ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

‘พุทธทาส’ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : ทฤษฎีกับการปฏิบัติ

27
พฤษภาคม
2566

Focus

  • พุทธทาสเกิดและเติบโตในครอบครัวคนทำมาค้าขายได้รับอิทธิพลจากมารดาในทางการประหยัดและจากบิดาในทางกลอนและโคลง เคยอาศัยอยู่วัดก่อนบวชและได้รับการส่งเสริมตามประเพณีในวงตระกูลให้บวชชั่วคราวแต่ในที่สุดไม่ได้สึก กลับอุทิศชีวิตใช้ปัญญาเพื่อรื้อฟื้นและส่งเสริมพุทธศาสนา และมีความเห็นว่าคนทั้งโลกไม่เฉพาะในประเทศไทยหลงในความสุข ความก้าวหน้า ความเจริญแผนใหม่ทางวัตถุ เห็นแก่ตัว เกลียดศาสนา เห็นศาสนาเป็นเรื่องขัดคอในเรื่องความเสวยสุขแบบใหม่
  • ในทางทฤษฎีกับการปฏิบัติในทางพุทธศาสนาก็คือการรู้และเข้าในเรื่องอัตตาและอนัตตาอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและในทางคุณภาพของชีวิตของพุทธทาสเอง การเปลี่ยนแปลงมาทีละนิดๆค่อยๆ เติบโตมาทีละนิดๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ และสภาพชีวิตผ่านการศึกษาเพิ่มเติม การปฏิบัติและเพิ่มเติมการศึกษาเพิ่มเติม เช่นได้อ่านบาลีวิมุตตายตนสูตรทีหลัง เรียกว่า เรียนจากพระคัมภีร์เรียนจากหนังสือสมุด มากขึ้นๆ และสังเคราะห์ได้
  • การเปลี่ยนแปลงมาจากการทำให้ครบทั้ง 5 อย่าง คือ การฟังเข้ามา (เช่นการอ่านจากพระคัมภีร์เป็นการสังเคราะห์เข้าในการฟังธรรมที่เป็นการรู้อะไรใหม่ๆ) การทำ (การสอนออกไป/การสาธยาย ฯลฯ) การใคร่ครวญโดยตรรกการทำวิปัสสนา และการทำสมาธิ โดยทุกเรื่องทำให้เกิดปีติ เกิดสุขคือความพอใจ จิตใจก็เป็นสมาธิและในขณะเป็นสมาธิจะเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงอันเป็นหลักธรรมะหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและเป็นการพินิจพิจารณาอย่างมีสติสัมปชัญญะด้วยการใคร่ครวญแบบโยนิโสมนสิการที่ทำเกิดการเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้งในแบบพุทธิจริต

 

ประวัติชีวิตและความคิดเห็นบางเกร็ดบางตอนจากปากคำของพุทธทาสภิกขุ[1]

มารดา-บิดา

โยมหญิง (มารดา) ชื่อเคลื่อน โยมชาย (บิดา) ชื่อเซี้ยง

สถานที่เกิด 

เกิดที่พุมเรียง (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอไชยา) ปี 2449 บ้านก็เป็นแบบชาวตลาดที่ค้าขายทั่วๆไปของสมัยนั้น เป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก สมัยนั้นสังกะสียังมีน้อย 

อิทธิพลของมารดา

เรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย

อิทธิพลของบิดา

ช่างไม้ และกลอน โคลง และวิญญาณกวี

การอบรมสั่งสอนในครอบครัว

เป็นเรื่องช่วยกัน แม่กวดขันไปทาง พ่อกวดขันไปทาง โยมผู้หญิงจะว่าไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีทั่วๆ ไป โยมผู้ชายไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเอ่ยปาก เรื่องรู้บุญคุณคน โยมผู้หญิงคอยเตือนอยู่บ่อย

ถูกตีบ่อยตามธรรมเนียม โยมผู้หญิงตีมาก โยมผู้ชายเกือบจะไม่ได้ตีเลย ตีด้วยก้านมะยม ไม้เป็นลำเป็นหวายไม่เคยโดน

วัดในวัยเยาว์

ออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ 8-9-10 เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ 11 ปีได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ

การเรียนหนังสือหนังสือในวัยเยาว์

ตอนจะเข้าโรงเรียนก็ออกจากวัดมาอยู่บ้าน เรียนที่วัดเหนือ (โพธาราม) เป็นโรงเรียนแบบใหม่ที่ปรับปรุงกันในสมัยรัชกาลที่ 5 

การเรียนหนังสือนั้น ผมไม่รู้สึกว่าเรียนเก่งแต่สอบได้ไม่เคยตก แต่เรียนไม่ค่อยสนุก แรกๆ ไปคิดถึงบ้าน ยังไม่ทันหยุดตอนเที่ยงก็คิดถึงบ้าน เศร้า คิดถึงบ้านเหมือนอย่างกับเราไปเสียไกลจากพ่อแม่ เรียนมันไม่สนุก สอบซ่อมสอบไล่พอทำได้

ความรักกับธรรมะเมื่อวัยหนุ่ม

เรื่องเจ้าชู้นี่ไม่รู้เรื่อง ไม่มีเวลาที่จะไปเจ้าชู้ มันมีงานทำอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยจีบผู้หญิง กลางคืนไม่เคยไปเที่ยว ไม่เคยติดต่อกับผู้หญิงที่ไหน นึกชอบเขามันก็มีบ้างเหมือนกัน แต่มันไม่มีโอกาส มันก็ได้แต่นึกอยู่ในใจ ไม่มีโอกาสติดต่อกับใครหรือไปเที่ยวกับใคร แล้วมันกำลังสนุกกับอย่างอื่น ตอนที่ยังไม่ได้บวชมันก็สนุกเรื่องการงาน ช่วยโยมค้าขายแล้วก็เรื่องคุย เป็นนักเลงคุยธรรมะ

สู่เพศบรรพชิต

อายุครบบวช เท่าที่นึกได้เท่าที่จำได้นี่ เขาปรึกษากันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ใหญ่อย่างว่า เวลาอามาพบก็จะปรึกษากันเรื่องอยากให้บวช ป้า น้า ญาติพี่น้องก็ปรึกษากันอยากให้บวช แต่จำไมได้ว่ามีประโยคที่โยมพูด ว่าบวชเถอะๆ เรา (ฮึ่มๆๆๆ) ตามใจเขา เราแล้วแต่เขา ความรู้สึกรักษาประเพณีมันทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันรู้สึกคล้ายๆ กับว่าไม่ครบหรือไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่เคยบวช มันจึงยินดีที่จะบวช คำสั่งให้บวช หรือคำชี้แจงแนะนำอย่างโดยตรงก็ไม่เคยได้รับ

ตอนแรกที่ตั้งใจจะบวช 3 เดือน พอพ้นข้อผูกพันทางประเพณีให้แม่ ให้โยมแม่แล้วมันยังสนุกอยู่อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ก็สนุกในเรื่องของพระนะ มีแต่คนตามใจ คอยเอาอกเอาใจ ทำอะไรก็ได้เล่นอะไรก็ได้ ยังสนุกอยู่ก็ยังไม่คิดสึก มันไม่ต้องห่วงทางบ้านด้วย เพราะราวเดือนมีนาคม (2470) นายธรรมทาสเขาปิดเทอม เขาก็มาอยู่บ้านแล้วไม่ไปเรียนต่อ ก็มีคนรับผิดชอบเรื่องที่บ้าน เรื่องโยมหญิง ผมไม่สึกก็ไม่เป็นปัญหาอะไรแล้ว แผนการลึกๆ อะไรก็ยังไม่มี

การอุทิศตัวเพื่อพระพุทธศาสนา

รื้อฟื้นและส่งเสริมพระพุทธศาสนากลับไปสู่สภาพเดิม..... ที่พยายามทำจริงจังอยู่ก็คือ การพยายามเข้าใจพระธรรมในพระบาลีให้ถูกถึงที่สุด เราไม่มีอำนาจอะไร เราก็ใช้สติปัญญาที่มีอยู่ ทำงานทางด้านคิดค้นและเขียนเท่านั้น

ความเจริญสมัยใหม่กับพุทธศาสนา

คนทั้งโลกไม่เฉพาะในประเทศไทย หลงแต่ความสุขความก้าวหน้า มีความเจริญแผนใหม่ทางวัตถุ ก็เกิดเห็นแก่ตัว เกิดเกลียดศาสนา เกลียดสิ่งที่มันตรงกันข้าม เห็นศาสนาเป็นเรื่องขัดคอในเรื่องความเสวยสุขแบบใหม่ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น คนมาฟังเทศน์ที่วัดน้อยลง คนที่จะทำบุญทำทานแบบเก่าน้อยลง แม้แต่แห่พระลากพระตามแบบประเพณี ก็น้อยลง ลดลง

 

 

ทฤษฎีกับการปฏิบัติ[2]

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ ในตอนนี้ ผมจะขอเรียนถามอาจารย์ถึงชีวิตด้านปฏิบัติธรรมของอาจารย์เอง เพื่อจะให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงชีวิตด้านในของอาจารย์ เพราะคนรุ่นผม เริ่มไม่เข้าใจว่า ชีวิตพระสงฆ์นั้นอยู่ได้อย่างไร โดยเฉพาะชีวิตของพระสงฆ์รุ่นอาจารย์ มีความสุข ความทุกข์อะไร มีค่าตรงไหน อีกอย่างหนึ่ง ถ้าอาจารย์เล่าถึงชีวิตด้านปฏิบัติ ผู้ที่เลือกจะดำเนินชีวิตตามแบบพระสงฆ์ที่ดีงาม จะได้ข้อคิดข้อเตือนใจต่างๆ รวมทั้งด้านกำลังใจด้วย ผมเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้น เมื่อท่านอาจารย์เริ่มทำสวนโมกข์ ถึงปัจจุบันนี้อาจารย์คงต่อสู้กับอะไรในตัวเองอยู่ไม่ใช่น้อย แล้วก็มีข้อผิดพลาดมากมายที่จะเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลังๆ

พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) มันไม่มีเรื่องอะไรมากมาย ที่จะต้องนึกไปถึงขนาดนั้น มันเป็นเรื่องของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ค้นคว้ามา จะเรียกว่า ตามบุญตามกรรมก็ได้ แล้วมันก็ประสบผลเป็นอย่างนี้ อย่างที่เห็นอยู่นี้ ไหนถามใหม่ซิ ถามว่าอย่างไร ให้มันเป็นคำถาม เป็นข้อๆ ไปซิ

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : ครับ เมื่อมองชีวิตการปฏิบัติธรรมของอาจารย์โดยรวมแล้ว มีช่วงเปลี่ยนแปลงที่เห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนไหมครับ

พุทธทาสภิกขุ : เช่นอะไร

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : เช่นในเรื่อง “สมัยโน้นเมื่อเรายังเที่ยวหาอัตตา” ที่อาจารย์เขียนเมื่อ พ.ศ. 2483 จะเห็นเหมือนกับว่าครั้งหนึ่ง อาจารย์เคยยึดความว่างว่าเป็นตัวเป็นตน แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลง รู้ว่าไม่ใช่แล้ว ผิดแล้วเหมือนกับเปิดเข้าสู่มิติใหม่ อะไรแบบนั้น

พุทธทาสภิกขุ : บทความนั้นมันเขียนสำหรับทุกคน สำหรับชีวิตทุกคน เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ใช่ของเราคนเดียวแต่มันใช้ชื่ออย่างนั้น ก็เพื่อว่าให้มันสะดุดหรือกระตุ้นอะไรสักหน่อย ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียวที่เป็นอย่างนั้น คือทุกคนจะเป็นอย่างนั้น กว่าจะรู้เรื่องอนัตตา ถ้าไม่รู้เรื่องมันก็แล้วไป มันก็ยึดอัตตาจนตาย มันรู้ขึ้นมามันก็เปลี่ยนแปลง เมื่อยังไม่รู้เรื่องอนัตตา นึกกันอย่างนี้ เมื่อรู้กันแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่าง เขียนเป็นคำล้อ ล้อชวนหัวด้วย จึงออกมาในรูปอย่างนั้น

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : คำถามผมตอนนี้มุ่งประเด็นว่า ในชีวิตอาจารย์มีช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ทางคุณภาพของชีวิตอะไรบ้างครับ

พุทธทาสภิกขุ : ผมก็ต้องบอกว่า มันไม่มีช่วงที่เปลี่ยนแปลงใหญ่โต มันมาทีละนิดๆ ค่อยเติบโตมาทีละนิดๆ เราเกิดมาเป็นทารกจนโต ช่วงเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริงมันก็พูดยาก แต่มันก็เปลี่ยนทีละนิดๆ จนมาอยู่สภาพอย่างนี้ ผมนึกไม่ออกนี่ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันก็บวช แล้วก็มาพบเรื่องที่ดีกว่า ก็ไม่สึก แล้วศึกษาเล่าเรียนค้นคว้ามาทีละนิดๆ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหวี่ยง หรือขนาดเหวี่ยงทางนั้น เหวี่ยงทางนี้ มันไม่มีหรอก

 

 

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : เปลี่ยนในแง่ของคุณภาพข้างใน เช่นกิเลสเรื่องนี้ มันเด็ดขาดไปแล้ว เรื่องนั้นมันไม่เด็ดขาดมีไหมครับ

พุทธทาสภิกขุ : ไม่มี ให้พูด พูดไม่ได้แน่ มันเปลี่ยนทีละนิด พร้อมๆ กันแหละ ทั้งร่างกาย จิตใจ สภาพของชีวิต เปลี่ยนมาๆ ทีละนิดๆ มันมองไม่เห็นเลยว่ามันเปลี่ยนแบบเลี้ยวเป็นมุม ขอให้ทุกคนตั้งต้นเดินมาตามหลักเกณฑ์ทีละนิดๆ แล้วก็เปลี่ยนทีละนิด เหมือนต้นไม้ งอกขึ้นทีละนิดๆ จนกว่ามันจะเติบโต จะให้เอาอะไรเป็นการเปลี่ยน ยังนึกไม่ออก

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อย่างเกจิอาจารย์หลายคน มักจะเล่าเรื่องของตัวเอง ว่ามีประสบการณ์พิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ทำให้รู้สึกว่าบัดนี้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เข้าสู่สภาพของชีวิตใหม่แล้ว เป็นช่วงๆ ไป ของอาจารย์ไม่มีหรือครับ

พุทธทาสภิกขุ : ไม่มี แล้วก็ไม่มีเรื่องขนาดนั้นที่จะเล่าให้ใครฟัง มีแต่การศึกษาเพิ่มเติม การปฏิบัติเพิ่มเติมการศึกษาเพิ่มเติมแล้วรู้ หรือเห็น แล้วเข้าใจ รู้สึกเข้าไปๆ ไม่รู้ว่าได้รู้เมื่อไร พูดเป็นภาษานั่นๆ หน่อย ไม่รู้ว่ามันตรัสรู้เมื่อไร แต่ที่จริงมันไม่ได้ตรัสรู้อะไรมากมาย จะถามว่าเมื่อไรก็ยังไม่รู้ ค้นคว้ามากขึ้น เผยแผ่มากขึ้น ปฏิบัติมากขึ้น เรื่อยๆ ไป

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ ตามหลักนั้น ถ้าหากเรารู้แล้ว มันต้องรู้ใช่ไหมครับว่าเราหมดไปแล้ว กิเลสอันนั้นอันนี้ ตามหลักวิชาที่เขาเรียกว่า เกิดญาณอย่างนั้น ญาณอย่างนี้

พุทธทาสภิกขุ : ที่ไปตัดสินกันอย่างนั้นก็มี แต่เราไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เจตนา ไม่ได้ประสงค์จะรู้ รู้ว่ามันดีขึ้นก็พอแล้ว แต่วันละเท่าไรไม่ต้องรู้ รู้แต่ว่าสิ่งไม่พึงปรารถนามันลดลง ลดลง เท่าไรก็ไม่รู้ เรียกว่าลดลง มีเรื่องในบาลีพูดเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ว่านายช่างทั้งหลายรู้ว่า ด้ามเครื่องมือนั้น สึกไปทุกวัน ทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าสึกไปวันละเท่าไร ปีหนึ่งสึกไปเท่าไร ก็ไม่ต้องรู้ มันไม่มีอะไรวัด แล้วมันก็วัดยาก รู้แต่ว่าถ้าเป็นอยู่โดยชอบ อะไรจะลดลงไป แต่สักเท่าไรก็ไม่รู้ รักษาความเป็นอยู่โดยชอบไว้เท่านั้น

 

พุทธทาสภิกขุ (กลาง) และ พระประชา ปสนฺนธมฺโม หรือ ประชา หุตานุวัตร (กลาง) ที่มาภาพ : we oneness
ไม่ปรากฏนาม (ซ้าย), พุทธทาสภิกขุ (กลาง) และ พระประชา ปสนฺนธมฺโม หรือ ประชา หุตานุวัตร (ขวา)
ที่มาภาพ : we oneness

 

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ แล้วอาจารย์เคยใช้วิธีลองออกไปเผชิญกับอารมณ์ที่มากระทบ เพื่อให้รู้ว่าเราหมดอันนั้นไปแล้วหรือยัง บ้างหรือไม่

พุทธทาสภิกขุ : ไม่เคย ถ้ามันจะเป็น เป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยเจตนาจะลองไม่มี เช่นรู้แต่ว่าเรากลัวผีน้อยลงๆ จนเดี๋ยวนี้ ไม่กลัวผีเลย รู้อย่างนี้

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : ก่อนที่อาจารย์จะลงมือปฏิบัติธรรม อาจารย์ได้ตั้งแนวไว้หรือเปล่าครับว่า ในบรรดาหนทางหลายๆ แบบที่จะบรรลุธรรม เช่น โดยการฟังธรรม โดยการเทศน์ โดยการตรึกตรอง โดยการทำวิปัสสนา หลายๆ แบบนี้ อาจารย์ใช้แบบไหนสำหรับตัวเอง

พุทธทาสภิกขุ : ไม่ ไม่ เพิ่งรู้ที่หลัง มาอ่านบาลีวิมุตตายตนสูตรทีหลัง ก่อนนี้ค้นคว้ามากขึ้น มันก็รู้มากขึ้น เรายังใช้วิธีที่เรียกว่า เรียนจากพระคัมภีร์ เรียนจากหนังสือสมุดมากขึ้นๆ มันก็พอจะสงเคราะห์กันได้ กับหลักที่ว่าฟังธรรม ฟังธรรม ในบางเวลา จิตใจเหมาะสม ปลอดโปร่ง ก็รู้สว่างไสว ชั้นใดชั้นหนึ่ง เต็มที่เสียทีหนึ่ง ที่เหลือ ก็ยังเหลือต่อไปอีก เดี๋ยวนี้ถ้าจะพูด มันพูดไม่ได้ว่าใช้วิธีหนึ่ง วิธีใด โดยเฉพาะใน 5 วิธีนั้น คือมันเรียนมากขึ้น ค้นคว้ามากขึ้น แล้วมันก็พอใจที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น แล้วมันละไปเอง ละไปเองโดยไม่รู้สึกตัว

ความจริงทำวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด เคร่งเครียด ทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งเดือน ทั้งปี ก็ไม่เคยทำ แต่มันเป็นของมันในตัวเอง ในขณะที่ได้ฟังอะไรใหม่ ความจริงต้องเรียกว่า ค้นพบ เราไม่ได้ฟังจากที่ไหน แต่ว่าเราค้นพบ คือฟังจากหนังสือ ฟังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มันก็อยู่ในพวกที่ฟัง ฟังธรรม คืออ่านเอาจากพระคัมภีร์ ก็ต้องสังเคราะห์เข้าในการฟังธรรม รู้เรื่องอะไรเพิ่มขึ้นก็พอใจ ความพอใจก็ทำให้ปฏิบัติอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ รู้อะไรใหม่ก็ปฏิบัติเข้ากันกับที่รู้อะไรใหม่ๆ เรียกว่าวันละนิด วันละนิดก็ได้ การอ่านมันมีทุกวัน สมัยแรกมีสวนโมกข์ อ่านทุกวัน เคยอยู่กับหนังสือทั้งวันๆ ไม่ได้มีเข็มทิศหรือเบนทิศอะไรไปเป็นรูปธรรมอย่างนั้น จนเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ว่ามันรู้อะไร เมื่อไร ไม่ได้จำไว้

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ อย่างในชีวิตของอาจารย์ ในด้านการเทศน์คือการเขียน การพูดนั้น มีมาก ทีนี้ระหว่างการอ่านหรือการเทศน์ หรือการพูดให้คนอื่นฟังนั้น มันมีผลในเรื่องการเข้าใจมากน้อยอย่างไร คือมันมีวิธีหนึ่งในวิมุตตายตนสูตร ที่เราอาจจะบรรลุได้ ด้วยการสอนคนอื่น แล้วทีนี้ อาจารย์สอนคนอื่นมากมาอย่างนี้ มีส่วนเปลี่ยนแปลงคุณภาพจิตของอาจารย์แค่ไหน

พุทธทาสภิกขุ : โอ๊ย มันไม่สู้รับเข้ามา คือรับเข้ามามาก มีผลมากกว่าที่ให้ออกไป การศึกษาเพิ่มเติมเข้ามา มากกว่าที่เราสอนมากนัก ที่สอนนี้นิดเดียวเท่านั้น แล้วมันก็เป็นผลจากการที่รับเข้ามา คือฟังเข้ามา แล้วว่าที่จริงมันเรียกว่าทำทุกอย่าง รับเข้ามา หรือฟังเข้ามาก็ทำ สอนออกไปก็ทำ สาธยายก็ทำ ใคร่ครวญโดยตรรกนี้ก็ทำ ทำวิปัสสนา ทำสมาธิก็ทำ เลยเรียกว่าครบทั้ง 5 อย่าง อย่าทำแบบเบนไปเบนมา เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หรือทิศทางใด ต้องเร่งขึ้นมาพร้อมๆ ทุกอย่าง เร่งขึ้นมาพร้อมๆ กันทีละนิดๆ เหมือนการก่อจอมปลวก บอกคนชั้นหลังเถอะว่า ทำมาอย่างนี้ ไม่ได้มีการเบนหรือเลี้ยวไปเลี้ยวมา ทำพร้อมๆ กันมา แล้วก็โดยไม่ได้ตั้งเจตนา มีความอยากรู้ก็อ่าน ฟัง ค้น ถึงเวลาเทศน์ ก็เทศน์ ตามสะดวก ตามพอใจ เวลาท่อง อย่างไหว้พระ สวดมนต์ทำวัตร เป็นเวลาท่อง ก็ท่อง หรือท่องอะไรอื่นโดยเฉพาะก็มีบ้าง ซึ่งมีน้อย คิดค้นเพื่อได้ตอบ ปัญหาฝึกปฏิญาณอย่างนี้มาก ทำมากเหมือนกัน ในสมัยที่เล่าเรียน ชอบโต้แย้งออกความเห็นกับเพื่อนเสมอกันก็ได้ เพื่อนที่ต่ำกว่าก็ได้ การเพ่งมาให้เห็นแจ้งในทางภายในนี้ มันฝากๆ กับเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุญญตานี้ เป็นเรื่องที่รีดออกมาจากทุกอย่าง ที่ศึกษา ที่ตั้งใจปฏิบัติ คั้นๆ ออกมา เพื่อจะเข้าใจของตัวเอง และจะพูดให้คนอื่นฟัง แล้วก็เพื่อจะกำจัดความทุกข์ ความกระวนกระวาย ไม่ให้กระวนกระวายใจ ในบางครั้งบางคราวด้วย ออกมาเป็นเช่นนั้นเองบ้าง ช่างหัวมันบ้าง

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ การที่อาจารย์พูดย้ำเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา เรื่องเช่นนั้นเองบ่อยๆ นี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการพูดเพื่อย้ำกับตัวเองด้วยใช่ไหม หรือเพื่อทำให้ตัวเองซาบซึ้งด้วยใช่ไหมครับ

พุทธทาสภิกขุ : เมื่อพูดกับผู้อื่น ก็มุ่งหมายให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ให้เขาเข้าใจ เรื่องของตัวเองมันมีอยู่ทุกเรื่อง ทุกระยะ ทุกเหตุการณ์ มันก็ย้ำได้ทั้งในการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งการเทศน์สอนออกไป หรือแม้ในการสวดมนต์ภาวนา หรือว่าคิดใคร่ครวญที่จะแต่งอะไรให้มันลึกซึ้ง นานๆ ก็มาเพ่งทางจิตใจให้เห็นลึกถึงภายใน ให้ซ้อมให้ฝัง ให้ลงรกลงราก

 

 

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ แล้วใน 5 วิธีนี้ ธรรมชาติร่วมกันเองของ 5 วิธีนี้ ที่ทำให้คนเราบรรลุธรรมคืออะไร อะไรทำให้เราเข้าใจสัจจะมากขึ้น อะไรคือธรรมชาติร่วมกันของ 5 วิธีนี้

พุทธทาสภิกขุ : ก็มันกลมกลืนกันนี่ ทั้ง 5 ส่วน 5 องค์ประกอบ มันกลมกลืน มันไม่ตีกัน มันไม่ขัดกันเลย มันกลมกลืนกันมากขึ้น

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : ผมหมายถึงว่า ธรรมชาติร่วมของมัน คือแต่ละวิธี มันไปทำอย่างไรในจิต ทำให้คนเราคลายความยึดมั่นลง อะไรคือกลไกการทำงานของมัน

พุทธทาสภิกขุ : คือทุกเรื่องมันทำให้เกิดความพอใจ เกิดปีติ เกิดสุข คือความพอใจ อันนี้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด เมื่อฟังเกิดความพอใจ เมื่อเทศน์ก็เกิดความพอใจ เกิดความพอใจในธรรม ความพอใจในธรรมนี้ ออกจากการที่ทำอย่างนั้น ผ่านมาทางความพอใจ แล้วก็เป็นสุขก่อน แล้วจึงจะปัสสัทธิ จึงเป็นสมาธิ จึงจะเห็น จึงจะเดินไปตามกระแสจิตล้วนๆ ทั้ง 5 องค์ในวิมุตตายตนสูตร มีหลักเดินอย่างเดียว เรียกว่าปลุกให้เกิดความพอใจ เป็นสุข พอใจ จิตใจชนิดนั้นก็เป็นสมาธิ ในความเป็นสมาธิ หรือขณะในความเป็นสมาธิจะเห็นแจ้ง ตามที่เป็นจริง นี่มันเป็นเรื่องธรรมะแล้ว ไม่ใช่เรื่องบุคคล เรียกว่าหลักธรรมะหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : แต่ถ้าทุกคนทำถูก มันก็จะผ่านขบวนการอันนี้ทุกคนใช่ไหมครับ

พุทธทาสภิกขุ : มันเหมือนกันทุกคน ใน 5 อย่างนี้ มันมีแต่ว่าบางคนมีอย่างนั้นมากบ้าง อย่างนี้มากบ้าง แล้วแต่โอกาส คนที่ไม่มีโอกาสจะสอนใครเลย มันก็ไม่ได้พบผลที่จะได้รับอย่างนี้ จากการที่สอน ที่เทศน์ บางคนไม่เคยทำสมาธิวิปัสสนาเสียเลย มันก็ขาดไปอีกอันหนึ่ง ทีนี้อย่างไหนทำผิวๆ ผลก็เป็นผิวๆ ไป อย่างจะท่องทำวัตรสวดมนต์ให้เกิดผลลึกๆ จริงๆ แล้ว มันต้องตั้งใจมากเป็นพิเศษ ฟังแล้วเข้าไปในความรู้สึก ชุ่มฉ่ำลงไปโดยการท่องเอง หรือการฟังผู้อื่นท่อง แต่การท่องเองรู้สึกว่ามันยังไม่เท่าไร มันมีการท่องเพื่อความสนุกมากกว่า เว้นไว้แต่ผู้นั้นมีความรู้ ความฉลาด สามารถพอ ตั้งใจท่อง เพื่อเอาความหมายอันลึกซึ้งของคำที่ท่อง อย่างนี้ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าให้ครบทั้ง 5 วิธีมันสนุก มีรสมีชาติ ไม่เบื่อ

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ ถ้าอย่าง มองโดยสรุป ระหว่างปริยัติ ปฏิบัติ กับการเผยแผ่ของอาจารย์ สัมพันธ์กันอย่างไรครับ

พุทธทาสภิกขุ : ทำพร้อมกันไป (หัวเราะ) บางเวลาศึกษาคืนนี้ พรุ่งนี้ก็ไปเทศน์ บางเวลาก็เป็นกรรมกรก่อสร้าง (หัวเราะ) บางเวลาก็ลงคลองไปพัฒนา (หัวเราะ) นอกหน้าที่ของภิกษุตามธรรมดา หรือความหมายของภิกษุ เราเป็นช่างก่อสร้าง บางทีก็ไปหาไม้ในป่า บางทีก็ไปแต่งคลองให้ใช้ประโยชน์ได้ ไปทำถนนให้ใช้ประโยชน์ได้ บางสมัยไปทำถนนทุกวัน ทุกวัน ถ้าเราไม่ไป คนก็ไม่มา ถ้าเราไป คนก็มาช่วยมาก ถ้าเราไม่ไป ไม่มีใครเอาอาหารมาเลี้ยงคน ถ้าเราไป ก็อ้างเราให้เอาอาหารมาเลี้ยงพระ เสร็จแล้วเลี้ยงคน มันทำทุกอย่างที่มันไม่ผิดวินัย หรือมันไม่เสียหาย ทำทุกอย่าง ศึกษาเรื่องหยูกเรื่องยา ไปช่วยคนเจ็บคนไข้ บางเวลาบางสมัยก็ทำมาก สรุปให้มันจริงที่สุดก็คือมันทำทุกอย่างที่รู้สึกว่าทำได้ และพอใจ ทำทุกอย่างมากกว่า 5 อย่างนั้นก็มี (หัวเราะ)

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ นอกเหนือจาก 5 อย่างนี้ มันมีส่วนช่วยให้เข้าใจธรรมะ ให้เห็นถึงธรรมะเหมือนกันหรือเปล่า

พุทธทาสภิกขุ : ทั้งนั้นแหละ การทำอะไรก็ตาม ถ้ามันมีปัญญา มีความเฉลียวฉลาดกันบ้าง จะมองเห็นแง่ของธรรมะเสมอ มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของมนุษย์ทั้งหลาย มองเห็นกิเลสก็มี ในแง่ของความดีก็มี ในแง่ของธรรมดาของธรรมชาติล้วนๆ ก็มี ฝึกเป็นคนรู้จักสังเกตคนทุกชนิด ตามที่มันกระทำได้ กลายเป็นความรู้มาในชั้นหลัง คนนี้เห็นหน้า เห็นกิริยาท่าทาง ฟังพูดจาอะไรบ้าง ก็พอทายได้ว่าคนนี้ต้องเป็นอย่างไร ก็คุณลองนับดูเอาเอง เกิดมาทำอะไรบ้าง แม้เกี่ยวกับสวนโมกข์ทำอะไรบ้าง เป็นสมุห์บัญชีก็เคย เป็นศิลปินก็เคย เป็นนักโบราณคดีก็เคย มันไม่เคยขัดขวางกับธรรมะเลย มันก็ให้การงานสำเร็จลุล่วงไปด้วย ฝึกให้เรารอบรู้ เฉลียวฉลาด รอบด้านด้วย เรื่องที่ควรจะทำก่อนบวช แต่มันไม่มีโอกาส มันเพิ่งมาทำ มันเพิ่งมีโอกาส เมื่อบวชอย่างนี้ก็มี ก่อนนี้ผมไม่เคยเลื่อยไม้ ไม่เคยไสกบไม้ บางยุคบางสมัย ก็ต้องทำหน้าที่ บางทีทำได้ดีกว่าคนอื่น เช่น พิจารณาซุงท่อนนี้ จะเลื่อยมันอย่างไรจึงจะถูก ได้ผลดีที่สุด และมีส่วนผิดพลาดบิดเบี้ยวเสียหายน้อยที่สุด เพราะเรามีความรู้อะไรอยู่บ้าง ที่เล่าเรียนมา เลขคณิตบ้าง เรขาคณิตบ้าง รู้จักเหลี่ยมรู้จักอะไรบ้าง โดยเฉพาะไม้ที่เป็นท่อนกลม มันเลื่อยยาก ทำไม่ดีบูดเบี้ยวหมด

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ แล้วมีไหมว่างานที่นอกจาก 5 อย่าง มันทำให้รู้สึกว่ารำคาญแล้วจิตใจไม่ก้าวหน้า จนอยากจะทิ้ง อยากจะเลิก อย่างนี้มีไหม คือทำไปแล้วมันยิ่งรู้สึก ทำให้เราภาระหนักขึ้น กิเลสมากขึ้น อะไรอย่างนี้

พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) ไม่ค่อยมี เราจะทำตามที่มันมีเหตุผลให้ทำ ทำไปแล้ว ได้ประโยชน์ทั้งนั้น ได้รับประโยชน์ทั้งนั้น ไปลากไม้กับช้างลากไม้ ก็ได้ความรู้ตั้งหลายอย่าง ผมอัศจรรย์ใจที่สุดคือที่ผูกซุงให้ช้างลากอย่างง่ายๆ ซึ่งเราคิดเองก็ไม่ออก มันง่ายๆ ตวัดทีเดียวข้างวิ่งอย่างไรก็ไม่หลุด เดี๋ยวนี้ผมยังพอใจในความรู้ของมนุษย์ที่เขาได้ค้นได้พบกันมาแล้ว ถ้าคบกับคน มันควรจะรู้จักกิเลสของคนนานาชนิด เพราะคนมันนานาชนิด กิเลสมันก็นานาชนิด

จะให้เอาผมเป็นตัวอย่าง ก็ต้องบอกว่าลองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และควรลอง ที่ควรลอง หรือลองได้ (หัวเราะ) ทุกด้านทุกแง่ทุกมุม ที่มันอยู่ในวิสัยที่ลองได้

 

 

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ ถ้าจะถามว่าธรรมะข้อไหน หรือว่าธรรมะหมวดไหน ที่อาจารย์ใช้มากที่สุดในชีวิตปฏิบัติธรรม อาจารย์จะตอบว่าอย่างไร

พุทธทาสภิกขุ : ตอบไม่ถูก ถ้าคะเนๆ เหมาๆ กันก็ไม่พ้นเรื่องที่เป็นธรรมะอยู่แล้ว การพินิจพิจารณา สติสัมปชัญญะใคร่ครวญโดยโยนิโสมนสิการ ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็โยนิโสมนสิการ การเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้งมันก็มาจากโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าเรื่องบ้าน เรื่องเรือน เรื่องโลก เรื่องธรรมะ การรับเข้ามาโดยวิธีใดก็ตาม เช่น ฟังจากผู้อื่น อ่านจากหนังสือ หรือจากอะไรก็ตาม ที่เรียกว่านอกตัวเรา ฟังเข้ามาพอถึงแล้ว ก็โยนิโสมนสิการเก็บไว้เป็นความรู้ เป็นสมบัติ พอจะทำอะไร จะลงมือทำอะไร ก็โยนิโสมนสิการในสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุด มันก็ผิดพลาดน้อยที่สุด เรียกว่าไม่ค่อยจะผิดพลาดเลย เท่าที่จำได้ ในความรู้สึก อะไรที่ควรกระทำ จะได้ จะมี มันไม่เคยพลาด เพราะเราเป็นคนโยนิโสมนสิการตลอดเวลา และรู้สึกว่า ฉลาดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ ถ้าจะเรียกว่าฉลาดนะ

พระประชา ปสนฺนธมฺโม : อาจารย์ครับ แต่คนทั่วๆ ไปนั้น เรื่องที่เข้ามาทำให้เราพิจารณามันมีเยอะใช่ไหม ถ้าเราพิจารณาทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนี้ เวลาในชีวิตก็คงไม่พอ

พุทธทาสภิกขุ : ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องที่มันมีเรื่อง เรื่องที่มันเป็นเรื่อง เรื่องที่มันต้องพิจารณา นอกนั้นมันละลายไปเองก็คุณดูซิ วันหนึ่งๆ มันมีเรื่องอะไรบ้างที่ควรจะพิจารณา เราก็ทำแต่เรื่องที่เราจะทำ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องการเป็นเรื่องงาน เรื่องหยุมหยิม เรื่องประกอบหยุมหยิม ผมไม่สนใจ ไม่มีนิสัยสนใจ ฉะนั้น จึงอ่านหนังสือบางเล่มไม่ได้ เช่นมันพิถีพิถัน จู้จี้

ผมไม่มีเข็ม ไม่มีความมุ่งหมายอะไรที่ตั้งไว้แต่แรก โดยเฉพาะตั้งแต่เด็กแล้วยิ่งไม่มี มันตั้งไม่ถูก มันก็เป็นมาๆ ตามบุญตามกรรมของมัน เล่าเรียนมาเท่านั้น ได้บวชเท่านี้ ที่ผ่านมาในความรู้สึก ที่รู้สึกว่ามันดีมีประโยชน์ก็สนใจ นับแต่ไม่ได้คิดจะบวชนะ บวชเพื่อโยม ให้โยมพอใจเท่นั้น จะมีเข็มอะไรที่เป็นเป้าหมายก็ไม่มี ก็เปะปะมา บวชแล้วมาพบธรรมะเข้า พอใจ ผมก็พอใจธรรมะ (หัวเราะ) คิดอยู่กับธรรมะ เป็นเรื่องของสติปัญญา ผมคงเป็นพวกที่เรียกว่า พุทธิจริต ชอบสนุกกับการคิดการนึก การใช้ปัญญา มาบวชเข้า มันได้พบอันนี้ก็เลยสนุก เป็นความสุขในการคิดนึกพิจารณา พบของแปลก พบของใหม่

สิ่งต่างๆ มันก็เช่นนั้นเอง ก็ไม่ได้ลองทุกสิ่ง มันลองสัก 10% จะไม่ถึง แต่มันรู้หมดเลย ว่ามันเช่นนั้นเอง แค่นั้นเอง อย่างเรื่องเพศตรงข้ามก็ไม่มีโอกาสลองอะไร แต่มันมีความแน่ใจว่า มีไป ก็เช่นนั้นเอง แค่นั้นเอง สักว่าแค่นั้นเอง มันก็หมดไป ปัญหาก็หมดไป สติปัญญาที่เล่าเรียนมาทางอื่น ศึกษามาทางอื่นพอที่จะรู้ได้ว่ารสทางเพศ เพศรสก็แค่นั้นเอง แค่บ้าวูบเดียวเท่านั้นเอง วิเศษวิโสอย่างไรไปไม่ได้ เพราะมันวูบเดียว มันเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เป็นเรื่องของสติปัญญา

 

 

ที่มา : พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ (ปกแข็ง) (กรุงเทพมหานคร: สนพ.โกมล คีมทอง, 2555), หน้า 1-94, 384 และ 392-398.

หมายเหตุ : 

  • บทความนำเสนอเนื่องในวาระครบรอบ 117 ปี ของพุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม 2449 - 8 กรกฎาคม 2566) 
  • จัดและตัดทอนเนื้อหาบางส่วนโดยกองบรรณาธิการ
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

[1] เก็บความจาก พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ (ปกแข็ง) (กรุงเทพมหานคร: สนพ.โกมล คีมทอง, 2555), หน้า 1-94 และ 384.

[2] พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ (ปกแข็ง) (กรุงเทพมหานคร: สนพ.โกมล คีมทอง, 2555), หน้า 1-94 และ 384.