ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็น PRIDI × BMA กิจกรรมครบรอบ 77 ปี วันสันติภาพไทย

18
สิงหาคม
2565

ในวาระ 77 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม PRIDI × BMA กิจกรรมครบรอบ 77 ปี วันสันติภาพไทย ขึ้น ณ สวนเสรีไทย บึงกุ่ม บริเวณห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ในช่วงต้นกิจกรรม รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการและการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ รวมไปถึงความเป็นมาของ "สวนเสรีไทย" ในเบื้องต้นและความสำคัญของ "วันสันติภาพไทย" กล่าวคือ หากไม่มีขบวนการเสรีไทยก็อาจจะไม่มีประเทศไทยเช่นนี้ในปัจจุบัน ไทยอาจจะถูกยึดครอง แบ่งแยกประเทศ หรือเสียผลประโยชน์ในบางเรื่อง ดังนั้นกิจกรรมในวันนี้นั้น เพื่อเป็นการรำลึกคุณูปการในอดีตของผู้เสียสละซึ่งต่อสู้ให้ประเทศไทยได้คงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงท้าย รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังได้เน้นย้ำถึงสิ่งสำคัญที่ควรยึดมั่น คือการสืบทอดอุดมการณ์ สืบทอดแนวคิดสันติภาพ และสืบทอดประชาธิปไตย

กว่าจะมาเป็น ‘สวนเสรีไทย’

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ "สวนเสรีไทย" โดยเริ่มต้นจาก พ.ศ. 2526 เป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในเขตบางกะปิ คันนายาว บึงกุ่ม รามคำแหง ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 กรุงเทพมหานครเริ่มมองหาบึงเก็บน้ำ จึงพบกับ บึงตาทอง แต่เป็นแหล่งเก็บน้ำที่เสื่อมโทรม กรุงเทพมหานครจึงเริ่มต้นพัฒนาขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนคลองกุ่มเป็นพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ เพื่อสร้างอาคารสำหรับผู้ทำหน้าที่ดูแลบึงตาทอง

ดร.พิจิตตกล่าวว่า "...สวนเสรีไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยที่ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2535-2539 ในขณะนั้นมีงบประมาณในการสร้างและพัฒนาสวนแห่งนี้ จนในปี พ.ศ. 2539 เมื่อผมได้เข้าร่วมทำงานกับกรุงเทพมหานคร ในตอนนั้นจึงได้รับงบประมาณมากเป็นพิเศษ เพื่อก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมา รวมถึงบ้านพักและห้องสมุด

ภายหลังผมได้พูดคุยอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ โดยอาจารย์ดุษฎีขอความคิดเห็นว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งชื่อสวนแห่งนี้อย่างทางการว่า “สวนน้ำเสรีไทย” เพื่อเป็นการอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณูปการของขบวนเสรีไทย ซึ่งผมเห็นด้วย ในปีต่อมาจึงมีงบประมาณในการสร้างอาคาร “เสรีไทยอนุสรณ์” และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ก็เกิดถนนประดิษฐ์มนูธรรม เกิดการเปลี่ยนชื่อถนนคลองตัน (สุขุมวิท 71) เป็น "ถนนปรีดี พนมยงค์" ขึ้นมา เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ...

ความสำเร็จของสวนเสรีไทยนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประชาชน องค์กรเอกชน และราชการส่วนกลาง ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อการเกิดอนุสรณ์แห่งนี้ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ของสวนเสรีไทย คือ การได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนในการบริหารน้ำ เก็บน้ำ ระบายน้ำ มีอาคารเสรีไทยที่มีทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เสรีไทย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบึงกุ่ม...

สวนสาธารณะแห่งนี้จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย หากขาดซึ่งการดูแลจากกรุงเทพมหานคร ผมอยากให้สวนแห่งนี้เติบโตและถูกดูแลรักษาไปพร้อมๆ กับการเติบโตของโรงเรียนคลองกุ่ม (เสรีไทยอนุสรณ์) และสุดท้ายนี้ผมขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันรักษาคุณค่าอุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทยให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับสถานที่แห่งนี้ตลอดไป..."

 

คุยเรื่องหนัง “พระเจ้าช้างเผือก”

ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อการค้าขาย แต่เป็นหนังที่เกิดจากนักปฏิวัติ คือ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วยเจตนาที่จะการสื่อสารความคิดต่อชาวไทยและชาวโลก ณ โมงยามที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอุบัติขึ้น ซึ่งในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2483 - 2484 สื่อที่มีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด คือ ภาพยนตร์ ยังไม่มีทีวี และถึงแม้จะมีวิทยุแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าใดนัก อาจารย์ปรีดีจึงเขียนนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกฉบับภาษาอังกฤษขึ้นมา ก็เพื่อตั้งใจให้ผลิตเป็นภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก ถูกฉายครั้งแรกใน 3 เมือง คือ กรุงเทพมหานคร (ไทย) นครนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) และสิงคโปร์ (อาณานิคมในอังกฤษ) จุดมุ่งหมายก็เพื่อส่งต่อความคิดแก่โลกเพื่อแสดงจุดยืนว่าราษฎรไทยไม่ต้องการสงคราม และเน้นย้ำถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือ สันติภาพ เพราะสงครามที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากผู้นำที่แสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น โดยภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกดำเนินเรื่องราวเล่าผ่านการเล่าประวัติศาสตร์การทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า

เมื่อศึกษาแล้วจะพบว่าความพิเศษในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การผสมผสานหลักคิดแบบตะวันตกและแบบไทยในเรื่องรูปแบบผลิต ในทางหนึ่งคือการแต่งกายแบบไทยตามประเพณีนิยม แต่ในทางหนึ่งก็ใช้เทคนิคการถ่ายทำที่เป็นแบบสากลขั้นสูงในหลายๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากสงครามและการสู้รบ แม้จะไม่ได้ใช้เทคนิคพิเศษอะไรมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ในปัจจุบัน แต่การถ่ายทำล้วนเป็นเทคนิคที่ล้ำสมัยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลานั้น แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศถึงความแปลกบางประการในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารทางการเมืองที่อาจารย์ปรีดีพยายามสื่อสารในภาพยนตร์ยังคงเป็นอมตะ เช่น ความเท่าเทียมและแนวคิดเรื่องสันติภาพ เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า การเดินทางตลอดหลายสิบปีของภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ได้พิสูจน์คุณค่าในตัวเองแล้วว่าเป็นดังตามพุทธวจนของอาจารย์ปรีดี คือ “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย” กล่าวคือ ภาพยนตร์บางเรื่องถูกสร้างโดยแฝงมายาคติบางอย่างไว้ในสมัยเดียวกัน เช่น คุณค่าเผด็จการหรืออำนาจนิยม ภาพยนตร์เหล่านั้นได้ล้มหายไปตามกาลเวลาแล้ว แต่สำหรับเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยอยู่เสมอ เป็นภาพยนตร์ที่จะอยู่คู่สังคมไทย และจะยังคงเป็น “ช้างเผือก” ให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยสืบต่อไป