วันนี้ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2565 ครบรอบ 67 ปี แห่งการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘
นายเฉลียว ปทุมรส .. จำเลยที่ 1
นายชิต สิงหเสนี .. จำเลยที่ 2
นายบุศย์ ปัทมศริน .. จำเลยที่ 3
คดีประวัติศาสตร์นี้ยังคงถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแต่ยังคงปราศจากข้อสรุป หรือการชำระจนเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย
วันนี้ขอนำเสนอในมุมรูปคดีในอดีตที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมทั้ง 3 ศาล ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ จนนำมาสู่การตัดสินประหารชีวิต 3 จำเลยในวันนี้เมื่อ 67 ปีก่อน
บทความในวันนี้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรอบสำคัญ 3 ประการ
1) จะไม่ถกเถียงโต้แย้งประเด็นข้อมูลเดิมอันเป็นที่ยุติปรากฏในคำพิพากษาของทั้ง 3 ศาล อาทิเช่น ข้อกล่าวหาของอัยการโจทก์ ข้อโต้แย้งของทนายจำเลย ข้อวินิจฉัยของศาล เช่น การกล่าวหาเรื่องพฤติกรรมจำเลยที่มีพิรุธ แล้วฝ่ายทนายจำเลยได้แก้ข้อสงสัยดังกล่าวไปแล้ว แต่ท้ายที่สุด ศาลวินิจฉัยเชื่อคำกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ จะไม่หยิบยกมาถกใหม่ ว่าข้อแก้ตัวของฝ่ายจำเลยเป็นเหตุเป็นผลที่ดีกว่า หักล้างโจทก์ได้หมด แต่ทำไมศาลฯ ไม่รับฟัง
2) จะหยิบใช้ข้อมูลการกลับลำของพยานปากเอกฝ่ายโจทก์ชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่สารภาพบาปว่าเป็นพยานเท็จ ถูกจ้างวานโดยพระพินิจชนคดี และนำมาเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2522 รวมถึงบันทึกลับ พระยาศรยุทธเสนี ว่าส่งผลสะเทือนต่อคำพิพากษาทั้ง 3 ศาล ในขอบเขตประเด็นใดบ้าง ?
3) จะหยิบยกข้อแก้ตัวของบุคคลบางกลุ่ม บางพวกที่ยกคำสารภาพชุดพยานเท็จ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ว่าไม่มีผลใดๆ ต่อคำพิพากษาของทั้ง 3 ศาล โดยปรากฏเป็นหลักฐานผ่านการโพสต์ในบทความของเพจดังๆ อาทิ เพจฤา Lue History เพจปราชญ์สามสี รวมถึงการตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ อาทิ “สยามยิ่งยง” ของ พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์ หรือ แม้แต่หนังสือ “ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต” ของ สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น
ขอเริ่มจากคำสารภาพบาป นายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 หัวข้อใหญ่ดังนี้
-1-
เริ่มจากพยานชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณ นั้นประกอบเชื่อมโยงกับใครบ้าง?
ขอยกคำกล่าวนำฝ่ายอัยการโจทก์ที่กล่าวสรุปในการแถลงปิดคดีระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายตี๋ ดังนี้
1) พล.ต.ท พระพินิจชนคดี ประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีฯ
2) หลวงแผ้วพาลชน คณะกรรมการสอบสวนคดี (นายตี๋เป็นน้าหลวงแผ้ว)
3) พระยาศรยุทธเสนี เจ้าของสถานที่ที่มีการประชุมวางแผนและนายตี๋แอบล่วงรู้
4) ขุนเทพประสิทธิ์ ผู้ชักนำนายตี๋ มาพบหลวงแผ้วฯ
5) นายชวน จนิษฐ ผู้ที่ถกเถียงโต้แย้งกรณีสวรรคตกับนายตี๋ ศรีสุวรรณ
6) นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานโจทก์ที่ล่วงรู้แผนลอบปลงพระชนม์
7) นางทองใบ แนวนาค สาวใช้บ้านพระยาศรยุทธฯ
8) นายแม้น จันทวานิช พ่อค้าไม้หมอนรถไฟ
โดยความสัมพันธ์ทั้ง 8 คนนั้นเริ่มจาก
- นายตี๋ ไปพักบ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนการสวรรคต ตามคำแนะนำของนายแม้น จันทวานิช ในเรื่องการค้าไม้หมอนรถไฟ
- นายตี๋ ได้เห็นและแอบได้ยินการประชุมวางแผนลอบปลงพระชนม์โดยคณะบุคคลชุดหนึ่งถึง 3 ครั้ง
- นายตี๋ เก็บงำความลับนี้ไว้ จนกระทั่งมาพักค้างที่บ้านขุนเทพประสิทธิ์ และได้ยินขุนเทพประสิทธิ์ โต้เถียงกับ มหาชวน จนิษฐ์ เรื่องเหตุแห่งการสวรรคต จึงทนไม่ได้ เผยความลับออกมา
- ขุนเทพประสิทธิ์จึงนำตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ มาพบหลวงแผ้วพาลชนและพระพินิจชนคดี ราวเดือนเมษายน 2491 (หลังจากทั้งคู่กลับจากการสืบพยานสมเด็จพระราชชนนีที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์)
- นางทองใบ แนวนาค สาวรับใช้ในบ้านพระยาศรยุทธฯ อ้างเป็นผู้เห็นนายตี๋ นั่งฟังการสนทนาวางแผนครั้งที่ 3
- นายแม้น จันทวานิช ผู้เขียนจดหมายโต้ตอบกับพระยาศรยุทธฯ 4 ฉบับในเรื่องค้าขาย รวมถึงเป็นผู้ชักนำนายตี๋มาอยู่ที่บ้านพระยาศรยุทธฯ
ดังนั้นการสารภาพบาปของนายตี๋ จะส่งให้คณะบุคคลทั้งหมดกลายเป็น “ชุดพยานเท็จ” เพราะไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มิใช่เพียงนายตี๋คนเดียวที่กล่าวเท็จปั้นเรื่อง
-2-
ช่วงเวลาการมาพักอาศัยบ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนเหตุการณ์สวรรคต เพื่อช่วยทำการค้าขายไม้หมอนรถไฟ มีจดหมายโต้ตอบการสนทนาระหว่างพระยาศรยุทธฯ กับนายแม้น จันทวานิช จำนวน 4 ฉบับ
-3-
การสังเกตล่วงรู้เห็นการมาประชุมวางแผนถึง 3 ครั้งของคณะบุคคลหนึ่ง ก่อนการสวรรคต ตามลำดับดังนี้
ครั้งแรก : เดือน 6 ข้างขึ้น ปีจอ (ราว 1-15 พ.ค. 2489) เริ่มเวลา 18.00 น. นายตี๋ ถูกใช้ออกไปข้างนอก กลับมาเวลา 21.00 น. เศษ ทุกคนกลับไปหมดแล้ว
ครั้งสอง : หลังครั้งแรก 9-10 วัน เริ่มเวลา 18.00 น. นายตี๋ลุกออกไปข้างนอกกินกาแฟ หลังจากนั้น 1 ชม. ทุกคนก็กลับไปกันหมด
ครั้งสาม : หลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 7-8 วัน เริ่มราว 19.00 น. ประมาณ ไม่ถึง 1 ชม. ก็ทยอยกันกลับ
-4-
การยืนยันจำหน้าคณะบุคคลดังกล่าว ที่มาร่วมประชุมวางแผนก่อนการสวรรคต ได้ดังนี้
ครั้งแรก ปรีดีไปกับพวก รวม 3 คน
ครั้งสอง ปรีดีกับพวก รวม 5 คน
ครั้งสาม ปรีดีกับพวก รวม 5 คน (ซ้ำหน้ากันทั้ง 5 คน) โดยระบุเป็น
1) นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2) ร้อยเอกวัชรชัย ชัยสิทธิ์เวช เลขานายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าราชองครักษ์
3) นายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการและพฤฒิสมาชิก
4) นายชิต สิงหเสนี มหาดเล็กหน้าห้องบรรทม
5) จำหน้าไม่ได้
หมายเหตุ : บุคคลหมายเลข 3) และ 4) พนักงานสอบสวนได้นำจำเลยทั้ง 3 คนมายืนปะปนกับตำรวจนอกเครื่องแบบซึ่งแต่งกายคล้ายคลึงกับนายตี๋และชี้ตัวได้อย่างถูกต้องตามบันทึกหมาย 30
-5-
เนื้อหา ถ้อยคำ สาระในการสนทนาโต้ตอบของคณะบุคคลวางแผนดำเนินการลอบปลงพระชนม์ที่นายตี๋ ศรีสุวรรณได้นำมาถ่ายทอดในชั้นสอบสวน และให้การในศาลฯ ได้อย่างชัดแจ้ง
ครั้งแรก : พระยาศรยุทธฯ แค่แนะนำนายตี๋ให้ปรีดีกับพวกรู้จัก นายตี๋ไม่ได้ยินการหารือใดๆ เพราะถูกใช้ให้ออกไปทำธุระ
ครั้งสอง : นายตี๋ ได้ยินคำสนทนาเพียงแค่ประโยคเดียวคือ “ใกล้จะไปอยู่แล้ว จะทำอย่างไรก็ทำเสีย “
ครั้งสาม : ได้ยินประโยคโต้ตอบสนทนากันไปมา อาทิ
“ผมไม่นึกเลยว่าเด็กตัวนิดเดียวปัญญาจะเฉียบแหลมถึงเพียงนี้”
“ผมก็ได้ยิน ผมอยู่ใกล้ว่า พี่ชายจะสละราชสมบัติให้น้อง คิดจะสมัครผู้แทนเป็นนายก”
“นั่นสิ พวกเรา เขาคิดเรื่องนี้สำเร็จรอดไปได้ พวกเราจะเดือดร้อน ไม่ได้ อย่าให้พ้นไปได้ รีบกำจัดเสีย”
“นั่นตกเป็นพนักงานของพวกผมเอง”
“พวกผมทำสำเร็จก็ขอให้เลี้ยงดูให้ถึงขนาดก็แล้วกัน”
“กันพูดไม่จริงก็เอาปืนมายิงกันเสีย”
“ให้สำเร็จก็แล้วกัน จะมีรางวัลให้สมใจ”
สาระสำคัญของพยานชุดนายตี๋ มี 5 หัวข้อใหญ่
1) กลุ่มบุคคลพยานโจทก์ทั้ง 5 คน ยืนยันเรื่องนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นเรื่องจริง
2) ยืนยันการมาพักอยู่ที่บ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนการสวรรคตของนายตี๋
3) ยืนยันการมาประชุมวางแผน 3 ครั้งก่อนสวรรคต
4) ยืนยันเห็นบุคคลทั้ง 5 คนที่มาประชุมกันในการวางแผนครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3
5) ยืนยันได้ยินคำพูดสนทนาในการประชุมครั้ง 2 / 1 ประโยค และ ประชุมครั้ง 3 / 7 ประโยค
ทั้ง 3 ศาล เชื่อใน 5 หัวข้อของพยานชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณ ในข้อใดบ้าง
ศาลอาญา
เปิดศาลฯ รับคำฟ้องของอัยการโจทก์ที่ระบุในสำนวนว่าเป็นคดีประทุษร้าย ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2491 และเริ่มพิจารณาไต่สวนพยานปากเอกฝ่ายโจทก์คนแรกคือ “พระยาศรยุทธเสนี” ในวันที่ 28 กันยายน 2491 ตามด้วย นายตี๋ ศรีสุวรรณ, นางทองใบ แนวนาค, ขุนเทพประสิทธิ์, นายชวน จนิษฐ ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
ศาลฯ อ่านคำพิพากษาพร้อมข้อวินิจฉัยประกอบ เมื่อ 27 กันยายน 2494 ผมคัดที่เกี่ยวกับพยานชุดนายตี๋ ไว้ดังนี้
“ศาลฯ เห็นว่าไม่เป็นการสำคัญและจำเป็นจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยให้ยาวความไปโดยใช่เหตุอีกว่า นายตี๋ ศรีสุวรรณ ได้มาอยู่กับพระยาศรยุทธฯ เมื่อก่อนสวรรคต หรือ หลังสวรรคตแน่ เพราะถึงอย่างไร คำเบิกความยืนยันของนายตี๋ …. ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับฟังเป็นความจริงได้อยู่แล้ว ดังเหตุผลนานาประการที่กล่าวข้างต้น”
สรุป ศาลอาญาไม่อาจวินิจฉัยว่า
1) นายตี๋ มาอยู่บ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนหรือหลังวันสวรรคต
2) ไม่เชื่อถือปากคำของพยานชุดนี้ อีก 4 ข้อใหญ่ที่เหลือด้วย
ดังนั้น คำพิพากษาศาลอาญาที่สั่งประหาร นายชิต สิงหเสนี จึงไม่เกี่ยวข้องกับหลักฐานพยานชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณแต่อย่างใด แต่เป็นเหตุให้สั่งปล่อย นายเฉลียว ปทุมรส กับ นายบุศย์ ปัทมศริน เพราะไม่อาจเชื่อมโยงการวางแผนลอบปลง ตามคำร้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์
เริ่มอ่านคำพิพากษา 28 ตุลาคม 2496 ขอคัดเฉพาะข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวกับพยานชุดนายตี๋ โดยสังเขปตามลำดับดังนี้
การที่นายแม้น จันทวานิช มี จดหมาย ล.๔ ถึงพระยาศรยุทธฯ ระบุชื่อนายตี๋ ไว้ 2 แห่ง ศาลอาญามีความเห็นว่าหมายถึงนายตี๋ ศรีสุวรรณคนเดียวกันนั้น จะถือว่านายตี๋ ศรีสุวรรณไม่เคยอยู่ในบ้านพระยาศรยุทธเสนีก่อนแต่นั้น “จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล”
(1) อาศัยเหตุผลดังกล่าวมา ศาลอุทธรณ์เชื่อว่านายตี๋ ศรีสุวรรณอยู่กับพระยาศรยุทธเสนี ก่อนสวรรคต
- การที่ศาลอุทธรณ์พยายามวินิจฉัย ความตอนนี้อย่างละเอียดก็เพื่อให้เห็นว่า “นายตี๋ ศรีสุวรรณ” อยู่ในฐานะที่ควรจะได้พบเห็น “นายปรีดี พนมยงค์” กับพวกไปบ้าน “พระยาศรยุทธเสนี” ...
- ตามลักษณะวิธีพิจารณาคำพยานหลักฐาน มิใช่ว่าเมื่อศาลฟังคำให้การของพยานคนใดสำหรับเหตุการณ์อันใดแล้ว จำจะต้องเชื่อข้อความที่พยานบรรยายถึงเหตุการณ์อย่างอื่นตลอดทั้งหมดก็หามิได้
เพราะฉะนั้น ศาลอุทธรณ์จึงจะได้พิจารณาถึงข้อที่นายตี๋ ได้ยินเจรจากันเรื่องวางแผนปลงพระชนม์… ลำดับถัดไปนี้
- ในบรรดาจำเลย มี นายชิต สิงหเสนี ซึ่งนายตี๋ ยืนยันว่าเป็นคนที่ไปกับนายปรีดี ครั้งที่ 2 และที่ 3 ...
อนึ่งปรากฏตามคำให้การนายตี๋ ว่าได้ยินเรียกชื่อนายชิต กันมาตั้งแต่วันพบแล้ว แต่ตอนที่นายตี๋ ขยายให้ขุนเทพประสิทธิ์และนายชวน จนิษฐฟัง นายตี๋มิได้ให้การเลยว่าบอกชื่อนายชิต แก่ขุนเทพประสิทธิ์ด้วย จึงไม่กลมกลืนกับคำให้การของขุนเทพประสิทธิ์
(2) ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าถ้อยคำของนายตี๋ ศรีสุวรรณ เฉพาะที่เกี่ยวกับนายชิต สิงหเสนี จำเลย จึงขาดเหตุผลตามกฎหมายไม่อาจรับฟังมายันนายชิต สิงหเสนี จำเลยได้
(3) ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องศาลอาญาว่า ถึงแม้ปรีดี พนมยงค์ กับพวก ได้ไปที่บ้านพระยาศรยุทธเสนีจริง ลำพังการไปย่อมไม่แสดงว่าต้องไปคบคิดกันกระทำผิดอย่างใด เพราะอาจไปมาหาสู่กันธรรมดาก็ได้
(4) ศาลอุทธรณ์หาเหตุผลไม่ได้เลยว่าทำไมจะต้องไปอาศัยบ้านพระยาศรยุทธเสนีให้อื้อฉาว (ในการวางแผนลอบปลงพระชนม์ในเมื่อทำเนียบท่าช้างก็มี บ้านป้อมเพชรก็มี และที่เร้นลับแห่งอื่นก็มี)
(5) นายตี๋ ศรีสุวรรณ เบิกความว่า เมื่อได้ยินเขาพูดกันนั้น นายตี๋ ได้ชะโงกหน้าไปดูที่หน้าต่างถึง 4-5 ครั้ง ก็ไม่สงสัยว่าจะรอดพ้นสายตาคนในห้องรับแขกไปได้ ทั้งนี้พวกนั้นรู้ว่าถ้าพูดไปแล้วจะได้ยินไปถึงคนที่นั่งฟังอยู่ข้างนอกเช่นนี้ “ใครเลยจะกล้าพูดข้อความที่สลักสำคัญถึงตายได้” ......
ยิ่งคิดไปก็ไม่มีทางที่ศาลอุทธรณ์ จะรับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ตอนนี้ได้
(6) ศาลอุทธรณ์ได้วางหลักไว้ว่า จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าได้วางแผนการกันที่บ้านพระยาศรยุทธฯ เป็นเครื่องชี้ขาดความหมายแห่งคำพูดของนายเฉลียว ปทุมรส จำเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อถ้อยคำของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไม่ประกอบชอบด้วยเหตุผลสมควรที่จะรับฟัง “ก็ไม่มีทางที่จะลงโทษนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยตามอุทธรณ์ของโจทก์ได้”
สรุป ศาลอุทธรณ์เชื่อหรือไม่เชื่อใน 5 ข้อใหญ่ของพยานชุดนายตี๋ ดังนี้
เชื่อข้อ 1 —> ความเกี่ยวข้องของพยานโจทก์ทั้ง 8 คน
เชื่อข้อ 2 —> นายตี๋ มาอยู่บ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนวันสวรรคตจริง
ไม่เชื่อข้อ 3 —> นายตี๋ เห็นการมาพบปะระหว่าง คณะบุคคลของปรีดี กับพระยาศรยุทธฯ ที่บ้านจริง แต่ไม่เชื่อว่ามาเพื่อวางแผนลอบปลงฯ
ไม่เชื่อข้อ 4 —> ว่าเห็นนายชิตมาบ้านพระยาศรยุทธฯ
ไม่เชื่อข้อ 5 —> ในถ้อยคำสนทนาที่นายตี๋แอบได้ยินที่บ้านพระยาศรยุทธฯ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือ พิพากษายืนในคำสั่งประหารชีวิตนายชิต ตามศาลอาญา และสั่งประหารนายบุศย์ เพิ่มในฐานะร่วมมือกับนายชิต แต่สาเหตุมิได้มีข้อใดเกี่ยวกับหลักฐานพยานชุดนายตี๋เลย ตรงกันข้าม ศาลอุทธรณ์สั่งปล่อยนายเฉลียว เพราะไม่อาจเชื่อถือคำให้การพยานชุดนายตี๋ ในเรื่องวางแผนลอบปลงพระชนม์ที่บ้านพระยาศรยุทธฯ
ศาลฎีกา
ฝ่ายอัยการโจทก์ได้มีถ้อยแถลงเพิ่มเติมในกรณีพยานชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ไม่นำมาใช้เป็นเหตุให้ลงโทษนายเฉลียว ปทุมรส โดยอัยการโจทก์แถลงตำหนิ 2 ศาลล่าง (ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์) ในเรื่องไม่เชื่อคำให้การพยานชุดนายตี๋ ปรากฏในคำแถลงร้องต่อศาลฎีกา วันที่ 21 มิถุนายน 2497 ให้เอาผิดนายเฉลียว ดังนี้
“ที่จริง นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานโจทก์ให้การตรงไปตรงมา มิได้มีข้อแตกต่างขัดแย้งกับพยานปากใด”
“ศาลล่างทั้ง 2 ศาล หยุมหยิมจนเกินไป ดังที่โจทก์ได้เรียนไว้ในฎีกาแล้ว จึงไม่ขอเรียนซ้ำอีก เพียงแต่ขอเรียนย้ำว่า โจทก์เชื่อในความบริสุทธิ์ของพนักงานสอบสวน ซึ่งมี พลตำรวจโทพระพินิจชนคดีเป็นหัวหน้า และนายชวน จนิษฐ ขุนเทพประสิทธิ์ พยานซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อยู่เป็นอย่างมาก และเหตุการณ์แวดล้อมบ่งชัดว่า นายตี๋ ศรีสุวรรณ ให้การเท็จมิใช่ความจริงแล้ว ย่อมไม่พ้นที่พลตำรวจโทพระพินิจชนคดี นายชวน จนิษฐ ขุนเทพประสิทธิ์ จะต้องเป็นผู้เสี้ยมสอนแนะนำอย่างแน่นอน เพราะลำพังนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไม่อาจที่จะล่วงรู้เหตุการณ์ตอนที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมรับสั่งกับ ม.ร.ว.สุมนชาติว่า จะสละราชสมบัติให้ในหลวงองค์ปัจจุบัน แล้วพระองค์จะสมัครเป็นผู้แทนเพื่อทรงรับตำแหน่งนายกฯ ได้”
อนึ่ง อัยการโจทก์ ได้นำอดีตนายกฯ ควง อภัยวงศ์ ขึ้นให้การเป็นพยาน ตอบข้อสงสัยศาลอุทธรณ์ที่ ระบุว่า หากปรีดีจะวางแผนลอบปลงฯ จริง ทำไมต้องใช้บ้านพระยาศรยุทธฯ
นายควง ให้การว่าครั้นสมัยวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในรถยนต์ก็มี ศาลาท่าน้ำหน้าวัดก็มี ในเรือจ้างก็เคย เพื่อหักล้างข้อสงสัยศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 12 ตุลาคม 2497 แต่อ่านคำพิพากษา วันที่ 13 ตุลาคม 2497 ประเด็นพยานชุดนายตี๋ มีผลต่อคำพิพากษาดังนี้
หลังจากได้นายตี๋ เป็นพยานแล้ว จึงได้ดำเนินการเรียก พระยาศรยุทธฯ และ นางทองใบ มาสอบสวนเป็นพยานดังกล่าว
- พึงสังเกตว่า พยานชุดนี้ ต่างรู้ต่างเห็นเบิกความเกี่ยวโยงติดต่อกันเป็นลำดับประกอบเจือสมกันตลอดสาย มิใช่เป็นพยานโดดเดี่ยวขึ้นมาลอยๆ และไม่มีทีท่าว่าเสกสรร ปั้นเรื่องเลย
- ที่ฝ่ายจำเลยคัดค้านว่า นายตี๋มาพักอยู่บ้านพระยาศรยุทธฯ ภายหลังวันสวรรคตย่อมไม่รู้เห็นเหตุการณ์ (วางแผนลอบปลงพระชนม์) ความข้อนี้จำเลยอ้างจดหมายนายแม้น ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2489 ว่านายตี๋ จะขายไม้ให้ อันเป็นทำนองว่า ถ้าระหว่างนายตี๋อยู่บ้านพระยาศรยุทธฯ นายแม้นจะต้องมีจดหมายมาบอกทำไม
เมื่อพิเคราะห์ จดหมายฉบับนี้แล้ว ไม่ปรากฏชัดว่า นายตี๋จะได้มาพักบ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อน หรือหลังสวรรคตอย่างไร และก็ได้ความตามนายตี๋ว่า เมื่อมาพักไม่ได้อยู่ประจำ ต้องขึ้นล่องไปดูไม้ต่างจังหวัด…. ข้อโต้เถียงจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ได้
(ยืนตามคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ว่านายตี๋ มาอยู่ก่อนวันสวรรคต)
- ตามพยานหลักฐานที่ได้ความมานี้ ศาล (ฎีกา) เห็นควรฟังได้ว่า นายเฉลียว นายชิต กับพวกไปที่บ้าน พระยาศรยุทธฯ ก่อนหน้าวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตจริงดังคำพยาน
- ส่วนปัญหาว่า ไปเพื่ออะไรนั้น พระยาศรยุทธฯ ว่านายปรีดีมาเยี่ยมพูดกันเรื่องค้าไม้ ก็เมื่อยังไม่ได้ลงมือกันจริงจัง เหตุใดจึงต้องไปกันหลายหน และถ้าจำเลยไปที่บ้านกันโดยสุจริตแล้ว ก็ไม่น่าจะปิดบังถึงแก่เบิกความปฏิเสธข้อนี้ ยิ่งเมื่อระลึกถึงกริยาอิดเอื้อนเป็นเวลาหลายชั่วโมงของพระยาศรยุทธฯ ในการตอบคำถามชั้นสอบสวนถึงข้อนี้ ประกอบด้วยแล้ว ย่อมส่อให้เห็นข้อพิรุธว่า “มิได้ไปมาหาสู่กันปกติ”
- ส่วนถ้อยคำของพวกที่ไป จะพูดจากันอย่างใดบ้าง ……ศาลนี้เห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด
สรุป ศาลฎีกาเชื่อใน 5 ข้อใหญ่ของพยานชุดนายตี๋ ดังนี้
เชื่อข้อ 1 —> เชื่อพยานชุดนี้ทั้ง 8 คน
เชื่อข้อ 2 —> นายตี๋มาอยู่บ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนสวรรคต
เชื่อข้อ 3 —> มีการมาประชุมวางแผนลอบปลงจริง ไม่ใช่ไปมาหาสู่เรื่องปกติ
เชื่อข้อ 4 —> บุคคลที่ไปประชุมคือ จำเลย เฉลียว, ชิต และพวกจริง
ไม่เชื่อข้อ 5 —> คือถ้อยคำ 8 ประโยคในการสนทนา
ในคำตัดสินประหารชีวิตนายเฉลียวในชั้นศาลฎีกามีข้อวิเคราะห์ พฤติกรรมจำเลย 6 ข้อ ดังนี้
- เป็นคนสนิทชิดชอบปรีดี เป็นคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และฝักใฝ่กับปรีดี
- เป็นผู้บังคับบัญชา นายชิตและนายบุศย์ โดยเฉพาะนายชิต มีความสนิทสนมกันเองกับนายเฉลียว
- มีความประพฤติหลายครั้งไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง อาทิ
- ก. นั่งรถยนต์ล่วงล้ำเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน บางครั้งนั่งไขว่ห้างเข้าไป
- ข. เวลานายเฉลียวนำหนังสือไปทูลเกล้าถวาย สวมแว่นดำและสูบบุหรี่พรวดพราดเข้าไป ขณะทูลเกล้าถวายหนังสือแทนที่จะคุกเข่า กลับยืน และต้องหมอบอ่าน กลับไปยืนอ่านใกล้ๆ โต๊ะ
- ค. นายเฉลียวเปิดวิทยุที่ตึกทำงาน ตรงข้ามพระที่นั่งบรมพิมานแม้เวลาบรรทม
- ถูกให้ออกจากหน้าที่ราชเลขานุการ ย่อมเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนจิตใจอย่างแรง
- ได้วินิจฉัยแล้วเป็นบุคคลที่ไปประชุมบ้านพระยาศรยุทธฯ (เฉลียว, ชิต)
- พูดล่วงหน้าว่าจะไม่ได้เสด็จกลับกับบุคคล 2 ท่าน
จะเห็นได้ว่าเหตุผลข้อ 1, 2, 3, 4 และข้อ 6 เป็นความผิดแบบพฤติกรรมส่วนบุคคล คือ ตำแหน่งหน้าที่, ความสนิทสนม, การแสดงความก้าวร้าวไม่นอบน้อม, การแสดงความคิดเห็น พูดล่วงหน้า ฯลฯ
แต่ข้อ 5 คือ ความผิดที่ศาลฎีกาเชื่อว่านายเฉลียวมีการไปประชุมวางแผนกับปรีดี, ร.อ. วัชรชัย และนายชิตที่บ้านพระยาศรยุทธฯ ก่อนวันสวรรคตจริง และไม่ใช่ไปพบกันในเรื่องธรรมดา
ดังนั้น พยานเท็จชุดนายตี๋ จึงมีผลต่อคำพิพากษาประหารนายเฉลียว รวมถึงนายชิตในชั้นศาลฎีกา
ส่วนท้ายสุดในบทความนี้ คือ การพยายามอธิบายของคนบางกลุ่มในเพจต่างๆ รวมถึง หนังสือบางเล่มที่ด้อยค่าคำสารภาพบาปของ นายตี๋ ศรีสุวรรณ รวมถึงบันทึกลับพระยาศรยุทธฯ ว่าไม่มีผลใดๆ กับคำพิพากษาของทั้ง 3 ศาล โดยยกแค่ข้อวินิจฉัยบางท่อน บางตอนของศาลฯ มาประกอบคำอธิบาย ผมขออนุญาตพาดพิง ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนี้
เพจ ฤา Lue History ที่คัดเฉพาะข้อวินิจฉัยในข้อ 5 ของพยานชุดนายตี๋ ว่าศาลฎีกา ไม่ให้ความน่าเชื่อถือ ดังนี้
“แต่พยานที่สนับสนุน นายตี๋ในข้อที่ได้ยินพูดจาดังนั้นหามีไม่ นายตี๋อาจได้ยินถ้อยคำบางคำแล้วเสริมความหรือหมายความให้เกินไปกว่าความจริงหรือถ้อยคำก็ได้ หรือสังเกตเห็นจากอากัปกิริยาแล้วเดาความเอาตามเค้าเรื่องที่ตนเองคิดเห็นก็ได้ หรืออาจได้ยินข้อความเหล่านั้นจนจับเนื้อความได้ก็ได้”
“ในเหตุต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ศาลนี้เห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นแน่อย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด”
อ่านรายละเอียดใน นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานเท็จในคดีสวรรคตที่ศาลไม่ได้เชื่อมาตั้งแต่แรก
หรือ คัดข้อวินิจฉัยในข้อ 1 ของศาลอาญามาประกอบ รวมถึงหนังสือ “สยามยิ่งยง” ของ พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่พยายามอธิบายเช่นกันว่า ศาลไม่ให้ความสำคัญของพยานชุดนายตี๋ ดังนั้นคำสารภาพบาปจึงไม่ก่อเกิดผลใดๆ กับรูปคดีลอบปลงพระชนม์
ที่ผมแปลกใจ คือ หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ตีพิมพ์คำสารภาพของนายตี๋และบันทึกลับพระยาศรยุทธฯ มาเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง กลับใช้ข้อสรุปเดียวกันว่า ศาลไม่ให้ความเชื่อถือพยานชุดนายตี๋ เช่นกัน
สำหรับศาลฎีกานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธการรับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ… เช่น ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ปฏิเสธมาแล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้รับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาลงความเห็นว่า จะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นแน่อย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด “เมื่อเป็นเช่นนี้ ตามหลักแห่งความยุติธรรมก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” (ถ้อยคำนี้ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล เติมเข้าไปเอง ศาลฎีกามิได้เขียนไว้)
ในวาระครบ 67 ปีแห่งการประหารชีวิตจำเลยทั้ง 3 คน ผมจึงได้หยิบคำสารภาพบาปของพยานเท็จชุดนายตี๋ ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 คน มาตีแผ่ พร้อมทั้งทำชาร์ตอธิบาย 5 ข้อใหญ่ของพยานชุดนายตี๋ ประกอบข้อวินิจฉัยของทั้ง 3 ศาล เพื่อให้คนเข้าใจโดยทั่วไป (กรุณาดูชาร์ตสีเหลืองประกอบ)
ลำพัง ข้อสรุปอัยการโจทก์ในชั้นศาลฎีกาและข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เชื่อถึง 4 ข้อใน 5 ข้อของพยานเท็จชุดนายตี๋ ศรีสุวรรณ เวลาก็ทำหน้าที่พิสูจน์ความจริง ให้ผู้มีใจเป็นธรรม ตระหนักว่า ใครเป็นผู้กล่าวเท็จ และ ใครคือผู้บริสุทธิ์ที่แท้จริง
67 ปีที่แล้ว ผมไม่แปลกใจที่หลายคนถูกชุดพยานเท็จที่จัดตั้งโดย พระพินิจชนคดีกับพวก ใช้เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ทำให้ทั้งอัยการและศาลฯ เชื่อถือจนเป็นเหตุหนึ่งใน 6 ข้อให้คำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินประหารคุณเฉลียวกับพวก แต่ที่แปลกและน่าตระหนกใจ คือ แม้คำสารภาพดังกล่าวออกมาเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นเท็จ ก็ยังมีคนบางกลุ่มยังไม่ยอมรับ อาจเพราะยังศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยไม่เข้าใจ จึงยังใช้เหตุผลเสี้ยวเดียวมาชี้แจง กลบเกลื่อน ย้ำว่ายังเป็นการลอบปลงพระชนม์เหมือนเดิม
ทั้งๆ ที่การสร้างพยานเท็จชุดนี้ ย่อมส่งผลให้ความชอบธรรมของฝ่ายตำรวจที่สรุปสำนวนทลายลงทั้งหมด ศาลฎีกาและอัยการ ผู้ที่รักในความเป็นธรรม มิได้มีโอกาสเห็นการออกมาสารภาพบาปของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ในวันที่ 25 มกราคม 2522
คงมีเพียงท่านเดียวในบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมที่ทันได้เห็นผลแห่งกรรม คือ หลวงแผ้วพาลชน ที่เรียก นายตี๋ ศรีสุวรรณ ว่าน้า และเป็นผู้กล้าเข้าไปดูการประหารจำเลยทั้ง 3 ในวันนี้เมื่อ 67 ปีก่อน
ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า หากกระบวนการยุติธรรมในครั้งนั้น ล่วงรู้ทราบความจริงของผู้สรุปสำนวนของตำรวจว่าสร้างชุดพยานเท็จขึ้นมา การส่งฟ้องของอัยการ และคำพิพากษาจะเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม
บัดนี้ถึงเวลาชำระคดีประวัติศาสตร์
คืนความชอบธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ได้แล้วหรือยังครับ ?
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนแล้ว
- กังวาฬ พุทธิวนิช
- เฉลียว ปทุมรส
- ชิต สิงหเสนี
- บุศย์ ปัทมศริน
- คดีสวรรคต ร.8
- 3 จำเลยคดีสวรรคต
- ตี๋ ศรีสุวรรณ
- นันทเดช เมฆสวัสดิ์
- สุพจน์ ด่านตระกูล
- พระพินิจชนคดี
- หลวงแผ้วพาลชน
- พระยาศรยุทธเสนี
- ขุนเทพประสิทธิ์
- ชวน จนิษฐ
- ทองใบ แนวนาค
- แม้น จันทวานิช
- ปรีดี พนมยงค์
- วัชรชัย ชัยสิทธิ์เวช
- สุมนชาติ สวัสดิกุล
- ควง อภัยวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
- รัชกาลที่ 8
- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี