ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ นางงามพระนครศรีอยุธยา และยอดดาราตลก

10
กรกฎาคม
2568

Focus

  • ผู้เขียนนำเสนอ เรื่องราวของ คู่ชีวิตระดับตำนานในวงการบันเทิงไทยอย่างสวง ทรัพย์สำรวย และ  สมจิตต์ โตประภัสร์ นางงามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่น้อยคนจะทราบว่าความรักครั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความช่วยเหลือ จนสามารถครองรักกันได้ในที่สุด

 


สมจิตต์ กับ “ล้อต๊อก” และลูกสาวทั้งสอง
ที่มาภาพ : ล้อต๊อก ตลกสยามสี่แผ่นดิน

 

ความสนใจของประชาชนต่อการประกวดนางงามเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธเสียแล้วว่าได้กลายเป็นปรากฏการณ์อันคึกคักในประเทศไทยตลอดช่วงหลายปีล่วงผ่านมา และก็มิได้เป็นเพียงเรื่องราวเกี่ยวกับความสวยความงามเท่านั้น หากยังมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมอย่างน่าใคร่ครวญ

ล่าสุดเลย ข่าวคราวซึ่งสร้างความตื่นเต้นกันขนานใหญ่ในหมู่ชาวไทยย่อมมิพ้นการที่ โอปอล สุชาตา ช่วงศรี ได้ครองตำแหน่งมิสเวิลด์ (Miss World) หรือสวมมงกุฎสีฟ้า เป็นคนแรกของไทยในการประกวดประจำปี ค.ศ. 2025 (ตรงกับ พ.ศ. 2568)

 


โอปอล สุชาตา ช่วงศรี
ที่มาภาพ : ไทยรัฐ

 

เส้นทางการเป็นนางงามของ โอปอล นั้น เธอเคยครองตำแหน่งรองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์สประจำปี ค.ศ. 2024 ภายหลังจากที่คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์แล้ว กระทั่งพอปีถัดมาเธอก็กลายเป็นมิสเวิลด์ ซึ่งยังไม่เคยมีหญิงสาวชาวไทยคนใดได้สวมบทบาทนี้มาก่อนเลย กระแสความยินดีจึงแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ

แม้ปัจจุบันเราอาจพบเจอข้อเขียนและงานศึกษาว่าด้วยการประกวดนางงามจำนวนมากมาย แต่คุณผู้อ่านก็คงมิวายนึกฉงนสนเท่ห์ เมื่อได้เห็นชื่อของข้อเขียนชิ้นนี้ที่พยายามเชื่อมโยงให้นายปรีดี พนมยงค์  นางงามพระนครศรีอยุธยา และยอดดาราตลกมาผูกพันกันอย่างน่าทึ่ง

เป็นไปได้ด้วยหรือ ที่ นายปรีดี จะมีความเกี่ยวข้องกับนางงาม

ครับ ถ้าคุณผู้อ่านทั้งหลายพร้อมแล้ว ผมจะนำทุกท่านไปเพลิดเพลินกับประเด็นดังที่เริ่มเกริ่นมา

มองผาดเผิน ดูเหมือนว่า ตลอดชั่วชีวิตของ นายปรีดี คงไม่น่าจะปรากฏเรื่องนางงามได้เลย แต่จากข้อมูลตามข้อเท็จจริงแล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยมีบทบาทสำคัญต่อโชคชะตาของนางงามพระนครศรีอยุธยาคนหนึ่ง

 


นางสาวสมจิตต์ โตประภัสร์
ที่มาภาพ : ล้อต๊อก ตลกสยามสี่แผ่นดิน

 

นางงามคนนั้นคือ นางสาวสมจิตต์ โตประภัสร์ ส่วนเหตุที่ นายปรีดี ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเธอ ผมจำเป็นจะต้องเอ่ยถึงยอดดาราตลกคนหนึ่งเสียก่อนด้วย นั่นก็คือ ล้อต๊อก หรือ สวง ทรัพย์สำรวย

สวง ลืมตายลโลกหนแรกเมื่อวันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2457 ณ บ้านสวน คลองเสาหิน ตำบลท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดหกคนของนายนุ่มและนางขม ชาวสวนผลไม้

 


ล้อต๊อก
ที่มาภาพ : ล้อต๊อก ตลกสยามสี่แผ่นดิน

 

สวง เริ่มเรียนหนังสือกับครูฉุย หัดอ่านมูลบทบรรพกิจกับพระอาจารย์ที่วัดอินทาราม ต่อมาก็เข้าเรียนในโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ระหว่างนั้น ก็ชื่นชอบการไปร่วมงานบุญงานบวชและร้องรำทำเพลงในขบวนแห่นาคอยู่เสมอๆ ด้วยความหลงใหลในการแสดงพื้นบ้านทั้งรำกลองยาวและกระตั้วแทงเสือ  เขาจึงมักแอบไปเล่นละครชาตรีแก้บนตามงานต่างๆ จนได้มีโอกาสร่วมขบวนแสดงต่อหน้าพระที่นั่งในงานพระราชพิธีตรียัมปวายโล้ชิงช้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เมื่อ สวง ต้องออกจากโรงเรียนจึงมาช่วยพ่อแม่ทำสวน โดยเฉพาะสวนทุเรียน แต่กลับเผชิญน้ำท่วมจนสวนล่ม ดังเสียงเล่าของเขาที่ว่า “ตอนนั้น น้ำท่วมทุเรียนตายหมด แม่ก็นั่งน้ำตาไหล ผมก็เลยปลอบใจแม่ว่า ไม่ต้องเสียใจหรอก ฉันก็จะหาเลี้ยงพ่อแม่เอง แกก็หัวเราะบอกว่าคนอย่างมึงจะทำอะไรเลี้ยงกู”

 สวง ตัดสินใจออกมาทำงานสารพัด เริ่มจากเป็นเด็กเรือเมล์คอยผูกเชือกเวลาเรือจอดแถวคลองภาษีเจริญ รับจ้างปีนขึ้นต้นมะพร้าวและต้นหมาก ลอกท้องร่อง รวมถึงการแสดงตลกหารายได้ แม้พ่อแม่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะมองเป็นพวกเต้นกินรํากิน

สวง ยังเคยเดินทางไปเผชิญโชคที่โคราช ยึดอาชีพถีบสามล้อ วันหนึ่งเจอเข้ากับนักมวยซึ่งต่อมาจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนาม ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ จึงได้รับชวนให้ไปเป็นนักมวยในคณะเทียนกำแหง ใช้ชื่อว่า “สวง สรงโซดา” ขึ้นชกหลายสังเวียนอยู่เกือบสามปี แพ้บ้างชนะบ้าง แต่กลับไม่ได้รับเงิน เพราะนายสนามมวยโกงค่าตัว เขาต้องเดินเท้ากลับบ้านเกิดจากโคราชมาตามทางรถไฟ ใช้เวลาสามวันกว่าจะถึงธนบุรี

อย่างที่บอกแล้วว่า สวง ชอบคลุกคลีกับวงดนตรีงานบุญตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เผอิญเจ้าของวงดนตรีรู้จักกับนักประพันธ์หลายคน ทั้ง เหม เวชกร  มนัส จรรยงค์ ยาขอบ และ ไม้ เมืองเดิม จึงออกปากฝากฝังให้ สวง คอยเป็นเด็กรับใช้นักเขียน ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยานรับส่งต้นฉบับตามโรงพิมพ์หรืองานจิปาถะต่างๆ

การใกล้ชิดกับพวกนักเขียนและจิตรกรลือนาม ทำให้ สวง ได้รับความรู้ทั้งการเขียนหนังสือและการวาดภาพ แต่เขาสังเกตว่าพวกนักเขียนและจิตรกรไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหน ต้องอยู่ประจำโรงพิมพ์ เป็นงานที่ขาดอิสระ จึงไม่คิดจะยึดเส้นทางสายอาชีพนี้

สวง ได้ตั้งคณะกระตั้วแทงเสือเพื่อตระเวนแสดงตามงานวัดและงานต่างๆในย่านธนบุรี ผู้แสดงกระตั้วแทงเสือจะประกอบด้วยกระตั้วหรือนายพรานกับเสือ โดยกระตั้วต้องหาวิธีกำราบปราบเสือ สิ่งที่ทำให้คณะของ สวง โด่งดัง เพราะนิยมเล่นแบบโลดโผน บางครั้งไล่แทงจนเสือหนีขึ้นต้นมะม่วง กระตั้วก็ยังไล่ตามจนกิ่งมะม่วงหักโครมลงน้ำ

ช่วงนั้น สวง ยังมีโอกาสได้ไปชมละครชวนหัวเรื่องสั้นๆเพื่อคั่นการแสดง หรือที่เรียกกันว่า “ละครย่อย” จึงมาปรึกษาเพื่อนหนุ่มอย่าง เสน่ห์ โกมารชุน แล้วร่วมกันตั้งคณะละครย่อยชื่อ “เมฆดำ” ออกตระเวนแสดงตามงานวัดและเข้าประกวดประชันตามเวทีต่างๆ ซึ่งคณะเมฆดำก็ชนะการประกวดเป็นประจําและคว้ารางวัลมากมาย เพราะมีมุกตลกแพรวพราว

แต่ผู้เป็นพ่อของ สวง กลับมองว่าการแสดงจำอวดเช่นนี้ช่างน่าอับอาย จึงไล่ลูกชายออกจากบ้าน

ในช่วงปี พ.ศ. 2479 สวง ถูกหมายเรียกเกณฑ์ทหาร จึงต้องเข้ารับราชการเป็นพลทหารอากาศที่ดอนเมือง ตําแหน่งพลปืนกลหลังประจําฝูงบินขับไล่ ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2482 เกิดสงครามอินโดจีนเขาก็ถูกเรียกตัวให้มาประจำการเป็นทหารอากาศอีกครั้ง ด้วยความสามารถทางด้านร้องรำทำเพลง เขาจึงช่วยสร้างความครื้นเครงให้กับกองทัพ ครั้นเสร็จสิ้นสงคราม ผู้บังคับบัญชาจึงสนับสนุนให้ สวง รับราชการทหารต่อ แต่เขาตั้งใจที่จะกลับไปเป็นศิลปิน ทั้งยังไม่อยากอยู่ภายใต้กฎระเบียบวินัย

 

สวง กลับมาแสดงละครย่อยกับคณะเมฆดำ แต่คราวนี้ กิจการซบเซาลง คณะละครไม่มีเงิน จนเขาต้องไปชกมวยหาเงินจุนเจือ และยังเดินทางไปเกาะสีชังเพื่อทำอาชีพประมง มิเว้นกระทั่งอาชีพแปลกพิกลอย่างการรับจ้างกระโดดหน้าผาสูงเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายภาพเป็นที่ระลึก นักท่องเที่ยวไม่น้อยประทับใจท่า “นกร่อน” นี้ของ สวง อย่างมาก ถึงขั้นมีชาวเยอรมันชวนไปทำงานด้วยและเสนอค่าแรงแพงลิบลิ่ว แต่เขาไม่อยากจากเมืองไทย การทำประมงและรับจ้างกระโดดหน้าผาสร้างรายได้งามให้กับ สวง หากคงเพราะโชคชะตาของผู้ที่เกิดมาเป็นศิลปิน ท้ายที่สุดเขาจึงหวนคืนสู่การแสดงอีกครา

ด้วยฝีมือของเขาที่สามารถพลิกแพลงสิ่งรายรอบตัวมาเป็นมุกตลกได้หมดไปเข้าตา สัมพันธ์ อุมากูล  นักประพันธ์เพลงลือนามและเจ้าของคณะศรีเบญจา สัมพันธ์ ผู้เคยรับชมการแสดงของคณะเมฆดำ จึงชวนให้ สวง เสน่ห์ และผองเพื่อนมาร่วมแสดงตลกบนเวทีก่อนภาพยนตร์ฉาย โดยจัดตั้งคณะจําอวดขึ้นให้ชื่อว่า “คณะลูกไทย” โดยมี สมพงษ์ พงษ์มิตร สมบุญ แว่นตาโต ชุมพล ปัทมินท์ แจ๋ว ดอกจิก และ จอก ดอกจัน มาเข้าร่วมคณะ ส่วนหัวหน้าคณะคือ เฉลิม บุญยเกียรติ

คณะลูกไทยแสดงสลับหน้าม่านในโรงภาพยนตร์หลายแห่งเช่น เวิ้งนครเขษม เฉลิมนคร เฉลิมบุรี โอเดียน โรงละคร ตลอดจนตามงานเทศกาลต่างๆ ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก เรื่องที่นำมาแสดงเป็นประจำคือ รามเกียรติ์ จันทโครพและไกรทอง

สวง มักได้รับบทเป็นตัวตลกที่ถูกแกล้งให้เจ็บตัว ดังเช่นในเรื่องไกรทอง พอถึงตอนที่จะต้องร้องเพลงว่า “โฉมเจ้าไกรทองพงษา” เขาก็จะร้องว่า “โฉมเจ้าไกรทองเจ้าพงษ์หมา” สมพงษ์ พงษ์มิตร จะทำเป็นโกรธแล้วเดินมาถีบ สวง กลิ้งลงพื้น ผู้ชมก็ส่งเสียงหัวเราะสนั่น

สวง ยังมีบุคลิกประจำตัว โดยเฉพาะลีลาการพูดเหน่อๆด้วยสำเนียงสุพรรณ และลงท้ายประโยคว่า “คร้าบ..กระผม” แล้วหัวเราะ “แหะ แหะ” ซึ่งทำให้ผู้ชมจดจำเขาได้อย่างแม่นยำ 

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ทางกองทัพญี่ปุ่นได้ห้ามฉายภาพยนตร์ฝรั่งและให้ฉายแต่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นแทน แม้ สวง จะยังเล่นละครสลับหน้าม่านก่อนฉายภาพยนตร์ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งนายทหารญี่ปุ่นที่มาชมก็ชอบใจ ปรบมือกันใหญ่ ทว่าผู้ชมชาวไทยไม่ยอมดูหนังญี่ปุ่นเลย สื่อบันเทิงอย่างละครเวทีจึงมีบทบาทและได้รับความนิยมอย่างสูง

สวง และคณะก็เข้าสู่การแสดงละครเวทีเช่นกัน คราวนี้ยิ่งโด่งดังระบือลือลั่น โดยเฉพาะตอนที่แสดงละครเรื่อง ใกล้เกลือกินด่าง ซึ่งจัดทำโดยคณะนาฏศิลป์สากลของกองทัพอากาศ เพราะตอนนั้น สวง ก็เข้าไปประจำการวงดุริยางค์ทหารอากาศด้วย เขาสวมบทบาทเป็น เสี่ยล้อต๊อก เถ้าแก่ชาวจีนขี้เหนียวและลืมตัว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครๆก็เรียกเขาติดปากว่า “ล้อต๊อก” เคลือบริมฝีปากแทนที่ชื่อ สวง มาตราบปัจจุบัน

 ช่วงปลายสงคราม ล้อต๊อก ยังได้แสดงละครใหญ่เป็นเรื่องแรกคือ บู๊สง และต่อมาก็ยังได้แสดงเรื่อง ตั๊งโต๊ะ ซึ่งยิ่งทบทวีชื่อเสียงให้แก่เขาอย่างมาก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ล้อต๊อก ก็ยังคงแสดงละครเวทีและกลายเป็นขวัญใจผู้ชม ไม่เพียงเท่านั้น เขายังรวมทีมกับนักแสดงตลกอย่าง ดอกดิน กัญญามาลย์ และ สมพงษ์ พงษ์มิตร ก้าวเข้าสู่การแสดงภาพยนตร์ด้วย แต่จริงๆแล้ว ตอนที่ สวง อายุเพียงสิบเก้าก็เคยเข้าฉากในภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่ง

การเป็นดาราตลกในภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้กับ ล้อต๊อก อย่างสูง แค่เขาปรากฏโฉมออกมาผู้ชมก็จะได้ยิ้มได้หัวเราะ ในช่วงทศวรรษ 2500 ที่ มิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอกขวัญใจมหาชน ยอดดาราตลกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือ สวง นั่นเอง

 


มิตร ชัยบัญชา โอบกอด “ล้อต๊อก” ด้วยความรัก
ที่มาภาพ : ล้อต๊อก ตลกสยามสี่แผ่นดิน
 

ภาพยนตร์สำคัญในชีวิตของ ล้อต๊อก คือเรื่อง หลวงตา ซึ่งเขารับบทเด่นเป็นหลวงตาตามชื่อหนัง ออกฉายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2523 และต่อมายังถูกนำไปจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินด้วย

 

 


ภาพยนตร์หลวงตา (พ.ศ.2523)

 ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 2480 ที่ ล้อต๊อก ยังคงแสดงละครเวทีโดยรับบทตัวตลกอยู่นั้น ได้มีข่าวคราวครึกโครมทั้งวงการ เมื่อเขาประกาศว่าจะแต่งงานกับ สมจิตต์ โตประภัสร์ นางงามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นข่าวที่สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆพากันวิพากษ์วิจารณ์อยู่นานเกินสามเดือน

สมจิตต์ เป็นหญิงสาวชาวหัวรอ พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรคนที่สองจากทั้งหมดหกคนของ นายหยุนฟัด และ นางเมี้ยน 

เมื่ออายุครบสิบหกปีเต็ม สมจิตต์ ได้เข้าประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญและได้รับตำแหน่งนางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2470 โดยจะมีการประกวดหญิงสาวในจังหวัดต่างๆก่อน จากนั้น ทางจังหวัดก็อาจจะส่งหญิงสาวที่ได้รับตำแหน่งมาประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร กระทั่งในปี พ.ศ. 2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” การประกวดนางสาวสยามจึงเปลี่ยนมาเป็นการประกวดนางสาวไทยด้วย

ผู้ครองตำแหน่งนางสาวสยามคนสุดท้ายคือ พิศมัย โชติวุฒิ ส่วนนางสาวไทยคนแรกคือ เรียม เพศยนาวิน

ผมคาดคะเนว่า สมจิตต์ น่าจะเริ่มเข้าประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราวๆช่วงปี พ.ศ. 2483 หรือไม่ก็อาจจะปี พ.ศ. 2484 หลังจากนั้น เธอก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการละครเวทีในฐานะนางเอกที่สวยแบบเรียบร้อยมีน้ำใจอารี แต่มิได้สังกัดคณะละครใดเป็นพิเศษ จึงทำให้ สมจิตต์ เป็นนางเอกของหลายคณะละครชื่อดังแห่งยุค เช่น เทพศิลป์ ศิวารมณ์ อัศวินการละคร วจิตรเกษม  สุปรีดี  ศรีวัฒนา เสมาไทย ศรสรรค์  ชื่นชุมนุมศิลปิน เสน่ห์ศิลป์ ผกาวลี  นันท์ศิลป์ อมรมาน มิเว้นกระทั่งคณะลูกไทยและคณะเทพไทย ซึ่ง ล้อต๊อก เป็นดาวตลกประจำอยู่

สมจิตต์ ยังได้เป็นนางเอกละครเพลงของคณะจันทโรภาส ภายใต้การกำกับควบคุมของ จวงจันทน์ จันทร์คณา หรือ “พรานบูรพ์” ซึ่งมีชื่อเสียงมากสุดแห่งในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นางเอกละครสาวสวยทั้งยังครองตำแหน่งนางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย่อมเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มรูปงามทั้งหลาย สมจิตต์ มีชายหนุ่มหล่อเหลาพยายามเข้ามาเอาอกเอาใจ แต่เธอไม่เคยตกลงปลงใจกับชายหนุ่มคนใด กระทั่งคนทั้งวงการลงความเห็นอย่างพร้อมเพรียงว่า สมจิตต์ คงจะได้ครองคู่กับเจ้าของคณะละครหรือไม่ก็พระเอกละครเป็นแน่แท้



                                                                                                                          ล้อต๊อกและคู่ชีวิต
                                                                                                                  ที่มาภาพ : เจาะเวลาหาอดีต

 แต่ใครเล่าจะคาดคิดว่า ยอดดาราตลกอย่าง ล้อต๊อก จะเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่แอบหมายปอง สมจิตต์ เช่นกัน  และคงไม่ใครที่จะเชื่อเลยว่าเขาจะพิชิตหัวใจเธอได้สำเร็จ ทั้งยังถูกดูแคลนเสียอีก ทว่านั่นยิ่งทำให้ ล้อต๊อก เกิดแรงมานะและมุ่งมั่นในการจะโน้มน้าวให้นางเอกละครสาวและนางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเหลียวหันมาสนใจและเผลอหลงรักคนอย่างเขา 

ดังที่คืนวันหนึ่ง ล้อต๊อก วิ่งตามรถสามล้อที่เธอนั่งกลับบ้าน พอถึงจุดหมายปลายทาง เขาก็ไปยืนคอยหน้าบ้าน ทำทีสูบบุหรี่ข้างเสาไฟฟ้าด้านตรงข้ามหน้าต่างห้องนอนของเธอ ยืนอยู่อย่างนั้นตั้งแต่หัวค่ำจนกระทั่งเช้าตรู่ของอีกวัน

ใช่เพียงแค่คืนเดียว แต่ ล้อต๊อก กระทำพฤติกาณ์เช่นนี้ทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน

ในที่สุด สมจิตต์ ก็แพ้ใจยอดดาราตลก เธอตกลงปลงใจยอมคบหาดูใจกับเขาเป็นนานปี  กระทั่งทั้งสองคนพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ล้อต๊อก จึงได้ไปสู่ขอเธอจากผู้เป็นบิดามารดา

พ่อหยุนฟัดและแม่เพี้ยนเรียกสินสอดทองหมั้น เป็นเงินทั้งสิ้น 2,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เป็นเงินหลายแสน

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

 

ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้งนางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยอดดาราตลก เนื่องจาก ล้อต๊อก ไม่มีเงินค่าสินสอด ทำให้เขาต้องไปขอเงิน 2,000 บาท จาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี แล้วเขาและเธอก็ได้เข้าพิธีวิวาห์กัน 

การที่ยอดดาราตลกเยี่ยง ล้อต๊อก ซึ่งใครๆมองว่าไม่คู่ควรกับหญิงสาวระดับนางงามและนางเอกละครเยี่ยง สมจิตต์ สามารถสมหวังในความรักจนได้เข้าพิธีแต่งงานกับเธอ ก็เพราะน้ำใจอันกว้างขวางและความเอื้ออารีของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี นั่นเอง

ต่อมาภายหลังครองคู่กัน ล้อต๊อก ได้เปิดเผยความจริงว่า เหตุที่เขายืนหน้าบ้านของ สมจิตต์ ได้ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้าตรู่ แท้แล้วเพราะเขาจ้างคนอื่นมายืนแทนในตอนกลางคืนแล้วแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากัน เขาก็กลับไปนอน พอประมาณตีห้าก็กลับมายืนใหม่ ทำให้ตอนเช้าเมื่อนางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเปิดหน้าต่างออกมาดู ก็พบว่ายอดดาราตลกยังคงยืนคอยอยู่ตามเดิม

ชีวิตสามีภรรยาของ ล้อต๊อก และ สมจิตต์ ในช่วงแรกๆ ต้องเผชิญความยากลำบาก เพราะทั้งสองต้องมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน โดยมีรายได้จากการแสดง นางงามจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายทางบ้าน ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ทุกเดือน จนไม่มีเงินเก็บ บางครั้งเวลาทั้งสองนั่งสามล้อกลับบ้านมาด้วยกันหลังจากไปแสดงละคร ต้องบอกให้คนถีบสามล้อช่วยหยุดแวะข้างทาง เพื่อลงไปเก็บผักบุ้งในคูน้ำมาผัดกิน

นายหยุนฟัดและนางเมี้ยนเล็งเห็นว่า แม้ลูกสาวของตนและลูกเขยจะแสนเข็ญ แต่ก็ยังขยันขันแข็งช่วยกันทำมาหากิน จึงชักชวนให้กลับเข้าไปอยู่ในบ้านหลังเดิมของฝ่ายหญิงแถวตรงข้ามสนามม้านางเลิ้ง 

ยอดดาราตลกและนางเอกละครช่วยกันก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ ทั้งสองครองรักกันมายาวนานกว่า 36 ปี มีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน กระทั่ง สมจิตต์ อำลาโลกไปเมื่อปี พ.ศ. 2523 ส่วน ล้อต๊อก ยังคงมีลมหายใจมาจนอำลาโลกไปเมื่อปี พ.ศ. 2545

แทบไม่น่าเชื่อว่า นายปรีดี พนมยงค์  จะเคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับนางงามพระนครศรีอยุธยาอย่าง สมจิตต์ โตประภัสร์ และยอดดาราตลกอย่าง “ล้อต๊อก” หรือ สวง ทรัพย์สำรวย โดยเฉพาะการเป็นผู้อำนวยความช่วยเหลือให้ทั้งสองได้ครองรักกัน นั่นย่อมสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันหลากหลายกับบุคคลต่างๆในสังคมไทยของ นายปรีดี ที่น่าสนใจยิ่ง

 

หมายเหตุ:

  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง :

  • กุลเชษฐ์ เล็กประยูร.พัฒนาการการแสดงของล้อต๊อกศิลปินตลกไทย. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540).
  • เผยชีวิตลับและเซ็กส์ของเจ้าล้อต๊อก. (กรุงเทพฯ: เบญจมิตร, 2523).
  • ล้อต๊อก ตลกสยามสี่แผ่นดิน. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสวง ทรัพย์สำรวย จ.ภ. ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแสดง-ตลก). (กรุงเทพฯ: ม.ป.พ, 2545). 
  • อาลัย สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย. (กรุงเทพฯ: ประเสริฐการพิมพ์, 2523).