เป็นที่ทราบกันดีว่า การดำเนินนโยบายตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร มาเกิดขึ้นได้จริง ก็เมื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนการผลักดันนโยบายตามปณิธาณของการอภิวัฒน์มาเกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังก็เมื่อหลังเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชจบลง อันถือเป็นความพยายามต่อสู้กับระบอบของผู้ศรัทธาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครั้งสุดท้าย
การดำเนินนโยบายต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน เอกภาพของผู้นำคณะราษฎรซึ่งยังตั้งมั่นอยู่ แม้จะถูกสั่นคลอนจากบุคคลแวดล้อมภายในก็ตาม แต่ล่วงมาจนถึงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เราคงได้เห็นแล้วว่านโยบายสันติภาพนั้นเป็นประโยชน์เพียงใด ต่อ “หลักเอกราช” ของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่สยามทำไว้กับ 15 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจเป็นส่วนใหญ่
การรักษาดุลอำนาจ
“การรักษาดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Powers) เป็นแนวทางหนึ่งที่ปรีดีให้ความสำคัญตามนโยบายสันติภาพ ภายใต้การนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศระหว่างปี 2476-2481 ช่วงเวลานี้ปรีดีทำหน้าที่เดินทางเจรจากับประเทศมหาอำนาจ และหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าองคาพยพของรัฐบาลที่เป็นเอกภาพให้ผลเป็นคุณเป็นอันมาก ทั้งๆ ที่ผู้ก่อการส่วนใหญ่มีวัยวุฒิไม่มากนัก
เราควรจะต้องกล่าวด้วยว่า สังคมไทยโชคดีที่อีกหนึ่งคนช่วยให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศบรรลุผล คือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งตอนนั้นดำรงที่ปรึกษาของรัฐบาล
ปรีดีเคยกล่าวไว้ในชุดเอกสารทางการชื่อ “สยามสันติภาพ” ว่าความสามารถของพระองค์มีผลต่อการเจรจาการระหว่างประเทศ
หนึ่งในนั้นเป็นผลเกี่ยวพันกับระบอบรัฐสภาไทย ซึ่งเป็นระบอบใหม่ของสยามด้วย เมื่อการเจรจาข้อใดที่ฝ่ายสยามรับไม่ได้ สยามก็จะให้เหตุผลว่าเพราะว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ยอมให้สัตยาบัน การเจรจาเช่นนี้ให้ผลเป็นคุณกับสยามในหลายเรื่อง ครั้งหนึ่งมีบางประเทศเชื่อว่าการเจรจากับพระองค์วรรณ จะสามารถใช้ศิลปะของพระองค์ไปช่วยทำความเข้าใจกับสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งช่วยให้การเจรจานั้นบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่ถึงกระนั้นการเจรจาโดยคนสยาม ที่จะปรึกษากับที่ปรึกษาต่างชาติในกรณีบางประเทศและบางเรื่องเท่านั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราได้ประโยชน์จากแนวทางการเจรจาเช่นนี้
ความด้านบนสอดคล้องกับกับการรักษาท่วงทำนองของการระหว่างประเทศที่ปรีดีเน้นย้ำไว้อยู่เสมอ นั่นคือ
“สันติภาพที่ค้ำประกันโดยสติปัญญาและความเด็ดเดี่ยวมั่นคงของผู้ปกครอง มิใช่การยอมแพ้อย่างขลาดเขลาและไร้เกียรติ หากเป็นสันติภาพและรางวัลของสันติภาพซึ่งมีค่าสุดประมาณ” (พระเจ้าช้างเผือกหน้า 72-73)
อีกกลุ่มคนที่มีความสามารถและมีความสำคัญสูง คือ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะนอกจาก “ผู้แทน” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำหน้าที่อย่างแข็งขันในสภาเพื่อปกป้องหลักเอกราช
ปรีดีเปิดเผยว่าสมรรถนะของการเจรจามิใช่เพียงแต่การนั่งประชุมเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวิธีการผูกมิตรกับนานาชาติจนเขาเชื่อถือและไว้ใจได้ว่า ฝ่ายเราเป็นมิตรซึ่งรักษาสัจจวาจา[1] ซึ่งกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญ คือ ข้าราชการตั้งแต่เสมียนไปจนถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวง
ความจริงใจให้คุณแก่ “หลักเอกราช”
“ความได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย และสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลจะสงวนและดำรงรักษาไว้อย่างแข็งขัน และจนสุดความสามารถภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติ ในหลักแห่งการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและคุณประโยชน์แก่กันและกัน โดยแบบเดียวและสม่ำเสมอต่อกันทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใดๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง”[2]
ใช่ที่ว่าด้านหนึ่ง สยามมีความทะเยอทะยานไปให้ถึงการได้รับการยอมรับจากอารยประเทศ ดังเราจะเห็นว่ามีการปรับปรุงกฎหมายที่มีความซับซ้อน การให้สิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย เป็นต้น หลักการที่แม่นยำบางส่วนข้างต้น ทำให้สยามสามารถยืนระยะในการเจรจาได้ต่อเนื่องและยาวนาน การถ้อยทีถ้อยอาศัยจึงมิใช่การโอหังยืนกรานเอาแต่ข้อเสนอของตนแต่เป็นฝ่ายเดียว หากแต่ต้องกอรปด้วยความจริงใจและสัจจวาจา
ดังที่ปรีดีกล่าวถึงความจริงใจ ในฐานะที่สยามกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การยอมรับในระดับสากล
“เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาค ด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมา ซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น เป็นอันสำเร็จความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะภาคภูมิใจในการเกียรติที่ได้รับนี้”
คำปราศรัยแก่ประชาชนของ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2481 ภายใต้การอนุมัติของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แสดงให้เห็นทั้งเอกภาพของคณะราษฎรและการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อเนื่องตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาถึง
ในด้านหนึ่งเราไม่ปฏิเสธความสามารถของผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น แต่สิ่งที่ผู้สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศไทย คือ การตระหนักถึง บริบทเฉพาะของแต่ละประเทศมหาอำนาจที่เสมือนเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่ส่งผลให้การเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้นบรรลุผลเป็นคุณกับสยามด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสำนึกในระดับการเมืองมวลชนภายในสยามเอง การเล็งเห็นประเด็นนี้จะช่วยให้เห็นว่าเราไม่ผูกขาดความสำเร็จไว้เพียงผู้นำของรัฐบาล
ในบทความหน้า เราจะมาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าความสำเร็จนั้นว่า มิได้มาจากผู้นำหรือกลุ่มคนภายในระบบราชการอย่างไร มันเป็นเรื่องโง่เขลาเกินไปที่จะกล่าวเช่นนั้น เพราะเพียงในทางทฤษฎีก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใด จะสำเร็จได้ด้วยคนเพียงหยิบมือ
ในเดือนแห่งการ “อภิวัฒน์” ตอนหน้า ผู้เขียนจะเล่าถึงคุณูปการของแนวหน้าการอภิวัฒน์อีกกลุ่มที่ถูกมองข้ามเกินกว่าที่ควรจะเป็น คือ “ขบวนการสตรีนิยมในสยาม” การถูกกดขี่ภายใต้ระบอบเดิมจากสองถึงสามชั้นของพวกเธอ คือ “เนื้อนาดินอันสมบูรณ์” เอื้อให้การก่อการของคณะราษฎรบรรลุเป้าหมายปลายทาง
[1] ปรีดี พนมยงค์. 2558. โมฆสงคราม : บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์), หน้า 52-53
[2] ปรีดี พนมยงค์. 2558. โมฆสงคราม : บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์), หน้า 65