ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดที่ขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ

12
ตุลาคม
2565

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนตุลาคม เหตุการณ์สำคัญที่จะต้องหยิบมาพูดถึงคือ เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งการลอยนวลพ้นผิดนี้สร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น

 

การลอยนวลพ้นผิด : อภิสิทธิ์ปลอดความผิด

การลอยนวลพ้นผิด (impunity) หรือ อภิสิทธิ์ปลอดความผิด ถูกอธิบายในฐานะของความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการหยิบยื่นความรับผิดชอบให้แก่ผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งได้กระทำลงในนามของอำนาจรัฐต่อประชาชน[1]

กล่าวโดยสรุป การลอยนวลพ้นผิด คือ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐกับประชาชนโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยหลักการทั่วไปแล้ว รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่แบบในสังคมไทย กลับเป็นที่น่าประหลาดใจ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ความรุนแรง และ การลอยนวลพ้นผิด เกิดขึ้นและดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันได้ในบางกลุ่มคน ซึ่งมักจะมีมายาคติและคำพูดที่ใช้กันจนชินว่า “มันก็เป็นแบบนี้นั่นล่ะ”

หากนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่องมาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงในหลายๆ ลักษณะ  อิทธิพล โคตะมี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการลอยนวลพ้นผิดและความรุนแรงได้สรุปว่า

 

“งานศึกษาความรุนแรงบางชิ้นเสนอว่า คนไทยที่เกิดหลังปี 2475 เป็นต้นมา จะต้องมีชีวิตผ่านปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอย่างน้อยถึง 14 รูปแบบ ในแง่นี้จึงไม่น่าแปลกใจหากคนไทยจะคุ้นชินกับความรุนแรงและเห็นมันตั้งแต่ยามค่ำจนยันกลางวันแสกๆ”[2]

 

ตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ (และเครือข่ายของรัฐ) ที่ชัดเจนก็คือ การใช้กำลังปราบปรามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือการสังหารหมู่กลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

 

ภาพ : เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
ภาพ : เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

 

นอกจากเหตุการณ์ทั้งสองแล้ว ความรุนแรงดังกล่าวยังเกิดขึ้นในทุกๆ ครั้งที่เกิดการรัฐประหาร และมีการใช้กำลังกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การอุ้มฆ่า การซ้อมทรมาน การดำเนินคดี และการสังหารผู้มีความเห็นต่างทางศาสนา โดยปฏิบัติการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจด้วยวิธีการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ความรุนแรงที่หลุดลอยไปจากการตรวจสอบ : วัฒนธรรมหนึ่งของสังคมไทย

คำถามสำคัญและน่าสนใจก็คือ “ทำไมถึงไม่มีการดำเนินการใดๆ กับบุคคลเหล่านี้เลย?”

 

ภาพ : เหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557
ภาพ : เหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557

 

คำตอบของคำถามดังกล่าว คือ ในทุกครั้งที่มีการรัฐประหารนั้น สิ่งที่ตามมา คือ การนิรโทษกรรมในทางการเมือง ทั้งการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมเพื่อยกเว้นความรับผิดใดๆ ที่ตนเคยได้ทำ หรือ การรับรองให้การกระทำใดๆ ของตนล้วนชอบด้วยกฎหมายและด้วยรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้กระทำ ซึ่งรวมแล้วมีกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเกือบ 23 ฉบับ โดยแบ่งเป็น พ.ร.ก. ได้ 4 ฉบับ พ.ร.บ. 17 ฉบับ และรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ[3] ซึ่งบรรดากฎหมายเหล่านี้เป็นที่มาของการลอยนวลพ้นผิด

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดความรู้สึกว่า การลอยนวลพ้นผิดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อย และดูเหมือนจะเป็นเรื่องชั่วคราว  แต่ทว่า การยกเว้นความผิดให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปกฎหมายไม่อาจให้กระทำได้ เพราะเป็นการทำลายความยุติธรรมและการปกครองแบบนิติรัฐ

ในทุกๆ ครั้งที่มีการลอยนวลพ้นผิดย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อสังคมโดยไร้ข้อจำกัดด้านเวลา และกลายเป็นการบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย รวมทั้งกลายเป็นการปูทางให้มีการใช้ความรุนแรงในนามของรัฐในกาลข้างหน้าต่อไป[4]

ภาพที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 นั้น ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งใดๆ ก็ตาม ซึ่งถูกรับรองความชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะไม่ถูกตรวจสอบ และแม้จะพ้นยุคสมัยของ คสช. ไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังคงรับรองความชอบด้วยกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ การผลิตซ้ำการลอยนวลพ้นผิดยังค่อยๆ ถูกแทรกซึมเข้ามาในสถานการณ์ปกติ ผ่านกลไกทางกฎหมายต่างๆ ที่ให้อำนาจรัฐยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในด้านความมั่นคง อาทิ การห้ามมิให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองใดๆ ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[5] หรือการพยายามยกเว้นกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยอาศัยข้ออ้างในการตีความที่ไม่ชัดเจนและมีขอบเขตกว้าง อาทิ การพยายามยกเว้นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐบาลปัจจุบัน โดยให้เหตุผลด้านประโยชน์สาธารณะและความมั่นคง[6] ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงการลอยนวลพ้นผิดที่มีการรองรับโดยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายอาศัยอำนาจที่ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพของการสร้างอภิสิทธิ์พิเศษแก่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการตามคำสั่งรัฐในการกระทำการใดๆ ที่จะละเมิดสิทธิของประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมายและในนามของกฎหมายได้

ภาพดังกล่าว คือ การฉายซ้ำของการลอยนวลพ้นผิดที่ได้แปรรูปแบบ และสะท้อนภาพกลายเป็นวัฒนธรรมหรือเป็นสถาบันของสังคมไทยอย่างหนึ่งที่กำหนดให้รัฐมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นๆ ในสังคม[7] ซึ่งไม่เพียงแต่จะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติเท่านั้น วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทยได้ถูกทำให้ปกติอย่างถูกกฎหมายและในนามของกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นการบั่นทอนระบอบนิติรัฐ

 

การลอยนวลพ้นผิดสัมพันธ์อย่างไรกับความเหลื่อมล้ำ

นิติรัฐ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะโดยหลักการแล้ว นิติรัฐเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้อ่อนแอจากผู้มีอำนาจ[8] แต่การที่กฎหมายเข้ามาทำหน้าที่ตรงกันข้ามเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งได้ 2 กรณี คือ

กรณีแรก เมื่อคนคนหนึ่งทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ พวกเขาก็จะขาดแรงจูงใจที่จะระมัดระวังไม่ให้เกิดการทำร้ายผู้อื่น และไม่พยายามหาทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดการทำร้ายนั้น[9] บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้อาจจะละเลยความใส่ใจที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งมิเพียงแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่จะเป็นเช่นนี้ ในบางกรณีผู้มีอำนาจอื่นๆ ก็อาจจะใช้สถานะที่เหนือกว่าเข้าแทรกแซง รวมถึงโน้มน้าวการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้น เพื่อให้ได้ผลสมปรารถนาที่พวกเขาต้องการ อาทิ การติดสินบน และการใช้อิทธิพลหรืออำนาจ

กรณีที่สอง การทำให้สถานะของมนุษย์ที่ควรจะเท่ากันอย่างน้อยในทางกฎหมายเกิดความไม่เท่ากัน (กับคนอื่นๆ) เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้ถูกทำลายลงจากการลอยนวลพ้นผิด (หรืออย่างน้อยก็พยายามจะทำให้ลอยนวลพ้นผิด จนกว่าจะถูกตัดสินโดยศาล)

ตัวอย่างของสถานการณ์ที่ส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจนี้ เช่น ในคดีของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล การที่ศาลไม่ได้ยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นบริสุทธิ์ (แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรอง) และเรียกหลักประกันในอัตราที่สูงหรือสร้างข้อยุ่งยาก ผิดกับคดีในลักษณะอื่นๆ ที่ศาลไม่ได้เรียกหลักประกันหรือให้เงื่อนไขที่ทำให้มีอิสระในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ต้องอาศัยหลักประกันที่มีทุนทรัพย์เป็นจำนวนมากมาใช้ในการต่อสู้คดี ซึ่งในกรณีนี้หากรัฐบาลใดๆ ใช้กลไกอำนาจรัฐในการบังคับลงโทษกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้เรียกร้องเรื่องสิทธิและเสรีภาพ หรือผู้ต่อสู้เพื่อสถานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่า การบั่นทอนนิติรัฐนั้นกำลังดำเนินปฏิบัติการบางอย่างที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ

กล่าวโดยสรุป การลอยนวลพ้นผิดนั้นสร้างผลร้ายต่อสังคม มิเพียงแต่บั่นทอนนิติรัฐ แต่กลับให้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดก็เชื่อมโยงเข้ากับสถานะทางเศรษฐกิจโดยก่อให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในทุกขณะ

 

[1] Tyrell Haberkorn, In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand (The University of Wisconsin Press 2018) 4 อ้างถึงใน ภาสกร ญี่นาง, ‘กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง’ (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) 58.

[2] อิทธิพล โคตะมี, ‘ลอยนวลพ้นผิด: สำรวจ ‘วัฒนธรรมเฉพาะ’ เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล’ (Way Magazine, 10 ธันวาคม 2562) สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2565.

[3] ปรับแก้ตัวเลขจากบทความของ อิทธิพล โคตะมี ซึ่งในบทความที่กล่าวถึงนี้มีการนับจำนวนกฎหมายไว้ 22 ฉบับ; เพิ่งอ้าง.

[4] Tyrell Haberkorn, In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand (The University of Wisconsin Press 2018) 6; อ้างถึงใน ภาสกร ญี่นาง (เชิงอรรถ 1) 60.

[5] บทวิพากษ์ของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์; ดู ธีระ สุธีวรางกูร, ศาลรัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหลังประกาศใช้บังคับ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2563) 150.

[6] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ช่องโหว่กฎหมาย PDPA เมื่อ ‘Big Brother’ จ้องคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน’ (Way Magazine, 26 กรกฎาคม 2565) สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2565; เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ยกเว้น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับผลที่อาจตามมา’ (กรุงเทพธุรกิจ, 10 สิงหาคม 2565) สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2565.

[7] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ‘รัฐลอยนวล’ (มติชนออนไลน์, 3 กันยายน 2561) สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2565.

[8] โจเซฟ อี. สติกลิตซ์, ราคาของความเหลื่อมล้ำ – The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future (สฤณี อาชวานันทกุล แปล, สำนักพิมพ์ Openworlds 2556) 318.

[9] เพิ่งอ้าง 318.