ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เหตุการณ์ระหว่างตอนค่ำ 7 ธันวาคม ถึงตอนเช้า 8 ธันวาคม 2484

25
กรกฎาคม
2565

ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีไปไหน

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484  (ค.ศ. 1941) เวลาประมาณ 22.00 น. ข้าพเจ้า (ขณะนั้นเป็น ร.ม.ต. คลัง) ได้รับโทรศัพท์จากเลขาธิการคณะ ร.ม.ต. ให้รีบไปประชุมคณะ ร.ม.ต. เป็นการด่วน ณ สำนักงานคณะ ร.ม.ต. (ขณะนั้นตั้งอยู่ตรงข้ามวังสวนกุหลาบ) ข้าพเจ้าจึงได้รีบไปทันที

เมื่อถึงที่นั่นแล้วข้าพเจ้าได้พบ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายก ร.ม.ต. แจ้งว่าผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นประกอบด้วยเอกอัครราชทูต และทูตทหาร ได้มาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้นตั้งอยู่ที่วังสวนกุหลาบ) ยื่นบันทึกต่อรัฐบาลขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีอังกฤษ และเขาได้แจ้งว่าญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาแล้ว และเขาจะเข้าโจมตีพร้อมๆ กันขออย่าให้ไทยขัดขวาง โดยเขารับรองว่าจะไม่มาทำลายอธิปไตยของไทย นอกจากขอผ่านท่ากรุงเทพฯ และบางเมืองที่จำเป็นในทางทหารเท่านั้น และเขาขอให้ตอบภายใน 02.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม แต่นายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ยังไม่อยู่ พล.ต.ต.อดุลฯ จึงได้สั่งให้เลขาธิการคณะ ร.ม.ต. โทรศัพท์เชิญ ร.ม.ต. มาพร้อมกันเพื่อเตรียมเข้าประชุมได้ทันทีเมื่อนายก ร.ม.ต. กลับมาทำเนียบ

 

รองนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเปิดการประชุม ค.ร.ม.

ครั้นถึงเวลาประมาณ 23.00 น. นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่กลับมาที่ทำเนียบ ฉะนั้น พล.ต.ต.อดุลฯ จึงตัดสินใจเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าขอนำความสำคัญบางประการ จากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 และ 8 ธ.ค. 2484 เวลาเช้า มาลงพิมพ์ไว้ดังต่อไปนี้

1) เมื่อได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติส่งผู้แทน ประกอบด้วยข้าพเจ้า, นายดิเรก ชัยนาม และ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ต่อๆ มาทรงเลื่อนขึ้นเป็น “กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์”) ไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี (วังสวนกุหลาบ) แจ้งแก่ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เรายังตอบเด็ดขาดไม่ได้เพราะนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ขอยืดเวลาตอบคำขาดไปเป็น 05.00 น.

ข้าพเจ้ากับอีกสองท่านได้ไปพบกับผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น แจ้งคำตอบตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ แต่ฝ่ายญี่ปุ่นขอร้องให้รัฐมนตรีที่ยังอยู่นั้นช่วยจัดการสั่งมิให้ทหารไทยทำการต่อสู้ทหารญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจึงชี้แจงแก่ฝ่ายญี่ปุ่นว่า ฝ่ายไทยจะทำได้เพียงใดนั้น จะต้องหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วจะแจ้งให้ทราบ ขอให้เขารอคอยอยู่

ครั้นแล้วข้าพเจ้ากับอีก 2 ท่านก็ได้กลับไปยังสำนักงานคณะ ร.ม.ต.ๆ จึงมีมติให้ข้าพเจ้ากับอีก 2 ท่านกลับไปแจ้งแก่ฝ่ายญี่ปุ่น ขอร้องเขาอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เขารอจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกลับมา

ข้าพเจ้ากับอีก 2 ท่านจึงกลับไปเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง ขอให้เขายับยั้งการยกทหารเข้ามาเพื่อรอจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกลับ ข้าพเจ้าได้ชี้แจงด้วยว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนที่ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นจะมาขอร้องเรื่องดังกล่าวนั้น ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้มีอำนาจสั่งทหารทั่วไป

คณะรัฐมนตรีไม่อาจที่จะสั่งลบล้างอำนาจของผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ ฝ่ายญี่ปุ่นถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจสั่งหรือ ข้าพเจ้าชี้แจงว่าตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดบังคับบัญชากิจการของกระทรวงกลาโหมด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นกล่าวว่าแม้จะทราบว่ามีกฎหมายกำหนดหน้าที่เช่นนั้นก็ตาม แต่ก็ไม่อยากยอมรับทราบ อยากจะขอร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดสั่งให้ทหารไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามา

ข้าพเจ้าจึงชี้แจงกับเขาว่า ขอให้เขายับยั้งการยกทหารเข้ามาไว้ก่อน ส่วนคำขอร้องของเขาที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดสั่งทหารได้นั้น ก็จะได้รับมาแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดทราบ และทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้นเราก็จะพยายามทำการติดต่อโดยทุกทางเท่าที่สามารถจะทำได้

ข้าพเจ้ากับอีก 2 ท่านได้ชี้แจงแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวรรคก่อนนั้นแล้ว และย้ำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบตามหน้าที่โดยตรงด้วย รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งว่ารับทราบ

2) ครั้นแล้วรองนายกรัฐมนตรีก็ได้พยายามที่จะติดต่อกับนายกรัฐมนตรีตามแนวทางที่คาดคะเนว่านายกรัฐมนตรีอาจจะเดินทางไปที่นั้นๆ แล้วได้สั่ง พล.อ.ต.มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษดิ์ ออกเดินทางรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนที่จะไปสู่อรัญประเทศ เพื่อว่าถ้าพบนายกรัฐมนตรีกลางทางก็จะเล่าเรื่องให้ทราบได้

ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางท่านก็ได้รับรายงานจากสายงานของท่าน ซึ่งท่านได้รีบรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบคือญี่ปุ่นลำเลียงทหารขึ้นบกที่สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ และได้มีการปะทะกันขึ้นกับกำลังฝ่ายไทย ญี่ปุ่นนำรถยนต์ไปประมาณ 14-15 กันออกจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนสายสมุทรปราการ สันนิษฐานว่าญี่ปุ่นจะไปรับทหารที่จะมาขึ้นบกที่ปากน้ำ ในรายงานการประชุมคณะ ร.ม.ต. วันที่ 7 และ 8 ธ.ค. เวลาเช้า มีบันทึกดังต่อไปนี้

“รัฐมนตรีว่าการคลัง (ข้าพเจ้า) จึงเสนอว่า ถ้าเช่นนั้นให้สั่งปิดถนนสายสมุทรปราการ-กรุงเทพฯ ทันที รถใครจะผ่านไปมาก็ห้ามเด็ดขาด นอกจากทางราชการไทย และการปิดนั้นก็ให้ปิดตอนที่มีสถานีตำรวจ เช่น ที่พระโขนง เป็นต้น”

นายพลตำรวจ อดุล อดุลเดชจรัส จึงได้สั่งปิดถนนสายสมุทรปราการ-กรุงเทพฯ เวลา 03.00 น.

ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่ากำลังส่วนหนึ่งของเขาจะขึ้นที่ปากน้ำ ฝ่ายเราจึงขอให้ยับยั้งไว้มิให้เกิดปะทะกันขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งนายทหารเรือ คือ หลวงยอดอาวุธ กับ หลวงประดิยัตินาวายุทธ ไปที่สถานทูตญี่ปุ่น เพื่อให้เดินทางไปปากน้ำกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต โดยขอร้องให้ฝ่ายเขายับยั้งการขึ้นบก ถ้าขึ้นแล้วให้กลับไปลงเรือ ถ้าไม่สามารถกลับลงไปได้ก็ให้หยุดยั้งอยู่เพียงนั้น ส่วนกำลังส่วนอื่นที่ยังมิได้ขึ้นให้ระงับไว้ กับขอห้ามเด็ดขาดไม่ให้ลำเลียงทหารเข้ากรุงเทพฯ จนกว่าท่านนายก ร.ม.ต. จะกลับและให้คำตอบเด็ดขาด

 

เวลา 06.50 น. นายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากพระตะบองเข้าที่ประชุมคณะ ร.ม.ต.

รองนายก ร.ม.ต. ได้รายงานถึงการปฏิบัติระหว่างนายก ร.ม.ต. ไม่อยู่ และการพยายามติดต่อกับนายก ร.ม.ต. โดยให้นายจำรัสฯ (เลขานุการนายก ร.ม.ต.) ส่งโทรเลขลับถึงนายก ร.ม.ต. ได้รับตอบว่าจะมาในวันรุ่งขึ้น (8 ธันวาคม) ดังนั้นรองนายก ร.ม.ต. จึงส่งโทรเลขไปอีกฉบับหนึ่งว่า ให้รีบกลับมาให้ทันภายในเวลา 02.30 น. เพราะเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นต้องการจะได้คำตอบภายในเวลา 02.30 น. ในตอนสุดท้ายรายงาน รองนายก ร.ม.ต. ได้กล่าวว่า

“ส่วนข้อเสนอมีอยู่อย่างไรนั้น เท่าที่คุณดิเรก ชัยนาม จดไว้ก็จะได้อ่านให้ฟัง”

ครั้นแล้วนายดิเรกฯ ได้กล่าวดังต่อไปนี้

“กระผมขอประทานชี้แจง คือ ได้รับโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบบอกว่าเวลานี้ นายพลตำรวจตรีอดุลฯ อยู่ที่วังสวนกุหลาบ”

เมื่อนายก ร.ม.ต. ได้ฟังเพียงนายดิเรกฯ กล่าวประโยคแรกดังนั้นแล้ว นายก ร.ม.ต. จึงได้พูดตัดบทดังต่อไปนี้

“เดี๋ยวก่อน นั่นเอาไว้ทีหลัง เขาจะเอาอะไร”

นายดิเรกฯ จึงตอบว่า

“ขณะที่ผมพูดกับเขานั้น ทูตญี่ปุ่นพูดภาษาญี่ปุ่น และนายอามาดาเป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย”

ครั้นแล้วนายดิเรกฯ ก็ได้รายงานข้อความที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอร้อง สรุปเป็นใจความว่า ญี่ปุ่นขอผ่านดินแดนไทยโดยความจำเป็นทางยุทธศาสตร์เท่านั้น ขอความสะดวกในทางยุทธศาสตร์ทุกๆ ประการ ขออย่าให้กองทัพทั้งสองต้องปะทะกัน ญี่ปุ่นไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรูของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นหวังว่าไทยจะมีความสามัคคีร่วมมือกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบอกว่าเวลามีน้อยแล้ว ขอให้ทหารของเขาผ่านเข้ามาได้ เวลานั้นที่เขาพูดเป็นเวลา 5 ทุ่มแล้ว พูดกันเสร็จเป็นเวลา 5 ทุ่ม 37 นาที เขาบอกว่าตี 1 เป็นเวลาเดินทางแล้ว จะเข้าประเทศไทยทุกแห่ง ขณะนี้ก็ได้รบกันแล้วที่แหลมมลายู ในดินแดนของไทยได้รบกันแล้วกับอังกฤษ นายวนิช ปานะนนท์ จึงบอกญี่ปุ่นว่า

“ท่านบอกว่าเวลา 02.30 น. ไม่ใช่หรือ” เขาก็ตอบว่าเป็นเวลาเจแปนไทม์ (เวลาญี่ปุ่น) คือของเรา ตี 1

เมื่อนายดิเรกรายงานจบแล้ว พล.ต.ต.อดุลฯ ก็ได้รายงานต่อไปถึงความเคลื่อนไหวของขบวนรบญี่ปุ่นที่มาทางเรือมุ่งหน้ามาทางชายฝั่งไทย และที่ขึ้นชายฝั่งไทยแล้วหลายแห่ง ซึ่งมีการปะทะกันกับทหารตำรวจและราษฎรไทย

ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆ รายงานถึงข่าวที่แต่ละคนได้รับทราบจากรายงานของผู้ใต้บังคับรายงานให้ทราบโดยตรงบ้าง จากข่าววิทยุรายงานด่วนของต่างประเทศบ้าง ถึงการโจมตีของฝ่ายไทยและมลายู ฯลฯ

รองนายก ร.ม.ต. ได้ชี้แจงความเห็นของตนรวมใจความว่า ฝ่ายไทยควรจะผ่อนหนักเป็นเบาตามสมควรแก่ญี่ปุ่น เพราะเราขืนสู้ ก็สู้ไม่ได้ จริงอยู่ความเป็นเอกราชของเราลดลงไป แต่การลดลงไปเพียงเท่านี้ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะลดลงไปถึงกับ 100 เปอร์เซ็นต์จนถึงกับเป็นเมืองขึ้นของเขา ในประโยคสุดท้าย รองนายก ร.ม.ต. กล่าวว่า

“สำหรับความเห็นของท่านผู้อื่นนั้น ผมไม่ทราบว่ามีความเห็นเป็นเช่นไร”

ครั้นแล้วปรากฏตามบันทึกรายงานการประชุม ค.ร.ม. ดังต่อไปนี้

นายปรีดี พนมยงค์ : “ก็คือสำหรับผมนั้นขออภิปรายว่า เวลานั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญแล้ว ถือว่าเป็นโชคชะตาอันสำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นข้อที่จะตกลงอย่างไรนั้น ผมไม่มีข้อขัดข้อง แต่ขออภิปรายให้เห็นทั้งเหตุและผลเสียก่อน ก่อนที่เราจะวินิจฉัยลงไป”

นายกรัฐมนตรี : “ประเดี๋ยว ผมอยากจะพูดเสียก่อนคือเวลานี้กำลังรบกันอยู่ เราจะให้รบต่อไปหรือจะให้หยุด เพราะที่เราพูดกันอยู่ทุกวินาทีนี้คนต้องตาย เราจะให้หยุดหรือจะให้รบต่อไป ส่วนเรื่องอื่นนั้นไว้พูดกันทีหลังไม่อย่างนั้นทหารรบกันตาย นี่ก็ละลายไปกองพันหนึ่งแล้วที่ปัตตานี และที่สมุทรปราการนั้นจะให้สู้ หรือไม่ให้สู้ นายมังกร พรหมโยธี ว่าอย่างไร”

พล.ท.มังกร พรหมโยธี : “แล้วแต่ท่านนายกฯ กระผมได้เคยเรียนเหตุการณ์ไว้แล้ว และไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร”

นายกรัฐมนตรี : “ไม่ใช่ ต้องแล้วแต่ที่ประชุม จะให้รบต่อไปหรืออย่างไร”

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส : “ความเห็นของผม ผมได้เสนอแล้ว และได้ปรึกษากับรัฐมนตรีบางท่านแล้ว ผมว่ามีทางเดียวต้องผ่อนปรนไปตามสมควร เมื่อผ่อนแล้วต้องสั่งหยุดยิง แล้วที่นี้ข้อเสนอนั้นเราจึงจะพูดกันอย่างไรต่อไปอีกชั้นหนึ่ง”

นายกรัฐมนตรี : “ที่พระตะบองผมเข้าใจว่าจะเข้ามาเหมือนกัน เพราะเวลานี้กองทัพกำลังเคลื่อนที่เข้าหากัน และรบกันเรื่อยไป เดี๋ยวจะเกิดรบกันใหญ่”

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส : “ผมบอกเขาไปแล้ว ทางญี่ปุ่นสั่งไปที่ไซ่ง่อนแล้ว แต่จะได้รับแล้วหรือยังไม่ทราบ”

นายวิลาศ โอสถานนท์ : “รมช. กระทรวงคมนาคม วิทยุสิงคโปร์ว่าทางการเมืองอังกฤษ ณ สิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์แจ้งว่า ญี่ปุ่นพยายามส่งกำลังทหารขึ้นบกเมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ พร้อมด้วยโจมตีทิ้งระเบิดฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐมลายู ทหารญี่ปุ่นหน่วยหนึ่งได้ขึ้นบกสำเร็จ ณ บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในสหรัฐมลายูเมื่อเวลา 03.30 น. ทันใดหน่วยรักษาฝั่งของอังกฤษก็ได้ขัดขวาง และฝูงบินอังกฤษได้พยายามเข้าโจมตีซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไทยไปทางใต้ประมาณ 18 ไมล์ ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษลำหนึ่งได้ถูกยิงห่างจากฝั่งประมาณ 1,300 ไมล์ ประมาณว่าเครื่องบินญี่ปุ่นได้เข้าครอบครองน่านน้ำเขตนานาชาติไว้แล้ว เรือบินของญี่ปุ่นได้อัปปางลง บ้างยังไม่ได้ข่าวอะไรทางด้านไทยและฮ่องกงอย่างใดเลย”

นายกรัฐมนตรี : “ให้เขาเปิดวิทยุกระจายเสียง”

(นายวิลาศฯ กับนายก ร.ม.ต. ได้พิจารณาต่อไปถึงการรับฟัง และการเสนอข่าวทางวิทยุ)

ครั้งแล้วปรากฏตามรายงานการประชุม ค.ร.ม. ต่อไปนี้

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส : “จะสั่งให้หยุดยิงหรือไม่สั่งหยุดยิง ผมอยากขอทราบคำสั่งของท่านนายกรัฐมนตรี”

นายกรัฐมนตรี : “ก็ขอให้สั่งหยุดยิงดีกว่า แล้วเราก็ขอร้องกับทางสถานทูตญี่ปุ่นเขา ส่วนที่จะตกลงกันแค่ไหนก็ไปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้นก็ให้รอฟังคำสั่งจากผลของการตกลงกันทางทูต ทางทหารบก หลวงวิชิตฯ ก็ไปสั่งให้หยุดยิงได้”

ที่ประชุมตกลงเวลา 07.30 น. เห็นพ้องด้วยในการที่จะสั่งให้ฝ่ายเราหยุดยิง

พล.ต.หลวงวิชิตสงคราม : “ผมจะสั่งว่าถ้ารบอยู่ก็ขอให้หยุด คือเขาอยู่ไหนก็ให้อยู่ที่นั่น ส่วนญี่ปุ่นเขาคงไม่ยอมหยุด เพราะฉะนั้นถ้ารบอยู่ก็ให้หยุด แล้วก็หลีกให้เขาผ่านไป”

พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม : “ผมจะได้ไปสั่งทางจังหวัดด้วย”

นายกรัฐมนตรี : “ผมนึกว่าเรายังตกลงอะไรกันไม่ได้ แต่ควรจะสั่งหยุดยิงก่อน เพราะสู้ไปก็แหลก แล้วเราก็มาเจรจาทางการทูตกัน เขาจะว่าอย่างไรฟังเสียงเขาดู ถ้าไม่ตกลงกันหรืออย่างไร เราจะได้ตัดสินใจว่า จะรบหรือไม่รบต่อไป ส่วนทางเรือ คุณผัน นาวาวิจิตร ก็สั่งเสียด้วย”

พล.ร.ต.ผัน นาวาวิจิตร : “กองเรือของเราเวลานี้อยู่ที่เกาะสีชัง เขาคงผ่านนอกสีชังเข้ามา ผมเกรงว่าเช้านี้อาจปะทะกันได้ ผมสั่งเมื่อคืนนี้ขอให้เขาระวังตัวยังไม่ได้รับรายงานเลย ผมจะได้ไปสั่งเขาอีกที”

นายกรัฐมนตรี : “เรื่องเจตนาของญี่ปุ่นนั้น คือผมก็ไม่เชื่อ เท่าที่ผมได้ติดต่อกับญี่ปุ่นมานานแล้ว ในเรื่องนี้ก็ได้ต่อรองกันมานานแล้ว คือแกว่าจะเข้ากับแกหรือไม่ ข้อ 2 ถ้าไม่เข้า ก็รบกับแก ข้อ 3 หรือจะทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ เมื่อพูดกันแล้ว ผมก็ได้บอกกับคณะรัฐมนตรีเมื่อวานซืนนี้ แล้วทางนี้ก็ยังไม่ได้ตกลงอะไรกัน โตโจก็สั่งเดินพรวดๆ เข้ามา คือประการสุดท้ายนั้นเขาก็ส่งคนไปโตเกียวแล้วเขาจะทำอย่างไรนั้น ผมก็นึกว่าคงไม่มีเรื่องก็รอฟังดูก่อน แล้วเมื่อวานนี้ก็ได้ไปอธิบายกับพวกที่พระตะบองอยู่เป็นเวลานาน ผมก็นึกว่าเรารอดูเขาก่อน จังหวัดพิบูลสงครามก็เข้ามาแล้วเมื่อเวลา 07.25 น. นี่เป็นข่าวที่ได้รับ”

[ข้อสังเกต : คำว่า “วานซืน” ในภาษาไทยหมายถึง “วันก่อนวานนี้หนึ่งวัน” คือ “วันที่ 6 ธ.ค.” แต่วันที่ 6 ธ.ค. 2484 นั้น “ไม่มีการประชุม ค.ร.ม.” เพราะจอมพล ป. ไปต่างจังหวัด ดังปรากฏในบันทึกของท่านผู้นี้ซึ่ง พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เล่ม 4 นั้นแล้ว

คณะ ร.ม.ต. มีการประชุมครั้งหลังสุดก่อนเหตุการณ์ 7-8 ธันวาคมนั้น คือ “วันที่ 7 ธันวาคม” ปรากฏในบันทึกการประชุมวันนั้นซึ่งคณะกรรมการอาชญากรสงคราม (โดยพระยาอรรถกรมมนุตตี) เป็นโจทก์อ้างเป็นเอกสารหลักฐานประกอบกับการกล่าวของจอมพล ป. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ตามฟ้องข้อ 3 (ข) (1) มีความดังต่อไปนี้

“เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน และวันที่ 3 ธันวาคม 2484 เวลากลางวัน จำเลย (จอมพลพิบูลฯ) ได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชักจูงโดยอุบายด้วยประการต่างๆ ให้รัฐมนตรีเห็นดีเห็นชอบด้วยกับความคิดเห็นของจำเลย ในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเข้าข้างประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลยได้อ้างเหตุจูงใจเป็นใจความว่า ถ้าเข้ากับญี่ปุ่นรบอังกฤษจะเสียหายน้อยกว่า และถ้ารบชนะจะได้ดินแดนเก่าที่เสียไปกลับคืนด้วย”]

เวลา 07.45 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายดิเรก ชัยนาม ได้ออกไปเจรจากับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกับคณะซึ่งได้ให้ตามมาพบ

เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกลับเข้าสู่ที่ประชุม

นายกรัฐมนตรี : “ผมได้ไปพูดกับเขา ก็คงมีเรื่องเช่นเดียวกับที่ได้พูดกันแล้วเป็นส่วนมาก ทีนี้ผมได้ถามเขาว่าเขาจะประสงค์อะไร จะทำกับเราเหมือนกับอินโดจีนหรือ เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ประสงค์จะทำเช่นนั้น เขาบอกว่าศัตรูของเขาคืออังกฤษกับอเมริกา เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าเมื่อพิจารณาภูมิประเทศเมืองไทยแล้ว การที่จะไปทางมลายูหรือพม่าก็จำเป็นจะต้องผ่านดินแดนของเรา เพราะฉะนั้นเขาขอความสะดวก ทีนี้เขาเลยยื่นมา 4 ข้อ เขาบอกว่าถ้าตกลงจะร่วมมือกับเขาก็มีอยู่ 4 อย่างซึ่งเขาให้เราเลือกเอา และสัญญานี้เขาบอกว่าเราจะเซ็น หรือไม่เซ็นก็ได้”

นายดิเรก ชัยนาม : “(อ่านสัญญาที่ญี่ปุ่นยื่นมาและแปลดังต่อไปนี้) เนื่องจากการสนทนาในวันนี้ เราจึงได้ตกลงกันในข้อความดังต่อไปนี้อย่างเต็มที่

(1) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยจะทำสัมพันธไมตรีในทางรุกรานและป้องกันตัวร่วมกัน

(2) ประเทศไทยจะให้ความร่วมมือแก่ประเทศญี่ปุ่นในทางการทหารเท่าที่จำเป็นตามที่กล่าวในข้อ (1) (รวมทั้งการอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย และอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้การเดินทางผ่านนั้นทำนองเดียวกันกับในการที่จะปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อมิให้มีการปะทะกันและกัน อันอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทย)

(3) รายละเอียดแห่งการปฏิบัติการตามข้อ (1) และข้อ (2) ดังกล่าวข้างต้นนั้น จะได้ทำการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทั้งสองประเทศ

(4) ญี่ปุ่นจะให้ประกันในความเป็นเอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของ

ประเทศไทยจะได้รับความเคารพ และประเทศญี่ปุ่นจะได้ร่วมมือกับประเทศไทยในการที่จะเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา

(5) ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จะถูกยืนยันกันในภายหลัง โดยแลกเปลี่ยนเอกสารในทางราชการระหว่างรัฐบาลเราทั้งสองฝ่าย”

พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ทรงแปลอีกฉบับหนึ่ง) มีความว่า

“(1) ประเทศไทยจะเข้าในกติกาสัญญาไตรภาคีฉบับลงวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940

(2) ประเทศไทยจะให้ความร่วมมือทางทหารแก่ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นผ่านอาณาเขตไทยไป และให้ความสะดวกที่จำเป็นทุกประการในการที่จะผ่านไปนั้น กับทั้งจะได้จัดการทันทีเพื่อป้องกันการปะทะกันใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างญี่ปุ่นกับทหารไทย

(3) รายละเอียดในการปฏิบัติตามวรรค (1) และ (2) ข้างบนนี้ ให้ทำความตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่แห่งประเทศทั้งสอง

(4) ญี่ปุ่นจะให้ประกันว่า เอกราชอธิปไตยและเกียรติยศของประเทศไทยจะได้รับความเคารพ และจะร่วมมือกับประเทศไทยในการเอาดินแดนซึ่งประเทศไทยได้เสียไปคืนมา”

ระหว่างที่คณะรัฐมนตรีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อ้างถึงแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า

นายกรัฐมนตรี : “ผมขอเสนอให้หยุดยิงกันเสียก่อน แล้วจะรบกันก็เอา หรือจะร่วมกันก็เอา ผมเอาทั้งนั้น”

รัฐมนตรีหลายคนก็ยังแสดงความคิดเห็นถึงแผนการที่ญี่ปุ่นเสนอมานั้น ความปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว มีความตอนหนึ่งว่า

นายกรัฐมนตรี : “ว่าอย่างไร เอาหรือไม่เอา ไม่เอาก็ออกไปกันวันนี้ ว่าอย่างไร จะรบหรือไม่รบ”

รัฐมนตรีอีกหลายท่านก็ยังอภิปรายต่อไปอีก ถึงผลได้ผลเสียที่จะยอมตามแผนของญี่ปุ่นหรือไม่ ความปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีความอีกตอนหนึ่งว่า

นายกรัฐมนตรี : “ผมเองก็ไม่รู้จะตกลงอย่างไรเหมือนกัน คือ ไม่รู้ว่าเสียงประชาชนส่วนมากเป็นอย่างไร”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “ทางประชาชนผมเข้าใจว่า ถ้ารัฐบาลไปในทางใด ผมนึกว่าแกรับเพราะแกไม่รู้อะไรมากกว่านี้ ผมขอเรียนเพิ่มเติมเป็นข้อดำริอีกอันหนึ่งว่าอาจจะเลือกอันหนึ่งกับอันสอง ผมคิดว่าบางทีอันสองที่เข้าแอกซีส (ฝ่ายเยอรมัน, อิตาลี, ญี่ปุ่น) นั้น บางทีจะดีกว่า ที่ดีนั้นคือเพราะเหตุว่า อันหนึ่งมีญี่ปุ่นคนเดียวการันตี แต่อันที่สองนั้นเมื่อเข้าแอกซีสแล้ว ยังมีเยอรมัน อิตาลีการันตีด้วย แต่ผลภายนอกนั้นก็คงเป็นเช่นเดียวกัน คือจะต้องแตกกับอังกฤษและอเมริกา”

นายปรีดี พนมยงค์  : “ผมเห็นอย่างนี้ คือ เมื่อเราหยุดยิงและวินิจฉัยไปในทางที่เราจะไม่รบแล้ว ผลที่ตกลงนั้นจะต้องเป็นว่าเราไม่ไปรบกับอีกทางหนึ่งที่นี้เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว แปลนที่ 3 จะเป็นอย่างไร จะมีทางแก้ไขอย่างไร คือให้เป็นไปในทางที่คุณอดุล อดุลเดชจรัสว่า คือถ้าเป็นไปในรูปนั้นก็คงเบาลง แต่ถึงจะตกลงไปในทางใด ผลมันน่าจะต้องรบวันยังค่ำ”

นายประยูร ภมรมนตรี : “ถึงเราอยู่เฉยๆ มันก็เข้ามา”

นายปรีดี พนมยงค์ : “นั่นสิ ผลมันก็ต้องรบ เขาเสนอมา 4 แปลน เขาให้เราเลือกว่าจะเอาอย่างไร เดี๋ยวนี้เราไม่อยากจะรบแล้ว เราจะมีทางใด”

รัฐมนตรีหลายท่านก็ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนการต่างๆ ที่ญี่ปุ่นเสนอมาความปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับที่อ้างถึงแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า

นายปรีดี พนมยงค์ : “ประเดี๋ยวก่อน กรณีสวีเดนเป็นอย่างไร”

พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร : “สวีเดนนั้นเป็นแต่ให้ผ่านไปเท่านั้น”

นายปรีดี พนมยงค์ : “นั่นสิ ถ้าจะเอากรณีอย่างสวีเดนแล้ว ข้อไขของเขานี้เป็นเรื่องร่วมดีเฟนส์ออฟไทยแลนด์ (ป้องกันประเทศไทย) นี้เป็นเรื่องร่วมดีเฟนส์ ไม่ใช่เรื่องพาสเจส (เดินผ่าน) ผมเห็นว่าลองร่างดูเสียใหม่ให้เป็นพาสเจสลองร่างดูแล้วมาปรึกษากันอีกที ผมเห็นอย่างนี้”

ที่ประชุมตกลงให้เสนอร่างใหม่โดยเอาแผน 3 เติม 4 และมอบให้นายวนิช ปานะนนท์ไปเจรจา ครั้นแล้วปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับที่อ้างถึงมีความตอนหนึ่งว่า

นายกรัฐมนตรี : “ก็ดีแล้ว จำไว้ด้วยนะ ผมสั่งแล้วว่าให้หยุดยิง ถ้าทีหลังมันตายแล้วจะมาว่าเราไม่ได้”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “เวลา 07.30 น. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งให้หยุดยิง”

นายวนิชฯ ได้ออกไปเจรจากับญี่ปุ่นคนเดียวกันแล้วกลับมารายงานคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติใหม่ให้นายดิเรก, พระองค์เจ้าวรรณฯ และนายวนิชฯ ไปเจรจากับญี่ปุ่นอีก แล้วกลับเข้ามารายงานคณะรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรีบางท่านได้อภิปรายตามรายงานของ 3 ท่านนั้นแล้ว ความปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับที่อ้างข้างบนนั้นดังต่อไปนี้

นายกรัฐมนตรี : “เรื่องพาสเจสนั้น ขอให้ไปเจรจากับเขาว่า ขอให้ผ่านไปเลย อย่าให้พักเพราะที่พักของเราไม่มี เสบียงอาหารก็ไม่มี”

นายปรีดี พนมยงค์ : “ทางซอเวอเรนตี้ (อธิปไตย) นั้น ต้องไปซ้อมความเข้าใจกับเขาอีกว่า ที่พูดกันนี้เฉพาะในเรื่องทางทหารเท่านั้น ส่วนทางอื่นนั้น เขาจะต้องเคารพเรา และจะมาเอาการเศรษฐกิจการคลังด้วยนั้นไม่ได้ นี่ต้องซ้อมความเข้าใจให้เขาเข้าใจเสียด้วย”

พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน : “ของมันกว้างมาก”

นายวนิช ปานะนนท์ : “ผมเป็นผู้รับคำสั่งให้ไปพูดตามที่ตกลง จึงขอซ้อมเสียก่อนที่จะพูดอีก

(1) เข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการปลดอาวุธเรา ถ้าดังนั้นไม่ยอม

(2) เรื่องพาสเจสจะไม่พักที่บางกอก ถ้าพักไม่ยอม

(3) ในข้อ 2 เข้าใจว่า เฉพาะกับทหารเท่านั้น

(4) นี่เป็นการซ้อมความเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับข้อตกลงซึ่งเป็นไปนั้นแล้ว”

ที่ประชุมตกลงให้นายวนิช ปานะนนท์, นายดิเรก ชัยนาม และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ออกไปซ้อมความเข้าใจ

ระหว่างที่คณะรัฐมนตรีปรึกษาหารือกันอยู่นั้น รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับกองกำลังทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนจากจังหวัดพระตะบอง และกำลังเคลื่อนที่บ่ายหน้าเข้ามาทางมงคลบุรี ฯลฯ และได้ข่าวถึงการที่ญี่ปุ่นได้มีความสำเร็จในการทำลายกองทัพเรืออเมริกันที่อ่าวเพิร์ล (Perl Harbour) และความสำเร็จในการยกพลขึ้นบกที่กวนตันแห่งรัฐมลายูของอังกฤษ

คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ดังปรากฏในคำแปลต่อไปนี้

 

“คำแปล

ข้อตกลงระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น

ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องแล้วจากรัฐบาลของตนตกลงกันดังต่อไปนี้

1. เพื่อจะจัดการกับสถานการณ์เร่งด่วนในเอเชียตะวันออก ประเทศไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ และจะให้ความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อการผ่านดังกล่าว ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ โดยทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันทุกอย่างอันอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างกองกำลังทหารญี่ปุ่นกับกองกำลังทหารไทย

2. รายละเอียดเพื่อการปฏิบัติตามวรรคแรก จะต้องตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ

3. ประเทศญี่ปุ่นให้ประกันว่า เอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทยจะได้รับการเคารพ

ทำไว้สองชุด ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1941

(ลงชื่อ) ดิเรก ชัยนาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายไทย

(ลงชื่อ) ท. ทสุโบกะมิ
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย”

 

อนึ่ง ปรากฏความตามบันทึกรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับที่อ้างถึงนั้น มีความตอนหนึ่งว่า

นายกรัฐมนตรี : “เห็นจะต้องออกแถลงการณ์ว่า เมื่อเช้านี้ คือ เวลา 02.00 น. ทหารญี่ปุ่นได้ล่วงล้ำเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาเที่ยง”

นายปรีดี พนมยงค์ : “และแถลงไปด้วยว่าเราได้พยายามต่อสู้แล้ว  แต่ภายหลังเขาได้ขึ้นมาหลายจุดต่อหลายจุดก็เหลือกำลังที่เราจะป้องกันได้ และเขาได้มาขอเจรจากับเรา”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “ก็บอกว่าภายหลังก็ได้มีการตกลงนี้ก็แล้วกัน”

นายปรีดี พนมยงค์ : “ไม่ใช่ตกลงอย่างนี้ ต้องว่าแล้วเขาได้มาขอเจรจากับเรา เพราะมิฉะนั้นเราจะเสียหาย (หมายความว่าจะเสียศักดิ์ศรีของชาติที่ขอยอมแพ้ก่อน)”

นายกรัฐมนตรี : “บอกว่าเราได้พยายามต่อสู้แล้ว ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ได้มาเจรจาขออย่างนี้ๆ และเราเห็นว่าการที่จะต่อสู้ต่อไปนั้นก็เป็นการเปลืองชีวิตผู้คนและทรัพย์สมบัติ เราจึงได้ผ่อนผันตกลงกับเขา และในที่สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนพลเมืองจงเชื่อฟังรัฐบาลต่อไปเถิด”

นายปรีดี พนมยงค์ : “ขอให้คุณวิจิตร วิจิตรวาทการ ไปร่างดู”

นายกรัฐมนตรี : “เอ นี่เป็นความผิดของเราหรือไม่”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “เขามาตามธรรมชาติ เราไม่ได้ทำผิดอะไร”

ปิดประชุมเวลา 11.55 น.
(ตรงกับ 05.55 น. เวลากรีนิช, อังกฤษ และตรงกับ 23.55 น. เวลาวอชิงต้น, ส.ร.อ.)

 

เมื่อเสร็จประชุมตอนเช้าแล้ว ข้าพเจ้ากลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านแล้วก็พบนายทวี ตะเวทิกุล และปราโมทย์ฯ กำลังคอยอยู่เพื่อขอทราบท่าทีต่อไปของรัฐบาล และขอทราบว่าข้าพเจ้าจะสั่งให้ปฏิบัติอย่างไร ข้าพเจ้าได้เล่าถึงเหตุการณ์ระหว่างค่ำวันที่ 7 ถึงเช้าเวลา 11.55 น. ของวันที่ 8 ให้ 2 คนทราบพอสังเขป

นายทวีฯ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ชี้แจงว่านักศึกษาอยากรบก็มี และที่ไม่อยากรบก็มี ครั้นแล้วข้าพเจ้าได้ขอให้ 2 คนนั้นไปสดับตรับฟังความรู้สึกของราษฎรว่ามีความเห็นอย่างไร แล้วนัดให้ 2 คน นั้นช่วยนัดเพื่อนบางคนมาพบข้าพเจ้าในตอนค่ำของวันที่ 8 นั้น

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีเวลาบ่ายของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เข้าร่วมประชุมด้วย

ข้าพเจ้าขอนำความสำคัญจากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตอนบ่าย มาลงพิมพ์ไว้ดังต่อไปนี้

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : วันนี้คุณดิเรก ชัยนาม รับทูตอังกฤษกับทูตอเมริกาเขาก็แสดงความเสียอกเสียใจ คือบอกว่าเห็นใจเรา และทูตอเมริกาก็บอกว่าให้ยอมทนไปก่อนก็แล้วกัน แล้วต่อไปก็จะมีทางแก้ตัวได้ คือทั้งสองคนแสดงความเห็นใจ ไม่ใช่โกรธเคืองอะไร กระผมไม่ได้อยู่ด้วย คุณดิเรกเล่าให้ฟัง”

นายประยูร ภมรมนตรี : “ทางล่างแตกตื่นกันมาก ซื้อข้าวซื้อของ ของขึ้น ราคามาก”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “คำแถลงการณ์ได้อ่านทางวิทยุแล้วเมื่อบ่ายนี้ สองหน  ทูตอังกฤษกับอเมริกันเขาขอแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เราก็ให้ไป”

นายกรัฐมนตรี : “คุณหลวงวิจิตรวาทการได้ฟังข่าวมาอย่างไรบ้าง”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “ผมยังไม่มีโอกาสพบใครเลย”

นายกรัฐมนตรี : “อาจารย์ว่าอย่างไร”

นายปรีดี พนมยงค์ : “เดี๋ยวนี้พวกเด็กหนุ่มๆ ที่อยากรบก็มี และพวกที่ไม่อยากรบก็มี แต่ทางแถบบ้านผมก็ไม่เห็นมีอะไร”

นายกรัฐมนตรี : “ผมนึกว่าทุกๆ กระทรวงควรจะไปชี้แจงความจำเป็นต่างๆ เราต้องช่วยกัน คือหมายความว่าอย่างไรๆ ก็ให้พ้นบ้านเราไปได้ก็เป็นการดี”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “อัครราชทูตอังกฤษถามว่า ถ้าหากอังกฤษจะพุ่งเข้ามาในเขตไทยบ้าง แล้วไทยจะสู้อังกฤษไหม คุณดิเรก ชัยนาม ได้ตอบไปว่าให้เข้ามาเถอะ”

นายกรัฐมนตรี : “เชื่อว่าคงไม่เข้ามาหรอก ทางใต้ได้ข่าวอย่างไรบ้าง”

พล.ท.มังกร พรหมโยธี : “เขาว่าเรือญี่ปุ่นเข้ามา 15 ลำ”

นายกรัฐมนตรี : “ที่ชุมพร 12 ลำ สงขลา 20 ลำ”

นายปรีดี พนมยงค์ : “นี่หยุดยิงกันเรียบร้อยหมดแล้วไม่ใช่หรือ”

นายกรัฐมนตรี : “ก็ยังมีบ้างที่คั่นกระได”

นายช่วง เชวงศักดิ์สงคราม : “ได้โทรเลขห้ามไปแล้ว”

นายปรีดี พนมยงค์ : “ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่เขาจะมาใช้ข้าวของหรือจะซื้อข้าวของอะไรเหล่านี้คือเขาจะต้องมีเงิน การที่เขาจะใช้กับใครและใช้อะไรนั้นจะต้องมีข้อตกลงที่เราจะต้องทำรายละเอียดเอาไว้ เและเงินนั้นเขาจะต้องทำรายละเอียดเอาไว้ และเงินนั้นเขาจะต้องมีฝากไว้คือให้มีเครดิตขึ้นประเดี๋ยวจะมาใช้เปล่าๆ”

นายกรัฐมนตรี : “เรื่องมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าก็เห็นจะต้องใช้เปล่า”

นายปรีดี พนมยงค์ : “เมื่อมีทางพูดแล้ว เราก็ต้องพูดไว้เสียด้วย”

นายกรัฐมนตรี : “ก็ให้กระทรวงคลังรับเอาไป  เวลานี้จากสงขลาก็เข้ามายึดหาดใหญ่ไว้แล้ว”

นายปรีดี พนมยงค์ : “เวลานี้ตายเท่าไร”

นายช่วง เชวงศักดิ์สงคราม : “ของเราที่นครศรีธรรมราช ทหารตาย 3 คน”

นายปรีดี พนมยงค์ : “ของเขาเป็นตายอย่างไรบ้าง”

นายช่วง เชวงศักดิ์สงคราม : “ก็มีบาดเจ็บบ้าง ตายบ้าง”

นายกรัฐมนตรี : พระศิลป์ฯ ไปเข้าประชุมกรรมการ พวกกรรมการเขาบอกว่าอยากจะขอมาพักที่สปอร์ตคลับ ถ้าจะมาพักชั่วคราวก็เห็นจะได้ เวลานี้ผมคนเดียวเต็มที เห็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยผมบ้าง

เมื่อได้พิจารณาเรื่องกรรมการติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่น และได้ถวายข้อตกลงกับญี่ปุ่นให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ พิจารณาแล้ว ปรากฏความสำคัญในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปว่า

พระองค์เจ้าอาทิตย์ : “ทางต่างประเทศเขาว่าอย่างไร ทางอังกฤษ”

นายวิจิตร  วิจิตรวาทการ : “อังกฤษก็บอกว่าเห็นใจ แต่ตาครอสบี้พูดเยาะเย้ยหน่อยว่า ไม่ควรไปบอกเสียก่อนว่าจะสู้จนคนสุดท้าย แต่พอ 6 ชั่วโมงเท่านั้นก็ยอมเสียแล้ว แต่บอกว่าเห็นใจ”

นายกรัฐมนตรี : “ก็ไม่มีใครสู้จนคนสุดท้ายทั้งนั้น (พูดกับพระองค์เจ้าอาทิตย์) เชอร์ชิลล์เขามีหนังสือมาบอกว่าให้ป้องกันตัวเอง (โปรดดูข้อสังเกตของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องสาส์นนี้ในส่วนที่ 3)”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “นี่เราก็เก็บเอาไว้โฆษณาทีหลัง คือพอเราได้รับอันนี้แล้วเราจึงได้ยอม”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “พวกข้าราชการนั้น วันพรุ่งนี้ให้มาทำงานตามเดิมไม่ดีหรือ”

นายวิลาศ โอสถานนท์ : “ประกาศทางวิทยุแล้ว”

นายกรัฐมนตรี : “ข่าวสิงคโปร์ว่าอย่างไรบ้าง”

นายวิลาศ โอสถานนท์ : “ข่าวสิงคโปร์ตอนหลังนี้ที่เจ้าหน้าที่รับฟังได้มีคลื่นรบกวนแต่เมื่อคืนนี้รับฟังได้ชัดเจน มีข่าวล่าที่สุดบอกว่า ญี่ปุ่นที่เข้าตีโคตาบารูนั้นได้ถอยแล้ว แต่ทางใต้โคตาบารูนั้นขึ้นได้แล้ว”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “ผมได้ยินแว่วๆ เรือประจัญบานอเมริกาจมและตามข่าวก็ว่าญี่ปุ่นถูกจมเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ เรือลาดตระเวน 2 ลำ และยังมีเรือปืน เรืออะไรอีกก็ไม่รู้”

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชาจรัส : “พระศิลป์ฯ ว่าเขาอยากจะพักที่สปอร์ตคลับเพราะสวนลุมพินีไม่มีที่ จะต้องลองพูดกับเจ้าของดูก่อน ถ้าไม่ได้ก็ขอให้เขาพักที่สถานทูตหรือตามบ้านญี่ปุ่นอื่นๆ”

นายกรัฐมนตรี : “มีข่าวอะไรอีกไหม ผมเองก็ไม่มีข่าวอะไร”

พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน : “ทางสมุทรปราการเข้ามาถึงไหนแล้ว”

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส : “คงติดอยู่ที่พระโขนง คือเมื่อทางตำรวจเราห้าม เขาก็ไม่เข้ามาอีก”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “ได้ตกลงกันเมื่อเช้านี้แล้วว่าเขาจะไม่เข้ามาในซิตี้”

นายกรัฐมนตรี : “แถลงการณ์เท่านั้นก็เห็นจะพอแล้ว”

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ : “ผมนึกว่าพอสำหรับเวลานี้”

นายกรัฐมนตรี : “ต่อไปจะพูดได้อีกหรือไม่ แต่ผมเองก็ไม่มีอะไรจะพูดได้อีกแล้ว ไม่มีภูมิที่จะพูดอีกแล้ว เก่งมาหลายปี 3-4 ปี คราวนี้หมดภูมิ เราลองพิจารณากันดูซิว่าจะมีทางอะไรที่จะเอาตัวรอดได้ จะมีทางอะไรดี ขุนสมาหารเห็นอย่างไร”

นายโประ สมาหาร : “ผมคิดว่าถ้าจะให้ดี เรารอความเคลื่อนไหวของเขาสัก 2 วัน”

นายกรัฐมนตรี : “ไม่ใช่ ในใจท่านขุนจะตกลงอย่างไร”

นายโประ สมาหาร : “ใจผมก็เห็นอย่างเมื่อกลางวัน”

นายกรัฐมนตรี : “บางคนเขาเห็นว่าควรจะรบต่อไปอีก ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรเหมือนกัน”

พระองค์เจ้าอาทิตย์ : “การตกลงเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราร่วมมือด้วย”

นายกรัฐมนตรี : “ก็โดยปริยาย”

นายดิเรก ชัยนาม : “เข้ามาในที่ประชุม”

นายกรัฐมนตรี : “คุณดิเรก ทูตว่าอย่างไร”

นายดิเรก ชัยนาม ได้กล่าวถึงเรื่องชี้แจงต่อทูตอังกฤษและอเมริกาให้ทราบตามที่ตกลงกับญี่ปุ่นและได้แจ้งว่า ทูตอังกฤษกล่าวสุดท้ายว่า “แก (ครอสบี้) บอกว่าถ้าญี่ปุ่นที่คีพโพรมีส (ปฏิบัติตามที่ให้คำมั่น) ได้เท่าที่ได้เซ็นกันวันนี้แล้ว แกก็ขออวยพรให้เราเจริญ แต่แกบอกว่าสงสัยอีก 2-3 วัน เขาจะมีมาอย่างอื่นอีกแต่ถ้าคีพโพรมิสได้แล้วแกก็ขออวยพรด้วย และแกบอกว่าอย่างน้อยก็ขอให้นายกรัฐมนตรีตอบเมสเสจของท่านเชอร์ชิลล์เมื่อเช้านี้ในนามของรัฐบาลไทยสักหน่อย”

พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส : “ตามหลักที่ผมทำ ไม่ว่าใครจะเข้ามาทั้งนั้น ผมสั่งแล้วว่าให้ยิง ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นเข้ามาเราก็ได้ยิงแล้วเหมือนกัน แต่เวลานี้เราได้ตกลงกับญี่ปุ่นไปแล้วให้หยุดยิง แต่ส่วนทางอังกฤษนั้นเราไม่มีข้อตกลงอะไร ถ้าเขาเข้ามาเราก็ต้องยิง”

นายดิเรก ชัยนาม : “ผมได้ตอบไปว่า เข้าใจว่าจะไม่มีการยิง”

นายกรัฐมนตรี : “นี่เราจะอพยพกันดีไหม หรือไม่ต้อง พวกเด็กๆ ให้ไปอยู่ทางเหนือกันเสีย”

นายควง อภัยวงศ์ : “ในตอนนี้ยังไม่เป็นอะไร ญี่ปุ่นได้ตั้งต้นลำเลียงไปทางใต้แล้ว”

นายกรัฐมนตรี : “รัฐบาลเราจะย้ายไหม หรือจะอยู่กันที่นี่ ว่าอย่างไรหลวงเกรียงฯ”

พล.ต.พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต : “ผมนึกว่าไม่ต้องย้าย”

นายกรัฐมนตรี : “หลวงพรหมฯ ว่าอย่างไร”

พล.ท.มังกร พรหมโยธี : “เรื่องย้ายนั้นได้ตกลงให้เจ้าคุณอภัยสงครามเตรียมแผนเอาไว้แล้วว่าจะให้ใครไปอยู่ที่ไหน แต่สำหรับรัฐบาลนั้นเห็นว่าควรจะต้องอยู่ก่อน ส่วนประชาชนที่จะไปนั้นไม่ขัดข้อง”

นายกรัฐมนตรี : “แผนย้ายนั้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะเมืองเรานั้นไม่มีอะไร ต้นทุนหายปลายทุนขาด นอกจากนั้นก็เห็นจะไม่มีอะไรอีก ผมอยากจะขอแรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมช่วยผมบ้าง ผมคนเดียวก็ไม่ไหวเหมือนกัน”

พล.ท.มังกร พรหมโยธี : “ผมมาอยู่ด้วยได้”

นายกรัฐมนตรี : “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ด้วย”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “ได้”

นายกรัฐมนตรี : “แต่เท่าที่ดูทำทีแล้วเห็นจะไม่เป็นไร ที่มาจากอรัญฯ นั้น รถทุกคันติดธงไทยกับธงญี่ปุ่นไขว้กัน อเมริกาประกาศสงครามหรือยัง”

พระองค์เจ้าอาทิตย์ : “เขาต้องขออนุมัติกองเกรสเสียก่อน แต่สั่งระดมพลทั่วประเทศแล้วและสั่งเคลื่อนกองทัพเรือแล้ว”

นายกรัฐมนตรี : “ทหารของเราอย่าเอาไปเลยที่ลพบุรี อยู่ที่โน่นมันก็แล้วกัน”

น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “กระจายเอาไว้ดีกว่า ถึงอย่างไรเราก็ยังพอจะมีทางและรัฐบาลเรานั้นจะย้ายไปก็ไม่ดี ถ้าย้ายไปแล้วญี่ปุ่นก็จะได้ใจ แต่ถ้าอยู่อังกฤษจะทำอะไรก็ยังเกรงใจเรา และถ้าไปแล้วก็จะกระทบกระเทือนกับราษฎร เดี๋ยวมันก็จะมารบในกรุงเทพฯ ควรจะย้ายก็แต่เด็กกับผู้หญิงเท่านั้น”

นายกรัฐมนตรี : “เห็นจะเลิกประชุมได้”

ปิดประชุมเวลา 07.55 นาฬิกา
(ตรงกับ 24.55 น. เวลากรีนิช, อังกฤษและตรงกับ 06.55 น. เวลาวอชิงตัน, ส.ร.อ.)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์.2525. “บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 2 การประชุม ค.ร.ม. 7 - 8 ธ.ค. 2484.” ใน “อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก”. (กรุงเทพมหานคร: วัฒนาพานิช). หน้า 10-30.