ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย”

26
มิถุนายน
2565

ศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ในวาระ 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #16: 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” ขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากนักการเมือง นักวิชาการ และแกนนำนักกิจกรรม ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ อาทิ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รศ.ดร.โภคิน พลกุล, จาตุรนต์ ฉายแสง, คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, คุณชานันท์ ยอดหงษ์ และ คุณรังสิมันต์ โรม และ อาจารย์วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย อันเป็นของกระบวนการการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่เปิดประเทศ ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในรัชกาลที่ 4

การศึกษาบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวของคณะราษฎรก็เพื่อมองไปข้างหน้าสำหรับอนาคตของคนไทยทุกคน เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาธิปไตยไทยเดินทางมาไกล 90 ปีแล้ว แต่ประชาไทยยังลุ่มๆ ดอนๆ และเรายังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยของคณะรัฐประหาร คสช. ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560

ในวาระ 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม รศ.ดร.อนุสรณ์จึงขอใช้โอกาสนี้เสนอข้อแนะนำต่อสังคมและผู้มีอำนาจ 6 ประการ คือ

1. เรียกร้องให้สังคมไทยมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

2. ขอให้ยกเลิกและทบทวน เนื้อหากฎหมายการควบคุมการรวบกลุ่มของประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เนื่องจากเนื้อหาจำกัดเสรีภาพการรวมกลุ่มของภาคประชาชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รัฐบาลควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การรวมกลุ่มของประชาชน

3. รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO 8798 ) ซึ่งเป็นเรื่องเสรีภาพในการสมาคม สิทธิ์ในการรวมตัว สิทธิ์ในการร่วมเจรจาต่อรอง

4. เรียกร้องให้รัฐสภาจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์คณะราษฎรที่รัฐสภาแห่งใหม่ เพราะคณะราษฎรเป็นผู้สถาปนาระบอบรัฐสภาในประเทศนี้

5. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบไปด้วย ผู้แทนทุกภาคส่วนในการพิจารณาให้ยกสถานะเหตุการณ์ 24 มิถุนายน เป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติ และให้ถือเป็นวันหยุดราชการ หรือประกาศให้เป็นวันชาติ 24 มิถุนายน เช่นที่เคยเป็นมาก่อน

6. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อให้เป็นการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตย

 

“ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์” 

ศาตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

 

การเข้าใจประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ควรแบ่งได้ 2 ประการ ประการแรก คือการศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะยาว (Long History) ที่เริ่มตั้งแต่คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในรัชกาลที่ 5 ถัดมาคือ เหตุการณ์ ร.ศ. 130 ในต้นรัชกาลที่ 6 ความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จได้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดย คณะราษฎร ที่นำสู่ประเทศความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ

และ ประการที่สอง คือ การศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ ด้วยประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นรอบโลก เช่น อังกฤษ (1688), สหรัฐอเมริกา (1776), ฝรั่งเศส (1789), จีน (1911), รัสเซีย (1917) ฯลฯ

ในด้านหนึ่งการอภิวัฒน์สยาม 2475 ถูกมองว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “ใจร้อน” คือความไม่พร้อม หรือประชาชนขาดความรู้ แต่ในด้านตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลับ “ช้าเกินไป” หรือ “ใจเย็นเกินไป” เพราะเมื่อผู้นำในระบอบเก่าต้องเผชิญกับโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถจะปรับตัวได้ เหมือนเช่นทุกวันนี้ ความเป็นสมัยใหม่ที่นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เราอาจคิดว่าเกิดความเจริญเพียงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และวัตถุ จนหลงลืมไปว่าพร้อมๆ กันนั้นประชาธิปไตยก็กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน

 

“ปรัชญาสังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย” 

ปาฐกถาโดย รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน

 

 

‘รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน’ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ปรัชญาสังคมนิยม วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” โดยอธิบายถึงนิยามและคุณค่าของอุดมการณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ยึดมั่นเสมอมา ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นเสาหลักทางความคิดของการอภิวัฒน์สยาม คณะราษฎรและนายปรีดีมุ่งหวังให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าด้วยหลักคิดของอุดมการณ์นี้ เติบโตอย่างมีเหตุและผล

“ปรัชญาการเมืองของข้าพเจ้า คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ภายใต้ปรัชญาและระบอบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ สันติสุข ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ และประชาธิปไตยของประชาชน”

นายปรีดีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอเชียวีคประจำกรุงปารีส

นอกจากนี้ รศ.ดร.มุนินทร์ ยังขยายความหลักคิดดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า

“วิทยาศาสตร์ ที่อ.ปรีดีพูดถึง ไม่ได้มีความหมายแคบ แค่ศาสตร์ที่ว่าด้วยการทดลองอย่างเป็นระบบเพื่อค้นหาความรู้และความจริงในจักรวาล แต่รวมถึง วิธีคิดและปรัชญาที่มองสรรพสิ่งอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล ในทางปรัชญากฎหมายวิธีคิดและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ย่อมสอดคล้องกับวิธีคิดและวิธีการของสำนักมานุษยนิยมทางกฎหมาย (Legal Humanism) และสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) สำนักมานุษยนิยมทางกฎหมาย มองเห็นคุณค่าของมนุษย์ สติปัญญาความมีเหตุผลของมนุษย์ ว่าสามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติ ในขณะที่สำนักกฎหมายธรรมชาติ มองกฎเกณฑ์ทางกฎหมายว่าเป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และมองว่าสิทธิเสรีภาพของมนุษย์เป็นเหตุผลสากล”

“เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ในทางการเมืองและกฎหมาย คือ การที่ระบบการเมืองและกฎหมายให้ความสำคัญศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพจึงเป็นคุณค่าสูงสุดในระบบการเมืองและกฎหมายที่มีอุดมการณ์​ทางวิทยาศาสตร์ และเป็นคุณค่าที่สูงกว่าคุณค่าอื่นใดในสังคม”

“อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์ตระหนักดีว่าสังคมประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้หากประชาชนคนส่วนใหญ่ของสังคมยังคงอดยาก มนุษย์ยากที่จะเข้าถึงระบบเหตุผลหากท้องยังหิวโหย ประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโชน์ส่วนรวม หากสังคมใดที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง และไม่ใส่ใจประโยชน์ส่วนรวม สังคมนั้นจะถูกครอบงำด้วยอำนาจเผด็จการและจารีตประเพณีนิยมสุดโต่งได้โดยง่าย”

“ความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงนี้ ทำให้อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์หลายท่านสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของ รัฐสวัสดิการ แม้ว่าชื่อ สังคมนิยม ดูจะสวนทางกับกับอุดมการณ์เสรีนิยม แต่เศรษฐกิจสังคมนิยมไปได้ดีและประสบความสำเร็จในสังคมการเมืองประชาธิปไตย และเป็นที่ตระหนักกันดีว่า ประเทศที่สามารถสร้างสันติสุขและความไพบูลย์ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เป็นรัฐสวัสดิการ อย่างเช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียร์”

นอกจากนี้ รศ.ดร.มุนินทร์ยังชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้น คุณค่าทางวิทยาศาสตร์และคุณค่าทางจารีตประเพณีสามารถดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างไม่ขัดแย้งกัน

“อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์หลายท่านอาจจะเป็นอนุรักษ์นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า คือ มองว่าการจะรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีให้ดำรงต่อไปในสังคมไทยได้จะต้องทำให้จารีตประเพณีเหล่านั้นดำรงอยู่อย่างมีเหตุมีผลในสังคมการเมืองประชาธิปไตย ผมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าการ Rationalize นั่นก็คือ ทำให้คุณค่าทางจารีตประเพณีไม่ขัดหรือแย้งกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ท่านเหล่านั้นตระหนักดีว่า คุณค่าทางจารีตประเพณีดำรงอยู่ได้ด้วยความรู้สึกของคนในสังคม ในขณะที่คุณค่าในทางวิทยาศาสตร์เป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องที่จะดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ การจะรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณีให้อยู่ในสังคมไทยตราบนานเท่านาน คือ การทำให้คุณค่านั้นดำรงอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความใกล้เคียงกับคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด”

“การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นตัวอย่างที่ดี อาจารย์ปรีดีและผู้อภิวัฒน์มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเห็นว่าเป็นหนึ่งในคุณค่าทางจารีตประเพณีที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย จึงพยายามที่จะ rationalize สถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะเหนือการเมืองและเป็นที่เคารพสักการะ นี่คือความพยายามในการทำให้คุณค่าในทางจารีตประเพณีมีความเป็นเหตุเป็นผลให้มากที่สุด การ rationalize คุณค่าในทางจารีตประเพณีในทำนองนี้จะช่วยรักษาไว้ซึ่งคุณค่าจารีตประเพณีไว้ในสังคมได้ตราบนานแสนนาน”

ในช่วงท้าย รศ.ดร.มุนินทร์กล่าวถึงอุดมการณ์

“สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะราษฎรและนายปรีดีได้วางรากฐานไว้เมื่อ 90 ปีก่อนนั้น สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากสังคมไทยรอดพ้นจากเงามืดของเผด็จการทางการเมือง

“เผด็จการทางการเมือง ชอบสภาพสังคมแบบจารีตประเพณีนิยม สังคมที่คนให้ความสำคัญกับศีลธรรมมากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่เผด็จการทางเศรษฐกิจชอบเผด็จการทางการเมือง จะช่วยป้องกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยวิทยาศาสตร์ จะไม่มีทางเกิดขึ้นในสภาพสังคมที่มีทั้งเผด็จการทางการเมืองและเผด็จการทางเศรษฐกิจ

“เพราะฉะนั้นการจะป้องกันสภาพเผด็จการทางการเมือง คือ การทำให้คนมีทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ มองสรรพสิ่งด้วยเหตุด้วยผล และเห็นคุณค่าถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการจะสร้างทัศนคติเช่นนี้ร่วมกันในสังคม ต้องกำจัดอุปสรรคขั้นพื้นฐานเสียก่อน คือ ความอดยาก การที่ประชาชนได้รับการดูแลให้มีสิทธิและสวัสดิการทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอและเท่าเทียม จะทำให้พวกเขามีเวลาคิดถึงเรื่องส่วนรวม และถูกจูงใจด้วยคำหลอกลวงของกลุ่มเผด็จการทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ยากขึ้น”

“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยซึ่งได้เริ่มต้นโดยการอภิวัฒน์เมื่อ 90 ปีก่อน กำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักมาเป็นระยะเวลายาวนาน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจอาจหลีกเลี่ยงได้ ระบบและสถาบันทางกฎหมายและทางการเมืองทั้งหลายไม่อาจหลีกหนีการตรวจสอบ การประเมิน และการท้าทายอย่างเป็นเหตุผลเป็นผลจากประชาชน การปรับตัวและการตอบคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในห้วงกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้”

 

“ภาวะตาสว่างเกิดขึ้นจากการเข้าถึงองค์ความรู้และการสานต่ออุดมการณ์” 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

 

 

ผลของการอภิวัฒน์สยามในย่ำรุ่งเมื่อ 90 ปี ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยในปัจจุบันไปตลอดกาลและตราบอนาคต ก่อนหน้าการอภิวัฒน์สยาม ได้ก่อเกิดจากประกายไฟและการส่งต่อจิตวิญญาณจากคนหลายกลุ่มในก่อนหน้านั้น นั่นคือ เหตุการณ์ ร.ศ. 103 กลุ่มข้าราชการที่ได้เรียนและรับราชการในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ร่วมกันถวายคำร้องถึงรัชกาลที่ 5 โดยมุ่งหวังให้มีการแปลงแปลงและพัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ และรอดพ้นจักรวรรดินิยมในเวลานั้น แม้ความพยายามจะไม่เป็นผล แต่อย่างน้อยที่สุด คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ได้ปรากฏขึ้นในสังคมไทยอย่างชัดเจน

ในห้วงเวลาเดียวกัน นักคิดนักเขียนอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ (เทียน วัณณาโภ) ผู้ลุกขึ้นตั้งคำถามต่ออำนาจและชนชั้นนำ ท้าทายเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งสองประสบชะตากรรมด้วยความรุนแรงในฐานะผู้นักโทษทางความคิด เทียนวรรณถูกจำคุก ก.ศ.ร. กุหลาบถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้คือคำตอบว่า “เมื่อใดก็ตามที่สามัญชนในประเทศนี้กล้าหาญที่จะตั้งคำถาม เขาจะต้องเป็นคนผิดหรือไม่ก็กลายเป็นคนบ้า”

“คณะ ร.ศ. 130” กลุ่มคนที่เป็นลูกชาวบ้านซึ่งโอกาสได้เข้าเรียนทหาร รวมตัวกันเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองสู่ประชาธิปไตย ท้ายที่สุดลองเอยด้วยการจองจำและต้องโทษ แต่เมื่อเกิดการอภวิวัฒน์ 2475 จึงได้อิสรภาพคืนมา

“เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มปัญญาชนนักเรียนนอก ณ ประเทศฝรั่งเศส

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” เกิดขึ้นจากความตื่นตัวของขบวนการนักศึกษาที่ต้องการรัฐธรรมนูญ และต่อต้านเผด็จการในยุคนั้น เรื่อยไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังคงยังเป็นสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวในช่วงวัยใก้เคียงกัน

“เหตุการณ์พฤษภา 2535” ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองแสดงพลังรวมตัวกันปฏิเสธการสืบทอดรัฐบาลเผด็จการ และเรียกร้องนายกที่มาจากการเลือกตั้ง

“เมษายน - พฤษภาคม 2553” ประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การรวมตัวของชาวไร่ ชาวนา แรงงาน เกษตรกร และกลุ่มคนที่ต่อสู้ทางการเมือง รวมตัวกันกลางมหานครเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาเข้าใจความผิดแปลกที่เกิดขึ้นกับสังคมนี้ แต่ถูกรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปราม

และ “คณะราษฎร 2563” คือ ปรากฏการณ์ของนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ในปัจจุบัน ผู้ที่ยืนยันและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แสดงความต้องการถึงความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์

แม้จะต่างยุคสมัยและบทริบททางการเมือง แต่สิ่งที่ร้อยโยงคนเหล่านี้อยู่ในเส้นทางประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน ประการแรก คือ “องค์ความรู้” เพราะ ประชาชนในประเทศนี้ถูกกำหนดให้เรียน ถูกบังคับให้รู้ ตามที่ผู้มีอำนาจและชนชั้นนำอยากให้รู้ด้วยการสอนให้เชื่อและทำให้เชื่อง แต่เมื่อคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้สำเร็จ จึงพบว่าสิ่งที่เคยรู้นั้นมิได้เหมือนกับกรงครอบทางความคิดเดิมที่เคยมี จึงนำไปสู่การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จุดร่วม ประการต่อมา คือ “โลกที่มีประชาธิปไตย” การได้เห็นโลกที่ยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ และหลักการประชาธิปไตย มีคุณค่าและมีความหมายจริงต่อผู้คนในสังคม ความรู้และการศึกษาจากโลกภายนอกเป็นบ่อเกิดแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ต กระจายและขยายตัวอย่างมาก การส่งต่อข้อมูลและองค์ความรู้อย่างง่ายดาย ความจริงที่อยากรู้อยู่ใกล้แค่เพียงปลายนิ้ว

และ ประการสุดท้าย คือ “การส่งต่อจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้” ของคนนละยุคสมัย คณะราษฎร 2475 จึงยังไม่ลืมการเคลื่อนไหวของ คณะ ร.ศ. 130 และคณะราษฎร 2565 จึงยังจำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องราวของคณะ ร.ศ. 103 ดังนั้นการเคลื่อนไหวในปี 2563 จึงหยิบเอาการต่อสู้และการสูญเสียของคนเสื้อแดงมาอธิบายและสร้างความเข้าใจใหม่

“ไม่ว่าใครจะพยายามลากดึงสังคมและประเทศนี้ให้ถอยหลังไปมากสักเท่าใด แต่ในท้ายที่สุด ไม่มีใครมีกำลังหรือเรี่ยวแรงพอที่ลากดึงประเทศนี้ถอยหลังเกินไปกว่าเส้นที่คณะราษฎร 2475 ได้ขีดไว้ ไม่ว่าเขาจะมีอำนาจด้วยวิธีการใด ไม่ว่าจะชอบธรรมแค่ไหน หรือฆ่าคนไทยไปกี่ราย ทุกคนต่างต้องประกาศว่าประเทศนี้ต้องปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย นี่คือหมุดหมายที่คณะราษฎรได้ตอกตรึงไว้”

 

“สังคมไทยกับนิติรัฐที่ยังมาไม่ถึง” 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

 

 

“อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” บางประการที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย นั่นคือการสถาปนานิติรัฐขึ้นในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่คณะราษฎรต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือการทำให้สิทธิ เสรีภาพ และความเสอมภาคของประชาชน ได้รับการคุ้มครองอย่างเทียมกันภายใต้กฎหมาย มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เพื่อความมุ่งหวังในสังคมไทยนั้นมีนิติรัฐ (Rule of Law) โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพมิใช่เพื่อกดปราบประชาชน ซึ่งในปัจจจุบัน “คนในกระบวนการยุติธรรม” มองข้ามคุณค่าของสิทธิเสรีภาพและความความเสมอภาคของประชาชน แต่มุ่งหวังทำงานเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์และความต้องการของรัฐอย่างไม่ยี่หระ

คำถามสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้คนในกระบวรการยุติธรรมทำหน้าที่ของตนเองอย่างเที่ยงธรรม ถูกต้อง และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีหนทางใดในการฟื้นฟูความยุติธรรมให้สังคมไทยได้บ้าง หนทางใดที่จะยุติผู้มีอำนาจที่สังหารประชาชนแต่ยังลอยนวลพ้นผิดครั้งแล้วครั้งเล่า

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เสนอว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือการพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมจากภายนอกประเทศ เพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้มีอำนาจตระหนักว่าหากไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ก็จำเป็นจะต้องให้องค์กรยุติธรรมในระดับนานาชาติ เข้ามามีบทบาทในหน้าที่นี้แทน

วิธีการที่จะผลักดันกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องผ่านกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ รศ.ดร.พวงทอง เห็นถึงความสำคัญของกรณีสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดง ในปี 2553 กรณีดังกล่าวควรถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของ “ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ICC (International Criminal Court)”

หากย้อนมองประวัติศาสตร์จะพบว่าความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในกระบวนการยุติธรรมได้ หยุดชะงักลงภายหลังจากการรัฐประหาร 2557 มีมติยกฟ้องผู้เกี่ยวข้องโดยขาดการสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องและหลักฐานเพิ่มเติม แม้จะมีตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตยื่นอุทรณ์ต่อศาลอุทรณ์และศาลฎีกาก็ไม่เป็นผล นี่จึงเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม

รศ.ดร.พวงทอง ภัครพันธุ์ยังชี้ให้เห็นว่าความป่วยไข้ในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนี้สอดรับกับหลักการการรับพิจารณาคดีของ ICC ได้แก่ หลักการ Complementarity ของ ICC คือ การรับพิจารณาคดีที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐที่ให้สัตยาบันรองรับอำนาจศาลของ ICC นั้น ไม่เต็มใจในการดำเนินคดีและตรวจสอบอย่างยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมของ ICC เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศที่ยอมรับอำนาจศาลของ ICC เช่น กรณีตรวจสอบการปราบปรามกบฏในโคลอมเบีย และกรณีตรวจสอบทหารจากอังกฤษที่ร่วมรบกับสหรัฐอเมริกา แล้วใช้ความรุนแรงในสมรภูมิอิรัก ฯลฯ แม้จะไม่สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดได้ทันที แต่จะพบว่าการดำเนินการตรวจสอบของ ICC สร้างแรงกดดันและกระตุ้นให้กระบวนยุติธรรมของรัฐให้เดินหน้า”

ความพยายามในการขับเคลื่อนกรณีดังกล่าวสู่เข้าสู่กระบวนการของ ICC เกิดขึ้นในปี 2555 ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เมื่อญาติของผู้เสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และทนายความเดินทางเข้าพบอัยการของ ICC ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว

ไม่เพียงแต่ความสูญเสียที่เกิดในปี 2553 แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วผู้ใช้อำนาจกลับพ้นผิดและลอยนวล ทาง ICC ก็ยังให้ความสนใจในการตรวจสอบกรณีดังกล่าว

นอกเหนือไปจากญาติของผู้เสียชีวิต คือการกระตุ้นให้นักการเมือง พรรคการเมือง แกนนำ ประชาชน และคนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐในปี 2553 จำเป็นต้องผลักดันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองใหญ่ที่มีบทสำคัญในการเคลื่อนไหวปี 2553 รวมไปถึงพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่อ้างหลักการประชาธิปไตยและประชาชน จำเป็นต้องยืนยันในเจตจำนงต่อกรณีดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อทรวงความยุติธรรม และหาหนทางป้องกันไม่ให้ความรุนแรงจากรัฐเกิดขึ้นอีก นี่คือความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ

 

“รัฐสวัสดิการ คือ สิทธิของประชาชน” 

รศ.ดร.โภคิน พลกุล

 

 

ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม สิ่งที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้นสามารถแบ่งได้ 2 ประการ ประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับอำนาจ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นครั้งที่มีการระบุว่า “อำนาจเป็นของราษฎร” แม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ระบุหรือให้อำนาจแก่ประชาชน

และ ประการที่สอง คือ ทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีหลักประกัน มีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สะท้อนผ่านหลัก 6 ประการ และเค้าโครงเศรษฐกิจ

พลังทางการเมืองมีพลวัตต่อการเมือไทย คือ พลังศักดินา พลังระบบราชการที่เป็นอำนาจนิยม และพลังของคณะราษฎรหรือประชาธิปไตย การเมืองไทยดำเนินไปโดยที่ทั้ง 3 องคาพยพสลับหมุนเวียนตามกงล้อทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม ซึ่งก่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดเรื่องรัฐราชการและอำนาจนิยม ที่ฝังรากลึกสู่สังคมไทยจนเป็นรากฐานให้แก่ระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจต่อประชาชน

ความอับจนและทุกข์ยากของประชาชนเกิดจากการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นตั้งเป้าหมายหลักที่ประชาชนเป็นหลัก ด้วยการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงวัยชรา ด้วย “รัฐสวัสดิการ” เพื่อสร้างความมั่นใจและหลักประกันในชีวิตแก่ทุกคน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หากประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยรัฐธรรมนูญจากประชาชน การออกแบบกฎหมายที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริง รัฐราชการไม่สามารถบริหารในแบบเดิมได้อีกต่อไป จำเป็นต้องปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อสนับสนุนประชาชน มิใช่การสั่งสอน

จุดเริ่มต้นของการเมืองที่มีเสถียรภาพ คือการปลดปล่อยประชาชนจากความยากจน ด้วยการให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพื่อในอนาคตประชาชนจะสามารถประกอบเลี้ยงชีพ และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่รัฐได้

 

“รัฐประหาร และ ความอ่อนแอของระบบพรรคการเมือง” 

จาตุรนต์ ฉายแสง

 

 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดเรื่องรัฐสภาเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 คณะราษฎรนำระบบการเมืองมาใช้ เมื่อย้อนดูเจตจำนงในอดีตของคณะราษฎรไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หากเปรียบเทียบกับระบบรัฐสภาในปัจจุบัน เจตนารมณ์ของคณะราษฎรในเรื่องรัฐสภา ในธรรมนูญปกครองสยาม ฉบับชั่วคราว 2475 แบ่งอำนาจ 4 ฝ่าย ได้ พระมหากษัตริย์ คณะราษฎร (ฝ่ายบริหาร) สภาผู้แทนราษฎร (นิติบัญญัติ) และศาล

ในช่วงหลังนี้ในรัฐธรรมนุญฉบับปัจจุบัน มี ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายก มีอำนาจร่วมออกกฎหมายสำคัญ เป็นอำนาจที่มากกว่าเดิม มีอำนาจในการกำกับให้รัฐบาลต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ มีอำนาจในการรับรององค์กรอิสระ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการ ความผิดแปลกที่เกิดขึ้นนี้ต่างออกไปจากเจตจำนงเดิมของคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง แต่ระบบในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นการวางกติกาเพื่อลดอำนาจของประชาชนอย่างเป็นระบบ

พรรคการเมืองเป็นพื้นฐานหนึ่งของโครงสร้างในระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันพรรคการเมืองกำลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคจากการการรัฐประหารและเผด็จการ ด้วยกฎกติกาที่ง่ายต่อการยุบพรรคการเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร สิ่งที่ทำลายระบบพรรคการเมืองมากที่สุดคือ “การตั้งพรรคการเมืองของคณะรัฐประหาร” เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ด้วยวิธีต่างๆ ในการหาแนวร่วมของพรรค สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความอ่อนแอของระบบพรรคการเมือง พร้อมกับสร้างวาทกรรม “นักการเมืองเลว” “พรรคการเมืองเลว”

รวมไปถึงการขัดขวางไม่ให้ให้พรรคการเมืองทำหน้าที่ในระบอบรัฐสภา จำกัดไม่ให้เกิดการแข่งขันในเชิงนโยบาย โดยการออกแบบนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้อย่างละเอียด และยากต่อการตีความ กำกับอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้อำนาจของ ส.ว. สิ่งเหล่านี้ทำให้นโยบายที่ประชาชนต้องการไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะบางนโยบายการพัฒนาอาจคัดง้างกับยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

 

สตรีเพศ การต่อสู้ และกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง 

ชานันท์ ยอดหงษ์

 

 

การมาของความรู้สมัยใหม่ผ่านคณะมิชชันนารีและการตั้งสถานศึกษา เปิดโอกาสและพื้นที่ทางความรู้ให้แก่ผู้คน ผู้หญิงเมื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จึงทำให้ความคิดความอ่านเริ่มพัฒนา สามารถเป็นรับข่าวสารทั้งภายในและนอกประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เลื่อนสถานะเป็น “ผู้หญิงสมัยใหม่” (Modern Girl) มีอาชีพและความรู้ติดตัว เริ่มทำงานนอกบ้านและประกอบอาชีพอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงทางองค์ความรู้คือการสถาปนาอำนาจในการจับจ่ายให้แก่ผู้หญิง การทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ ทำให้พวกเธอมีทางเลือกในการบริโภค สิ่งที่พวกเธอเลือกบริโภคในตอนนั้นคือหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ อันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดนับตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  มีการเคลื่อนไหวทางความคิดผ่านตัวหนังสือและกระดาษเพื่อเรียกร้องส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพ และความเสมอภาค

พัฒนาการด้านความคิดความอ่านที่เกิดจากหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ เกิดขึ้นจากการอ่านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ข่าวสาว นวนิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ ที่สอดแทรกความรักในเชิงปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้เป็นฐานความคิดให้ผู้หญิงตระหนักในเรื่องสิทธิ ว่าตนเองสามารถเลือกคู่ครองได้อย่างเสรี ปราศจากการคลุมถุงชนจากผู้ใหญ่

ขณะเดียวกันพวกเธอยังท้าทายอำนาจของชนชั้นปกครองด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบผัวเดียวหลายเมียที่เกิดในราชสำนัก และเรียกร้องสังคมเพื่อรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว รวมไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชนชั้นสูงที่กดทับเพศหญิง นำไปสู่การเกิดของนิตยสารเพื่อสตรี เช่น นิตยสารกุลสตรี นิตสารสตรีนิพนธ์ นิตยสารสุภาพนารี ฯลฯ หลายฉบับเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้หญิงที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ รวมไปถึงการพิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับ การบ้านการเมือง กฎหมาย ความรู้ ทั้งในและนอกประเทศ

ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ความเท่าเทียมทางเพศที่พวกเธอใฝ่ฝันเริ่มปรากฏขึ้น ด้วยการมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การออกกฎหมายเกี่ยวผัวเดียวเมียเดียว รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับอัตรารายได้ของข้าราชการหญิง ยังคงมีการเคลื่อนไหวความคิดทางการเมืองผ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ของผู้หญิงหลากหลายช่วงอายุ

90 ปีภายหลังการอภิวัฒน์สยาม กลุ่มคนที่ถูกนิยามว่า “คณะราษฎร 2563” ต่างประกอบด้วยผู้หญิงจำนวนมากโดยไม่จำกัดแค่เพียงอายุ สิ่งนี้คือก้าวสำคัญในบทบาททางการเมืองของผู้หญิงที่จะยังคงดำเนินต่อไป ในวาระ 100 แห่งการอภิวัฒน์สยาม คาดหวังว่าข้อเรียกร้องสำหรับผู้หญิงจะเป็นจริงได้ในเร็ววัน

 

“ขุนศึก ศักดินา นายทุน และ ประชาชน”

รังสิมันต์ โรม

 

 

ตลอด 2 ทศวรรษให้หลังจนถึงปัจจุบัน 3 คำที่เหมาะสมกับการเมืองไทย คือ ตาย ติดคุก และลี้ภัย ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ เมื่อผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนหยุดคิดและเรียกร้อง ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะต้องสานต่อเจตจำนงของคณะราษฎรและประชาชน เพราะ “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทุกคน”

90 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้เล่นคนสำคัญที่ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ คือ นายทุน ขุนศึก และ ศักดินา หากเราไม่จัดการคนเหล่านี้ ความเท่าเทียมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ ก้าวไกลพยายามหยุดกลุ่มคนเหล่าดังกล่าว ผ่านการผลักดันทางการเมืองในระบบรัฐสภา ด้วยกฎหมาย ด้วยการอภิปราย เช่น การอภิปรายงบสถาบันพระมหากษัตริย์ คัดค้าน พ.ร.ก. โอนย้ายกำลังพล ฯลฯ

การอยู่ได้โดยสยบยอม ไม่มีกระดูกสันหลัง คือ นักการเมืองที่ทรยศต่อประชาชน แต่หากอยู่อย่างมีกระดูกสันหลัง ผิดคือผิด ถูกคือถูก นำมาซึ่งความเสี่ยงแบบที่อนาคตใหม่เคยโดน ท้ายที่การอยู่แบบมีกระดูกสันหลัง คือการนำพาไปสู่การแก้กฎหมายมาตรา 112

การยุติเครือข่ายนายทุน ขุนศึก ศักดินา ประกอบไปด้วย 6 ประการ คือ

  1. ปฏิรูปกองทัพ เพื่อหยุดยั้งวงจรการรัฐประหาร
  2. เปลี่ยนแปลงรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ไม่ตอบสนองความต้องของประชาชน
  3. ทลายทุนผูกขาดที่กินรวบในธุรกิจต่างๆ ที่เป็นแหล่งทุนและกำลังเงินให้แก่ขุนศึกในการรัฐประหารและรักษาอำนาจ 
  4. แก้ไขมาตรา 112 เพื่อหยุดยั้งการรังแกผู้เห็นต่าง
  5. นิรโทษกรรมให้แก่นักโทษทางความคิดที่ถูกกลั่นแกล้งด้วยกฎหมาย
  6. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะทำให้ทุกองค์กรยึดโยงกับประชาชน และรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์