ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประวัติศาสตร์รัฐไทย คือ ประวัติศาสตร์ของการลอยนวล

17
ตุลาคม
2565

ไม่มีประเทศใดบนโลกใบนี้ จะอนุญาตให้มีการปล่อยให้อาชญากรรมโดยรัฐ ลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเปิดเผย โฉ่งฉ่าง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เราคงไม่ต้องกล่าวซ้ำว่า เกิดอาชญากรรมโดยรัฐมากน้อยเพียงใด นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้น เรามีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ มีการรัฐประหาร ซึ่งนับเฉพาะที่กระทำสำเร็จถึง 13 ครั้ง มีรัฐธรรมที่มีลักษณะประชาธิปไตยบางด้าน อยู่เพียง 3-5 ฉบับ 

คำถามที่น่าสนใจ คือ ผู้มีอำนาจใช้วิธีการอะไรทำให้การก่ออาชญากรรมโดยรัฐลอยนวลพ้นผิด จวบจนถึงปัจจุบัน 

จากการค้นคว้าของ ไทเรล ฮาเบอร์คอน (Tyrell Haberkorn) เธอพบว่า ครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2520 เป็นต้น ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอาศัยเทคนิควิธีการทางกฎหมายในการชำระล้างความผิดของตัวเองที่กระทำต่อพลเมือง วิธีการอื้อฉาวครั้งแรกๆ เกิดขึ้นกับเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารในช่วงเย็นของวันเดียวกันโดยไม่มีใครต้องรับผิด 

In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand เขียนโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอน นักประวัติศาสตร์สายสตรีนิยมแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอลซิล แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ถือเป็นงานวิชาการที่อธิบายประวัติศาสตร์ของรัฐไทย โดยมีข้อเสนอที่ทะเยอทะยานยิ่งว่า ประวัติศาสตร์รัฐไทยคือประวัติศาสตร์ของการลอยนวลพ้นผิด (State with Impunity) 

งานชิ้นนี้เริ่มต้นศึกษาความรุนแรงของรัฐไทย ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงหลังการรัฐประหาร 2557 เธอไต่สวนสมมติฐานข้างต้นผ่านรายงานการพิจารณาคดีในชั้นศาล บันทึกการประชุมผู้มีอํานาจของรัฐ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ บันทึกจากการสังเกตการณ์ของเธอเอง ฯลฯ โดยใช้หลักฐานเหล่านั้นทำหน้าที่เปิดโปงให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ จนมองเห็นโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในรัฐไทย ก่อนจะพบว่าปฏิบัติการความรุนแรงที่กระทําโดยเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการกระทําที่เปิดเผยและโจ่งแจ้งนั้น เป็นความตั้งใจของรัฐไทยมากกว่าจะเป็นความบังเอิญ เหตุผลก็เพื่อที่รัฐจะกล่อมเกลาประชาชน (Pedagogy of State) ให้ผู้ถูกปกครองรับรู้ว่ารัฐอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าในความสัมพันธ์นี้

In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand โดย Trell Haberkorn

ที่สุดงานชิ้นนี้ ได้ข้อสรุปสมดั่งกับชื่อหนังสือที่เธอตั้งใจแสดงให้เห็นถึงความไม่ละอายต่อความผิดของผู้มีอํานาจ ด้วยเหตุที่ว่าผู้มีอํานาจมั่นใจว่า พวกเขาจะไม่ได้รับโทษ คําว่า “กลางวันแสกๆ” หรือ “In Plain Sight” คือ คําสําคัญที่ถูกนํามาตั้งเป็นชื่อหลักในการเขียนประวัติศาสตร์การลอยนวลพ้นผิดครั้งนี้ 

“ความรุนแรง” ในที่นี้จึงมิได้มีลักษณะฉาบฉวย บังเอิญ หรือไม่มีแบบแผน หากแต่มันมีลักษณะตรงกันข้าม คือ เป็นแบบแผนและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าในด้านหนึ่งมีความโจ่งแจ้ง โฉ่งฉ่าง แต่ในหลายกรณี ผู้ถูกปกครองเองก็ไม่รู้ตัวอันเนื่องจากมันเป็นความรุนแรงแบบซ้ําๆ ซากๆ จนเสมือนเป็นสภาวะธรรมชาติธรรมดา

ในบทที่ 1-3 อันเป็นการสํารวจงานวิชาการความรุนแรงในสังคมไทยผ่านมา เธอได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่ถูกมองข้ามจากการศึกษาความรุนแรงในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก่อนหน้า โดยพบว่ามีช่องว่างไม่น้อยที่หาได้จากการทบทวนวรรณกรรม จากหลายปัจจัยอันเนื่องมาจากเป็นการศึกษาช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าการศึกษาเหตุการณ์เฉพาะใดเฉพาะหนึ่ง นานเสียจนเธอสามารถนิยามได้ว่าลักษณะของรัฐไทยเป็นเช่นไร 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้จึงเสมือนการคัดสรรเหตุการณ์ความรุนแรง และหลักฐานของผู้มีอํานาจมาอภิปรายอย่างไม่อ้อมค้อมราวกับจะไต่สวนความรุนแรงที่ไม่ละอายนั้นเพื่อตอบโต้กับคําอธิบายเชิงทฤษฎีดั้งเดิมที่ว่า “รัฐเป็นองค์กรหนึ่งเดียวที่ผูกขาดความรุนแรง” ด้วยการสำรวจในระยะเวลาที่ยาวนานก็ทําให้กรณีที่ถูกเลือกขึ้นมาอภิปรายนี้มีความหลากหลายตามมาเช่นกัน อาทิ ความรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ กรณี “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” ในช่วงการปราบปรามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ความรุนแรงต่อชาวบ้านในหมู่บ้านของอีสาน การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การนิรโทษกรรมผู้กระทําความรุนแรงต่อนักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจํานวน 94 คน บาดเจ็บหลายพันคน ในปี 2553

การทําให้การลอยนวลพ้นผิดกลายเป็นสถาบันขึ้นมาได้อย่างไร เธอเรียกมันว่า “การทําให้วิธีการเถื่อนถูกกฎหมาย” 

สิ่งที่น่าสนใจจากบทสํารวจของนี้ คือ วิธีการของผู้มีอํานาจในทุกยุคทํา คือ ตรากฎหมายนิรโทษกรรม ตัวเองเพื่อไม่ต้องรับโทษ ผลจากการสรุปเช่นนี้ชวนให้คิดได้ว่า มิใช่ว่าผู้มีอํานาจในประวัติศาสตร์รัฐไทยจะไม่ตระหนักต่อการใช้อํานาจในทางที่ผิด หากแต่รู้จักมันอย่างดีจนสามารถใช้กลไกของรัฐในการป้องกันผิดตัวเอง กรณีการใช้ความรุนแรงแล้วล้างผิดให้ตัวเอง 

วิธีการนี้ถูกทําให้เป็นเรื่องธรรมชาติมาอย่างยาวนานได้อย่างไร กรณีที่ดีที่สุดที่ถูกนํามาวิเคราะห์อย่างละเอียดลออเกิดขึ้นหลังการสังหารหมู่คนหนุ่มสาวในครึ่งหลังของทศวรรษ 1970

หลังการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียง 2 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลฝ่ายขวาตกขอบอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกกลุ่มปกครองอีกกลุ่มรัฐประหาร รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา 2 ฉบับ ฉบับแรกตราขึ้นในสมัยธานินทร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2519 ในชื่อ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519”

อีกฉบับ ตามขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2521 ในชื่อ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519” 

สิ่งที่น่าทึ่งในเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 2 ฉบับไม่มีการระบุเหตุความรุนแรงในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ระบุพฤติการณ์ของผู้กระทำความรุนแรง 

ในกรณีนี้ ไทเรล ฮาเบอร์คอน ใช้วิธีการอ่านแบบย้อนเกล็ดเข้าไปความหมายระหว่างบรรทัดยังพบเรื่องที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ การให้อภัยแก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งที่หนุ่มสาวที่ถูกทำร้ายในวันนั้นไม่ได้กระทำ นี่คือขั้นสุดของการทำให้การลอยนวลพ้นผิดกลายเป็นสถาบันขึ้น 

วิธีการนิรโทษกรรมให้ผู้ใช้ความรุนแรงทางการเมืองพ้นความผิด จนกลายเป็นสถาบันในเวลาต่อมา คือ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารและใช้ความรุนแรงทางการเมือง กฎหมายนิรโทษกรรม คือ เครื่องมือที่ทำให้คณะรัฐประหารรุ่นหลังเดินตามจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่สิ่งที่ชวนเศร้ายิ่งขึ้นซึ่งเพิ่มเติมขึ้นมาหลังเหตุการณ์เมื่อ 46 ปี ครั้งนั้น คือ ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมิได้ทำให้กฎหมายปกป้องความผิดตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังใช้มันเป็นเครื่องมือในการปราบปรามอีกด้วย ไม่กี่ปีมานี้แวดวงวิชาการเรียกสิ่งนี้ว่า “นิติสงคราม” (Lawfare)