ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะนำหนังสือ : ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”

6
พฤษภาคม
2566

ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”

123 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
117 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ

  • ISBN : 978-616-92435-8-8
  • จำนวนหน้า : 304 หน้า
  • พิมพ์ครั้งที่ 1 : พฤษภาคม 2566
  • จำนวนพิมพ์ : 1,500 เล่ม
  • ผู้จัดพิมพ์ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
  • บรรณาธิการบริหาร : ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
  • ที่ปรึกษา : ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และ กษิดิศ อนันทนาธร
  • บรรณาธิการ : ณภัทร ปัญกาญจน์
  • เอกสารชั้นต้น และ รูปภาพของพุทธทาสภิกขุ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
  • ราคา : 489 บาท

 

สารบัญ

คำนำ
  • สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ
คำนิยม
  • พระไพศาล วิสาโล
  • ส. ศิวรักษ์
บทเกริ่นนำ
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์
  • คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลปรีดี พนมยงค์
  • จดหมายตอบกลับระหว่างเลขานุการส่วนตัว ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และนายธรรมทาส พานิช

(27 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2485)

  • บันทึกรายวัน ๒๔๘๕ พุทธทาสภิกขุ : ว่าด้วยเรื่องการพบกับผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์

(30 - 31 พฤษภาคม 2485 และ 18 - 26 มิถุนายน 2485)

  • หลักการชั้นต้น การจัดสถานที่ส่งเสิมปติบัติธัม อยุธยา
  • “รัฐธรรมนูญของเรา (พ.ศ. 2481)” เทศนาเทอดระบอบใหม่ ของ พุทธทาสภิกขุ

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

  • ปาฐกถาปลูกนิสัยให้รักรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ของ พุทธทาส

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

  • ปรีดี พนมยงค์ กับ พุทธศาสนา

พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)

  • พุทธทาสภิกขุ กับ ปรีดี พนมยงค์ และการพระศาสนา

พระดุษฎี เมธงฺกุโร

  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 : ที่มา เนื้อหา และความเป็นประชาธิปไตย

รัชพล แสงศรี

  • ปรีดี พนมยงค์ : “ได้ทำกิจกรรมเกินค่าของการที่จะเรียกว่ารัฐบุรุษอาวุโสด้วยซ้ำไป”

พุทธทาสภิกขุ

  • พุทธธรรมกับเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย (ตามแง่ปรัชญาและศีลธรรม ไม่ใช่ในแง่การเมือง)

พุทธทาสภิกขุ

  • มรดก 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ และสังคมการเมืองไทย

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

  • ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

คำนำผู้จัดพิมพ์

เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนเกิดของนายปรีดี พนมยงค์ และ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือที่รู้จักกันในนาม “พุทธทาสภิกขุ” ทั้งสองท่านเป็นบุคคลร่วมสมัย ผู้ถือธรรมเป็นธงนำการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยแนวคิดและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อสันติธรรม ที่โคจรมาบรรจบกันทั้งในทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ นายปรีดีได้นำเสนอแนวคิด “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” เป็นหลักนำการเปลี่ยนแปลงสังคม สอดคล้องกับแนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาส ที่มองว่าสังคมนิยมเป็นหลักการสำคัญของศาสนา และประชาธิปไตยก็เหมือนกับการปกครองสงฆ์

ย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีก่อน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้สถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้นเป็นผลสำเร็จ โดยมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในปีถัดมา (พ.ศ. 2476) รัฐบาลได้จัดให้มีการฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ และได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก “เทอดรัฐธรรมนูญ” (ซึ่งคณะผู้จัดทำได้นำตราสัญลักษณ์บนปกหนังสือเทอดรัฐธรรมนูญ มาใช้ประกอบปกหนังสือเล่มนี้ด้วย) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้รู้จักและเข้าใจในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นปฏิญญาในการพัฒนาชาติไทย ทั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสูงสุดของประเทศแล้ว

การรณรงค์ส่งเสริมให้ราษฎรเข้าใจในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนี้ นอกจากได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ทั้งจากคณะสงฆ์และผู้นำชุมชนแล้ว ท่านพุทธทาสก็เป็นหนึ่งในพระหัวก้าวหน้าที่ได้สนับสนุนการปกครองในระบอบใหม่อย่างแข็งขัน ดังปรากฏเป็นรูปธรรมในการปาฐกถาเทอดระบอบใหม่ “รัฐธรรมนูญของเรา” และปาฐกถาขยายข้อความในรัฐธรรมนูญ “เพื่อปลูกนิสัยให้ประชาชนรักรัฐธรรมนูญ” พ.ศ. 2481

ในมิติของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสได้เปรียบเปรยว่า “...สยามได้เคยเป็นตัวอย่างอันดียิ่งในการที่เป็นชาติแรกในโลก ซึ่งได้รัฐธรรมนูญมาโดยมิต้องเสียเนื้อเลือดแลกเปลี่ยนเอา เหมือนชนชาติอื่นในประวัติศาสตร์ นี่ย่อมเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งแก่พุทธศาสนาและแก่สยามเอง…” และกล่าวทิ้งท้ายว่า “ข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวด้วยความรู้สึกอันแท้จริงอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมกับที่เราชื่นชมยินดีในรัฐธรรมนูญอันเป็นที่รักของเรานี้ เราควรมีความรู้สึกขอบคุณ ‘คณะราษฎร’ ผู้พลีชีพทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้รัฐธรรมนูญอันนี้มาสมตามความประสงค์ด้วย” นอกจากนี้ ท่านยังเคยเทศน์เปรียบเปรยถึงการปกครองในระบอบใหม่ให้ชาวบ้านฟังว่า “ประชาธิปไตยเหมือนกับการปกครองสงฆ์ ในพุทธศาสนาพระสงฆ์เป็นใหญ่ ประชุมสงฆ์ ลงมติแล้ว ก็ถือเป็นเด็ดขาด แล้วก็ทุกคนมีเสรีภาพ มีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน”

ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ถือเป็นมันสมองของคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ท่านมิได้สนใจแค่เรื่องการปกครองบ้านเมืองเพียงด้านเดียว หากแต่ในทางศาสนาท่านก็มีส่วนสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบใหม่ นับแต่ สนับสนุนให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ดังปรากฏรูปธรรมเป็นพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยแบ่งองค์กรสงฆ์ออกเป็น สังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธร แต่ต่อมาหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจลง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไป การปกครองสงฆ์จึงถูกรวมศูนย์มาไว้ที่มหาเถรสมาคมแทน

ในฝ่ายฆราวาส นายปรีดียังมีส่วนสนับสนุนการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ได้นิมนต์ท่านพุทธทาสจากสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ขึ้นมาที่ทำเนียบท่าช้าง เพื่อสนทนาธรรมและปรึกษาหารือเรื่องการเผยแผ่ศาสนาให้กว้างไกลออกไป โดยท่านได้ปรารภให้จัดตั้งสวนโมกขพลารามขึ้นอีกแห่ง บริเวณใกล้เคียงวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่แล้วโครงการนี้ก็มีอันล้มพับไป เพราะเกิดเหตุผันแปรทางการเมือง (รัฐประหาร พ.ศ. 2490) ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปอย่างถาวร

หนังสือเล่มนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันปรีดี พนมยงค์ กับ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกวาระครบรอบ 123 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม 2443) และ 117 ปี ชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม 2449) อีกทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 90 ปีแห่งการเฉลิมฉลองปฐมรัฐธรรมนูญ โดยคณะผู้จัดทำได้รวบรวมเอกสารชั้นต้น ประกอบด้วยรูปภาพ บันทึกรายวัน ปาฐกถา และงานเขียนอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องขอบคุณหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ และคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์เอกสารสำคัญหลายชิ้น เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่นักประวัติศาสตร์ ตลอดจนอนุชนรุ่นหลัง ได้ใคร่ครวญศึกษาแนวคิดและสืบสานอุดมการณ์อันเป็นปณิธานของสองมหาบุรุษผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้คงอยู่สืบไป

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
บรรณาธิการบริหาร
พฤษภาคม 2566