ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“โครงการจำกัดเสียงข้างมาก” และภาวะถดถอยทางภูมิปัญญา

16
ตุลาคม
2566

Focus

  • การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมของกองทัพ (2490-2500) ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (2500-2516) ระบอบประชาธิปไตยที่สลับฉากกับระบอบเผด็จการทั้งทหารและพลเรือน (2519-2534) ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีระยะเวลาสั้น (2535-2540) ยุคประชาธิปไตย (2540-2549) และยุคของการรัฐประหารและความขัดแย้งในระดับฐานมวลชน (2549-2557) เป็นต้น
  • การเมืองแบบประชาธิปไตยที่ถกเถียงถึงเหมาะสมกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ยังคงเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ภูมิทัศน์การเมืองเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กำลังเผยให้เห็นว่าเสรีนิยมธรรมราชาของเสียงข้างน้อย กำลังปรับตัวเข้ากับหรือพยายามกำจัดประชาธิปไตยที่เป็นเสียงข้างมากอย่างไร - เรื่องเช่นนี้ ต้องอาศัยงานวิจัยและภูมิปัญญาประกอบการพิจารณา

 

หลังการรัฐประหารในปี 2549 ไม่นาน ‘เกษียร เตชะพีระ’ สรุปโจทย์ทางการเมืองสำคัญของฝ่ายจารีตหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 เอาไว้ว่า “ชนชั้นนำเดิมภายใต้ระบอบใหม่จะหาทางบริหารจัดการการสูญเสียอำนาจอธิปไตยไปอย่างไร เพื่อประนีประนอมกับระบอบใหม่และสงวนรักษาอุดมการณ์และผลประโยชน์สำคัญของตนไว้”[1]

ตลอด 91 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมอย่างเหลือเชื่อ แต่หลายกรณีก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีปรีดี บางช่วงเวลาสังคมไทยอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมของกองทัพ (2490-2500) หรือไม่ก็ไต่ระดับไปจนถึงระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (2500-2516) บ้างก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ตัดสลับฉากกับระบอบเผด็จการทั้งทหารและพลเรือน (2519-2534) และอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีระยะเวลาไม่มากนัก หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (2535-2540)

ถัดจากนั้นสังคมไทยเดินเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย (2540-2549) ที่พลิกขั้วกับการรัฐประหารและความขัดแย้งในระดับฐานมวลชนอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน (2549-2557)

แต่หากกล่าวเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้แล้ว ก็ล้วนเต็มไปด้วยปริศนาใหม่ อาทิ ระเบียบทางการเมืองที่เหมาะสมกับสังคมไทยคืออะไร ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนความหมายไปจากเดิมหรือไม่ จะแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในระดับมวลชนให้มีผลในด้านที่เป็นคุณกับการเมืองไทยอย่างไร เป็นต้น

ดุษฎีนิพนธ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชื่อ “เสรีนิยมธรรมราชา: พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก (พ.ศ. 2540-2560)” โดย ปฤณ เทพนรินทร์

งานชิ้นนี้ให้แง่มุมที่สำคัญแก่วงวิชาการหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมของรัฐศาสตร์แนววิพากษ์ (critical politics) ซึ่งให้ความรู้ในแบบที่สอดคล้องกับงานเรื่อง “Logics of Critical Explanation in Social and Political Theory” ได้เสนอเอาไว้ว่า ลักษณะสำคัญของงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์แนววิพากษ์ 3 ประการเป็นอย่างน้อย ประการแรก นำเสนอชุดตรรกะเฉพาะของสังคมการเมืองนั้นๆ ประการที่สอง มองหาพลวัตของอำนาจนำ (hegemonic dynamic) และประการสุดท้าย ผลกระทบในเชิงบริบท (context effect) ที่ส่งผลต่อโครงการทางการเมือง ซึ่งปฤณสรุปรวบยอดความคิดทางการเมืองเป็นภาษาของเขาออกมาว่า “เสรีนิยมธรรมราชา

 

อะไรคือเสรีนิยมธรรมราชา

ปฤณ อธิบายถึง เสรีนิยมธรรมราชา (Dhammaraja liberalism) ไว้ว่าปรับปรุงมาจาก แนวคิด royal liberalism ที่เคยถูกนำเสนอโดย Michael Connors ไว้ว่า อุดมการณ์กษัตริย์นิยม-และเสรีนิยม ได้เข้าสู่ช่วงตอนใหม่ที่เติบโตไปพร้อมกันตั้งแต่ทศวรรษ 2520 จนถึงปลาย 2530 นั่นคือสภาวะที่ปรากฏเป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ทว่าสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลับอยู่ภายใต้การชี้นำอันทรงธรรมของสถาบันกษัตริย์ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักคือความต้องการมีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง[2]

ทว่ามโนทัศน์นี้ก็มีพลวัตในตัวเอง นั่นคือ ในบางบริบทก็ก้าวขึ้นมาเป็นกระแสสูงคัดหางเสือการเมืองไทย ในบางระดับก็ไร้ความสามารถจนถูกกำหนดโดยอำนาจนิยมที่แข็งแรงกว่า

บริบทเช่นนี้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ที่เปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับโลกเสรีในยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง มาสู่ยุคที่ชนชั้นนำอนุญาตให้การเลือกตั้งกลายมาเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีความชอบธรรมหนึ่งในการขึ้นสู่อำนาจรัฐ สังเกตได้จากการเลือกตั้งที่บ่อยครั้งขึ้น และแม้ว่าในบางยุคสมัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะผูกขาดโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยาวนานเกือบทศวรรษ (2521-2530)

แต่ปฤณก็ชี้ให้เห็นไว้ว่า การจัดความสัมพันธ์เช่นนี้เปราะบางอย่างมาก เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยสำคัญที่แสนจะอ่อนแอ ทั้งบารมีส่วนพระองค์ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทั้งความเลว/และไม่เอาไหนของนักการเมือง ทั้งมวลชนกระฎุมพีใต้พระบรมโพธิสมภาร รวมถึงการผูกขาดการสื่อสารทางเดียว ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขเหล่านั้นเปลี่ยนแปร ทั้งพระพลานามัย ทักษิณ ชินวัตร กระฎุมพีใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีอย่างระบบอินเทอร์เน็ตที่ราคาถูกจนแทบทุกคนเข้าถึงได้ ฯลฯ มันจึงเกิดการปะทะกันของสองระเบียบตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

ดังที่เราทั้งหลายคงได้เห็นความพังพินาศกับตาแล้วในยุคการเมืองสีเสื้อเมื่อมีประชาชนถูกฆาตกรรมกลางเมือง มีการยุบพรรคการเมือง การจลาจล การจับกุมคุมขังประชาชน และจบด้วยการรัฐประหารซ้ำในปี 2557

มโนทัศน์เสรีนิยมธรรมราชาดำรงคู่ขนานกับเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ กล่าวคือมันถูกใช้เพื่อถ่วงทานกับเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะวลีที่เรียกกันว่า “เผด็จการของเสียงข้างมาก” ซึ่งเริ่มใช้กันตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 2534 และแพร่หลายอย่างมากในการรัฐประหารสองครั้งหลัง คือ 2549 และ 2557

และกลุ่มเสรีนิยมธรรมราชาก็อ่อนพลังลงไป ตัวอย่างสำคัญคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ถูกตีตกไปจากคนที่แต่งตั้งพวกเขาขึ้นมาเอง

 

ตรรกะเฉพาะของโครงการจำกัดเสียงข้างมาก

พ้นไปจากการนำเสนอพลวัตที่เปลี่ยนแปลงตลอด 20 ปี ของมโนทัศน์เสรีนิยมธรรมราชา ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นลักษณะเด่น บริบท และเส้นทางบังคับที่ทำให้เกิดการปรับแต่งอุดมการณ์ “เสรีนิยมธรรมราชา” ให้ตอบโจทย์ความท้าทายเฉพาะหน้า จากราวปลายทศวรรษ 2540 – ปลายทศวรรษ 2550

จนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราจึงได้พบว่า ชนชั้นจารีตของไทยกำลังเผชิญปัญหาการสร้างโครงการทางการเมืองระยะยาว แบบที่เคยทำสำเร็จในยุคระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตัริย์ทรงเป็นประมุข นั่นคือจัดวางความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้มีลักษณะ “ทรงราชย์ แต่ไม่ทรงรัฐ” หรือ “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”

บรรดาปัญญาชนเสรีนิยมธรรมราชา ใช้ความรู้ความสามารถตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้าโดยละทิ้งวิธีการที่ละเมียดละไมแบบที่เคยทำได้อย่างน่าพอใจในทศวรรษ 2530-2540 ผลที่ตามมาทำให้เห็นหน้าที่ของพวกเขาที่เปลี่ยนไปจากตอนแรก เพื่อถ่วงทานเสียงข้างมากที่อาจลุอำนาจ (anti-majoritarian) ตามแนวทางเสรีนิยม ซึ่งตรงนี้ปฤณเสนอว่า การจำกัดเสียงข้างมากตามสำนวน “เสรีนิยมธรรมราชา” คือการสมอ้างว่าความคิดทางการเมืองเช่นนี้ สนองตอบต่อคุณธรรมอันพึงปรารถนาของลัทธิเสรีนิยม ซึ่งมีเป้าหมายที่การจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง (ที่ผ่านการเลือกตั้ง)[3]

 

ทางเลือกของฉันทามติใหม่

หน่วยในการวิเคราะห์สำคัญสองหน่วยหลักของงานชิ้นนี้ ได้แก่ หนึ่ง ข้อเสนอของปัญญาชนกษัตริย์นิยมเกี่ยวกับเรื่อง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์อันพึงปรารถนาระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันประชาธิปไตยด้านหนึ่ง  และ สอง กระบวนการและผลลัพธ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 คือจุดที่งานชิ้นนี้นำมาพิจารณา

ในที่สุดโครงการจำกัดเสียงข้างมากก็ปรากฏในลักษณะที่ปฤณเสนอว่า เปลี่ยนจากการการออกแบบเชิงสถาบัน “เพื่อปกปักรักษาและถ่วงทานเสียงข้างมาก” ไม่ให้กลายเป็นอำนาจนิยม (anti-majoritarian) ไปสู่การออกแบบระเบียบสถาบัน “เพื่อต่อต้านและทำลายเสียงข้างมาก” แทน โดยมีเป้าหมายปกป้องและรักษาอำนาจแก่สถาบันปรปักษ์ประชาธิปไตย (counter-majoritarian)

ในอนาคตอันใกล้ เราคงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าโครงการนี้จะดำเนินไปถึงจุดใด แต่สิ่งที่ประจักษ์ให้เห็นแล้วในภูมิทัศน์การเมืองเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นั่นคือ การเมืองไทยได้เคลื่อนตัวจากทศวรรษก่อนหน้าอย่างชัดเจน พรรคการเมืองใหญ่ที่ได้รับชัยชนะ 2 อันดับแรก เป็นพรรคที่นำเสนอภาพแทนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยมีคะแนนเสียงรวมกันมากกว่า 50%

สิ่งที่พอยืนยันให้เห็นว่ามรดกของเสรีนิยมธรรมราชา ยังดำรงอยู่นั่นคือ การยับยั้งการจัดตั้งรัฐบาลตามเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง สุดท้ายปรากฏการณ์ที่เราเห็นตรงหน้าก็อาจจะเป็นเพียงจุดหนึ่งของโครงการอันยาวไกล ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าเสียงของประชาชนจะกลับมาเป็นอนุญาโตสุดท้ายของการขึ้นสู่อำนาจรัฐได้หรือไม่ อีกเมื่อไร และอย่างไร 

 

ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการจัดงานเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ออนไลน์ เรื่อง เสรีนิยมธรรมราชา: การเมืองวัฒนธรรมของโครงการจำกัดเสียงข้างมาก ในเวลา 10.00–12.00 น. ผ่าน Facebook Live Direk Jayanama Research Center

วิทยากรนำเสนอ

  • อ.ปฤณ เทพนรินทร์
    อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยากรร่วมเสวนา

  • ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
    อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  •  ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
    อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดำเนินรายการโดย

  • อ.อิทธิพล โคตะมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บรรณานุกรม

  • เกษียร เตชะพีระ. “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ที่มาและที่ไป” ใน เมืองไทย 2 เสี่ยง : สภาพปัญหา แนวโน้มและทางออกวิกฤติการเมืองไทย. กิตติ ประเสริฐสุข บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2554.
  • ปฤณ เทพนรินทร์. “เสรีนิยมธรรมราชา : พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก (พ.ศ. 2540-2560)” ดุษฎีนิพนธ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2565.

[1] เกษียร เตชะพีระ, “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ที่มาและที่ไป,” ใน เมืองไทย 2 เสี่ยง : สภาพปัญหา แนวโน้มและทางออกวิกฤติการเมืองไทย, กิตติประเสริฐสุข (บก.), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), น. 17.

[2] ปฤณ เทพนรินทร์, “เสรีนิยมธรรมราชา : พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก (พ.ศ. 2540-2560)” (ดุษฎีนิพนธ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), น. 253.

[3] อ้างอิงแล้ว, น. 364