ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

19 ปี สมชาย นีละไพจิตร : กฎหมายอุ้มหาย กับบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐ

12
มีนาคม
2566
ภาพ : ถ่าย ณ สถานที่ และเวลาเดียวกับที่สมชายถูกบังคับเอาตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่มา : Luke Duggleby- For Those Who Die Trying
ภาพ : ถ่าย ณ สถานที่ และเวลาเดียวกับที่สมชายถูกบังคับเอาตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
ที่มา : Luke Duggleby- For Those Who Die Trying

 

12 มีนาคม 2566 ครบ 19 ปีที่ สมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับครอบครัวแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ความทรงจำกลับไม่เคยจางหาย 19 ปีที่ครอบครัวยังรอคอยความจริงและความยุติธรรมจากรัฐ วันนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อครอบครัวสมชาย และผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย

ที่ผ่านมาคดีสมชายเป็นคดีที่ตำรวจฟ้องตำรวจในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งที่สุดเมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตำรวจ 4 นายในคดี (อีก 1 นายที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ญาติแจ้งว่าสูญหายระหว่างอุทธรณ์)

นอกจากนั้นศาลฎีกายังตัดสิทธิ์ครอบครัวในการเป็นผู้เสียหายในคดี ทำให้เอกสารทุกชิ้นที่ครอบครัวยื่นต่อศาลไม่ถูกรับฟัง รวมถึงเมื่อปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้งดการสอบสวนคดีสมชาย และยุติการคุ้มครองพยาน หลังรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ 11 ปีโดยไม่มีความก้าวหน้า

 

ภาพ : การพิจารณาคดีในศาล ที่มา : Asian Human Rights Commission-AHRC
ภาพ : การพิจารณาคดีในศาล
ที่มา : Asian Human Rights Commission-AHRC

 

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ใหม่ โดยให้หมายถึงครอบครัวด้วย (มาตรา 3 วรรคแรก) และ กำหนดให้รัฐดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด (มาตรา 10)

โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รายงานให้ผู้เสียหายทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 32) และ ให้นำความในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 43 บทเฉพาะกาล) จึงเป็นความท้าทายอย่างมากต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และรัฐมีความเต็มใจในการเปิดเผยความจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับให้บุคคลสูญหายหรือไม่

เวลาที่ถามหาความรับผิดชอบจากรัฐ มีหลายคนถามดิฉันว่า “ทำไมไม่ไปถามทักษิณ” ประสบการณ์ 19 ปีทำให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึกอยู่เบื้องหลัง คอยควบคุมสังคมไทย

ดังที่นักวิชาการบางคนใช้คำว่า “รัฐพันลึก” ซึ่งก็คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และสามารถขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด หน่วยงานที่เป็นเสมือนรัฐซ้อน สามารถดำรงอำนาจได้ในทุกรัฐบาล เติบโตก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทหาร

ดังเช่นองค์กรตำรวจ ที่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมากมายเพียงใด รวมถึงล่าสุดที่ตำรวจสามารถขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการใช้ มาตรา 22 ถึง 25 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้จะถูกคัดค้านจากเหยื่อรวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมายก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้พระราชบัญญัตินี้จะชะลอการบังคับใช้บางมาตรา แต่ก็ไม่กระทบต่อการติดตามหาตัวผู้สูญหาย ดังนั้นดิฉันจึงคาดหวังว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งอัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะรื้อฟื้นการสืบสวนคดีสมชาย รวมถึงผู้สูญหายรายอื่นๆ ในความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย และเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องให้ญาติอ้อนวอนร้องขอ

นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องรีบเร่งในการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหาย ของสหประชาชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 และที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการทบทวนสถานสิทธิมนุษยชน (UPR) เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่อยู่ในประเทศไทยจะไม่ถูกอุ้มหายโดยรัฐอีกต่อไป

ที่ผ่านมาดิฉันมักพูดเสมอว่า “แม้กระบวนการยุติธรรมจะมิอาจคืนชีวิตให้สมชาย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการคืนความยุติธรรมแก่เขา” วันนี้ ดิฉันยังคงเชื่อเช่นเดิมว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจก็คงไม่เกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการเปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว

 

ภาพ: รำลึก 17 ปี ทนายสมชาย นีละไพจิตร
ภาพ: รำลึก 17 ปี ทนายสมชาย นีละไพจิตร

 

ผ่านไป 19 ปีกรณีอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อระบบยุติธรรม และกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าถ้าวันนี้สมชายสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะภาคภูมิใจในสิ่งที่ครอบครัว และบรรดากัลยาณมิตรได้ร่วมกันผลักดันให้การบังคับสูญหายเป็นประเด็นสาธารณะ และสร้างกลไกสำคัญในการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาตินี้

ในโอกาสครบ 19 ปีของการบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอใช้พื้นที่นี้เพื่อขอบคุณบรรดากัลยาณมิตร รวมถึงพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่านสำหรับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่นำพาดิฉันและครอบครัวมาถึงจุดนี้ จุดที่แม้จะเปราะบาง แต่ความเจ็บช้ำได้ถูกปลอบโยนด้วยไมตรีและความอาทรจากคนรอบข้าง ทำให้มีกำลังในการก้าวเดินต่อไป เพื่อให้เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกบอกเล่าจากครอบครัวสู่สาธารณะ และจากรุ่นสู่รุ่น…

การรักษาความทรงจำจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคนหาย เพราะความทรงจำที่ไม่เคยมอดดับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวังว่า สักวัน... ความอหังการ์ของรัฐจะถูกกลบด้วยพลังที่ไม่ยอมแพ้ของเหยื่อ การอุ้มฆ่าสมชายจึงไม่ใช่การยุติปัญหาดังที่เจ้าหน้าที่บางคนคิด แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการไม่ยอมจำนนของครอบครัวโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ สู่การไม่ยอมจำนนของประชาชนในการต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่อธรรม

อังคณา นีละไพจิตร
กรุงเทพฯ
12 มีนาคม 2566

 

ที่มา : 19 ปี สมชาย นีละไพจิตร : กฎหมายอุ้มหาย กับบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐ

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว