ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความสําคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

6
สิงหาคม
2563

เมื่อกรกฎาคม 2480 กระทรวงการต่างประเทศไทยได้พิมพ์เอกสารเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ ประเทศสยามผู้รักความสงบ และนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยาม (Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangere du Gouvernement Siamois) เอกสารนี้มีคําอธิบายบนหน้าปกใน ลักษณะเป็นชื่อหลั่นรองว่า “ข้อความจากสุนทรพจน์และคําแถลงต่อหนังสือพิมพ์ของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสยาม”

รายการสุนทรพจน์และคําแถลงที่เสนอในเอกสาร มีดังนี้

- นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยาม : คําแปลคําแถลงต่อหนังสือพิมพ์ของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในโอกาสเข้ารับตําแหน่งเป็น

- คําแปลสุนทรพจน์กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสวันครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อ 27 มิถุนายน 2479

- คําแปลคําแถลงต่อหนังสือพิมพ์ของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศและสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "Le Siam daujourd'hui” ฉบับมกราคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2479)

- คําแปลสุนทรพจน์กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสวันครบรอบปีที่ 5 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อ 27 มิถุนายน 2480

เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานของรัฐบาลในระยะเวลา 5 ปีของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

นายเฟรเดริค อาร์ ดอลแบร์ (FREDERIC R. DOLBEARE) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เขียนคํานําเอกสารเล่มนี้ ได้กล่าวถึงการประเมินผลงานของกระทรวงการต่างประเทศในระยะนั้นว่า

“ภารกิจเช่นนี้มิใช่เป็นเรื่องง่ายสําหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ เนื่องจากงานของเขาที่ได้มีการปฏิบัติด้วยมโนธรรมสํานึกและด้วยความแข็งขันเกี่ยวพันกับการปฏิบัติงานของรัฐบาลในทุกระยะอย่างใกล้ชิด รัฐมนตรีฯ เป็นผู้ดูแลรักษาชื่อเสียงที่ดีของประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศที่สามารถต้องอยู่ในฐานะที่จะอธิบายและปกป้องนโยบายของประเทศได้ เขาต้องมีความสามารถในด้านการสดับตรับฟังในลักษณะที่จะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในต่างประเทศ  นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายความสามารถของเขาจะไม่มีประโยชน์อะไรหากเขาปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ยืดเยื้อไปและมิได้ดําเนินการให้เป็นผลสําเร็จเกี่ยวกับเรื่องนี้

“เราอาจกล่าวได้ว่า สยามเป็นประเทศที่โชคดี รัฐมนตรีต่างประเทศของเขายังหนุ่มแน่นอยู่ เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและความกระปรี้กระเปร่าของคนหนุ่มที่มีสุขภาพดี นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้มีประสบการณ์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะกับตําแหน่งหน้าที่ของเขา”

หลังจากได้กล่าวถึงประวัติการศึกษาและการทํางานของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้ว นายดอลแบร์ได้กล่าวถึงบทความและสุนทรพจน์ในเอกสารว่า แสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนบทความเป็นผู้มีความรักชาติอย่างมาก

นายดอลแบร์ ได้กล่าวด้วยว่า

“บทความและสุนทรพจน์เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาหลายอย่าง และลักษณะต่าง ๆ ของชีวิตชาวสยาม แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ความคิดหลักสองประการ ได้แก่ การรักสันติภาพ และการปฏิบัติตามธรรมะ (ศีลธรรม) ทั้งในการดําเนินชีวิตของบุคคลและในด้านกิจการระหว่างประเทศ

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประชาชาติต่าง ๆ เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา จําเป็นต้องมีเพื่อน และว่ารัฐบาลสยามตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามวิถีทางแห่งธรรมะ (ศีลธรรม) เท่านั้นที่รัฐบาลจะอยู่ในฐานะที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่าง ๆ ได้”

หลักความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่องความสําคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ผู้อ่านคํานําของนายดอลแบร์หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้อาจจะหยุดคิดเพียงชั่วครู่ และผ่านไปโดยมิได้ให้ความสนใจอย่างใดต่อไปอีกเช่นเดียวกับผู้เขียนบทความนี้ก่อนที่จะได้พบหนังสือเล่มหนึ่ง เมื่อประมาณห้าปีที่ผ่านมา

หนังสือนี้คือ Plans for World Peace through Six Centuries (แผนต่าง ๆ สําหรับสันติภาพของโลกตลอดระยะเวลาหกศตวรรษที่ผ่านมา) ศาสตราจารย์ SYLVESTER JOHN HEMLEBEN แห่งมหาวิทยาลัย FORDHAM เป็นผู้เขียน และสํานักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกเป็นผู้พิมพ์จําหน่ายครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1943 ฉบับที่ผู้เขียนบทความนี้มีเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อ ค.ศ. 1945 ซึ่งแสดงว่าหนังสือนี้เป็นเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านหลายคนในระยะนั้นให้ความสนใจ

หลังจากที่ได้เสนอว่าเหตุใดแผนเพื่อสันติภาพต่าง ๆ ในอดีตจึงมิได้ผล ศาสตราจารย์เฮมเลเบนได้กล่าวอย่างหนักแน่นในบทสุดท้ายของหนังสือว่า “สันติภาพถาวรจะมีได้ก็ต่อเมื่อเราถือว่ารัฐเป็นเสมือนบุคคลธรรมดา ซึ่งควรเป็นผู้อยู่ในศีลธรรม และต่อเมื่อเราได้นําศีลธรรมมาเป็นมูลฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (Not until we regard a state as a moral person and not until we place international relations on a moral basis shall we have permanent peace.)

ศาสตราจารย์เฮมเลเบน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ ได้พูดถึงศีลธรรมในความหมายที่เกี่ยวโยงถึงพระเจ้าตามความเชื่อถือทางศาสนาของเขา

สําหรับคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนนั้น ผู้เขียนบทความนี้ใคร่ขอให้ผู้อ่านพิจารณาและใคร่ครวญดูความหมายของ “การปฏิบัติธรรมะ” ซึ่งท่านปัญญานันทภิกขุเคยอธิบายไว้ ดังนี้

“ถ้าเราได้ปฏิบัติธรรมะอยู่ทุกเวลาแล้ว เราจะเป็นทุกข์กับใครไม่เป็น เราจะมีแต่ความสงบใจ จะมีแต่เรื่องสร้างสรรค์ จะไม่มีเรื่องทําลาย จะไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เห็นทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน คอยช่วยเหลือเจือจุนกันฉันญาติพี่น้อง คิดอยู่ในใจว่าเราเป็นสุขก็ให้คนอื่นเป็นสุขด้วย เราพ้นทุกข์ก็ขอให้คนอื่นได้พ้นทุกข์ด้วย อย่างนี้เรียกว่า เป็นอยู่อย่างผู้มีธรรมะ[1]

ข้อความที่ผู้เขียนบทความนี้ได้เน้นไว้ในวรรคข้างต้น เป็นเรื่องของภราดรภาพซึ่งเป็นหลักความคิดสําคัญหลักหนึ่งของประชาธิปไตย นอกเหนือจากเสรีภาพและความเสมอภาค

โปรดเทียบเคียงหลัก “การปฏิบัติธรรมะ” กับบทบัญญัติข้อ 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีข้อความดังนี้

“มนุษย์ทั้งมวลเกิดมาเป็นอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่าง ๆ มนุษย์ทั้งหลายโดยธรรมชาติเป็นผู้มีเหตุผลและมโนธรรมสํานึก และ ควรปฏิบัติต่อกันด้วยน้ําใจของการเป็นพี่น้องกัน (All human beings are bom free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brother hood.)

คํากล่าวบางตอนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง สันติภาพ ธรรมะ ศีลธรรม รัฐธรรมนูญ ในหนังสือ ประเทศสยามผู้รักความสงบ มีดังนี้

- ท่านปรีดี ได้พูดถึงความเชื่อถือที่ต่างประเทศให้แก่ไทยว่า “ทุกคนเชื่อถือเราเพราะทุกคนทราบว่า ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นระบอบที่อาจนําสันติภาพมาให้มนุษยชาติได้ ทุกคนรู้ว่าเราฟังเสียงของประชาชนแทนที่จะกระทําในลักษณะอําเภอใจ เขารู้ว่าประชาชนปรารถนาความสุขและรู้ว่าเราเป็นผู้นํา ความสุขในรูปอุดมคติคือ สันติภาพ (สันติสุข) มาให้ประชาชน” (On croit en nous parce qu'on sait un régime constitutionnel est un régime capable d'apporter la Paix a l'humanité, parce qu'on sait que nous écoutons la voix du peuple au lieu d'agir de façon arbitraire, que le peuple désire le bonheur et que nous lui apportons ce bonheur sous sa forme idéale qui est la paix.)

- รัฐธรรมนูญเป็นธรรมะอันสูงสุดแห่งการที่ประชาชนชาวสยามจะดํารงคงอยู่ได้เป็นประเทศเอกราชท่านที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ ท่านที่ปฏิบัติตามธรรมะ ผลานิสงส์พึงบังเกิดแก่ท่านเอง”

- ประชาชนต้องปฏิบัติธรรมะ (ศีลธรรม) อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรณีจะเป็นเช่นเดียวกันสําหรับรัฐธรรมะ (ศีลธรรม) เป็นเรื่องสําคัญยิ่ง รัฐบาลต้องยึดถือธรรมะ (ศีลธรรม) เป็นหลัก ในการบริหารประเทศ

- “ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประชาชาติต่าง ๆ เช่นเดียวกับบุคคลโดยทั่วไปจะต้องมีเพื่อนและจะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้... อะไรคือปัจจัยที่จะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ? เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่า การปฏิบัติตามธรรมะ (ศีลธรรม) เท่านั้นที่จะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดี

- ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ เมื่อ 27 มิถุนายน 2480 ท่านปรีดีได้กล่าวถึงสุภาษิต “โลโกปถมฺภิกา เมตตา - เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่ง และท่านปรีดีได้ขอให้คนไทยทั้งมวลรักษาและปฏิบัติตามธรรมะ (ศีลธรรม) ทั้งในเรื่องส่วนตัวและในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและขอให้รักษาระบอบรัฐธรรมนูญไว้อย่างมั่นคง

เป็นที่น่าพึงว่าในระยะที่ท่านปรีดีพูดถึงหลักความคิดเรื่องธรรมะและศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ท่านมีอายุเพียง 35  ถึง 38 ปี เท่านั้น และท่านได้พูดเรื่องนี้ก่อนที่ประธานาธิบดี คาร์เตอร์ และคลินตันแห่งสหรัฐฯ จะได้พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเวลาประมาณ 39 และ 54 ปี ตามลําดับ

เป็นที่น่าทึ่งด้วยว่า หลังจากท่านปรีดีได้พ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว เรื่องสันติภาพของภูมิภาคและของโลกยังคงอยู่ในความนึกคิดของท่านตลอดเวลาและท่านได้แสดงออกในเรื่องนี้ ด้วยการสร้างภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ในระหว่างที่ท่านดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ฯพณฯ วงศ์ พลนิกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ในระยะปลายและหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วย “ความเป็นผู้มีธรรมในใจ” ของท่านปรีดี “ท่านเองและบรรดาผู้นําเสรีไทยในภาคอีสานหลายท่านตลอดจนรัฐบาลในสมัยนั้น จึงมีความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนประชาชนในอินโดจีนที่ต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของตนเอง นอกจากนั้น ท่านยังสนับสนุนให้เปิดประชุมระหว่างผู้นําทางการเมืองในภูมิภาคนี้ที่กรุงเทพฯ และได้ตกลงจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น.... แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แนวความคิดดังกล่าวต้องเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อปี 2490.....”

ฯพณฯ วงศ์ พลนิกร ได้กล่าวด้วยว่า “สําหรับท่านปรีดี พนมยงค์ อย่างที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปแล้วว่า ความชอบธรรมและธรรม คือสิ่งที่ท่านยึดถือและหวงแหนเหนือกว่าสิ่งใดทั้งสิ้นตลอดชีวิตของท่าน ฉะนั้น จึงไม่แปลกประหลาดที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องและนับถือจากผู้นําทางการเมืองและประชาชนของอินโดจีนมากระทั่งถึงปัจจุบัน”[2]

ผลงานการสนับสนุนศีลธรรมและเสริมสร้างสันติภาพที่มีคุณค่าอย่างหนึ่งของท่านปรีดี พนมยงค์ คือหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ซึ่งท่านได้เขียนเมื่อ 36 ปีมาแล้ว

ใน ความเป็นอนิจจังของสังคม ท่านปรีดีกล่าวว่า

“มีพุทธทํานายไว้ว่า ในปลายพุทธศาสนายุกาล มนุษยชาติจะเข้าสู่มิคสัญญี เพราะศีลธรรมเสื่อมทรามลง จึงมีแต่การรบราฆ่าฟันและเบียดเบียนกัน สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้น ดังที่มีผู้ประพันธ์เป็นร้อยกรองไว้ว่า

กระเบื้องจะเพื่องฟูลอย
น้ําเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ที่จะเดินตรอก
ขี้ครอกจะเดินถนน

“ไฟบรรลัยกัลป์จะล้างโลกที่โสมม ครั้นแล้ว ยุคใหม่คือ ยุคศรีอารยเมตไตรย  ก็จะอุบัติขึ้นในยุคใหม่ มนุษยชาติจะอยู่รวมกันด้วยความเมตตาปรานีระหว่างกัน บุคคลจะเสมอเหมือนกัน.....ความสะดวกในการคมนาคมและความอุดม สมบูรณ์ของชีวปัจจัยก็หลั่งไหลเหลือคณนานับประดุจว่ามีต้นกัลปพฤกษ์ทุกมุมเมือง..... ฯลฯ”

ท่านปรีดีว่า แก่นธรรมของพระอรรถกถาจารย์ที่กล่าวถึงพุทธทํานาย ก็คือกฎแห่งอนิจจังของพระพุทธศาสนา คือ “สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มิได้นิ่งคงอยู่กับที่...มนุษยสังคมก็ดําเนินไปตามกฎแห่งอนิจจัง...คือระบบเก่าย่อมดําเนินเข้าสู่ความเสื่อมสลาย เช่นเดียวกับสังขารทั้งหลาย ส่วนระบบที่เกิดใหม่ก็เจริญเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตต่อไปได้อีกก็ดําเนินเข้าสู่ความเสื่อมสลาย โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่าสืบต่อกันเป็นช่วง ๆ ไป...”

และท่านได้กล่าวว่า ยุคมิคสัญญี นั้น เป็นถ้อยคําที่พระอรรถกถาจารย์ได้อุปมาไว้สําหรับมนุษยสังคมที่มีระบบกดขี่เบียดเบียน ซึ่งแม้แต่จะอยู่ได้เป็นเวลานานและเติบโตขึ้นเป็นลําดับก็ตาม แต่ก็ต้องเสื่อมสลายในที่สุด การรบราฆ่าฟันและการมีแต่เบียดเบียนกันในยุคนี้ (เมื่อ 36 ปีมาแล้ว) แสดงว่าระบบกดขี่เบียดเบียนได้เข้าสู่ความเสื่อมอย่างร้ายแรงมาก..พระอรรถกถาจารย์ย่อมรู้ดีถึงกฎแห่งการต่อสู้ว่า คนส่วนมาก (กลุ่มกระเบื้องผู้ถูกเบียดเบียน) ของมนุษยสังคม ต้องได้ชัยชนะคนส่วนน้อย (กลุ่มน้ําเต้าผู้เบียดเบียน) เช่นในทางรัฐสภา เราก็อาจเห็นได้ว่าเสียงข้างมากย่อมชนะเสียงข้างน้อย ชัยชนะในการต่อสู้ขั้นสุดท้ายจึงเป็นของสมาชิกส่วนมากของสังคม...”

ในบทสุดท้ายของ ความเป็นอนิจจังของสังคม ท่านปรีดีได้เชิญชวนให้ผู้อ่าน “โปรดใช้ทฤษฎีผัสสะแห่งพระพุทธศาสนาสมานกับกิจกรรมของมนุษยชาติที่สัมผัสท่านอยู่ในปัจจุบันและเคยสัมผัสมาแล้วในอดีต ท่านก็อาจใช้วิจารณญาณมองเห็น กฎแห่งอนิจจัง เป็นสัจจะสําหรับโลกและสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งมนุษยสังคม ท่านคงเห็นได้ด้วยตนเองว่า คําสั่งสอนของพระอรรถกถาจารย์ เรื่องการวิวรรตของมนุษยสังคมที่จะต้องเข้าสู่ ยุคมิคสัญญีและยุคศรีอารยเมตไตรย นั้น ได้ประจักษ์ขึ้นบ้างแล้วในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหาไม่

ข้อเขียนของท่านปรีดี มิใช่เรื่องเศร้าตามความของคําว่า “อนิจจัง” สําหรับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยหลายท่านในบางโอกาส

ท่านได้เขียนว่า

- “ระบบสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วหลายทอดนั้น ย่อมเข้าสู่ระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเสมอ…. ทั้งนี้ ก็เพราะตามกฎธรรมชาตินั้น สิ่งทั้งหลายย่อมพัฒนาจากปริมาณเข้าสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้นเสมอ

- พุทธทํานายที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ มีลักษณะเป็นเรื่องชาดก ซึ่งสั่งสอนให้ทุกคนประพฤติธรรม เงื่อนเวลาที่ว่ายุคมิคสัญญีและยุคศรีอารยเมตไตรยจะเกิดในระยะปลายพุทธศาสนาซึ่งยังไกลโพ้นอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องสําคัญ สาระคําสั่งสอนเรื่องนี้อยู่ที่เงื่อนไข คือ “เมื่อศีลธรรมเสื่อมทรามลง มีการขัดแย้งเบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์แล้ว สภาพการณ์ที่ท่าน (พระอรรถกถาจารย์) กล่าวไว้จึงเกิดขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้สึกนึกคิดบางประการของมนุษยชาตินับ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เป็นเรื่องที่น่าติดตามดูมาก เช่น

- ประเทศชนะสงครามต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้แพ้ เพื่อความอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย (กรณีที่ประเทศไทยต้องส่งข้าวจํานวนหนึ่งให้อังกฤษเป็นการให้เปล่า เป็นกรณียกเว้น) หลักความคิดนี้เป็นเรื่องตรงข้ามกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศผู้แพ้สงครามต้องจ่ายเงินให้ผู้ชนะ

- ได้มีการยอมรับนับถือว่าความเหลื่อมล้ำกันในทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคสําคัญของการสร้างสันติภาพ และได้มีการเรียกร้องในสมัชชาสหประชาชาติทุกปี ให้มีการดําเนินการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กําลังพัฒนา ในขณะนี้การให้และรับความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ในสังคมโลกเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ประเทศไทยเองในเวลาต่อไปก็คงจะต้องมีฐานะเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือมากกว่าเป็นประเทศผู้รับ

- เมื่อ 10 ปี มานี้เอง ประธานาธิบดีเรแกนแห่งสหรัฐฯ ได้ประณามสหภาพโซเวียตว่าเป็น “อาณาจักรชั่วร้าย” (evil empire) และเตรียมที่จะทุ่มเงินเพื่อสร้างจรวดต่อต้านจรวดของฝ่ายสหภาพโซเวียต ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯไม่มีเงินที่จะกระทําเช่นนั้น แต่ปัจจุบันได้มีการเป็นมิตรกันและการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างผู้นําของประเทศทั้งสอง

- ตําราวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ เห็นแก่ตัวและคํานึงถึงผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของประเทศ (national interest) เป็นหลักนั้นได้กลายเป็นตําราที่ล้าสมัยไปแล้ว สิ่งที่มีการพูดถึงในขณะนี้คือ การพึ่งพาอาศัยกัน (interdependence) การมีส่วนได้เสียอย่างใกล้ชิดแนบแน่นกัน (intertwined interest)[3] การหาทางและดําเนินการให้ประเทศต่าง ๆ มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (การสร้างและดําเนิน confidence building measures) การอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีพรมแดน (เช่น ประชาคมยุโรป) และคําไพเราะอื่น ๆ ที่จะช่วยให้มีการปรองดองกันระหว่างประเทศ

- การแบ่งแยกเรื่องผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อสันติภาพของโลกกําลังจะสลายไปซึ่งจะส่งผลในทางที่ดีต่อความรู้สึกรังเกียจผิวและอคติอย่างอื่นในประเทศต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ

- การตกลงกันได้ในระดับหนึ่งระหว่างประเทศอิสราเอลกับประเทศอาหรับคงจะมีขึ้นได้ใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ และหากความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกันรวมทั้งการนับถือพระเจ้าเช่นเดียวกัน จะถึงระดับมีการปรองดองกันได้แล้วจะเป็นผลดีต่อสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่หลายอย่างของสังคมโลก รวมทั้งปัญหาเรื่องความแตกต่างในด้านเชื้อชาติและศาสนา

- การเปลี่ยนแปลงในทางความคิดเห็นของโลกที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นนั้น ผู้เขียนบทความนี้ขอกล่าวถึงเรื่องที่ได้เคยพบเห็นและเป็นที่ประทับใจผู้เขียนมากเรื่องหนึ่ง คือ ในการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือทางเกษตรระหว่างไทยกับมาเลเซียที่เชียงใหม่ เมื่อ 12-13  ปีที่ผ่านมา เมื่อได้มีการพิจารณาถึงการร่วมมือกันพัฒนาแม่น้ำโกลกที่เป็นเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ฝ่ายมาเลเซียได้ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาดําเนินการให้ประชาชนฝั่งไทยมีความเป็นอยู่เท่าเทียมกันกับประชาชนฝั่งมาเลเซียด้วย เพื่อความสุขของประชาชนทั้งสองฝั่ง (ไม่ให้มีการข้ามเขตแดนไปขโมยวัวควายกัน) หากข้าราชการทุกระดับและทุกกระทรวงของมาเลเซียและข้าราชการทุกระดับและทุกกระทรวงของไทยจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันดังเช่นผู้แทนกระทรวงเกษตรมาเลเซียคณะนี้ เรื่องการระหองระแหงกันเป็นครั้งคราวตามชายแดนไทย-มาเลเซีย คงจะไม่เกิดขึ้น

- อีก 4 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 1997) เกาะฮ่องกงซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ จะเป็นของจีน โดยจีนกล่าวว่าจะให้คนฮ่องกงมีความเป็นอยู่เช่นปัจจุบันต่อไปอีก 50 ปี ข่าวเกี่ยวกับฮ่องกงและจีนเวลานี้มีเรื่องคนฮ่องกงคิดอพยพไปที่อื่นบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ข่าวใหญ่และสําคัญในขณะนี้ คือ เรื่องนักธุรกิจทั้งจากฮ่องกงและต่างประเทศแห่แหนกันไปลงทุนในจีน ปรากฏการณ์เช่นนี้ควรเป็นสิ่งที่สนับสนุนความเชื่อของหลายคนเกี่ยวกับทิศทางของลัทธิสังคมนิยมกับระบบเศรษฐกิจที่อาศัยธุรกิจเอกชนและกลไกตลาดเป็นหลักว่าในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็จะไปพบกันเป็นจุดเดียวกัน (point of convergence) ทั้งนี้ โดยคํานึงว่าทั้งสองระบบมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือความผาสุกของคนส่วนใหญ่ในสังคม

- ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษยชาติ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำมันและทรัพยากรอื่น ๆ ของโลก รวมทั้งน้ำที่ประเทศไทยกําลังเผชิญอยู่ในเวลานี้มีอยู่จํากัด พลเมืองโลกมีเพิ่มมากเกินไป ปัญหาโรคเอดส์ที่ยังไม่มีทางรักษา ฯลฯ จะทําให้คนสนใจทางด้านจิตใจ (ศีลธรรมและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) ยอมเสียสละเพื่อสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคม และร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

ทุกเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้สึกนึกคิดของคนดังกล่าวข้างต้น เป็นเรื่องของ ความเป็นอนิจจังของสังคม

สิ่งสําคัญที่เราควรจะได้จากหนังสือเล่มนี้ของท่านปรีดี พนมยงค์ และ “พุทธทํานาย” ที่กล่าวถึงในหนังสือ คือ ควรจะมีการส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักในศีลธรรมและประพฤติตนภายในกรอบของศีลธรรมเพื่อช่วยให้สังคม โลกเป็นสังคมของผู้มีน้ําใจไมตรีต่อกันและ “จะไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เห็นทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน” ตามคําอธิบายเรื่องการประพฤติธรรมของท่านปัญญานันทภิกขุ และเป็นไปตามบทบัญญัติข้อ 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ว่า มนุษย์นั้นธรรมชาติหรือพระเจ้าได้สร้างมาให้เป็นผู้ที่มีเหตุผลและมโนธรรมสํานึก เพราะฉะนั้น จึงควรปฏิบัติต่อกันด้วยความสํานึกว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทั้งนี้ เพื่อที่โลกจะได้มีสันติภาพสถาพร

ยุคพระศรีอารยเมตไตรย ซึ่งควรจะเป็นยุคแห่งศีลธรรมและภราดรภาพ คงจะไม่ใช่เรื่องที่อยู่ห่างไกลและคงจะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งในบางส่วนของโลกในอนาคตอันใกล้นี้

หนังสือ ความเป็นอนิจจังแห่งสังคม” จึงอาจเป็นมรดกที่สําคัญที่สุดที่ท่านปรีดี พนมยงค์ มอบให้แก่มนุษยชาติ

หนังสือที่สนับสนุนการประพฤติธรรมและส่งเสริมสันติภาพนี้เขียนโดยผู้ที่เคยมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งมีพระธรรมจักรเป็นตราประจํามหาวิทยาลัย และมีสีแห่งธรรมะและการต่อสู้เพื่อธรรมะ[4] เป็นธงมหาวิทยาลัย อนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยยึดมั่นตลอดเวลาในพุทธสุภาษิตที่ว่า

ธมุโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
Dhamma indeed protects those who observe it,
Le Dhamma (Moral) sauvegarde ceux qui l'observent

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2536, น. 64-75

 


หมายเหตุ : สมจิตต์ อินสิงห์ : ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8, มหาบัณฑิตทางการทูต และธรรมศาสตร์ บัณฑิต, ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศรุ่นเดียวกับ ปาล พนมยงค์, เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา และตําแหน่งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูต ณ บรูไน ดารุส ซาลัม.

[1] จากปาฐกถาธรรมของพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) แสดงในพิธีไว้อาลัย นายปาล พนมยงค์ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2524.

[2] “จากบทความเรื่อง “สี่ครั้ง สี่หนที่ได้พบท่านปรีดี พนมยงค์” โดย วงศ์ พลนิกร ในหนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2534.

[3] เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วมา ผู้นําสิงคโปร์ได้เน้นคําว่า intertwined interest บ่อยครั้ง ในระยะที่กําลังผลักดันให้มีสามเหลี่ยมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (growth triangle) ระหว่างสิงคโปร์ รัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย และเกาะบาตามของอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพื่อความอยู่ รอดของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเล็ก เป็นประการสําคัญ ส่วนเรื่องความมั่งคั่งมากขึ้นที่จะ มีนั้นเป็นเรื่องหลั่นรองลงมา

[4]  เหลืองของเราคือธรรมประจําจิต  แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้