บทนำ
สันติวัฒนธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเอเซียด้วยเหตุผลดังนี้ ประการแรกหากจำกัดความ “สันติภาพ” อย่างแคบๆ ว่า หมายถึงสภาวะปลอดสงคราม เอเซียย่อมไม่ใช่ทวีปที่มีสันติภาพ เฉพาะศตวรรษนี้ ชาวเอเซียที่เสียชีวิตโดยสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับสงครามมีมากกว่าในสองศตวรรษก่อนหน้านี้รวมกันนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี 1945 จนถึงก่อนปี 1991 โลกมีสงคราม 127 ครั้ง ทำให้มีผู้คนล้มตายถึง 21.8 ล้านคน โดยสงคราม 125 ครั้งในทั้งหมด 127 ครั้ง เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น ลักษณะสำคัญของความรุนแรงทางตรงของโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเซีย โดยเฉพาะในเอเซียตะวันออกไกล แม้เอเซียจะเป็นทวีปที่มีประชากร 55% ของประชากรโลก แต่ก็เป็นทวีปที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากสงครามสูงถึง 70% ด้วย[1]
นอกจากนั้น แม้ทหารจะไม่ได้ปกครองหลายประเทศในเอเซียโดยตรง แต่ก็ยังมีบทบาทนำทางการเมืองอยู่ในประเทศเหล่านี้ ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติยังมีอำนาจมากโดยอาศัยกฎหมายถ้าสมัยซึ่งออกบังคับใช้ตั้งแต่สมัยทหารปกครองประเทศ และบางครั้งทางการก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชน[2]
ยิ่งหากขยายการจำกัดความ “สันติภาพ” ให้หมายถึงสภาวะปลอดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง[3] เอเซียก็ยิ่งห่างไกลจากการเป็นทวีปที่มีสันติภาพ เพราะศักยภาพแห่งชีวิตมนุษย์ในทวีปนี้ยังคงถูกลิดรอนด้วยโครงสร้างของสังคมเอง ตัวอย่างเช่น ประชากรในอัฟกานิสถานจะมีอายุเฉลี่ยเพียง 40 ปี เมื่อเทียบกับชาวนอร์เวย์ซึ่งประชากรมีอายุเฉลี่ย 76 ปี และญี่ปุ่น 77 ปี คนที่เกิดในภูมิภาคยากจนของเอเซียทำให้ชีวิตของคนนั้นสั้นลงเกือบครึ่ง ขณะที่มารดาทุกคนในสวีเดนได้รับการดูแลระหว่างมีครรภ์ มารดาในอัฟกานิสถานเพียง 5% เท่านั้นที่จะได้รับการดูแลในระดับที่ใกล้เคียงกัน ในเอเซียใต้ประชากรเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภค และประชากรประมาณ 90% มีสภาพความเป็นอยู่ไม่ถูกสุขอนามัย ในเด็กกัมพูชาหนึ่งพันคน มีเพียง 130 คนเท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่ถึงวันเกิดขวบปีแรก ผู้หญิงในเอเซียใต้เกือบสามในสี่อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อเทียบกับสตรีในตะวันออกไกลประมาณหนึ่งในสามที่อ่านหนังสือไม่ออก[4] ตัวเลขเหล่านี้น่าจะพอให้ภาพของเอเซียและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันชัดเจนพอสมควร ซึ่งสะท้อนว่าสันติวัฒนธรรมจำเป็นเพียงไรต่อทวีปนี้
บทความนี้จะเริ่มด้วยการอภิปรายวิธีวิทยาว่าด้วยรากฐานเชิงสัญลักษณ์และทฤษฎีของสันติวัฒนธรรม จากนั้นจะพิเคราะห์ปัญหาสำคัญๆ ในเอเซียและทางออกที่มีอยู่ หากจะนำทางออกไปปฏิบัติอย่างได้ผล จำต้องสร้างสันติวัฒนธรรมจากรากทางวัฒนธรรมอันหลากหลายในเอเซีย สุดท้ายจึงเป็นการตรวจสอบการเมืองแห่งความหมายของสันติวัฒนธรรม
ว่าด้วยวิธีวิทยา
คานธีเคยอธิบายลักษณะของสังคมที่ปราศจากความรุนแรงให้ชาวบ้านในอินเดียฟังด้วยการยกมือซ้ายของท่านขึ้น กางนิ้วทั้งห้า และใช้นิ้วหัวแม่มือขวาชี้นิ้วมือซ้ายทีละนิ้ว ขณะอธิบายว่า “นี่คือความเสมอภาคสำหรับคนนอกวรรณะ นี่สำหรับปั่นด้าย นี่สำหรับการละเว้นของมึนเมาและยาเสพติด นี่สำหรับมิตรภาพระหว่างฮินดูและมุสลิม นี่สำหรับความเสมอภาคของผู้หญิง และข้อมือคือหิงสธรรม”[5]
เกลนน์ เผจ ใช้วิธีการอธิบายแบบเดียวกับคานธี เขาเสนอว่านิ้วทั้งห้าของมือซ้ายแสดงถึงปัญหาใหญ่ 5 ประการของโลก ได้แก่ สันติภาพและการลดอาวุธ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการบรรลุถึงการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ ส่วนห้านิ้วของมือขวาแทนมรดกทางความคิดของคานธีซึ่งประกอบด้วยจิตวิญญาณ (Spirit) วิทยาศาสตร์ การกระทำระดับกลุ่มและระดับปัจเจก การสร้างสรรค์อย่างมีเมตตา และความกล้าหาญที่สร้างสรรค์ เขาเสนอว่าการตื่นตัวเรื่องอหิงสธรรมระดับโลกจะเกิดขึ้นได้ หากมือที่แทนมรดกทางความคิดของคานธีมาหนุนรับมือที่แทนปัญหาสำคัญของโลก[6]
ปัญหาสำคัญที่ทำให้เอเซียไม่มีสันติภาพมิใช่ด้วยไร้ความสามารถระบุปัญหาความรุนแรง หรือชี้หนทางออกได้ เพราะการแก้ปัญหาความยากจนอันเป็นผลมาจากการเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป อาจทำได้โดยให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น หากปัญหาคือระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ทางออกก็คือการทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือพลังในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาที่ลิดรอนศักยภาพแห่งชีวิตของมนุษย์ในเอเซียพลังที่ว่าก็คือสันติวัฒนธรรมนั่นเอง
จากการวิเคราะห์ที่สร้างสรรค์ของเผจ ข้าพเจ้าจะพยายามระบุลักษณะปัญหาสำคัญ 5 ประการ อันเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพในเอเซีย โดยแทนด้วยนิ้วทั้งห้าของมือซ้าย และนิ้วทั้งห้าของมือขวา จะเป็นตัวแทนทางออกทั้ง 5 เมื่อประกบสองมือเข้าด้วยกัน จะเป็นกิริยาที่มีเอกลักษณ์ของเอเซียคือการไหว้กิริยาดังกล่าวปรากฏในหลายวัฒนธรรมของเอเซีย เพื่อแสดงการทักทายฉันท์มิตรและสัมพันธ์ที่สันติระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กิริยานี้ยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาในฐานะสะพานที่ทอดจากมนุษย์ที่อ่อนน้อมถ่อมตนสู่พลังเหนือธรรมชาติ เป็นกิริยาที่ใช้ได้ในเกือบทุกประเทศในเอเซียที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูและพุทธ
สำหรับชาวมุสลิม กิริยานี้อาจมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แตกต่างออกไปบ้าง ในการทักทายด้วยการให้สลามนั้น ชาวมุสลิมจะใช้มือสองข้างสัมผัสซึ่งกันและกัน โดยมือขวา (วิธีแก้ปัญหา) ของฝ่ายหนึ่ง สัมผัสกับมือซ้าย (ปัญหาความรุนแรง) ของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นกิริยาที่ต้องสัมผัสกันและกันจึงทำไม่ได้หากทั้งคู่อยู่ห่างเกินไป สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จึงกระชับใกล้ และชัดเจนขึ้น
ในแง่หนึ่ง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการเปรียบเรื่องมือสองข้างเป็นการสะท้อนภาพวัฒนธรรมของเอเซีย ยิ่งกว่านั้น ในวิถีชีวิตชาวเอเซียวัฒนธรรม คือตัวการที่นำสองมือมาประกบกัน นอกจากนี้ สัญลักษณ์นิยมในเชิงวิธีวิทยายังวางอยู่บนฐานทางทฤษฎีที่เน้นว่าวัฒนธรรมคือพลังสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ในบทความที่เขียนขึ้นเพื่อสานต่อแนวคิดเรื่อง “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1969 โยฮัน กัลตุง ได้เสนอแนวคิดใหม่เรื่อง “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” โดยกล่าวว่า ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนี่เองที่ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทั้งโดยตรงและเชิงโครงสร้าง และทำให้ความรุนแรงเหล่านี้เป็นที่ทานทนได้ในสังคม[7]
กัลตุลใช้รูปสามเหลี่ยมโยง “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” เข้ากับความรุนแรงหลัก 2 ประเภท คือความรุนแรงทางตรง และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เขากล่าวว่าเมื่อ “สามเหลี่ยมความรุนแรง” ตั้งอยู่บนฐานอันประกอบขึ้นด้วยความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่อยู่ด้านบนจะทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทั้งสองลักษณะ เมื่อ “สามเหลี่ยมความรุนแรง” ถูกจับเปลี่ยนทำให้ความรุนแรงทางตรงอยู่ด้านบน ก็จะสะท้อนที่มาให้เห็นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม[8]
หากฉายภาพความรุนแรงเป็นชั้นๆ ด้วยวิธีการปรากฏการณ์วิทยาแห่งความรุนแรง จะเป็นว่าความรุนแรงทางตรงซึ่งเป็นเหตุการณ์จะอยู่ชั้นบนสุด จึงสามารถมองเห็นได้ง่ายที่สุด ชั้นต่อมาคือรูปแบบการขูดรีดกับกลไกป้องกันการก่อสำนึกและจัดองค์กรที่อาจต่อต้านการขูดรีดและกดขี่ ลำดับชั้นนี้คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นชั้นความรุนแรงที่เห็นได้ยาก จึงอันตรายมากกว่าความรุนแรงในลำดับแรก ส่วนชั้นล่างสุดก็คือ “กระแสของความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนผ่านเวลาอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งรองรับความรุนแรงทั้งสองลำดับข้างต้น โดยนัยนี้ ความรุนแรงทางวัฒนธรรมจึงเป็น “ค่าคงที่” “เป็นความคงทนถาวร” ที่คงความสำคัญมาเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ช้า[9]
ด้วยเหตุนี้ จากฐานทางทฤษฎีของการวิจัย/ศึกษาเรื่องสันติภาพ การมุ่งความสนใจไปที่วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปลี่ยนจากความรุนแรง ทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ไปสู่สันติภาพ จะเป็นไปได้ยากมาก (ถ้าไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เอาเลย) หากไม่พิจารณาพลังที่ให้ความชอบธรรมและค้ำจุนความรุนแรงเหล่านี้ อุปมาเรื่องมือสองข้างอาจช่วยให้เห็นปัญหาความรุนแรงและทางออกได้ แต่การจะทำให้ทางออกเหล่านั้นมีผลทางปฏิบัติย่อมเป็นไปไม่ได้ หากไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ห้อมล้อมและให้ความชอบธรรมกับปัญหา ยิ่งกว่านั้นวัฒนธรรมเหล่านี้ยังผลักให้ทางออกซึ่งเน้นความสำคัญกับมนุษย์และสันติภาพ กลายเป็นเรื่องอุดมคติ กระทั่งเป็นความเพ้อฝัน การเปลี่ยนแปลงที่ฐานล่างทางวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญยิ่ง หากมุ่งบรรลุศักยภาพของทางออกที่โน้มนำสู่สันติภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าสงครามและความอยุติธรรมดำรงอยู่ได้เพราะความรุนแรงทางวัฒนธรรม เพื่อทำให้ความรุนแรงทั้งสองรูปแบบยุติลง ก็จำเป็นต้องใส่ใจกับสันติวัฒนธรรมและจัดให้ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่พึงปรารถนา กัลตุงกล่าวว่า “ภารกิจหลักของการวิจัยเพื่อสันติภาพและขบวนการสันติภาพ ก็คือการแสวงหาสันติวัฒนธรรมอย่างไม่หยุดหย่อน”[10] ในแง่นี้ วัฒนธรรมคือสิ่งที่จะนำมือแห่งปัญหามาประสานเข้ากับมือของทางแก้ปัญหา ซึ่งในกระบวนการนี้ ไม่เพียงกิริยาอันเป็นสัญลักษณ์ของเอเซียจะถูกสร้างขึ้น ทว่า ทฤษฎีสันติภาพซึ่งมีฐานจากวัฒนธรรมยิ่งได้รับการยืนยัน
ความสำคัญของวัฒนธรรมในการกำหนดความสำเร็จของสันติภาพ โดยเฉพาะในเอเซีย เป็นประเด็นหลักในการศึกษาเรื่องความร่วมมือระดับภูมิภาค[11] ไมเคิล แฮส ได้ศึกษาองค์กรส่วนภูมิภาคต่างๆ เพื่อพิเคราะห์ว่าชาติต่างๆ ในเอเซีย ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร เขากล่าวว่า “วิถีเอเซีย” ปรากฏขึ้นจากความพยายามหาขั้นตอนจัดการปัญหาต่างๆ ของรัฐอธิปไตยที่ไร้อิสระทางเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำของประเทศเหล่านี้ตระหนักว่าการใช้วิธีแบบแองโกล-ยูโรเปียนจะยิ่งทำให้ขยายความขัดแย้งออกไป ด้วยเหตุนี้ “วิถีเอเซียจึงเกิดขึ้นจากการประสมประสานคำสอนของพระพุทธเจ้า ขงจื๊อ และพระศาสดา มูฮัมหมัด ที่ปรับให้เหมาะสมกับสมัยใหม่”[12]
ตัวอย่างเช่น แฮสกล่าวว่าการทูตสองฝ่ายที่ค่อนข้างผ่อนปรน มักได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื้อ ศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม และอิทธิพลท้องถิ่นอื่นๆ อันที่จริงวัฒนธรรมดั้งเดิมในเอเซียได้เสนอชุดของปทัสฐานที่ซับซ้อน สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งสันติภาพเป็นสภาวะที่ปกติกว่าสงครามแก่ประเทศในภาคพื้นทวีปนี้[13] จากการพิจารณาการประสมประสานวัฒนธรรมต่างๆ ในเอเซีย แฮสสรุปหลักการซึ่งเป็นองค์ประกอบของ “วิถีเอเซีย” ได้ 6 ข้อ นั่นคือ ทางออกแบบเอเซียต่อปัญหาในเอเซีย ความเสมอภาคของวัฒนธรรม การกำหนดนโยบายโดยความเห็นชอบร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการ การให้ความสำคัญกับการเมืองเหนือการบริหาร และจิตใจแบบเอเซียครอบคลุม (Pan-Asia Spirit)[14]
ข้อสรุปของแฮส มีประเด็นสำคัญควรพิจารณา 2 ประเด็น ประเด็นแรก สันติวัฒนธรรมดำรงอยู่ในเอเซียจริงๆ และทำงานอย่างได้ผลในความร่วมมือระดับภูมิภาค ประเด็นที่สอง สันติวัฒนธรรมนี้ไม่ได้มีที่มาจากแหล่งเดียว หากเกิดจากการผสานธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวิถีทางศาสนา โดยวิถีเหล่านี้ไม่เพียงอยู่ร่วมกัน แต่ยังเอื้อต่อ “วิถีเอเซีย” ที่มุ่งสู่ความมีสันติภาพ
สันติวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีมนุษยธรรมในเอเซียจะถูกสร้างขึ้นจากหลายแหล่ง บนสมมติฐานที่ว่าแต่ละวัฒนธรรมสามารถเอื้อต่อสันติภาพ และด้วยการจัดแจงที่เหมาะสม วัฒนธรรมเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลให้เกิดสันติวัฒนธรรมแห่งเอเซียได้ด้วย
ก่อนจะกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงและทางออกต่อไป ข้าพเจ้าควรชี้แจงว่า “เอเซีย” ที่ใช้ในบทความนี้ หมายถึงเอเซียใต้ เอเซียอาคเนย์ และเอเซียตะวันออก โดยไม่รวมภูมิภาคตะวันออกกลางเพราะภูมิภาคนี้มีปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าจะกล่าวถึงในบทความนี้
ฝ่ามือทั้งคู่ : ระดับ ปัญหา และทางออก
ในการอภิปรายปัญหาความรุนแรงซึ่งนิยามไว้กว้างๆ ให้เข้าใจครอบคลุมคงต้องพิจารณาเป็น 5 ระดับ บรรทัดแรกของปฏิญญาสากลของยูเนสโกเสนอไว้ว่ากำเนิดของสงครามอยู่ในใจของคน การป้องกันสงครามจึงต้องเริ่มที่ใจคนเช่นกัน[15] การกล่าวถึงสันติภาพ โดยเฉพาะหากมุ่งประเด็นไปที่วัฒนธรรม จึงควรเริ่มต้นที่ใจคน ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ “ใจของหมู่ชน” และ “ใจของปัจเจกชน” ซึ่งตอนแรกของบทความนี้จะกล่าวถึงปัจเจกชนก่อน ในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดในการวิเคราะห์สังคม
ในฐานะตัวแสดงซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาการประสมประสานความหมายที่ดำรงอยู่หลากหลาย ปัจเจกชนจึงต้องกำหนดตัวตนในลักษณะที่สัมพันธ์กับผู้อื่น กระบวนการกำหนดตัวตนลักษณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดตำแหน่งแหล่งที่ของเขา/เธอ ยิ่งกว่านั้น การกำหนดตำแหน่งของตนโดยสัมพันธ์กับผู้อื่น ยังเป็นการนิยามขอบเขตของกลุ่มตนด้วย[16] ผลประการหนึ่งคือความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมเกิดขึ้นไม่ยาก ตัวอย่างเช่น อาชญากรรมต่อผู้หญิงจากการแทะโลมไปจนถึงการข่มขืน การมีอคติต่อชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุทางศาสนาหรืออะไรก็ตาม จึงจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อไป จนบางครั้งลุกลามกลายเป็นความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดน[17]
บุคคลหรือกลุ่ม มิได้ดำรงอยู่ในความว่างเปล่า ทว่าต้องอยู่ในสังคมในทุกสังคม ความรุนแรงอาจถูกสร้างขึ้นภายในโครงสร้างของสังคมนั้น อำนาจที่ไม่เท่าเทียมย่อมนำมาซึ่งโอกาสที่ไม่เท่าเทียม นี่คือสิ่งที่กัลตุงเรียกว่าความรุนแรงที่ไม่มีผู้กระทำ หรือ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง”[18] ซึ่งรวมตลอด ตั้งแต่ความรุนแรงอันเกิดจากระบบทหาร ไล่เรื่อยไปจนถึงภาวะทุพโภชนาการในสังคมสมัยใหม่
อีกระดับหนึ่ง คือสังคมระหว่างรัฐ-ชาติ ปรากฏการณ์ของความรุนแรงในระดับนี้ที่ชัดเจนที่สุดคือสงคราม ที่เห็นได้ยากกว่าคือการตระเตรียมเพื่อทำสงคราม ซึ่งทำให้ทรัพยากรอันมีจำกัดถูกนำมาใช้สนองมายาคติเรื่องการเผชิญหน้าทางทหารที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ลักษณะเด่นที่สุดประการหนึ่งของช่วงปลายศตวรรษนี้ ก็คือการให้ความสนใจอย่างมากต่อระบบนิเวศ การที่โลกต้องเผชิญกับปัญหา อาทิ การตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ และการกำจัดกากนิวเคลียร์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่เคยวางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังถูกท้าทาย
ข้าพเจ้าจะอภิปรายปัญหาความรุนแรง และทางออกของปัญหาใน 5 ระดับ คือ ระดับปัจเจกเชน ระดับระหว่างบุคคล ระดับรัฐ/โครงสร้าง ระดับนานาชาติ และระดับมนุษย์/ธรรมชาติ สิ่งที่ต้องกล่าวถึงก่อนในตอนนี้คือความไม่ชัดเจนของเส้นที่ขีดแบ่ง 5 ระดับเหล่านี้ออกจากกัน และปัญหาที่เกิดในระดับหนึ่งอาจล้ำเข้าไปในระดับอื่น ตัวอย่างเช่นวิถี “การจัดการ” ทรัพยากร ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ในทางหนึ่งก็สะท้อนการจัดสรรอำนาจของสังคมด้วย
ระดับปัจเจกชน
เอเซียกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่กระทบประชาชนและสังคม แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยขนบประเพณีดั้งเดิมกำลังถูกท้าทาย อย่างไรก็ตาม สังคมในเอเซียหลายแห่งได้เลือกที่จะก้าวไปบนเส้นทางสู่ความทันสมัย แม้บางครั้งจะต้องแลกกับระบบค่านิยมเดิมของสังคมก็ตาม
นักวิชาการชาวมุสลิมผู้หนึ่งเคยเขียนว่าปัญหา เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมากมักเป็นผลมาจาก “อาการของโรคความจำเสื่อม หรือความหลงลืม ที่คนสมัยใหม่เป็นกันมาก”[19] พวกเขาลืมไปว่าตนเป็นใคร อาการหลงลืมนี้ ไม่มากก็น้อย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงและอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเหวี่ยงให้พวกเขาหลุดออกจากสังคมเดิม กลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องมีชีวิตอยู่บนชายขอบของการดำรงอยู่ของพวกเขา
ในการสัมมนาระดับชาติเกี่ยวกับสิทธิเด็กที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เด็กครึ่งชาติอเมริกัน-เอเซียคนหนึ่งถามผู้ฟังอย่างขมขื่นว่าแกเป็นใครกันแน่ ความมีอยู่ของแกมักถูกผลักไปตรงชายขอบโดยพลังที่เหนือการควบคุมของเด็กเองโดยเฉพาะเรื่องสงครามเวียดนาม นอกจากจะทำให้พวกเขาไร้บ้านแล้วยังเป็นคนไร้รากอีกด้วย
ประเด็นก็คือปัญหานี้มิได้เกิดกับเด็กอเมเรเซียนเท่านั้น เมื่อเด็กหญิงชาวเนปาลถูกหลอกให้เข้ามาเป็นโสเภณีในกัลกัตตา เธอผู้นั้นอาจหาเงินมาสนองความต้องการทางวัตถุได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ถูกตัดขาดจากรากเดิมและกลายเป็นคนไร้บ้าน
ปัจเจกชนจำต้องอาศัยการนิยามความเป็นจริงที่ครอบคลุม เพื่อให้ความหมายแก่ชีวิตอย่างรอบด้าน นิยามดังกล่าวจะช่วยร้อยประสานสังคมเข้าด้วยกันและดังนั้นจึงก่อร่างสร้างจักรวาลทางสัญลักษณ์ระดับปัจเจกชน[20] เพื่อให้เขา/เธอสามารถบรรลุศักยภาพที่มีอยู่ สามารถก้าวออกจากอาณาบริเวณแห่งความรุนแรง ผู้คนเหล่านี้จะต้องค้นหาความหมาย หรือ “นิยามของความเป็นจริง” เสียใหม่[21] ซึ่งก็คือการเอาชนะอาการหลงลืมที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
การแก้อาการหลงลืมน่าจะทำได้โดยกระบวนการฟื้นความจำ ซึ่งรวมถึงความพยายามของปัจเจกชนที่จะตระหนักว่าตนเองเป็นใครและสภาพความเป็นจริงที่อยู่รายล้อมเป็นอย่างไร เพราะการลบล้างความรู้สึกไร้บ้าน ไม่ได้หมายถึงการย้อนพาร่างกายกลับไปอยู่ในที่ที่เคยอยู่ หากหมายถึงการฟื้นฟูสติสัมปชัญญะที่ครั้งหนึ่งได้สูญหายให้กลับคืนมา ไม่ว่าเขา/เธอจะอยู่ตรงชายขอบหรือไม่ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ระดับระหว่างบุคคล
ตามปกติความรุนแรงต่อมนุษย์คนอื่นมักถูกสร้างให้ชอบธรรมโดยกระบวนการทางสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ “เรา” มอง “เขา” ในฐานะของสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์ กว่าสองทศวรรษมาแล้ว อิริค อีริคสัน ได้สร้างแนวคิดเรื่อง “การจำแนกเผ่าพันธุ์เทียม” เพื่ออธิบายว่าสมาชิกของกลุ่มต่างๆ มองตนเองเป็นมนุษย์ที่แท้เพียงกลุ่มเดียว และมองว่าคนกลุ่มอื่นมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า แม้ว่าในทางชีววิทยามนุษย์ทั้งหลายล้วนสังกัดสายพันธุ์เดียวกัน[22] ในขณะที่การสร้างอัตลักษณ์จำแนกคนกลุ่มหนึ่งออกจากกลุ่มอื่น การจำแนกเผ่าพันธุ์เทียมได้ทำลายความเป็นไปได้ที่กลุ่มต่างๆ จะมอง “เขา” กลุ่มอื่นในฐานะที่เท่าเทียมกับ “เรา” กล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์ได้แปลงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ หรือความแตกต่างทางกายภาพ ให้กลายเป็นกลุ่มเทียม และสัมพันธ์กันโดยสร้างข้ออ้างที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรง[23] ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงต่อ “คนอื่น” ที่ถูกนิยามโดยเพศ ชนชั้น ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติฯ จึงเกิดขึ้นโดยง่าย
ทางออกของความรุนแรงระหว่างบุคคลนั้น เริ่มจากความพยายามตั้งคำถามกับรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มเทียม จากนั้นจึงตามด้วยกระบวนการ “ฟื้นฟูความเป็นมนุษย์” ซึ่งเน้นการเคารพความแตกต่างของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ยืนยันความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ
ระดับรัฐ/โครงสร้าง
ความรุนแรงในระดับนี้ ทั้งความรุนแรงโดยตรงและเชิงโครงสร้าง เป็นผลมาจากการปะทะสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม กับรัฐ และโครงสร้างทางสังคมนั้นเอง ตัวอย่างเช่น ในบรรดา 21 ประเทศในเอเซีย ยกเว้นประเทศในตะวันออกกลาง มี 13 ประเทศซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร[24] การรุกล้ำของทหารเข้าในสังเวียนการเมืองทำให้ความเป็นไปได้ของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนมีมากขึ้น ทำให้การทรมาน ความโหดร้าย การกำจัด และการฆาตกรรมอันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมือง เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในประเทศเหล่านี้ เพราะลักษณะหนึ่งของรัฐบาลทหารคือการไม่ใส่ใจกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ กรณีของพม่า
ถ้าเชื่อคำกล่าวของ เวเบอร์ ที่ว่าลักษณะสำคัญประการหนึ่งของรัฐ ก็คือการอ้างความชอบธรรมในการควบคุมวิถีการใช้ความรุนแรง[25] ความรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ ประเทศในเอเซียตะวันออก เอเซียอาคเนย์ และเอเซียใต้ มีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร กระนั้นก็ยังมีการใช้ความรุนแรงอย่างโดยรัฐต่อประชาชนบ้างในแทบทุกประเทศ[26]
ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากมุมมองเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ภาพของเอเซียย่อมไม่น่าดูนัก ประเทศในเอเซียใต้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพยากจน ในปี 1986 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของบังคลาเทศและเนปาลมีมูลค่าเพียง 164 และ 173 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ[27] ทั่วภูมิภาคนี้ ประชากรเพียงครึ่งเดียวที่มีน้ำสะอาดใช้ในการบริโภค ในขณะที่ 90% อยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัยในเอเซียตะวันออกและเอเซียอาคเนย์ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าบ้าง คือ 60% มีความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย และประมาณ 40% ไม่มีน้ำสะอาดใช้ในการบริโภค แต่ข้อพึงสังเกต ก็คือ ตัวเลขนี้รวมญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ในประเทศลาวสี่ในห้าของประชาชนไม่มีน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค ในขณะที่ชาวพม่า 80% ขาดสาธารณูปโภคที่ถูกสุขลักษณะ[28]
ความรุนแรงเชิงโครงสร้างทำให้คนตายก่อนวัยอันควร โดยทั่วไปมักใช้ 2 ดัชนีในการประเมินความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คืออายุเฉลี่ยของเด็กแรกเกิด และอัตราการเสียชีวิตของทารก จากดัชนีทั้งสอง จะเห็นแบบแผนที่ชัดเจน อายุเฉลี่ยของเด็กแรกเกิดจะต่ำที่สุด ขณะที่อัตราการตายของทารกจะสูงสุดในประเทศรอบนอก ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหารและบริการสาธารณสุข ปัญหานี้มีที่มาจากองค์กรทางสังคม และทำให้แต่ละปีมีคนจำนวนหลายล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะความไม่เสมอภาคทางโอกาสที่จะได้รับอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และบริการทางสาธารณสุข การศึกษาภูมิศาสตร์ของความรุนแรงจะเห็นอย่างชัดเจนว่าเอเซียกำลังประสบปัญหาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง[29]
หากการกระจายอำนาจอย่างไม่เท่าเทียมนำไปสู่ทั้งการใช้ความรุนแรงโดยรัฐและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ทางออกก็คือการทำให้เป็นประชาธิปไตย และเพราะชีวิตที่มีโอกาสที่ไม่เท่าเทียม เป็นผลมาจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในโครงสร้างการทำให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งท้าทายการผูกขาดอำนาจเชิงโครงสร้าง ย่อมสามารถเพิ่มโอกาสในชีวิต และลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้
ระดับนานาชาติ
สงครามระหว่างรัฐเกิดขึ้นน้อยครั้งในทวีปเอเซีย กระทั่งการที่เอเซียกลายเป็นสนามรบในปี 1989 ก็อาจนับเป็นสงครามกลางเมืองที่ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม เช่นเดียวกับการต่อสู้ของพวกมูจาฮิด-ดีน ในอัฟกานิสถานที่มิได้ปลอดจากการแทรกแซงของปากีสถานและสหรัฐฯ คงจะไม่ได้ภาพที่ครบถ้วนของความรุนแรงระหว่างชาวสิงหลและทมิฬในศรีลังกา หากไม่พิจารณาบทบาทของอินเดีย รวมทั้งการที่ประเทศไทยและเวียดนามเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากกับวิกฤตในกัมพูชา
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ศูนย์กลางของประเทศรอบนอก และประเทศรอบนอกของกลุ่มประเทศรอบนอกมีความแตกต่างให้พูดถึงได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น การที่บริษัทค้าไม้ที่พบความยุ่งยากในประเทศไทย เริ่มขยายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะพม่า เงินตราที่รัฐบาลพม่าได้จากการขายไม้อาจต้องแลกกับความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวนาพม่าในอนาคต
การต้านแนวโน้มการเกิดสงครามระหว่างประเทศ ควรใช้การทูต และระบบของสหประชาชาติให้เป็นประโยชน์ในการหาข้อยุติในความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาการแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศ ควรทำโดยให้อำนาจกับประชาชนในท้องถิ่น และสนับสนุนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในระดับภูมิภาค
ระดับมนุษย์/ระบบนิเวศ
ความรุนแรงในระดับมนุษย์/ระบบนิเวศเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนความรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมอย่างขนานใหญ่ เป็นผลมาจากนโยบายของชาติที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจที่ควบคุมรัฐบาล และทิศทางการพัฒนาประเทศ เมื่อระบบเสียสมดุล ย่อมนำมาซึ่งความพินาศและส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ความปรารถนาจะคุ้มครองสภาพแวดล้อมของประชาชน บ่อยครั้งเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับธุรกิจค้าไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งลุกลามกลายเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน
ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าในประเทศไทย ซึ่งลดลงจาก 68 ล้านเอเคอร์ หรือ 58% ของพื้นที่ทั้งหมดในปี 1961 เหลือเพียง 35 ล้านเอเคอร์ หรือ 28% ในปี 1988 อัตราการทำลายป่าเป็นไปอย่างรวดเร็วเสียจนพื้นที่ป่าธรรมชาติอาจเหลือเพียง 15-20% ในยุคปัจจุบัน[30] รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยการปลูกป่าเศรษฐกิจแต่ประชาชนบางส่วนมองว่านโยบายนี้ก็คือการทำลายป่านั่นเอง เพียงแต่กระทำด้วยวิถีที่แตกต่างออกไป ดังนั้น พวกเขาจึงต่อต้าน บางครั้งโดยการตัดไม้เศรษฐกิจเหล่านี้หรือเผาเรือนเพาะชำ และผลก็คือ ต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการขู่ฆ่า
สังคมดั้งเดิมในเอเซียอาคเนย์และเอเซียตะวันออกเคยมองธรรมชาติอย่างให้ความเคารพ เช่น คำว่า “แม่น้ำ” ในภาษาไทย “แม่” คือผู้ให้กำเนิดมนุษย์ สำหรับคนอินเดีย แม่น้ำคงคาได้รับการเรียกขานด้วยความรักและเคารพว่า “แม่พระคงคา” เมื่อใดก็ตามที่แม่น้ำ ไม่ใช่ “แม่” อีกต่อไป โอกาสที่ธรรมชาติจะถูกชำเราย่อมมีมากขึ้น การไม่เคารพต่อธรรมชาติจึงนำมาซึ่งการทำลายล้างระบบนิเวศ[31]
การแก้ปัญหาความรุนแรงที่มีสาเหตุจากความสัมพันธ์ที่พิกลพิการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จะทำได้ก็ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติที่มีอยู่ ให้คนเคารพธรรมชาติ และเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติรอบตัวเขา
ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ว่าสามารถระบุปัญหาความรุนแรงและค้นหาทางออกจากปัญหานี้ได้ ส่วนที่จะมีปัญหามากกว่า ก็คือกระบวนการที่จะทำให้ทางออกเหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่เอเซียก็มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาได้ สันติวัฒนธรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขนบธรรมเนียมที่ยิ่งใหญ่ของเอเซีย อาจเป็นสะพานเชื่อมฝ่ามือแห่งทางออกเข้ากับฝ่ามือแห่งปัญหาได้
ค้นหาจุดแข็งของสันติภาพจากวัฒนธรรมเอเซีย
ในการกล่าวถึงโครงสร้างที่หยั่งลึกของการเมืองระหว่างประเทศเรื่องสันติภาพ โยฮัน กัลตุง ได้ศึกษาระดับต่างๆ ของจักรวาลวิทยา เขาเสนอว่าการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสันติภาพ ก็ไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อเป้าหมายอื่นของมนุษย์ จะต้องท้าทาย และเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการจำกัดความสันติภาพในเชิงของการใช้กำลัง ซึ่งฝังลึกอยู่ในสังคม[32] หากอารยธรรมใดต่อยอดมาจากความเป็นปฏิปักษ์อารยธรรมนั้นก็จำต้องถูกเปลี่ยน เขาถึงกับชี้ว่าบางอารยธรรม โดยเฉพาะของประเทศตะวันตกที่อยู่บนฐานของการแผ่ขยายอาณานิคม และอารยธรรมญี่ปุ่นไม่ใช่อารยธรรมที่เอื้อต่อสันติภาพ ด้วยเหตุนี้ อารยธรรมนี้จึงควรถูกตั้งปัญหาอย่างจริงจัง[33]
อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าการใช้อารยธรรมเป็นหน่วยในการวิเคราะห์จะต้องกระทำเพื่อเป้าหมายในการหาทางออก มากกว่าเพื่อประณามวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใด[34]
แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มองอย่างตื้นๆ ว่าศาสนาเป็นอุปสรรคมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพในโลก และเสนอมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการ “แยกสลายประชากรที่นับถือศาสนาเดียวกัน” เพื่อป้องกันสงครามศาสนา[35] ข้อเสนอนี้มีปัญหาอยู่มาก ยิ่งกว่านั้น มาตรการโยกย้ายประชากรโดยขัดกับเจตนารมณ์ของพวกเขา ก็ถือเป็นความรุนแรงโดยตัวของมันเอง
การค้นหาว่าวัฒนธรรมหรือศาสนาใดเอื้อต่อการสร้างสันติภาพมากกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความยุ่งยากทางวิธีวิทยาและทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ การทำเช่นนั้น ซึ่งน่าสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ ยังอาจก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อสันติภาพ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าควรใช้วิธีที่สร้างสรรค์ยิ่งกว่า
เมื่อกัลตุงเสนอแนวคิด “ความรุนแรงทางวัฒนธรรม” ตรรกของเขาก็คือ “ค้นหาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมและอธิบายวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงโดยตรง และความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้อย่างไรในเชิงประจักษ์และในแง่ศักยภาพ”[36] ข้าพเจ้าคิดว่าจะทำในทางตรงกันข้าม คือค้นหาองค์ประกอบของวัฒนธรรมต่างๆ ของเอเซีย และแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบของวัฒนธรรมนั้นๆ มีศักยภาพในการให้ความชอบธรรม และก่อให้เกิดทางออกที่สันติเพื่อเผชิญกับปัญหาความรุนแรงที่กล่าวแล้วได้อย่างไร
ข้าพเจ้าเลือกศาสนาหลัก 5 ศาสนาของเอเซียมาพิจารณา เพราะศาสนาเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมในเอเซีย ศาสนาทั้งห้าคือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาอิสลาม สาเหตุที่ไม่นำศาสนาคริสต์มาพิจารณาด้วย เพราะหากตัดเรื่องความก้าวหน้าของระบบทุนนิยม และอิทธิพลของศาสนานี้ในฟิลิปปินส์ ศาสนานี้ดูเหมือนจะไม่มีอิทธิพลมากนักในเอเซีย และแม้นักวิชาการบางคนจะมองว่าศาสนาอิสลามเป็นมรดกของตะวันตก[37] แต่ที่นำมาพิจารณาด้วยเพราะศาสนานี้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั้งในเอเซียใต้ และเอเซียอาคเนย์ ทั้งยังมีคุณูปการต่อโลกทางวัฒนธรรมของชาวมาเลย์และอินเดียในภาคพื้นทวีปนี้
ศาสนาฮินดู
ในบรรดาคำสอนทางอภิปรัชญาของศาสนาฮินดู คำสอนที่สำคัญที่สุดดูเหมือนจะเป็นคำสอนที่ปฏิเสธว่าโลกของธรรมชาติมีอยู่โดยตัวมันเอง และหากปราศจากพระเจ้า โลกย่อมถึงกาลล่มสลาย สำหรับศาสนาฮินดู โลกและทุกอย่างในโลกคือ ลีลา ซึ่งเป็นระบำแห่งจักรวาลอันเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่รู้จักจบสิ้นไม่อาจต้านทานได้ ทว่านุ่มนวลเป็นที่สุด และเป็นที่มาของพลังชีวิตที่สง่างามและไม่มีจุดจบ[38]
สิ่งที่มนุษย์มองเห็นมิใช่อื่นใด แต่คือการเผยแสดงของนาฏลีลาแห่งจักรวาลข้างต้น พลังของสวรรค์เผยแสดงผ่านการเปลี่ยนลีลาในธรรมชาติ ในศาสนาฮินดู เทพและเทพีอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ทั้งในดิน น้ำ ลม และไฟ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ป่าคือศูนย์กลางของอารยธรรมอินเดีย พระศิวะ มหาเทพของศาสนาฮินดู ประทับอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ขณะที่โยคีผู้รู้ทั้งหลายอาศัยอยู่ในป่าอื่นๆ การอยู่ท่ามกลางต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ นก และสัตว์ป่า ทำให้โยคีเหล่านี้พัฒนาวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และได้กลายเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของอนุทวีปที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ ที่เชื่อว่าชีวิตมีอยู่ในทุกสิ่ง และทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกสิ่งมีเทพและเทพีประทับอยู่ ด้วยเหตุนี้ในคัมภีร์พระเวท จึงมีเพลงสวดที่สรรเสริญความยิ่งใหญ่ของเทพแห่งป่า เทพแห่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และแม่น้ำคงคา
ลักษณะเด่นที่สุดของศาสนาฮินดูอันเอื้อต่อหนทางสันติ ในการแก้ปัญหาการทำลายระบบนิเวศคือการนับถือธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดขององค์ประกอบวัฒนธรรมนี้ในสมัยใหม่ คือขบวนการ Chipko ซึ่งพยายามปกป้องป่าโดยการโอบกอดต้นไม้ไว้ เมื่อขบวนการนี้เริ่มต้นในปี 1974 ผู้หญิงชาวพื้นเมืองต้องเผชิญหน้าด้วยความกล้าหาญกับพนักงานตัดไม้ที่ได้รับอนุญาตจากทางการ พวกเธอคุ้มครองต้นไม้โดยเอาแขนโอบกอดต้นไม้ไว้ สำหรับสมาชิกของ Chipko ต้นไม้คือชีวิตของพวกเขา ถ้าจะตัดต้นไม้ ต้องฆ่าพวกเขาก่อน[39]
การแทรกแซงโดยไร้ความรุนแรงเพื่อปกป้องป่าเช่นนี้ มาจากทัศนคติเชิงนิเวศวิทยาของศาสนาฮินดู แน่นอนว่าความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในฐานะองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากการทำลายสภาพแวดล้อมโดยน้ำมือของมนุษย์จะยุติลงได้
พุทธศาสนา
ในธรรมบท วรรคที่ 202 พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุขใดอื่นเหนือความสงบสันติไม่มี”[40] แต่สันติภาพที่ว่านี้ แม้จะรวมสันติภายในและภายนอก แต่ก็ดูจะให้ความสำคัญกับความสงบทางจิตใจ ซึ่งหมายถึงสภาวะของจิตที่ปลอดจากอารมณ์และความคิดที่กดขี่[41] การบรรลุถึงสภาวะสันติของจิตคือเป้าหมายของการมีชีวิตที่ดีทั้งในพุทธแบบมหายานและหินยาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อวิชชาเป็นตัวการที่ปิดกั้น ความมักง่ายและความโลภ คือตัวการที่ทำให้มองไม่เห็นโลกนี้ ตัณหาทำให้โลกเป็นพิษ และที่มาสำคัญของความกลัวคือความเจ็บปวดอันเกิดจากทุกข์” เมื่อพระอชิตะสาวกรูปหนึ่งถามต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะควบคุม “ลำน้ำแห่งตัณหา” นี้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แม่น้ำใดๆ ก็หยุดยั้งได้ด้วยเขื่อนแห่งการมีสติ เราเรียกสิ่งนี้ว่า เขื่อนกั้นน้ำท่วมและด้วยปัญญา เจ้าก็จะสามารถปิดประตูระบายน้ำได้”[42] การให้ความสำคัญกับการมีสติยังเห็นได้ชัดในคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ พระรูปสำคัญแห่งยุคชาวเวียดนาม[43]
ในแง่นี้ สันติภายในจิตมนุษย์ จึงทำหน้าที่เป็นฐานรองรับโครงข่ายของสันติภาพระดับสังคม[44] สันติสุขภายนอกในสังคมจะไม่มีวันเป็นไปได้ ตราบเท่าที่จิตของสมาชิกในสังคมยังคิดยึดกับความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว ความโกรธและความหลง เพื่อให้เกิดสันติภาพ มนุษย์จะต้องจัดการกับพลังทั้งสามนี้ก่อน
หลักการทางพุทธนี้แสดงออกในองค์กรพุทธหลายแห่งในเอเซีย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือสรรโวทัยในศรีลังกา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาตามแนวพุทธที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
สรรโวทัย หมายถึงการตื่นของทุกคน ส่วนสมาทาน ซึ่งเป็นวิถีการนำความคิดมาใช้ในทางปฏิบัติ หมายถึงการสละเวลา ความคิด และพลังงานของบุคคล เพื่อสวัสดิการของทุกคน[45] ปรัชญาของขบวนการนี้บ่งถึงเป้าหมายพื้นฐาน 2 ประการ ที่สมาชิกแต่ละคนควรใฝ่หา คือ การตระหนักถึงสิ่งสกปรกที่มารบกวนจิตใจและทำให้จิตใจผ่องใสพิสุทธิ์ จากนั้นจึงมาถึงขั้นตอนของการปลดห่วงโซ่ทางสังคมและเศรษฐกิจที่พันธนาการคนส่วนใหญ่ไว้อย่างไร้ศีลธรรม
นายอารีย์รัตเน (Ariyaratne) ผู้นำของขบวนการนี้ เชื่อว่าบุคคลที่ตั้งจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตไว้ที่การพัฒนาเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดเท่านั้น ที่จะสามารถชี้หนทางสู่เสรีภาพแก่คนอื่นได้ในระยะยาว[46] จากปรัชญาที่พัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมของพุทธศาสนา ขบวนการเพื่อพึ่งพาตนเองนี้ ร่วมกำลังกับครูและนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมสายพุทธที่มีชื่อเสียงของโคลอมโบ ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1958 สองทศวรรษหลังจากนั้น แนวคิดและวิถีปฏิบัติของสรรโวทัยได้แพร่หลายออกไปในกว่า 1,200 หมู่บ้านทั่วประเทศศรีลังกา[47]
ในยุคที่คนแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น เพราะผลจากสังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่ ศาสนาพุทธได้เสนอยารักยาโรคที่ได้ผล โดยการกระทำอย่างมีสติและจิตที่รู้เท่าทันความชั่วมนุษย์จะสามารถฟื้นฟูการมีอยู่และสันติสุขภายในใจได้
ลัทธิเต๋า
แม้การประเมินอิทธิพลของลัทธิเต๋าที่มีต่อสังคมจีนอาจทำได้ยาก แต่ลัทธิเต๋าก็ได้ทิ้งร่องรอยทางความคิดไว้ในใจของคนจีน แม้คัมภีร์เต๋า เต๋อ จิง จะกล่าวถึงลักษณะของ “เต๋า” ไว้ว่าไม่อาจนิยามได้[48] แต่การหาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของลัทธิเต๋าก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้
ในโลกที่กำแพงของอัตลักษณ์ถูกก่อขึ้นด้วยประวัติศาสตร์ และผลิตซ้ำโดยสังคม การกำหนดเส้นแบ่งระหว่าง “ตัวตน” กับ “คนอื่น” ถูกลากขึ้นอย่างชัดเจน จุดแข็งขององค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่โน้มนำสู่สันติภาพจากลัทธิเต๋าอยู่ที่ความจงใจที่จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างตัวตนกับคนอื่นเลือนไป คัมภีร์เต๋า เต๋อ จิง บทที่ 20 กล่าวว่า
“ระหว่างใช่และไม่ใช่
มีความแตกต่างกันสักเพียงไหน
ระหว่างดีกับชั่ว
มีระยะห่างจากกันสักเพียงไร”[49]
ไม่เพียงเส้นแบ่งระหว่าง 2 สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามจะไม่ชัดเจน การดำรงอยู่ของทั้งสองสิ่งยังขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของกันและกัน แม้ในหลักการ สัญลักษณ์หยางและหยินจะเป็นปฏิปักษ์ แต่ทั้งสองด้านก็ส่งเสริมและถ่วงดุลซึ่งกันและกันด้วย โดยด้านหนึ่งเหลื่อมล้ำเข้าไปในปริมณฑลของอีกด้าน และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง ท้ายที่สุด ทั้งคู่ผสานกันเป็นวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพแห่งเต๋า[50] และสะท้อนความสมบูรณ์ในวัฒนธรรมจีน
คัมภีร์เต๋า เต๋อ จิง บทที่ ๒ กล่าวว่า
“ดังนั้น บางสิ่งและความว่างเปล่าจึงสร้างกันและกัน
ความยากกับความง่ายส่งเสริมกันและกัน
ความสั้นและความยาวชดเชยกันและกัน
ความสูงและความเตี้ยโน้มเอียงเข้าหากัน
ก่อนและหลังติดตามกันมา”[51]
เมื่อ “คนดี” เป็นครูของ “คนชั่ว” และฝ่ายหลังคือวัตถุดิบสำหรับฝ่ายแรกที่จะทำการของตน[52] ความสัมพันธ์หยาบๆ แบบไม่สมดุลที่ก่อตั้งขึ้นผ่านอัตลักษณ์ที่แข็งตัว และการจำแนกเผ่าพันธุ์เทียมจะถูกทำให้อ่อนลง ด้วยเหตุนี้ สันติภาพระหว่างบุคคลจึงสามารถบรรลุถึงได้จากองค์ประกอบทางวัฒนธรรมแห่งลัทธิเต๋า
ลัทธิขงจื๊อ
กล่าวกันว่าในอารยธรรมจีน โลกถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือจีนซึ่งเป็นศูนย์กลาง และที่ไม่ใช่จีนหรือพวกป่าเถื่อน อีกส่วนหนึ่ง แม้การสร้างจินตภาพโลกแบบนี้จะนำไปสู่สงครามได้ง่าย แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะบางครั้งชาวจีนเชื่อว่าพวกป่าเถื่อนด้อยกว่าตน ไม่คู่ควรทำสงครามด้วย[53] ในอารยธรรมแบบนี้ คำสอนของลัทธิเต๋าที่กล่าวแล้วยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก
ธรรมเนียมจีนยังมีอีกปีกหนึ่ง คือลัทธิขงจื๊อ ซึ่งถือลำดับชั้น และมีความรุนแรงแฝงอยู่ อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธอำนาจเบ็ดเสร็จของสวรรค์ และการยืนยันการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ทำให้ลัทธิขงจื๊อสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นกรอบทางจริยธรรมที่เข้มแข็งในการกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้
ในบรรดาคุณค่าทั้งหลายในลัทธิขงจื๊อ เหริน (jen) คือคุณค่าสำคัญที่สุด[54] ใน The Analects คำนี้ถูกใช้ราว 60 ครั้ง[55] หมายถึงผลรวมของคุณค่าทั้งหมดทั้งความรัก ความดี ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และความมีจิตใจดี แนวคิดทางจริยศาสตร์นี้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ และความนับถือตนเอง นอกจากนี้ไม่ว่าจะปรากฏตรงไหน ก็ยังมีนัยของความมีเกียรติของมนุษย์[56] สิ่งที่น่าสนใจก็คือเหริน (jen) ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในหมู่คนจีนเท่านั้น แต่ยังใช้กับผู้ที่ไม่ใช่คนจีนด้วย เมื่อมีผู้ถามขงจื๊อเกี่ยวกับความมีน้ำใจอย่างมนุษย์ ท่านกล่าวว่าทุกคนจะต้องมีคุณลักษณะนี้ “ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด กระทั่งท่ามกลางคนป่าเถื่อนทางตะวันออก หรือทางเหนือ…”[57]
ในการแก้ข้อขัดแย้งระหว่างประเทศและสงครามด้วยสันติวิธี ชนิดที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปฏิบัติกันบนพื้นฐานของความกรุณาและเกียรติศักดิ์เราสามารถใช้เหริน (jen) เป็นพาหะทางวัฒนธรรม ผู้นำที่มีเหริน (jen) จะแสวงหา “ความมีใจกว้าง” โดยไม่ถูกจำกัดด้วยพรมแดนของประเทศ เพราะคนที่มีเหริน (jen) รู้ว่า “ทั่ว 5 ท้องทะเล ทุกคนคือพี่น้องกัน”[58]
ศาสนาอิสลาม
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศาสนาอิสลามถูกมองว่าเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับความรุนแรงมาตลอด แต่หากเปรียบเทียบศาสนาต่างๆ ในแง่การต่อต้านการใช้ความรุนแรง ทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง กัลตุงสรุปว่าศาสนาอิสลามมีการใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างน้อยกว่าหลายศาสนา แม้จะมีการใช้ความรุนแรงโดยตรงมากกว่าบางศาสนาก็ตาม[59]
มีองค์ประกอบพื้นฐานทางวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม 2 ประการที่เกื้อหนุนต่อสันติภาพ ประการแรกคือ หลักการของ Tawhid หรือเอกภาพ ซึ่งแสดงออกใน shahadat หรือคำสาบานตนทางศาสนา ประการที่สองคือ การไม่ยอมรับความอยุติธรรมที่ประกาศอย่างชัดเจนใน อัล กรุอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดในศาสนาอิสลาม
คำสาบานตนของศาสนาอิสลามกถ่าวดังนี้ : “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด เว้นแต่พระผู้เป็นเจ้า และมูฮัมหมัด เป็นผู้นำสาส์นของพระองค์”
สองประโยคธรรมดาๆ ข้างต้นบรรจุคำสอนทั้งหมดของศาสนาอิสลามไว้ในลักษณะที่เน้นวิภาษวิธีเชิงปฏิบัติ คือ เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธ-ไม่มีพระเจ้าองค์ใดอีก การปฏิเสธนี้บ่งถึงวิญญาณซึ่งขบถต่อการจัดลำดับและโซ่ตรวนที่สร้างขึ้นขังล่ามมนุษยชาติ จากนั้นคือความเต็มใจที่จะยอมตนต่ออำนาจเดียว คือพระผู้เป็นเจ้า การยอมตนใต้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งคือความหมายของคำ “อิสลาม” เป็นการตอกย้ำความเป็นเอกภาพของมนุษย์ ท้ายที่สุด วิธีการบรรลุทั้งการขบถและยืนยันก็คือการดำเนินรอยตามศาสดาผู้นำสาส์น ซึ่งประกาศจุดจบของการครอบงำมนุษย์ ด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง[60]
คุณลักษณะขบถต่อลำดับชั้นที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ถูกทำให้สมบูรณ์ด้วยพันธะที่จะต้องต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเพื่อผู้ถูกกดขี่ (Mustadaafeen) คัมภีร์อัล กุรอาน กล่าวไว้ว่า
“แล้วทำไมเจ้าจึงจะไม่
ต่อสู้เพื่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
และผู้ซึ่งอ่อนแอ
และถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (กดขี่)?
ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก
ซึ่งร่ำร้องว่า 'พระผู้เป็นเจ้า'
ช่วยเราจากเมืองนี้
ที่คนในเมืองเป็นผู้กดขี่
โปรดประทานคนผู้จะปกป้องเรา
ประทานคนซึ่งจะช่วยเหลือเรา”[61]
เห็นได้ชัดว่าคำสอนนี้มีลักษณะโน้มนำไปในทางการปฏิบัติผลักให้คนทำการบางอย่าง คนมุสลิมถูกสั่งให้ต่อสู้ และไม่ยอมก้มศีรษะให้ความอยุติธรรม[62] การต่อสู้นี้อาจเป็นได้ทั้งการต่อสู้ด้วยความรุนแรง หรือไม่ใช่ความรุนแรง[63] แต่ประเด็นก็คือชาวมุสลิมไม่อาจนิ่งเฉย เมื่อเห็นการปฏิบัติที่อยุติธรรม ปฏิบัติการทั้งโดยปัจเจกชนและรวมหมู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องสำคัญ
กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน (Abdul Ghaffar Khan) ที่รู้จักกันในนาม “คานธีชายแดน” ได้ก่อตั้ง Khudai Khidmatgar (ข้ารับใช้ของพระองค์อัลเลาะห์) เพื่อปฏิรูปสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนของชาวปาธานในอนุทวีป การเป็นสมาชิกของขบวนการนี้ ชาวปาธานจะต้องสาบานว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ทว่าใช้โครงการที่สร้างสรรค์ตามแบบของคานธีในการเปลี่ยนแปลงสังคม กัฟฟาร์ ข่าน ถึงกับอ้างว่าหลักอหิงสธรรมของคานธี มีชีวิตในหมู่ชาวปาธานมากกว่าในหมู่ชาวอินเดียเสียอีก[64]
ในแง่นี้ ระเบียบสังคมที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จึงไม่ควรยอมรับ การที่ชาวมุสลิมมีแนวโน้มไม่เชื่อฟังบัญชาของมนุษย์และเน้นแนวทางปฏิบัติ มีความสำคัญอย่างมากต่อการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้น และเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อสันติภาพ ซึ่งสามารถค้นหาได้ในธรรมเนียมของอิสลาม
เมื่อระบุองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของเอเซียได้แล้ว ต่อไปจะได้พิเคราะห์วิธีการที่วัฒนธรรมเหล่านี้ทำงานเชื่อมทางออกเข้ากับปัญหาความรุนแรงที่กล่าวถึงมาแต่ต้น
ประสานฝ่ามือทั้งสอง : สู่สันติวัฒนธรรม
ขณะที่อาการความจำเสื่อมและความรู้สึกไร้บ้าน ความรุนแรงระหว่างบุคคล/ระหว่างกลุ่ม ความรุนแรงโดยรัฐ/โครงสร้าง การแลกเปลี่ยนที่อาจนำไปสู่สงคราม/ความไม่เท่าเทียม และการทำลายล้างระบบนิเวศ ประกอบกันเป็นฝ่ามือแห่งปัญหาความรุนแรง การฟื้นความทรงจำ การฟื้นความเป็นมนุษย์ การทำให้เป็นประชาธิปไตย/การให้อำนาจผู้ที่ถูกกดขี่ การทูต/การร่วมมือภายในภูมิภาค และการเคารพธรรมชาติ คือทางออกเพื่อสร้างสันติภาพ หากมองจากวัฒนธรรมเอเซียที่เป็นอยู่ จะเห็นว่ามีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งพอที่จะประสานมือสองข้างเข้าด้วยกันได้
สันติภายในมนุษย์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าช่วยเตือนชาวเอเซียว่าพวกเขาเป็นใคร ขณะที่การมีสติจะช่วยให้ตระหนักถึงความเป็นจริงทางสังคมที่อยู่รอบตัว เมื่อเส้นที่ลากแบ่งคนกลุ่มต่างๆ ถูกทำให้เลือนไปตามคำสอนของลัทธิเต๋า จะยุติการเป็นปฏิปักษ์และเคารพผู้อื่นก็ทำได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันเส้นสมมติที่ลากแบ่ง “เรา” ออกจาก “เขา” ก็จะถูกตั้งคำถามอย่างจริงจัง หากความรุนแรงโดยรัฐและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ต่อยอดจากการกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมจะถูกทำลาย ก็จะต้องมีการให้อำนาจกับผู้ถูกกดขี่และทำให้เป็นประชาธิไตย ในแง่นี้ การไม่ยอมรับโครงสร้างที่อยุติธรรม และการลงมือปฏิบัติซึ่งเป็นหลักการที่เน้นย้ำในศาสนาอิสลามย่อมมีความสำคัญยิ่ง ความมีหัวใจอย่างมนุษย์ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยพรมแดนของชาติ เช่นที่สอนในลัทธิขงจื๊อจะช่วยให้การทูตมาแทนที่สงคราม และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชนิดที่กดขี่ ด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้นได้ง่ายขึ้น ท้ายที่สุด ความเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติที่ศาสนาฮินดูยึดมั่น จะช่วยฟื้นความสัมพันธ์ที่กลมเกลียวระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและยุติการทำลายระบบนิเวศอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์
องค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่สกัดจาก 5 ศาสนาหลักของเอเซีย ต่างโน้มนำสู่สันติภาพใน 3 แง่มุม ประการแรก องค์ประกอบเหล่านี้อาจถือเป็นข้อวิจารณ์ปัญหาความรุนแรงและความรุนแรงทางวัฒนธรรมซึ่งฝังรากอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม ประการที่สอง องค์ประกอบทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ความชอบธรรมแก่การแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธี และประการที่สามเพราะคุณสมบัติสองประการแรก องค์ประกอบทางวัฒนธรรมเหล่านี้จึงสามารถเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง
หากสันติวัฒนธรรมจะถูกสร้างขึ้นจากองค์ประกอบเหล่านี้ ลักษณะเด่นของมันย่อมเป็นการยืนยันจินตภาพเรื่องตัวตนที่สมบูรณ์รอบด้าน มีจุดยืนที่วิพากษ์การสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นจินตนากรรม และการจำแนกเผ่าพันธุ์เทียม มีพันธกิจจะไม่สยบยอมและมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ความรู้สึกมีน้ำใจอย่างมนุษย์ข้ามพรมแดนชาติ และตระหนักแน่ในความสำคัญของธรรมชาติ
สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือองค์ประกอบทางวัฒนธรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน ตัวอย่าง เช่น ปัจเจกบุคคลผู้เข้มแข็ง ที่มีตัวตนที่สมบูรณ์ จะสามารถตั้งคำถามกับการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นจิตนากรรม และระดมพลังของตนเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา การอนุรักษ์ป่าในประเทศหนึ่งย่อมมีความสำคัญต่อประเทศอื่นด้วย เพราะความรู้สึกห่วงใยธรรมชาติได้ก้าวข้ามพรมแดนประเทศ เนื่องจากการคุ้มครองป่าในสังคมหนึ่ง นอกจากชุมชนจะต้องลงมือปฏิบัติ ยังต้องการแรงกดดันจากกลุ่มนักอนุรักษ์นานาชาติทั่วโลกด้วย
วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นใหม่นี้ไม่ควรถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่แน่นอนตายตัวควรเห็นให้เป็นแอ่งทรัพยากรที่เชื่อมโยงกัน จุดแข็งของมันประการหนึ่งอยู่ตรงการที่องค์ประกอบทางวัฒนธรรมเหล่านี้มีที่มาจากวัฒนธรรมเอเซีย สันติวัฒนธรรมแห่งเอเซียจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกนำเข้าจากภายนอก หรือไร้รากด้วยจินตนาการเพียงเล็กน้อย สันติวัฒนธรรมนี้จะเอื้ออำนวยโอกาสแห่งสันติภาพอันจะเป็นคุณแก่ทุกคน
วิพากษ์สันติวัฒนธรรมแห่งเอเซีย
คงไร้เดียงสาเกินไปที่จะปักใจเชื่อว่าสันติวัฒนธรรมที่เสนอข้างต้นสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด แนวคิดนี้มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือปัญหาเรื่ององค์รวมของวัฒนธรรม และความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ปัญหาเหล่านี้ต้องไตร่ตรองอย่างสร้างสรรค์
อาจกล่าวได้ว่า ผลของการดึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจากศาสนาใหญ่ของเอเซีย เป็นการละเลยองค์รวมของวัฒนธรรมนั้นๆ และองค์ประกอบของวัฒนธรรมจะมีความหมาย ก็ต้องอยู่ในบริบทของตน ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์รวมกับส่วนย่อย
แต่องค์รวมของวัฒนธรรมที่แน่นอนมีอยู่หรือ? ถ้าวัฒนธรรมหมายถึง “วิถีชีวิตของสังคม และองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทางสังคม”[65] วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และเพราะวัฒนธรรมโดยองค์รวมไม่ได้หยุดนิ่ง การทำความเข้าใจวัฒนธรรมผ่านช่วงเวลาต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ในอีกด้านหนึ่งแต่ละวัฒนธรรมย่อมต้องมีบางองค์ประกอบซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนคุณภาพของ “ความเหมือน” ที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ ข้าพเจ้าเชื่อว่าองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เกิดจากขนบธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปนี้ สามารถจำแนกแยกแยะออกมาได้ ที่จริงการศึกษาองค์รวมของวัฒนธรรมผ่านกาลเวลานั้นอาจยากกว่ามาก
องค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่กล่าวข้างต้น แม้จะดูเหมือนส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่ก็อาจขัดแย้งซึ่งกันและกันได้ เช่น ความไม่ยอมรับความอยุติธรรมในศาสนาอิสลามซึ่งมีรากมาจากการเชื่อพระเจ้าองค์เดียว อาจขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการเคารพธรรมชาติของศาสนาฮินดูที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ ความคิดเรื่องการแยกจีนออกจาก “พวกป่าเถื่อน” ที่ปรากฏในลัทธิขงจื๊อ อาจขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนของลัทธิเต๋า ความมีสันติภายในของพุทธศาสนาอาจถูกเน้นมากเกินไปจนทำให้ความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของศาสนาอิสลามอ่อนแอลง หลายคนอาจเห็นว่า ความขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งในบางกรณีถึงกับเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ย่อมทำให้สันติวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเป็นไปไม่ได้
แต่การเชื่อว่าวัฒนธรรมใหม่นี้ไม่สามารถบรรลุได้ ก็เป็นการละเลยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมในเอเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมใหม่ซ้อนทับวัฒนธรรมเดิมอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ศาสนาอิสลามซึ่งแพร่เข้าสู่หมู่เกาะของอินโดนีเซียอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 โดยพ่อค้าจากเปอร์เซีย อินเดีย อาเรเบีย และจีน ชั้นของวัฒนธรรมอิสลามเกิดขึ้นหลังศาสนาพุทธและฮินดูมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีแนวความเชื่อในรหัสยลัทธิที่เรียกว่า Kebatinan ในชวาที่หยั่งรากลึกในหมู่เกาะแถบนั้น[66] แต่วัฒนธรรมอิสลามก็ไม่ได้ถอนรากวัฒนธรรมเดิม กลับทำให้วัฒนธรรมของอินโดนีเซียกลายเป็นองค์รวมของชั้นวัฒนธรรมต่างๆ ที่ค่อยคลุมโครงสร้างทางสังคม ตัวอย่างเช่นพิธีแต่งงานในชวาเป็นการผสมผสานของหลายวัฒนธรรม ประเด็นก็คือการผสมผสานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามในเอเซียอาคเนย์ก็เป็นความต่อเนื่องมากกว่าจะขัดแข้งกับวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ก่อน[67] เช่นเดียวกับศาสนาอื่นในเอเซีย
เมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย ไทยก็ไม่ใช่ดินแดนที่ปราศจากวัฒนธรรม ชั้นของวัฒนธรรมพุทธถูกวางทับอยู่บนชั้นวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะศาสนาฮินดูทำให้เกิด “พุทธแบบไทย” ที่ผสมผสานคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ากับการนับถือผีท้องถิ่นและเทพเจ้าอินดู ในอินเดีย หลังการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาวัฒนธรรมใหม่นี้ก็อยู่ร่วมกับศาสนาฮินดู พระพุทธเจ้าถูกสักการะในฐานะของอวตารหนึ่งของพระวิษณุ ศาสนาที่เข้ามาใหม่จึงไม่จำเป็นจะต้องเข้มแข็งกว่าศาสนาที่มีอยู่เดิม และอาจถูกปรับรับเข้าสู่ศาสนาที่มีอยู่เดิมได้ ถ้าถือว่าประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาที่ต่อเนื่อง วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมใดจึงมิใช่อื่นใด หากเป็นประวัติศาสตร์ของการประนีประนอมระหว่างชั้นทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง บางครั้งถึงกับขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนั่นเอง
และแม้องค์ประกอบทางวัฒนธรรมจะขัดแย้งกันในบางลักษณะ แต่สันติวัฒนธรรมก็ยังมีความเป็นไปได้หากพิจารณาจากแง่มุมอื่น แม้มนุษย์จะพบว่าการยอมรับความหมายและวิถีสู่ความสุขแบบเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรับรู้ว่าอย่างไรคือความทุกข์กลับไม่ใช่เรื่องยาก[68] นั่นคือมนุษย์มีแนวโน้มจะร่วมมือกันได้มากกว่าเมื่อเผชิญกับทุกข์หากพวกเขาตกเป็นเหยื่อ เมื่อพิจารณาจากมุมมองของเหยื่อของความรุนแรง ทั้งชนิดทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างสันติวัฒนธรรมแห่งเอเซียที่สร้างขึ้นจากธรรมเนียมประเพณีอันอาจจะขัดกัน น่าจะมีโอกาสเป็นที่ยอมรับและนำไปปฏิบัติได้มากกว่า
บทสรุป : การเมืองแห่งความหมายของสันติวัฒนธรรมแห่งเอเซีย
พลังการเปลี่ยนแปลงในเอเซียที่จะทำให้ฝ่ามือที่ประกอบขึ้นด้วยทางออกโดยสันติ ไปประทับกับฝ่ามือของปัญหาความรุนแรง ก็คือสันติวัฒนธรรมที่ก่อขึ้นจากองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจาก 5 ศาสนาหลักของเอเซีย นี่เป็นเพียงภาพลักษณ์ของสันติวัฒนธรรม ที่สะท้อนทั้งด้านที่พึงปรารถนาและเป็นไปได้ ถ้าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สังคมมนุษย์ถูกชี้นำโดยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคต มิใช่เพียงถูกผลักจากประสบการณ์ในอดีต วิสัยทัศน์เรื่องสันติวัฒนธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ควรครุ่นคิดแสวงหา[69]
วิสัยทัศน์เรื่องสันติวัฒนธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของการค้นหาความชัดเจนซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตในฐานะที่เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงนั้นไม่สมบูรณ์ แต่หากมองสันติวัฒนธรรมจากจุดยืนของโพสต์โมเดิร์น[70] วัฒนธรรมนี้ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งใกล้เคียงกับสภาพที่เป็นจริง และมีความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่า
การเมืองที่มีความรับผิดชอบของสันติวัฒนธรรมแห่งเอเซียก็เช่นเดียวกับที่อื่นในโลก ควรมีลักษณะเด่น 3 ข้อ ข้อแรก มันควรจะย้อนไปหารากวัฒนธรรมที่หลากหลายของตนเอง แล้วเลือกองค์ประกอบที่จะทำลายความชอบธรรมของความรุนแรงทางวัฒนธรรม และให้ความชอบธรรมกับทางออกสันติวิธี ข้อสอง จะต้องเสนอทางเลือกเพื่อโลกที่ดี เพื่อให้สามารถคัดสรรองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่เหมาะสม เรื่องนี้มีความสำคัญทั้งทางยุทธศาสตร์และจริยศาสตร์ ข้อสุดท้าย ลักษณะที่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการของสันติวัฒนธรรมที่กล่าวแล้วจะต้องถูกเน้นเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้คุณภาพที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงอ่อนแอลง แม้สันติวัฒนธรรมแห่งเอเซียจะไม่ใช่ยาวิเศษครอบจักรวาล หรือปราศจากข้อจำกัดทั้งปวงแต่ก็อยู่ในวิสัยที่จินตนาการไปถึงและนำมาปฏิบัติได้
สายพิณ ศุพุทธมงคล
แปลจาก “Towards a Peace Culture in Asia,” in Peace and Conflict Issue After the Cold War
(Paris : UNESCO Studies on Peace and Conflict, 1992)
เชิงอรรถ
[1] Ruth Leger Sivard, World Military and Social Expenditures 1989 (Washington, D.C.: World Priorities, 1989), p.23.
[2] Ibid., p.20.
[3] Johan Gultung, “Violence, Peace and Peace Research,” Journal of Peace Research Vol.6 (1969), pp.167-191. แนวคิดของกัลตุงที่ว่า “สันติภาพคือสภาวะที่ปลอดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา งานเขียนล่าสุดที่วิจารณ์แนวคิดข้างต้นของกัลตุง ได้แก่ William Maley, “Peace, Needs and Utopia,” Political Studies Vol.33 No. 4 (1985), pp.578-591, และ Peter Lawler, “A Question of Values : A Critique of Galtung's Peace Research,” Interdisciplinary Peace Research Vol.1 No.2 (Victoria, Australia: October/November 1989), pp. 27-55.
[4] Sivard, World Military and Social Expenditures 1989.
[5] Geoffrey Asshe, Gandhi (New York: Stein and Day, 1972), p.243.
[6] Glenn D. Paige, “Gandhi's Contribution to Global Nonviolent Awakening” in N. Radhakrishnan (ext.), Gandhi & Global Nonviolent Transformation (New Delhi : Gandhi Smitidarshan samiti, 1994) แนวทางสัญลักษณ์นิยมในเชิงวิธีวิทยาในบทความชิ้นนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากรายงานของเผจนั่นเอง
[7] Johan Galtung, “Cultural Violence,” Journal of Peace Research Vol. 27 No.3 (Oslo, 1990), p. 291.
[8] Ibid., p. 294.
[9] Ibid. ตัวเน้นเป็นของต้นฉบับเดิม
[10] Ibid., p.291.
[11] Michael Hass, The Asian Way to Peace : A Story of Regional Cooperation (New York: Praeger, 1989).
[12] Ibid., p.10.
[13] Ibid., p.3.
[14] Ibid. pp. 5-10.
[15] Frederick S. Dunn, War and the Minds of Men (Hamden-Connecticut : Archon Books, 1971) p. 1.
[16] Roland Robertson and Burkart Holzner (eds.), Identity and Authority (Oxford: Basil Blackwell, 1980) p. 28.
[17] ดูตัวอย่าง Ralph R. Premdas, S.W.R de A. Samarasinghe และ Alan B. Anderson (eds.) Secessionist Movement In Comparative Perspective (London: Pinter Publishers, 1990).
[18] Galtung, “Violence, Peace and Peace Research,” pp. 170-171.
[19] Seyyed Hossein Nasr, Islam and the Plight of Modern Man (Kuala Lumper: Foundation For Traditional Studies, 1987). p. 4.
[20] Peter Berger, Brigitte Berger and Hansfried Kellner, The Homeless Mind: Modernization and Consciousness (New York: Vintage Books, 1974), p. 15.
[21] Ibid., p. 12.
[22] Erik Erikson, “Reflection on Ethos and War,” The Yale Review Vol.73 No.5 (New Haven, Connecticut: July, 1984), p. 481.
[23] ดูรายละเอียดเพิ่มในบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์และการจำแนกเผ่าพันธุ์เทียมใน Chaiwat Satha-Anand, “Violence and the Sorcery of Identity,” Global Human Family Looking at the 21st Century. The Center for the Construction of Human Soceity (ed.) (Seoul, Korea: Kyung Hee University Press, 1987) pp. 99-113.
[24] Sivard, World Military and Social Expenditures 1989, p. 20.
[25] ดูการอภิปรายคำจำกัดความของรัฐกับความรุนแรงของเวเบอร์ใน Anthony Giddens, The Nation-state and Violence (Berkeley and Los Angeles, University of California Press 1987), pp.18-20.
[26] Sivard, World Military and Social Expenditures 1989, p. 20.
[27] Sivard, World Military and Social Expenditures 1989, p. 52.
[28] Ibid.
[29] R.J.Johnston, J.O’Loughlin and P.J. Taylor, “The Geography of Violence and Premature Death: A World-Systems Approach,” in The Quest for Peace: Transcending Collective Violence and War among Societies, Culture and States, Raimo Vayrynen (ed. in Collaboration with Dieter Senghass and Christian Schmidt), (Beverly Hills, California: Sage Publications, 1987), pp. 241-259. (โดยเฉพาะแผนภาพ 2 หน้า 252)
[30] “Environmental Problems in Thailand: Intensed Violence Predicted,” Thai Development Newsletter No.18 (Bangkok, Thailand: 1990), p.10.
[31] Larry Lohmann, “Commercial tree plantations In Thailand: A continuation of deforestaion by other means,” in Ibid, pp. 20-25.
[32] Johan Galtung, “Peace and the World as Inter-civilizational Interaction,” in Raimo Vayrynen (ed.), The Quest for Peace, p. 335.
[33] Ibid., p. 344.
[34] Ibid., p. 345.
[35] ดูตัวอย่าง Jong-Youl Yoo, “Religious and Racial Conflicts: Obstacles to a Global Human Family,” in The Center for the Reconstruction of Human Family (ed.), Global Human Family Looking at the 21st Century, pp. 115-129. ดัชนีอื่นรวมถึงพหุนิยมทางศาสนา ความร่วมมือระหว่างศาสนา และการแยกแยะศาสนาจากการเมือง ดูโดยเฉพาะหน้า 126-129
[36] Galtung, “Cultural Violence,” p. 296.
[37] Johan Galtung, “Religion as a Factor” in Glenn D. Paige (ed.) Buddhism and Leadership for Peace (Honolulu: Dae Wan Sa Buddhist Temple of Hawaii, 1984), pp. 45-50.
[38] Huston Smith, The Religions of Man (New York: Perennial Library, 1965), p.85
[39] พระไพศาส วิสาโล, โอบกอด (กรุงเทพฯ : กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม, 2534)
[40] อ้างใน P. Prayoon Dhammacitto (Mererk), A Buddhist Approach to Peace (Bangkok: Amarin Printing, 1989) p. 18
[41] Ibid.
[42] อ้างใน Paula Green, “The Buddhist Roots of Active Non-violence,” Reconciliation International Vol. 5 No. 4 (Alkmaar, The Netherlands: Winter1990), p. 6.
[43] Thich Nhat Hanh, “Please Call Me by My True Names” in Fred Eppsteiner (ed) The Path of Compassion (Berkeley CA: Parallax Press 1983), p. 34.
[44] P.Prayoon Dhammacitta, A Buddhist Approach to Peace, p. 26.
[45] A. T Ariyaratne, Collected Works: Volume I, Nantasena Ratnapala (eds.) (Netherlands, n.d.), p. 46.
[46] Ibid., p. 47.
[47] Ibid., p. 24.
[48] Lao Tzu, Tao Te Ching, D.C. Lau (Trans.) (New York: Penguin Books, 1976), p. 57. 4 บรรทัดแรกมีใจความว่า “หนทางที่สามารถอธิบายเป็นคำพูดย่อมมิใช่หนทางที่แท้ นามที่สามารถเรียกได้ย่อมไม่ใช่นามที่ถาวร”
[49] Ibid., p. 76.
[50] Huston Smith, The Religions of Man, p. 211.
[51] Lao Tzu, Tao Te Ching, p. 58.
[52] Ibid., p. 84.
[53] Galtung, “Peace and the World as Inter-civilizational Interaction,” pp. 366-340.
[54] D. Howard Smith, Confucius and Confucianism (London: Paladin Books, 1985) และดู Huston Smith, The Religions of Man, p. 179.
[55] Arthur Waley (Trans. and annotated), The Analects of Confucius (New York: Vintage Books, 1938), p. 28. แต่ D. Howard Smith กล่าวว่าคำดังกล่าวถูกอ้างถึง “มากกว่า 40 ครั้ง” ดู Confucius and Confucianism, p. 69.
[56] Smith, The Religions of Man, p. 179.
[57] Waley, The Analects of Confucius, XIII: 19, p. 176.
[58] Smith, The Religions of Man, p. 180.
[59] Galtung, “Religion as a Factor,” pp. 65-71.
[60] ความคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากงานของ Mamoon al Rasheed, “Islam, Nonviolence and Rural Transformation” ซึ่งเสนอที่ United Nations University International Seminar เรื่อง “Islam and Nonviolence” (Bali, Indonesia: February 14-19, 1986).
[61] The Glorious Qur'an Text แปลและเรียบเรียงโดย A. Yusuf All (U.S.: Muslim Students' Association, 1977), IV: 75, p. 202.
[62] Ibid., II: 193, p. 76; VIII: 39, p. 424.
[63] ผู้เขียนได้กล่าวถึงปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของชาวมุสลิมไว้ในงานชิ้นอื่น ดู Chaiwat Satha-Anand, “The Nonviolent Crescent: Eight Theses on Muslim Nonviolent Actions,” in Ralph Crow, Philip Grant และ Saad E. Ibrahim (eds.) Arab Nonviolent Political Struggle in the Middle East (Boulder and London: Lynne Rienner Publishers, 1990), pp. 25-40.
[64] Ved Mehta, Mahatma Gandhi and His Apostles (New York: Viking Press, 1977), P. 242. คาธียืนยันว่า “พวกปาธานที่ตามปกคิดดุร้าย” ฝึกฝน “อหิงสธรรมแห่งคนกลัา” ดู M.K. Gandhi, Non-Violence in Peace & War (Vol. I) (Ahmedabad: Navajivan Publishing House, 1948), p. 298.
[65] Asbjom Eide et al., “The Impact of Arms Race on Education, Science and Technology, and Culture and Communication,” in Unesco Year book on Peace and Conflict Studies 1987 (New York: Greenwood Press; Paris: Unesco, 1989), p. 77.
[66] M. Nasir Tamara, Indonesia in the Wake of Islam: 1965-1985 (Kuala Lumper, Malaysia: Institute of Strategic and International Studies, 1986),p. 1.
[67] Nehemia Levtzion (ed.), Conversion to Islam (New York: Holmes & Meier,1979).
[68] Barrington Moore Jr., Reflections on the Causes of Human Misery and Upon Certain Proposals to Eliminate Them (Boston: Beacon Press, 1972), pp. 1-2.
[69] Elise Boulding, “Learning Peace,” in Raimo Vayrynen (ed.), The Quest for Peace, p. 323.
[70] Bradeley S. Klein, “After Strategy: The Search for a Post-Modern Politics of Peace,” Alternatives XIII (1988), p.313.
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
ที่มา : ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “สู่สันติวัฒนธรรมแห่งเอเซีย,” ใน สู่ศานติเสรี 50 ปี สันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2488-2538, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2538), 110-143.
- สันติภาพ
- ชัยวัฒน์ สถาอนันท์
- วิธีวิทยา
- คานธี
- ความเสมอภาค
- เกลนน์ เผจ
- โยฮัน กัลตุง
- ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม
- ไมเคิล แฮส
- พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ
- พระศาสดา
- มูฮัมหมัด
- Pan-Asia Spirit
- วิถีเอเซีย
- ศาสนาฮินดู
- พุทธศาสนา
- ลัทธิเต๋า
- ลัทธิขงจื๊อ
- ลัทธิขงจื๊อ เหริน
- ศาสนาอิสลาม
- อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน
- Abdul Ghaffar Khan
- คานธีชายแดน
- Khudai Khidmatgar
- พระองค์อัลเลาะห์
- สายพิณ ศุพุทธมงคล
- Towards a Peace Culture in Asia
- UNESCO