ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“ลิ้นสยาม” กับประวัติศาสตร์แห่ง “โมฆสงคราม”

3
เมษายน
2563

ข้อมูลจากการเสวนา ปรีดีศึกษา ครั้งที่ ๒ “โมฆสงคราม งานนิพนธ์ที่ค้นพบล่าสุดของปรีดี พนมยงค์” ในหนังสือ “ปรีดีศึกษา และปาฐกถาศิลปกับสังคม”

 

เชื่อว่าเราหลายคนคงเคยเห็นท่อดับเพลิงสองหัว ซึ่งบางคนจะทราบว่า มันมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ (และเข้าใจว่าอีกหลายภาษา เพราะภาษาฝรั่งเศสก็เรียกเช่นนี้ด้วย) ว่า “Siamese Connection”

เคยมีผู้รู้อธิบายไว้ว่า เนื่องจากท่อสองหัวนี้ มีลักษณะติดกันเหมือนแฝดสยาม ฝรั่งเขาจึงเรียกว่า “ท่อ(แฝด) สยาม” ซึ่งไม่ซับซ้อนอะไร

แต่ก็เคยมีอีกกระแสที่อธิบายไว้อย่างน่าเจ็บปวดว่า อาจจะมาจากคำว่า “Siamese talk” ซึ่งเป็นสำนวนในทางการทูตที่แปลว่า “ลิ้นสยาม” หรือการพูดจากลับไปกลับมาเป็นสองทาง ซึ่งสำนวนนี้มีที่มาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศไทยหรือสยาม ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แล้วเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นฝ่ายอักษะ แต่ในภายหลังที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ทางการไทยอ้างว่า การประกาศสงครามครั้งนั้นเป็นโมฆะ ประเทศไทยจึงไม่ถือเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปด้วย

เรื่องของท่อสยามนั้นไม่รู้เท็จจริงอย่างไรแน่ แต่เรื่อง “ลิ้นสยาม” นั้นเป็นสำนวนติฉินที่ร้ายแรงอยู่ เราจึงเห็นควรย้อนกลับไปศึกษาถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านหนังสือ “โมฆสงคราม” ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ ซึ่งเขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายว่า ทำไมประเทศที่ประกาศสงครามไปแล้ว ต่อมาจะสามารถประกาศว่าเป็นโมฆะไปได้ แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถทำได้ คือการมีอยู่ของเสรีไทย และความไม่สมบูรณ์ของเอกสารการประกาศสงคราม

ข้อแรกคือการมีอยู่ของเสรีไทยนั้น เพราะนับตั้งแต่วันที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าสู่ประเทศไทย มีการจัดตั้งองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยมีหลักฐานชัดเจนเพราะสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลของจอมพล ป. และนักเรียนไทยที่ไม่ยอมกลับประเทศในตอนนั้นก็เข้าร่วมเป็นเสรีไทยกันเป็นอันมาก นั่นคือเรามีองค์กรของคนไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นแล้วนับแต่เมื่อสงครามเริ่มต้น มิใช่ว่ามาตั้งกันเมื่อเห็นว่าญี่ปุ่นเริ่มเสียเปรียบใกล้แพ้

อีกประการหนึ่ง คือ ท่านปรีดีต้องการจะสื่อว่า การประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษนั้น ตัวท่านไม่ได้ลงนาม ซึ่งแม้ว่าในการประกาศสงครามในตอนเที่ยงของวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้น จะได้มีการประกาศชื่อของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ครบทั้งสามคนซึ่งรวมถึงตัวท่านปรีดีด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้นท่านไม่ได้ร่วมลงนามด้วย เพราะในตอนนั้นท่านไปอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา ดังนั้นในทางรัฐธรรมนูญแล้ว การประกาศสงครามจะต้องกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 แต่การกระทำภายใต้พระบรมราชโองการซึ่งในขณะที่มีการตั้งผู้สำเร็จราชการ ณ เวลานั้นจะสมบูรณ์ได้ ผู้สำเร็จราชการจะต้องลงนามครบทั้งสามท่าน ดังนั้นการประกาศสงครามครั้งนั้นจึงเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเรื่องความไม่สมบูรณ์ของการประกาศสงครามนั้นไม่อาจจะมีน้ำหนักไปได้เลย หากไม่มีการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการเสรีไทย” เพราะการต่อต้านของเสรีไทยนั้นคือการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนชาวไทยนั้นมิได้เห็นด้วยกับการประกาศสงครามของรัฐบาลในขณะนั้น ขบวนการเสรีไทยคือหนึ่งในเครื่องแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย ที่พร้อมจะเป็นกองกำลังต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างเช่นในช่วงที่ญี่ปุ่นยังมีสัญญาณจะไม่ยอมแพ้ เสรีไทยก็มีแผนสละชีพ พร้อมจะลุกขึ้นต่อต้านพร้อมกันทั้ง 8 จุดทั่วประเทศไทย เพียงแต่ทางสหรัฐส่งสัญญาณให้รอก่อน แล้วจึงมีการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก และญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามไปในที่สุด

นั่นหมายถึงฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นยอมรับอยู่แล้วถึงการมีตัวตนและเข้าร่วมรบของเสรีไทย มีการจัดตั้งที่เป็นระบบ และใช้เงินทุนของรัฐบาลไทยซึ่งในตอนนั้นท่านปรีดีได้นำไปฝากไว้ที่สหรัฐอเมริกาถึง 15 ล้านบาท และเสรีไทยก็ใช้เงินทุนก้อนนี้ในการเคลื่อนไหว โดยมิได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐหรือชาติใดเลย

การที่ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองร่วมกับกลุ่มอักษะ จึงมิใช่เพียงการพลิกลิ้นหรือเล่นแง่เชิงกฎหมายหรือพยานเอกสาร แต่เป็นเพราะเจตจำนงค์ที่แท้จริงของประชาชนชาวไทยที่แสดงออกผ่านขบวนการเสรีไทย ที่ประจักษ์ต่อประเทศคู่สงครามว่าประชาชนชาวไทยและประเทศไทยมิได้ยินยอมพร้อมใจที่จะประกาศหรือร่วมทำสงครามรุกรานกับฝ่ายอักษะ

เรื่องของ “ลิ้นสยาม” จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สู้เป็นธรรมนักเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ในแง่นี้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าท่อดับเพลิงสองหัวนั้นหมายถึง “แฝดสยาม” เสียมากกว่า