
ตราสัญลักษณ์สถานทูตประสหราชอาณาจักร (ซ้าย) และสหรัฐอเมริกา (ขวา)
เมื่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษแจ้งกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันในวันที่ 4 สิงหาคม ให้ทราบถึงความดำริที่จะให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกคำประกาศดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตได้รับคำสั่งให้ยืนยันด้วยว่า อังกฤษจะแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันทราบล่วงหน้าถึงข้อกำหนดในการเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทย
ข้อกำหนดนี้ ซึ่งฝ่ายอังกฤษได้พิจารณาจัดทำขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว และต้องมารีบรวบรัดให้เสร็จสิ่งลงเมื่อญี่ปุ่นเกิดยอมจำนนเร็วกว่าคาดหมาย แยกออกเป็นสองส่วน คือ ข้อกำหนดทางทหารฉบับที่ ๑ ที่จะให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรทำกับประเทศไทยในนามของสัมพันธมิตร และข้อกำหนดทั้งทางการทหารและทางการเมืองฉบับที่ ๒ ที่จะให้นายเดนิ่งเป็นผู้เจรจาในนามของรัฐบาลอังกฤษกับประเทศไทย มีข้อความปะปนทับกันอยู่บ้าง ความประสงค์ของอังกฤษอยู่ที่จะไม่ทำในรูปสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐผู้ชนะกับรัฐผู้แพ้ แต่ประสงค์จะให้เป็นความตกลงในหลักการสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อการนี้พึงหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการให้สัตยาบัน ถ้าทำสนธิสัญญาที่จะต้องมีการให้สัตยาบันตามระเบียบแบบแผนระหว่างประเทศแล้ว อังกฤษเกรงว่า ไทยอาจจะขอเปลี่ยนแปลงหรือหาทางให้สหรัฐอเมริกาช่วยปรับปรุงข้อสัญญาบางข้อ อันจะก่อให้เกิดความล่าช้าได้ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรให้ทำในรูปความตกลงระหว่างรัฐบาล มิใช่ระหว่างประมุขของประเทศ โดยในชั้นแรกจะจัดทำเป็นหัวข้อความตกลงประกอบด้วยภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารที่จะให้หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลทั้งสองลงนาม เพื่อให้ใช้บังคับได้ทันที มีผลเลิกสถานะสงครามระหว่างอังกฤษกับไทย แล้วจะต้องทำเป็นความตกลงสมบูรณ์แบบอีกชั้นหนึ่งในภายหลังตามแนวของหัวข้อความตกลงดังกล่าว เมื่อร่างเสร็จแล้ว อังกฤษได้ส่งไปหารือทุกประเทศในจักรภพที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษส่งหัวข้อความตกลงไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุดเมื่อ วันที่ ๑๘ สิงหาคม และส่งสำเนาให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันทราบโดยทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๒๐ สาหรับข้อกำหนดทางการเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกำชับทางสถานเอกอัครราชทูตไปว่า ไม่พึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายอเมริกันแสดงความคิดเห็นอย่างใด เพราะเป็นเรื่องของอังกฤษโดยเฉพาะ หากฝ่ายอเมริกันมีข้อสังเกต ก็ให้รับว่าจะส่งไปยังกรุงลอนดอนเท่านั้น และขอให้รัฐบาลอเมริกาเก็บหัวข้อความตกลงเป็นความลับไว้ก่อน มิให้แพร่งพรายแก่ฝ่ายไทยจนกว่าอังกฤษจะยื่นให้แก่ฝ่ายไทยเอง
วันที่ ๒๕ สิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศวางแนวการเจรจากับประเทศไทยให้นายเดนิ่งถือเป็นหลักปฏิบัติว่า หัวข้อความตกลงที่อังกฤษเสนอต่อฝ่ายไทยเป็นข้อเสนอตํ่าที่สุดที่อังกฤษถือเป็นเงื่อนไขในการเลิกสถานะสงครามและกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทย ฝ่ายไทยจะต้องไม่เรียกร้องสิ่งใดเป็นการตอบแทน
วันที่ ๒๕ ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน เสนอต่อกรุงลอนดอนว่า ในการที่กองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรจะส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มีความจำเป็นจะต้องปรึกษาหารือกับฝ่ายทหารไทยเสียก่อน จึงมีดำริจะขอให้ฝ่ายไทยส่งคณะผู้แทนทางทหารออกไปแคนดี และเพื่อการนี้ใครจะได้รับอำนาจทำการเจรจากับฝ่ายไทยได้ตามแนวของภาคผนวกทางการทหารที่แนบไปพร้อมกับหัวข้อความตกลง
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษพิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับข้อเสนอของลอร์ดหลุยส์ แต่เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษยังไม่รับรองรัฐบาลไทยเป็นทางการ จนกว่าสถานะสงครามจะสิ้นสุด คณะผู้แทนฝ่ายทหารไทยต้องไปในนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มิใช่ในนามของรัฐบาลไทย และต้องเป็นที่เข้าใจว่า การทำความตกลงทางทหารนั้นจะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย และความตกลงที่กองบัญชาการทหารสูงสุดสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นจำเป็นต้องทำกับประเทศไทยในภายหน้า
กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันไม่ขัดข้องในการที่จะให้เจรจาเรื่องการทหารทางกองบัญชาการทหารสูงสุดที่แคนดี แต่เห็นว่าควรจะจำกัดเฉพาะปัญหาของสหประชาชาติอันสืบเนื่องจากสงครามกับญี่ปุ่น ไม่ควรรวมข้อกำหนดทางทหารที่รัฐบาลอังกฤษหรืออเมริกาประสงค์จะทำกับรัฐบาลไทย กองบัญชาการทหารสูงสุดไม่ควรส่งทหารเข้าไปในประเทศไทยเกินความจำเป็นสำหรับการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น และควรจะถอนกลับโดยเร็วที่สุดเมื่อสิ้นภาระหน้าที่แล้ว
ส่วนข้อตกลงทางการเมืองนั้น ฝ่ายอเมริกันเห็นในเบื้องต้นว่า ไม่น่าจะให้เจรจาทางนายเดนิ่งผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นที่แคนดี เพราะอาจจะดึงเอาสัมพันธมิตรอื่นเข้าไปพัวพันด้วย อังกฤษน่าจะติดต่อกับทูตเสนีย์ ปราโมช เพื่อปรึกษาหารือในวิธีการเจรจาต่อไป
ในส่วนเนื้อหาของหัวข้อความตกลง ฝ่ายอเมริกันได้ใช้เวลาศึกษาพอสมควรจนถึงวันที่ ๑ กันยายน จึงได้เสนอข้อสังเกตในบันทึกช่วยจำส่งให้ฝ่ายอังกฤษทราบหลายประการ ในหลักการสำคัญฝ่ายอเมริกันมีความรู้สึกว่า ข้อกำหนดของอังกฤษมีลักษณะกระทบกระเทือนถึงเอกราชและอธิปไตยของไทย มีทางทำให้เข้าใจไปได้ว่า อังกฤษต้องการจะเข้าควบคุมประเทศไทยทั้งในทางทหารและทางเศรษฐกิจภายหลังการสิ้นสุดสถานะสงครามแล้วต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลา และที่ฝ่ายอเมริกันขัดข้องโดยเฉพาะอีกข้อหนึ่งก็คือ การที่อังกฤษจะเรียกร้องเอาข้าวเปล่าจากประเทศไทยถึง ๑.๕ ล้านตัน
ฝ่ายอังกฤษตอบชี้แจงเมื่อวันที่ ๕ ว่า การเลิกสถานะสงครามย่อมต้องมีบ้างที่กระทบถึงเอกราชและอธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นว่าจะเป็นการอยุติธรรมอย่างใด เมื่อประเทศไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วน ก็จะกลับเข้าสู่สังคมประชาชาติที่มีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์อย่างเสมอภาค อังกฤษไม่มีเจตนาที่จะใช้ข้อกำหนดเป็นการแก้แค้นไทยที่ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น แต่ไทยก็ไม่ควรจะได้ผลกำไรจากการเข้าร่วมนั้น อย่างไรก็ตาม อังกฤษยินยอมแก้ไขถ้อยคำบางตอนที่อาจจะทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความเข้าใจผิดได้
วันที่ ๖ กันยายน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษที่กรุงวอชิงตันรายงานกระทรวงการต่างประเทศว่า ฝ่ายทหารอเมริกาจะไม่อนุมัติข้อเสนอความตกลงทางการทหารกับประเทศไทย โดยไม่มีการแก้ไขที่สำคัญในคืนวันเดียวกันนั้น เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา นายวายนันท์ เอกอัครราชทูตอเมริกา ณ กรุงลอนดอน ยกเรื่องขึ้นพูดกับนายกรัฐมนตรีแอ็ตลีโดยตรง ยืนยันว่ารัฐบาลอเมริกาไม่ขัดข้องต่อการที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะทำความตกลงตามข้อกำหนดฉบับที่ ๑ กับคณะผู้แทนฝ่ายทหารของไทย แต่ยังติดใจไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดฉบับที่ ๒ ฝ่ายอเมริกันเน้นว่า อังกฤษไม่ควรจะทำสิ่งใดที่กระทบกระเทือนต่อท่าทีของสหรัฐฯ ส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งฝ่ายอังกฤษโต้ว่า สหรัฐฯ ก็ไม่ควรทำสิ่งใดที่กระทบกระเทือนต่อท่าทีของอังกฤษเกี่ยวกับไทย อย่างไรก็ตามฝ่ายอังกฤษจำต้องปรับปรุงถ้อยคำในข้อเสนอที่อังกฤษดำริจะทำกับประเทศไทยใหม่ โดยคำนึงถึงข้อทักท้วงของฝ่ายอเมริกันให้มากที่สุดเท่าที่จะยอมได้
ระหว่างที่ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาตอบโต้กันอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับผลปฏิบัติที่จะให้แก่ประเทศไทยนั้น ทางประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาล คณะรัฐมนตรีของคุณควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาเดียวกันกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสดุดีพันตรี ควง อภัยวงศ์ ท่ามกลางที่ประชุมสภาฯ ว่า “การงานที่สำเร็จไปทั้งหลายที่ได้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ มาดำเนินงานบริหาร ก็ด้วยความพร้อมเพรียงของสมาชิกทั้งหลายที่เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังคน และกำลังพวกพ้องในสภาฯ พอจะนำประเทศชาติของเราไปตลอดรอดฝั่ง และนอกจากนั้น ท่านยังมีวงศ์ตระกูลของท่าน ซึ่งเคยรับใช้ประเทศไทยเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ท่านเองเมื่อปีหนึ่งที่แล้วมา ท่านไม่สมัครจริง ๆ ที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งมีภาระหนักอย่างยิ่ง ซึ่งในอนาคตนั้น ไม่ทราบว่าในนาทีใดจะเป็นอย่างไร ที่ท่านเข้ามาทำนั้น ท่านทำโดยไม่ได้หวังลาภยศอะไร ท่านทำกิจการด้วยหวังทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นคนไทย...”
รุ่งขึ้นอีกสองวัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เชิญประธานสภาผู้แทนราษฎรไปพบที่ทำเนียบท่าช้างวังหน้า ชี้แจงให้ทราบว่า ภาระหน้าที่อันหนักหน่วงต่อไปนี้อยู่ที่การจะต้องเจรจาดำเนินการกับฝ่ายพันธมิตร ท่านเห็นว่าผู้ที่ควรโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปควรจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าคณะเสรีไทยนอกประเทศ ผู้สำเร็จราชการได้สั่งเชิญไปแล้ว หากแต่เจ้าตัวยังกำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย ระหว่างที่ยังไม่ถึง เนื่องจากมีภาระหน้าที่จะต้องติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเป็นการด่วน จึงเห็นสมควรให้นายทวี บุณยเกตุดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน
สภาผู้แทนราษฎรประชุมเป็นการภายใน มีความเห็นชอบด้วยกับความดำริของผู้สำ เร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๘ และมีประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ในวันที่ ๑ กันยายน ต่อมา ประกอบด้วยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อต้านเป็นส่วนใหญ
นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ได้มีหนังสือลงวันเดียวกันถึงเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น นายยามาโมโต มีข้อความสำคัญว่า กติกาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก รัฐบาลไทยจึงเห็นว่า กติกาสัญญาดังกล่าวนั้นควรสิ้นสุดลง อย่างเดียวกันกับสนธิสัญญาและความตกลงอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยผลแห่งการนี้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นเป็นอันปิดทำการชั่วคราว และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน รัฐบาลใหม่ออกประกาศยกเลิก
๑. กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ฉบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔
๒. ความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ฉบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๕
๓. สนธิสัญญาระหว่างสองประเทศว่าด้วยอาณาเขตในมาลัยและภูมิภาคฉาน ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๘๖ และ
๔. ประกาศรวมกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส เชียงตุง และเมืองพานเข้าในราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๖
และเมื่อวันที่ ๒๖ ต่อมา ยังมีประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกสนธิสัญญาว่าด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพอาณาเขตแห่งกันและกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ฉบับลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ และพิธีสารว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจทางการเมืองฉบับลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ตามด้วย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตกลงส่งคณะผู้แทนทางทหารไปเมืองแคนดีตามความต้องการของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสหประชาชาติ ประกอบด้วยพลโท ศักดิ์ เสนาณรงค์ เป็นหัวหน้าคณะ คุณทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คณะผู้แทนทางทหารนี้ออกเดินทางถึงแคนดีบ่ายวันที่ ๒ กันยายน ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๓ มีการประชุมกับฝ่ายอังกฤษ ซึ่งมีรองเสนาธิการของกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน นายเดนิ่งเป็นผู้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการพบปะเจรจาว่า เนื่องจากยังมีสถานะสงครามระหว่างอังกฤษกับไทยอยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรจะต้องส่งกำลังทหารเข้าประเทศไทยเพื่อทำการปลดอาวุธกำลังทหารญี่ปุ่น และจัดการกับกำลังทหารญี่ปุ่น ทั้งยังจะต้องดำเนินการจัดส่งเชลยศึกและผู้ถูกกักคุมฝ่ายสัมพันธมิตรกลับ จึงจำต้องมีการปรึกษาหารือกับทางการทหารไทยเพื่อเตรียมการให้ทุกอย่างเป็นไปโดยเรียบร้อย ในชั้นนั้น นายเดนิ่งยังไม่ได้เสนอตัวบทข้อตกลงอย่างใดให้แก่ฝ่ายไทย และได้ตกลงให้มีการประชุมชั้นเจ้าหน้าที่ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายอังกฤษในตอนบ่าย

Sir (Maberly) Esler Dening
ที่มา : National Portrait Gallery, London
นายเดนิ่งได้รับมอบหมายให้ยกร่างข้อเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาและลงนามในบ่ายวันที่ ๔ ภายหลังอาหารกลางวันที่ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน จะจัดให้แก่คณะผู้แทนทหารไทย เช้าวันนั้น นายเดนิ่งมอบร่างที่ยกขึ้นให้แก่คุณทวี พร้อมด้วยขออภัยที่ให้เวลาพิจารณาแก่ฝ่ายไทยน้อย ถ้าฝ่ายไทยจำต้องมีเวลาพิจารณามากกว่านั้น ก็จะเสนอผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ยืดเวลาการลงนามออกไป คณะผู้แทนทหารไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอของนายเดนิ่งเกินกรอบอำนาจที่คณะผู้แทนได้รับมอบมาจากรุงเทพฯ จึงไม่มีอำนาจที่จะลงนามได้ตามที่นายเดนิ่งต้องการ
ภายหลังอาหารกลางวัน พลโท ศักดิ์ เสนาณรงค์ ยื่นหนังสือมอบอำนาจให้แก่ฝ่ายอังกฤษ ซึ่งนายเดนิ่งเห็นว่า อาจจะแปลให้มีอำนาจอย่างกว้างขวางหรืออย่างแคบก็ได้ ลอร์ดหลุยส์จึงสั่งให้นายเดนิ่งปรึกษาหารือกับคณะผู้แทนทหารไทย ยกร่างข้อตกลงขึ้นเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งตามที่พลโท ศักดิ์เห็นว่าพอจะลงนามได้ นอกเหนือจากนั้นให้ยกเป็นร่างอีกฉบับหนึ่งซึ่งคุณทวีจะเป็นผู้นำกลับมาให้รัฐบาลไทยพิจารณาก่อน หากเห็นสมควรที่จะรับได้ ขอให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สั่งการมาทางพลโท ศักดิ
ตอนเข้าด้ายเข้าเข็มนั้นเอง มีคำสั่งจากกรุงลอนดอนให้เลื่อนการลงนามกับฝ่ายไทยไว้ก่อน จนกว่าอังกฤษจะสามารถตกลงกับฝ่ายอเมริกันได้ คำสั่งใหม่เพิ่งมาถึง คุณทวีเดินทางกลับประเทศไทยเสียแล้ว จะเอาร่างคืนไม่ได้ นายเดนิ่งเสนอขอให้ลอร์ดหลุยส์โทรเลขสั่งพลจัตวา เจ๊กส์ที่กรุงเทพฯ ขอให้รัฐบาลไทยรอการพิจารณาข้อเสนอไปก่อนจนกว่าจะได้รับการติดต่อใหม

Louis Mountbatten, 1st Earl Mountbatten
ที่มา : britannica
วันที่ ๗ กันยายน ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน รายงานกรุงลอนดอนว่า คณะผู้แทนฝ่ายทหารไทยพร้อมจะลงนามในความตกลงทางทหารทั้งสองฉบับ แต่ฝ่ายทหารอเมริกาขอให้ยับยั้งไว้ นายเดนิ่งโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระบายความรู้สึกว่า เป็นครั้งแรกในประสบการณ์ของนายเดนิ่งที่ประเทศที่อังกฤษกำลังเจรจาด้วย ยินยอมจะลงนามในความตกลง แต่ประเทศที่สามประท้วงไม่ยอมให้มีการลงนาม ความจริงฝ่ายไทยเอนเอียงเข้าหาอังกฤษยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา เป็นธรรมดาที่ไทยจะต้องพยายามให้ต้องผูกพันน้อยที่สุด อเมริกาเป็นฝ่ายที่พยายามจะดึงการลงนามให้ล่าช้าไว้โดยอาศัยรายงานที่ได้รับจาก โอ.เอส.เอส.
เป็นอันว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสหประชาชาติได้รับอำนาจให้ทำข้อตกลงทางทหารฉบับ ๑ กับคณะผู้แทนฝ่ายไทยได้เท่านั้น การลงนามจัดมีขึ้นเมื่อวันที่ ๘ เวลา ๒๓.๐๕ นาฬิกา มีข้อความเพียงว่า รัฐบาลไทยยอมรับจะ
(๑) รีบดำเนินการช่วยและอนุเคราะห์บรรดาเชลยศึกและผู้ถูกกักกันฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหลาย โดยรับภาระค่าใช้จ่ายในการนี้ทั้งหมด
(๒) ร่วมมือกับฝ่ายทหารสัมพันธมิตรในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ส่งตัวให้สัมพันธมิตร จัดกักกันคนชาติญี่ปุ่นและเยอรมันรอคำสั่งจากกองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร และจัดการยึดและส่งมอบให้แก่ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรซึ่งบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์ และวัสดุอื่นที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น รวมทั้งเรือรบและเรือพาณิชย์ทุกชนิด เครื่องบิน รถยนต์ และยานพาหนะอื่น คลังทหาร นํ้ามัน และเชื้อเพลิงอื่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องวิทยุ และทรัพย์สินอย่างอื่นของกำลังทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย
(๓) จัดกำลังทหารไทยทั้งทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศไว้ให้ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรใช้ตามที่จะขอร้องเพื่อปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้น พร้อมทั้งให้ใช้ ท่าเรือ สนามบิน อาหาร เครื่องสัมภาระ เครื่องคมนาคม อาวุธ คลังทหาร ที่ดิน อาคาร และโรงเก็บตามแต่ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรจะต้องการเป็นคราว ๆ และปฏิบัติการอย่างอื่นที่กองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรจะเห็นจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทหารสัมพันธมิตร
(๔) ข้อตกลงนี้ไม่กระทบถึงท่าทีของรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย และจะไม่ขัดต่อความตกลงที่รัฐบาลนั้น ๆ ดำริจะกระทำกับประเทศไทย
ส่วนข้อความตกลงทางทหารฉบับที่ ๒ เป็นอันรอไว้ก่อน จนกว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะเจรจาตกลงกันได้
เพื่ออนุวัติตามข้อตกลงทางทหารกับสหประชาชาติ รัฐบาลไทยประกาศยกเลิกกติกาพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ยับยั้งความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และออกกฎหมายกักกันศัตรูของสหประชาชาติ สั่งปิดสถานทูตแมนจูกัว ควบคุมตัวนักการทูตญี่ปุ่น เยอรมัน และอิตาเลียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๗ ในขณะเดียวกัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอให้ฝ่ายอังกฤษช่วยดำเนินการเร่งด่วนป้องกันมิให้ญี่ปุ่นยึดทรัพย์สินและทองของธนาคารชาติไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การทำข้อตกลงทางทหารกับฝ่ายสหประชาชาติ”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 295-302.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การทำข้อตกลงทางทหารกับฝ่ายสหประชาชาติ”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 295-302.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 10 : เสรีไทยเข้าประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 11 : ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 12 : ความคลี่คลายของเหตุการณ์ภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 13 : ความพยายามติดต่อทางการเมืองกับอังกฤษ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 14 : นายสุนี เทพรักษา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 15 : การกระชับงานต่อต้าน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 16 : อวสานของสงครามภาคแปซิฟิก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 17 : ไทยประกาศสันติภาพ