ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จากแนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ ถึงแนวทางประชาธิปไตยในการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

19
กันยายน
2566

Focus

  • ในการปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอเนื้อหาสำคัญ 4 ประการคือ (1) ประวัติศาสตร์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญในสยาม (2) มูลเหตุในการอภิวัฒน์จากหลักฐานชั้นต้น (3) ความหมายของประชาธิปไตย และ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ และรัฐประหารกับการเมืองไทย
  • แนวคิดรัฐธรรมนูญในสยามมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อเนื่องในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาล 7 โดยคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย อันมีสาเหตุสำคัญคือการฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ และรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบให้มีการใช้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและเป็นใหญ่
  • การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ชักนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยแบบไทยๆหรือเหมาะสมกับสังคมไทยในระยะเวลาต่อๆมา โดยเน้นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดยพลเอกสนธิ บูญยรัตกลิน ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวันตร และครบรอบ 17 ปี ในวันนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่ากงล้อประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ด้วยการหมุนกลับมาของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆอีกครั้ง ดังที่ขบวนการต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ในคราวนั้น พิจารณาเห็นว่าการรัฐประหารมิใช่มุ่งเน้นที่การสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

 

นิตยสาร Time ลงข่าวการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และภาพประชาชนมอบดอกไม้ให้แก่คณะทหารที่ทำรัฐประหาร ที่มา : นิตยสาร Time และ twitter.com/Boongkeang
นิตยสาร Time ลงข่าวการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และภาพประชาชนมอบดอกไม้ให้แก่คณะทหารที่ทำรัฐประหาร
ที่มา : นิตยสาร Time และ twitter.com/Boongkeang

 

19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐประหารนำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และ พลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นผลสำเร็จและเรียกชื่อคณะรัฐประหารนี้ว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มีตัวย่อว่า คปค.[1]

การรัฐประหารครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเมืองไทยระยะร่วมสมัยเปรียบเทียบได้กับการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนแปลงตัวแสดงทางการเมืองและเครือข่ายรวมทั้งการออกแบบสถาบันการเมืองและระบอบประชาธิปไตยแบบไทยหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เด่นชัดขึ้น

ก่อนหน้านี้ในการระลึกถึง “เหตุการณ์ 19 กันยา 2549” จะเสนอเรื่องราวของการยึดอำนาจโดยกองทัพ ความรุนแรงทางการเมือง และผลกระทบจากเหตุการณ์แต่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยในช่วงนี้น้อยเต็มที บทความชิ้นนี้จึงขอเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ ในการตั้งต้นการศึกษาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยด้วยมุมมองของนายปรีดี พนมยงค์ จากหลักฐานชั้นต้นใหม่คือ ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส[2] จนมาถึงแนวทางประชาธิปไตยในการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อส่งสาส์นถึงความคาดหวังต่อการปกครองไทยให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์[3]

 

แนวคิดและระบอบประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ในปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525

การแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 และแนวคิดประชาธิปไตยครั้งสำคัญช่วงบั้นปลายชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ คือการแสดง ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้นำปาฐกถาฉบับเต็มมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ทางวิชาการและผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การปาฐกถาครั้งนี้นายปรีดีกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญ 4 ประการคือ ประวัติศาสตร์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญในสยาม มูลเหตุในการอภิวัฒน์จากหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในทศวรรษ 2470 ความหมายของประชาธิปไตย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ รัฐประหารกับการเมืองไทยไว้อย่างน่าพิจารณาและยังคงร่วมสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอความคิดทั้ง 4 ประการของนายปรีดีดังต่อไปนี้

 


ปรีดี พนมยงค์

 

ประการที่ 1 ประวัติศาสตร์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญในสยาม นายปรีดีอธิบายถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสถาบันการเมืองเพื่อเปลี่ยนไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยทั้งจากในมุมชนชั้นปกครอง ชนชั้นนำ ข้าราชการ และราษฎรสามัญนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ไว้ว่า

 

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ ใน ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428 ตรงกับ ร.ศ. 103) พระบรมวงศ์สี่องค์ ร่วมกับข้าราชการสถานทูตสยามชุดแรกที่ประจำกรุงลอนดอนและชุดแรกที่ประจำกรุงปารีส ได้ร่วมกันกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ท่านทรงสถาปนาระบบที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ (constitutional monarchy / limited monarchy) แต่ทรงให้ทำปฏิรูประบบราชการก่อน สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งกันขึ้นภายในพระราชวงศ์ และเกิดขบวนการ ร.ศ. 130 เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย โดยสมัยนั้นก็มีปัญหาข้าวยากหมากแพงราษฎรเดือดร้อนกันมาก กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ประสงค์จะให้มีการปกครองให้มีระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ นายสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) รวมถึงท่าน (พระยา) ศรีวิสารวาจาก็พลอยไปเห็นด้วยกับสตีเวนส์ว่ายังไม่ถึงเวลา และสยามขณะนั้น ก็ยังประสบปัญหาความอัตคัดฝืดเคือง ตามที่รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้รับทราบทั่วกัน”

พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ความอัตคัดฝืดเคือง
พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ความอัตคัดฝืดเคือง

 

ประการที่ 2 มูลเหตุในการอภิวัฒน์จากหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในทศวรรษ 2470 นายปรีดีเสนอว่ามีหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจในทศวรรษ 2470 ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา[4]โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังต่อไปนี้

 

ประกาศเรื่องความอัตคัดฝืดเคือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้ทราบทั่วกัน ด้วยได้ทรงรับฎีการาษฎรทูลเกล้าฯ ถวายมาแต่ที่ต่างๆ หลายฉะบับ “กราบบังคมทูลฯ ร้องทุกข์ถึงความอัตคัดฝืดเคืองซึ่งเกิดขึ้นแต่ปีหลังมาจนปีนี้ เป็นเหตุให้ขัดสนจนทรัพย์ ทํามาหาได้ไม่พอจะเลี้ยงชีพและเสียภาษีอากรได้สะดวกเหมือนแต่ก่อนพากันขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยบรรเทาความ เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่นขอให้งดเก็บภาษีอากร เป็นต้น

กล่าวตามความคิดเห็นของเหล่าผู้ถวายฎีกาเป็นอเนกนัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามฎีกาก็สงสาร ด้วยทรงทราบตระหนักอยู่แล้วว่า ความลําบากของประชาชนมีอยู่แพร่หลาย จึ่งมีพระราชประสงค์ใคร่จะให้ทราบความตามจริงทั่วกัน ว่าบุคคลที่ได้รับความลําบากในเวลานี้ไม่ฉะเพาะแต่พวกราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคฤหบดีและพ่อค้าตลอดจนข้าราชการและเจ้านาย ก็ได้รับความลําบากด้วยกันทั้งนั้น เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัดฝืดเคืองครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตต์อันจะพึงป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ หรือรัฏฐาภิปาลโนบายของรัฐบาล

เหตุเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก่อนแล้วลามมาโดยลําดับจนถึงประเทศนี้ ความเดือดร้อนมีแก่ชาวประเทศอื่นๆ ก็อย่างเดียวกัน แต่ประเทศของเรานี้ยังเบากว่าประเทศอื่นอยู่โดยมาก ด้วยเป็นแต่อัตคัดขัดสน ไม่ถึงต้องอดอยากมากเหมือนกับเขา ถึงกระนั้นความลําบากก็กระเทือนถึงบ้านเมืองด้วยกันทุกประเทศ เพราะ เมื่อประชาชนยากจนลง เงินภาษีอากรที่รัฐบาลเคยเก็บเฉลี่ยจากคนทั้งปวงเอามาใช้ในการปกครองบ้านเมือง ก็ได้น้อยลงไม่พอแก่การดั่งแต่ก่อน ว่าฉะเพาะประเทศของเรานี้เมื่อ พ.ศ. 2473 เงินภาษีอากรและผลประโยชน์แผ่นดินเก็บได้กว่าเก้าสิบหกล้านบาท ใน พ.ศ.2474 จํานวนเงินเก็บได้ตกต่ําลงกว่าสิบเก้าล้านบาท มาถึง พ.ศ.2475 ประมาณจํานวนเงินจะตกลงไปอีกสักยี่สิบล้านบาท รวมเงินแผ่นดินตกต่ําลงใน 2 ปีนี้ถึงสามสิบเก้าล้านบาท ก็เป็นเหตุให้เกิดความยากลําบากแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าจะสงเคราะห์ราษฎรด้วยเลิกภาษีอากร เงินแผ่นดินก็จะยิ่งขาดมากไป เหมือนตัดกําลังที่จะปกครองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขให้อ่อนหนักลงไป อาจจะเกิดเหตุร้ายและความเดือดร้อนแก่ราษฎรเสียยิ่งกว่าที่ต้องเสียภาษีอากรเสียอีก ฐานะการเงินแผ่นดินที่เป็นอยู่ในบัดนี้ถึงจะไม่ลดภาษีอากรลงเลย รัฐบาลก็ยังจะต้องขวนขวายหาเงินจากทางอื่นมาชดใช้ให้พอจํานวนเงินที่ขาด มิฉะนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติถึงบ้านเมืองด้วย

 เมื่อความจําเป็นมีอยู่อย่างนี้ จึ่งต้องโปรดฯ ให้ตัดเงินรายจ่ายราชการลงด้วยเลิกทะบวงการและลดจํานวนข้าราชการ ตัดรายจ่ายทางเงินเดือน และค่าใช้สอยให้น้อยลง เพียงเท่านั้นก็ยังไม่พอชดใช้เงินที่ขาด ถึงต้องตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง แต่ภาษีอากรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่คราวนี้ คิดเก็บเฉลี่ยในบุคคลจําพวกอื่นอันเป็นชั้นผู้มีทรัพย์พอจะเสียได้เป็นพื้น แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สู้ทรงสละเงินขึ้นซึ่งเคยได้สําหรับใช้สอยส่วนพระองค์ ออกช่วยราชการแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ และยอมให้เก็บภาษีทรัพย์ส่วนพระองค์อันต้องพิกัดเหมือนประชาชนทั้งปวงราษฎรทั้งหลายนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ผ่อนผันมิให้ต้องลําบากมากขึ้นด้วยภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ ดั่งกล่าวมา ว่าโดยย่อครั้งนี้เป็นเวลาที่ชาวสยามทุกจําพวกนับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงไปจนถึงราษฎร พลเมือง จะต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายด้วยโภคกิจเกิดวิปริตทั่วทั้งโลก จําต้องยอมทนความลําบากด้วยกันไปชั่วคราว และหวังใจด้วยกันว่าจะพ้นความอัตคัดขัดสนได้ในไม่ช้านาน ด้วยชาวประเทศอื่นๆ ก็เดือดร้อนในเรื่องนี้เหมือนกับเรา รัฐบาลทุกๆ ประเทศก็พากันร้อนใจ และคิดแก้ไขอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

หากเป็นการใหญ่หลวงด้วยความอัตคัดเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมด ประเทศหนึ่งประเทศใดจะแก้ไขแต่โดยลําพังไม่ไหว จึ่งยังปรึกษาหารือกันช้าอยู่ ส่วนประเทศของเราก็ต้องอนุโลมตาม ถึงกระนั้นการอย่างใดซึ่งทรงสามารถจะบรรเทาความเดือดร้อนได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดฯ ให้จัดการนั้นๆ ดั่งเช่นให้ลดค่านาเรียกน้อยลงกว่าแต่ก่อน และลดราคาเงินบาทให้ราษฎรซื้อขายได้ผลประโยชน์มากขึ้นเป็นต้น การอย่างใดที่รัฐบาลจะพึงกระทําเพื่อบรรเทาความลําบากได้ก็ยังจะทําต่อไป ในส่วนประชาชนก็อาจจะช่วยรัฐบาลได้ด้วยอุตส่าห์ประกอบกิจการให้เกิดโภคทรัพย์ยิ่งขึ้น และพยายามสงวนทรัพย์สิน

ซึ่งมีอยู่อย่าใช้จ่ายให้เปลืองไปเสียในการที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะบรรเทาความลําบากลงได้ ส่วนการเสียภาษีอากรนั้น ก็ควรพยายามตั้งใจช่วยรัฐบาลโดยเต็มใจตามความสามารถเพื่อจะได้เป็นกําลังสําหรับรัฐบาลปกครองบ้านเมือง และคิดการแก้ไขเหตุร้ายต่างๆ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าหากรัฐบาลไร้ทุนทรัพย์และรายได้แล้วก็ย่อมไม่สามารถที่จะดําเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้ ขอให้ประชาชนทั้งหลายเห็นแก่บ้านเมืองเป็นสําคัญจงทั่วกัน

ประกาศมา ณ วันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์

 

นายปรีดียังชี้ให้เห็นว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้มีความสำคัญต่อการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ด้วยว่า

 

“นี่เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ใช่ว่าคณะราษฎรมาพูดเอาเอง มีหลายเหตุด้วยกันเท่าที่กล่าวมาแล้วเราถึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน แล้วนี่จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมก็ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ เป็นมากันอย่างนี้ก็ขอให้รับทราบไว้เมื่อพูดถึงมูลเหตุที่แล้วๆ มา พระปกเกล้าท่านได้เคยรับสั่งให้อภัยแก่คณะราษฎรหลายครั้งหลายหนแล้ว ในคราวที่ท่านสละราชสมบัตินี้ ในหลวงเองท่านหาได้โกรธเคืองคณะราษฎรไม่ แต่พวกที่อ้างคำว่ารักพระปกเกล้ายิ่งกว่าพระองค์ก็ทำการสร้างเรื่องใส่ความคณะราษฎรตลอดมา นี่ผมขอความเป็นธรรม นี่จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านได้โทรเลขสละราชสมบัติแล้ว เรื่องสละราชสมบัตินั้นมีการพูดถึงกันยืดยาว เมื่อท่านได้สละแล้วก็มีโทรเลขของเจ้าคุณพระพหลฯ กราบทูลฯ”

 

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์

 

ประการที่ 3 ความหมายของประชาธิปไตย โดยนายปรีดีได้กล่าวถึงความหมายของประชาธิปไตยทั้งในแง่ศัพท์บัญญัติและบริบทประวัติศาสตร์ไว้ว่า

 

“คืออย่างนี้นะ อยู่ดีๆ ก็พูดประชาธิปไตย ต้องรู้ definition อะไรคือประชาธิปไตย Qu’est-ce que la démocratie บอกมาสิ ถ้าเราไม่รู้ Qu’est-ce que la démocratie ประชาธิปไตยคืออะไร เราจะไปทำได้อย่างไร หลักใหญ่ถ้าเผื่อจะพูดก็คือ ประชาธิปไตยก็คืออำนาจของปวงชนเป็นใหญ่ แล้วปวงชนนั้นใช้อำนาจโดยทางไหน? ใช้อำนาจโดยทางตรงที่เรียกว่า plebiscite หรืออย่างไร หรือใช้อำนาจโดยผ่านผู้แทนที่เลือกตั้งกันมา อย่างประเทศใหญ่ๆ อย่างเมืองไทยนี้เป็น plebiscite ทุกเรื่องไม่ได้ ก็ได้ด้วยตั้งผู้แทนราษฎรผ่านขึ้นมา แล้วผู้แทนราษฎรก็มาใช้สิทธิคิดแทน เรียกว่า démocratie indirecte ถ้า plebiscite ก็เรียกว่า démocratie directe มีสองอย่าง หรือเราจะเอาผสมกัน อย่างฝรั่งเศสก็มี indirecte โดยผ่านผู้แทน แล้วในบางกรณีก็มี Pré plebiscite หรือ random ก็มีอยู่อย่างนี้

ทีนี้ของเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราก็ไม่พอใจกันแล้วในการที่สมาชิกวุฒิสภามีการแต่งตั้ง ควรจะให้สมาชิกมีการแต่งตั้ง ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร แล้วเรื่องนี้ก็เคยมีในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489 ฉบับสุดท้ายของคณะราษฎรก่อนจะถูกรัฐประหารก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นมีใครเขาพูดถึง เขาจะทำของเขาขึ้นเอง ผมก็ไม่มีความเห็นอะไร อย่างน้อยเขาควรจะดูว่าครั้งเก่าที่เขาทำมามีอะไรบ้าง นี่ท่านจะมาตั้งขึ้นเสร็จแล้วก็อ่านดูว่าเขาจะต้องรอมชอมกันที่นั่นที่นี่ อ้าวแล้วกันไปรอมชอม ครับ คนนะมันก็ไปกันใหญ่

นี่ก็ขอให้ไปพิจารณากันดูก็ให้รู้ว่า democracy คืออะไร แล้วที่ของเขานั่นเขามี democracy ไหมอันนี้หนึ่ง และสอง คือวิธีการนั้นที่ว่าจะเขียนอะไรไปนั้น คนสามารถปฏิบัติได้ตามนั้นไหม

เรื่องสิทธิของสตรีอย่างนี้ ก็เห็นว่ามีการพูดๆ กัน เห็นอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อกี้ก็มีกล่าวถึงสิทธิไม่เสมอภาค ก็ได้อ่านดูคล้ายๆ กับว่าเรื่องจะพายเรือไปคนละทางเสียแล้ว คือพวกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายนี้เขาได้ต่อสู้ของเขามาหลายปี จนกระทั่งเขาได้รับผลสำเร็จอย่างไรๆ นั้น เราได้ศึกษาหรือเปล่า ทีนี้พล่ามว่าเราไม่ได้ศึกษาเพราะเหตุไม่ได้ศึกษาเราจึงนึกว่าไม่มีใครทำ มีแต่ฉันเท่านั้นแหละ ฉันจะต้องทำ แต่อย่างนี้มันไม่ควร”

 

ประการที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ รัฐประหารกับการเมืองไทย แม้ว่าปาฐกถาครั้งนี้ นายปรีดีจะกล่าวถึงในบริบทของสังคมไทยช่วงใน พ.ศ. 2525 แต่ปัญหาเรื่องการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทยสมัยปัจจุบัน

 

“ปัญหาแรกคืออยากจะทราบว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่ผู้ทำรัฐประหารขึ้นมาจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญใช่ไหม? อย่างนั้นก็จะตอบปัญหานี้ ปัญหานี้เวลานี้ยังมีคดีค้างอยู่ที่ศาลฎีกา คือเรื่องเป็นมาอย่างนี้ คือคุณวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ที่เป็นเลขานุการและราชองครักษ์ เมื่อแกกลับมาแล้วก็ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์กับนิตยสารเป็นจำเลยในฐานคดีอาญา ศาลอาญาไม่รับฟ้องก็อ้างเหตุว่าโทษเช่นนี้ผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ต้องให้อัยการฟ้องแทน อัยการนี้หมายถึงอัยการศาลทหาร แล้วก็อ้างประกาศคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป ทีนี้ทางทนายก็ได้อุทธรณ์แล้วเรื่องก็ไปถึงศาลฎีกา ปัญหาฝ่ายทนายทางฝ่ายคุณวัชรชัยก็บอกว่าคำสั่งคณะปฏิวัติและคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ เรื่องสองปีกว่าแล้วศาลฎีกายังไม่ได้ถกปัญหานี้ อันนี้ข้อรัฐธรรมนูญมีอยู่ว่าก็อ่านถึงตั้งแต่พระปกเกล้าท่านได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้สืบมาจากที่พระปกเกล้าท่านได้พระราชทานแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะตอนนั้น absolute monarchy รัฐธรรมนูญ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นั้น ท่านพระราชทานครั้งที่ท่านยังเป็น absolute monarchy ขณะนั้น เมื่อท่านพระราชทานแล้วจึงเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น คือท่านลงนามโดยพระองค์เองไม่ได้

ทางทนายคุณวัชรชัยก็ต่อสู้คดีนี้ ถ้าคดีนี้เป็นผลให้เห็นว่าคำสั่งคณะปฏิวัติและปฏิรูปนี้เป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ใครขึ้นมาก็ขึ้นมา ใครอยากออกกฎหมายอะไรก็ตามใจ เป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ศาลไม่รับฟัง อยู่ที่ศาลอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

สุดท้ายแต่ว่าการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลของพวกใด ถ้าหากเป็นรัฐบาลพวกที่เป็นทุนนิยม เพราะนี่ก็เป็นธรรมดาเขาก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของนายทุนเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากว่าเลือกตั้งโดยได้พวกสังคมนิยมมา แต่สังคมนิยมก็มีหลายพวก หลายชนิด เพราะฉะนั้นก็ให้ไปอ่านหนังสือที่เคยแสดงปาฐกถานักเรียนอังกฤษ มีอยู่หลายฉบับ การประกันนั้นก็อยู่ที่ปฏิบัติ เราจะปฏิบัติเพื่อที่จะได้รัฐบาลชนิดไหน อันนี้ก็เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้คนที่ยากจนนี้ได้มีสิทธิมีเสียงได้เลือกผู้แทนของตนมา อันนี้มันเกี่ยวข้องกันไป

ตามธรรมดาคนจนมีมากกว่าคนรวยหรือชาวนามีมากกว่า แต่ทำไมไม่ได้เลือกหรือได้ผู้แทนของตัวมาแล้วได้มีรัฐบาลของตัว เพราะฉะนั้นจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะแก้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่าใครสามารถที่จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร”

 

ข้อสังเกตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายปรีดีที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ การที่นายปรีดีเสนอว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ได้นั้น มาจากปัจจัยสำคัญว่าใครเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ และเขียนรัฐธรรมนูญไว้อย่างไรซึ่งเมื่อพิจารณากับเหตุการณ์ปัจจุบันใน พ.ศ. 2566 ที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็จะเห็นว่า ปัญหาของแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขมาจากผู้เขียนรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

 

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากแนวคิดประชาธิปไตยของนายปรีดีที่ระบุว่าหลักการของประชาธิปไตย คืออำนาจของปวงชนเป็นใหญ่ โดยปวงชนใช้อำนาจโดยทางตรงที่เรียกว่า plebiscite ผ่านผู้แทนที่เลือกตั้งมาแต่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบสากลนี้กลับไม่เกิดขึ้นในไทยโดยนับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยและระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งจุดกำเนิด และงานศึกษาระบอบประชาธิปไตยไทยโดยสังเขปมีดังนี้

ในการอธิบายแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย มีการเสนอครั้งแรกผ่านสื่อมวลชนคือสถานีวิทยุสองศูนย์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 และปาฐกถาประชาธิปไตยแบบไทยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2508[5] โดยอธิบายสอดรับกันในประเด็นสำคัญว่า ประชาธิปไตยของตะวันตกไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมการเมืองไทยที่มีบริบททางประวัติศาสตร์แบบเฉพาะตัวและมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองทั้งในแง่แนวคิดของการปกครองโบราณและพระราชอำนาจในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนที่แตกต่างกันคือ สถานีวิทยุสองศูนย์เสนอด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยว่า ประชาธิปไตยย่อมเหมาะสมกับบริบททางสังคมในแต่ละประเทศ และรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญและดำเนินการพัฒนาสังคมแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบไทย[6]

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบไทยในทศวรรษ 2530 ดังต่อไปนี้ งานชิ้นแรกเชิงวิชาการที่อธิบายคำว่า ประชาธิปไตยแบบไทยคือ งานศึกษาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มีข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยแตกต่างจากชนชั้นนำ กองทัพ และสื่อมวลชนของฝ่ายรัฐบาลในทศวรรษ 2500 ว่า ประชาธิปไตยแบบไทย หมายถึงการจัดให้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยหมดสิ้นลงหรือทุเลาลง และเสนอให้เห็นการนิยามประชาธิปไตยทั้งในมิติคุณค่าทางสากล และในบริบทการเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและคนชั้นกลาง

โดยนิธิ ชี้ว่าประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้ยาวนานต้องมีความหมายต่อคนส่วนใหญ่[7] ต่อมาได้มีงานศึกษาเชิงประวัติศาสตร์การเมืองของเกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช เรื่อง แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย ที่พยายามจะสร้างกรอบการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยขึ้นโดยในงานชิ้นนี้ได้เน้นศึกษาที่กลุ่มทางการเมืองคือ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์และกลุ่มราชครู กับกลุ่มอนุรักษนิยมเก่าและใหม่ ทั้งได้มีการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนในการศึกษาแนวคิดประชาธิปไตยของกองทัพยังปรากฏอยู่ในงานของเฉลิมเกียรติ ผิวนวล ที่ศึกษาความคิดทางการเมืองของทหารไทย พ.ศ. 2519-2529 ในแง่ของกรอบแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยนั้น งานของเฉลิมเกียรติไม่ได้มีความแตกต่างจากงานของเกรียงศักดิ์มากนักหากแตกต่างกันที่ตัวแสดงที่ใช้ในการศึกษาเป็นหลัก

ขณะที่การศึกษาแนวคิดการวิจัยของระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขชิ้นสำคัญในเบื้องต้นมีดังนี้

ในงานศึกษาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล[8] ได้เสนอความหมายของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ ว่าได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทยใน “สมัยปฏิวัติ” ของจอมพล สฤษดิ์นี้เองที่มีความพยายามยืนยันว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษของตัวเอง จึงต้องการระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกันเป็น “แบบไทยๆ ”

นี่คือจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในแง่อุดมการณ์ราชการ ส่วนการเกิดขึ้นของคำนี้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 นั้น สมศักดิ์ยังวิเคราะห์กึ่งตีความว่า ยังไม่ใช่ในความหมายนี้

ขณะที่งานศึกษาของเกษียร เตชะพีระ[9] ได้เสนอความหมายที่แตกต่างจากงานของสมศักดิ์ โดยเกษียรมองภาพรวมการเกิดขึ้นของแนวคิดระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นความหมายเดียวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่ได้ตีความทางอุดมการณ์หรือวิเคราะห์ความหมายของวลีนี้ และเกษียรยังเน้นความสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ที่ปรากฏคำนี้ขึ้นครั้งแรกเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และมองว่าในสมัยการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงจอมพล ถนอม กิตติขจรนั้น ไม่มีระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการอาญาสิทธิ์[10]

กระทั่งต่อมาในงานศึกษาของธงชัย วินิจจะกูล ได้เสนอแตกต่างออกไปจากงานของสมศักดิ์ และเกษียร โดยเสนอว่าระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ด้วยอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญ[11] หากต่อมาธงชัย เสนอในปาฐกถาว่าหลังเหตุการณ์พฤษภา’35 นั้นพระราชอำนาจได้ปรากฏอย่างเต็มรูปแบบ[12] และในงานชิ้นล่าสุดของศุภมิตร ปิติพัฒน์[13] เสนอว่าระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีจุดเริ่มต้นของการสถาปนามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ในแง่ของการบัญญัติศัพท์และมาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญก็จริง แต่จุดพลิกผันที่เป็น “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มาจากแนวคิดของรัชกาลที่ 9 เป็นหลักและมีข้อที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญใหม่คือ ศุภมิตรเสนอว่า ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนั้นได้เริ่มต้นอย่างแท้จริงในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 นี้เอง

ส่วนในงานของสมชาย ปรีชาศิลปกุล[14] ไม่ได้อธิบายแนวคิดระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างชัดเจนแต่ใช้การเปลี่ยนแปลงจากตัวบทตามมาตรากฎหมายมาเป็นการอธิบายความหมายกลายๆ ส่วนในทางแนวคิดยังคงสอดรับกับการวางแนวทางการอธิบายจากงานของสมศักดิ์ เกษียร และธงชัย หากมีข้อแตกต่างคือการอธิบายบทบาททางการเมืองและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านตัวบทโดยสมชายอธิบายสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญในทศวรรษ 2490 ว่าเป็นกระแสโต้กลับระหว่างชนชั้นนำ คณะราษฎร และกองทัพ

จากการศึกษาแนวคิดประชาธิปไตยจากนายปรีดีถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไทย และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยสังเขปดังกล่าวจะเห็นว่า มีการขยับเคลื่อนของความหมายและระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยในทางสถาบันการเมืองของไทยที่สอดคล้องกับผู้ปกครองและบริบททางการเมืองแต่ละช่วงเวลานั้น

 

ฐานะทางประวัติศาสตร์และลำดับเหตุการณ์สำคัญของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

 

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มา : Youtube
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่มา : Youtube

 

ในหัวข้อนี้จะเสนอมิติทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยา และลำดับเหตุการณ์สำคัญนับตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่สถานีโทรทัศน์ตัดภาพเข้าสู่คณะรัฐประหารโดยมีพลตรี ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษกสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและโฆษกคณะรัฐประหารอ่านประกาศซึ่งมีใจความสำคัญว่า

 

เนื่องด้วยขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ได้แล้ว และไม่ได้มีการขัดขวางเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย

 

ต่อมามีงานศึกษาของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการศึกษาเหตุการณ์นี้ในฐานะประวัติศาสตร์โดยเสนอว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ล้าหลัง และถอยหลังเข้าคลองไปนับสิบปีเพราะเชื่อว่าการสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมสมัยใหม่และการทำลายประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งยังกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอีกด้วย[15]

สุธาชัยตั้งข้อสังเกตตั้งแต่นัยและความสำคัญของชื่อคณะรัฐประหารคือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ว่าเป็นชื่อคณะรัฐประหารที่ทำการยึดอำนาจที่ยาวที่สุด และอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะทหารผู้ยึดอำนาจที่กล่าวถึงสาเหตุของการรัฐประหารในวันถัดมาหลังการยึดอำนาจว่า คณะทหารจำเป็นต้องก่อการยึดอำนาจ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การบริหารราชการแผ่นดินก็ส่อไปในทางทุจริตคิดมิชอบ และการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาสยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งพลเอก สนธิ ยังกล่าวถึงที่มาของชื่อคณะรัฐประหารว่า

 

การที่ผมตั้งชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นมาก็เพื่อให้เห็นระยะที่ชัดเจนว่าเราต้องการประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

 

หากสาเหตุที่แท้จริงของการรัฐประหาร 19 กันยายน กลับไม่ได้เป็นไปตามข้ออ้างดังกล่าวแต่มีที่มาจากการที่สังคมไทยมีความแตกแยกทางความคิดระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กับฝ่ายที่ต่อต้านส่งผลให้ความแตกแยกมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหากยังให้รัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ บริหารประเทศต่อไปแต่การแก้ไขปัญหานี้ด้วยการรัฐประหารยังมีข้อน่ากังขาว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่[16] เพราะโดยธรรมชาติของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความเห็นแตกต่างและความขัดแย้งกันโดยมีหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการประกันความขัดแย้งและความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านั้น

ข้ออ้างของคณะรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารเพราะมองว่าชอบธรรม ยังมีเหตุผลอื่นอีกว่า เป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่จะก่อโดยฝ่ายของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ซึ่งแสดงถึงความไม่มั่นคงของรัฐบาลขณะนั้น รวมถึงภาพพจน์ของรักษาการนายกรัฐมนตรียังค่อนไปในทางลบและได้รับความนิยมจากประชาชนลดลง ซ้ำยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน[17]มีการต่อต้านอย่างเด่นชัดจากกลุ่มผู้จัดการของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เรียกตนเองว่ากลุ่มพันธมิตรกู้ชาติที่เริ่มต้นต่อต้านการเคลื่อนไหวของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ภายใต้การอิงอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านคำขวัญ “เราจะต่อสู้เพื่อในหลวง” และยังมีกลุ่มนักวิชาการเสนอให้ใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา[18] โดยมาตรา 7 ระบุว่า

 

ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

จากสาเหตุดังกล่าวประกอบกันได้ทำให้รัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ อยู่ในภาวะล่อแหลม จนนำมาสู่การรัฐประหารในที่สุด

ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้มีการล้มเลิกระบบรัฐสภา ล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แล้วประกาศกฎอัยการศึกและใช้อำนาจการปกครองสูงสุดอยู่ราว 10 วัน มีประกาศของคณะปฏิรูปฯ ออกมา 36 ฉบับแล้วจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และตั้งพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารแล้วนัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไปพร้อมกัน ขณะที่รัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์เป็นรัฐบาลที่มีชื่อเรียกว่า รัฐบาลขิงแก่ และประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการเกือบทั้งหมดสะท้อนให้เห็นแนวทางของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยที่ดำเนินการโดยคณะรัฐประหารหรือภายหลังการก่อรัฐประหารว่าการบริหารงานด้วยข้าราชการอาจจะเป็นทางเลือกหรือหนทางที่ดีกว่ากลุ่มนักการเมืองหรือข้าราชการทางการเมือง[19] จากมุมมองของคณะรัฐประหารซึ่งในบริบทประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นตัวอย่างมาแล้วในสามรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร และรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารชุมนุมที่ลานหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่มา: เฟซบุ๊ก อุเชนทร์ เชียงเสน
เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารชุมนุมที่ลานหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ที่มา: เฟซบุ๊ก อุเชนทร์ เชียงเสน

 

ในอีกทางหนึ่งก็มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ อาทิ “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” ที่มีเคลื่อนไหวต่อต้านและเปิดเว็บไซต์ 19 sept.org ขึ้น[20] เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารเป็นการรวมตัวของนักศึกษา นักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้ประชุมและจัดตั้งเครือข่ายฯ ขึ้นในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมในเครือข่ายฯ ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่เติบโตมานับตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงปัจจุบันโดยมีองค์กรหรือกลุ่มย่อยๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมหรือสนับสนุนเครือข่ายฯ จำนวน 7 กลุ่มดังต่อไปนี้

“1. กลุ่มโดมแดง เป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระเล็กๆ ของนักศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านรัฐประหารเป็นการเฉพาะ

2. ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา เป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย มีกิจกรรมที่สำคัญคือ การจัดทำวารสาร QUESTIONMARK จัดตั้งขึ้นก่อนการรัฐประหาร

3. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน เป็นการรวมตัวของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน หรือประชาชนโดยทั่วไป โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวในการต้านรัฐประหารที่มีบทบาทสำคัญส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา

4. เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์พฤษภา 35 ประกอบด้วยผู้คนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งปัจจุบันมีทั้งส่วนที่เป็นนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องของปัจเจก มีลักษณะเฉพาะกิจ และมีขอบเขตกิจกรรมที่จำกัด เช่น การออกแถลงการณ์ เป็นต้น

5. กลุ่มวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งมิได้หมายถึง ทีมงานของวารสารฟ้าเดียวกันที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเท่านั้น แต่ถึงรวมเครือข่ายของผู้อ่าน นักวิชาการต่างๆ ที่กลุ่มวารสารฟ้าเดียวกันสามารถระดมการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ได้

6. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำกิจกรรมทางการเมือง

7. กลุ่มกรรมการปฏิรูป เป็นการรวมตัวของกรรมกรและองค์กรที่ทำงานกับสหภาพแรงงาน ก่อตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจหลังจากการรัฐประหาร และต่อมามีสหภาพแรงงานฯ คือ สหพันธ์แรงงานแรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นส่วนอื่นที่เหลือ เป็นปัจเจกชนที่ไม่มีสังกัดองค์กรที่แน่นอน กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นนักศึกษา นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เป็นต้น”

 

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่มา: พิพิธภัณฑ์สามัญชน
เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
ที่มา: พิพิธภัณฑ์สามัญชน

 

เครือข่าย 19 กันยาฯ มีผู้ปฏิบัติงานสองชุดโดยในช่วงแรก คือหลังจากการรัฐประหาร (กันยายน พ.ศ. 2549-เมษายน พ.ศ. 2550) จะมีผู้ประสานงาน 5 คน ได้แก่นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นางสาวชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ นายสุวิทย์ เลิศไกรเมธี นายอดิศร เกิดมงคล ซึ่ง 4 คนแรกเป็นนักศึกษา และมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้ประสานงานเพื่อรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยในช่วงที่ 2 (มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2550) มีผู้ประสานงาน 3 คน ได้แก่ นายอุเชนทร์ เชียงเสน นางสาวอุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์ และนายภัทรดนัย จงเกื้อ ซึ่งทั้งสามคนเป็นนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย โดยมีแถลงการณ์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งจุดยืนหลักของผู้เข้าร่วมก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยาฯ คือ

 

“การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา”

 

การรณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่มา: เฟซบุ๊ก Rap Against Dictatorship
การรณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
ที่มา: เฟซบุ๊ก Rap Against Dictatorship

 

และทางเครือข่าย 19 กันยาฯ ยังเรียกร้องให้ทหารที่ก่อการกลับสู่ต้นสังกัดและยุติบทบาททางการเมือง และหยุดแทรกแซงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งการพูด การแสดงออก และกลับสู่กระบวนการการเมืองตามปกติก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้นัดรวมตัวต่อต้านรัฐประหารเป็นครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 บริเวณด้านหน้าสยามพารากอนแล้วดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการชุมนุม จัดเวทีอภิปราย รณรงค์ อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทางเครือข่าย 19 กันยาฯ ได้รณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น[21]

 

บทสรุป

การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองร่วมสมัยครั้งสำคัญของไทยโดยเฉพาะในด้านของการเปลี่ยนกลุ่มการเมือง เครือข่ายทางการเมือง หรือตัวแสดงใหม่ทางการเมืองโดยกองทัพกลับมามีอำนาจอีกครั้งนับตั้งแต่ห่างหายไปภายหลังเหตุการณ์พฤษภา’35 ที่สำคัญเมื่อศึกษาผ่านแนวคิดประชาธิปไตยโดยการอธิบายประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองไทยของนายปรีดี พนมยงค์ได้แสดงให้เห็นการขยับ-เคลื่อนของรูปแบบการปกครองไทยในทางทฤษฎีการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยแบบไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยระบอบที่สองนี้ยังได้ถูกนำมาผนวกรวมเป็นชื่อของคณะรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นครั้งแรกอีกด้วย

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 หรือวาระครบรอบ 17 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยาเวียนมาถึง ก็สะท้อนให้เห็นว่ากงล้อประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ด้วยการหมุนกลับมาของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ อีกครั้ง

 

ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์สามัญชน และราชกิจจานุเบกษา

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

หนังสือภาษาไทย :

  • กองบรรณาธิการ, วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2540 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540).
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544).
  • ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะฯ, รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550).
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535).
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย 2535).
  • ปรีดี พนมยงค์, เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร ? (กรุงเทพฯ: สยามการพิมพ์, 2517).
  • พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, เผด็จการวิทยา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561).
  • วาด รวี บรรณาธิการ, Crisis Nineteen วิกฤติ 19 ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549-19 พฤษภาคม 2553 (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2554)
  • ไมตรี เด่นอุดม, โลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2553).
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).

วิทยานิพนธ์ :

  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] เดิมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under Constitution Monarchy แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Council for Democratic Reform (CDR) ใน วาด รวี บรรณาธิการ, Crisis Nineteen วิกฤติ 19 ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549-19 พฤษภาคม 2553 (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2554), หน้า 36.

[2] สถาบันปรีดี พนมยงค์ (24 มิถุนายน 2566), “ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย 24 มิถุนายน 2525 ฉบับเต็ม - YouTube ,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566.

[3] อ่านแนวทางประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ที่ วรรณภา ติระสังขะ (17 กันยายน 2563), “ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566.

[4] ราชกิจจานุเบกษา. “พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ความอัตคัดฝืดเคือง,” (5 มิ.ย. 2475). เล่มที่ 49 ก, หน้า 148-152.

[5] นราธิปพงศ์ประพันธ์, พล.ต. กรมหมื่น. (2514). ปกิณกะ. พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช. น. 3-12.

[6] สถานีวิทยุสองศูนย์. (2508). ประชาธิปไตยแบบไทยๆ และข้อคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ. พระนคร: เอกศิลป์การพิมพ์.หน้า 27-44.

[7] สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. บรรณาธิการ. (2531). อำนาจชาวบ้าน: รูปการใหม่ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย. หน้า 56.

[8] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (3 กรกฎาคม. 2549). “ความหมายและความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,”. [online]. 

[9] เกษียร เตชะพีระ. (2554). “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มาและที่ไป,” ฟ้าเดียวกัน, 9(1): 89-114.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 100. และโปรดดูเพิ่มเติม เกษียร เตชะพีระ. (2555). “2 แนวโน้มที่แยกแย้งของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”. ใน สยามยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน. น. 28-40. และ เกษียร เตชะพีระ. (2554). “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: ที่มาและที่ไป”. ใน เมืองไทยสองเสี่ยง? สภาพปัญหา แนวโน้ม และทางออกวิกฤติการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 1-55.

[11] ธงชัย วินิจจะกูล. (2556). ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง: ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. หน้า 14.

[12] ธงชัย วินิจจะกูล. (2563). นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม : ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 : ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของ Rule by law แบบไทย. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[13] ศุภมิตร ปิติพัฒน์. (2563). จุดเริ่มต้นสถาปนาการปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

[14] Suwannathat-Pian, Kobkua. (1995). Thailand’s Durable Premier Phibun through Three Decades 1932-1957.NewYork: Oxford University Press. pp. 3-58.

[15] ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะฯ, รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550). หน้า 205, 208.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 211.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 213.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 218-219.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 214-215.

[20] วาด รวี บรรณาธิการ, Crisis Nineteen วิกฤติ 19 ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549-19 พฤษภาคม 2553 (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2554), หน้า 41.

[21] อุเชนทร์ เชียงเสน. “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (kpi.ac.th) ,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566.