ขอคารวะพระคุณเจ้าและเจริญพรญาติโยมทุกท่าน
วันนี้พวกเราทั้งหลาย ผู้เป็นพี่น้องญาติมิตรและวิสาสิกชนของคุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ได้มาพร้อมกัน เพื่อทำหน้าที่ต่อคุณวาณี ผู้ล่วงลับ หน้าที่ดังกล่าวประการแรกคือ หน้าที่ต่อสรีระร่างกายของท่าน ซึ่งบัดนี้ได้เวลาที่ควรจะทำการปลงเพื่อให้คืนสู่ธรรมชาติ หน้าที่อีกประการหนึ่งก็คือ การบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ดวงวิญญาณของท่าน เพราะว่าผู้ที่จากไปแม้จะมีทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีบริษัทบริวารมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถนำไปยังภพหน้าได้ มีแต่บุญกุศลเท่านั้นที่จะเอื้ออำนวยให้ดวงวิญญาณของท่านได้ประสบสุขในสัมปรายภพ เพราะเหตุนี้ พวกเราจึงมาบำเพ็ญกุศลให้แก่ท่านตั้งแต่วันแรกโดยมีการสวดพระอภิธรรม มีการถวายสังฆทาน มีการเลี้ยงพระ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ท่าน
ที่จริงการมางานศพ นอกจากเราจะมาบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับแล้ว ยังเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำบุญให้แก่ตัวเองด้วย บุญที่ว่านี้มิใช่บุญที่เกิดจากการให้ทาน เช่น การเลี้ยงพระเท่านั้น ที่สำคัญคือการเปิดใจรับรู้ถึงสัจธรรมความจริงของชีวิต เพราะในชีวิตประจำวันของเรา น้อยครั้งที่เราจะมีโอกาสได้พบเหตุการณ์ที่เตือนใจให้ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิต โดยเฉพาะข้อที่ว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง ไม่ว่าคนเราจะมีชีวิตยืนยาวเพียงใด สุดท้ายก็มีวันสิ้นสุด
ชีวิตของเราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจังหรือความไม่เที่ยง อนิจจังนั้น ปรากฏแก่เราหลายลักษณะ แต่ไม่มีอะไรที่ชัดเจนแจ่มแจ้งและเตือนใจเราได้ดีเท่ากับความตายของผู้คน โดยเฉพาะคนที่เรารัก เคารพ และนับถือ
การมางานศพ ถ้าหากว่าเราได้มาเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต โดยเปิดใจให้กว้าง ก็จะเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก สัจธรรมของชีวิตอันได้แก่ความไม่เที่ยงของชีวิตนั้นไม่มีใครในที่นี้ที่แสดงได้ชัดเจนได้เท่ากับคุณวาณี แม้อาตมาจะพูดถึงเรื่องนี้มากมายเพียงใด ก็ไม่ชัดเจนประจักษ์แก่ใจของเราได้ดีเท่ากับคุณวาณีที่บัดนี้ได้ทอดกายอยู่ในหีบเบื้องหน้าของเรา ครั้งหนึ่งคุณวาณีเคยมีเลือด มีเนื้อ มีลมหายใจ และมีชีวิตเหมือนกับพวกเรา เดินเหิน หัวเราะ ยิ้มแย้ม และสังสรรค์ สนทนากับเรา แต่วันนี้ ท่านเหลือแต่ร่างซึ่งเปรียบเสมือนท่อนไม้ที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนไหวติงเพราะปราศจากชีวิต ครั้งหนึ่ง ท่านเคยเป็นเหมือนพวกเราในวันนี้ ส่วนเราในวันนี้ ก็จะเป็นเหมือนกับท่านหรือเดินตามท่านไปในวันหน้า ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ อาจจะเป็น 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า หรือวันพรุ่งนี้ แม้กระทั่งวันนี้ก็ได้ เพราะความตายแม้เป็นสัจธรรมที่แน่นอน แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน กล่าวคือจะเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น ไม่เลือกเวลา
อย่าคิดว่าในเมื่อเรามีลมหายใจวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เราจะยังมีลมหายใจอย่างแน่นอน ถ้าคิดเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะความตายนั้นสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกที่ทุกเวลา มีสุภาษิตธิเบตกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้า อะไรจะมาก่อน” อย่าคิดว่ามีพรุ่งนี้ก่อน ถึงจะมีชาติหน้า มีคนไทยประมาณหนึ่งพันหกร้อยคนที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเขา ในทำนองเดียวกัน ทั่วทั้งโลกมีคนประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นคนที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลย ไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว และเราเองบอกไม่ได้ว่าเราเป็นคนหนึ่งในจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนรึเปล่า ที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายแม้แต่ตัวอาตมาเองก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะมีชีวิตรอดไปถึงวันพรุ่งนี้หรือเปล่า เพราะความตายนั้นบางครั้งก็มาอย่างกะทันหัน
เราควรเปิดใจรับรู้สัจธรรมของชีวิตดังกล่าวเพื่อประโยชน์อะไร การที่เรามาเปิดใจรับรู้สัจธรรมของชีวิตว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ความตายเป็นสิ่งแน่นอน ก็เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทและเพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความตายเมื่อเวลานั้นมาถึง ในเมื่อความตายเป็นสิ่งแน่นอน การที่เราจะหันหลังให้ หรือหลอกตัวเองว่าไม่มีอยู่จริง นับเป็นความประมาทอย่างยิ่งจะดีกว่าถ้าหากว่าเราจะมาเตรียมตัว เตรียมใจเพื่อรับมือกับความตายในขณะที่เรายังมีเวลา
อันที่จริง แม้แต่ภัยอันตรายที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น เราก็ยังอุตส่าห์เตรียมตัวรับมือ เวลาเราขึ้นเครื่องบิน ทุกเที่ยวบินจะมีการแนะนำ ซักซ้อม ว่าเราควรจะทำอย่างไรหากเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ จะต้องรู้จักใช้หน้ากากออกซิเจนหากเครื่องบินมีปัญหา รู้จักใช้เสื้อชูชีพหากเครื่องบินเกิดร่อนลงฉุกเฉินเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า พนักงานจะแนะนำเราเพื่อเตรียมรับมือกรณีที่เครื่องบินตกทั้งๆ ที่เราขึ้นเครื่องบินมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่เคยเจอเครื่องบินตกหรืออุบัติเหตุกลางอากาศแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งโอกาสที่จะเกิดเหตุดังกล่าวก็น้อยมาก แม้กระนั้น การซักซ้อมตระเตรียมเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความจำเป็น เวลาเราอยู่บนตึกสูง มักจะมีการซ้อมเพื่อหนีไฟเป็นประจำทุกปี ทั้งๆ ที่ตึกส่วนใหญ่ไม่เคยเกิดไฟไหม้ บางตึกสร้างมา 40 ปีก็ไม่เคยมีปัญหานี้ แต่ทำไมคนที่อยู่ในตึกนี้ต้องซ้อมหนีไฟเป็นประจำ การซ้อมดังกล่าวก็เพื่อความไม่ประมาท เพราะถ้าเกิดไฟไหม้เราจะได้รับมือได้ถูกต้อง
ขนาดเหตุร้ายที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น เรายังซ้อมยังตระเตรียมอยู่สม่ำเสมอ ทำไมเหตุร้ายซึ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีทางที่หนีพ้นได้ เราจึงไม่ตระเตรียม ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่าเครื่องบินตกหรือไฟไหม้ตึกแต่น่าแปลกที่ทุกวันนี้ น้อยคนคิดที่จะเตรียมตัวหรือซักซ้อมเพื่อรับมือกับความตาย อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นความประมาทได้หรือไม่
มีผู้เปรียบว่าชีวิตเหมือนการเดินทาง การเดินทางนั้นต้องมีจุดหมายถ้าไม่มีจุดหมายก็ไม่เรียกว่าการเดินทาง แต่เป็นการเดินสะเปะสะปะมากกว่า ชีวิตก็เช่นกันต้องมีจุดหมาย ทุกคนล้วนมีจุดหมายชีวิตที่สูงส่ง เช่น เป็นเศรษฐี เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นศาสตราจารย์ ต่างคนต่างวาดจุดหมายของชีวิตไปต่างๆ นานา อย่างไรก็ตาม ชีวิตกับการเดินทางมีความแตกต่างอย่างหนึ่งคือ สำหรับการเดินทาง จุดหมายกับปลายทางเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเราจะเดินทางไปเชียงใหม่ เชียงใหม่ก็เป็นทั้งจุดหมายและปลายทาง แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางเป็นคนละอัน จุดหมายชีวิตเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝัน นึกถึงอยู่เนืองๆ แต่ปลายทางชีวิตเรากลับไม่อยากนึกถึง เพราะปลายทางของชีวิตคือความตาย
หลายคนพยายามดิ้นรนขวนขวายไปให้ถึงจุดหมายของชีวิต แต่ลืมไปว่าชีวิตของตัวเองมีปลายทางด้วย ไม่ว่าเราจะบรรลุจุดหมายของชีวิตหรือไม่ แต่ปลายทางนั้นมาถึงแน่ๆ อาจจะมาก่อนที่เราจะบรรลุจุดหมายของชีวิตก็ได้
น่าแปลกที่หลายคนทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อการบรรลุจุดหมายของชีวิต แต่ไม่เคยคิดที่จะเตรียมตัวรับมือกับปลายทางชีวิตเลย อย่าว่าแต่เตรียมตัวรับมือเลย หลายคนไม่อยากคิดด้วยซ้ำว่าชีวิตนี้มีปลายทาง คนจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนคนลืมตาย อยู่โดยไม่คิดว่าตนจะตาย ดังนั้น จึงเอาแต่สะสมเงินทอง เพลิดเพลินกับความสุขสนุกสนาน จนลืมไปว่าสักวันหนึ่งจะต้องพลัดพรากสูญทั้งหมดที่มี
คนที่อยู่เหมือนคนลืมตาย เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะอยู่เหมือนคนตายทั้งเป็นเมื่อพบว่าตัวเองเป็นโรคร้าย เช่น เป็นมะเร็ง ก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่มีชีวิตชีวา มีแต่หายใจไปวันๆ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตายจริงๆ ก็จะตายเหมือนคนหลงตาย “หลงตาย” เป็นคำโบราณแปลว่า ตายอย่างไม่มีสติ ตายด้วยความกระสับกระส่าย ทุรนทุราย
น่าเสียดายที่ว่าคนเราแม้จะมีความรู้มีความสามารถในการพยากรณ์อนาคตได้มากมาย แต่ไม่เคยคิดที่จะตระเตรียมตัวเอง เพื่อรับมือกับปลายทางชีวิตที่จะมาถึง โศกนาฏกรรมที่เกิดกับผู้คนจำนวนมากคือ เมื่อถึงเวลาใกล้ตายก็จะอยู่แบบทุรนทุราย กระสับกระส่าย เพราะไม่อาจยอมรับความตายที่จะเกิดขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรู้ว่าอาการย่ำแย่หนักขึ้น ก็พยายามหนีความตายด้วยการยื้อชีวิต โดยไม่ได้ตระหนักว่าการยื้อชีวิตนั้น บ่อยครั้ง เป็นการซ้ำเติมตนเองยิ่งทำให้ทุกข์ทรมานมากขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าแล้วผ่าอีกทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต กลายเป็นว่าทุกข์ทรมานกายเพราะการยื้อด้วยเครื่องเคราต่างๆ และทุกข์ทรมานใจเพราะยอมรับความตายไม่ได้ ไม่อาจยอมรับความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก รวมทั้งจากชีวิตที่เหลือน้อยลงทุกที
ที่จริงแล้ว ผู้ฉลาดไม่ประมาทต่อชีวิต เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าปลายทางของชีวิตนั้นมาแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ ก็จะพยายามเตรียมตัวเตรียมใจไม่น้อยไปกว่าเวลาเตรียมตัวสอบไล่ จะว่าไปแล้ว ความตายก็เปรียบเสมือนการสอบไล่ครั้งสำคัญ ซึ่งไม่เหมือนกับการสอบไล่ที่เราเคยพานพบ การสอบไล่ชนิดนี้มีเพียงครั้งเดียว และเราจะได้เจอเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปกติการสอบไล่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาต่างๆ ความตายก็เป็นเสมือนการสอบไล่ของวิชาชีวิตบางคนไม่เคยรู้เลยว่ามีวิชานี้อยู่ด้วย รู้แต่เพียงว่ามีวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เป็นต้น
แต่จะว่าไปแล้ว วิชาชีวิตเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนตั้งแต่รู้ความ เราเกิดมาเพื่อศึกษาวิชาชีวิต จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะต้องมีการสอบไล่วิชานี้ การสอบไล่วิชาชีวิตมาถึงในวันที่เราจะหมดลม ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวศึกษาวิชาชีวิตหรือไม่ได้เตรียมตัวสอบไล่วิชานี้ เราก็จะสอบตก เป็นการสอบตกจริงๆ คือตกอบาย หรือไปทุคติภพ สอบวิชาอื่นๆ ถ้าสอบไม่ได้แม้จะเรียกว่าสอบตก แต่ที่จริงไม่ได้ตกเลยนะ แค่อยู่ที่เดิมคือซ้ำชั้น ผิดกับการสอบไล่วิชาชีวิตนี้ ถ้าสอบไม่ได้ก็ตกจริงๆ คือตกอบาย มิหนำซ้ำยังไม่มีโอกาสแก้ตัวถ้าสอบตก
การสอบทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสอบซ่อม สอบสัมภาษณ์ สอบสมัครงานถ้าสอบไม่ได้ เราก็ยังมีโอกาสแก้ตัวหรือสอบใหม่ บางคนสอบเนติบัณฑิตเป็นจำนวน 10 ครั้ง บางคนสอบเปรียญธรรมประโยค 9 มาแล้ว 20 ครั้ง ก็ยังไม่เลิกที่จะสอบเพราะมีโอกาสสอบแก้ตัว สอบสัมภาษณ์ สอบสมัครงานก็เช่นกัน หากสอบไม่ได้ก็สอบแก้ตัวหรือสอบใหม่ได้ แต่สอบไล่วิชาชีวิตไม่มีการสอบแก้ตัวและเป็นการสอบที่มีเดิมพันสูงมาก
ยิ่งไปกว่านั้น สอบไล่วิชาต่างๆ มีการประกาศล่วงหน้า บางทีเรารู้ล่วงหน้าเป็นปี ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบผู้พิพากษา การประกาศล่วงหน้าทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนเตรียมสอบอาจจะไปเที่ยวสนุกให้สมอยากก่อน แล้วค่อยมาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ว่าการสอบไล่วิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า บางครั้งก็มาเร็วมาก รู้ตัวแค่ไม่กี่วินาที เช่น เกิดอุบัติเหตุ เครื่องบินตก เฮลิคอปเตอร์ตก หรือรถชน นั่นก็คือรู้ตัวว่าจะสอบไล่เพียงแค่ไม่กี่วินาทีล่วงหน้า ส่วนใหญ่จึงสอบตก คือตื่นตระหนก ทุรนทุรายก่อนตาย ไม่อาจครองสติหรือรับมือได้ด้วยใจสงบ
โศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคปัจจุบัน คือ ทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวมากมาย แต่ส่วนใหญ่มัวแต่เพลิดเพลินสนุกสนาน ครั้นถึงเวลาที่จะต้องละจากโลกนี้ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ดังกล่าวไม่ได้เกิดกับคนที่ตายฉับพลันเพราะอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติเท่านั้น แม้เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ก็ตายด้วยความทุกข์ทรมานเช่นกัน เป็นความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
ที่จริงแล้ว การเตรียมตัวรับมือกับความตายเป็นสิ่งที่เราควรทำและถ้าเราทำอย่างถูกต้อง การตายอย่างสงบหรือการตายดีย่อมเกิดขึ้นได้ เวลากล่าวถึงความตาย คนหลายคนมักบอกว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ที่จริงตายดีนั้นเป็นไปได้ถ้าหากว่าเราตระเตรียมอย่างถูกต้อง อาตมาและคนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน ทุกคนมีสิทธิที่จะตายอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ หรือคนทั่วไปที่ไกลวัด ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นพระหรือผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่มีสิทธิตายอย่างสงบ
การตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน แต่เราอย่าลืมว่าสิทธิและหน้าที่ต้องมาด้วยกัน เราจะได้สิทธิที่จะตายสงบก็ต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างถูกต้องหน้าที่ที่ว่านั้นคือหน้าที่ต่อความตาย นั่นก็คือเตรียมตัวที่จะตายให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็พร้อมทำหน้าที่นี้ พูดอีกอย่างคือเตรียมตัวพร้อมสอบไล่ครั้งสำคัญที่สุดของชีวิต
การที่เราจะทำหน้าที่ต่อความตายได้ เราจะต้องตระหนักเสียก่อนว่าเราทุกคนมีหน้าที่ตาย การตายเป็นหน้าที่ของเรา ที่จริง การตายเป็นหน้าที่ของสรรพชีวิต การที่ธรรมชาติมีความสมดุลและอุดมสมบูรณ์ได้ก็เพราะนานาชีวิตไม่ว่าต้นไม้ใหญ่ น้อยสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ล้วนทำหน้าที่นี้ เมื่อถึงเวลาก็ล้มตายแล้วกลายเป็นอาหารให้แก่ชีวิตอื่นหรือเป็นโอชะให้แก่ชีวิตใหม่ ไม่ใช่เฉพาะต้นไม้หรือสัตว์ คนเราก็เหมือนกัน ทุกคนมีหน้าที่ตายเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังมีโอกาสใช้ทรัพยากรในโลกนี้เหมือนกับเรา ถ้าพ่อแม่ไม่ตาย ลูกจะรับมรดกจากใคร พ่อแม่มีหน้าที่ตายเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขและมีโอกาสเสริมสร้างชีวิตให้เจริญงอกงาม
การตระหนักว่าเราทุกคนมีหน้าที่ตาย เป็นปัจจัยประการแรกที่ช่วยให้เรายอมรับความตายได้ด้วยใจสงบ ประการต่อมาก็คือการเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความตาย การกระทำที่เป็นพื้นฐานเกื้อกูลให้การตายอย่างสงบเป็นไปได้ก็คือการทำความดีและการละเว้นความชั่ว พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติก่อนๆ มีชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทำไว้ ณ ที่ไหนๆ เลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง” อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า “เมื่อตั้งอยู่ในธรรมย่อมไม่กลัวปรโลก”
คนที่ตลอดชีวิตทำแต่ความดีละเว้นความชั่ว ก่อนสิ้นลม หากระลึกถึงความดีที่ได้ทำก็จะเกิดความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกว่าตนได้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่รู้สึกเสียใจใดๆ เพราะไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญให้แกใคร อีกทั้งมั่นใจว่ามีสุคติเป็นเบื้องหน้า จึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนหรือกลัวความตายตรงข้ามกับคนที่ทำชั่ว ก่อกรรมทำเข็ญแก่ผู้คน เอาเปรียบเบียดเบียนส่วนรวมเมื่อถึงเวลาจะตายก็จะรู้สึกเสียใจกับชีวิตที่ผ่านมา หลายคนมีอาการหวาดผวาเพราะระลึกความชั่วที่ได้ทำ อาจมีนิมิตที่เป็นอกุศลมาหลอกหลอน เช่น เห็นภาพคนที่ตัวเองฆ่าหรือสัตว์ที่ตัวเองเคยเบียดเบียนมาหลอกหลอน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกทุรนทุรายและตายอย่างทรมานก็มีไม่น้อย
นอกจากการทำความดีและความชั่วแล้ว การทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้แล้วเสร็จ ไม่คั่งค้าง รวมทั้งหน้าที่ต่อคนรัก เช่น พ่อแม่ ลูกหลาน หรือคนรักคู่ครอง ก็เป็นสิ่งสำคัญ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ละเลยสิ่งเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาตายก็รู้สึกผิด รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลพ่อแม่ ลูกหลาน หรือคนรัก เพราะมัวทำมาหากินหรือสนุกสนาน ความรู้สึกว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำมักทำให้ผู้คนขัดขืน ต่อสู้กับความตาย ยอมรับความตายไม่ได้ ทำให้ตายไม่สงบ บางคนตายตาเบิกโพลงเพราะเสียใจที่ละเลยหน้าที่พึงมีต่อครอบครัว
ข้อนี้โยงมายังประการต่อมาคือ การรู้จักปล่อยวาง แม้ทำดีแต่ถ้าไม่รู้จักปล่อยวางก็มักเกิดความทุกข์ เกิดความทุรนทุรายในเวลาใกล้ตายได้ คนจำนวนไม่น้อยเมื่อถึงระยะท้ายก็ทุรนทุราย และตายอย่างทุกข์ทรมาน เพราะยังห่วงคนรักเช่นลูก สามีภรรยา พ่อแม่ มีผู้หญิงคนหนึ่งตายตาไม่หลับเพราะห่วงลูกชายคนสุดท้องอายุ 10 ขวบ กลัวว่าลูกจะเจริญรอยตามพี่ชายทั้งสองคนที่ติดคุกเพราะติดยา ตอนเธอตาย ตาเบิกโพลง ไม่ว่าใครจะปิดเปลือกตาอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เมื่อญาติผู้ใหญ่มารับศพในวันรุ่งขึ้น เห็นผู้ตายตาเบิกโพลง ก็รู้ว่าเป็นเพราะอะไร จึงจุดธูปบอกแก่ผู้ตายว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงลูกคนเล็กนะ ฉันจะรับไปดูแลเอง” พอปิดเปลือกตาก็ปิดได้ ทั้งที่ผ่านมาแล้วเป็นวัน
มีคนหนึ่งเป็นผู้ใฝ่บุญ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการชักชวนคนไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐินตามวัดในชนบท เพื่อสร้างโบสถ์สร้างวิหาร โดยเจาะจงวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ต่อมาวันหนึ่งพบว่าตนเองเป็นมะเร็ง มะเร็งลุกลามเร็วมาก เมื่อมาถึงระยะสุดท้ายของชีวิต เขามีอาการกระสับกระส่าย แต่สื่อสารกับใครไม่ได้ ลูกหลานเห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนธรรมะธรรมโม คิดว่าหากได้ฟังเทปธรรมะหรือพระสวดมนต์ก็น่าจะดีขึ้น แต่เมื่อเปิดเทปธรรมะพระสวดมนต์ให้ฟัง ก็ไม่เป็นผลผู้ป่วยยังคงกระสับกระส่าย ลูกหลานแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จนกระทั่งเพื่อนสนิทมาถึง เมื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไปพูดกับผู้ป่วยข้างเตียงว่า “โบสถ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ไม่ต้องเป็นห่วงนะ พวกเราจะช่วยกันสร้างให้เสร็จ” พูดเท่านี้ผู้ป่วยก็หยุดกระสับกระส่าย แสดงว่าคำพูดของเพื่อนผู้นั้นโดนใจเขา เพราะผู้ป่วยเป็นห่วงโบสถ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ เขาอาจเคยลั่นวาจาว่า ตายไม่ได้ถ้ายังสร้างไม่เสร็จ
การสร้างโบสถ์สร้างวิหารเป็นมหากุศล แต่ถ้าไม่รู้จักปล่อยวางก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้ เมื่อถึงเวลาจะตาย แต่โบสถ์ยังสร้างไม่เสร็จ ก็จะต่อสู้กับความตาย ซึ่งทำให้เป็นทุกข์ทรมานมาก เมื่อใกล้ตาย ควรปล่อยวางทุกอย่าง รวมทั้งการงานที่คั่งค้าง แต่หากยังปล่อยวางไม่ได้ ก็จะมีความทุกข์มาก ต่อเมื่อมีใครมาพูดให้ปล่อยวาง จึงตายอย่างสงบได้
ในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากการปล่อยวางคนรัก ของรักแล้ว อีกสิ่งที่ควรปล่อยวางคืออารมณ์อกุศลที่รบกวนหรือสร้างความทุกข์ใจให้แก่เรา เช่น ความโกรธ ความเกลียด รวมทั้งความรู้สึกผิด บางคนกระสับกระส่าย หรือทุรนทุรายก่อนตาย เพราะมีความรู้สึกผิดต่อใครบางคน แต่ถ้ามีโอกาสขอขมาลาโทษ ก็อาจพบความสงบในวาระสุดท้ายได้ อย่างหัวหน้าพยาบาลผู้หนึ่งป่วยเป็นมะเร็งปอด เมื่ออาการลุกลามถึงระยะท้าย ทั้งๆ ที่อวัยวะต่างๆ แย่หมดแล้วสัญญาณชีพทั้งหลายตกหมดทุกตัว แต่เธอไม่ยอมตาย ตาเบิกโพลง หมอและพยาบาลก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงไม่ยอมตายสักที จนกระทั่งพยาบาลรุ่นน้องคนหนึ่งมาเยี่ยม เมื่อเธอรู้ ก็รวบรวมกำลังเพื่อกล่าวคำขอโทษพยาบาลรุ่นน้องคนนี้ เพราะเธอเคยเข้าใจผิดว่าเป็นกิ๊กกับสามีของเธอ ตอนนี้เธอรู้ความจริงแล้วว่าไม่ใช่ แต่ก็ยังมีความรู้สึกผิดติดค้างใจอยู่ จึงยังตายไม่ได้จนกว่าจะได้กล่าวคำขอโทษ หลังจากที่ขอโทษแล้ว พยาบาลรุ่นน้องคนนั้นก็บอกผู้ป่วยว่า “ไม่เป็นไรพี่ หนูเข้าใจพี่ หนูไม่ได้โกรธเคืองพี่เลย หนูให้อภัยพี่” พอได้ยินเช่นนั้น เธอก็รู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก หลับตาและจากไปอย่างสงบในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่ไม่มีโอกาสหรือไม่อาจปล่อยวางสิ่งที่ค้างคาใจได้ จึงตายอย่างทรมาน
การทำความดีละเว้นความชั่ว การทำหน้าที่ที่พึงทำให้สำเร็จไม่คั่งค้างและการรู้จักปล่อยวาง เป็นวิธีสำคัญที่ช่วยให้เราพบกับความสงบใจเมื่อความตายมาถึง อย่างไรก็ตาม แม้ความตายยังอยู่อีกไกล หากเราทำทั้งสามประการนี้ได้ เราก็จะอยู่อย่างมีความสุข ทำเดี๋ยวนี้ก็มีความสุขเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอให้ความตายมาถึงก่อน จึงจะเป็นสุขหรือเกิดความสงบใจ พูดอีกอย่าง ถ้าเราเตรียมตัวที่จะตายให้ดี เราก็มีชีวิตที่ดีได้ แต่การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการปล่อยวาง จะต้องฝึกเป็นอาจิณ เป็นนิจศีลไม่ใช่ฝึกด้วยการคิดเอา แต่ฝึกจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง โดยเฉพาะเมื่อเจอเหตุร้าย เช่น ของหาย งานล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ ก็ต้องรู้จักวาง รู้จักปล่อยอารมณ์ที่เศร้าหมอง เช่น ความเสียใจ ความหนักใจ หรือความโกรธ
ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราไม่เพียงแต่จะปล่อยวางคนรัก ของหวงได้ในวาระสุดท้าย เพื่อจากไปอย่างสงบ แต่ยังรับมือกับความทุกข์อีกอย่างหนึ่งที่มักเกิดในวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือความเจ็บปวด คนทุกวันนี้โชคดีที่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ข่าวร้ายก็คือจะต้องเจอความเจ็บป่วยหรือความเจ็บปวดที่ยาวนาน คนสมัยก่อนอายุสั้นก็จริง แต่เวลาป่วยหนักก็จะเจ็บป่วยไม่นาน เช่น สี่ห้าวันก็ตายแล้วเพราะเป็นโรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบันคนเรากว่าจะตาย จะต้องเจ็บป่วยนาน 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง เพราะเป็นเบาหวาน ไตวาย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งไม่ได้ทำให้ตายทันที อีกทั้งมีเทคโนโลยีนานาชนิดคอยพยุงไว้ เช่น การล้างไต หลายคนล้างไตติดต่อกันนาน 10 ปี และเมื่อถึงวาระสุดท้ายก็มักป่วยติดเตียงเป็นเดือนๆ ความเจ็บปวดเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมทนเพื่อแลกกับการมีชีวิตที่ยืนยาวแต่ว่าเมื่อถึงเวลาที่อาการลุกลามหนักขึ้น ยาก็เอาไม่อยู่ แม้แต่มอร์ฟินก็ไม่อาจระงับความเจ็บปวดได้ ยิ่งถ้าหากเป็นคนที่ไม่ยอมรับความตาย พยายามยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะต้องเจอกับความเจ็บปวดที่ทำให้ทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง
คนจำนวนมากไม่ได้เจ็บปวดเพราะโรคเท่านั้น แต่ยังเจ็บปวดด้วยกระบวนการยื้อชีวิต ซึ่งบางครั้งสร้างความเจ็บปวดยิ่งกว่าโรคเสียอีก แต่ถ้ารู้จักวางใจยอมรับความตายได้ ไม่คิดจะยื้อชีวิต เพราะมองว่าความตายเป็นธรรมชาติก็จะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ทรมานทางใจที่เกิดจากความหวาดกลัวความตายหรือขัดขืนต่อสู้กับความตาย ขณะเดียวกันก็อาจไม่ต้องเจอกับความเจ็บปวดที่เกิดจากการยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด ซึ่งอาจยาวนานเป็นเดือนหรือยืดเยื้อเป็นปี ในทำนองเดียวกัน หากเรารู้จักปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยวางคนรักของรักเท่านั้น แต่ยังปล่อยวางสิ่งที่ไม่รัก เช่น ทุกขเวทนา ความเจ็บปวด ก็จะช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บป่วยนั้นได้โดยใจไม่ทุกข์ คือปวดกาย แต่ใจไม่ปวด
เราทุกคนไม่ชอบความเจ็บปวด แต่เป็นเพราะเราไม่มีสติ จิตจึงยึดติดจดจ่อปักตรึงอยู่กับความเจ็บปวด แทนที่จะปวดกายอย่างเดียว จึงปวดใจด้วย แต่ถ้าเรารู้จักภาวนา สติก็จะช่วยให้เราปล่อยวางอารมณ์หรือทุกขเวทนาเหล่านี้ได้ เรียกว่า กายปวด แต่ใจไม่ปวด ความปวดมี แต่ผู้ปวดไม่มี หรือที่ครูอาจารย์บอกว่า เห็นความปวดแต่ไม่เป็นผู้ปวด หากทำอย่างนี้ได้ เราก็จะอยู่กับความเจ็บปวดหรือความเจ็บป่วยได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ และเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป เราก็จะพบกับความสงบใจ เป็นสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิตซึ่งทุกคนเข้าถึงได้
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรหมั่นทำให้เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเตือนใจเราให้ขวนขวายในการทำความเพียรดังกล่าวก็คือ ความไม่ประมาท คือ ไม่เพลิดเพลินในความสุขหรือสุขภาพที่มีตอนนี้ แต่ระลึกเสมอว่าวันหน้าเราจะต้องเจอกับความเจ็บป่วยและความตายอย่างแน่นอน ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ธรรมะข้อสุดท้ายที่พระองค์ได้ตรัสเตือนทุกคนเป็นปัจฉิมโอวาทก็คือ “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ถ้าพวกเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอและขวนขวายในการทำความดีละเว้นความชั่ว หมั่นทำหน้าที่ที่สำคัญให้เสร็จสิ้น ไม่คั่งค้าง ไม่มัวผัดผ่อนว่าเดี๋ยวก่อนๆ แต่รีบทำเดี๋ยวนี้เลย รวมทั้งฝึกจิตให้รู้จักปล่อยรู้จักวางอยู่เสมอ เราก็จะมีความพร้อมในการเผชิญกับความตาย ไม่ว่าจะมาเมื่อไรก็ตาม
วันนี้เราได้มาประชุมพร้อมกันเพื่อทำหน้าที่สุดท้ายที่พึงมีต่อคุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ คุณวาณีเป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านก็เตรียมพร้อมรับมือกับความตาย โดยไม่คิดยื้อชีวิต ท่านพร้อมที่จะตายเมื่อสังขารอยู่ในสภาพที่ไม่อำนวยแล้ว ที่จริงการตั้งอยู่ในความไม่ประมาทดังกล่าว อาตมาคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ท่านประสบพบเห็นความไม่แน่นอนของชีวิตมาตั้งแต่เล็กจนโตก็ว่าได้ ตัวท่านเองนั้นมีบิดาที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่วันดีคืนดีก็เป็นลูกกบฏ เมื่อยังอายุไม่มากก็จำต้องพรากจากผู้เป็นบิดา แล้วต่อมาก็จำต้องพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเวลา 35 ปี อีกทั้งตลอดเวลาดังกล่าว ท่านยังต้องเจอกับโลกธรรมฝ่ายลบโดยเฉพาะคำต่อว่าด่าทอ คำกล่าวหารุนแรง เพราะว่าท่านนามสกุลพนมยงค์และนามสกุลสายประดิษฐ์ในเวลาต่อมา
โลกธรรมที่ไม่เที่ยงไม่แน่นอนเหล่านี้ สอนให้ท่านตระหนักถึงความผันผวนปรวนแปรอันเป็นธรรมดาของชีวิต ทำให้ท่านเห็นความจริงของชีวิตว่าไม่มีความแน่นอน ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นอะไรได้เลย บทเรียนดังกล่าวทำให้ท่านพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนปรวนแปรของโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นการได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศ สรรเสริญหรือนินทา สุขหรือทุกข์ ขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านมีความสุขท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรของชีวิต ก็คือการทำความดี ทำความดีเพื่อส่วนรวม เพื่อเพื่อนมนุษย์ และเพื่อประเทศชาติ แม้ว่าจะไม่ประสบความมั่งคั่งร่ำรวย ไม่มีชื่อเสียง แต่ความสุขที่เกิดจากการทำความดี ได้หล่อเลี้ยงใจให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ในขณะเดียวกันความผันผวนปรวนแปรก็ได้สอนใจท่าน ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ช่วยให้ท่านรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายได้ในที่สุด นับเป็นแบบอย่างที่เราพึ่งพิจารณา นอกเหนือจากการที่เราได้เห็นสัจธรรมของชีวิตท่านในเย็นนี้
ในที่สุดนี้ อาตมาขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัยตลอดจนบุญกุศลที่ทุกท่านได้บำเพ็ญในวันนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้ทุกท่านมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อ เป็นพลวปัจจัยในการทำความดีให้ถึงพร้อม ทั้งที่เป็นประโยชน์ตน คือ จิตใจที่สงบเย็นเป็นสุข และประโยชน์ท่าน อันได้แก่การสร้างประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมขอให้บุญกุศลที่ทุกท่านได้บำเพ็ญในวันนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้แก่คุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของเราได้ประสบสุขในสัมปรายภพโดยควรแก่คติวิสัย และเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชาวพุทธ นั่นคือพระนิพพานในอนาคตเบื้องหน้าด้วยเทอญ
หมายเหตุ : ปาฐกถาธรรมแสดงในงานประชุมเพลิง นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
ที่มา : พระไพศาล วิสาโล, สู่สุขสุดท้ายที่ปลายทาง, ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ หนังสือที่ระลึกปลงศพ นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (16 กรกฎาคม 2484 - 31 ตุลาคม 2561), (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562), หน้า 19-32.