สันติ คือ ความสงบ เป็นหลักธรรมสําคัญอย่างหนึ่ง มีทั้งสันติภายนอกและสันติภายใน สันติอย่างลึกซึ้งที่สุดเป็นความหมายอย่างหนึ่งของจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน
สันติเป็นภาวะที่พึงใฝ่หา เพราะปราศจากสันติเสียแล้ว ก็หาความสุขไม่ได้ ดังพุทธภาษิตว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่าสุขอื่นจากสันติไม่มี
ความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความบีบคั้นไม่สบาย ไม่ปลอดโปร่ง เป็นอาการของความขาดสันติภาพในจิตใจ ซึ่งปัจเจกชนจํานวนมากต้องประสบอยู่เสมอ ฉันใด ความเดือดร้อนวุ่นวาย การเบียดเบียนรุกราน ขัดแย้งกัน ก็เป็นอาการของความขาดสันติภายนอกที่สังคมประสบอยู่เสมอ ฉันนั้น การขัดแย้ง รุกรานเบียดเบียนกัน เมื่อขยายตัวรุนแรงขึ้นกลายเป็นการสู้รบประหัตประหารกันระหว่างหมู่ชน ก็มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า สงคราม เมื่อสงครามเกิดขึ้น ความทุกข์ยากเดือดร้อน ความวุ่นวาย ระส่ำระสายก็ยิ่งทวีความรุนแรงและแผ่ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สงครามได้เกิดขึ้นแล้วมากมายนับครั้งไม่ถ้วน และความทุกข์ยากเดือดร้อนเนื่องจากสงครามนั้นก็รุนแรงอย่างมหันต์ นับเป็นบทเรียนที่มีราคาแพงอย่างยิ่ง แต่กระนั้น มนุษย์ก็หาได้รับประโยชน์จากบทเรียนนี้อย่างเท่าที่ควรไม่ วงจรชั่วร้ายแห่งการสู้รบประหัตประหารที่เรียกว่าสงครามนั้น ก็ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ ทั้งที่สงครามเฉพาะถิ่นที่จํากัดขอบเขตจะโหดร้ายทารุณน่าสยดสยองพออยู่แล้ว มนุษย์ก็ยังปล่อยให้สงครามที่ใหญ่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเกิดขึ้นแก่พวกตนได้อีก สงครามใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบมา ก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประมาณว่ามีคนตายถึงประมาณ 18 ล้านคน
เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่แทบทุกคนร่ำร้องเรียกหา ก็คือ สันติภาพ กล่าวคือ ภาวะแห่งสันติหรือภาวะแห่งความสงบ แต่เมื่อสงครามได้เกิดขึ้นแล้ว การแก้ไขกลับคืนสู่สันติภาพ นับว่าเป็นงานที่ยากอย่างยิ่ง ผู้ที่ทํางานเพื่อสร้างสันติภาพต้องปฏิบัติภาระด้วยความเหน็ดเหนื่อยยากลําบากเป็นอย่างยิ่ง ต้องอดทนและเสียสละได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของตน และหลายคนทีเดียวได้สูญเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้สันติภาพกลับคืนมา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นําในการสร้างสันติภาพ ทั้งภายนอกและภายใน ทรงเพียรพยายามออกจาริกเทศนาและฝึกสอนคนให้สร้างสันติภายในจิตใจ เพราะเมื่อคนมีสันติภายใน นอกจากตนเองจะมีความสุขเองแล้ว ก็จะไม่เป็นผู้รุกรานเบียดเบียนก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงครามภายนอก แต่จะเป็นผู้เสริมสร้างสันติสุขให้แผ่ขยายออกไป และทรงแนะนําให้คนรักษาสันติภายนอก ด้วยการปฏิบัติถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เบียดเบียนกัน แต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทรงส่งเสริมสงครามไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ในทางพระวินัย ได้ทรงบัญญัติไม่ให้พระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสงคราม แม้แต่จะไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะทําสงครามกันก็ไม่ได้ สิ่งที่พระภิกษุจะยุ่งเกี่ยวได้ ก็คือ การกระทําในทางสันติ เมื่อชนต่างชาติต่างเผ่าจะทําสงครามกัน ถ้าอยู่ในวิสัย พระพุทธเจ้าจะทรงป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามนั้น ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าศากยะกับโกลิยะเป็นต้น ทรงสั่งสอนแนะนําให้ทุกคนมองเห็นและเคารพในคุณค่าของชีวิต ให้เปิดโอกาสแก่ชีวิตทุกชีวิตที่จะเจริญงอกงามในสันติสุข
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทย ชนชาวไทยได้ประสบทั้งความทุกข์จากสงคราม และความสุขจากสันติ สลับกันมาตลอดหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ผ่านพ้นภัยพิบัติทั้งหลายมาได้ สามารถดํารงอิสรภาพของตนไว้สืบมา สงครามครั้งใหญ่ที่สุดซึ่งความเดือดร้อนแผ่ไปทั่วผืนแผ่นดิน ก็คือ มหาภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้คนไทยจะไม่ได้ก่อสงครามนั้น แต่ก็ต้องถูกดึงเข้าไปร่วมเคราะห์กรรมในเหตุการณ์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แต่ด้วยความเสียสละและสติปัญญาความสามารถของชาวไทยด้วยกันนี่เอง ซึ่งหวังดีต่อชาติ ประเทศไทยก็รอดพ้นจากการสูญเสียอิสรภาพ และกลับคืนสู่ความสงบ โดยได้มีการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488
วันประกาศสันติภาพเป็นวันประวัติศาสตร์ นับได้ว่าเป็นวันสําคัญของชาติวันหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นผู้แพ้ในมหาสงครามครั้งนี้ และประสบความวิบัติทุกข์ภัยใหญ่หลวงจากการถูกทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ก็ระลึกถึงความสําคัญของวันแห่งสันติภาพ โดยจัดให้มีเทศกาลสันติภาพ และพิธีอนุสรณ์แห่งสันติภาพ (Peace Memorial Ceremony) ในเดือนสิงหาคมเป็นประจําทุกปี ในเทศกาลนี้ นอกจากชาวญี่ปุ่นจะระลึกถึงสันติภาพกันเองแล้ว ยังเชิญชาวประเทศอื่น ๆ ไปร่วมงานฉลองด้วย รวมทั้งนิมนต์พระเถระและเชิญพุทธศาสนิกชนจากประเทศไทยไปเป็นเกียรติในพิธี คนไทยหลายท่าน ผู้ได้ผ่านเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่แห่งมหาสงคราม และมองเห็นความสําคัญแห่งการประกาศสันติภาพก็ปรารถนาจะเห็นเพื่อนร่วมชาติร่วมรับรู้และตระหนักถึงความสําคัญของเหตุการณ์เช่นนั้น โดยจัดให้มีวันหรือสิ่งที่ระลึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นอนุสรณ์แห่งการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้น ขึ้นในประเทศไทยของเราบ้าง
จากมหาสงครามสู่สันติภาพ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความยากลําบาก ต้องอาศัยความอดทนและความเสียสละอย่างยวดยิ่ง รวมทั้งการพลีชีพ แต่ก็เป็นการยุติลงในทางที่ดี ผลของมันจึงเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา และเราทั้งหลายพึงหวังว่า ความเป็นไปแห่งเหตุการณ์ของโลกจะไม่ดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ อย่าพึงได้มีภาวะที่เรียกว่าจากสันติภาพสู่สงครามอีกเลย ยิ่งกว่านั้นเราควรหวังให้มีสันติภาพที่แผ่ขยายกว้างขวางออกไปจนทั่วสากล พร้อมทั้งสันติที่ประณีตลึกซึ้งขึ้นไปภายในจิตใจ อันเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพที่มั่นคงถาวร ด้วยการดำเนินตามธรรมที่เป็นสันติมรรคาของพระบรมศาสดา โดยทั่วกัน
ที่มา: เขียนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2530 เพื่อเป็นคำนำหนังสือ จากมหาสงครามสู่สันติภาพ ของนายทศ พันธุมเสน และคุณหญิงจินตนา ยศสุนทร