ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ดิเรกลาออก (ตอนที่ 13)

27
กรกฎาคม
2567

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (18 มกราคม พ.ศ. 2447-1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)

 

-1-

การเมืองในประเทศเราเวลานี้ มีภาวะเหมือนสระสาธารณะที่ใครต่อใครที่ดูพอใจที่จะลงไปเดินลุยและกวนให้น้ำขุ่นเปนโคลนไปหมด ผู้ประสงค์จะลงไปอาบเพื่อชำระกายให้สอาด และเพื่อความเย็นใจ ก็ต้องเบือนหน้าและหันหลังกลับ ความยากลำบากใจอยู่ที่ว่าน้ำนั้นเราก็จะต้องอาบ และน้ำนั้นเองก็ขุ่นเปนโคลนไปหมด ข้อบำบัดย่อมอยู่ที่ว่าเราทั้งหลาย ผู้ร่วมใช้สระสาธารณะนั้นด้วยกัน จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปกวนน้ำขุ่นควักอยู่แล้ว ให้ขุ่นหนักขึ้นไปอีก และในขณะเดี๋ยวกันก็ควรจะได้พยายามใช้สารส้มกวนน้ำในสระนั้นให้คลายขุ่นลงเปนลำดับ เราทั้งหลายผู้ร่วมใช้สระสาธารณะควรที่จะได้ใช้ด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน และด้วยคำนึงถึงความเสียหายที่ประชาชนส่วนมากผู้ไร้เดียงสาในการเมืองจะพลอยได้รับด้วย

การปฏิบัติต่อเหตุการณ์ทางการเมือง เพื่อบรรลุความมุ่งหมายในทางก่อเซนเซชั่นดังที่เราประสพอยู่แทบทุกวันในเวลานี้นั้น ก็มีแต่จะพาให้น้ำในสระสาธารณะขุ่นจัดขึ้นทุกที จนเหลือวิสัยที่เราจะลงไปอาบกันได้ และเมื่อนั้นความหายนะใหญ่หลวงก็จะมาปรากฏอยู่ที่หน้าประตูบ้านของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเสนอนามนายกรัฐมนตรีในหน้าหนังสือพิมพ์ จนถึงได้มีการเสนอนามอดีตผู้นำ ผู้ซึ่งได้รับการประนามทางการเมืองจากประชาชาวไทยไปเมื่อหยก ๆ นี้เอง มาถึงคั่นนี้ ผู้มีปัญญาก็คงรู้สึกว่าเราพากันไปไกลโขทีเดียวในการที่จะ “เล่น” กับการเมือง

สารส้มที่จะช่วยให้น้ำในสระการเมืองของเราคลายขุ่นลงนั้น ข้าพเจ้าหมายถึงความมีระเบียบวินัยและความเปนธรรมในการปฏิบัติต่อเหตุการณ์ทางการเมือง และความพยายามในการนำข้อความรู้และข้อเท็จจริงจากแหล่งหรือบุคคลอันพึงเชื่อถือได้ เสนอต่อประชาชนเพื่อที่ประชาชนจะสามารถวินิจฉัยโดยเสรี และด้วยจิตต์อันปราศจากความมืดมนต์กระสับกระส่าย

 


หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490

 

ข่าวการลาออกของนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้ทำให้มีเรื่องพูดเดาเหตุการณ์ทางการเมืองกันอยู่หลายวัน จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่จบ และเมื่อมีข่าวการประชุมของพรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญได้ลุกออกมาจากที่ประชุมในท่าทีต่าง ๆ กัน การพูดเขย่าถึงเรื่องการลาออกของนายดิเรกก็ขยายตัวออกไป จริงอยู่การเมืองนั้นเปนของที่จะต้องเก็งกัน แต่การเก็งที่พึ่งใช้นั้นก็ย่อมจะเก็งกันโดยอาศัยหลักเกณฑ์ทางการเมืองและข้อความจริงประกอบตามควร เราจะหวังให้นักการเมืองพูดอะไรออกมาทั้งหมดนั้นเราหวังไม่ได้ ความหวังเช่นนั้นไม่ต่างกับที่เราจะหวังให้แม่น้ำเจ้าพระยาลุกขึ้นเดินได้ ฉะนั้นการเมืองจึงเปนเรื่องต้องใช้เก็งกันบ้าง แต่ก็มิใช่เปนการเดาสุ่มหรือเดาล้วนตามอำเภอใจ การปฏิบัติข้อหลังนี้เปนสิ่งพึงหลีกเลี่ยง เพราะมีแต่จะก่อความระส่ำระสาย และทำให้ประเทศเสียความมั่นคงไป อันเปนความเสียที่ประชุมชนจะต้องร่วมกันระมัดระวังมิให้บังเกิดขึ้นได้

ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่บ้าน ตำบลบ้านกล้วยเมื่อเย็นวันอังคารที่ ๑๑ เปนการเยี่ยมอย่างฉันทมิตรส่วนตัว และได้ใช้เวลาสนทนากันราว ๒ ชั่วโมงถึงเรื่องการของประเทศและทุกข์สุขส่วนตัว ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะนำเรื่องราวที่ได้สนทนากันมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ เพราะเหตุเปนการเยี่ยมสนทนาฐานส่วนตัวดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้าได้สำรวจข่าวหนังสือพิมพ์ในเวลาล่วงแล้ว และในเวลาต่อมาที่กล่าวถึงการลาออกของนายดิเรก ชัยนาม เห็นว่ามีข้อคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง และยังมีข้อเท็จจริงอีกบางประการเกี่ยวกับการลาออกของท่านนักการทูตผู้นี้ ซึ่งถ้าได้นำออกเปิดเผยแล้วก็จะช่วยให้ประชาชนได้พิจารณาการเปนไปถูกต้องเปนธรรมยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจที่จะนำข้อเท็จจริงบางเรื่องที่ได้จากการสนทนากับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ เขียนลงหนังสือพิมพ์และก็แน่ละ ก่อนที่จะทำดังนั้น ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบล่วงหน้าแล้ว

เมื่อรัฐมนตรีบางท่านที่ประชาชนคิดว่าควรจะลาออกและก็ยังคงอยู่ ฉะนั้นก็จะประหลาดอันใดที่รัฐมนตรีบางท่านที่ควรจะอยู่ และก็ได้ลาออกไป ถึงแม้ข้าพเจ้าได้ใช้เวลานานสนทนากับนายดิเรก ชัยนาม ข้าพเจ้าก็มีกิริยาพอที่จะไม่ทำให้ผู้รับเยี่ยมอึดอัดด้วยการตั้งข้อถามถึงความในใจ ถึงแม้จะเปนข้อถามทางส่วนตัวก็ดี อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าไม่สู้เห็นประหลาดหรือตื่นเต้นในข่าวการลาออกฉับพลันของนายดิเรก ชัยนาม คนเราที่จะขึ้นถึงตำแหน่งสูงดังที่นายดิเรกได้ขึ้นถึงแล้วนั้นควรที่จะมีบุคลิกภาพและมีการตัดสินใจโดดเดี่ยวของตนเอง เบิรน์สก็ลาออกทั้งที่มีการประชุมระหว่างมหาประเทศครั้งสำคัญรอเขาอยู่ที่มอสโคว์ จริงอยู่เบิรน์สได้มีจดหมายส่วนตัวบอกกล่าวความประสงค์ของเขาแก่ทรูแมนล่วงหน้าหลายเดือน แต่กรณีของดิเรกนั้นใช่ว่าไม่มีสัญญานล่วงหน้า เขาได้ปรารภความประสงค์ใคร่ลาออกของเขาแก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก่อนหน้าที่ท่านรัฐบุรุษจะออกไปต่างประเทศ และก็ได้รับคำขอให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อน

ข้าพเจ้าเองมีความเห็นว่าขัดตัดสินสุดท้ายในการที่จะรับทำการใด ๆ หรือไม่รับทำการใด ๆ นั้น ควรจะได้รับการสงวนไว้เป็นสิทธิฉะเพาะตัวของบุคคลนั้น และเหตุผลที่เขาจะกล่าวในการที่เขาจะรับหรือไม่รับทำการใดนั้น ก็ไม่จำเปนจะต้องวิจิตรพิสดารเสมอไป และก็ไม่ควรจะได้รับการคาดคั้นให้ต้องกล่าวเหตุผลที่วิจิตรพิสดารด้วย ซึ่งความจริงก็อาจจะไม่มี ดังเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำกรุงลอนดอนตอนขอลาออก ก็ได้กล่าวเหตุผลไว้ไว้ในใบลาแต่เพียงว่าเขารับราชการมานานแล้ว และประสงค์จะได้ใช้ชีวิตอย่างสามัญชนบ้าง คนบางคนอาจประสงค์อย่างจริงจังในสิ่งที่คนโดยมากไม่ประสงค์ และคนบางคนก็อาจสละสิ่งที่คนโดยมากประสงค์จะได้ครอบครอง

ตามที่หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่า ในการประชุมพรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๖ นายดิเรกได้ถูกสมาชิกบางนายโจมตี เพราะว่าไม่ได้ปรึกษาและรับความเห็นชอบของพรรคในการลาออกนั้น นายดิเรกได้กล่าวให้ฟังว่า ในวันนั้นได้มีสมาชิกคนหนึ่งกล่าวคัดค้านการกระทำของนายดิเรก และได้มีสมาชิกอีกคนสองคนขอทราบข้อเท็จจริง สมาชิกผู้คัดค้านได้กล่าวตำหนิว่า การลาออกของนายดิเรกโดยไม่ปรึกษาและรับความเห็นชอบของพรรคเปนการธุศีลนายดิเรกได้ชี้แจงว่าตามระบอบข้อบังคับของพรรคที่กำลังจัดร่างกันอยู่ในขณะนั้น ก็มิได้ระบุบังคับไว้ว่าการลาออกของรัฐมนตรีแต่ละคนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของพรรค นอกจากนั้น ในตำราการเมืองบางเล่มก็กล่าวไว้ทีเดียวว่าการลาออกของรัฐมนตรีจากรัฐบาลแห่งพรรคของตนนั้น เปนสิทธิเด็ดขาดของรัฐมนตรีทีเดียว ในกรณีที่รัฐบาลจะลาออกทั้งคณะเท่านั้นจึงจะต้องขอคำปรึกษาและรับความเห็นชอบจากพรรค ส่วนกรณีการลาออกฉะเพาะตัวของรัฐมนตรีนั้น ไม่มีประเพณีว่าจะต้องขอความเห็นชอบจากพรรคเสียก่อน

นายดิเรกได้กล่าวให้ฟังว่าการที่ไม่ติดต่อขอคำปรึกษาไปยังท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ดี หรือการที่ไม่รั้งรอไว้บอกกล่าวความประสงค์แก่ท่านรัฐบุรุษในเวลาที่ท่านกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี นายดิเรกให้เหตุผลว่า ไม่ว่าท่านรัฐบุรุษจะให้ความเห็นไปในทางเห็นด้วยหรือจะขอให้ยับยั้งก็ตาม จะเปนการก่อภาระและความหนักให้แก่ท่านรัฐบุรุษทั้งสองประการ ซึ่งนายดิเรกไม่ยินดีจะกระทำ นายดิเรกเห็นว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้ควรจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของตนโดยสิ้นเชิง ส่วนการปรึกษานายกรัฐมนตรีหรือปรึกษาพรรคนั้น นายดิเรกย่อมคาดหมายได้อยู่เองแล้วว่า คำตอบของนายกรัฐมนตรีหรือของพรรคจะเปนไปในรูปใด ฉะนั้นเมื่อตกลงใจแน่นอนว่าจะลาออกแล้ว ก็ไม่มีทางใดจะเลือกนอกจากจะปรึกษากับความรู้สึกผิดชอบในใจของตนเอง แล้วก็ดำเนินการไป.

 

-2-

 


คณะนายทหารอังกฤษมาเยี่ยมศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ภายหลังการประกาศสันติภาพ
ณ บ้านซอยสันติสุข สุขุมวิท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

เหตุผลในการลาออก นอกจากที่ได้กล่าวไว้ในใบลาว่า “เห็นสมควรที่จะกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ และร.ม.ต.ต่างประเทศในสถานะการปัจจุบัน ประกอบทั้งเห็นว่าภาระกิจในทางด้านต่างประเทศส่วนมากซึ่งสำคัญ ๆ ก็ได้ลุล่วงไปแล้ว

ในการชี้แจงต่อที่ประชุมของพรรค นายดิเรกได้กล่าวเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่า ความเคารพต่อความรู้สึกผิดชอบในใจของตน เปนเหตุให้บรรลุความตัดสินใจในการลาออก นายดิเรกไม่สามารถขัดขืนฝืนความรู้สึกผิดชอบในใจไปได้ เมื่อนักการเมืองพูดเพียงเท่านี้เราก็ควรจะพอใจแล้ว เหตุการณ์เบื้องหลังคำพูดนั้นเปนเรื่องที่ผู้สนใจในการเมืองจะอ่านเอาเอง เราจะเกณฑ์ให้นักการเมืองพูดเช่นสามัญย่อมไม่ได้และถ้านักการเมืองไม่ใช้ความสำรวมในวาจาก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนกันไปหมด ความเคารพในความรู้สึกผิดชอบในใจของตนย่อมเปนศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นไม่เปนที่สงสัย

อนึ่ง ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้มีโทรเลขมาตัดพ้อต่อว่านายดิเรกในการด่วนลาออกโดยมิได้ปรึกษาหารือนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่าท่านรัฐบุรุษน่าจะไม่กระทำ ดังนั้นท่านรัฐบุรุษอยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์ จะมีโทรเลขตัดพ้อเข้ามาโดยที่ยังไม่ทันทราบเหตุผลของการลาออกนั้นไม่เปนสิ่งที่ท่านรัฐบุรุษจะกระทำ และตามความจริงจากปากคำของนายดิเรกเอง นายดิเรกได้กล่าวว่าท่านรัฐบุรุษหาได้มีโทรเลขมาตัดพ้อต่อว่าอะไรไม่

 


ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 ทรงฉายพระรูปปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ขณะที่ปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

 

“อาจารย์ไม่ใช่คนหุนหัน เปนคนสุขุมและฟังเหตุผล” นายดิเรกกล่าวยิ้มแย้ม “เมื่อท่านทราบข่าวการลาออกของผม ก็เปนแต่มีโทรเลขมาถามเหตุผลของการลาออกเท่านั้น โดยผ่านทางท่านนายกรัฐมนตรีข้อความในโทรเลขของท่านมีความสั้น ๆ เพียงว่า “ใคร่ทราบเหตุผลในเรื่องการลาออกของผม”

นายดิเรกกล่าวต่อไปว่า “แล้วผมก็ตอบท่านไปว่าเหตุผลในการลาออกของผมตามที่ได้แจ้งให้คณะทูตานุทูตของเราในต่างประเทศทราบแล้ว ก็มีข้อความตรงกับในหนังสือลาออกของผม และผมได้เรียนต่อไปว่าขอท่านอย่าได้กังวล เพราะท่านนายกก็ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว”

 


ภาพของศาสตราจารย์ดิเรก และ ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม

 

ข้าพเจ้าได้กล่าวยินติต่อท่านรัฐมนตรีต่างประเทศที่หลังจากได้ลาออกแล้ว บรรดาหนังสือพิมพ์ได้กล่าวถึงการปฏิบัติราชการและชีวิตส่วนตัวของท่านรัฐมนตรีด้วยความชื่นชมและเชิดชู ขณะนั้น ม.ล. ปุ๋ย ชัยนาม[1]” ซึ่งร่วมสนทนาอยู่ด้วยได้เอ่ยขึ้นว่า “หนังสือพิมพ์กล่าวว่าคุณดิเรกปฏิบัติราชการด้วยความซื่อตรงและเปนคุณต่อประเทศชาติเพียงเท่านั้นก็พอแล้วมิใช่หรือคะ สำหรับชีวิตของคนเราชีวิตหนึ่ง”

นายดิเรกกล่าวให้ฟังว่า ตำราการทูตซึ่งเปนหนังสือขนาดใหญ่ ๓๐๐ หน้านั้นได้แต่งจบบริบูรณ์แล้ว ขณะนี้กำลังจัดพิมพ์อยู่ และถ้ามีเวลาว่างอยู่บ้านต่อไป ก็จะคิดแต่งตำราเล่มใหม่ต่อไปอีก

“ผมไม่มีเงินบำนาญ” นายดิเรกว่า “รัฐมนตรีที่จะได้รับบำนาญนั้น ตามเกณฑ์จะต้องอยู่ในตำแหน่งโดยไม่ขาดสายครบ ๔ ปี ผมรับราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีมามากกว่า ๔ ปีก็จริง แต่ไม่ต่อเนื่องกันครบ ๔ ปี จึงไม่มีบำนาญ ผมเคยได้รับบำเหน็จครั้งหนึ่งเมื่อทำราชการต่อเนื่องกันมา และลาออกเมื่อครบ ๙ ปี”

 

เกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งการเมืองในภายหน้านั้น นายดิเรกกล่าวว่า “การจะเข้าร่วมคณะรัฐบาลใดในเวลาข้างหน้านั้นก็สุดแต่เหตุการณ์และความพอใจของเรา”

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : ไม่มีข้อมูลที่ระบุเวลาเขียน

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ดิเรกลาออก  ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 177-185.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :

  


[1] ม.ล. ปุ๋ย ชัยนาม (นามสกุลเดิม “นพวงศ์”) ภรรยาของนายดิเรก ชัยนาม -บก.