
เครื่องบินขนส่งทางทหารรุ่น ซี-47 “ดาโกต้า” ของกองทัพอากาศอังกฤษ รุ่นเดียวกับที่
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยสารจากโคลอมโบไปยังกัลกาต้า ที่มา : silverhawkauthor
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๘๘ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ส่งโทรเลขถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดว่า หากญี่ปุ่นเกิดยอมจํานนขึ้น รัฐบาลควง อภัยวงศ์ จะลาออกจากตําแหน่งตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้สําเร็จราชการ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะร่วมมือกับฝ่ายสหประชาชาติอย่างเต็มที่ ผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดที่จะเข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ได้แก่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้ประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย การปฏิบัติงานของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย ทราบกันอยู่เฉพาะฝ่ายอังกฤษและอเมริกาเท่านั้น โลกภายนอกไม่มีทางทราบได้ และในขณะเดียวกันได้แจ้งให้ผู้แทน โอ.เอส.เอส. ทราบความดํารินี้ด้วย
นายเดนิ่งโทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๓ พร้อมทั้งให้ความเห็นประกอบไปว่า ความดําริของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์น่าจะเป็นการผิดพลาดที่จะมอบให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลถึงกรุงวอชิงตันเข้ารับหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทยในยามหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ม.ร.ว.เสนีย์เป็นผู้มีอุปนิสัยน่ารักใคร่ แต่นายเดนิ่งไม่คิดว่าจะมีสรรพคุณสมบัติอันจําเป็นของการเป็นผู้นําและมีความเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศไทยดีพอ
ภายในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่บันทึกความเห็นเสนอกระทรวงว่า ถึงแม้ ม.ร.ว.เสนีย์จะได้รับการสนับสนุนและความไว้วางใจจากท่านปรีดี แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่รู้จะรู้จักมักคุ้นกับ ม.ร.ว.เสนีย์เท่าใดนัก ม.ร.ว.เสนีย์ ขาดความจัดเจนทางการเมือง เนื่องจากต้องออกไปประจําที่สหรัฐอเมริกาเสียนาน
วันที่ ๑๔ สิงหาคม สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน รายงานกรุงลอนดอนว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันก็มิได้ทราบวี่แววเรื่องนี้มาก่อน เห็นด้วยกับฝ่ายอังกฤษในเรื่องความสามารถของ ม.ร.ว.เสนีย์ เข้าใจอยู่เสมอว่า จะกลับไปสอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยตามเดิม ไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับการเมืองในความรู้สึกของฝ่ายอเมริกัน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นครองราชย์ได้โดยพระองค์เองแล้ว ท่านปรีดีน่าจะรับเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองจะเหมาะสมกว่า เพราะได้ติดต่อกับฝ่ายสหประชาชาติโดยใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ทั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศไทย ฝ่ายอเมริกันไม่อาจเอื้อมเข้าไปก้าวก่ายได้ และคุณมณี สาณะเสน ผู้ใกล้ชิดกับท่านทูต เคยแจ้งต่อเซอร์จอร์ช แซนซัม ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า ท่านทูตเสนีย์ทํางานเสรีไทยครั้งนั้น ไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองแต่อย่างใด ไม่ต้องการตําแหน่งหน้าที่ในวงรัฐบาล ทําให้เพื่อชาติโดยแท้ เมื่อเสร็จสิ้นสงครามขับไล่ญี่ปุ่นออกพ้นจากประเทศไทยแล้ว จะกลับไปสอนกฎหมายที่ถนัด ใคร ๆ ก็เชื่อในใจจริงของท่าน ครั้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ส่งโทรเลขถึงท่านขอให้เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านทูตตอบรับทันทีโดยให้เหตุผลว่าไม่มีทางเลือกอื่น
ในโทรเลขของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านได้ขอให้ท่านทูตเสนีย์เริ่มติดต่อกับฝ่ายอังกฤษทางสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน และเมื่อเดินทางกลับผ่านกรุงลอนดอนก็ให้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเพื่อหยั่งฟังดูว่าอังกฤษจะปฏิบัติอย่างใดต่อประเทศไทย เพราะสิ่งที่ขบวนการต่อต้านห่วงใยอยู่มากที่สุด ก็คือ ฝ่ายไทยไม่มีโอกาสทันลุกขึ้นทําการต่อสู้ ประกาศเปิดเผยว่า ไทยอยู่ข้างสหประชาชาติ เมื่อจู่ ๆ สงครามสิ้นสุดลงเฉย ๆ ในทางปฏิบัติแล้ว ไทยอาจจะถูกถือว่าเป็นสมัครพรรคพวกของญี่ปุ่น พลอยเป็นผู้แพ้สงครามตามไปด้วย สําหรับทางอเมริกันคงไม่มีปัญหา เพราะอเมริกันแสดงความเอ็นดูเห็นอกเห็นใจตลอดเวลามาแล้ว ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะการตัดสินใจของท่านทูตเสนีย์ที่ไม่ยอมเดินทางกลับประเทศไทยตอนเริ่มสงคราม ถึงกับเสี่ยงกับการที่ถูกจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตราหน้าเป็นผู้ทรยศ ย่อมเป็นส่วนจูงใจอย่างหนึ่งของฝ่ายอเมริกันให้ไม่ถือไทยเป็นศัตรูตั้งแต่เมื่อไทยประกาศสงคราม ส่วนอังกฤษนั้น ไม่ได้เอนเอียงตามอเมริกา อังกฤษประกาศสงครามตอบต่อประเทศไทย แล้วยังได้หนุนให้ประเทศในจักรภพประกาศสงครามกับไทย ทั้งที่ไทยมิได้ประกาศสงครามกับประเทศเหล่านั้น ในทัศนะของอังกฤษ ไทยเพิ่งจะมาตีตัวขึ้นก็เมื่ออังกฤษสามารถติดต่อกับขบวนการต่อต้านซึ่งมีท่านปรีดีเป็นหัวหน้าได้ และอังกฤษเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของท่านปรีดี เมื่อสถานะสงครามระหว่างอังกฤษกับไทยยังไม่สิ้นสุดลง ขบวนการต่อต้านจึงอยากจะหยั่งให้ทราบว่า ตัวปริศนาอังกฤษนี้จะแสดงออกมาในรูปใด จะรุนแรงต่อประเทศไทยของขบวนการต่อต้านเพียงใดหรือไม่
วันที่ ๑๗ เดือนเดียวกันนั้น สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน รายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ได้ทราบจากท่านทูตเสนีย์ว่า จะมีการแลกเปลี่ยนหนังสือกับรัฐบาลอเมริกันในเร็ววันโดยมิได้ระบุเรื่องใด แล้วจะเดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อทําการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษในฐานะเป็นผู้แทนของผู้สําเร็จ
ราชการแทนพระองค์ โดยจะได้รับมอบอํานาจให้ทําความตกลงกับอังกฤษคืนดินแดนให้ ชดใช้ความเสียหาย และปัญหาอื่นใดที่ยังคั่งค้างอยู่ระหว่างไทยกับอังกฤษ
กระทรวงการต่างประเทศรีบโทรเลขตอบสถานเอกอัครราชทูตไปเมื่อวันที่ ๑๙ ว่า อังกฤษต้องการให้มีการเจรจากับไทยที่แคนดี มิใช่ที่กรุงลอนดอน และรู้สึกห่วงใยมากที่ท่านทูตเสนีย์อ้างว่า จะสามารถทําความตกลงกับรัฐบาลอเมริกันได้โดยเร็ว หวังว่าฝ่ายอเมริกันจะไม่ทําการรับรองรัฐบาลไทย กลับทําความสัมพันธ์ตามปกติกับไทย ในขณะที่อังกฤษยังอยู่ในสถานะสงครามกับประเทศไทย เมื่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันยังมิได้แจ้งเรื่องที่จะมีการแลกเปลี่ยนหนังสือกับท่านทูตเสนีย์ให้สถานเอกอัครราชทูตทราบ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจึงเชื่อว่า การยืนยันของท่านทูตเสนีย์คงยังไม่มีหลักฐานแน่นอน
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษไม่กล้าที่จะปฏิเสธมิให้ท่านทูตเสนีย์เดินทางไปอังกฤษ เพราะถึงอย่างไรท่านก็มีหวังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยแล้ว แต่ได้กําชับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ให้แจ้งต่อท่านทูตเสนีย์ว่า อังกฤษไม่ขัดข้องในการที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยผ่านกรุงลอนดอน ขอให้เข้าใจว่าอังกฤษจะรับรองเป็นทางการไม่ได้ เนื่องจากยังมีสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษอยู่ อังกฤษรับจะจัดให้ความสะดวกแก่ท่านเสนีย์ในฐานะนักการทูตต่างประเทศที่เดินทางผ่าน จะต้องเสียค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกรุงลอนดอนเอง ส่วนที่จะขอให้คุณมณี สาณะเสน ร่วมเดินทางไปลอนดอนด้วยนั้น อังกฤษไม่สามารถจะให้ความสะดวกอย่างใดได้ เนื่องจากทราบจากสถานเอกอัครราชทูตว่า คุณมณีจะไปประเทศฝรั่งเศสก่อน แล้วจะเลยไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เมืองโลซานน์ อังกฤษมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่อังกฤษ และเมื่อเข้าเฝ้าแล้วจะได้ผลอย่างใด อังกฤษไม่อยากจะมีส่วนพัวพันด้วย
ท่านทูตเสนีย์ออกจากกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ถึงกรุงลอนดอนวันที่ ๑ กันยายน ฝ่ายอังกฤษส่งนายอเล็กซ์ อาดัมส์ เจ้าหน้าที่ในกรมกิจการตะวันออกไกล ไปรับที่สถานีรถไฟวิกโตเรียโดยอัธยาศัย พาไปพักที่โรงแรมพาร์คเลน โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งไม่เดือดร้อนอย่างใด เพราะท่านทูตเบิกเงินของรัฐบาลไทยจากกรุงวอชิงตันติดตัวมาด้วยแล้ว
นายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ อธิบดีกรมกิจการตะวันออกไกล อนุญาตให้ไปพบเป็นการส่วนตัวได้ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓ เพื่อแจ้งท่าทีของรัฐบาลอังกฤษต่อประเทศไทยโดยสรุปว่า ถ้อยแถลงของนายเบวินต่อสภาสามัญเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม เป็นมูลฐานหลักของท่าทีอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษต้องการจะกลับฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทย แต่เนื่องจากยังมีสถานะสงครามระหว่างประเทศทั้งสองอยู่ จึงจําต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ อังกฤษได้รับความเสียหายจากการที่ไทยให้ความร่วมมือแก่ญี่ปุ่น อังกฤษตระหนักในความจําเป็นของไทย เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเข้าบุก แต่ไม่เข้าใจสาเหตุที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว การเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสก่อนเพิร์ลฮาเบอร์เท่ากับเป็นการให้ความสะดวกแก่ญี่ปุ่นที่จะแผ่เข้าไปในอินโดจีน ไทยไม่ยอมรับฟังคําแนะนําของอังกฤษเลย ฉะนั้น ข้อสําคัญอยู่ที่ว่า ไทยจะต้องบําเพ็ญตนใหม่ให้ถูกต้อง ตามนัยที่นายเบวินแถลงต่อสภาสามัญ นายเบ็นเน็ทท์เน้นโดยเฉพาะถึงเรื่องเชลยศึกและข้าว สําหรับเชลยศึกที่ได้รับผลปฏิบัติอย่างทารุณจากญี่ปุ่นภายในประเทศไทย คนอังกฤษโดยทั่วไปย่อมถือว่า ไทยมีส่วนรับผิดชอบไม่มากก็น้อย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กําลังประสบความขาดแคลนอาหาร ถ้าประเทศไทยบริจาคข้าวให้ได้บ้าง ก็จะเป็นทางบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้
ท่านทูตเสนีย์ขอบใจนายเบ็นเน็ทท์ที่แจ้งทัศนะให้ทราบ รัฐบาลไทยลงมือช่วยเชลยศึกอยู่แล้ว และกําลังพิจารณาเรื่องข้าว นายเบ็นเน็ทท์ชี้แจงปัญหาเรื่องดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศสว่า รัฐบาลอังกฤษยึดหลักไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ โดยการบังคับตั้งแต่ต้นสงครามเมื่อปี ๒๔๘๔ โดยที่ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรของอังกฤษ จึงใคร่ขอให้ไทยใคร่ครวญปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในบันทึกการสนทนาของนายเบ็นเน็ทท์ไม่ปรากฏว่า ท่านทูตเสนีย์จะได้ชี้แจงข้อนี้อย่างใด แต่ได้กล่าวถึงความต้องการของรัฐบาลไทยที่จะให้มีการขจัดปัญหาระหว่างอังกฤษกับไทยโดยเร็ว นายเบ็นเน็ทท์ตอบว่า ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน จะเป็นผู้เจรจาเรื่องการทหารในนามของสัมพันธมิตร ไทยกําลังส่งคณะผู้แทนออกไปติดต่ออยู่ ส่วนเรื่องการเมืองยังมิได้มีการเริ่มเจรจาประการใด ฝ่ายอังกฤษมอบหมายให้นายเดนิ่งเป็นผู้เจรจากับคณะผู้แทนฝ่ายไทย ท่านทูตเสนีย์กล่าวในตอนท้ายว่า ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ การจัดให้ทหารญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งคงต้องใช้เวลาบ้าง และได้แสดงความห่วงใยในปัญหาคนจีนซึ่งมีอยู่เป็นจํานวนมากในประเทศไทย
ท่านทูตเสนีย์พํานักอยู่ในกรุงลอนดอนจนวันที่ ๕ จึงได้เดินทางต่อไปเปลี่ยน เครื่องบินที่กรุงการาจี เมื่อวันที่ ๘ ไปลงที่กรุงโคลอมโบ โดยที่ฝ่ายอังกฤษในท้องที่ไม่ได้รับแจ้งมาก่อน จึงไม่มีผู้ใดไปรอรับที่สนามบิน ทั้ง ๆ ที่ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดได้เตรียมที่พักไว้ให้ที่เมืองแคนดี
“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าควรแจ้งให้ท่านทราบเรื่องอันน่าแปลกประหลาดอย่างมากของเสนีย์” นายเดนิ่งเขียนรายงานถึงนายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๘ และเล่าต่อไปว่า “เมื่อได้รับโทรเลขจากท่านแจ้งว่า เสนีย์จะเดินทางถึงแคนดีในวันที่ 4 ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในกองบัญชาการ ทหารสูงสุดทราบ ผู้บัญชาการการทหารสูงสุดเองซึ่งจะต้องเดินทางไปสิงคโปร์ในวันรุ่งขึ้นได้สั่งการไว้ว่า ให้เชิญเสนีย์พักที่คิงส์แพวิเลียน ข้าพเจ้าเองก็ต้องไปสิงคโปร์ในวันต่อมา และไม่มีผู้ใดสามารถสืบหาว่า เสนีย์ไปไหนหรือเคลื่อนไหวอย่างใด หลังจากนั้น ก็มีข่าวจากกําลัง ๑๓๖ ว่า เสนีย์เดินทางมาถึงสนามบินรัตมาลานาเมื่อวันที่ ๘ ไปพํานักในโรงแรมกาลเฟชในโคลอมโบจนกระทั่งวันที่ ๑๑ แล้วเดินทางต่อไปยังกัลกาต้า” นายเดนิ่งส่งบันทึกที่ได้รับจากกําลัง ๑๓๖ ให้นายสเตอร์นเดล เบ็นเน็ทท์ ทราบ พร้อมด้วยคําในตอนท้ายของจดหมายลงวันที่ ๒๔ ว่า “เป็นเรื่องที่พิสดาร แสดงให้เห็นการขาดสมรรถภาพหาตัวอย่างเปรียบเทียบไม่ได้ สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสนีย์ไม่ใช้ความพยายามอย่างใดเลยที่จะติดต่อกับกองบัญชาการนี้”
ในบันทึกลับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงวันที่ ๒๑ กันยายน มีข้อความ
ตอนหนึ่งว่า
เสนีย์เดินทางถึงรัตมาลานาเมื่อค่ำวันที่ ๘ โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศอังกฤษพร้อมกับนายทหารอากาศอังกฤษ ๖ คน พลเรือนอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ชาติละหนึ่งคน เสนีย์ไม่มีผู้ติดตาม ไม่มีผู้ใดมารับที่สนามบิน รู้สึกเหมือนหลงทางเมื่อมาถึง บันทึกประจําวันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่สนามบินระบุเสนีย์เป็นคนพม่าสังกัดอังกฤษ ซึ่งเดินทางจากสหราชอาณาจักรเพื่อไปยังโรงแรมกาลเฟชที่โคลอมโบ เสนีย์ถือหนังสือเดินทางออกที่กรุงเทพฯ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๘๕ บัญชีของผู้เดินทางพลเรือนที่ผ่านการตรวจของตํารวจโคลอมโบ หน่วยพิเศษแสดงเสนีย์เป็นคนชาติฝรั่งเศส เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ที่สนามบินคงมิได้ถามสัญชาติของเสนีย์ และการเข้าเมืองของคนพม่าสังกัดอังกฤษเกิดขึ้น เพราะความเข้าใจผิดของนายสิบเวรในเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เหตุใดตํารวจที่โคลอมโบจึงได้รับแจ้งว่า เสนีย์เป็นคนชาติฝรั่งเศสไม่มีใครทราบ คงเป็นเพราะการขาดความเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่สนามบินรัตมาลานา เสนีย์ออกจากสนามบินโดยรถแท็กซี่หรือรถยนต์บรรทุกของกองทัพอากาศไม่แน่ ไปถึงโรงแรมกาลเฟชสอบถามว่า ได้มีการจองห้องพักไว้หรือไม่ แสดงความแปลกใจเมื่อทราบว่า ไม่มีการจองไว้ เพราะอ้างว่ารัฐบาลอังกฤษเป็นผู้จัดการเรื่องการเดินทาง เสนีย์ขอให้เจ้าหน้าที่รับรองของโรงแรมโทรศัพท์ถามเจ้าหน้าที่ด้านสารนิเทศของรัฐบาล ได้รับแจ้งว่า ไม่ทราบเรื่องของเสนีย์เลย เจ้าหน้าที่รับรองของโรงแรมจึงพยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไป ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ ต่างไปร่วมงานรับรองของรัฐบาลค่ําวันนั้น อย่างไรก็ตาม โรงแรมสามารถหาห้องพักให้ได้ห้องหนึ่ง เสนีย์ก็พอใจ ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา มีรถของสถานกงสุลอเมริกันมาถึงโรงแรมนําจดหมายมาให้เสนีย์ฉบับหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของโรงแรมยังกล่าวต่อไปว่า ตลอดเวลาที่เสนีย์พักอยู่ในโคลอมโบ มีการติดต่อกับสถานกงสุลอเมริกันมาก เข้าใจว่า สถานกงสุลอเมริกันจะทราบการเคลื่อนไหวของเสนีย์ดี
เมื่อได้รับรายงานของนายเดนิ่งฉบับนั้น นายอาดัมส์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดให้ความสะดวกแก่ท่านทูตเสนีย์เมื่อผ่านกรุงลอนดอน บันทึกแสดงความเห็นว่า ไม่น่าจะเกิดเรื่องเศร้าใจเช่นนั้นเลย หลังจากที่ทางลอนดอนได้พยายามทําความพอใจให้แก่ท่านทูตเสนีย์ และช่วยจะดูเรื่องการเดินทางต่อให้ถึงกรุงเทพฯ แล้วนายอาดัมส์เท้าถึงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งฝ่าย โอ.เอส.เอส. สามารถลักตัวคนไทยสําคัญคนหนึ่งออกไปจากการดูแลของฝ่ายอังกฤษ ส่วนเจ้าหน้าที่ชั้นสูงขึ้นไปบันทึกตําหนิว่า นับเป็นการหละหลวมอย่างน่ากลัวของเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ในกองบัญชาการทหารสูงสุดด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน
เพื่อคลี่คลายปริศนาดํามืดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของท่านทูตเสนีย์ในตอนนั้น ข้าพเจ้าขอคัดคําบรรยายของท่านเอง ดังนี้
เมื่อไม่มีใครไปรับข้าพเจ้าที่สนามบินโคลอมโบ ข้าพเจ้าจึงได้อาศัยรถบรรทุกทหารขนของไปหาที่พักอยู่เอง ระหว่างที่พักอยู่โคลอมโบ กงสุลอเมริกันซึ่งรู้จักกันมาก่อนเสนอว่าจะช่วยเหลือในการเดินทางต่อไป แต่ข้าพเจ้าต้องปฏิเสธ ไม่สนองความปรารถนาดีของเขา ด้วยเกรงว่าจะผิดใจกับอังกฤษ วันที่ ๑๑ กันยายน จึงได้เดินทางต่อไปยังกัลกาต้าโดยเครื่องบินทหารแบบดาโกต้าไปถึงกัลกาต้าในวันเดียวกัน แต่ไม่มีใครมารับอีกเหมือนกัน ตอนนี้ขลุกขลักหน่อย เพราะข้าพเจ้าไม่รู้จักกัลกาต้า ได้ว่าจ้างรถเช่าขนของไปเที่ยวหาโฮเต็ลอยู่ ๓-๔ แห่ง ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพักอาศัย เพราะเขาจองไว้ให้ทหารหมด เมื่อหมดหนทางเข้าเช่นนี้ จึงต้องหันไปพึ่งอเมริกา โดยไปแสดงตนต่อนายจ่าทหารอเมริกาที่โฮเต็ลเกรตอิสเทอร์น เมื่อเขาทราบว่าเป็นใคร เขาก็รีบจัดการหาห้องให้พักทันที รุ่งขึ้นย้ายไปอยู่ห้องพิเศษในโฮเต็ลที่จองไว้ให้ทหาร ทั้งนี้ นับว่าเป็นความกรุณาของเขาอย่างยิ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ กันยายน ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคํานับกงสุลอเมริกา ซึ่งรู้จักกันมาก่อน
ทางฝ่ายกรุงเทพฯ ด้วยความปรารถนาที่จะให้ท่านทูตเสนีย์ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วภายในประเทศ ท่านผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์สั่งให้ข้าพเจ้าเดินทางไปดักพบท่านทูตที่เมืองแคนดี ข้าพเจ้าโดยสารเครื่องบินทหารอังกฤษนั่งคู่เคียงไปกับนักบิน ข้าพเจ้าเป็นไข้หวัดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อ ได้รับคําสั่งให้เดินทางก็ต้องไป บังเอิญโดนลมโกรกตลอดทาง พอลงพักแรมวันแรกที่กรุงย่างกุ้ง ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บคอมาก ตามปกติข้าพเจ้ามักจะทอนซิลอักเสบง่ายอยู่แล้ว เคยเป็นทุกปี เจ้าหน้าที่พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทหารอเมริกาตรวจดู ปรากฏว่าต่อมทอนซิลอักเสบอย่างแรง แพทย์แนะนําให้ผ่าตัด ข้าพเจ้าเกี่ยงว่ามีภาระต้องรีบเดินทางไปถึงเมืองแคนดีโดยเร็ว ไม่สามารถจะหยุดอยู่โรงพยาบาลรับการผ่าตัดได้ นายแพทย์ตกลงทดลองให้ข้าพเจ้ารับประทานยาซัลฟาไดอาซีน ครั้งแรก ๔ เม็ด ต่อไปครั้งละ ๒ เม็ด ทุก ๆ สี่ชั่วโมง เวลานอนกลางดึกเขาก็ปลุกให้รับประทานยาตามกําหนด เดชะบุญยาส่งผลดีช่วยแก้การบวมและความเจ็บลงอย่างปลิดทิ้ง ตั้งแต่วันนั้นมา ทอนซิลของข้าพเจ้าไม่อักเสบอีกเลยจนทุกวันนี้ รุ่งขึ้น ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปถึงเมืองแคนดี ซึ่งเข้าใจกันว่า ท่านทูตคงจะต้องเดินทางผ่าน แต่ไม่พบ ต่อมาจึงได้ทราบจากคุณทวี จุลละทรัพย์ จากกัลกาต้าว่า ท่านทูตอยู่ที่นั่น ขอให้ข้าพเจ้ารีบไปพบ ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปเมืองกัลกาต้า เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน รายงานให้ทราบถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทย และปัญหาการเจรจาเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ ข้าพเจ้าเดินทางติดตามท่านทูตเสนีย์กลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน รุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ นายกรัฐมนตรี คุณทวี บุณยเกตุ และคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตําแหน่ง ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ประกาศแต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้าดํารงตําแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบไป พร้อมด้วยรัฐมนตรีรวม ๒๒ คน มีพวกอดีตเสรีไทยร่วมด้วยประมาณ ๑๐ คน นายกรัฐมนตรีเข้าว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยอีกตําแหน่งหนึ่ง
ภาระหน้าที่ประการแรกของรัฐบาล คือ รัฐต้องแต่งตั้งคณะผู้แทนไทยเพื่อไปเจรจาเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษที่แคนดี ทางฝ่ายอังกฤษเขามอบหมายให้นายเดนิ่งเป็นผู้แทนมีอํานาจเต็มในการเจรจาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน และได้เร่งรัดให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไปร่วมเจรจาโดยเร็ว แต่ฝ่ายไทยจําต้องรอการจัดตั้งคณะรัฐบาลภายหลังสงครามให้แน่นอนเสียก่อน รัฐบาลทวี บุณยเกตุ เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวรักษาการไปพลางก่อนจนกว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะเข้ารับตําแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลใหม่ จึงจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องคณะผู้แทนที่จะส่งไปเจรจาการเมืองกับฝ่ายอังกฤษที่แคนดี ตามปกติในการเจรจาการเมืองที่สําคัญกับต่างประเทศ รัฐบาลเคยถวายให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นผู้ทรงดําเนินการในฐานะเอตทัคคะด้านนี้เสมอ แต่รัฐบาลเสนีย์ไม่กล้าเสนอพระองค์ท่านไปคราวนั้น เพราะเห็นว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดําเนินงานของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างใกล้ชิด ทั้งได้ไปประชุมมหาเอเชียบูรพาแทนนายกรัฐมนตรี เกรงฝ่ายอังกฤษจะไม่พอใจ นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช ประสงค์จะเลือกเอาคนกลาง ๆ ผู้ไม่มีส่วนในนโยบายเข้าข้างญี่ปุ่น จึงทูลเชิญให้หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นหัวหน้าคณะ ประกอบด้วย คุณเสริม วินิจฉัยกุล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พลโท พระยาอภัยสงคราม เป็นผู้แทนฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คุณประหยัด บุรณศิริ เป็นเลขานุการ มีเจ้าหน้าที่อื่นประจําคณะผู้แทนอีก คือ พันเอก หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร นาวาโท หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย และคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยคนสําคัญสายอังกฤษในฐานะเจ้าหน้าที่ติดต่อกับฝ่ายอังกฤษ
วันที่ ๑๙ กันยายน นายเดนิ่งโทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า นับแต่ที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้ารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา ดูท่าทีของฝ่ายไทยจะแข็งกร้าวขึ้น คงจะเนื่องจากการสนับสนุนของฝ่ายอเมริกัน
เพื่อแสดงให้ฝ่ายสหประชาชาติเห็นว่า บรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ฝ่ายอเมริกันและอังกฤษส่งมาให้แก่พลพรรคของขบวนการต่อต้านมีอยู่ครบถ้วนไม่กระจัดกระจายหรือสูญหาย และเพื่อยืนยันว่า ขบวนการต่อต้านพร้อมที่จะออกศึกหากจําเป็น ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งให้พลพรรคจากทั่วราชอาณาจักรประมาณ ๘,๐๐๐ คน เดินทางเข้ามาทําการสวนสนามในบริเวณถนนราชดําเนิน เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน มีพลโท เอเวิ้นส์ ผู้บัญชาการทหารพันธมิตร ร่วมในพิธีด้วย

Lieutenant General Sir Geoffrey Charles Evans ที่มา: wikipedia
ในโอกาสที่มีการชุมนุมบรรดาพลพรรคที่กรุงเทพฯ ครั้งนั้น ท่านปรีดีได้กล่าวคําปราศรัยแก่บรรดาเสรีไทย มีข้อความดังนี้
การกระทําคราวนี้มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจเพื่อให้ประเทศชาติได้กลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แม้ว่าการดําเนินงานจะได้จัดให้มีองค์การบริหาร คือกองบัญชาการ สํานักงานหรือสาขาใด ๆ ขึ้น ก็เพื่อความจําเป็นที่จะจัดให้งานนี้ได้มีระเบียบ อันนํามาซึ่งวินัยและสมรรถภาพ สมาคมซึ่งมีสมาชิกน้อยกว่าผู้ร่วมงานคราวนี้ต้องมีกรรมการฉันใด ผู้ร่วมงานคราวนี้ซึ่งมีจํานวนมาก ก็ยิ่งต้องมีองค์การบัญชาการฉันนั้น เมื่อองค์การรับใช้ชาติจําเป็นที่จะต้องมีขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็จําเป็นที่จะต้องมีนามสําหรับในการนี้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งทําหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทยอยู่ในต่างประเทศได้รับความรับรองตลอดมา ก็มีความจําเป็นที่จะต้องเรียกองค์การและผู้ร่วมงานในต่างประเทศว่า “เสรีไทย” เพราะเวลานั้นต่างประเทศเข้าใจว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้ครอบครองของญี่ปุ่น เสรีไทยไม่ใช่ผู้ที่อยู่ใต้ครอบครองของญี่ปุ่น ความหมายก็คือ ไทยที่เป็นเสรีหรือไทยทั้งหลายที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นอิสระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต่างประเทศรับรองการกระทําของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ หาใช่คณะหรือพรรคการเมืองไม่ ส่วนองค์การต่อต้านภายในประเทศนั้น ในชั้นเดิมไม่มีชื่อเรียกองค์การว่าอย่างไร การชักชวนให้ร่วมงานตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ก็ชักชวนเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นให้พ้นไปจากประเทศ และเมื่อองค์การภายในและภายนอกประเทศได้ติดต่อกันแล้ว ในชั้นหลัง สาส์นที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศมีมายังข้าพเจ้า เรียกขานองค์การที่เราร่วมงานระหว่างคนไทยทั้งภายในและภายนอกนี้ว่า ขบวนการเสรีไทย เป็นนามสมญาที่ควรยอมรับ ข้าพเจ้าก็ได้ถือเอานามนี้โต้ตอบกับต่างประเทศ โดยใช้นามองค์การว่า ขบวนการเสรีไทย ซึ่งเราทั้งหลายก็จะเห็นได้ชัดอีกว่า ไม่ใช่เรื่องคณะพรรคการเมือง
วัตถุประสงค์ของเราที่ทํางานคราวนี้มีจํากัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสิ้นสุด กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจําของเราทั้งหลายก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง และเพราะเหตุที่การกระทําคราวนี้เป็นการสนองคุณชาติ ผู้ใดจะรับราชการตําแหน่งใดหรือไม่นั้น จึงเป็นไปตามความสามารถ ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหมือนดังคนไทยอื่นทั้งหลาย เราพึงพอใจด้วยความระลึกและความภูมิใจว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย จริงอยู่ ในระหว่างสะสางให้สภาพของประเทศกลับเข้าสู่สภาพเดิม ได้มีผู้ร่วมงานคราวนี้บางคนรับตําแหน่งในราชการ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า บุคคลเหล่านี้เข้ารับหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายโดยพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติ หรือนัยหนึ่งเป็นการปฏิบัติตามคําสั่งเพื่อจัดการเรื่องที่ยังเกี่ยวกันอยู่กับนานาประเทศ ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น หาใช่เป็นการเอาตําแหน่งราชการมาเป็นรางวัลไม่

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ รับความเคารพจากขบวนสวนสนามเสรีไทย วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สวมเครื่องแบบกองทัพสหรัฐฯ ยืนอยู่ข้างหลัง
ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทําหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทําของไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ ๑๗ ล้านคนที่ได้กระทําโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทําได้หรือเอากําลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นั่งอยู่ โดยไม่ได้ทําการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทําการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ ทุก ๆ คนร่วมกันทําการกู้ชาติของตนด้วยทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติ จะเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนั้น มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นโดยทางพฤตินัย ไม่ใช่คนไทย เพราะการกระทําของเขาเหล่านั้น ไม่ใช่การกระทําของคนที่เป็นคนไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงนิตินัย คือเป็นคนไทยเพราะกฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น
ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้ในนามของสหายทั้งหลายว่า ราษฎรทั้งปวงประมาณ ๑๗ ล้านคน ที่เป็นคนไทยทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยนั่นเอง เป็นผู้กู้ชาติไทย ฉะนั้นผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องขอบคุณอย่างสูงยิ่งก่อนอื่น ก็คือคนไทยทั้งปวงนี้
ในส่วนผู้ที่ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ
ส่วนภายในประเทศ ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ พลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายดิเรก ชัยนาม พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดําเนินไปด้วยดี
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 305-316.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 305-316.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 10 : เสรีไทยเข้าประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 11 : ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 12 : ความคลี่คลายของเหตุการณ์ภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 13 : ความพยายามติดต่อทางการเมืองกับอังกฤษ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 14 : นายสุนี เทพรักษา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 15 : การกระชับงานต่อต้าน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 16 : อวสานของสงครามภาคแปซิฟิก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 17 : ไทยประกาศสันติภาพ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 18 : การทำข้อตกลงทางทหารกับฝ่ายสหประชาชาติ