ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 20 : การเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร

11
กรกฎาคม
2568

นายปรีดี พนมยงค์ รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, สมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระราชชนนี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488
ที่มา : หนังสือตำนานเสรีไทย

 

ปลายเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ ท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เสนอความเห็นต่อผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ว่า สมควรแก่เวลาแล้วที่น่าจะได้มีการพิจารณาถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการปลดปล่อยประเทศไทย หากจะโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดําเนินไปติดต่อส่วนพระองค์กับผู้นําฝ่ายสัมพันธมิตรจะช่วยในการส่งเสริมสันถวไมตรีได้ การเสด็จประพาสอังกฤษและฝรั่งเศสจะแก้ความชิงชังที่มีอยู่ต่อประเทศไทย และการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาจะได้ผลมีคุณค่ามากแน่นอน แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะดําเนินการดังกล่าวได้ อย่างน้อยน่าจะเริ่มปรึกษาหารือกัน เพราะเรื่องนี้จําต้องใช้เวลาเตรียมการมาก หากผู้สําเร็จราชการเห็นชอบด้วย ท่านทูตจะขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนําความกราบบังคมทูลพระกรุณา และปรึกษากับรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

เมื่อได้ทราบข่าวนี้จากสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน ในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเกิดความแตกตื่นพอสมควร เพราะไม่เข้าใจว่าเหตุใดฝ่ายอเมริกันจึงปล่อยให้ท่านทูตเสนีย์ส่งข้อเสนอเช่นนั้นไปยังผู้สําเร็จราชการ เข้าใจว่าคงจะเป็นการกระทําของ โอ.เอส.เอส. มากกว่ากระทรวงการต่างประเทศเอง อธิบดีกรมตะวันออกไกลสอบถามเซอร์จอร์ช แซนซัม ผู้กลับมากรุงลอนดอนชั่วคราว ได้รับทราบว่า คุณมณี สาณะเสน ได้นําสําเนาสาส์นของท่านทูตเสนีย์มามอบให้แก่เซอร์จอร์ช ก่อนออกเดินทางจากกรุงวอชิงตัน เซอร์จอร์ชไม่มีเวลาสอบดูกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน คุณมณีอ้างว่า ที่นํามาให้ก็เพื่อฝ่ายอังกฤษจะได้ทราบว่าทางสถานทูตไทยมีดําริอย่างใดบ้าง ในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว คุณมณียังสงสัยว่าจะได้ผล เพราะจะเสด็จพระราชดําเนินนิวัตประเทศไทยหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ และผู้อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ดูจะนิยมเผด็จการอยู่

นายอเล็กซ์ อาดัมส์ ทําความเห็นเสนอกรมตะวันออกไกลว่า พระมหากษัตริย์ไทยมิได้เสด็จนิวัตประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ถ้าจะเสด็จนิวัตอีก ก็คงจะเพื่อพระราชพิธีราชาภิเษก ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่ซับซ้อนนี้ น่าจะปล่อยให้ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติการไปก่อนจนกว่าญี่ปุ่นจะถูกขับไล่ออกจากประเทศไทย และความสัมพันธ์กับมิตรประเทศเช่นอังกฤษกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ภายหลังที่ได้ดํารงตําแหน่งเป็นผู้สําเร็จราชการมาหลายปี ท่านปรีดีอาจจะไม่อยากกลับเข้าสู่วงการเมืองอีก แต่หวังว่าคงจะกลับเข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและว่าการกระทรวงการคลังหรือการต่างประเทศควบไปด้วย การที่จะดึงเอาองค์พระมหากษัตริย์เข้ามาในระยะเวลาที่ไทยกําลังต้องดําเนินการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น ดูจะไม่เป็นประโยชน์อย่างใด สําหรับอังกฤษอาจจะทําให้ต้องกระอักกระอ่วนใจ เพราะอังกฤษยังไม่รับรองรัฐบาลไทย อธิบดีเห็นชอบด้วยว่า อังกฤษยังไม่ควรมีการติดต่อเป็นทางการอย่างใดกับองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตราบเท่าที่ยังไม่มีการรับรองฐานะรัฐบาลไทยที่ได้รับการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็ต้องคํานึงถึงสถานการณ์ทั่วไปที่จะคลี่คลายอีก ในชั้นนี้ ควรสดับตรับฟังพระราชกรณียกิจในสวิตเซอร์แลนด์เสียให้แน่ชัดก่อน

ฝ่ายผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ถึงกับงุนงงมากเหมือนกัน เมื่อได้รับข้อเสนอของท่านทูตเสนีย์ เพราะนอกจากจะเท่ากับบังคับให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต้องปฏิเสธไม่ยอมรับเสด็จแล้ว ยังจะเป็นการเสี่ยงภัยอย่างใหญ่หลวงโดยใช่เหตุในการที่จะกราบบังคมทูลอัญเชิญให้เสด็จประพาสต่างประเทศในยามที่การศึกยังดําเนินอยู่ ทางญี่ปุ่นจะไม่พอใจเป็นธรรมดา ถึงกับอาจจะหาทางให้มีการเปลี่ยนองค์ประมุขโดยอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นที่นิยมญี่ปุ่นหรือที่ญี่ปุ่นไว้วางใจขึ้นครองราชย์แทน ถ้าหากรัฐบาลปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจจะเข้ายึดประเทศไทยโดยสิ้นเชิงเข้าขั้นแตกหักซึ่งขบวนการต่อต้านจะต้องลุกขึ้นสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยในยามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยังไม่พร้อมจะปฏิบัติการภายในประเทศ ความจริงในตอนนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบเลยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะเสด็จพระราชดําเนินนิวัตประเทศไทยหรือไม่ เมื่อใด เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อนี้ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ตอบว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนเตรียมการสมโภชการบรรลุนิติภาวะของพระองค์ท่าน เนื่องจากยังประทับอยู่ในต่างประเทศ และไม่ทราบว่าจะมีพระราชประสงค์เป็นประการใด

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ปรารภกับนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ มีความเห็นชอบพ้องกันว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลา ๑๔ ปี แล้ว ถึงเวลาที่จะยกเลิกบทเฉพาะกาลอันกําหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง และประเภทที่รัฐบาลแต่งตั้ง น่าจะเลิกสมาชิกประเภทสอง ให้เหลือเฉพาะสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งแต่ประเภทเดียว จึงได้ยกเรื่องขึ้นปรึกษาหารือกับสมาชิกประเภทสองพร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นอันตกลงให้รัฐบาลเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญมอบให้ศึกษาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและยังการปกครองให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญในหลักการที่สําคัญเช่นนั้น ก็น่าจะหาทางกราบทูลพระกรุณาให้เสด็จพระราชดําเนินนิวัตประเทศไทยในโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งควรเป็นเวลาภายหลังสงคราม เพื่อจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขใหม่ด้วย

วันที่ ๑๑ สิงหาคม เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียง บีบีซี, เสนอความเห็นว่า เนื่องจากใกล้เวลาที่พระมหากษัตริย์ไทยจะทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นครองราชสมบัติด้วยพระองค์เองแล้ว ทาง บีบีซี. น่าจะเริ่มออกข่าวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์บ้าง จึงอยากจะติดต่อขอข่าวจากสถานทูตอังกฤษที่กรุงเบอร์น ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษสั่งให้รอการดําเนินการไว้ก่อนจนกว่าความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะกลับคืนสู่สภาพปกติ

เมื่อท่านทูตเสนีย์ได้รับคําสั่งจากผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ให้กลับประเทศไทยเพื่อรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านจะขอให้คุณมณี สาณะเสน เดินทางผ่านกรุงลอนดอนด้วย พอกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทราบจากสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตันว่า คุณมณีมีแผนจะไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โลซานน์ก่อน อังกฤษก็เบี่ยงบ่ายไม่อยากให้คุณมณีผ่านลอนดอน เพราะไม่ทราบแน่ว่า การไปเฝ้าของคุณมณีนั้นจะมีวัตถุประสงค์อย่างใด หากจะไปกราบบังคมทูลอัญเชิญให้เสด็จพระราชดําเนินมากรุงลอนดอนตามความดําริเดิมของท่านทูตเสนีย์แล้ว อังกฤษยังไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นในตอนนั้น

ภายหลังที่สงครามสิ้นสุดลง เมื่อถึงวันทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ ๒๐ กันยายน นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ส่งโทรเลขกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล พร้อมทั้งถวายความหวังว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยเพื่อนําประเทศชาติตามอุดมการณ์ของสหประชาชาติ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโทรเลขตอบว่า ยังมีพระราชประสงค์จะศึกษาต่อให้สําเร็จในมหาวิทยาลัยก่อน สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติให้ท่านปรีดีคงทําหน้าที่ผู้สําเร็จราชการต่อจนกว่าจะเสด็จพระราชดําเนินกลับ

กลางเดือนตุลาคม รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช พิจารณาแล้วเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ มีการขยายกําหนดเวลาอยู่ในตําแหน่งออกไปถึง ๒ ครั้ง ๒ หน เป็นเวลานานเกินสมควร ทําให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่างจากความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร เป็นการสมควรที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเสีย จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ แต่ถึงแม้ว่ามีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองยังคงอยู่ต่อไป จํานวนเท่ากับผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเลือกตั้งขึ้นมา ความดําริที่จะยกเลิกผู้แทนประเภทแต่งตั้งจะต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจําต้องได้เสียงข้างมากถึง ๓ ใน ๔ ของจํานวนสมาชิกในสภาทั้งหมด ซึ่งไม่อาจจะกระทําได้สําเร็จ ฉะนั้นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์จึงคิดจะจัดให้มีการลงประชามติว่า จะยกเลิกสมาชิกประเภทสองหรือไม่ เพื่อการนี้ จําเป็นต้องกราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินนิวัตพระนคร และสอบถามฝ่ายอังกฤษเป็นการภายในก่อนว่า อังกฤษจะสามารถถวายความสะดวกในการเสด็จพระราชดําเนินนิวัตพระนครหรือไม่ ซึ่งฝ่ายอังกฤษตอบยินดีรับจะช่วย แต่จะไม่จัดเป็นทางการ เพราะอังกฤษยังไม่รับรองฐานะของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคําอัญเชิญเสด็จพระราชดําเนินนิวัตประเทศไทยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน หากทรงประชวรเป็นไข้หวัดใหญ่เสีย ต้องเลื่อนการเสด็จพระราชดําเนินต่อไปจนปลายเดือน ฝ่ายอังกฤษจัดเครื่องบินรับรองของกองทัพอากาศถวายเป็นพระราชพาหนะ กระทรวงการคลังอังกฤษอนุมัติเงินค่าใช้จ่ายอันจําเป็นให้ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศสั่งสถานทูตที่กรุงเบอร์นให้ขออนุญาตนําเครื่องบินลงในสวิตเซอร์แลนด์เป็นกรณีพิเศษ กําหนดเสด็จพระราชดําเนินออกจากนครเจนีวาในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช คุณพระพหิธานุกร ทูตไทยประจําสวิสและภริยา และผู้ติดตามอื่นอีกหลายท่าน กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษตกลงส่งนายอเล็กซ์ อาดัมส์ เจ้าหน้าที่โต๊ะไทยในกรมการตะวันออกไกล ผู้เคยประจําอยู่ทางสถานทูตที่กรุงเทพฯ และรู้ภาษาไทยดี เป็นผู้ติดตามเสด็จเพื่อถวายความสะดวกตลอดทาง โดยมีคําสั่งให้ถอนตัวออกจากขบวนเสด็จก่อนถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะให้มีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเข้าร่วมในพระราชพิธีรับเสด็จในประเทศไทย เครื่องบินพระที่นั่งทําการบินแต่ในเวลากลางวัน ต้องลงพักแรมระหว่างทางในเมืองขึ้นลงของกองทัพอากาศอังกฤษ ที่เมืองคาสเตล เบนโต ไคโร บัสสะรา และกัลกาต้า ที่กรุงไคโร เสด็จประทับแรม ณ ทําเนียบข้าหลวงใหญ่ ลอร์ดคีลเลอร์น ที่เมืองกัลกาต้า ณ ทําเนียบผู้ว่าการแคว้นเบงกอล นายริชาร์ด เคซีย์ ขบวนเสด็จพระราชดําเนินจากเมืองกัลกาต้าเวลา ๒.๔๕ นาฬิกา ของวันที่ ๕ ธันวาคม ถึงกรุงย่างกุ้ง ตอนย่ํารุ่ง เสวยพระกระยาหารเช้าร่วมกับนายทหารอังกฤษแล้วนายอาดัมส์ กราบบังคมทูลลา ส่งเสด็จที่ท่าอากาศยาน เวลา ๘.๐๐ นาฬิกา เสด็จพระราชดําเนินตรงมายังดอนเมืองท่ามกลางความปรีดาปราโมทย์อย่างสุดซึ้งของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งใฝ่ฝันเฝ้ารอรุ่งอรุณแห่งวันใหม่ด้วยจิตใจอันแจ่มใสเบิกบาน เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีและความชื่นชมในพระบุญญาบารมีอย่างสุดซึ้ง

 


นายปรีดี พนมยงค์ รอรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม
พ.ศ. 2488 ที่มา : หนังสือตำนานเสรีไทย

 

พระราชพิธีรับเสด็จฯ ที่สนามบินเต็มไปด้วยความอบอุ่นระทึกใจยิ่งนัก ผู้สําเร็จราชการนํานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไทย พร้อมทั้งพลโท เอเวิ้นส์ ผู้บัญชาการทหารบริติชในประเทศไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จพระราชดําเนินไปสู่สโมสรทหารอากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเชิญเครื่องยศจอมพลอากาศขึ้นทูนเกล้าถวายฯ พร้อมด้วยถวายสัตย์ปฏิญาณความจงรักภักดี ทรงพระราชดํารัสตอบรับเครื่องยศ แล้วเสด็จพระราชดําเนินออกจากสนามบินดอนเมืองขึ้นประทับบนรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษ ถึงสถานีหลวงจิตรลดา เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ ที่นั้น ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือน ผู้แทนชาวต่างประเทศ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างคับคั่ง

นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินลงจากรถไฟพระที่นั่ง กองเกียรติยศทหารบกกระทําวันทยาวุธ แตรวงทหารเรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ในขณะที่เสด็จพระราชดําเนินลงจากรถไฟพระที่นั่งภายในฉลองพระองค์เครื่องยศจอมพลทหารอากาศ

เมื่อเสด็จประทับในสถานีหลวงแล้ว ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์กราบบังคมทูลถวายพระราชอํานาจคืน มีข้อความดังนี้

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม บัดนี้ เป็นศุภวาระดิถีมงคลที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จพระราชดําเนินนิวัตสู่พระมหานครโดยสวัสดิภาพ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยอาศัยประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๘๘ ว่า ความเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ของข้าพระพุทธเจ้าได้สุดสิ้นลงตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรชัยให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติวัฒนาสถาพร เป็นมิ่งขวัญของประชาชนและประเทศชาติในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญชั่วกาลนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ทรงมีพระราชดํารัสตอบว่า

ท่านปรีดี พนมยงค์ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนครเพื่อบําเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้ามาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงไมตรีในคุณงามความดีของท่านที่ได้ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศ และช่วยบํารุงรักษาความเป็นเอกราชของเรานี้ไว้ ข้าพเจ้าขออํานวยพรให้ท่านมีความสุข ความเจริญชั่วกาลนาน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร กราบบังคมทูลถวายพระพรในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ ดังนี้

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ในศุภวาระดิถีที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จพระราชดําเนินนิวัตสู่พระมหานครโดยสวัสดิภาพ ครั้งนี้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งมวล ต่างเต็มตื่นโสมนัสยินดีด้วยน้ําใจอันภักดีโดยทั่วหน้า พร้อมกันขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสําราญสุขสวัสดิ์ ทรงพระเจริญในสิริราชสมบัติวัฒนา เพื่อเป็นประมุขแห่งปวงประชาชนชาวไทยทั่วกาลนาน ขอให้สัมฤทธิ์ดังอธิษฐานถวายพระพรนี้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ทรงมีพระราชดํารัสตอบว่า

พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย หม่อมฉันมีความยินดีเป็นอันมากที่ได้กลับมาเยี่ยมประเทศชาติอันเป็นที่รักอีกครั้งหนึ่ง และรู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายเสด็จมาต้อนรับในวันนี้ ขอได้ทรงรับความขอบพระทัยจากน้ําใจอันแท้จริงของหม่อมฉัน ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายทรงพระเจริญสุขสวัสดิ์โดยทั่วกัน

เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลในนามของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนในนามของประชาชนชาวไทยว่า

ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ในการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จพระราชดําเนินนิวัตสู่ราชอาณาจักรโดยสวัสดิภาพ ณ บัดนี้ นับเป็นศุภมงคลสมัยอันประเสริฐ และเป็นการบรรลุถึงยอดปรารถนาของปวงชนชาวไทยที่จะได้ชมพระบารมีใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทผู้ทรงเป็นประมุขของชาติในยามยาก คณะรัฐมนตรีตลอดจนข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือนและบรรดาประชาชน มีความปลาบปลื้มปิติและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ

พร้อมด้วยความชื่นชมยินดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสแสดงความจงรักภักดีในนามของคณะรัฐมนตรี และข้าราชการ ตลอดจนประชาชนโดยทั่วกัน ขออํานาจคุณพระศรีรัตนตรัย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลพิภพจงอภิบาลรักษาให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเจริญ มีพระชนมายุยืนนาน และพระพลานามัยอันสมบูรณ์ เพื่อเป็นที่ร่มเย็นแก่ปวงชนชาวไทย และเป็นมิ่งขวัญของชาติในระบอบรัฐธรรมนูญชั่วกาลนาน ด้วยเกล้ากระหม่อมขอเดชะ

ทรงมีพระราชดํารัสตอบว่า

ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านทั้งหลายได้แสดงไมตรีจิตมาต้อนรับข้าพเจ้าในโอกาสที่ข้าพเจ้าได้กลับมาเยี่ยมประเทศชาติอันเป็นที่รัก ในวันนี้ ขอได้รับความขอบใจจากข้าพเจ้า และขอให้บรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง จงมีความสุขความเจริญในความร่มเย็นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยทั่วกัน

เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว ท่านปรีดีนํานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นรายบุคคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยขบวนตามเสด็จออกจากสถานีหลวง ผ่านกองเกียรติยศทหารบก นักเรียนนายร้อยทหารบก และนิสิตนักศึกษา เข้าถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดําเนินตรงไปยังพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของอาณาประชาราษฎร์ที่คอยเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นสองฟากถนน

ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในประกาศพระบรมราชโองการฉบับแรกนับแต่เสด็จนิวัตพระนคร ยกย่องท่านปรีดี พนมยงค์ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ต่อไปนี้

 


สำเนาประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องท่านปรีดีฯ ขึ้นไว้ในฐานะ
“รัฐบุรุษอาวุโส” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดําริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตําแหน่งสําคัญ ๆ มาแล้วหลายตําแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บําเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

วันที่ ๑๐ ธันวาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยสายสร้อยทองคํา แก่ท่านปรีดี พนมยงค์

ค่ําวันนั้น ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุกระจายเสียงแก่บรรดาประชาชนชาวไทย มีข้อความว่า

ข้าพเจ้ามีความปีติยินดีเป็นอันมากที่ได้ปราศรัยกับท่านในวันนี้ อันเป็นวันมงคลตรงกับวันฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในวันที่มาถึงพระนคร ได้เห็นประชาราษฎร์มารับกันตลอดทางอย่างมากมาย ข้าพเจ้ารู้สึกตื้นตันใจและขอขอบใจในไมตรีจิตของท่าน ในเวลาที่ข้าพเจ้าเล่าเรียนอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้าพเจ้ามีความคิดถึงท่านอยู่เสมอ จึงได้พยายามเล่าเรียนให้ดีที่สุดที่จะทําได้ เพื่อมาร่วมมือกับท่านทุกคนในการส่งเสริมความเจริญของบ้านเมืองเรา

ท่านทั้งหลายคงเห็นอยู่ว่า แม้สงครามจะสิ้นสุดลงไปแล้ว ความทุกข์ยากก็ยังมีอยู่ทั่วไปในโลก ซึ่งรวมถึงบ้านเมืองไทยที่รักของเราด้วย แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าคนไทยทุกคนถือว่าตนเป็นเจ้าของชาติบ้านเมือง และต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามทํานองคลองธรรมแล้ว ความทุกข์ยากของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นไปได้ ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้ท่านทุกคนได้ช่วยกันทําหน้าที่ของตนด้วยความขันแข็ง และขอให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกันจริง ๆ เพื่อชาติจะได้ดํารงอยู่ในความวัฒนาถาวรสืบไป

ในที่สุดข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย กับทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงอภิบาลรักษาให้ประชาชนชาวไทยจงมีความสุขความเจริญในความร่มเย็นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยทั่วกัน

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 319-328.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 319-328.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :