ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะนำหนังสือ : อุดมธรรม กับผลงานชุดพุทธศาสนา

30
มีนาคม
2565

ชื่อหนังสือ : “อุดมธรรม กับผลงานชุดพุทธศาสนา”
ผู้เขียน : กุหลาบ สายประดิษฐ์
บรรณาธิการ : อาจิณ จันทรัมพร
พิมพ์ครั้งที่ 4
สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า
ขนาดหนังสือ : 21*14.5 เซนติเมตร
จำนวนหน้า : 352 หน้า

 

 

คำนิยม

กล่าวถึง “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ศรีบูรพา” คนทั่วไปจะรู้จักท่านในฐานะ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานในรูปงานเขียนประเภทต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการของสิทธิ เสรีภาพ มนุษยธรรม ความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นประชาธิปไตยและเอกราชของชาติ น้อยคนจะนึกถึง หรือ กล่าวถึงการเป็นผู้ที่ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง รวมทั้งการนำเอาหลักธรรมมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติใช้ชีวิตของท่าน

“อุดมธรรม กับผลงานชุดพุทธศาสนา” เป็นผลงานที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หนังสือเล่มนี้ได้รวมบทความที่อธิบายถึงหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ความรู้และสาระของหลักธรรมในพุทธศาสนานั้นมีมากมาย สามารถเขียนเป็นหนังสือได้เป็นสิบเล่ม ร้อยเล่ม แต่ในหนังสืออุดมธรรมฯ เล่มเดียวนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เลือกที่จะอธิบายเน้นหนักไปที่แก่นแท้ หลักการสำคัญของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสาระที่ชาวพุทธทุกคนพึงศึกษา รู้ และเข้าใจ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้ภาษาอย่างง่ายๆ แต่คงเอกลักษณ์ของการใช้ภาษาที่สละสลวยงดงาม มาอธิบายแก่นของพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งยังใช้ศิลปะและความสามารถในการจูงใจให้ผู้ที่อาจยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ ได้เปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับคำอธิบายของท่านไปคิดไตร่ตรอง ใช้เหตุ ใช้ผล จนกระทั่งเข้าใจ เห็นจริงตามไปด้วย นับเป็นแบบอย่างของการเผยเพร่พุทธศาสนาที่ทรงประสิทธิผลอย่างยิ่ง

“อุดมธรรม กับผลงานชุดพุทธศาสนา” เป็นหนังสือที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เลือกให้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่สมควรเผยแพร่ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี 2548

มาถึงวันนี้จะพบว่าหนังสือเล่มนี้ได้บันที่กหลักฐานที่แสดงปรากฏการณ์ที่พิเศษอย่างมาก กล่าวคือ ในหนังสือเล่มนี้มีบันทึกจดหมายโต้ตอบสนทนาธรรมระหว่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งภาพที่ท่านทั้งสองได้พบกันเพื่อศึกษาสนทนาธรรมร่วมกันเมื่อประมาณปี 2493-2495 ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ 54-55  ปีต่อมาบุคคลทั้งสองได้กลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกประกาศยกย่องในปี 2548 และปี 2549 ติดต่อกัน

ปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งนี้ ได้ตอกย้ำถึงความเป็นสัจธรรมอันเที่ยงแท้และความยิ่งใหญ่ของหลักธรรมในพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องยืนยันอันหนักแน่นว่าหลักธรรมที่ได้รับการอธิบายขยายความไว้อย่างสละสลวยงดงามในหนังสืออุดมธรรมฯ นั้น เป็นสิ่งที่มีค่าควรนำมาศึกษาและนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิตสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี
“ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

 

คำนำสำนักพิมพ์

ก่อนอื่นใดใคร่ขอกล่าวเกริ่นว่า “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ยังได้ใช้นามปากกาว่า “อุบาสก” กับงานเขียนชุดพุทธศาสนาอีกด้วย ดังปรากฏในเรื่อง “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา” ที่รวมพิมพ์ในครั้งนี้แล้ว

ผลงานด้านพุทธศาสนาของท่านนี้เท่าที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นผ่านๆ มา มีอยู่ไม่สู้มากนัก แต่ก็นับว่าต่างไปจากนักประพันธ์อื่นหลายต่อหลายท่านซึ่งไม่ได้มีผลงานด้านนี้ไว้เลย ที่ประกาศไว้ว่า “รวบรวมไว้ครบถ้วนเป็นครั้งแรก” นั้น ออกจะเป็นการกล่าวรวบรัดจำกัดขอบเขตของงานไปสักหน่อย

ถ้าหากมีผลงานชุดนี้หลงเหลืออยู่อีก ก็จะเป็นที่เสียดายอย่างสุดซึ้ง แถมด้วยคำกล่าว “ขออภัย” แต่ถึงอย่างไร การพิมพ์ครั้งนี้ก็ได้พยายามรวบรวมจากที่ได้มีการตีพิมพ์กันมาแล้วเป็นเล่มย่อยใหญ่บ้างเล็กบ้างมาไว้ที่เดียวกันเป็นครั้งแรก ก็คงจะเป็นที่ประจักษ์ว่าผลงานชุดนี้แหละ ได้ประกาศตัวท่านให้ผู้ที่ยังไม่ทราบได้ทราบกันว่า ท่านมีศรัทธาปสาทะต่อพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นในดวงใจ ถึงกับได้อุทิศตนเข้าศึกษาและปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกขพลาราม ของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อได้รู้ซึ้งถึงหลักธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาแล้ว ก็มิได้เก็บนิ่งนอนใจไว้กับตัว ยังได้เผื่อแผ่รินรสพระธรรมออกแจกจ่ายพุทธศาสนิกชนให้ได้ดื่มแก้โรคทางใจที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วไป

เมื่อได้สำรวจตรวจสอบดูตันฉบับที่จะนำมาจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้พบว่าเรื่อง “อุดมธรรม” ได้เริ่มลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ “วิปัสสนาสาร” ของสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นหนังสือราย 2 เดือน เริ่มแต่ฉบับปีที่ 2 เล่ม 4 ประจำเดือนกรกฎาคม 2499, เล่ม 5, เล่ม 6 แล้วจึงเริ่มลง ตอนที่ 3 ในฉบับปีที่ 3 เล่ม 2 เตือนมีนาคม 2500 โดยทยอยลงไปเรื่อยๆ และมีที่น่าสังเกตว่านามปากกาที่ใช้ในเล่มดังกล่าวเป็น “ข.ช.กุหลาบ สายประดิษฐ์” ออกจะแปลกตาและประหลาดใจในอักษรย่อ “ข.ช.” ก็บังเอิญในหนังสือนั้นได้ตีพิมพ์งานของ สมัคร บุราวาส ไว้ด้วย มีเรื่อง “หนึ่งเดือนในวิปัสสนา” เป็นอาทิ ก็ปรากฏนามปากกาของท่านเป็น “ข.ช. สมัคร บุราวาส” แล้วตามมาด้วยข้อความว่า “ผู้ต้องขังการเมือง แดน ๖ บางขวาง”  จึงจับความได้ว่า “ข.ช.” ก็คือ “ผู้ต้องขังชาย” นั่นเอง

เรื่อง “อุดมธรรม” มาจบที่ฉบับปีที่ 3 เล่ม 4 เดือนกรกฎาคม 2500 และเฉพาะฉบับนี้ได้ถอดคำว่า “ข.ช.” ออกจากนามปากกาด้วยเป็นเครื่องแสดงว่า ท่านได้ใช้เวลาในคุกเขียนเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อคราวต้องภัยการเมือง เมื่อได้รับนิโทษกรรมก็ยังคงเขียนต่อมาอีก

เรื่อง “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร “กะดึงทอง” รายเดือน ของสำนักพิมพ์ไทยพณิชยการ มีนายสาทิศ อินทรกำแหง เป็นบรรณาธิการ ก็คงใช้เวลาเขียนเมื่อคราวต้องคดีทางการเมืองเช่นกัน ปรากฏว่าเริ่มแต่ฉบับที่ 32 ของเดือนพฤษภาคม 2499 เรื่อยมาถึงฉบับที่ 50 เดือนพฤศจิกายน 2500 เป็นอันจบตอนที่ 12 ทั้งๆ ที่ลงฉบับละตอน น่าจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นแต่เพราะมิได้ลงต่อเนื่อง เป็นประจำ บางช่วงกระโดดข้ามไป 2-3 ฉบับบ้างก็มี และ ฉบับที่ 44 ประจำเดือน พฤษภาคม 2500 ก็สลับลงเรื่อง “การบูชาอันสูงสุด” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงาน “๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่ทางไทยเราได้จัดขึ้น

เมื่อท่านผู้อ่านได้จบตอนที่ 12 ของเรื่องดังกล่าว ก็คงจะเห็นว่า “ศรีบูรพา” ได้ปล่อยทิ้งค้างไว้ ทั้งๆ ที่การสนทนากำลังเดินเครื่องเข้าจุดสำคัญที่เดียว จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าคาดไม่ผิดก็คงเรื่องเวลาไม่อำนวยให้ท่าน เพราะช่วงนั้นท่านคงมีการเตรียมลี้ภัยการเมืองซึ่งโหมกระหน่ำซ้ำเติมอย่างรุนแรง จำต้องออกจากประเทศไทยและจากไปโดยไม่มีวันได้หวนกลับมาสู่มาตุภูมิอีกเลย

หากได้พินิจจดหมายโต้ตอบระหว่างพุทธทาสกับท่านหลังจากกลับจากสวนโมกข์ฯ ก็เห็นทีท่าว่าท่านเริ่มรู้ซึ้งถึงแก่นธรรม และ คงเตรียมวาดโครงการใช้งานประพันธ์รับใช้ด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาด้วยการจับงานแปลเกี่ยวกับพุทธศาสนาของฝรั่งบางคน เป็นเบื้องแรกแล้วต่อๆ ไปก็ไม่แน่ว่าเราท่านอาจได้ลิ้มรสนิยายอิงธรรมะ ดังที่ คาร์ล เยลเลรุป (Karl Gellerup) ชาวเดนมาร์กผู้ประพันธ์ เรื่อง Der Pige Kamannita หรือ “กามนิต” เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในพากย์ไทยก็เป็นได้

แต่ต้องมีอันเป็นไปเสียก่อนเท่านั้น เมื่อนักประพันธ์ผู้มีผลงานเป็นอมตะหลายเรื่องหันปากกามาว่างานพุทธศาสนา ลีลาสำนวนก็ย่อมจะชวนอ่าน และซาบซึ้งตรึงใจไม่แห้งแล้งดุจการเทศน์ทั่วๆ ไป อีกทั้งคงเป็นความประสงค์จะให้ผู้อ่านที่ห่างไกลจากศัพท์ทางศาสนาได้เข้าถึงหลักธรรมโดยง่าย จึงกำหนดแนวการเขียนให้เข้าใจได้ง่าย

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานชุดนี้จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ทางใจของผู้อ่านซึ่งนับวันจะยิ่งรุนแรงหนักกว่าทุกข์ทางกายเมื่อตกอยู่ในภาวะที่สังคมมนุษย์กำลังว้าวุ่น ด้วยโอสถขนานนี้เชื่อว่าจะเป็นยาแก้ได้ถูกกับโรคดังกล่าว จึงได้รีบดำเนินการมาตอบสนองคุณท่านที่ได้ติดตามผลงานของศรีบูรพามาแล้วหลายเรื่องหลายเล่ม ในชุดโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากของเรา

อนึ่งการเลือกเฟ้นต้นฉบับมาจัดพิมพ์ ได้จากหนังสือชื่อ “อุดมธรรมกับความเรียงเรื่องพุทธศาสนา ๑๓ บท” ของสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ มี คุณชนิด สายประดิษฐ์ เป็นผู้จัดการ ซึ่งเป็นฉบับรวมพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 อันเชื่อได้ว่าเป็นฉบับที่ถูกต้องและสมบูรณ์ดี

นอกเหนือจากนั้นก็แจ้งไว้ท้ายเรื่องนั้นๆ แล้ว หากว่าบังเกิดผลเป็นที่คลายทุกข์ท่านผู้อ่านได้บ้างแล้ว ก็เชื่อว่าคงอุทิศใจแผ่บุญกุศลแด่ผู้ประพันธ์ผู้จากเราไปแล้วอย่างสุดอาลัยโดยทั่วกัน ฝ่ายสำนักพิมพ์เองก็พลอยดื่มด่ำในรสพระธรรมชุ่มฉ่ำใจสุดจะพรรณนาเช่นกัน ก็เพราะ กาเล น ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลุมฺตฺตมํ - การฟังธรรมโดยกาลหนึ่ง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด” มิใช่หรือ.

ด้วยความปรารถนาดีเสมอ
ช่วย พูลเพิ่ม
บรรณาธิการฝ่ายโครงการฯ

 

สารบัญ

  • อุดมธรรม ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • สนทนาเรื่องพุทธศาสนา ............... อุบาสก
  • คำนึงถึงพระธรรม ............... อิสสรชน
  • ต่อหน้าความตาย ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • อย่าหนี - เพราะหนีไม่พ้น ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • พระตถาคตเป็นผู้ชี้ทาง ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • อานุภาพที่เหนือกว่าอะตอมมิกบอมบ์ ............... ศรีบูรพา
  • ผู้ที่ใช่สัจธรรมนำทางประชาชน ............... (ไม่ระบุนามปากกา)
  • มนุษย์ที่แตกต่างๆ ............... (ไม่ระบุนามปากกา)
  • เงินดี - เงินชั่ว ในทรรศนะของท่านพุทธทาส ............... (ไม่ระบุนามปากกา)
  • รวมจดหมายโต้ตอบระหว่างพุทธทาสภิกขุกับศรีบูรพา ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • มาจากแผ่นดินและกลับไปสู่แผ่นดิน ............... ศรีบูรพา
  • การบูชาอันสูงสุด ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • การนับถือพุทธศาสนาที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์ ............... กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

เนื้อหาบางส่วน :

วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
ธรรมะ พรและเมตตา จงเจริญแค่คุณ

อาตมามองเห็นในหน้ากระดาษของคุณว่ามีเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆ จึงใคร่จะร่วมสนุกด้วย ถ้าหากคุณจะกรุณาแจ้งให้ทราบบ้างว่า คณะบรรณาธิการของคุณมีหลักอย่างไร ในการปล่อยให้เรื่องทางพุทธศาสนาผ่านลงไป แล้วอาตมาจะเขียนมาร่วมสนุกได้ตรงตามเข็มที่ประสงค์ของคุณยิ่งขึ้นความจริง หลักธรรมในพุทธศาสนามีข้อควรคิดและน่าเพลิดเพลินอยู่มาก แต่มันต้องอาศัยการลูบคลำกันนานๆ หรือผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ จึงจะเข้าใจได้ทันทีและสนุก

หนังสือพิมพ์มักมีหน้าสำหรับศาสนาน้อย มีการเมืองเป็นส่วนใหญ่ หรือบางฉบับแทบจะหาไม่ได้เลย แต่สำหรับหนังสือประชาชาตินั้น มีอุดมคติว่า “วิทยาคม” อยู่คำหนึ่ง จึงทำให้มีลักษณะคล้ายตำราอยู่บ้าง ทั้งหวังว่าคงมีส่วนที่อาจสละให้พุทธศาสนาเป็นประจำตามมากตามน้อย ซึ่งอาตมาขอหลักการของคณะบรรณาธิการในส่วนนี้

พร้อมกันนี้ อาตมาได้ส่งเรื่อง ชีวิตกับนิพพาน อธิบายเปรียบเทียบด้วยหลักธรรมดาและวิทยาศาสตร์บ้างเล็กน้อย โดยต้องการจะให้นักศึกษาหนุ่มเข้าใจง่ายขึ้นมาเพื่อให้คุณลองพิจารณาดู ถ้าเห็นสมควร ขอจงลองนำลงในหน้ากระดาษของคุณด้วย

เรื่องนี้อาตมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ พุทธศาสนา ของคณะธรรมทาน เล่มที่จะออกเดือนหน้า จึงได้ต้นฉบับที่เป็นตัวพิมพ์จริงส่งมาให้คุณก่อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องชนิดปรมัตถ์ แต่ก็ได้พยายามอธิบายให้เป็น “ไม่ใช่ปรมัตถ์” อย่างเต็มที่แล้ว

พวกเราอยู่ในป่ากันว่างๆ ก็อยากจะพูดกับโลกส่วนใหญ่บ้าง ถ้าคุณให้โอกาสก็จะได้พูดในวันหน้าสืบไป พวกเราได้อ่านหนังสือพิมพ์ของคุณอยู่เสมอๆ แต่ว่าไม่ครบทุกฉบับ และช้าเกินไปที่จะโต้ตอบ หรือ ถกความคิดเห็นประจำวัน ถึงกระนั้นก็นับว่าได้รับประโยชน์มาก ในการได้ความรู้รอบตัว ขออวยพรให้คุณเป็นดวงประทีปที่ส่งเสียงของชาติยิ่งๆ ขึ้นไป

ธรรม พร และเมตตาแด่คุณ
พุทธทาส อินทปัญโญ