใครเสมอเหมือนหรือเทียมเท่าพระองค์ด้วยคุณธรรม มีศีล เป็นต้น 

ดั่งนี้ ข้าพเจ้าก็มีความปรารถนาที่จะเชิญชวนให้พุทธธรรมมิกทั้งหลายได้ช่วยกันคิดหาทางเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างประเทศ ให้สมดั่งที่พระเจ้าอโศกราช ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า “ชัยชนะอันแท้จริงนั้น คือ ชัยชนะในทางธรรม” 

ในการเรียบเรียงปาฐกถานี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณ พระราชธรรมนิเทศ และ นายเสงี่ยม อำพรสุต ที่ได้ช่วยเหลือ และขอบคุณ นายสงัด มุสิกถาวร ที่ได้ช่วยเขียนแผนที่ 

ในที่สุด ขอขอบคุณท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้ให้เกียรติยศแก่ข้าพเจ้าในการมาฟังปาฐกถานี้ ขอผลแห่งเนื้อนาบุญที่ท่านได้บำเพ็ญวันนี้ จงเป็นกรรมตามสนองให้ท่านประสบความสุขสำราญ 

ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ 

ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมให้สมุทรสาครบริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ฉันนั้น 

ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน 

ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์เหมือนกับจันทร์วันเพ็ญ และแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดีฉันนั้นเถิด 

สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ

ความร้ายทั้งปวง จงหายไป

โรคทั้งปวง จงหายขาด

อันตราย จงอย่ามีแก่ท่าน 

ท่านจงมีความสุข มีอายุยืน 

ผู้ที่เคารพต่อผู้เฒ่าเป็นเนืองนิตย่อมเจริญไปด้วยธรรม 4 ประการ คือ อายุ วัณโณ สุขํ พลํ

 

13 มกราคม 2478 หลวงแลนางประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางไปยังวัดนิเสนจิ และได้ประกอบพิธีพุทธมามกะตามลัทธิมหายาน ภาพจากหนังสือ วิสาขะ รำลึก 2479 โดยความเอื้อเฟื้อจากคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์'
13 มกราคม 2478
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ นางประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางไปยังวัดนิเสนจิ
ได้ประกอบพิธีพุทธมามกะตามลัทธิมหายาน
ที่มา : หนังสือ วิสาขะ รำลึก 2479 
เอื้อเฟื้อภาพ : คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์

 

ที่มา : ปาฐกถาที่แสดงในวันมาฆบูชา ณ พุทธธรรมสมาคม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2479 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2528, น. 46-51.