ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

27 มิถุนายน 2479 สุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ

30
มิถุนายน
2565

สุนทรพจน์

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)
กล่าวทางวิทยุกระจายเสียง วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2479
ซึ่งเป็นวันบรรจบครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ

 

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย

ก่อนที่จะกล่าวข้อความใดๆ ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านทั้งหลายให้หวนไประลึกถึงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ในวันนั้นหัวใจของเราชาวสยามทั้งชาติ ตกอยู่ในความหวั่นหวาดกังขาไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร บรรดาผู้ที่จะฟังเสียงวิทยุได้ก็ตั้งใจคอยสดับว่าสยามจะได้รับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ครั้นเมื่อวิทยุได้ประกาศว่าพระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ความวิตกกังวลก็ค่อยคลายลง ระบอบรัฐธรรมนูญได้สถาปนาขึ้นเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเคารพในมนุษย์ว่าเป็นมนุษย์  เคารพในความเป็นไทยของชาวสยามว่าเป็นไทไม่ใช่เป็นทาส ยอมรับว่าอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม มีพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุขอันเราเคารพสักการะ  สยามประเทศอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญก็เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปทุกวันจนบรรจบครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้

ข้าพเจ้าได้เคยบรรยายในทางวิทยุกระจายเสียง ในวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 และ 2478 ข้อความที่ข้าพเจ้าได้พูดในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้แจงให้เห็นความก้าวหน้าที่รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้ทำมาในชั่วเวลา 3 ปี และขอกล่าวว่าความก้าวหน้าในชั่วเวลา 3 ปี ได้มีมาแล้วเพียงไร อีก 3 ปีต่อมาจนถึงวันนี้เราก็ได้ก้าวหน้าต่อขึ้นไปอีก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้แสดงให้ท่านทราบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 25 และข้าพเจ้าหวังว่าในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่น ท่านก็คงทราบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นๆ ในโอกาสอันควร รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้ทำงาน

ด้วยความพยายามและระมัดระวัง ค่อยก้าวค่อยทำด้วยความรอบคอบหนักแน่น ระบอบรัฐธรรมนูญไม่ใช่ระบอบโลดโผน แค่เป็นระบอบที่ต้องการความมั่นคงถาวร และดำเนินการด้วยความสุขุมละเอียดละออ งานบางอย่างอาจทำได้ช้า  แต่สิ่งไรที่ทำไปแล้วย่อมเป็นแน่ใจว่าเราได้พินิจพิเคราะห์โดยรอบข้าง การก้าวหน้าทุกก้าวเราควรก้าวไปอย่างหนักแน่นและเลือกก้าวไปในพื้นที่ที่ไม่มีโคลนตม และเป็นเหตุให้เราลื่นล้มด้วยความประมาท ทางใดที่เราเดินไปได้แล้วแผ้วถางให้สะอาด ทำถนนถาวรไว้เพื่อให้ชาติทั้งชาติได้ใช้เดินต่อมาโดยราบรื่น

ชาติเป็นของประชาชนชาวสยามทั้งหมด มิใช่เป็นของบุคคลในรัฐบาลเท่านั้นก็หาไม่ เมื่อสิ้นบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแล้ว ท่านที่มารับมอบงานจะได้ใช้ทางเดินอันถาวรนั้นโดยสะดวก ด้วยลักษณะแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่านอกจากความนิยมภายในประเทศสยามรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังได้รับความยกย่องเชื่อถือจากนานาประเทศยิ่งขึ้น ความเชื่อถือมีค่าอันประเสริฐซึ่งจะนำเอาทรัพย์สินไปแลกมานั้นหาได้ไม่  เราไม่ได้นำอะไรไปแลกเปลี่ยนนานาประเทศให้เขาเชื่อถือ เขาเชื่อถือเราเพราะระบอบรัฐธรรมนูญเป็นระบอบซึ่งนำมาซึ่งความสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์

เราฟังเสียงประชาชนไม่ใช่ทำโดยพลการ เราเล็งเห็นว่ามนุษย์ย่อมปรารถนาความสุขกายสบายใจ นี่แหละความสุขอันประเสริฐ คือสันติสุข ฉะนั้นความเชื่อถือจากนานาประเทศจึงมีค่าอันประเสริฐเป็นอุปกรณ์สำคัญอันหนึ่ง ประกอบกับการป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งจะช่วยดำรงความเป็นเอกราชของชาติไว้  ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอนาคตแห่งชาติอาจสลายลงได้ ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาแผนที่แห่งโลก จะเห็นได้แน่ชัดว่า สยามเป็นประเทศเล็กประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศหลายสิบประเทศในพื้นพิภพนี้ เราจะอยู่สันโดษเดี่ยวโดยลำพังไม่ได้ จำต้องทำการค้าขายมีไมตรีติดต่อกับประเทศอื่นๆ เราปลูกข้าวได้ เราทำเหมืองแร่ได้ เราปลูกยางได้ เราเลี้ยงสัตว์ได้เหลือจากที่ใช้ในประเทศเรา เราก็จำต้องขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศให้ช่วยรับซื้อได้ เงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนที่เรายังทำไม่ได้มาบำรุงประเทศชาติของเราให้เจริญยิ่งขึ้น

ณ บัดนี้เราปรารภกันอยู่เสมอว่าสยามมีอาณาเขตอันกว้างใหญ่ เรามีพื้นที่ที่อาจจะขยายการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เรามีป่าไม้อันมีค่า เรามีแร่ ฯลฯ กล่าวกันอย่างสั้นๆ ว่า มีทรัพย์ในดิน มีสินในน้ำ แต่เรายังไม่ได้นำทรัพย์สินของเราใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ คือว่าเราอยู่ในสยาม แต่ผืนแผ่นดินสยามยังปล่อยให้ธรรมชาติเป็นเจ้าของ ชาวสยามเรายังไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นได้ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะเราทราบแล้วว่า ขาดผู้ชำนาญและขาดสิ่งสำคัญอีกอันหนึ่งคือเงินทุน ถ้าเราจะสะสมเงินทุนเอาเองก็ต้องการเวลาอีกนาน หรือมิฉะนั้นถ้าจะให้รวดเร็วก็จะต้องขึ้นภาษีอากรให้มากมายเกินกำลังของราษฎร แต่ว่าด้วยความเชื่อถือจากต่างประเทศเราอาจแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยหวังทางช่วยเหลือในเรื่องเงินลงทุน ความเชื่อถือนี้เรามีสักขีพยานให้เห็นเช่นเมื่อปีที่แล้วมาแทนที่เราจะใช้หนี้ที่เรากู้มาจากต่างประเทศ 3 ล้านปอนด์หรือจะต้องเสียดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ด้วยความเชื่อถือ เรารักษาเงินนั้นไว้ลงทุนในประเทศ และเรายังลดดอกเบี้ยร้อยละ 6 ลงมาเป็นร้อยละ 4 ต่อปี ดั่งนี้เป็นประโยชน์ทั้งในทางลงทุนบำรุงประเทศ และดอกเบี้ยที่จะส่งก็ลดน้อยลง เราต้องอาศัยทุน อาศัยตลาด อาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการบำรุงประเทศของเรา อีกไม่ช้าเราจะเริ่มเจรจาสัญญาทางพระราชไมตรีใหม่ เพื่อขอแก้ไขให้ประเทศเรามีสิทธิเสมอภาคกับประเทศอื่นๆ

กิจการเหล่านี้อาศัยความเชื่อถือซึ่งเราได้มีขึ้นแล้วโดยระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบรัฐธรรมนูญยิ่งมั่นคง ประชาชนยิ่งมั่งคั่งสมบูรณ์ สยามรัฐจะมีสิทธิเทียมบ่าเทียมไหล่กับนานาประเทศ ความสุขที่ได้รับจากระบอบรัฐธรรมนูญเป็นความสุขและประโยชน์อันแท้จริง ไม่ใช่ประโยชน์ในทางความคิด ในทางความฝัน เราท่านมองเห็นประโยชน์นั้นอยู่ใกล้ๆ แล้ว ขอให้ช่วยแผ้วถางทางเดินของเรานี้ต่อไปให้ถึงจุดหมาย แนวทางอื่นใด เป็นแนวทางใหม่เราไม่รู้แน่ว่าจะไปทางไหนถ้าเพลี่ยงพล้ำลงไป ประเทศชาติก็จะดับสูญ

รัฐธรรมนูญเป็นธรรมะอันสูงสุดแห่งการที่ประชาชนชาวสยามจะดำรงอยู่ได้เป็นประเทศเอกราช ท่านที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือท่านที่ปฏิบัติตามธรรมะ ผลานิสงส์พึงบังเกิดแก่ท่านเอง

“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ที่ประพฤติธรรม"”

ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นที่จะดำรงระบอบรัฐธรรมนูญไว้ชั่วกัลปาวสาน ข้าพเจ้าขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกช่วยคุ้มครองท่านทั้งหลาย ให้มีความสุขความเจริญอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกเมื่อ ความปรารถนาใดๆ ของท่านที่มีอยู่ในทางที่ชอบในเขตขอบแห่งรัฐธรรมนูญ ขอความปรารถนานั้นๆ จงเป็นผลสำเร็จสมมโนรถทุกประการเทอญ.

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. (2543). สุนทรพจน์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2479 เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ, รัฐสภาสาร, 48(5), 19 - 21.